ThaiPublica > คอลัมน์ > Covid-19 กับปัญหาหนี้สาธารณะของไทย

Covid-19 กับปัญหาหนี้สาธารณะของไทย

22 กรกฎาคม 2020


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

วิกฤติ Covid-19 ได้สร้างปัญหาการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก และเรายังไม่รู้ว่าปัญหานี้จะอยู่กับเราอีกนานแค่ไหน เมื่อกระแสเงินสดหยุดชะงัก

ความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ของทั้งธุรกิจและภาคครัวเรือนก็เริ่มปัญหา ไม่เพียงแต่ภาคเอกชนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ภาครัฐในประเทศต่างๆ ก็ต้องใช้จ่ายเพื่อเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลในหลายประเทศต้องกู้เงินมหาศาลเพื่อชดเชยการขาดดุลที่เพิ่มขึ้น

IMF ประมาณการไว้ว่าทั้งโลกมีการอัดฉีดด้านการคลังเพื่อรับมือกับวิกฤติรอบนี้ไปแล้วกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์ หรือกว่า 6% ของ GDP ทั้งโลก (และอาจจะสูงขึ้นได้อีกในอนาคต) และระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ในปีนี้ของทั้งโลกอาจจะขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์และสูงกว่าระดับหนี้หลังสงครามโลกครั้งที่สองเสียอีก

หนี้สาธารณะทั่วโลกกำลังสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจจะสูงกว่าช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มา : IMF

ระดับหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นจะกลายเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย

ถ้าเราดูระดับหนี้สาธารณะเมื่อสิ้นปีที่แล้วก่อนเกิดปัญหา Covid-19 ระดับหนี้สาธารณะรวมอยู่ที่ 6.9 ล้านล้านบาท หรือ 41.9% ของ GDP ซึ่งก็ถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ตัวเลขล่าสุด ณ สิ้นเดือนพ.ค. ระดับหนี้สาธารณะขึ้นไปอยู่ที่ 7.3 ล้านล้านบาท หรือ ประมาณ 44.1% ของ GDP แต่นั่นคือเราใช้ตัวเลข GDP เก่า ถ้าเราเชื่อว่า GDP ปีนี้อาจจะหดตัวจากปีก่อน 9% สัดส่วนหนี้สาธารณะปัจจุบัน จะขึ้นไปอยู่ที่ 48% ของ GDP

และหนี้สาธารณะกำลังจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างรวดเร็วทั้งจากการขาดดุลที่วางแผนไว้ตามงบประมาณ หนี้ที่จะเพิ่มขึ้นจาก พ.ร.บ. กู้เงิน หนึ่งล้านล้านบาท การขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติมจากรายได้ภาษีที่ต่ำกว่าประมาณการ ทั้งจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการเลื่อนหรือลดภาษีให้กับประชาชน จากข้อมูลกรมสรรพากร แค่เก้าเดือนแรกของปีงบประมาณ กรมสรรพากรมีรายได้ต่ำกว่าประมาณการไปแล้วกว่าสองแสนล้านบาท (เกือบ 10% ของรายได้รัฐบาลรวม) และคาดว่ากรมจัดเก็บอื่นๆ ก็คงมีรายได้ต่ำกว่าเป้าเช่นกัน

ด้วยการขาดดุลงบประมาณที่เราวางแผนไว้ในปีงบประมาณหน้า คาดว่าหนี้สาธารณะภายในปีหน้าอาจจะขึ้นไปแตะเกือบๆ 60% ของ GDP หรือเกินกว่านี้ได้ ถ้าเรามีการขาดดุลมากกว่าที่คาดไว้ หรือถ้า GDP โตช้ากว่าที่คาด

ประเทศไทยตั้งกรอบหนี้สาธารณะไว้ไม่ให้เกิน 60% ของ GDP แต่หากมองจากกรอบความยั่งยืนทางการคลัง สิ่งที่น่าจะสนใจ อาจจะไม่ใช่แค่ระดับหนี้เท่านั้น แต่มีอีกสามประเด็นสำคัญ คือ

    หนึ่ง การสร้างหนี้เป็นการสร้างหนี้ที่ดี ที่ทำไปเพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจประเทศหรือไม่

    สอง ภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายบนหนี้เป็นภาระต่อเงินงบประมาณจนไม่สามารถนำเงินไปใช้ในสิ่งจำเป็นเพื่อพัฒนาประเทศหรือไม่

    สาม คือ ประเทศจะรักษาระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่ให้เพิ่มขึ้นแบบไม่หยุดได้หรือไม่

ทั้งสามประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญแค่สามอย่าง คือ

  • หนึ่ง อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต ถ้าการสร้างหนี้ทำไปในสิ่งจำเป็น ทำให้เศรษฐกิจโตได้ หรือกันไม่ให้เศรษฐกิจตกต่ำ ก็ถือเป็นการสร้างหนี้ที่ดี
  • สอง อัตราดอกเบี้ย ด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าในอดีตค่อนข้างมาก ภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลงไปมาก และจะทำให้ยอดหนี้เพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง
  • สาม คือ ดุลงบประมาณขั้นต้น (ดุลงบประมาณที่ไม่รวมดอกเบี้ยจ่าย) ในอนาคต ถ้าเราทำงบประมาณขาดดุล และกู้เงินมาใช้ในวันนี้ เราต้องมีวินัย โดยการทำงบประมาณขาดดุลน้อยลงหรือเกินดุล โดยการลดรายจ่ายหรือขึ้นภาษีในอนาคต เพื่อ “จ่ายคืนหนี้”

ถ้าดูแบบนี้ ถ้ามีความจำเป็นจริง ๆ เพื่อเยียวยา ลดผลกระทบ และกระตุ้นเศรษฐกิจ เราก็ยังพอมีช่องว่างพอจะกู้เพิ่มได้ (โดยอาจจะต้องปรับกรอบหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น) แต่เราต้องมีวินัยด้านการคลังมากขึ้น และเราจะมีกระสุนเหลือน้อยลงหากสถานการณ์ข้างหน้าเลวร้ายกว่าที่คาด และนี่ยังไม่รวมภาระทางการคลังในอนาคต เช่น ปัญหาจากโครงสร้างประชากร และภาระที่สร้างไว้แล้วอื่น ๆ อีก

เมื่อเงินมีจำกัด ก่อนที่เราจะไปกู้เงินมาใช้ สิ่งที่เราควรทำในวันนี้ จึงควรเป็นการจัดลำดับความสำคัญของการใช้เงินตามเป้าหมายของนโยบายและทิศทางของประเทศที่อาจเปลี่ยนไป การจัดงบประมาณแบบเดิมๆ การใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ไม่ช่วยสร้างงาน ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ (เช่น การอบรมสัมมนาดูงานต่างประเทศ การซื้ออาวุธ ซื้อพาหนะที่มีความจำเป็นน้อย) ควรได้รับการทบทวน และลำดับความสำคัญแบบจริงๆ จังๆ และลดการรั่วไหลของเงินงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินลงไปตามเป้าหมายได้มากที่สุด

…ผู้เสียภาษีทุกคนควรช่วยกันถามนะครับว่า วันนี้เราทำครบแล้วหรือยัง?

หมายเหตุ :ตีพิมพ์ครั้งแรก น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 22 กรกฎาคม 2563