ThaiPublica > เกาะกระแส > “พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” มองเศรษฐกิจไทยหลังโควิด “3 ลุ้น – 2 ระวัง”

“พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” มองเศรษฐกิจไทยหลังโควิด “3 ลุ้น – 2 ระวัง”

30 กรกฎาคม 2020


ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ได้จัดงาน Virtual Press Conference แถลงข่าวผลประกอบการครึ่งปีแรก 2563 และทิศทางธุรกิจครึ่งปีหลัง โดยในช่วงแรกได้นำเสนอบทวิเคราะห์เศรษฐกิจ หัวข้อ “3 ลุ้น 2 ระวัง…ครึ่งปีหลัง 2563” โดย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)

3 ลุ้น “โควิดยืดเยื้อ-เศรษฐกิจไม่กลับมา-นโยบายกระสุนหมด”

ดร.พิพัฒน์เริ่มต้นปูพื้นสำหรับประเด็นเศรษฐกิจที่ต้องติดตามในปีนี้ว่ามีสิ่งที่ต้องลุ้น 3 เรื่อง

เรื่องแรกคือสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่เห็นท่าทีว่าจะจบลงได้เมื่อไร แม้ว่าสำหรับประเทศไทยจะควบคุมการระบาดได้ค่อนข้างดีมากแล้วจากบุคลากรและระบบการแพทย์ที่ดี แต่ถ้ามองไปข้างนอกต้องเรียกว่าไม่มีท่าทีว่าจะจบเลย ปัจจุบันสถานการณ์เป็นการระบาดทั่วโลกแล้ว แทบไม่มีประเทศไหนที่รอดเลย ล่าสุดผู้ติดเชื้อสะสมไปกว่า 17 ล้านคน ผู้เสียชีวิตอีก 600,000 คน ผู้ติดเชื้อใหม่แต่ละวันมากกว่า 200,000 คน เรียกว่าเป็นความเสี่ยงขนาดใหญ่ที่น่ากังวล

ดังนั้นถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเห็นสถานการณ์ที่ควบคุมได้ แต่ข้างนอกยังต้องระมัดระวังอย่างมาก รวมไปถึงว่าความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดระลอกสองได้อีกที่หลายประเทศต้องประสบไปแล้ว แล้วถามว่าจะจบอย่างไร หลายคนตั้งความหวังกับวัคซีน โดยในประเด็นนี้สถานการณ์ล่าสุดคือมีวัคซีนมากกว่า 100 ชนิดที่ทดลอง ในจำนวนนี้กว่า 30 ชนิดเริ่มทดสอบในคนได้แล้ว และคาดว่าหากฉุกเฉินจะสามารถผลิตวัคซีนใช้ได้ภายในปลายปีนี้ ตรงนี้เป็นความหวังว่าจะมีวัคซีนใช้ในโลกอย่างเร็วที่สุดอาจจะเป็นช่วงต้นปีหรือกลางปีหน้า หลังจากนั้นก็อาจจะทำให้สถานการณ์ทั่วโลกกลับมาปกติได้

แต่ก็แปลว่ากว่าจะไปถึงตรงนั้นเราอาจจะต้องอยู่ภาวะที่ไม่ปกติไปอีกอย่างน้อยปีหนึ่ง

“เรามองว่าโควิด-19 สร้างการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจและทำให้เศรษฐกิจโลกทั้งหมดเข้าสู่การถดถอยที่รุนแรงตั้งแต่ 1930 และผลกระทบที่เกิดขึ้นมาความน่าสนใจทั้งแง่ของความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ในแง่ของความลึกคือการถดถอยอย่างรุนแรง ความกว้างคือเป็นไปทั่วโลก เกือบจะทุกประเทศ และถ้ามองภายในประเทศไทยก็กระทบเกือบจะทุกภาคเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยเห็นจากวิกฤติในอดีต เรียกว่าตอนนี้แทบจะไม่มีภาคเศรษฐกิจที่ยังไปได้ดีที่มาชดเชยภาคเศรษฐกิจที่ถดถอยไปได้เลย”

เรื่องที่สองคือสถานการณ์เศรษฐกิจที่อาจจะยังอยู่ต่ำกว่าศักยภาพต่อไป อย่างน้อยจนกว่าจนเริ่มผลิตวัคซีนได้ แม้ว่าจะเริ่มกลับมาเปิดเมืองและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยสำหรับประเทศไทยประเด็นหลักจะอยู่ที่ภาคท่องเที่ยวที่คิดเป็น 12% ของจีดีพีทั้งหมด ดังนั้นถ้าไม่สามารถเปิดพรมแดนหรือมีมาตรการที่จะดูแลนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาได้ในเร็วนี้ก็จะกระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวมที่จะยังหดตัวต่อไป และอีกด้านคือความสามารถในการจ่ายคืนหนี้อาจจะมีปัญหาตามมา ซึ่งจากข้อมูลของ ธปท. ล่าสุดเป็นจำนวนที่ไม่ได้น้อย โดยปัจจุบันมีลูกหนี้ถึง 1 ใน 3 หรือมูลหนี้ประมาณ 6.9 ล้านล้านบาท และคิดเป็น 12.8 ล้านบัญชีที่ต้องรับการช่วยเหลือจากมาตรการผ่อนปรนการชำระหนี้รูปแบบต่างๆ อยู่

“ในการคาดการณ์เดิมของเราที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวกลับมาได้บ้างในช่วงปลายปี จีดีพีทั้งปียังติดลบไป 9% แต่ถ้าเกิดกลับมาไม่ได้ จีดีพีไทยมีความเสี่ยงที่อาจจะหดตัวมากกว่านั้น และเมื่ออุปสงค์จากภาคการท่องเที่ยวหายไป ด้านหนึ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องในส่วนนี้อาจจะปิดตัวตามลงไปและทำให้มีคนตกงานได้ถึงกว่า 4-5 ล้านคนและอัตราการว่างงานจะสูงถึง 10-12% ซึ่งสูงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน”

เรื่องที่สามคือข้อจำกัดของนโยบายเศรษฐกิจหลังจากนี้ เนื่องจากปัจจุบันทุกประเทศและทุกรัฐบาลได้ออกมาตรการมาพยุงเศรษฐกิจรวมกันไปแล้วกว่า 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นกว่า 10% ของจีดีพีทั่วโลก จนทำให้ระดับหนี้สาธารณะของโลกสูงขึ้นอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน สูงกว่าระดับหนี้สาธารณะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสะท้อนว่าวิกฤติครั้งนี้รุนแรงกว่าสงครามโลกไปแล้วด้วย ด้านนโยบายการเงิน ธนาคารหลักของโลกได้ลดดอกเบี้ยจนแตะ 0% หมดแล้ว รวมทั้งออกมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาอีกจำนวนมาก โดยเทียบเท่ากับช่วงวิกฤติการเงินโลกรอบที่แล้วในปี 2551 อย่างไรก็ตาม ในแง่ของระยะเวลาการอัดฉีดเม็ดเงิน ในวิกฤติครั้งที่แล้วเม็ดเงินจำนวนนี้ใช้เวลากว่า 6 ปีที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบ แต่รอบนี้ใช้เวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น

“คำถามคือถ้าอัดฉีดไปจนหมดขนาดนี้ ถ้าสถานการณ์การระบาดยังไม่คลี่คลาย แล้วหลังจากนี้จะมีเครื่องมือหรือมาตรการทางเศรษฐกิจเหลือเพียงพอหรือไม่ ขณะที่ประเทศไทยหนี้สาธารณะก็คาดว่าจะเพิ่มจนถึง 60% ในปีหน้าจากปัจจุบันที่อยู่ที่ระดับ 40% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจนแตะกรอบวินัยการคลังที่ตั้งเอาไว้ และอาจจะแก้ไขกฎหมายปรับเพดานเพิ่มขึ้นหากจำเป็นต้องใช้”

2 ระวัง “สงครามเย็นจีน-สหรัฐฯ – เลือกตั้งสหรัฐฯ”

ดร.พิพัฒน์กล่าวต่อไปว่า สำหรับสิ่งที่ต้องระวังในอีก 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ปัจจุบันหลายคนพูดไปถึงว่าโลกกำลังจะเข้าสู่สงครามเย็นอีกครั้ง เนื่องจากทั้งสองประเทศรับรู้แล้วว่าการทำสงครามการค้าจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ดังนั้นประเด็นที่ขัดแย้งกันได้เริ่มขยายออกไปในประเด็นอื่นๆ มากขึ้น เช่น เรื่องของเทคโนโลยี เรื่องการเอาบริษัทจีนออกจากตลาดหลักทรัพย์ หรือล่าสุดที่มีการปิดสถานทูตระหว่างกัน

ประเด็นที่สองคือการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายปี ถ้าดูจากความนิยมล่าสุด นายโจ ไบเดน อาจมีคะแนนความนิยมชนะทรัมป์ได้ เนื่องจากปัญหาการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจและการระบาดของทรัมป์ที่เข้ามาสร้างผลกระทบต่อสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก คำถามคือถ้าไบเดนได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีจริงอาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างน้อยอีก 3 ประเด็น

“อันแรกคือการขึ้นภาษีนิติบุคคลจนกระทบต่อผลกำไรของบริษัทเอกชน อันที่สองที่จะเกี่ยวกับไทยด้วยคือนโยบายการค้า หลายคนคาดว่าคงไม่สร้างสงครามการค้าแล้ว แต่จะกลับมาหาพันธมิตรผ่านเขตการค้าเสรีต่างๆ โดยเฉพาะ CPTPP ที่สหรัฐฯ อาจจะกลับเข้ามาอีกครั้งและกระทบอย่างมากเลยต่อไทย เพราะวันนี้เราบอกว่าประโยชน์ที่จะได้จากการร่วมอาจจะไม่เยอะ เพราะมีแค่เม็กซิโกกับแคนาดาที่ไม่มีเขตการค้าเสรีด้วย แต่พอสหรัฐฯ กลับมาการเปรียบเทียบประโยชน์ต้นทุนจะเปลี่ยนไปทันที  และก็มีความเสี่ยงว่าหลายประเทศที่เราพึ่งพาอยู่อาจจะย้ายฐานการผลิตออกไปเลย เพราะวันนี้เวียดนามและมาเลเซียก็อยู่ในกลุ่มนี้แล้ว ทำให้ความน่าสนใจของไทยที่ต่างชาติลดลงมาก เช่น ญี่ปุ่นเขาก็มีเหตุผลน้อยลงที่จะอยู่ที่ไทยต่อไปด้วย อันที่สามคือเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ถูกชูขึ้นมาเยอะ อาจจะกระทบกับต้นทุนการผลิตสินค้าต่างๆ ในอนาคต โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและพลังงาน”