ThaiPublica > เกาะกระแส > ธ.ก.ส. ชูเอสเอ็มอีต้นแบบ “เดอะ ฟิกเนเจอร์-พลวงทองฟาร์ม” แนวทางการเกษตรยั่งยืน ผสานไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่

ธ.ก.ส. ชูเอสเอ็มอีต้นแบบ “เดอะ ฟิกเนเจอร์-พลวงทองฟาร์ม” แนวทางการเกษตรยั่งยืน ผสานไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่

22 กรกฎาคม 2020


ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พาสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมผู้ประกอบการด้านการเกษตร ณ จังหวัดชลบุรี ตัวอย่าง 2 เอสเอ็มอีที่เสนอโครงการขอสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. และมีรูปแบบการพัฒนาธุรกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน-ใช้แนวทางเกษตรผสมผสาน ครอบคลุมต้นน้ำยันปลายน้ำ สะท้อนกลยุทธ์ธุรกิจปรับตัวรับยุคใหม่

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. มีผลิตภัณฑ์การให้สินเชื่อแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มลูกค้าบุคคล กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ และกลุ่มลูกค้าสหกรณ์-องค์กร

สำหรับกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการยังแยกออกเป็น สินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ สินเชื่อ SME เกษตร สินเชื่อระยะสั้นประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน และสินเชื่อธุรกิจรายย่อย โดย “เอสเอ็มอี” ที่ ธ.ก.ส. ยกเป็นต้นแบบจัดเป็นกลุ่มลูกค้าประเภทผู้ประกอบการกลุ่ม “สินเชื่อ SME เกษตร”

“The FIGnature” ท่องเที่ยวเชิงเกษตร เดิน ชม ชิม “มะเดื่อฝรั่ง”

“The FIGnature” ท่องเที่ยวเชิงเกษตร เดิน ชม ชิม “มะเดื่อฝรั่ง”

ตัวอย่างแรกเป็นเอสเอ็มอีด้านผลไม้ขั้น ‘ปราบเซียน’ ที่คนไทยรู้จักในนาม “มะเดื่อฝรั่ง” หรืออีกชื่อคือ “ฟิก” เพราะด้วยการเพาะปลูกที่มีเงื่อนไขมากกว่าผลไม้ชนิดอื่นๆ ทั้งการคุมทั้งดิน อากาศ ศัตรูพืช รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ทำให้ผลฟิกไม่ค่อยเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในสังคม เป็นเหตุผลที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับฟิก

จนกระทั่งนายยงยุทธ เลารุจิราลัย เห็นถึงโอกาสในตลาดผลไม้ องค์ความรู้ที่มี เสริมกับ “ทุนจาก ธ.ก.ส.” ทำให้เขาเลือกที่จะพัฒนาสวนผลไม้ชื่อ “เดอะ ฟิกเนเจอร์” (The FIGnature) ภายใต้สโลแกน “อร่อยและสุขภาพดี ทำได้ที่เดอะ ฟิกเนเจอร์”

“เดอะ ฟิกเนเจอร์” ก่อตั้งเมื่อปี 2562 ประกอบธุรกิจประเภทฟาร์มเกษตรผสมผสาน ในพื้นที่ 10.5 ไร่ ที่ตั้งของฟาร์มอยู่ในพื้นที่อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลสดมะเดื่อฝรั่ง กิ่งพันธุ์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะเดื่อฝรั่ง เช่น ผลมะเดื่อฝรั่งอบแห้ง แยมมะเดื่อฝรั่ง น้ำมะเดื่อฝรั่ง ชาใบมะเดื่อฝรั่ง ขนมพายชีสมะเดื่อฝรั่ง โดยจำหน่ายผลสดและผลผลิตแปรรูปให้กับคู่ค้า เช่น ห้างสรรพสินค้า และซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ

นายยงยุทธ เลารุจิราลัย (ซ้ายสุด)

ภายในสวนยังมีผลไม้อีก 4 ชนิด ได้แก่ หม่อน มะนาวนิ้ว ฝรั่งไต้หวัน และเลม่อนยูเรก้า วางจำหน่ายเป็นผลสด แปรรูป และกิ่งพันธุ์

โดยสวนแห่งนี้ได้รับเงินทุน ธ.ก.ส. มาสนับสนุนสินเชื่อโครงการ Green Credit (มาตรฐาน GAP) ในการลงทุนซื้อที่ดินและสร้างโรงเรือนปลูกลูกฟิก และสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน รวมวงเงินราว 5 ล้านบาท

นายยงยุทธเผยเหตุผลที่ ธ.ก.ส. ให้สินเชื่อเพราะว่า “เป็นโปรเจกต์น่าสนใจ แล้วคิดว่าเป็นไม้พันธุ์ใหม่ที่อาจจะตอบโจทย์คนสมัยใหม่”

“มันเป็นไม้กระแส ผมเห็นว่าฟิกมีประโยชน์เยอะ แล้วในหลวงรัชกาลที่เก้าท่านส่งเสริมให้ปลูกมานานแล้ว เราเลยกลับมานั่งศึกษาว่าทำไมส่งเสริมแล้วคนไทยถึงทำไม่สำเร็จ ผมพบว่าเป็นเรื่องการตลาด ผลผลิตออกมาแล้วขายไม่ได้เขาก็เลิก แล้วทำไมผลผลิตถึงขายไม่ได้ เพราะเขาปลูกข้างนอกโรงเรือน ไม่สามารถคุมรสชาติได้ คุมคุณภาพไม่ได้ แล้วเวลาลูกค้าไปทานตอนเจอลูกที่ไม่อร่อย เขาจะจำไปเลยว่าฟิกไม่อร่อย ทำให้คนไม่ซื้อ” เจ้าของสวนเดอะ ฟิกเนเจอร์ กล่าว

โรงเรือนปลูกมะเดื่อฝรั่ง
The FIGnature” ท่องเที่ยวเชิงเกษตร เดิน ชม ชิม “มะเดื่อฝรั่ง”

ดังนั้น ผลฟิกที่ดีจะต้องปลูกในโรงเรือนที่ควบคุมได้ทั้งปัจจัยดิน น้ำ และศัตรูพืชคือมดและเพลี้ย โดยนายยงยุทธบอกว่าต้องสามารถคุมสิ่งแวดล้อมได้อย่างน้อย 80-90% โดยเฉพาะการคุมเรื่องใบ เพราะใบเปรียบเหมือนที่ปรุงรสชาติให้ผล

แม้ว่าลูกฟิกจะเป็นผลไม้ที่จัดอยู่ในสิบอันดับแรกของผลไม้ที่มีใยอาหารสูงสุด รวมถึงมีทั้งแร่ธาตุและวิตามินทุกชนิดที่ร่างกายต้องการ เช่น โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม แมงกานีส เหล็ก สังกะสี ทองแดง วิตามิน A, B, C และ K โปรตีน คาร์โบไฮเดรต อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระและเอนไซม์ชนิดพิเศษที่มีประโยชน์สูง ซึ่งหายากในผักและผลไม้ชนิดอื่นๆ แต่ลำพังเพียง “สรรพคุณ” ไม่สามารถทำให้ธุรกิจการเกษตรอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน

ร้านกาแฟฟิก

“เดอะ ฟิกเนเจอร์” จึงผสมผสานแนวคิดแบบเกษตรยั่งยืน โดยอาศัยประโยชน์จากพื้นที่จังหวัดชลบุรีที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองเศรษฐกิจและเมืองท่องเที่ยว เช่น กรุงเทพฯ พัทยา ระยอง ศรีราชา ซึ่งเป็นตลาดกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อ มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่น มีชาวต่างชาติอาศัย และปรับแต่งพื้นที่ภายในสวนให้สามารถเดินเยี่ยมชมจนกลายเป็น “การท่องเที่ยวเชิงเกษตร” ทำให้จุดแข็งของสวนผลไม้ฟิกไม่ได้มีแค่ผลไม้เท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่เยี่ยมชม ประกอบกับมีร้านกาแฟสำหรับนั่งพักผ่อนหย่อนใจและชื่นชมบรรยากาศสวน โดยจำหน่ายตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ผลไม้สด ผลไม้แปรรูป และเครื่องดื่มที่ทำจากผลฟิก

เพราะหัวใจการขยายธุรกิจแบบ forward integration คือการประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ด้วยการจัดพื้นที่ให้สวยงามและมีจุดเช็คอินเพื่อถ่ายรูปและมีกิจกรรมครอบครัว เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผลผลิต และผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ ในรูปแบบของฝากและของที่ระลึก เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของยุคที่ผู้คนชอบท่องเที่ยวและถ่ายภาพเพื่ออัปลงในโซเชียลมีเดียต่างๆ จึงเกิดกระแสบอกต่อแบบปากต่อปากจนทำให้ “เดอะ ฟิกเนเจอร์” มีคนมาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง

มะเดื่อแปรรูป

อย่างไรก็ตาม ผลฟิกยังถือเป็นผลไม้เฉพาะกลุ่มที่ยังไม่แพร่หลายมากนัก เช่นเดียวกับรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ยังไม่เป็นที่นิยมเมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวในรูปแบบอื่นๆ นี่จึงเป็นความท้าทายของเกษตรกรผู้ปลูกฟิกที่ต้องพัฒนาโมเดลธุรกิจด้าน “การตลาด” และ “ภาพลักษณ์” ให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น เพื่อทำให้สวนเดอะ ฟิกเนเจอร์ เติบโตไปไกลกว่าเดิม

ส่งหมูลงหม้อ “ชาบูตะ” กลยุทธ์ต่อยอดฟาร์มสุกร

เกษตรกรอีกรายที่สร้างโมเดลธุรกิจอย่างยั่งยืนคือ “พลวงทองฟาร์ม” ฟาร์มสุกรที่ทำธุรกิจเลี้ยงหมู ขุนหมู ทั้งยังทำธุรกิจส่งออกสุกรไปยังประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) รวมถึงแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า “เนื้อหมู” เข้าสู่ร้าน “ชาบูตะ” ร้านอาหารประเภทชาบูที่มีวัตถุดิบหลักจากฟาร์มสุกร

“เราเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสุกร ถ้าเราขายสุกร 1 ตัวน้ำหนัก 100 กิโลกรัม ราคาประมาณ 8,000 บาท แต่ถ้าเราเอาหมูมาแปรรูปเป็นเนื้อชาบู เราจะได้ 1 ตัวเท่ากับ 24,000 บาท เทียบเท่ากับสุกรเป็นๆ 3 ตัว” นายสมชาย ผสมทรัพย์ เจ้าของกิจการพลวงทองฟาร์ม เปิดเผยแก่นแนวคิดการทำธุรกิจแบบครบวงจร

นายสมชาย ผสมทรัพย์ เจ้าของกิจการพลวงทองฟาร์ม

นายสมชายบอกว่า ธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง มีข้อจำกัดด้านการแข่งขันในตลาดที่ต้องเจอกับ “พ่อค้าคนกลาง” ขณะเดียวกันธุรกิจขนาดกลาง-เล็กก็ไม่สามารถสู้กำลังของกลุ่มทุนใหญ่ได้ วิธีที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้คือการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าสินค้า

พลวงทองฟาร์มเริ่มต้นเมื่อ 22 ปีก่อนในวันที่ “นายสมชาย” ลาออกจากการเป็นลูกจ้างบริษัทฟาร์มสุกรแห่งหนึ่ง และมีความคิดอยากประกอบกิจการของตนเอง จึงเก็บเงินซื้อที่ดิน 21 ไร่เพื่อปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน แต่ธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ ทว่าความรู้ด้าน “สุกร” ผสมผสานกับแนวคิดเกษตรพอเพียงของรัชกาลที่เก้าทำให้นายสมชัยเริ่มต้นใหม่อีกครั้งด้วยการสร้างพลวงทองฟาร์ม โดยช่วงแรกเน้นการขายสุกรให้พ่อค้าฟาร์มเล็กๆ

จนถึงจุดเปลี่ยนเมื่อปี พ.ศ. 2548 เมื่อราคาสุกรตกจนเหลือเพียงตัวละ 250 บาท ทำให้เจ้าของฟาร์มสุกรต้องตัดสินใจ ณ เวลานั้นว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้

“ตัวละ 250 บาท ผมขาดทุน ทนไม่ไหว ไม่งั้นเราก็ต้องเป็นเบี้ยล่างเขา เพราะเราไม่แข็งพอในธุรกิจ ผมเลยมีความคิดต่อยอดธุรกิจ แต่ตอนนั้นเราไม่มีทุน” นายสมชายย้อนความหลัง

นายสมชายจึงเขียนโครงการขอสินเชื่อและเสนอแผนธุรกิจว่าจะผลักดันการผลิตสุกรปลอดสารพิษ ต่อยอดการเลี้ยงสุกรขุนสู่การแปรรูปที่ยั่งยืน และทำให้เป็นเนื้อเกรดพรีเมียม และเป็นฟาร์มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันในปี พ.ศ. 2558 พลวงทองฟาร์มก็ได้รับเลือกให้เข้าโครงการ “สินเชื่อ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร” จึงนำงบที่ได้มาลงทุนในการสร้างโรงงานผลิตอาหารภายในฟาร์ม เพื่อให้ธุรกิจครบวงจรมากยิ่งขึ้น

“ผมเป็นเกษตรกรรายย่อยที่ยากจน ที่ดินที่มีอยู่เป็นแค่สิทธิทำกิน ไม่สามารถใช้ค้ำประกันเพื่อขอเงินกู้ได้ เรามองว่าจะหาช่องทางไหนที่จะโตครบวงจรได้ จนมาเจอ ธ.ก.ส.” นายสมชายกล่าว

ปัจจุบันพลวงทองฟาร์มตั้งอยู่ที่ตำบลพลวงทอง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี มีพื้นที่ภายในฟาร์มราว 100 ไร่ มีการจ้างงานชาวบ้านในพื้นที่อีก 17 ราย ตลอดจนสร้างเครือข่ายผู้เลี้ยงสุกรฟาร์ม และทำเกษตรพันธสัญญา (contract farming) อีก 2 ฟาร์ม ด้วยจุดประสงค์ว่า “ให้เขาเติบโตไปกับเรา”

ปี 2563 สัดส่วนรายได้พวงทองฟาร์มกว่า 60% มาจากการส่งออกตัวสุกร อีก 40% มาจากการขายในประเทศ

สำหรับการขายในประเทศแบ่งออกเป็น (1) ส่งลูกสุกรขาย (2) ขายสุกรขุน (3) ส่งเชือดแปรรูปผลิตภัณฑ์ ทั้งส่งขายตามช่องทางต่างๆ และขายผ่านร้านอาหารของตัวเองชื่อ “ชาบูตะ” ทั้งหมดเป็นกลยุทธ์แบบกระจายความเสี่ยง และทำให้ธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ (ผู้เลี้ยง) กลางน้ำ (ขุนหมูและส่งออก) จนถึงปลายน้ำ (แปรรูป)

ขณะที่ฟาร์มหมูขนาดเล็ก-กลางมักจะทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงกลางน้ำ คือขายลูกหมูและเลี้ยงหมูขุน แต่พลวงทองฟาร์มกลับสร้างข้อแตกต่างด้วยกันเปิดร้านอาหาร ซึ่งเป็นร้านที่มีจุดแข็งคือสามารถควบคุมคุณภาพวัตถุดิบได้ ผิดกับร้านอาหารโดยส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบเอง

ปัจจุบันร้าน “ชาบูตะ” สาขาแรกตั้งอยู่ในตำบลหน้าพระธาตุ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี มียอดขายเกือบหนึ่งล้านบาทต่อเดือน ด้วยตัวเลขรายได้ทำให้นายสมชายเอ่ยปากว่า “เราประสบความสำเร็จมากกว่า 100%” เพราะเป็นชาบูเกรดพรีเมียมราคา 299 บาทต่อหัว หลังจากนั้นมีแผนจะขยายให้ครบ 12 สาขาในจังหวัดกรุงเทพฯ และชลบุรี

“ถ้าวันนี้เราเลี้ยงสุกรอย่างเดียว วันข้างหน้าผมเชื่อว่าตลาดจะทำให้ตัวสุกรล้นเกินปริมาณความต้องการของตลาดในประเทศ ถ้าจะอยู่ได้ก็ต้องแปรรูปไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง…ผมเป็นรอยต่อระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ วิธีการของเราคือมาวิเคราะห์และประเมินว่าทำอะไรแล้วให้ผลตอบแทนมากกว่ากัน ส่วนหลักการทำธุรกิจของผมคือคือทำอย่างไรก็ได้ให้กำไรสูงสุด และแปรรูป ทำให้เป็นธุรกิจที่ยั่งยืนก็คือการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ฟาร์มมีคุณภาพ” นายสมชายกล่าว

ตัวอย่างผู้ประกอบการ 2 รายทั้ง “เดอะ ฟิกเนเจอร์” และ “พลวงทองฟาร์ม” ได้รับสินเชื่อการเกษตรจาก ธ.ก.ส. และนำมาต่อยอดธุรกิจจนประสบความสำเร็จ โดยทั้งสองมีจุดร่วมคือการทำธุรกิจแบบครบวงจรอย่างยั่งยืน ไม่จำกัดแค่รูปแบบธุรกิจเริ่มต้น แต่ยังปรับตัวตามความต้องการของผู้บริโภคตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ตลอดจนทำธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เป็นทั้งผู้ผลิตผลิตภัณฑ์-วัตถุดิบ ผ่านกระบวนการแปรรูป-สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า จนถึงมือผู้บริโภค นับเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เอสเอ็มอีสามารถหาช่องวางการแข่งขันในตลาดและเติบโตอย่างยั่งยืน