ThaiPublica > คอลัมน์ > เลิกจ้างอย่างไร ถึงจะไม่โกรธ ไม่เกลียดกัน…

เลิกจ้างอย่างไร ถึงจะไม่โกรธ ไม่เกลียดกัน…

14 กรกฎาคม 2020


บรรยง พงษ์พานิช

ในประวัติการเป็นผู้บริหารระดับสูงของกิจการธุรกิจ 35 ปีของผม ผมเคยมีประสบการณ์ขมขื่นที่ต้องตัดสินใจลดขนาดขององค์กรในสัดส่วนที่สำคัญ (มากกว่า 10%) รวม 3 ครั้งด้วยกัน ซึ่งทุกครั้งเป็นเรื่องที่มั่นใจว่าเป็นความจำเป็น เป็นหน้าที่ และมั่นใจว่าตัดสินใจไม่ผิด แม้ในระยะสั้นจะต้องรู้สึกหดหู่ และผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจ แม้จะต้องมีคนที่ได้รับผลกระทบ มีคนลำบากบ้าง หรือแม้แต่อาจจะมีคนที่ไม่เข้าใจ ไม่พอใจ หรืออาจจะคิดว่าไม่เป็นธรรมอยู่บ้าง

จะขออนุญาตเล่าให้ฟังนะครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างในยามอย่างนี้

ครั้งแรกนั้นเป็นการเลย์ออฟที่ขมขื่นที่สุดเพราะเป็นการเลย์ออฟ 100% ทั้งบริษัทมากกว่า 600 คนเพื่อปิดกิจการ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 (ค.ศ.1999) ซึ่งจะเป็นวันที่ผมจะไม่ลืมเลย

ทุกคนคงจะเดาได้นะครับว่าเป็นเรื่องสืบเนื่อง เป็นผลมาจาก “วิกฤติต้มยำกุ้ง” …ตอนที่เกิดวิกฤติเดือนกรกฎาคม 2540 นั้น ผมเป็น SEVP ของ บงล.ภัทรธนกิจ มีหน้าที่ดูแลธุรกิจหลักทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งพอเดือนตุลาคมทางการสั่งปิดบริษัทเงินทุน 56 แห่ง คนก็ตื่นตระหนกแห่มาถอนเงินฝากกันมากเหมือนกันทั้งระบบ ภัทรตัดสินใจเข้าซบกสิกรไทย ให้เข้ามาถือหุ้นห้าสิบเอ็ดเปอร์เซ็นต์ หยุดการตื่นตระหนกไปได้ระยะหนึ่ง แต่สถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้น NPLs เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนผมทำ due diligence ตัวเอง คิดว่าไม่น่าจะไปไหว เลยเสนอผู้ถือหุ้นแยกบริษัทหลักทรัพย์ออกไปขายให้กับ Merrill Lynch กับธนาคารกสิกรอย่างละครึ่ง ได้เงินมา 5,200 ล้าน ช่วยบรรเทาความเสียหายไปได้บ้าง และช่วยให้พนักงานสามร้อยกว่าคนด้านหลักทรัพย์ยังมีงานทำ และผมถูกขอให้ย้ายจาก CEO หลักทรัพย์มาเป็น CEO ของฝั่งเงินทุน

แต่กระนั้นสักพักก็ยังไปไม่ได้อีก NPL เพิ่มขึ้นในระดับที่เรียกได้ว่า insolvent (ล้มละลาย) เลยเสนอทางการขอเลิกกิจการ ซึ่งใช้เวลายื้อกันอยู่นานกว่าจะได้รับอนุมัติในเดือนพฤษภาคม 2542 เพราะรัฐค้ำประกันเงินฝากทั้งระบบ ต้องชดเชยส่วนที่ขาดประมาณสี่พันล้าน แต่รัฐอนุมัติให้เลิกได้ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 ผมยังต้องทำงานต่ออีกหกเดือน จึงต้องตัดสินใจว่าจะประกาศกับลูกค้าและพนักงานเลย หรือจะเก็บงำไว้ก่อน ไว้ใกล้ๆ ค่อยประกาศเพราะอาจจะไม่มีใครยอมอยู่ทำงาน และเราชดเชยการให้ออกจากงานเพิ่มจากกฎหมายกำหนดได้เพียงเงินเดือนเดือนเดียวเท่านั้น นอกเหนือจากเงินออมในระบบสำรองเลี้ยงชีพ

ในที่สุดผมตัดสินใจประกาศเลย …โดยบอกล่วงหน้าว่าทุกคนจะตกงานในวันที่ 30 พฤศจิกายนโดยพร้อมเพรียงกัน แต่สัญญาว่า ในเวลาที่เหลือผมจะพยายามวิ่งหางานให้คนให้มากที่สุด ซึ่งปรากฏว่าพนักงานกว่า 90% อยู่ทำงานช่วยผมจนปิดกิจการ และในระหว่างนั้นผมก็ได้จัดทำรายละเอียดของพนักงานทุกคน ทักษะความสามารถของแต่ละคน รายการ training ที่แต่ละคนเคยผ่านมา ออกตระเวนตามสถาบันการเงินที่ยังเปิดดำเนินการอยู่และพวกบริษัทแก้หนี้ที่เกิดขึ้นมาเพื่อบริหารทรัพย์สินของ ปรส. (องค์กรเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน) เรียกว่าทำการโรดโชว์หางานให้พนักงาน ตากหน้าไปทั่ว ไปพบผู้บริหารทั้งไทยและเทศ จนในที่สุดสามารถหาข้อเสนองานให้พนักงานได้มากถึง 85% ซึ่งพนักงานที่ผมหางานให้ไม่ได้ ผมก็ใช้เงินส่วนตัวจ่ายให้ไปอีกหนึ่งเดือน (นอกจากพวกที่ไม่รับข้อเสนอเองหรือพวกที่ไม่ต้องการทำงานต่อ)

เชื่อไหมครับ การต้องตากหน้าไปพบคนต่างๆ ประมาณว่า “พี่ครับ ผมบริหารงานจนเจ๊ง แต่พนักงานผมไม่ได้ผิดอะไร ล้วนเป็นคนดีคนเก่ง ได้รับการเทรนมาอย่างดี ถ้าพี่มีงานที่ต้องการคน โปรดพิจารณาด้วย”

ในครั้งนั้น แทนที่ผมจะต้องอับอายถูกเยาะเย้ย กลับกลายเป็น talk of the town ว่า “ไอ้เตานี่มันดีจริงๆ นะ วิ่งหางานให้เพื่อนร่วมงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย” ทุกคนในวงการช่วยเหลือกันเต็มที่ ฝรั่งที่บริหาร BCA (บริษัทแก้หนี้ร่วมทุนของ Goldman Sachs และ GE ถึงกับสั่งการให้คนภัทรได้ priority เลยด้วยซ้ำ

…เห็นไหมครับ ทุกวิกฤติมีโอกาส ผมสร้างโอกาสให้ตนเอง ตลอดเวลา ถึงจะไม่ใช่โอกาสใหญ่โตอะไร แต่ผมก็พยายามตอดเล็กตอดน้อยทุกครั้งที่มีโอกาสโผล่ขึ้นมาแม้ในท่ามกลางความวินาศ ซึ่งมีบริษัทเงินทุนจำนวนมากที่ถูกปิดกิจการในช่วงนั้น แต่ก็ไม่มีผู้บริหารคนไหนลุกขึ้นมาทำอย่างผมเลย

ครั้งที่สอง… ที่มีเหตุการณ์ต้องเลย์ออฟใหญ่ เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ครั้งแรกแค่สองปี คือหลังจากผมปิดกิจการ บง.ภัทรธนกิจเสร็จเรียบร้อย แล้วได้รับการทาบทามให้มาเป็นประธานกรรมการ ประเภททำงานเต็มเวลาที่บริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ริลลินช์ ภัทร ปรากฏว่าการณ์ไม่เป็นไปตามที่ฝรั่งคาด หลังวิกฤติ ตลาดทุนไทยยังซบเซาต่อเนื่องยาวนาน ถึงจะไม่ถึงกับขาดทุน แต่มีกำไรน้อย ROE ทำได้ไม่ถึง 10% พนักงานที่เก่งๆ เริ่มถูกทาบทามซื้อตัวจากคู่แข่ง โดยเฉพาะจากบริษัทต่างชาติที่ขนาดเล็กกว่าเรา ใช้คนน้อยกว่า …

ผมและคุณวีรวัฒน์ ชุติเชษฐพงศ์ CEO ปรึกษากันและเสนอเแผนการลดคนต่อ Merrill Lynch ผู้ถือหุ้นใหญ่ ว่าเราจะปรับองค์กรเพื่อลดคนครั้งใหญ่ เพื่อลดต้นทุนให้แข่งขันได้ดีขึ้น และสามารถว่าจ้างคนเก่งโดยให้ผลตอบแทนที่ดีได้ เราเลยตกลงกันว่าเราจะลดคนลงกว่าหนึ่งในสาม ซึ่งผมและวีรวัฒน์บินไปฮ่องกง ประชุมกับทีมผู้บริหาร Merrill Lynch พร้อมขอต่อรองให้เขาเรียกผู้บริหารต่างชาติที่มีอยู่ใน Merrill Lynch Phatra หกคนกลับด้วย คงเหลือไว้แค่เพียง CFO คนเดียว เพราะสองปีที่ผ่านมาเราได้พิสูจน์แล้วว่า เราทำงานกันเองได้ดีภายใต้มาตรฐานสูง ไม่จำเป็นต้องมีฝรั่งคอยคุม ซึ่งสิ้นเปลืองมาก ฝรั่งก็ยินยอมตามที่เสนอ

เชื่อไหมครับ ในปี 2001 จากพนักงาน 350 คน เราลดลงทีเดียว 150 คน หรือลดลงทีเดียว 42% ซึ่งเราทำทั้งๆ ที่ตลาดการเงินทำท่าจะฟื้นตัว เพราะธนาคารเริ่มปล่อยกู้ใหม่หลังจากเข้ากระดองมาหลายปีช่วงหลัง “ต้มยำกุ้ง”

…ถามว่าทำไมให้เหลือสองร้อยคน ตอบเลยว่าเป็นตัวเลขที่เราแค่คาดการณ์ว่าสามารถดำเนินธุรกิจตามภาวะได้ดี จะมีรายได้พอที่จะจ้างคนคุณภาพสูงต่อไปได้ แข่งขันในตลาดแรงงานคุณภาพได้

ผมจำได้ว่าผมขอให้ผู้บริหารระดับสูงห้าคนมานั่งประชุมกันสามสี่วัน ตั้งเป้าแล้วก็เลือกคนที่เราคิดว่าเกินจำเป็นออกให้ได้รวม 150 คน โดยไม่มีการลดเป้า เป็นการประชุมที่เคร่งเครียดมาก เพราะพวกเราคลุกคลีสนิทสนมกันมาก ในพวกน้องๆ ที่สนิทร่วมก๊วนกอล์ฟกับผมแทบทุกวันหยุดถูกเลือกออกเรียบวุธทั้งสามคน (แต่ก็ยังร่วมก๊วนกันจนทุกวันนี้)

พอเลือกคนได้ครบ ผมก็แจ้งขอเรียกประชุมพนักงานทั้งบริษัท ว่าหลังเลิกงานวันศุกร์ ขอให้พนักงานทุกคนมาร่วมประชุมสำคัญอย่างพร้อมเพรียงกัน ห้ามขาดประชุมนอกจากมีเหตุจำเป็นจริงๆ

พอถึงวันประชุม ผมก็แจ้งให้พนักงานทุกคนทราบ ถึงเหตุผลความจำเป็นที่เราจะต้องลดคน เพื่อการพัฒนาให้ยั่งยืนต่อไปได้ โดยผมยังพอจำเนื้อหาได้ประมาณนี้ครับ

“ทุกคนทราบดีอยู่แล้วถึงความยากลำบากในการประกอบธุรกิจในภาวะการณ์อย่างนี้ ถึงแม้ว่าเรายังพอทำกำไรได้อยู่แต่ก็น้อยมาก ROE ต่ำกว่า 10% ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ผู้ถือหุ้นคาดหวัง และเมื่อผู้ถือหุ้นไม่ได้รับผลตอบแทนที่ดี เราก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องผลตอบแทนที่ดีให้กับพนักงาน ทำให้เราต้องสูญเสียพนักงานคุณภาพไปเรื่อยๆ ซึ่งผมจะไม่ขอเรียกร้องให้ใครเสียสละเพื่อใคร เพราะทุกคนต้องดูแลตัวเองและครอบครัว พวกเราเคยเป็นบริษัทชั้นนำใน bubble economy และจะต้องรักษาความเป็นผู้นำให้ได้แม้ในภาวะ tough economy

เมื่อภาวะการณ์เปลี่ยนไป คนหลายๆ คน งานหลายๆ งานก็อาจหมดความจำเป็น ถ้าเราเอาแต่ถือคติมาด้วยกันไปด้วยกันแบบเลือดสุพรรณ กระเตงกันไปแบบนี้ ถึงอาจจะรอดแต่ก็ไม่รุ่งเรือง ผลิตภาพรวมก็จะลดลงหรือเพิ่มไม่ได้ พวกเราล้วนยังเป็นคนหนุ่มสาวยังมีศักยภาพที่จะสร้างผลิตภาพที่ดีอีกมากกว่าโอกาสที่มีอยู่ที่นี่ เราแยกย้ายกันไปสร้างประโยชน์ให้ตนเองและโลกใบนี้

ต้องขอโทษด้วยที่พวกผมผู้บริหารจำเป็นจะต้องเป็นผู้เลือก ผู้ตัดสินใจว่าใครควรอยู่ควรไป ซึ่งก็มีระดับผู้บริหารหลายคนที่ต้องจากไปในครั้งนี้ ขอยืนยันว่าไม่ใช่ความผิดของใคร ถ้าจะมีความผิดก็คงเป็นพวกผมที่ไม่สามารถหาโอกาสมาเพิ่มได้ในภาวะอย่างนี้ ผมเชื่อและพูดมาเสมอว่า Job Secutity is what you have, not where you are. ผมเชื่อว่าทุกคนที่ทำงานที่นี่ได้มีโอกาสเรียนรู้ฝึกทักษะ จนมีศักยภาพพอที่จะเอาตัวรอดและรุ่งเรืองได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนทำอะไร แต่ถ้าใครมีอะไรลำบาก ก็ขอให้ติดต่อหาผมเป็นส่วนตัวได้ตลอดไป เราจะยังเป็นเพื่อนเป็นพี่น้องกันตลอดไป”

“ต้องขอโทษด้วย ที่เพื่อ security reason พอเลิกประชุมนี้ ขอให้ทุกคนกลับไปที่โต๊ะทำงาน และเข้าสู่ระบบกลางของบริษัท ถ้าใครเข้าไม่ได้ password ไม่ผ่าน ขอให้ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที เก็บของสัมภาระทั้งหมดกลับไปบ้านก่อน หรือจะนัดมาเก็บวันหลังก็ได้ ต้องขอโทษที่ต้องทำอย่างนี้ มันเป็น security procedure ของเรา วันหลังค่อยมานัดเลี้ยงเฮฮากัน”

เชื่อไหมครับ ทุกคนหางานใหม่ได้ไม่ยาก หลายๆ คนไปเป็นผู้บริหารระดับสูง มีกระทั่ง CEO, CFO ของบริษัทต่างๆ หรือแม้แต่เป็นผู้บริหารของสถาบันการเงินที่ใหญ่กว่าเราหลายเท่า

และนั่นก็คือการเลย์ออฟครั้งใหญ่กว่า 150 จาก 350 คนในวันเดียว

ครั้งที่สาม… สืบเนื่องมาจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ในปี 2009 เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ธุรกิจไทยในอุตสาหกรรมอื่นๆอาจไม่กระทบมาก แต่ตลาดทุนได้รับผลลบเต็มๆ โดยเฉพาะ cross border transaction ซึ่งเป็นจุดแข็งของ บล.ภัทร (ในเวลานั้น เราทำ MBO มาเป็นผู้ถือหุ้นเองแล้ว) ฝ่ายบริหารตัดสินใจลดคนลง 15% ประมาณ 40 คนในช่วงกลางปี

ครั้งนี้เรามีปัญหาไม่มาก เพราะทุกคนรู้คติแล้วว่า ที่นี่ไม่มีใครมี job security แม้แต่ประธาน ถ้าหมดประโยชน์ สร้างประโยชน์ไม่คุ้มค่าจ้างก็ต้องถูกพิจารณา (ต้องขอบอกว่า ผมเองขอลดเงินเดือนลงเรื่อยๆ หลายครั้งแล้ว เพราะกลัวถูกเลิกจ้าง กลัวอดเรียนรู้ จนทุกวันนี้ ไม่มีเงินเดือน เหลือแค่เบี้ยประชุมเวลามาทำงานเท่านั้น) เราแค่ประกาศวันเวลาที่ทุกคนจะได้รับแจ้ง แล้วก็แจ้งรายตัวไปพร้อมกัน

ครั้งที่สามนี้ มีเรื่องที่ผมภูมิใจเล็กๆ เพราะพอข่าวว่าเรามีเลย์ออฟแพร่กระจายออกไป ผมได้รับติดต่อจากบริษัทใหญ่ๆ ระดับชาติหลายรายเลย “คุณบรรยง ส่งมาเลยครับ” และทุกคนก็ได้งานดีๆ เจริญรุ่งเรืองไปตามลำดับ

จำไว้เลยนะครับ “Job Security is what you have, not where you are”

และนี่ก็คือเรื่องราวการลดคนทั้งสามครั้งในประสบการณ์ของผม เอามาเล่าเผื่อจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างในยามนี้

ป.ล. นี่ไม่ใช่การบอกใบ้ว่าจะมีอะไรในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรนะครับ เพราะผมถาม CEO และ President ทุกคนในกลุ่มแล้ว ทุกคนคิดว่าเรายังห่างไกลความจำเป็นขนาดนั้น นอกเหนือจากคนที่ไม่ทำงาน ไม่รับผิดชอบ ซึ่งเราก็มีแผนเลิกจ้างตามปกติอยู่แล้ว จึงพอจะยืนยันได้นะครับว่า “เดือนหน้ายังไม่มี”

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊กBanyong Pongpanich วันที่ 14 พฤษภาคม 2563