ThaiPublica > คอลัมน์ > วัยรุ่นไทย กับนโยบายสุขภาพจิต และปัญหาการละเมิดสิทธิผู้ป่วย

วัยรุ่นไทย กับนโยบายสุขภาพจิต และปัญหาการละเมิดสิทธิผู้ป่วย

24 กรกฎาคม 2020


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/freespiritthailand/photos/a.2132644733682700/2149161912030982/?type=3&theater

องค์การอนามัยโลกคาดว่า ปี 2020 โรคซึมเศร้าจะก่อความสูญเสียด้านสุขภาพเป็นอันดับ 2 ของโลก ในบ้านเราเอง กรมสุขภาพจิตพบว่า วัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า 3 ล้านคน และป่วยด้วยโรคซึมเศร้าแล้วกว่า 1 ล้านคน แต่วัยรุ่นกลุ่มดังกล่าวเข้าถึงบริการน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับวัยแรงงานและสูงอายุ

วัยรุ่นไทยที่มีอาการซึมเศร้ามักถูกพ่อแม่หรือครูเข้าใจผิดว่ามีนิสัยก้าวร้าว เกเร หรือชอบปลีกตัว จึงทำให้ไม่ได้รับการช่วยเหลือและนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ สังคมยังขาดความเข้าใจว่าไบโพลาร์และซึมเศร้าเป็นโรคที่ยากต่อการวินัจฉัย ไม่ใช่นิสัย ไม่ควรถูกตีตรา หรือนำมาเป็นคำด่าทอ

โรคซึมเศร้าเป็นปัญหาสำคัญของคนสมัยนี้ แต่ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนให้น้ำหนักอย่างจริงจัง รวมทั้งองค์กรพัฒนาเยาวชนไทยจำนวนมากยังยืนอยู่บนวิธีคิดของการ “ปกป้องเด็กจากอันตราย ที่เด็กยังไม่เห็นว่าเป็นปัญหา” เช่น อันตรายจากการจ้องจอมือถือนานเกินไป ไม่ใช่ “การช่วยเหลือเด็กจากอันตราย ที่เด็กรู้ตัวและยอมรับว่าตนกำลังเผชิญ” เช่น การเอาตัวรอดจากภาวะซึมเศร้า การรังแก วิกฤติอัตลักษณ์

และหากใครได้ดูคลิปจาซินดา อาร์เดิร์น หัวหน้าพรรคแรงงานและนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ สรุปนโยบายที่ทำตลอด 2 ปี ใน 2 นาที (คลิป อาร์เดิร์นสรุปนโยบาย 2 นาที) อาร์เดิร์นพูดถึง สุขภาพจิต (mental health) หลายรอบ โดยเสนอทั้งแผนดูแลสุขภาพจิต ยุทธศาสตร์ป้องกันการฆ่าตัวตายในโรงเรียน และ Mana Ake หรือทีมสนับสนุนนักเรียน ครู ครอบครัว ให้เด็กและวัยรุ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยเฉพาะด้านสุขภาพจิต เช่น ความเครียด วิตกกังวล ปัญหาการแยกตัวจากสังคม แยกกันอยู่กับผู้ปกครอง หรือการจัดการความสูญเสีย เรื่องที่กระทบต่อจิตใจ โดยในทีมมีทั้งนักจิตวิทยา ครู ผู้เชี่ยวชาญ คนทำงานภาคสังคม และคนทำงานด้านวัยรุ่นโดยตรง

นอกจากนี้ นิวซีแลนด์ยังเป็นอีกประเทศที่จริงจังกับเรื่องดังกล่าว หนึ่งในแกนนำสำคัญคือ Chloe Swarbrick วัย 23 ปี (ในขณะนั้น) เป็นสมาชิกสภาที่อายุน้อยที่สุด และผลักดันเรื่องปัญหาสุขภาพจิตมาโดยตลอด

ปัญหาด้านสุขภาพจิต เป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นมีสำนักข่าวกล่าวว่า mental health และ depression เป็นหนึ่งในวาระใหญ่ของคนยุคนี้

หลายประเทศขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพจิตอย่างจริงจัง เช่น ในเยอรมนี มีการเปิดโปรแกรมฝึกสอนที่ปรึกษาทางจิตกับคนทั่วไป, อังกฤษมีนโยบายพัฒนาบริการจิตเวชให้ทุกคนเข้าถึง เช่น เงินสนับสนุนการรักษา จำกัดเวลารอคิว เพิ่มอัตราจิตแพทย์, ในแคนาดามีกลุ่ม Defeat Depression ระดมทุนชวนทำกิจกรรมต้านความซึมเศร้าในเกือบ 100 แห่ง, เดนมาร์กมีองค์กร Ventilen ทำงานป้องกันความรู้สึกเหงา เคว้งคว้างของวัยรุ่นอายุ 15-25 ปีทั่วประเทศ

ปี 2017 ออสเตรเลียให้บริการจิตเวชออนไลน์ เช่น บำบัดผ่านทางออนไลน์ ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น ออสเตรเลียมีองค์กร Youth Action คอยสำรวจความเห็นของวัยรุ่นต่อเนื่อง โดยสนับสนุนให้วัยรุ่นเคลื่อนไหวในประเด็นที่เป็นปัญหาต่อตัวเอง และครอบคลุมประเด็นที่วัยรุ่นเห็นว่าเป็นปัญหาด้วย เรื่องโรคซึมเศร้าจึงถูกกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาวัยรุ่น (แทนที่จะเป็นเรื่อง รด. จิตสีขาว, การปลูกจิตสำนึก, หรือรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดแบบเดิมๆ ในแบบบ้านเรา)

นโยบายด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต กลายเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการแข่งขันช่วงฤดูกาลเลือกตั้งออสเตรเลียปี 2019 ที่ผ่านมา พรรครัฐบาล ซึ่งเป็นพรรคผสมระหว่างพรรคเสรีนิยมและพรรคเนชันนัล นอกจากจัดสรรงบประมาณกว่า 461 ล้านดอลลาร์ เพื่องานด้านสุขภาพจิตของเยาวชนและแผนงานป้องกันการฆ่าตัวตาย ยังมีแผนลงทุนในหน่วยบริการ Headspace อีก 30 แห่ง ซึ่งจะทำให้มีหน่วยดังกล่าว ถึง 145 แห่งทั่วประเทศ ในปี 2021

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายเพิ่มงบประมาณเพื่อเยียวยาด้านสุขภาพจิตให้ประชาชนในรัฐที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ เช่น แทสเมเนีย วิกตอเรีย และควีนส์แลนด์ และลงทุนงบประมาณกว่า 5 ล้านดอลลาร์เพื่อดำเนินโครงการป้องกันการฆ่าตัวตายในกลุ่มชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส ท่ามกลางการสนับสนุนจาก Scott Morrison นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ให้ปัญหาสุขภาพจิตเป็นศูนย์กลางของการเสนอนโยบายด้านสาธารณสุข

หลายปีมานี้ ออสเตรเลียจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้งบประมาณมากที่สุดเพื่อจัดการโรคที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต รวมถึงโรคเครียด โดยใช้เงินกว่า 19% ของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด หรือประมาณ 6 แสนล้านบาท

รายงานของบริษัทประกันชีวิต ซิกน่า จากสหรัฐอเมริกา เรื่อง CHRONIC STRESS: ARE WE REACHING HEALTH SYSTEM BURN OUT? ตอนหนึ่งระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่ใช้เงินน้อยที่สุดในการจัดการโรคที่เกี่ยวกับความเครียด โดยใช้เงินเพียง 717 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท) คิดเป็น 4% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด

ในไทยเอง นอกจากไม่ได้มีพรรคการเมืองใดให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวแล้ว ยังมีรายงานถึงปัญหาของกระบวนการรักษาสุขภาพจิตที่กำลังละเมิดสิทธิผู้ป่วย

ในแต่ละปี ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยนอกที่มารับบริการด้านสุขภาพจิตกว่า 1,100,000 คน และมีคนไทยกว่า 1 แสนคนเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลจิตเวชและสถาบันสุขภาพจิต โดยมีผู้ป่วยที่รับไว้รักษา (แอดมิต) เฉลี่ยปีละ 50,000 คน ในจำนวนนี้ถูกนำเข้ารับการรักษาภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพจิต ซึ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวไม่ได้ให้สิทธิในการตัดสินใจแก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีและผู้ที่มีอาการป่วยทางจิต โดยเห็นว่าไม่มีความสามารถในการตัดสินใจ แม้ว่าอาการบางอย่างอาจไม่ได้ลดทอนความสามารถใดๆ ในการตัดสินใจของผู้ป่วยก็ตาม

ผลที่เกิดขึ้นคือ นอกจากมีวัยรุ่นที่เข้าไม่ถึงการรักษาแล้ว ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ถูกคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวส่งตัวมาโดยไม่ยินยอมและไม่ได้เลือกการรักษาด้วยตนเอง

ใน พ.ร.บ. ระบุว่า “ผู้ป่วยย่อมมีสิทธิได้รับการบำบัดรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” แต่กลับให้มีการปกปิดข้อมูลการรักษา ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าการรักษานั้นได้กระทำโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วยหรือไม่

สถาบันจิตเวชบางแห่งในประเทศปฏิบัติกับผู้ป่วยโดยละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การจับมัดเพื่อบังคับฉีดยาและเจาะเลือด หรือมีการบังคับให้เปลี่ยนชุดและถอดกางเกงเพื่อเก็บฉี่ โดยมีเจ้าหน้าที่ยืนดู

ปี 2018 มีข่าวบนเว็บไซต์ไทยรัฐถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิผู้ป่วยจิตเวช “สาวป่วยไบโพลาร์ ซึมเศร้า เล่าประสบการณ์ในโรงพยาบาลจิตเวช เผย สภาพไม่ต่างจากคุก มอมยาให้ผู้ป่วยดูแลง่าย หวิดถูกไฟฟ้าช็อตสมอง โชคดีญาติมาเยี่ยมทัน พบคนออกมาแฉหลายราย”

ในรายงานกล่าวว่า ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเฉพาะโรคทางจิตเวชแห่งหนึ่งหลังเริ่มมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย โดยระบุว่า ในตอนแรกหมอให้เลือกว่าจะนอนที่โรงพยาบาลหรือกลับบ้าน แต่สุดท้ายกลับจบลงที่หมอจับฉีดยาแวเลียมเพื่อลดอาการคุ้มคลั่ง และให้นอนหอผู้ป่วยใน

“เมื่อถึงหน้าตึกทางโรงพยาบาลบังคับให้ถอดทุกอย่างเพื่อเปลี่ยนเสื้อผ้า และล็อกกุญแจจากด้านใน ส่วนสภาพข้างในตึกไม่ต่างจากคุก เป็นห้องแคบๆ มีลูกกรง ห้องน้ำล็อกไม่ได้ บานประตูเตี้ย มีเตียงทั้งหมด 30 ตัว แบ่งเป็นห้องละ 10 เตียง ด้านซ้ายมีเด็กคนหนึ่งถูกมัดติดกับเตียง ส่วนคนอื่นๆ นอนหลับสนิทจนผิดสังเกต จึงแจ้งว่าจะออกจากที่นี่ แต่กลับถูกปฏิเสธ ทั้งที่ญาติยังอยู่หน้าห้อง ทำให้ตนเร่ิมโวยวาย ควบคุมตัวเองไม่อยู่ ต่อมามี รปภ. ตัวใหญ่ 3 คน ได้มาลากให้ตนขึ้นเตียง และนำเชือกมามัด จนรู้สึกเจ็บ แต่ก็ไม่มีใครสนใจ และไม่ยอมคลายมัดให้ โดยพยาบาลตั้งข้อแม้ว่าจะต้องยอมให้ฉีดยาก่อน และทานยาก่อน ถ้าหลังจาก 30 นาทีผ่านไป อาการดีขึ้นจะมาแก้มัดให้”

“สักพักพยาบาลคนเดิมเดินเข้ามา ผู้ป่วยได้แจ้งว่าต้องการกลับบ้าน แต่ผู้ช่วยพยาบาล 2 คน กลับผลักให้นอนตะแคงไปอีกฝั่ง เพื่อให้พยาบาลฉีดยาที่สะโพก ซึ่งเป็นเข็มที่สอง ที่ห่างจากเข็มแรกไม่ถึงชั่วโมง ระหว่างนั้นมีการพยายามให้ทานยาเพิ่ม แต่ผู้ป่วยไม่ยอม และว่าญาติกำลังซื้อข้าวมาให้ ขอกินข้าวถึงจะยอมกินยา ซึ่งเมื่อกินข้าวเสร็จ ก็ถูกให้กินยาต่อทันที ซึ่งหลังจากถูกบังคับให้กินยาเข้าไป ทำให้ตนหลับลึกเหมือนคนตาย”

“มาถึงตรงนี้เราเริ่ม get แล้วว่านี่มันไม่ใช่การรักษา แต่มันคือการมอมยาเพื่อให้พวกเขาทำงานกันง่ายขึ้น เพราะขนาดตอนที่เราแหกปากโวยวาย เชื่อมั้ยว่าทุกคนนิ่งสนิท ไม่มีใครได้ยินหรือตื่นเลยสักคน”

“วันรุ่งขึ้นโรงพยาบาลได้มาเจาะเลือด พาไปเอกซเรย์ปอด และนำแผ่นมาแปะหน้าอกเต็มไปหมด แต่ด้วยความง่วงจึงไม่ได้สนใจ จนกระทั่งถึงเวลาที่ญาติมาเยี่ยม ตนพยายามรีบออกไปพบญาติ แต่กลับถูกบังคับให้อาบน้ำ แต่ตนไม่ยอมจึงได้เจอญาติ และมารู้ทีหลังว่ามีการขอให้ญาติเซ็นยินยอมล่วงหน้าไว้ก่อน เพื่อเข้าสู่กระบวนการทำ ECT ให้ตนช็อตสมองด้วยไฟฟ้า แต่ญาติบอกว่าต้องให้ตนเป็นคนยินยอมจึงจะสามารถดำเนินการได้ หากวันนั้นญาติมาไม่ทัน ตนจะต้องนอนอยู่ที่โรงพยาบาลอีก 3 อาทิตย์ สภาพเหมือนกับคนอื่นๆ ที่ตาลอย เชื่องช้า พูดจาเบลอๆ และสงสัยว่าโรงพยาบาลจะสร้างภายนอกให้ร่มรื่นเพื่ออะไร ทั้งที่กักขังคนป่วยไว้ข้างใน เมื่อญาติมาเยี่ยมก็จะไล่ไปอาบน้ำ สร้างภาพให้หน้าตาดูสดชื่น ส่วนของที่ญาตินำมาเยี่ยมก็ไปรับเองไม่ได้ หากอยากได้ผู้ป่วยจะต้องมาเบิก”

ในเนื้อหาข่าวยังรายงานว่า หลังจากผู้ป่วยได้โพสต์ประสบการณ์ดังกล่าว ได้มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก บางส่วนระบุว่า เจอเหตุการณ์คล้ายกับเจ้าของโพสต์ หากผู้ป่วยไม่ยอมกินยาจะถูกกระทืบ พอออกจากโรงพยาบาลก็ผูกคอตาย หรือบางรายมีอาการแย่ลง

นอกจากนี้ยังพบบันทึกของพยาบาลที่ทำงานในโรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่ง ถึงการสร้างความอับอายให้ผู้ป่วย หรือ ผู้รับบริการด้านสุขภาพจิต ในบทความ “หนูกราบละ… อย่าให้หนูต้องแก้ผ้าเลย” โดยผู้เขียนอธิบายว่า

“ปี 2551 ดิฉันปฏิบัติงานที่หอผู้ป่วยรับใหม่หญิง พื้นที่รับผู้ป่วยอาการทางจิตรุนแรงไว้รักษา…ในกรณีผู้หญิงที่ต้องการฆ่าตัวตาย เธอจะใช้อะไรเป็นอาวุธได้บ้าง (ดิฉันยังไม่เคยเห็นรายงานการกลั้นใจตายนะคะ) ที่ติดตัวผู้หญิงก็มีเสื้อชั้นใน กางเกงใน ดังนั้น หอผู้ป่วยจึงมีมาตรการป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยไม่อนุญาตให้ผู้ป่วยหญิงสวมชุดชั้นใน ยางรัดผมหรือผ้าผูกผมก็ไม่ได้ ยกเว้นกรณีผู้ป่วยพิเศษที่อยู่ในหอผู้ป่วยพิเศษและมีญาติเฝ้าตลอด 24 ชม. เท่านั้น

วันหนึ่ง เมื่อดิฉันและทีมพยาบาลเดินตรวจเยี่ยมผู้ป่วยทุกคนเสร็จเรียบร้อย กำลังจะนั่งลงเขียนรายงาน มีผู้ป่วยหญิงคนหนึ่งซึ่งพักอยู่ใน ‘ห้องพักใจ’ (ทีมพยาบาลรู้กันว่าต้องเฝ้าระวังฆ่าตัวตายอย่างเข้มงวด ซึ่งมีมาตรการต่างๆ มากมาย) เธอยืนเกาะประตูร้องเรียกให้ดิฉันเปิดประตูให้ “หนูอยากคุยกับคุณหมอค่ะ” เมื่อดิฉันเปิดประตูให้ เธอก็ตรงเข้ากอดดิฉันแน่น ร้องไห้โฮ ปากก็พร่ำรำพันซ้ำๆ กันว่า ‘คุณหมอ หนูกราบละ จะให้หนูทำอะไรก็ได้หนูยอมทุกอย่าง ขออย่างเดียวอย่าให้หนูต้องแก้ผ้าเลย …’ เธอร้องไห้สะอึกสะอื้นจนตัวโยน ดิฉันกอดเธอไว้แน่น สัมผัสได้ถึงความอัดอั้นตันใจของเธอ (ขณะเขียนบทความนี้ดิฉันก็ยังน้ำตาซึม) … ก็ปล่อยให้เธอร้องไห้ให้พอใจ กอดเธอไว้ กดหน้าเธอแนบอกดิฉันไว้ ลูบหัวเธอเบาๆ ไปเรื่อยๆ โดยไม่พูดอะไร ก็มันพูดอะไรไม่ออก.. แล้วเธอก็หยุดร้องไห้ เมื่อได้ระบายออกมาบ้าง

ดิฉันบอกให้เธอตั้งสติ แล้วพูดช้าๆว่าต้องการอะไร เธอบอกว่าดิฉันเก็บชุดชั้นในของเธอไว้ แล้วเสื้อของโรงพยาบาลตัวที่เธอสวมอยู่นั้นบางมาก มันเหมือนไม่ได้สวมอะไรเลย! ดิฉันก็เข้าใจนะ ผู้ป่วยที่ได้รับการประเมินว่ามีความเสี่ยงฆ่าตัวตายระดับรุนแรงจะต้องสวมเสื้อสีส้ม ซึ่งแตกต่างจากเสื้อของผู้ป่วยประเภทอื่น เพื่อให้เกิดความแตกต่าง บ่งชี้ตัวได้ชัดเจน ถูกต้องและรวดเร็ว ถึงขนาดเจ้าหน้าที่ต้องเห็นหน้าผู้ป่วยทุก 15 นาที และหากดิฉันสุ่มถามว่า “ตอนนี้ …(ใคร) …อยู่ที่ไหน” ต้องตอบได้ทันที เป็นการรักษาความปลอดภัยให้เธอจากตัวเธอเอง!

ก่อนหน้านี้เราก็แก้ปัญหาโดยเย็บผ้าสีเข้ม (สีเขียวเข้ม) ซ้อนหน้าอกเสื้อด้านในให้ดูหนาและทึบมากขึ้น ไม่สวมเสื้อชั้นในก็ไม่น่าเกลียดมากนัก ก็หอผู้ป่วยจิตเวชไม่ใช่สถานที่รโหฐานนี่คะ ไม่ใช่ห้องนอนส่วนตัว แต่มีคนเดินเข้าออกตลอดเวลา เช่น ญาติผู้ป่วยที่เป็นผู้ชาย ช่างผู้ชายเข้ามาซ่อมแซมอาคาร/อุปกรณ์ นักศึกษาพยาบาลชาย แพทย์ผู้ชาย ฯลฯ แม้แต่ผู้ป่วยเองก็ยังถูกส่งไปรับการตรวจรักษาเพิ่มเติมนอกสถานที่ด้วย เธอจึงรู้สึกอับอายที่จะเดินไปมาในสภาพเช่นนี้ และนี่คงเป็นเหตุผลที่เธอนั่งคลุมผ้าอยู่บนเตียงตลอดเวลา โดยพยาบาลจิตเวชกลับประเมินว่าเธอมีอาการซึมเศร้า แยกตัวเอง … เธอแสดงความน้อยใจว่า ‘ขาของหนูเสียข้างหนึ่งหนูยังไม่อายเท่าไร หนูอายที่ต้องแก้ผ้า!’ ขาเธอบิดจนเสียรูปไปข้างหนึ่ง แล้วเธอก็เริ่มร้องไห้อีก ดิฉันต้องปลอบใจและรับปากว่าจะจัดหาเสื้อชั้นในให้เป็นกรณีพิเศษ เธอจึงสงบลง เราก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ

ปีถัดมา ดิฉันย้ายไปปฏิบัติงานที่หน่วยบำบัดรักษาด้วยไฟฟ้า เราทำโครงการพัฒนาชื่อ ‘บริการด้วยหัวใจ จากหน่วยรักษาด้วยไฟฟ้า’ ขึ้น เป็นโครงการพัฒนาเชิงคุณภาพ มีทั้งหมด 10 กิจกรรม หนึ่งในนั้นคือกิจกรรม ‘เสื้ออุ่นใจ’ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องสิทธิผู้ป่วยหญิงนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากการรักษาด้วยไฟฟ้าต้องปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย เพื่อความปลอดภัยในการรักษาจึงกำหนดให้ผู้ป่วยหญิง ‘no bra’ โดยเราจัดหาเสื้อชั้นในสีดำที่ไม่มีโครง ไม่มีตะขอหรือส่วนที่เป็นโลหะให้ผู้ป่วยสวม ก่อนจะมาที่หน่วยบำบัดรักษาด้วยไฟฟ้า และหอที่ผู้ป่วยหญิงพักอยู่ก็สามารถนำเสื้อนี้ไปใช้ได้เมื่อต้องพาผู้ป่วยไปบำบัดรักษาหรือตรวจเพิ่มเติมนอกสถานที่”

ในสหรัฐอเมริกา กลุ่ม Mental Health Declaration of Human Rights by Citizens Commission on Human Rights กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านการคุกคามสิทธิมนุษยชนในผู้มีอาการทางจิตเวช ได้ผลักดันกฎหมายคุ้มครองผู้ป่วยจิตเวชที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา โดยในเนื้อหาระบุให้เปิดเผยข้อมูลยาและการรักษาทั้งหมด ไม่กำหนดอายุผู้มีสิทธิตัดสินใจเข้ารับการรักษา รวมทั้งให้สิทธิในการปฏิเสธข้อวินิจฉัยของแพทย์

การรักษาผู้ป่วยจิตเวชภายในสถาบันจิตเวชและโรงพยาบาลจิตเวชจะเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร หากผู้ป่วยไม่มีสิทธิในการตัดสินใจ และข้อมูลหรือกระบวนการการรักษาไม่ถูกเปิดเผย

ปี 2019 ในประเทศไทย พ.ร.บ.สุขภาพจิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ประกาศใช้แล้ว โดยระบุว่า “เพิ่มการส่งเสริม ป้องกัน และควบคุมปัจจัยคุกคามด้านสุขภาพจิต การฟื้นฟูสมรรถภาพ และคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยจากการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อทุกประเภท ตลอดจนเพิ่มสิทธิให้ผู้ดูแลเพื่อสามารถให้ดูแลผู้ป่วย อันจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมไทยอย่างมีความสุข”

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า “พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 มีการบังคับใช้มาเป็นเวลานาน โดยเน้นการบำบัดรักษาผู้ป่วยเป็นหลัก ซึ่งยังไม่ครอบคลุมการส่งเสริม ป้องกันด้านสุขภาพจิต และบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตยังไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างถูกต้องและเพียงพอ มีการเผยแพร่ข้อมูลสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่ออื่นใด ในทางที่ก่อให้เกิดทัศนคติไม่ดีต่อบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต รวมทั้งขาดการช่วยเหลือและให้สิทธิผู้ดูแลผู้ป่วยซึ่งเป็นบุคคลสำคัญ ตลอดจนขาดกลไกการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีอาการทุเลาสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข สมควรกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวกับการส่งเสริม การป้องกัน และการควบคุมปัจจัยที่คุกคามสุขภาพจิตขึ้นมา จึงเป็นเหตุผลและความจำเป็นหลักในการประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขภาพจิตฉบับใหม่นี้”

หากหนึ่งในเหตุผลของการแก้ไข พ.ร.บ.สุขภาพจิตคือการช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีชีวิตปกติในสังคมได้ เหตุใดในปัจจุบันกลับยังมีคนถูกขังในโรงพยาบาล/สถาบันจิตเวช ยังไม่รวมคนที่ถูกกลั่นแกล้งด้วยการบังคับแอดมิต ดังเช่นกรณีของทิวากร (ผู้สวมเสื้อ ‘เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว’ ถูกจับเข้าจิตเวชแล้ว) ในรายงานข่าวตอนหนึ่งระบุว่า

“ทิวากร ผู้สวมเสื้อ ‘เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว’ ถูกควบคุมตัวเพื่อตรวจรักษาอาการทางจิตที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์…ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิตแห่งชาติ (เข้าใจว่า รายงานข่าวเขียนผิด เนื่องจากไม่มี พ.ร.บ.สุขภาพจิตแห่งชาติ มีแต่ พ.ร.บ.สุขภาพจิต และคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ [ผู้เขียน, เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์]) ทิวากรจะถูกตรวจรักษาและประเมินอาการทางจากจิตโดยละเอียดภายในเวลาไม่เกิน 30 วัน หากมีการดำเนินคดี แพทย์จะต้องประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีและแจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบภายใน 45 วัน นับตั้งแต่ได้รับตัวไว้

จากรายงานข่าว มารดาวัย 75 ปี เล่าว่า วันที่ 9 ก.ค. 2563 เวลาประมาณ 19.00 น. มีรถจากเจ้าหน้าที่ ตร.และจากโรงพยาบาลจำนวนเกือบสิบคันมาจอดที่บ้าน ระหว่างนั้นทิวากรกำลังทำความสะอาดบ้านและซักเสื้ออยู่ แต่เธอไม่ทราบสภาพการจับกุม เนื่องจากทนดูไม่ได้เลยหลบเข้าไปหลังบ้าน

“ก. (สงวนชื่อและนามสกุล) ญาติสนิทที่อยู่ในเหตุการณ์จับกุมกล่าวว่า ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและพยาบาลเข้าไปจับกุมในบ้าน ทิวากรปฏิเสธไม่ยอมรับการจับกุมแต่ได้มีเจ้าหน้าที่จำนวน 6 คน เข้าไปอุ้มตัว ทิวากรออกมา ก.ได้ขอเดินทางไปกับทิวากร เล่าว่าหลังจากถูกนำตัวขึ้นรถ เจ้าหน้าที่ได้ใช้ผ้ามัดมือของทิวากร และฉีดยาเข้าที่บริเวณแขนของทิวากรทั้งสองข้าง” (ประชาไท)

การที่วัยรุ่นจำนวนมากรู้สึกซึมเศร้า หมดหวัง ไม่ว่าจะถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคหรือไม่ สะท้อนให้เห็นว่า ระบบสวัสดิการสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสุขภาพจิตวัยรุ่น ยังมีเรื่องให้ต้องทำอีกมาก ทั้งการส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงบริการทางการแพทย์แบบยินยอมพร้อมใจ, พ.ร.บ.สุขภาพจิต ที่ไม่ละเมิดสิทธิผู้ป่วย, ปัญหาด้านราคายา ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ด้านสุขภาพจิต ในส่วนที่ประชาชนยังต้องแบกรับ, วัฒนธรรมการตีตรา การใช้ชื่อโรคหรืออาการเป็นคำด่าทอ, การส่งเสริมให้เกิดสื่อที่พูดถึงกระบวนการเยียวยารักษาสุขภาพจิตที่ถูกต้องและสิทธิของผู้รับบริการ, แผนสุขภาพจิตในสถานศึกษา, ศูนย์พักพิง หรือ shelter ที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น, การรณรงค์ให้ผู้ที่จะมีลูก นอกจากตรวจสุขภาพกายแล้ว ควรตรวจสุขภาพจิตด้วย, มีศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตวัยรุ่นที่ครอบคลุม ทั่วถึง และไม่มีค่าใช้จ่าย

รวมทั้งมีนโยบายวัยรุ่นที่ช่วยลดแรงกดดันในการใช้ชีวิต สนับสนุนให้วัยรุ่นเข้าถึงทรัพยากรเพื่อแก้ปัญหาที่สำคัญกับตัวเอง และสร้างสภาพแวดล้อมวัฒนธรรมที่ช่วยให้วัยรุ่นได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่

อ้างอิง

หมายเหตุ :ขอขอบคุณคุณนานา วิภาพรรณ วงษ์สว่างที่ช่วยตรวจทาน และภาพจาก เพจ Free Spirit Club