ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท. เตือนตลาดการเงินกับเศรษฐกิจจริงไม่สอดคล้องกัน ติงระวังความเสี่ยงในอนาคต

ธปท. เตือนตลาดการเงินกับเศรษฐกิจจริงไม่สอดคล้องกัน ติงระวังความเสี่ยงในอนาคต

14 กรกฎาคม 2020


วันที่ 14 กรกฎาคม 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงาน Analyst Meeting เพื่อสรุปแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายการเงินรายไตรมาสให้แก่นักวิเคราะห์ และสื่อมวลชน

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงาน Analyst Meeting เพื่อสรุปแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายการเงินรายไตรมาสให้แก่นักวิเคราะห์ รวมไปถึงสื่อมวลชน ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกของปี หลังจากต้องงดจัดตามสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา

ระหว่างนั้น ธปท. ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจลดลงจากขยายตัว 2.8% มาเป็น -5.3% ในเดือนมีนาคม และปรับลดลงอีกครั้งเป็น -8.8% ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รวมทั้งมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 3 ครั้งจาก 1.25% เหลือเพียง 0.5% ต่ำสุดในประวัติศาสตร์ไทย โดยหนึ่งในนั้นเป็นการประชุมนัดพิเศษเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 (ซึ่งเคยเกิดขึ้นเพียง 2 ในยุคสมัยของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นผู้ว่าการในปี 2545 และ 2546)

นโยบายต้องประสาน

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นครั้งนี้ทุกฝ่ายคงเห็นตรงกันว่ามีผลกระทบที่กว้างไกลมากและคงไม่มีนโยบายใดนโยบายหนึ่งมาจัดการได้ทั้หมด ดังนั้นการประสานนโยบายและจัดลำดับความสำคัญจึงสำคัญ ทั้งนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง การดูแลและออกมาตรการเกี่ยวกับสถาบันการเงิน นโยบายด้านอุปทาน

“นโยบายการคลังยังเป็นพระเอกในช่วงแรกนี้ผ่านการเติมรายได้จากเศรษฐกิจที่ชะงักงัน ส่วนนโยบายการเงินจะช่วยเสริมให้เกิดการปรับตัวไม่ให้มีการสะดุดหยุดลงทันที อีกประเด็นที่อยู่ในหน้าที่ของ ธปท. คือ การดูแลเถสียรภาพระบบการเงินให้ระบบการเงินทำงานได้ รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งของสถาบันการเงิน เราเข้าสู่วิกฤติครั้งนี้ด้วยความเข้มแข็งของสถาบันการเงิน และทำให้มีบทบาทดูแลลูกหนี้ได้ แต่ก็ต้องคำนึงผลกระทบย้อนกลับมาที่สถาบันการเงินที่อาจจะอ่อนแอลงและมีผลกระทบกับเศรษฐกิจอีก ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในระยะหลังของวิกฤติครั้งนี้”

ดร.วิรไท กล่าวต่อถึงสิ่งที่ กนง. และ ธปท. ได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาว่า มาตรการหลายอย่าง ธปท. ทำจะเน้นการทำล่วงหน้า หรือ preemptive เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน และทำให้กลไกตลาดการเงินยังทำหน้าที่ต่อไปได้ การทำนโยบายแบบนี้ในภาวะที่ไม่แน่นอนสูงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจะเป็นกลไกมารองรับความไม่แน่นอนต่างๆ และสร้างความมั่นใจให้กับระบบการเงิน ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่างๆ ลงได้

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

โดยทั่วไปอาจจะมองว่า ธปท. ปรับประมาณการที่ลดลงค่อนข้างมาก แต่ ธปท. คิดว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว การปรับตัวลดลงครั้งนี้เป็นผลจากมาตรการปิดเมืองที่รุนแรงทั้งในและต่างประเทศจนเศรษฐกิจของโลกชะงักไป ไทยสามารถควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดภายในประเทศได้ อย่างในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจก็เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง

“พอกิจกรรมเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ นโยบายต้องปรับน้ำหนักจากเน้นการเยียวยาเป็นการฟื้นฟู ไม่ใช่ให้หยุดเยียวยา บางธุรกิจยังคงต้องการเยียวยา แต่ในแง่อื่นเศรษฐกิจจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างไปไม่เหมือนเดิม และต้องการแนวทางใหม่ๆ ในการบริหารนโยบายทางเศรษฐกิจ เพื่อให้คนที่ตกงานสามารถก้าวไปสู่โลกใหม่หลังโควิด-19 ได้ ไม่ว่าจะในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญหรือชนบทที่กลับไปแล้วอาจจะกลับมาทำงานอีกครั้งไม่ได้”

ดร.วิรไทกล่าวต่อว่า ในระยะข้างหน้าตลาดการเงินจะต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงอีกระยะหนึ่ง อันเป็นผลจากการเพิ่มของสภาพคล่องที่สูงของธนาคารกลางทั่วโลก ขณะเดียวกันจะเห็นว่าตลาดการเงินกับภาคเศรษฐกิจจริงมีลักษณะที่แยกออกจากกันมากขึ้น แม้เศรษฐกิจจริงจะยังคงชะลอตัวอย่างมาก แต่ตลาดการเงินในหลายประเภทสินทรัพย์ยังคงปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ อาจจะมีการปรับตัวในตลาดการเงินอย่างรุนแรงขึ้นได้ หรือในอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มผันผวนสูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้นเอกชนหรือประชาชนต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงในอนาคต เพราะไทยยังต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินที่ผันผวนสูงไปอีกสักระยะ

จัดการบน 3 กรอบเป้าหมาย

ดร.วิรไทกล่าวต่อว่า สำหรับกรอบเครื่องมือต่างๆ ที่ ธปท. เตรียมการไว้อาจจะแบ่งออกเป็น 3 เป้าหมายด้วยกัน อันแรกคือ การป้องกันไม่ให้เกิดการตื่นตระหนก เพื่อให้ตลาดการเงินทำหน้าที่ได้ ช่วงที่สองคือเยียวยา และสุดท้ายคือปรับตัวฟื้นฟู

ช่วงแรกสถานการณ์ที่โควิด-19 เข้ามาและยังไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด ธปท. ก็ออกมาตรการที่ลดความตื่นตระหนกที่คนจะถอนตัวออกจากตลาดการเงินไปถือเงินสด มาตรการที่ออกมาก็ช่วยให้กลไกตลาดการเงินยังทำงานต่อไปได้ ให้สภาพคล่องเข้าไปในตลาดที่อาจจะขาดไปกะทันหันได้ วันนี้รู้ว่าผลกระทบเป็นอย่างไรบ้างมากขึ้น ก็ลดความตื่นตระหนกไปได้

ช่วงสองคือ การลดผลกระทบ บรรเทาผลกระทบผ่านสินเชื่อซอฟต์โลน ขอความร่วมมือสถาบันการเงินลดพักชำระหนี้ต่างๆ มีการออก พ.ร.ก. ให้พักชำระหนี้ให้เอสเอ็มอีเป็นการทั่วไป เพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจที่กระทบแบบไม่ทันตั้งตัวกัน

ช่วงสุดท้ายคือ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดของธุรกิจและประชาชน เราปรับกฎเกณฑ์กติกาส่งเสริมให้ปรับโครงสร้างหนี้ได้ การคงดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำไว้ก็ทำให้ต้นทุนของธนาคารก็ลดลงด้วย

“ถามว่าจะถอนมาตรการเมื่อไรก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็น ผ่านไปอีกระยะถ้าโควิดควบคุมได้ คนเลิกตระหนกตกใจลง ก็ถอนมาตรการออกไปได้ แต่คงไม่ใช่ว่าวันนี้พรุ่งนี้จะทำได้ และถ้าดูภาพเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว บนหลากหลายสถานการณ์ ในฐานของเราเห็นหลายประเทศว่าโควิดจะไม่ได้หายไปหรือเป็นศูนย์ต่อเนื่อง ดังนั้นโรคจะกลับมาได้ในระยะยาว แต่รัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการได้ ดังนั้นมาตรการแรงๆนานๆจะไม่จำเป็นอีกเหมือนเดิม ธุรกิจไทยเรียนรู้ช่วงป้องกันและเศรษฐกิจที่คลี่คลายออกไปก็คงจะยังคงฟื้นตัวต่อไปได้”

ดร.วิรไทกล่าวถึงมาตรการในช่วงที่ผ่านมาว่า สำหรับกองทุนตลาดตราสารหนี้ หรือ BFS ที่ยังไม่มีรายงานเพราะยังไม่มีใครใช้และไม่มีใครเบิกเงินออกไป มีบริษัทที่แจ้งความจำนงเข้ามา แต่เมื่อระดมทุนได้ตามปกติก็ถอนความต้องการออกไป สิ่งนี้ก็เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่จะเป็นแหล่งเงินที่สุดท้ายของระบบการเงินให้กับตลาดตราสารหนี้ และเป็นกลไกเสริมสภาพคล่องชั่วคราวในช่วงที่มีความผันผวนสูงมาก

ขณะที่ในมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน ธปท. มีความตั้งใจรองรับในสองช่วง ช่วงแรก คือ เสริมสภาพคล่องในช่วงแรกที่ระบาด อีกช่วงคือช่วงของการฟื้นฟู ตรงนี้อาจจะต้องการจ้างพนักงาน มีการปรับปรุงอาคารทำความสะอาด ที่ปล่อยไป 103,000 ล้านบาทอาจจะดูต่ำกว่าวงเงินทั้งหมด แต่เจตนาคือต้องการใช้เงินในทั้งสองระยะด้วย ในกฎหมายก็จะมีช่องให้ต่อเวลาอีก 2 ครั้งครั้งละ 6 เดือน จากเดิมที่จะหมดอายุลงเดือนธันวาคมนี้ นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อซอฟต์โลนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ คือธนาคารออมสิน อีก 50,000 ล้านบาท มีของธนาคารพาณิชย์ที่ใช้สภาพคล่องของธนาคารเองอีกประมาณ 70,000 ล้านบาท โดยรวมมีสภาพคล่องปล่อยออกไป 120,000 ล้านบาท

“หลายคนเริ่มพูดว่าจะเป็นเหมือนหน้าผา หรือก็มี cliff ที่จะตกหน้าผาในเดือนตุลาคมที่ให้พักชำระหนี้ แต่ที่ ธปท. ออกมาตรการกับธนาคารพาณิชย์ ก็ให้เร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้และต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด แต่ก่อนหน้านี้คือหยุดชะงักไปเพราะธนาคารติดต่อลำบาก ลูกหนี้ก็หยุดไป ธปท. จึงต้องออกมาตรการเป็นการทั่วไปก่อน ตอนนี้ยังไม่มีช่องให้เจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ แต่คงไม่ใช่ว่าจะตกหน้าผากันหมด ธนาคารเองก็ไม่อยากให้มีรูปแบบนั้นคือลูกหนี้ NPL เพิ่มขึ้นสูง แล้วบางสัญญาอย่างหนี้บ้านก็เอาหนี้ที่พักไปจ่ายช่วงท้ายของสัญญาได้ หรือเอสเอ็มอีก็ได้พักมากกว่าที่กำหนด เช่น ให้พักชำระหนี้ไปเลยหนึ่งปี ธนาคารก็พยายามจะลดผลกระทบเรื่องหนี้เสียเองด้วยเหมือนกัน ถ้าเอกชนต้องการ”

ดร.วิรไทกล่าวสรุปว่า การพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปคงไม่ต่ออายุออกไปอีก เพราะตอนนั้นสถานการณ์ที่ทุกอย่างต้องหยุดลง แต่ตอนนี้ไม่ได้รุนแรงขนาดนั้น และการพักชำระหนี้จะมีผลกระทบข้างเคียง ลูกหนี้บางคนก็ยังสามารถจ่ายได้ก็อาจจะกระทบกับวินัยการจ่ายเงิน หรือธนาคารต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ทุกเดือน ก็อาจจะมีปัญหากระแสเงินสดได้ และเอสเอ็มอีแต่ละแห่งมีความต้องการไม่เหมือนกัน ดังนั้นการตอบโจทย์ได้เป็นกลุ่มๆ จะดีกว่า

กนง. จับตา 3 เรื่องกระทบเสถียรภาพการเงิน

ดร.ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. และเลขานุการ คณะกรรมการโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวถึงการดำเนินนโยบายที่ผ่านมาว่า ในการดำเนินนโยบายครั้งที่ผ่านมาจะมีคำถามว่าทำไมไม่ลดดอกเบี้ยอีก ถ้าย้อนไปดูตั้งแต่ต้นปี กนง. ลดดอกเบี้ยมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกต้นกุมภาพันธ์ที่เห็นว่าการระบาดมีแนวโน้มจะกระทบกับเศรษฐกิจอย่างมาก และบอกได้ว่า ธปท. เป็นธนาคารกลางแรกๆ ที่ลดดอกเบี้ย ต่อมาเดือนมีนาคมก็ลดดอกเบี้ยอีกในการประชุมนัดพิเศษหลังการระบาดเริ่มกระจายไปทั่วโลก และในช่วงเมษายนมีมาตรการปิดเมือง ธปท. ก็ปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้ง ซึ่งเป็นการดำเนินการในลักษณะไปข้างหน้าก่อน หรือ preemptive อยู่แล้ว ในช่วงเดียวกัน ธปท. ก็ออกมาตรการดูแลธุรกิจและตลาดการเงินอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ดังนั้นจึงมีการดำเนินนโยบายแบบล่วงหน้ามาโดยตลอด

“ถามว่าการดำเนินนโยบายแล้วเป็นอย่างไร ผลตอบแทนพันธบัตรต่ำที่สุดในภูมิภาคและต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วย ด้านตลาดตราสารหนี้ดอกเบี้ยก็ปรับลดลงตามลำดับเช่นกัน ดอกเบี้ยอ้างอิงของสถาบันการเงินก็ปรับลดลงเช่นกัน”

ในด้านอัตราแลกเปลี่ยน กนง. กังวลกับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในไตรมาสที่สองและให้ติดตามอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินการเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม หากดูดัชนีค่าเงินบาทจะพบว่าไม่ได้แข็งค่าเร็วเท่ากับเงินดอลลาร์ แปลว่าส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ด้วย และในช่วงหลังก็อ่อนค่าลงมาอีกครั้ง

ด้านเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ให้จับตา 3 เรื่อง คือ 1) ราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินโลกปรับลดรุนแรงจนกระทบต่อตลาดการเงิน 2) การผิดนัดชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือน และ 3) ตราสารหนี้เอกชนที่อาจจะถูกปรับลดความน่าเชื่อถือได้ อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพระบบการเงินไทยยังเข้มแข็งในหลายด้าน ทั้งเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินจากเงินกองทุนและกันสำรองที่สูง เสถียรภาพด้านต่างประเทศจากระดับเงินสำรองระหว่างประเทศที่สูงและสัดส่วนหนี้ต่างประเทศที่ต่ำ และเสถียรภาพการคลังจากหนี้สาธารณะที่ยังต่ำและมีอายุหนี้เฉลี่ยยาว

“ถ้ามองยาวขึ้นไกลขึ้น ประเด็นที่ต้องติดตามกัน คือก็มีคำถามเหมือนกันว่าโควิด-19 จะกระทบกับเสถียรภาพการเติบโตในอนาคตอย่างไร ถ้าเป็นแผลเป็นต่อเศรษฐกิจไทยอาจจะส่งผลต่อศักยภาพการเติบโตระยะยาวได้ ประเด็นที่สองคือการฟื้นตัวต้องใช้เวลานานพอสมควร และประเด็นที่สามคือความไม่แน่นอนสูงและคาดไม่ได้ว่าจะจบเมื่อใด จะต้องมีการเตรียมเครื่องมือไว้ให้เพียงพอ”

กนง. ยังมีความเห็นเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจด้านอุปทานอย่างมากในการประชุมครั้งนี้ เพราะโควิด-19 กระทบกับรูปแบบธุรกิจอย่างกว้างขวาง เปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจภายหลังการระบาดไปทั้งหมด ตัวอย่างเช่น การหากลไกการบริหารกำลังการผลิตส่วนเกิน การสร้างงานใหม่รองรับผู้ว่างงานและคนจบใหม่ การพัฒนาทักษะแรงงานใหม่ การปฏิรูปกฎเกณฑ์ภาครัฐที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่

ยันเครื่องมือมีครบ

ดร.เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวเสริมว่า เครื่องมือนโยบายของ ธปท. ปัจจุบันมีการศึกษาและเตรียมเครื่องมือให้พร้อมใช้ โดย ธปท. ไม่ได้ตัดเครื่องมือใดๆ ออก เพราะภายใต้สถานการณ์แบบนี้ ธปท. ต้องมีเครื่องมือครบถ้วน นอกจากนี้ กนง. ยังให้ศึกษาเพิ่มเติมอีกว่านโยบายดอกเบี้ยที่ต่ำกว่านี้จะมีผลกระทบอย่างไรกับระบบการเงิน สถาบันการเงิน ผลกระทบต่อผู้ออม

“การนำนโยบายต่างประเทศมาใช้ทันทีอาจจะไม่เหมาะสม โครงสร้างเศรษฐกิจไม่เหมือนกัน เช่น การออมเรามีเครื่องมือน้อยกว่า จะกระทบกับศักยภาพการเติบโตหรือไม่ อย่างดอกเบี้ยเป็นศูนย์คิดว่าในความเห็นของผมคงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะว่าเมื่อดูการส่งผ่านนโยบายจากการลดไป 3 ครั้งก็ส่งผ่านดีขึ้นกว่าในอดีตทั้งด้านดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลงเร็ว เงินฝากปรับลงเล็กน้อยในครั้งสุดท้าย ต้องรอข้อมูลที่กำลังประเมินอยู่ หรือสุดท้าย QE จะมาหรือไม่ การทำ QE ไม่ใช่ว่าจะฟื้นได้ ธนาคารพาณิชย์มีเงินฝากเข้ามามาก แต่สินเชื่อขยายไม่มากพอ สภาพคล่องก็ท่วมอยู่ ถ้าเอาสภาพคล่องไปปล่อยกองไว้ในตลาดการเงินสุดท้ายก็จะกลับมาที่ ธปท. อยู่ดีถ้าทำ QE ออกมา แต่ถ้าปล่อยไปช่วยคนที่ต้องการก็จะเป็นเรื่องดี”

ขณะที่มาตรการลดเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ FIDF นั้น ธปท. ลดชั่วคราวและจะไม่ได้ลดตลอดไป และการลดที่ผ่านมาทำให้การคืนหนี้ที่คาดว่าจะหมดยืดออกไปปีกว่า ส่วนจะยืดออกไปก็พิจารณาได้แต่คงเป็นชั่วคราวเท่านั้น แต่อีกด้านก็ช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้ธนาคารและประชาชนไปได้

เศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดแล้ว

ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการเศรษฐกิจจากการประชุมรอบก่อนในเดือนพฤษภาคมมีอยู่ 3 ประเด็น ในพัฒนาการแรกเศรษฐกิจโลกในช่วงหลังถดถอยรุนแรงกว่าที่คาดจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดมากขึ้นในหลายประเทศ และทำให้เศรษฐกิจถูกปรับลดลงต่อเนื่องจากเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นฟื้นตันมากขึ้นจากมาตรการปิดเมืองที่ผ่านคลายลง

“จากการควบคุมการระบาดของไวรัสส่งผลต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกอย่างมาก แต่เราคาดว่าในปลายปีจะมีมาตรการท่องเที่ยวในกลุ่มจำกัดมากๆ และค่อยๆ เพิ่มขึ้นในปีหน้า แต่ถึงที่สุดเราคาดว่าการท่องเที่ยวจะไม่ดีขึ้นจนกว่าจะมีวัคซีน ซึ่งคาดว่าจะทำได้สำเร็จและใช้อย่างแพร่หลายในปลายปีหน้า ในแง่การส่งออกเราปรับลดลงจาก -8.8% เป็น -10.3% ดูไม่เยอะมากเพราะมีการส่งออกทองคำเป็นประวัติการณ์อยู่ แต่ถ้าไม่รวมทองคำจะหดตัวลึกมากกว่านี้ แต่จากแนวโน้มที่ดีขึ้นในต่างประเทศก็อาจจะช่วยให้การส่งออกไทยดีขึ้นได้”

พัฒนาการที่ 2 คือการคาดว่าจะควบคุมโรคภายในประเทศได้ในไตรมาสที่สอง ซึ่งตอนนี้อาจจะต้องติดตามจากข่าวการแพร่ระบาดรอบใหม่ในระยะ 2 วันที่ผ่านมานี้ แต่การปิดเมืองที่ผ่านมาก็กระทบกับการบริโภคของเอกชนอย่างมาก รวมไปถึงการท่องเที่ยวและข้อจำกัดของการเดินทางระหว่างประเทศ นอกจากนี้ สถานการณ์ว่างงานที่เพิ่มขึ้นกดดันให้รายได้แรงงานลดลง ซึ่งปรับขึ้นมาตั้งแต่เมษายนจนถึงมิถุนายนยังอยู่ในระดับสูง

“สิ่งที่ทำให้เรามั่นใจว่าไตรมาสสองจะเป็นจุดต่ำสุดแล้ว จากข้อมูลการเคลื่อนย้ายคนจะต่ำสุดในเดือนเมษายนที่ผ่านมาและปรับดีขึ้นต่อเนื่องจนถึงเดือนมิถุนายน จากผลของการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่ผ่านมา และทำให้ไตรมาสสามและสี่จะดีกว่าไตรมาสที่สองอย่างมีนัย แต่การฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์อาจจะต้องรอถึงปี 2565 ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับไปเท่ากับระดับก่อนการระบาดได้ โดยมีเงื่อนไขคือต้องมีการควบคุมการระบาดได้โดยต้องมีวัดซีนใช้อย่างแพร่หลาย ต้องมีการผ่อนคลายมาตรการได้อย่างชัดเจน ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูงค่อนข้างมากจากการระบาดรอบที่สองในหลายประเทศอยู่”

พัฒนาการที่ 3 ที่เกิดขึ้นหลังจากประมาณการณ์ในเดือนมีนาคม คือ มีมาตรการทางการเงินและการคลังที่ใหญ่พอสมควร แต่เทียบกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่ามากจึงไม่สามารถชดเชยได้ และต้องปรับประมาณการณ์ลงในการประชุมครั้งที่ผ่านมา

ดร.ดอนขยายความภายหลังถึงเงื่อนไขการควบคุมการระบาดได้ว่า ไม่ได้หมายถึงการไม่มีผู้ติดเชื้อในทุกวัน เพราะระบบควบคุมโรคในปัจจุบันกรมควบคุมโรคมีศักยภาพที่จะตรวจและคัดกรองอยู่ระดับ 20-30 รายต่อวันได้ ดังนั้นในช่วง 2-3 วันนี้ยังอยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้ของกรมควบคุมโรคได้

“ในปีหน้าคิดว่าจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ เพราะในช่วงเดือนมิถุนายนเริ่มเห็นตัวเลขของเศรษฐกิจในหลายประเทศอุตสาหกรรมหลักปรับดีขึ้นบ้างตามเครื่องชี้วัดล่วงหน้าอย่างดัชนีการจัดซื้อของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อที่ปรับดีขึ้นในหลายประเทศแล้ว”

ดร.ดอนกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่อาจจะทำให้เศรษฐกิจหดตัวมากกว่าที่คาดจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก แต่ตอนนี้เศรษฐกิจโลกมีโอกาสฟื้นตัวช้ากว่าคาดและมีการระบาดจนต้องล็อกดาวน์อีกครั้ง หรือระบบการเงินผิดนัดชำระหนี้อีกครั้ง ดังนั้นกรณีเลวร้ายจะมองที่โลกเป็นหลัก และทำให้ไตรมาสสองอาจจะไม่ต่ำสุดก็ได้