ThaiPublica > คอลัมน์ > บทบาทเดิมที่ไม่เหมือนเดิมของธนาคารกลางท่ามกลางวิกฤติโควิด-19

บทบาทเดิมที่ไม่เหมือนเดิมของธนาคารกลางท่ามกลางวิกฤติโควิด-19

13 กรกฎาคม 2020


ดร.ปิติ ดิษยทัต ผู้ทรงคุณวุฒิ ประจำสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และปฏิบัติงานอยู่ที่ธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS)

วิกฤติโควิด-19 ได้ตอกย้ำถึงบทบาทสำคัญของธนาคารกลางในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินในยามคับขัน ธนาคารกลางทั่วโลกได้ดำเนินการอย่างเฉียบขาด รวดเร็ว และกว้างขวางเพื่อยับยั้งไม่ให้ระบบการเงินหยุดชะงักและซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่หลวงจากภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ด้วยความพิเศษเฉพาะของปัญหารวมทั้งระบบการเงินที่ตลาดการเงินมีบทบาทมากขึ้น ธนาคารกลางต่างๆ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทในการเป็นที่พึ่งแหล่งสุดท้ายสำหรับสภาพคล่อง (lender of last resort) และก้าวเข้าไปไกลขึ้นกว่าเดิมในการบรรเทาผลกระทบของวิกฤติ

ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารกลางทั่วโลกได้ทำหน้าที่เป็นแนวรับด่านแรกต่อแรงกดดันที่ปะทุขึ้นในระบบการเงิน ต่างจากประสบการณ์ในการจัดการกับปัญหาภาคการเงินในอดีต

วิกฤติครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความเปราะบางในสถาบันการเงิน ซึ่งโดยรวมมีฐานะแข็งแกร่ง โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ที่มีเงินทุนในระดับที่สูง แต่ต้นตอของปัญหากลับมาจากภาคธุรกิจที่ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างเฉียบพลัน ซึ่งลามกลับมาที่ภาคการเงิน  โจทย์สำคัญที่ธนาคารกลางเผชิญเสมือนกับการหน่วงนาฬิกาในภาคการเงินให้เวลาเดินช้าลง เพื่อสอดรับนาฬิกาในภาคเศรษฐกิจจริงที่หยุดลงชั่วขณะ

Annual Economic Report ประจำปี 2020 ของ Bank for International Settlements (BIS) ได้ลำดับการรับมือกับความท้าทายนี้อย่างน่าสนใจ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

ที่พึ่งแหล่งสุดท้ายท่ามกลางมรสุม

เป้าหมายหลักของธนาคารกลางในยามวิกฤติ คือ

    1) ยับยั้งไม่ให้ระบบการเงินหยุดชะงักและดูแลให้สภาพคล่องมีเพียงพอต่อการหล่อเลี้ยงภาคธุรกิจและครัวเรือน
    2) สร้างความเชื่อมั่นและพยุงการใช้จ่ายภาคเอกชน  การบรรลุเป้าหมายทั้งสองจำเป็นต้องพึ่งการดำเนินการของธนาคารกลางในบทบาทที่หลากหลาย ทั้งในการเป็นผู้กำหนดนโยบายการเงิน การเป็นที่พึ่งแหล่งสุดท้ายสำหรับสภาพคล่อง (lender of last resort) และในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน

สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในภารกิจดังกล่าว สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มหลักประกอบด้วย

    1) อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ส่งผลในขอบเขตที่กว้าง มีผลทั้งต่อการคาดการณ์แนวนโยบายในอนาคตและความเชื่อมั่นโดยรวม
    2) การปล่อยสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงินผ่านการกู้ยืม ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมซื้อคืนทั่วไป หรือการให้กู้เพื่อจุดประสงค์เฉพาะเจาะจง เช่น สินเชื่อ soft loan สำหรับธุรกิจ SME 
    3) การซื้อขายตราสารต่างๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน หรือแม้กระทั่งตราสารทุน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพคล่องรวมทั้งราคาในตลาดตราสารนั้นๆ  
    4)  การปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์กำกับสถาบันการเงิน เช่น เกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง การดำรงเงินกองทุน การจัดชั้นและกันเงินสำรอง รวมทั้งการจ่ายเงินปันผล

เครื่องมือทั้งหมดเหล่านี้ได้ถูกหยิบยกมาใช้อย่างเต็มที่ในวิกฤติโควิด-19 โดยในหลายกรณีเป็นการประยุกต์ใช้เครื่องมือในลักษณะที่ไม่เคยดำเนินการมาในอดีต สะท้อนถึงความพิเศษเฉพาะของปัญหาและโครงสร้างของระบบการเงินที่เปลี่ยนไป ตารางที่ 1 สรุปมาตรการต่างๆ ที่ธนาคารกลางได้ดำเนินการ

ตารางที่ 1 มาตรการของธนาคารกลางในการรับมือกับโควิด-19 ที่มา: BIS (2020) ดัดแปลงโดยผู้เขียน

ปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อรูปแบบการดำเนินงานของ lender of last resort คือโครงสร้างระบบการเงิน  ในอดีตการทำหน้าที่ดังกล่าวของธนาคารกลางเน้นการให้กู้แก่ธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก แต่เมื่อตลาดทุนพัฒนาขึ้นมาจนมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ การอัดฉีดสภาพคล่องในยามฉุกเฉินได้มีวิวัฒนาการตามลำดับ ในระบบการเงินปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ ธพ. แต่ตลาดทั้งตลาดอาจตกอยู่ในสภาวะขาดสภาพคล่องได้ และอาจส่งผลทอดไปยังเศรษฐกิจให้ต้องหยุดชะงักตามไปด้วย วิกฤติการเงินโลกในปี 2007 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยบทบาท lender of last resort ได้ขยายกว้างขึ้นและมีมิติในการเป็นตัวกลางแหล่งสุดท้ายของตลาด หรือ dealer of last resort มากขึ้น (อ่านเพิ่มเติมได้ใน Cecchetti and Disyatat, 2010) วิกฤติครั้งนี้ได้เสริมวิวัฒนาการดังกล่าวต่อไปอีกระดับหนึ่ง สอดคล้องกับบทบาทของตลาดทุนที่สูงขึ้นในประเทศต่างๆ (รูปที่ 1)

รูปที่ 1 โครงสร้างระบบการเงิน 2008-2019 ที่มา: BIS (2020)

ก้าวไกลขึ้น…ในตลาดการเงิน

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากตารางที่ 1 คือความแพร่หลายของมาตรการที่ดำเนินการผ่านตลาดเงินและตลาดทุนโดยเฉพาะการซื้อตราสารต่างๆ โดยตรง ธนาคารกลางในหลายประเทศได้ดำเนินการซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก ทั้งในออสเตรเลีย แคนาดา รวมทั้งในประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศ สะท้อนถึงความสำคัญของตลาดพันธบัตรรัฐบาลที่เพิ่มสูงขึ้น โดยทำหน้าที่กำหนดผลตอบแทนบรรทัดฐานในตลาดตราสารหนี้ทั้งหมด (benchmark yield) การดูแลให้กลไกในตลาดดังกล่าวทำงานได้อย่างปรกติจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อเสถียรภาพของตลาดการเงินโดยรวม

ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ การก้าวเข้ามาดูแลตลาดพันธบัตรรัฐบาลเป็นมิติใหม่สำหรับธนาคารกลางในประเทศเหล่านี้ ซึ่งในแง่หนึ่งสะท้อนความสำเร็จในการพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นจนมีบทบาทที่สำคัญ ในขณะเดียวกัน การพัฒนาตลาดดังกล่าวเกิดขึ้นควบคู่กับการขยายฐานนักลงทุนไปสู่นักลงทุนต่างประเทศ (รูปที่ 2) นักลงทุนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะไม่ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจากในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นต้องการผลตอบแทนทั้งจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงและค่าเงินที่แข็งขึ้น  แต่ในทางกลับกันเมื่อเศรษฐกิจมีปัญหานักลงทุนต่างชาติจะขายสินทรัพย์เพื่อลดความเสี่ยง ส่งผลให้ค่าเงินอ่อนลงและอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นการตอกย้ำความจำเป็นในการขายสินทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติเพื่อหลีกเลี่ยงผลขาดทุน พฤติกรรมดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการผูกการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนเคลื่อนย้าย ค่าเงิน และอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลเข้าด้วยกัน และเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความผันผวนในตลาดการเงินโดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจขาลง[1]

รูปที่ 2 บทบาทของนักลงทุนต่างชาติ ที่มา: BIS (2020); อักษรย่อและชื่อเต็มประเทศ

ในวิกฤตินี้เช่นกัน การไหลออกของเงินทุนต่างชาติจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่หนักหน่วงยิ่งกว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีต (รูปที่ 3 ภาพซ้าย) ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศเหล่านี้อ่อนลงและอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรในสกุลเงินท้องถิ่นปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (รูปที่ 3 ภาพกลาง) โดยผลกระทบดังกล่าวมีมากขึ้นในประเทศที่มีสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติในตลาดที่สูง (รูปที่ 3 ภาพขวา)  ความจำเป็นของธนาคารกลางในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในการเข้ามาดูแลสภาพคล่องและลดความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรรัฐบาล ส่วนหนึ่งจึงสะท้อนถึงโครงสร้างระบบการเงินที่เปลี่ยนไปจากการพัฒนาตลาดที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากบทบาทของนักลงทุนต่างชาติที่มีมากขึ้น

รูปที่ 3 มรสุมเงินทุนเคลื่อนย้ายในประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่มา: BIS (2020); อักษรย่อและชื่อเต็มประเทศ

อีกมิติหนึ่งของขอบเขตที่ขยายออกไปของ lender of last resort คือการก้าวเข้าไปดูแลปัญหาสภาพคล่องสำหรับกองทุนรวมตราสารหนี้  ในกรณีของสหรัฐอเมริกา แรงกดดันในช่วงแรกของวิกฤติเกิดขึ้นจากแรงไถ่ถอนอย่างหนักจากกองทุนรวมตราสารหนี้ประเภท prime money market funds ซึ่งลงทุนในหุ้นกู้ระยะสั้นของบริษัทเอกชน ถึงแม้สินทรัพย์ของกองทุนเหล่านี้ล้วนเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพ มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ดี (investment grade) แต่ด้วยความไม่แน่นอนที่สูงส่งผลให้ผู้ลงทุนถอนเงินจากกองทุนเหล่านี้เพื่อลดความเสี่ยง (รูปที่ 4)

รูปที่ 4 แรงกดดันต่อกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่มา: Crane Data คำนวณโดยผู้เขียน

การไถ่ถอนหน่วยลงทุนส่งผลทอดต่อไปยังตลาดเงินในวงกว้างเนื่องจากกองทุน prime money market funds เป็นแหล่งทุนสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับตลาดหุ้นกู้ระยะสั้น commercial paper ซึ่งเป็นที่พึ่งของธุรกิจทั่วโลกในการระดมทุนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (ดอลลาร์ สรอ.)  ปัญหาในกองทุนรวมตราสารหนี้จึงส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่แก่ระบบการเงินโดยรวม ธนาคารกลางสหรัฐฯ จำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่กองทุนรวมเหล่านี้สามารถรองรับการไถ่ถอนหน่วยลงทุนได้ผ่านการจัดตั้ง money market mutual fund liquidity facility (MMLF) ซึ่งมีผลช่วยลดแรงกดดันได้ทันทีดังแสดงในรูปที่ 4  ในการรับมือกับสถานการณ์ลักษณะเดียวกัน ธนาคารกลางของอินเดียและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุนรวมตราสารหนี้เช่นเดียวกัน

ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางหลายแห่งได้เข้าไปดูแลตลาดหุ้นกู้เอกชนโดยตรงท่ามกลางสภาพคล่องที่ลดลงอย่างมาก ตลาดดังกล่าวเป็นแหล่งระดมเงินทุนและแหล่งลงทุนที่สำคัญ หากประสบปัญหาสามารถส่งผลกระทบไปสู่ระบบการเงินโดยรวมและภาคเศรษฐกิจจริงได้ ธนาคารกลางหลักทั้งในสหรัฐฯ กลุ่มประเทศยูโร และสหราชอาณาจักร จึงเข้าไปเสริมสภาพคล่องในตลาดด้วยการรับซื้อตราสารหนี้โดยตรง  

การประกาศโครงการเหล่านี้ส่งผลทันทีในการเสริมเสถียรภาพให้แก่ตลาดโดยรวม โดยส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนของหุ้นกู้เอกชนกับพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงอย่างชัดเจน (รูปที่ 5)  เช่นเดียวกัน ธปท. ได้จัดตั้งกองทุน Corporate Bond Stabilization Fund เพื่อรักษากลไกตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนให้สามารถทำงานได้ในภาวะที่ตลาดการเงินมีความไม่แน่นอนสูง โดยเน้นผู้ออกตราสารที่มีคุณภาพดี เป็นการป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามกลายเป็นวิกฤติความเชื่อมั่น ซึ่งจะส่งผลกระทบที่รุนแรงและยากต่อการแก้ไข

รูปที่ 5 แรงกดดันในตลาดหุ้นกู้เอกชน ที่มา: BIS (2020)

…สู่ภาคธุรกิจและครัวเรือน

วิกฤติโควิดมีความพิเศษเฉพาะจากการที่ผลกระทบโดยตรงเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจและครัวเรือนในวงกว้าง ดังนั้นจุดประสงค์หลักของการดำเนินนโยบายจึงมุ่งไปสู่การช่วยประคองให้ธุรกิจและครัวเรือนมีสภาพคล่องพอที่จะฝ่าฟันการปิดเมืองชั่วคราวได้ ความจำเป็นในการยื่นมือไปสู่ภาคธุรกิจโดยตรงเป็นอีกวิวัฒนาการที่สำคัญของบทบาท lender of last resort และเป็นภารกิจที่มีความเสี่ยงต่อการผิดชำระหนี้ที่สูงขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการประสานกับกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิด

การช่วยเหลือภาคธุรกิจได้ดำเนินการผ่านหลายช่องทาง นอกจากการเสริมสภาพคล่องในตลาดหุ้นกู้เอกชนแล้ว มาตรการที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายคือการให้ธนาคารพาณิชย์กู้เงินจากธนาคารกลางในอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจ แทบทุกธนาคารกลางในตารางที่ 1 ได้ออกมาตรการ soft loan ลักษณะนี้ (specialised lending) โดยส่วนใหญ่เน้นการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจ SME

ในขณะเดียวกัน ได้มีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับสถาบันการเงินอย่างกว้างขวางเป็นประวัติการเพื่อสนับสนุนความสามารถและกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นการลดระดับเงินกองทุนที่ต้องดำรง การผ่อนปรนเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง การจัดชั้นและกันเงินสำรอง รวมทั้งการงดจ่ายเงินปันผล ดังเห็นได้ในตารางที่ 1  เป็นที่น่าสังเกตว่าการสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ขยายสินเชื่อในช่วงเศรษฐกิจขาลงนั้นแตกต่างจากหลักปฏิบัติในอดีตที่มักจะเน้นการเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการกำกับดูแล และสะท้อนถึงแนวคิดเชิง macroprudential ซึ่งให้ความสำคัญกับผลกระทบเชิงระบบ การที่ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งมุ่งที่จะจำกัดความเสี่ยงของตนโดยการลดสินเชื่อ อาจส่งผลให้เศรษฐกิจหยุดชะงักและกลับกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับระบบโดยรวมซึ่งในที่สุดสร้างความเสียหายต่อธนาคารพาณิชย์มากขึ้นด้วยซ้ำ

มาตรการเหล่านี้ล้วนมุ่งที่จะสนับสนุนภาคธุรกิจและครัวเรือนผ่านกลไกของระบบธนาคารพาณิชย์แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของธนาคารพาณิชย์ในการเป็นข้อต่อสุดท้ายสำหรับการส่งผ่านสภาพคล่องสู่เศรษฐกิจจริงแม้ระบบการเงินได้มีการพัฒนามากขึ้นและบทบาทของตลาดทุนได้เพิ่มสูงขึ้นก็ตาม รวมทั้งในกรณีสหรัฐฯ ที่ตลาดทุนพัฒนารุดหน้าไปไกลมาก ภาคธุรกิจหันมาพึ่งสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์อย่างมากในยามคับขัน (รูปที่ 6) เป็นการสะท้อนว่าตลาดทุนและธนาคารพาณิชย์ทำหน้าที่เสริมซึ่งกันและกันในระบบการเงิน โดยในวิกฤตนี้ธนาคารพาณิชย์ได้ทำหน้าที่เป็นกันชนที่สำคัญเมื่อตลาดทุนหยุดชะงัก ฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นผลจากการยกระดับและมาตรฐานการกำกับดูแลในช่วงหลังวิกฤตการเงินโลกในปี 2007 เอื้อให้ระบบธนาคารพาณิชย์สามารถเล่นบทบาทนี้ได้

รูปที่ 6 บทบาทของธนาคารพาณิชย์ในการรองรับแรงกระแทก ที่มา: BIS (2020)

…สู่ตลาดเงินโลก

ภายใต้ระบบการเงินที่มีความเชื่อมโยงกันมาก สำหรับประเทศที่สกุลเงินของตนมีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก เช่น สหรัฐฯ ขอบเขตของบทบาท lender of last resort ไม่สามารถหยุดได้เพียงภายในประเทศ

ในช่วงที่ผ่านมา บทบาทของดอลลาร์ สรอ. ในธุรกรรมตลาดเงินโลกได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนอกเหนือจากการเป็นสกุลเงินหลักในการค้าระหว่างประเทศ (invoice currency) การกู้ยืมในสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. ได้ขยายเพิ่มขึ้นมาก เมื่อตลาดเงินในสหรัฐฯ ประสบปัญหา ผลกระทบย่อมทอดออกไปสู่ตลาดเงินในประเทศต่างๆ ที่พึ่งการกู้ยืมดอลลาร์ สรอ.  แรงกดดันในตลาด offshore ดังกล่าวสะท้อนออกมาชัดที่สุดในตลาด FX swap ซึ่งเป็นแหล่งระดมทุนในสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. ที่สำคัญสำหรับภาคธุรกิจนอกสหรัฐฯ

สภาพคล่องในตลาดเงินสหรัฐฯ ที่ลดลงนำไปสู่การขาดแคลนดอลลาร์ สรอ. ในตลาด offshore ส่งผลให้ต้นทุนในการกู้ดอลลาร์ สรอ. ในตลาด FX swap เพิ่มสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับการกู้ในตลาดเงินสหรัฐฯ สะท้อนใน FX swap basis สำหรับสกุลเงินหลักหลายสกุลที่มีค่ามากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินโลกในปี 2007 (รูปที่ 7 ภาพซ้าย)  เพื่อไม่ให้แรงกดดันลุกลามและส่งผลย้อนกลับมายังตลาดเงินในประเทศ ธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงได้เปิดหน้าต่าง FX swap line ให้ธนาคารกลางใน 14 ประเทศสามารถกู้ยืมสภาพคล่องดอลลาร์ สรอ. เพื่อไปปล่อยกู้ต่อในตลาด FX swap ท้องถิ่น  มาตรการดังกล่าวได้บรรเทาการขาดแคลนดอลลาร์ สรอ. และส่งผลให้ FX swap basis ปรับลดลงอย่างเห็นได้ชัดในภาพซ้ายของรูปที่ 7 โดยเฉพาะสำหรับสกุลเงินหลักที่มีการใช้หน้าต่างดังกล่าวในปริมาณที่สูง เช่น เงินเยนและยูโร (รูปที่ 7 ภาพขวา)

รูปที่ 7 การขาดแคลนสภาพคล่องดอลลาร์ สรอ. ในตลาดเงินโลก ที่มา: BIS (2020)

ข้อสรุป

ภายใต้สภาวะฉุกเฉินจากระบบเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก ธนาคารกลางทั่วโลกได้ดำเนินการอย่างทันท่วงทีเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน และป้องกันไม่ให้ความกังวลและไม่มั่นใจในตลาดการเงินลุกลามออกไปซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญปัญหาใหญ่หลวง เป็นการดับไฟแต่ต้นทางซึ่งต้องอาศัยความเด็ดเดี่ยวในการตัดสินใจท่ามกลางความไม่แน่นอนที่มีสูงมาก  ด้วยความรุนแรงของสถานการณ์และระบบการเงินที่เปลี่ยนไป รูปแบบการแทรกแซงของธนาคารกลางต้องปรับตัวไปด้วย โดยมีการดำเนินการในตลาดเงินและตลาดทุน รวมทั้งการยื่นมือไปสู่ภาคธุรกิจมากขึ้น  การขยายขอบเขตของบทบาท lender of last resort ย่อมมาพร้อมความเสี่ยงที่สูงขึ้น ทั้งในแง่โอกาสที่ธนาคารกลางอาจจะขาดทุน หรือคำถามเกี่ยวกับความเป็นธรรมในการจัดสรรความช่วยเหลือ  การออกแบบเกณฑ์และรายละเอียดของโครงการต่างๆ จึงต้องคำนึงถึงความเสี่ยงดังกล่าว และพยายามให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด โดยมีการกำกับดูแล กระบวนการทำงานและการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ รัดกุม และโปร่งใส รวมทั้งมีการประสานงานกับกระทรวงการคลังซึ่งมีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณรองรับความเสียหาย ที่สำคัญ การดำเนินงานทั้งหมดต้องสอดคล้องกับพันธกิจหลักของธนาคารกลางในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน

ในระยะต่อไปบทบาทของธนาคารกลางต้องเปลี่ยนจากการดำเนินมาตรการฉุกเฉินมาเป็นการสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไประยะหนึ่ง พร้อมกับการทยอยลดการแทรกแซงในตลาดเมื่อสภาพคล่องกลับคืนสู่ระดับปรกติ อย่างไรก็ดี ควรตระหนักถึงขีดจำกัดของนโยบายการเงินในการผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจ นโยบายการเงินไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจได้ และการพึ่งการกระตุ้นผ่านนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเกินไปอาจสร้างความเสี่ยงและเปราะบางทางการเงินซึ่งจะกลับกลายมาเป็นปัญหาที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจได้ในที่สุด  

ในขณะเดียวกัน การรักษาขอบเขตระหว่างนโยบายการเงินกับนโยบายการคลังเป็นสิ่งที่สำคัญ ภายใต้บริบทที่หนี้ภาครัฐได้ปรับสูงขึ้นมาก ธนาคารกลางต้องยืนหยัดต่อแรงกดดันที่อาจจะมีให้ดำเนินนโยบายการเงินเพื่อลดภาระหนี้ของภาครัฐ  ซึ่งจะเป็นการเบี่ยงเบนการกำหนดนโยบายจากพันธกิจหลัก บั่นทอนความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง  และอาจส่งผลให้เสถียรภาพของเศรษฐกิจโดยรวมสั่นคลอน