ThaiPublica > คอลัมน์ > The science of อะไรที่ฆ่าเราไม่ตายจะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น

The science of อะไรที่ฆ่าเราไม่ตายจะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น

28 กรกฎาคม 2020


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี www.powdthavee.co.uk

ผมพึ่งอ่านหนังสืออีกเล่มหนึ่งของ Malcolm Gladwell จบก็เลยจะมาเขียนเล่าให้ฟังกันถึงคอนเซ็ปท์หนึ่งในหนังสือ David and Goliath: Underdogs, Misfits and the Art of Battling Giants ของเขา

ย้อนเวลากลับไปประมาณแปดสิบปีที่แล้ว สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง กรุงลอนดอนและเมืองโคเวนทรี่ในประเทศอังกฤษได้ถูกเครื่องบินฝั่งเยอรมนีทิ้งระเบิดลงเป็นหลายร้อยลูกในแต่ละวันเป็นเวลานานเป็นเดือนๆด้วยกัน และในจำนวนของประชากรอังกฤษที่อาศัยอยู่ในช่วงนั้น นักจิตวิทยาชาวคานาดาที่มีชื่อว่า J.T.MacCurdy ได้ทำการแยกพวกเขาออกไปเป็นสามกลุ่มดังต่อไปนี้

    1. คนที่เสียชีวิตเพราะระเบิด (The dead)
    2. คนที่ระเบิดลงใกล้ๆตัวแต่ตัวเองไม่ตาย แต่ก็อาจจะบาดเจ็บพอสมควร หรือไม่ก็เห็นเหตุการณ์ทำลายล้างใกล้ๆ (The near misses)
    3. คนที่ระเบิดลงไม่ใกล้ตัวมากแต่ก็ไม่ไกลตัวจนเกินไป ยกตัวอย่างเช่น คนที่เห็นระเบิดลงตรงปลายถนนที่ตัวเองอาศัยอยู่ แต่แรงระเบิดมาไม่ถึงบ้านของตัวเอง สรุปง่ายๆก็คือมองเห็นระเบิดลง แต่ตัวเองไม่ได้ถูกผลกระทบใดๆจากระเบิดเลย (The remote misses)

MacCurdy ได้เขียนลงในหนังสือของเขาว่า ผลกระทบของการทิ้งระเบิดกับคนที่เสียชีวิตคือเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะเคลียร์ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงมาก

ส่วนคนที่เจอลูกระเบิดลงใกล้ๆตัว (The near misses) คนพวกนี้ส่วนใหญ่จะเจอกับความช็อคที่อยู่กับพวกเขานานมาก ส่วนใหญ่จะมี post-traumatic stress disorder หรือ PTSD ซึ่งก็จะอยู่เป็นแผลใจในตัวเขาไปอีกนาน

แต่สำหรับคนที่เจอลูกระเบิดลงไม่ใกล้แต่ก็ไม่ไกลตัวมาก (The remote misses) คนพวกนี้ส่วนใหญ่กลับรู้สึกว่าตัวเองมีความอยู่ยงคงกระพัน (invincible) หลังจากที่เกิดเหตุการทิ้งระเบิดไปเรียบร้อยแล้ว คนพวกนี้กลับมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และมีความกล้าที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายๆต่างๆนานาและความกลัวที่อาจจะตามมาในอนาคตมากขึ้น

ทำไมหรือครับ

ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่า the remote misses ต่างก็มีความรู้สึกว่าตัวเขาได้ผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงมาแล้วและสามารถเอาตัวเองรอดออกมาได้ และการที่พวกเขาสามารถเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ร้ายแรงนี้ได้ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขามีความรู้สึกมั่นใจว่าพวกเขามีอะไรที่พิเศษกว่าคนอื่นๆ หรือเก่งกว่าคนอื่นๆ

คล้ายๆกับคำคมที่ว่า อะไรที่ฆ่าเราไม่ตายจะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น (what doesn’t kill us makes us stronger)

แต่ปัญหาก็คือคนที่อยู่ในกลุ่ม remote misses ส่วนใหญ่อาจจะมีความมั่นใจในตัวเองสูงจนเกินไป ทั้งๆที่ตัวเองอาจจะไม่ได้เจอเรื่องที่ร้ายแรงจริงๆอย่างที่คนในกลุ่ม near misses เจอ และก็อาจจะส่งผลทำให้คนในกลุ่ม remote misses คิดไปเองว่าคนในกลุ่ม near misses เป็นคนที่อ่อนแอ ไม่แข็งแกร่งพอที่จะทนได้

แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่พวกเขาเจออาจจะมีความ “ใกล้ตัว” มากกว่าก็เป็นได้ การเอาใจเขามาใส่ใจเราจึงเป็นอะไรที่ค่อนข้างสำคัญของคนในกลุ่ม remote misses ในการทำความเข้าใจคนในกลุ่ม near misses นะครับ

อ่านเพิ่มเติม
Gladwell, M., 2013. David and Goliath: Underdogs, misfits, and the art of battling giants. Little, Brown.
MacCurdy, J.T., 1943. The structure of morale. Cambridge University Press.