ThaiPublica > เกาะกระแส > วิจัยกรุงศรี วิเคราะห์ วิกฤติโควิดเร่ง “Megatrends” (ตอน 1) หลอมโลกใบใหม่เปลี่ยนชีวิตคน

วิจัยกรุงศรี วิเคราะห์ วิกฤติโควิดเร่ง “Megatrends” (ตอน 1) หลอมโลกใบใหม่เปลี่ยนชีวิตคน

18 กรกฎาคม 2020


โดย ปัญจพัฒน์ ประสิทธิ์เดชสกุล

วิจัยกรุงศรีวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของคนและธุรกิจหลังวิกฤติโควิด-19 ในรายงาน Research Intelligence ประจำเดือนกรกฎาคม 2563

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 ได้ส่งผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติในทุกมิติ การใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศเพื่อยับยั้งการระบาดทำให้ผู้คนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อีกทั้งยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในวงกว้างด้วย ที่สำคัญ วิกฤตในครั้งนี้ได้ทิ้งร่องรอยหลายอย่างไว้สำหรับโลกใหม่ บางอย่างจะเลือนหายไปกับกาลเวลา ขณะที่การเปลี่ยนแปลงอีกบางอย่างจะไม่กลับมาเหมือนเดิม สิ่งดังกล่าวเรียกว่า “ภาวะปกติใหม่” ซึ่งเกิดจากปัจจัยแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น Megatrends กระแสสังคมโครงสร้างพื้นฐาน ความต้องการของผู้บริโภค และวัฏจักรเศรษฐกิจ หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้เป็นตัวเร่งให้กระแสต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วให้เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นนั่นเอง

วิจัยกรุงศรีประเมินว่า วิกฤติครั้งนี้ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายอย่างทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จนอาจทำให้ธุรกิจหลายประเภทไม่สามารถแข่งขันหรืออยู่รอดได้หากยังยึดติดกับโมเดลธุรกิจรูปแบบเดิมเพราะในภาวะปกติใหม่ที่มีสภาพการแข่งขันและความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปมาก กลยุทธ์ทางธุรกิจในลักษณะเดิม เช่น การทุ่มงบการตลาด การพัฒนาสินค้าและบริการ หรือกระทั่งการลดต้นทุน อาจไม่สามารถช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดได้ ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงต้องเข้าใจบริบทของโลกใหม่เพื่อปรับตัวได้อย่างเหมาะสม ในหลายกรณีธุรกิจจำเป็นต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงในลักษณะพลิกโฉม(Transformative) เพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้มีความโดดเด่นและมีภูมิคุ้มกันต่อการถูกทำลาย (Disrupt)

การพลิกโฉมธุรกิจเพื่อเผชิญกับภาวะปกติใหม่หลังวิกฤติโควิด-19 นี้มี 5 ขั้นตอนสำคัญ ได้แก่ 1) ประเมินสภาพแวดล้อมของโลกใหม่ด้วยความเข้าใจ(Reassess) โดยต้องมองให้เห็นถึงแรงส่งของการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่มีกำลังแตกต่างกันไป 2) ทบทวนศักยภาพของโมเดลธุรกิจ (Review) โดยคำนึงถึงความเสี่ยงที่ธุรกิจจะถูก Disrupt ในอนาคตด้วย 3) กำหนดทิศทางใหม่ของธุรกิจที่จะมุ่งไปในอนาคต (Redirect) โดยให้ความสำคัญกับการสร้างโมเดลธุรกิจที่เหนือกว่าคู่แข่ง นอกเหนือจากการเพิ่มประสิทธิภาพ การตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ 4) สร้างโมเดลธุรกิจใหม่อยู่เสมอ (Reinvent)โดยมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าที่ตอบโจทย์ของผู้บริโภคและการสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ และ 5) ปฏิรูปโครงสร้างองค์กร กระบวนการ และวัฒนธรรมขององค์กร (Reform) เพื่อสามารถสร้างนวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่อง สู่องค์กรที่เป็นเลิศที่มีโมเดลธุรกิจเหนือคู่แข่ง

โควิด-19 จากเมืองอู่ฮั่นไปสู่ทั่วโลก

ปี 2020 เป็นปีที่เปิดตัวมาอย่างสวยงามด้วยการเป็นจุดเริ่มต้นของทศวรรษใหม่ ในด้านเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเริ่มคลี่คลาย ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกสดใสกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา นอกจากนี้ยังเป็นปีของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และในช่วงกลางปียังจะมีการจัดมหกรรมกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิค ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย หลายฝ่ายจึงจับตามองและตั้งความหวังไว้กับปีนี้ว่าน่าจะเป็นปีที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา จนกระทั่งข่าวเรื่องโรคติดต่อลึกลับจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เข้าโจมตีระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วย เริ่มแพร่สู่สายตาชาวโลก

แล้วโลกในปี 2020 ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

นับจากวันแรกที่ทางการจีนรายงานการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Novel Corona Virus) ที่เมืองอู่ฮั่นในมณฑลหูเป่ยเมื่อปลายปี 2019 จนมีผู้เสียชีวิตรายแรกเมื่อต้นปี 2020 และมีการยืนยันผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนรายแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2020 ต่อมาองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้เรียกโรคนี้อย่างเป็นทางการว่า “โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019” หรือ โควิด-19 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) ต่อมาไม่นานโรคดังกล่าวก็แพร่ระบาดไปสู่ประเทศต่าง ๆ เกือบครบทุกประเทศในโลก จนหลายประเทศต้องประกาศระงับการเดินทางระหว่างประเทศกับประเทศกลุ่มเสี่ยง ขณะที่การติดเชื้อในหลายประเทศแพร่ระบาดเกินกว่าจะรับมือได้ (ภาพที่ 1) จนถึงปัจจุบัน ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2020 มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกเกินกว่า 13 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 5.7 แสนคน1ซึ่งสถานการณ์นี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงในเร็ววัน

จากวิกฤติโรคระบาดไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจราคาแพง

ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลายประเทศต้องใช้มาตรการสกัดการแพร่ระบาด อาทิ การระงับการเดินทางระหว่างประเทศ การรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ตลอดจนการปิดเมืองและห้ามประชาชนออกจากเคหสถาน หรือการล็อกดาวน์ (Lockdown) ส่งผลให้เศรษฐกิจหลายภาคส่วนต้องหยุดชะงัก ไม่ว่าจะเป็นภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ ภาคการผลิต ต่อเนื่องจนถึงการส่งออก การบริโภค และการลงทุน เนื่องจากผู้ประกอบการตั้งแต่รายใหญ่ไปจนถึงรายย่อยจำนวนมากต้องหยุดดำเนินการ ส่งผลให้ภาคธุรกิจในวงกว้างขาดรายได้และต้องลดรายจ่ายด้วยการลดจำนวนคนงานหรือชั่วโมงทำงาน ลูกจ้างจำนวนมากสูญเสียรายได้และบางส่วนต้องออกจากงาน ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของทั้งธุรกิจและประชาชนย่ำแย่ ความจำเป็นในการรักษาสภาพคล่องเพื่อประคับประคองทั้งธุรกิจและครัวเรือนในยามวิกฤติทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องมีบทบาทในการประคับประคองระบบเศรษฐกิจและการเงิน ตลอดจนสภาพความเป็นอยู่ของผู้คน กระนั้น หลายบริษัทต้องประกาศล้มละลาย คนจำนวนมากตกงาน ความเสียหายทางเศรษฐกิจรุนแรงมากจนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
(International Monetary Fund: IMF)2 คาดการณ์ ณ เดือนมิถุนายน 2020 ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2020 จะหดตัวมากถึงร้อยละ -4.9 จากที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 ในปีก่อน สำหรับเศรษฐกิจไทย ในเดือนมิถุนายน 2020 ธนาคารแห่งประเทศไทย 3คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวร้อยละ -8.1 นับว่ารุนแรงเมื่อเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือวิกฤตซับไพรม์ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเศรษฐกิจไทยหดตัวถึงร้อยละ -6.9 และ -2.5 ตามลำดับ4

การระบาดของเชื้อไวรัสปั่นป่วนความเป็นอยู่ของผู้คนอย่างสิ้นเชิง

มาตรการด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะการล็อกดาวน์ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและธุรกิจในวงกว้าง ความรุนแรงของโรคและการแพร่กระจายบีบบังคับให้ทุกคนต้องปรับตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้อื่น คนจำนวนไม่น้อยต้องกักตัวทำงานที่บ้านบ้างต้องดิ้นรนหาวิธีสร้างรายได้ช่องทางอื่นบางคนต้องเปลี่ยนอาชีพ ต้องประหยัดอดออมและใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นนอกจากนั้น การดำเนินชีวิตในแต่ละวันยังเปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่เช้าจนถึงเข้านอน มีมาตรฐานใหม่ที่กลายเป็นความจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น การใส่หน้ากากอนามัย การพกเจลแอลกอฮอล์เพื่อทำความสะอาดมือ ตลอดจนการหลีกเลี่ยงการสัมผัสวัตถุสาธารณะ หลายคนจำเป็นต้องหันมาเรียนรู้และพึ่งพาช่องทางออนไลน์ในการใช้ชีวิต

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ปรากฏการณ์ดังกล่าวแตกต่างจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคครั้งก่อน ๆ เช่น การระบาดของโรค SARSปี 2003, โรคไข้หวัดใหญ่ H1N1 ปี 2009, โรค MERS ปี 2014, โรค Ebola ปี 2014 และโรค Zika ปี 2016 เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตในครั้งนี้มีลักษณะสาคัญในสามมิติ ได้แก่

  • ความครอบคลุม (Coverage) เพราะทุกประเทศทั่วโลกล้วนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศมหาอำนาจ อาทิ จีน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของโรค ต่อมาเชื้อแพร่กระจายไปสู่ยุโรป และระบาดหนักที่สุดในสหรัฐฯ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อกว่า 8.3 หมื่นคน 2.6 ล้านคน5 และ 3.4 ล้านคน ตามลำดับ6

  • มิติที่หลากหลาย (Dimensions) ความเป็นอยู่หลายด้าน ทั้งด้านชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม ต้องเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมากเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ ประชาชนต้องปรับตัวและเรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตด้วยรูปแบบใหม่ ๆ บนโลกออนไลน์

  • ความยืดเยื้อ(Prolongment) การระบาดของโรคโควิด-19 ในครั้งนี้กินเวลายาวนานกว่าเหตุการณ์โรคระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในระยะหลัง ซึ่งที่ผ่านมาองค์กรอนามัยโลกมักประกาศว่าการระบาดของโรคส่วนใหญ่จะมีระยะแพร่ระบาดหนักเพียงประมาณ 3-9 เดือน5

    ภาวะวิกฤติ-ภาวะฟื้นฟู-ภาวะปกติใหม่

    แม้ว่าปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 จะล่วงเลยมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว แต่สถานการณ์ปัจจุบันในหลายประเทศ ณ เดือนกรกฎาคม 2020 ก็ยังคงอยู่ในภาวะวิกฤติซึ่งผิดไปจากปกติ (Abnormal Stage) อยู่ เนื่องจากยังคงใช้มาตรการล็อกดาวน์ ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด (Curfew) ห้ามเดินทางระหว่างประเทศ และให้อำนาจรัฐในการควบคุมความปลอดภัยของประชาชนหากสถานการณ์เริ่มดีขึ้น กล่าวคือ สามารถควบคุมการระบาดได้ ภาครัฐอาจเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ และเปิดให้กิจกรรมส่วนใหญ่กลับมาดำเนินการเป็นปกติ จึงจะนับว่าเราเข้าสู่ภาวะฟื้นฟู(Recovery กล่าวคือ เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปแม้จะยังต้องรักษาระยะห่างทางสังคมและควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศอยู่ ซึ่งภาวะฟื้นฟูนี้จะดำเนินต่อไปจนกระทั่งทั่วโลกสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้โดยเด็ดขาด และประสบความสำเร็จในการคิดค้นและผลิตวัคซีน เมื่อนั้นการดำเนินชีวิตของผู้คนจึงจะกลับมาเป็นปกติ แต่จะเป็นภาวะปกติที่แตกต่างจากก่อนวิกฤตโควิด 19 หรือที่เรียกว่าเป็น ภาวะปกติใหม่(New Normal Stage) ( ภาพที่ 2)

    อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครสามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่าเราจะเข้าสู่ภาวะปกติใหม่เมื่อใด และก่อนหน้านั้นสถานการณ์จะรุนแรงเพียงใด เพราะแม้กระทั่งประเทศที่ดูเหมือนจะควบคุมสถานการณ์การระบาดได้แล้วและเริ่มเปิดให้กิจกรรมต่าง ๆ กลับมาดำเนินการได้ เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ยังสามารถพบผู้ติดเชื้อใหม่ได้อีกระลอก ดังนั้น ความเร็วในการเข้าสู่ภาวะ New Normal จึงขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 3 ประการ คือ

    1)การให้ความร่วมมือของประชาชนในการยับยั้งการระบาดของโรค โดยประเทศหรือเมืองใดมีความสามารถจัดการได้ดี ก็จะสามารถกลับมาประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เร็ว
    2)ความสำเร็จในการผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันโรค ซึ่งขึ้นอยู่กับศักยภาพและความร่วมมือของการวิจัย การทดสอบ และความสามารถในการผลิตวัคซีนในจานวนที่มากพอสาหรับประชากรโลก
    3)การกลายพันธุ์ของเชื้อโคโรนาไวรัส โดยหากเชื้อโรคกลายพันธุ์ไปมากจนทาให้วัคซีนที่คิดค้นขึ้นมาไม่สามารถป้องกันได้ ก็อาจจะส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ และนานาประเทศจะกลับมาใช้มาตรการห้ามเดินทางและปิดเมืองอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้วิกฤติยืดเยื้อยาวนานและรุนแรงขึ้น

    ภายใต้ฉากทัศน์ที่มีความเป็นไปได้สูง (Likely scenario) สถานการณ์การระบาดจะคลี่คลายอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยประเทศในภูมิ ภาคเอเชียที่มีการจัดการกับการแพร่ระบาดได้ดีจะสามารถเปิดประเทศและกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เร็วกว่าประเทศตะวันตก อย่างไรก็ตาม ผู้คนน่าจะยังต้องดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้ไปอีกสักระยะหนึ่ง จนกว่าจะมีการผลิตวัคซีนที่ป้องกันโรคโควิด-19 ได้ในจำนวนมากพอซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปี 20217 ทั้งนี้ การคาดการณ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานเพิ่มเติมที่ว่า โลกจะไม่ประสบกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่มีความอันตรายและไม่สามารถควบคุมได้อีกในช่วงหลายปีข้างหน้านี้ด้วย

    วิกฤติที่กำลังหล่อหลอมโลกใบใหม่

    การใช้ชีวิตใน ภาวะผิดปกติ” จากวิกฤติโควิด-19 ที่ยาวนานกว่า 1 ปี จะหล่อหลอมความคิดและพฤติกรรมใหม่ของผู้คน และอาจทำให้คนลืมพฤติกรรมบางอย่างในอดีตได้ ซึ่งความคิดและพฤติกรรมใหม่ ๆ เหล่านี้ของประชาชนย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของนโยบายภาครัฐอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจภายหลังวิกฤตโควิด-19 นี้เปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง (ภาพที่ 3)

    การแพร่ระบาดหล่อหลอมความคิดของผู้คนอย่างไร

    ในขั้นแรก มุมมองที่คนมีต่อโลกจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมใน 3 ด้าน ได้แก่
    1)โลกมีภัยอันตรายมากกว่าที่คิดไว้ นับตั้งแต่การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) ในปี 1918พัฒนาการทางการแพทย์โดยเฉพาะสาขาระบาดวิทยาได้ก้าวหน้าไปมาก ทาให้ในช่วงกว่า 100 ปีที่ผ่านมาเราจึงไม่ได้เห็นโรคระบาดที่ลุกลามในระดับทั่วโลก (Global Pandemic ) ก่อนหน้าการระบาดของโรคโควิด-19จึงอาจไม่มีใครคาดคิดว่าเชื้อไวรัสขนาดเล็กที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นจะสามารถหยุดโลกได้
    2)โลกมีความไม่แน่นอนสูงมากกว่าที่คิดไว้ จากเหตุการณ์ปกติในช่วงปลายปี 2019 โรคระบาดที่เกิดขึ้นช่วงต้นปี 2020 ได้สร้างความโกลาหลเป็นอย่างมาก มีการสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน ตลอดจนสุขภาพอย่างมหาศาล หลายประเทศต้องออกกฎรูปแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น การล็อกดาวน์ จึงคาดได้ว่าหลังจากนี้ ผู้คนจะเผื่อใจมากขึ้นเพื่อรับมือกับเหตุการณ์สุดโต่งที่อาจเกิดขึ้นได้แม้มีโอกาสต่ำมาก หรือที่เรียกว่า “Black swan event ”
    3)โลกมีความเชื่อมโยงสูงมากกว่าที่คิดไว้ เนื่องจากโรคระบาดสามารถแพร่กระจายจากพื้นที่เล็ก ๆ เพียงจุดเดียวในจีน และขยายวงกว้างไปสู่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แม้ว่าแต่ละประเทศจะมีพรมแดนขวางกั้นก็ตาม นอกจากนี้ มาตรการควบคุมของประเทศต่าง ๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจที่พึ่งพาสินค้าและบริการจากต่างประเทศประสบปัญหาอย่างมากทั้งหมดนี้จะทำให้ผู้คนมองโลกในแบบ “ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และกำกวม” (Volatility, Uncertainty, Complexity, Ambiguity: VUCA) มากขึ้นไปอีก หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น VUCA+8

    พฤติกรรมของคนจะเปลี่ยนไปอย่างไร

    ในด้านพฤติกรรม ทั้งประชาชนและภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะเดียวกัน ความคาดหวังของประชาชนต่อบทบาทของภาครัฐก็เปลี่ยนไปเช่นกัน โดยพฤติกรรมการปรับตัวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงภาวะผิดปกตินี้เกิดจากการที่ผู้คนให้คุณค่ามากขึ้นแก่ปัจจัย 7ประการ ดังนี้ (ภาพที่ 5)

    1)คุณค่าต่อความไว้วางใจ (Value for Trust) โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากเชื้อโรคไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ผู้บริโภคจึงไม่สามารถมั่นใจได้เต็มที่ว่าข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ สะอาดปลอดภัยพอหรือไม่ นอกจากนั้นแล้วผู้บริโภคยังไม่สามารถทราบถึงการดูแลความสะอาดของร้านค้า ระบบขนส่งสาธารณะ ร้านอาหาร หรือที่พักของโรงแรมได้อีกด้วย ผู้ให้บริการจึงจำเป็นต้องมีมาตรฐานสุขอนามัยที่ดี เช่น การฆ่าเชื้อบนอุปกรณ์ที่ลูกค้าต้องใช้ร่วมกัน การเว้นระยะห่างในการใช้บริการ และมาตรฐานอื่น ๆ ที่สร้างความเชื่อมั่นต่อการใช้บริการ9 นอกจากนี้ ผู้ให้บริการจำเป็นต้องสื่อสารเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคอีกด้วย
    2)คุณค่าต่อความเป็นส่วนตัว (Value for Space) การรณรงค์การเว้นระยะห่างทางสังคมทำให้มีความต้องการพื้นที่ส่วนตัวเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัย รถโดยสารส่วนบุคคล และสำนักงาน
    3)คุณค่าต่อความเสมือนจริง (Value for Virtual) เนื่องจากคนจำนวนมากต้องเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นจนถึงเข้านอนมาอยู่บนโลกออนไลน์ผ่านการใช้แพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยน เครือข่ายสังคม การดูหนังฟังเพลง การทำงานและการประชุม ตลอดจนการเรียนการสอน เป็นต้น ซึ่งการระบาดของโรคโควิด-19 ยังเร่งให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ การยอมรับ และความเคยชินในการใช้เทคโนโลยีภายในช่วงเวลาอันสั้น ซึ่งเป็นโอกาสดีของธุรกิจต่าง ๆ ที่จะชักจูงให้ลูกค้าเปิดใจรับบริการแบบออนไลน์แทนที่บริการแบบดั้งเดิมได้ง่ายขึ้น
    4)คุณค่าต่อสุขภาพ (Value for Wellness) ทั้งสุขภาพทางกาย การงาน และการเงิน ความตระหนักถึงความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ผู้คนหันมาใช้มาตรการป้องกันและดูแลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง การสร้างความมั่นคงทางการเงินด้วยการเก็บออมไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน การป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน เช่น การทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันการเดินทาง และรวมถึงการสร้างความมั่นคงทางการงานด้วยการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในโลกยุคใหม่อีกด้วย
    5)คุณค่าของเงิน (Value for Money)10 เนื่องจากวิกฤติในครั้งนี้ซ้ำเติมจุดอ่อนของภาคครัวเรือนไทยที่มีความเปราะบางทางการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการรายย่อย จึงจำเป็นต้องตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป กลุ่มที่มีสภาพคล่องไม่เพียงพออาจต้องกู้ยืมเพิ่มเติมและขอเลื่อนการชำระหนี้ออกไป ทำให้มีภาระหนี้ที่มากขึ้นและนานขึ้น ขณะเดียวกัน การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐในระยะข้างหน้ามีข้อจำกัดเพิ่มขึ้นด้วยเนื่องจากภาครัฐมีภาระทางการคลังเพิ่มขึ้นจากการช่วยเหลือเยียวยาในช่วงโควิด-19 ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจเห็นคุณค่าของเงินมากขึ้น
    6่) คุณค่าต่อส่วนรวมและภาครัฐ (Value for Public)11 ความร่วมมือของประชาชนในยามวิกฤตโควิด-19 เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตามนโยบายสาธารณสุข การยินยอมให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่เจ้าหน้าที่รัฐ และการช่วยเหลือจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ นอกจากนี้ เหตุการณ์นี้ทำให้ประชาชนตระหนักถึงความจำเป็นของภาครัฐที่ต้องมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการบ้านเมืองและดูแลเศรษฐกิจในยามที่กลไกตลาดไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เช่น การแก้ไขปัญหาการกักตุนสินค้า และการเทขายสินทรัพย์เพื่อถือเงินสด (Flight to liquidity) ตลอดจนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบรุนแรงและผู้ด้อยโอกาสอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
    7)คุณค่าต่อพรมแดน (Value for Border) ซึ่งมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในการเป็นด่านแรกของแนวป้องกันเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค ทั้งพรมแดนระหว่างประเทศ จังหวัด อำเภอและตำบล หรือกระทั่งการเข้าออกอาคารสถานที่ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีระดับความรุนแรงของปัญหาแตกต่างกันโดยพื้นที่ที่ควบคุมโรคได้ดี มีความปลอดภัย จะสามารถกลับมาเปิดดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เร็วกว่าพื้นที่ที่ยังมีความเสี่ยง10

    ไม่ใช่ทุกการเปลี่ยนแปลงจะคงทนถาวร

    จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น วิจัยกรุงศรีมองว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการอุปโภคบริโภคมีทั้งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ปานกลาง และถาวร โดยสามารถจำแนกให้เห็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้

  • การเปลี่ยนแปลงชั่วคราว มีหลายประเภท ได้แก่ 1) การบริโภคสินค้าที่เพิ่มขึ้นเฉพาะในช่วงวิกฤต เช่น การใช้หน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ โดยเมื่อวิกฤติเริ่มคลี่คลายไม่นานผู้คนก็จะกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิม 2)การกักตุนสินค้า (Stock up) เพื่อทยอยใช้ในภายหลัง ซึ่งจะทำให้การบริโภคหลังวิกฤติมีแนวโน้มลดลง อาทิ กระดาษทิชชู บะหมี่กึ่งสาเร็จรูป อาหารกระป๋อง และอาหารแช่แข็ง 3)การบริโภคที่ต้องเลื่อนออกไปใช้ในภายหลัง (Pent up)เนื่องจากผู้ให้บริการถูกสั่งปิดชั่วคราวในช่วงล็อกดาวน์ เช่น การเที่ยวในสถานบันเทิง การจัดงานอีเวนท์ รวมถึงงานแต่งงาน เป็นต้น และ 4)การบริโภคที่ลดลงเฉพาะในช่วงวิกฤติ อาทิ การตัดผม และการเสริมความงาม ซึ่งต่างจากประเภทที่ 3) ตรงที่ภายหลังวิกฤตผู้บริโภคไม่มีความจำเป็นต้องกลับมาใช้บริการถี่กว่าปกติเพื่อชดเชย
  • การเปลี่ยนแปลงระยะปานกลาง ซึ่งอาจใช้เวลาฟื้นฟูหลายปีกว่าจะสามารถกลับมาสู่สภาพเดิมเช่น ฐานะการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่แย่ลง ผู้คนเห็นคุณค่ากับเงินมากขึ้น และลดการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย
  • การเปลี่ยนแปลงถาวร ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่หล่อหลอมภาวะปกติใหม่ เช่น การประชุมผ่านวีดีโอ (VDO Conference) ซึ่งสามารถช่วยลดภาระในการเดินทางและเพิ่มความยืดหยุ่นได้มาก ซึ่งหลังจากนี้ไปคาดว่าธุรกิจจำนวนมากจะหันมาพึ่งพาการประชุมลักษณะนี้มากขึ้น ธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) อาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเช่าสำนักงานเป็นการถาวรซึ่งมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูง แต่อาจใช้วิธีการทำงานที่บ้าน และเช่าสถานที่ประชุมเป็นครั้งคราวเมื่อจำเป็นเท่านั้น

    อ้างอิง
    1/ ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://www.worldometers.info/coronavirus/
    2/ ข้อมูลจาก World Economic Outlook Reports (Jun 2020 ), International Monetary Fund (IMF)
    3/ ข้อมูลจาก รายงานนโยบายการเงิน มิถุนายน 2020 ธนาคารแห่งประเทศไทย
    4/ข้อมูล Real GDP GDPจากสานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยการเปรียบเทียบกับวิกฤตในอดีตใช้การหดตัวรายปี (สี่ไตรมาสแรกหลังจากเกิดวิกฤต) เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยวิกฤตปี 1997 ใช้ระยะเวลาในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 1997 ถึงไตรมาสที่ 1 ปี 1998 และวิกฤตปี 2008 ใช้ระยะเวลาในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี2008 ถึงไตรมาสที่ 3 ปี 2009
    5/ อ้างอิงจาก Ma, C., Rogers, J. & Zhou S. ( 2020 ) ประกอบกับข้อมูลจาก World Health Organization (WHO) US Centers for Disease Control and Prevention (CDC) Pan American Health Organization (PAHO) และเว็บไซต์ Wikipedia
    6/ ข้อมูลผู้ติดเชื้อในทวีปยุโรปจาก European Centre for Disease Prevention and Control (ECDC)
    7/อ้างอิงจากการให้สัมภาษณ์โดย Soumya Swaminathan หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ WHO (JuneJune18 2020) AFP
    8/ อ้างอิงจากแผนยุทธศาสตร์ ธปท. (ปี 2020 2022 ): ธนาคารกลางท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง
    9/อ้างอิงจาก Kuijpers, D., Wintels, S. & Yamakawa, N. ( 2020 ), McKinsey & Company
    10/ อ้างอิงจาก Williamson, P. & Zeng, M. ( 2009 )), Harvard Business Review
    11/ อ้างอิงจาก Sneader, K. & Singhal, S. ( 2020 ), McKinsey & Company