ThaiPublica > เกาะกระแส > สรรพสามิตอุดรูรั่ว ใช้ระบบ e-stamp มั่นใจภาษีเบียร์เพิ่มปีละ 8,000 ล้าน

สรรพสามิตอุดรูรั่ว ใช้ระบบ e-stamp มั่นใจภาษีเบียร์เพิ่มปีละ 8,000 ล้าน

14 กรกฎาคม 2020


นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต

สรรพสามิต จ้างบริษัท สามารถฯ ติด e-stamp เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีเบียร์ต้นปีหน้า คาดรายได้เพิ่ม 8,000 ล้านบาทต่อปี

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษาดูงานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ณ โรงงานผลิตเบียร์ของบริษัท ปทุมธานี บริวเวอรี่ จำกัด จังหวัดปทุมธานี และบริษัท เบียร์ทิพย์ บริวเวอรี่ (1991) จำกัด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่าวัตถุประสงค์ของพาคณะสื่อมวลชนมาศึกษาดูงานในวันนี้ เนื่องจากกรมสรรพสามิตกำลังจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีสินค้าทุกประเภทที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสรรพสามิต อาทิ น้ำมัน , สุรา และเบียร์ เป็นต้น แต่จะเริ่มโครงการนำร่องกับสินค้าเบียร์ก่อน ขณะนี้กรมสรรพสามิตได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท SICPA จากประเทศสวิสแลนด์ ดำเนินการวางระบบ Direct Code ที่โรงงานผลิตเบียร์ในประเทศทั้งหมด 9 แห่ง รวม 42 สายพานการผลิต โดยจะมีการติดตั้งเครื่องพิมพ์เครื่องหมายหรือรหัสควบคุมลงบนบรรจุภัณฑ์ (Direct Coding) ที่หน้าสายพานการผลิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชนิดกระป๋อง หรือ ขวด พร้อมกับติดตั้งเครื่องตรวจนับบรรจุภัณฑ์ด้วยแสงเลเซอร์ออนไลน์ข้อมูลการจัดเก็บภาษีเบียร์แบบ Realtime มาที่กรมสรรพสามิต โดยจะเริ่มนำมาใช้ช่วงต้นปี 2564 คาดว่าจะทำให้กรมสรรพสามิตมีรายได้เพิ่มขึ้น 8,000 ล้านบาทต่อปี

สาเหตุที่ต้องนำระบบ Direct Code มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี นายพชร กล่าวว่า กรมสรรพสามิตเริ่มจัดเก็บภาษีเบียร์โดยใช้แสตมป์มาตั้งแต่ปี 2507 ปรากฏว่าแสตมป์หลุดง่าย ถ้านำไปแช่ตู้เย็น ปี 2526 จึงเปลี่ยนมาใช้เครื่องตรวจวัดปริมาณน้ำเบียร์ที่ไหลผ่านท่อ หรือ “Flow Meter” จนถึงปัจจุบัน ช่วงที่นำรระบบ Flow Meter มาใช้เมื่อ 37 ปีที่แล้ว ในปีงบประมาณ 2527 กรมสรรพสามิตเก็บภาษีเบียร์ได้แค่ 2,392 ล้านบาท เทียบกับปีงบประมาณ 2560 เก็บภาษีเบียร์ได้ 87,197 ล้านบาท แต่เนื่องจากในปีนี้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการจัดเก็บภาษี ผู้ประกอบการปรับลดขนาดขวด และดีกรีลง ขณะที่การบริโภคก็ลดลง ตามข้อมูลของ ส.ส.ส. ทำให้ยอดการจัดเก็บภาษีเบียร์ปีงบประมาณ 2561 ลดลงเหลือ 76,357 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2562 เหลือ 79,091 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อสถานการณ์ หรือ สภาพแวดล้อมต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป ทางกระทรวงการคลังจึงเห็นควรให้กรมสรรพสามิตดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษี โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ไม่ว่าจะการนำระบบ Block Chain มาใช้ในการจัดเก็บภาษีน้ำมันส่งออก หรือ ใช้ระบบ e-stamp (QR code) มาใช้จัดเก็บภาษีสุรา และนำระบบ Direct Code มาใช้เก็บภาษีเบียร์ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี

นายพชร กล่าวต่อว่า กรมสรรพสามิตจึงได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่ปรึกษา เพื่อศึกษาและพัฒนารูปแบบของแสตมป์ ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสนอให้นำระบบ “Visible Direct Coding” มาใช้จัดเก็บภาษีเบียร์ ก่อนจะดำเนินโครงการนี้กรมสรรพสามิตฟังความคิดเห็นจากผู้ผลิตเบียร์ในประเทศทั้ง 3 ราย และเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผ่านความเห็นชอบก่อนที่ผมจะมารับตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิต ผมจึงเข้ามาสานต่อโครงการนี้ แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่าง TOR ออกประกาศเชิญชวน มีผู้มาซื้อซอง 12 ราย ถูกต้องตามกระบวนการของกฎหมายทุกประการ จนได้ผู้ชนะการประมูลคือ บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น และบริษัท SICPA เป็นผู้รับจ้างและลงทุนวางระบบให้กรมสรรพสามิตเป็นเวลา 7 ปี โดยบริษัทสามารถจะได้รับค่าตอบแทน 0.25 สตางค์ต่อกระป๋อง หรือ ต่อขวด เป็นค่าดำเนินการ ส่วนกรมสรรพสามิตคาดว่าจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเบียร์เพิ่มขึ้นปีละ 8,000 ล้านบาท

“ขอย้ำว่ายังไม่ได้ยกเลิกระบบ Flow Meter แต่เราจะเสริมด้วยระบบ Direct Coding ส่วนทั้ง 2 ระบบ แตกต่างกันอย่างไร กล่าวคือ ระบบ Flow Meter กรมสรรพสามิต เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง ควบคุม และบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆในโรงงานผลิตเบียร์ ถ้าเครื่อง Flow Meter เสีย โรงงานไม่สามารถหยุดสายพานการผลิต กรมสรรพสามิตก็ต้องรีบส่งช่างไปซ่อมแซม ระหว่างนี้ก็ใช้วิธีนับแบบ Manual ส่วนระบบ Direct Coding บริษัท สามารถฯ จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง ควบคุมและบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆในโรงงานผลิตเบียร์ ถ้าเครื่องเสีย บริษัทต้องรับผิดชอบภายในเวลาที่กำหนด ถ้าเกินถูกกรมสรรพสามิตปรับ การวางระบบใหม่เพิ่มเติมครั้งนี้ กรมสรรพสามิตใช้บุคคลที่ 3 เข้าไปควบคุม และตรวจเช็คยอดอีกชั้นหนึ่ง โดยมีเจ้าหน้าที่สรรพสามิตยังคงประจำการอยู่ที่โรงงาน 3 คน เหมือนเดิม” นายพชร กล่าว

นายพิษณุ วิเชียรสรรค์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

นายพิษณุ วิเชียรสรรค์ กรรมการ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางบริษัทก็พร้อมจะปรับตัวรองรับกับการเปลี่ยนแปลง หากเป็นนโยบายของทางการ ซึ่งเราทำธุรกิจตรงไปตรงมาอยู่แล้ว ไม่ได้วิตกกังวลแต่อย่างใด ที่ผ่านมาก็มีการศึกษาร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง

ด้านนายสุรสิทธิ์ ทองจันทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักภาษีแลรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า โรงงานผลิตเบียร์ของเบียร์สิงห์ทั้ง 3 แห่ง ก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวงการคลัง ที่ต้องการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บภาษี โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่มีปัญหาอะไร