ThaiPublica > เกาะกระแส > แบงก์รัฐ 9 แห่ง ร่วมช่วยลูกหนี้จากพิษโควิด กว่า 11.16 ล้านราย วงเงิน 3.7 ล้านล้านบาท

แบงก์รัฐ 9 แห่ง ร่วมช่วยลูกหนี้จากพิษโควิด กว่า 11.16 ล้านราย วงเงิน 3.7 ล้านล้านบาท

15 กรกฎาคม 2020


นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เผยลูกค้า 11.16 ล้านราย ที่ได้รับผลกระทบ COVID-19 ได้รับความช่วยเหลือผ่านมาตรการของแบงก์รัฐทั้ง 9 แห่ง

สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เปิดเผยข้อมูลครึ่งปีแรก สถาบันการเงินของรัฐทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วย ธอส. ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ธพว. ธสน. ธอท. บตท. และ บสย. เยียวยาช่วยเหลือลูกค้าประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้แล้ว 11.16 ล้านราย วงเงินสินเชื่อรวม 3,789,698 ล้านบาท โดยประเภทของสินเชื่อที่มีจำนวนผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือมากที่สุด คือ สินเชื่อเกษตร จำนวน 5.7 ล้านราย วงเงินสินเชื่อ 1,313,285 ล้านบาท โดยการพักชำระหนี้ถือเป็นมาตรการที่ลูกค้าได้รับความช่วยเหลือมากที่สุดจำนวน 7.2 ล้านราย วงเงินสินเชื่อ 3,012,952 ล้านบาท

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เปิดเผยว่า ตามที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าประชาชน ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงได้มีนโยบายให้สถาบันการเงินต่าง ๆ รวมถึงสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วย 1.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 2.ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 3.ธนาคารออมสิน 4.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 5.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) 6.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) 7.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ธอท.) 8.บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) และ 9.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เร่งจัดทำมาตรการทางด้านการเงินเพื่อเยียวยาช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างเร่งด่วนตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น

โดยสถาบันการเงินของรัฐหลายแห่งต่างจัดทำรายละเอียดของความช่วยเหลือที่ไม่น้อยกว่ามาตรการขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ครอบคลุมลูกหนี้ทั้งในกลุ่มลูกค้าประชาชนทั่วไปที่ประกอบอาชีพประจำ อาชีพอิสระ เกษตรกร รวมถึงผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก เป็นต้น โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 พบว่า มีจำนวนของลูกค้าที่ได้รับความช่วยเหลือแล้วถึง 11.16 ล้านราย วงเงินสินเชื่อรวม 3,789,698 ล้านบาท ประเภทของสินเชื่อที่ได้รับความช่วยเหลือมากที่สุด คือ สินเชื่อเกษตร จำนวน 5.7 ล้านราย วงเงินสินเชื่อ 1,313,285 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบุคคล ช่วยเหลือลูกค้าได้จำนวน 4.6 ล้านราย วงเงินสินเชื่อ 1,704,210 ล้านบาท และสินเชื่อประเภท SMEs (อาทิ ท่องเที่ยว ค้าส่ง/ค้าปลีก และอุตสาหกรรม) จำนวน 175,342 ราย วงเงินสินเชื่อ 723,044 ล้านบาท

“รูปแบบของมาตรการความช่วยเหลือที่สถาบันการเงินของรัฐจัดทำให้กับลูกค้าถือว่ามีความหลากหลายเพื่อให้เหมาะสมกับระดับความเดือดร้อนของลูกค้าประชาชนหรือผู้ประกอบการ โดยลูกหนี้ส่วนใหญ่ได้เข้ามาตรการพักชำระหนี้ จำนวนถึง 7.2 ล้านราย วงเงินสินเชื่อ 3,012,952 ล้านบาท หรือเลือกเข้ามาตรการอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับปัญหาและความต้องการของลูกค้าเอง อาทิ การขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพื่อลดจำนวนเงินงวด การปรับลดอัตราดอกเบี้ย และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้ความช่วยเหลือให้สินเชื่อเพิ่มเติมทั้งลูกหนี้เดิมและลูกหนี้ใหม่ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน จำนวน 3 ล้านราย วงเงินสินเชื่อรวม 183,554 ล้านบาท แก่ประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งสามารถลดผลกระทบให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างมาก” นายฉัตรชัย กล่าว

สำหรับแนวทางการดำเนินงานของสถาบันการเงินของรัฐเพื่อช่วยเหลือลูกค้าในช่วงครึ่งปีหลังจะยังคงให้ความสำคัญกับการติดตามดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด แม้ปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ ลงเพื่อให้บรรยากาศทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในประเทศกลับมาฟื้นตัว แต่สถานการณ์ในอนาคตยังคงมีความไม่แน่นอน เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในหลายประเทศยังคงสูงขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจและประชาชนบางส่วนยังไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจหรือประกอบอาชีพได้ตามปกติ โดยสถาบันการเงินของรัฐพร้อมให้ความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการจัดทำมาตรการเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สามารถค้นหารายละเอียดของมาตรการได้ที่ www.เราไม่ทิ้งกัน-ด้านการเงิน.com ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อรวบรวม และเป็นช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลมาตรการด้านการเงินของสถาบันการเงินของรัฐทุกแห่งในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าประชาชนและกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ตรงความต้องการของลูกค้า ประชาชน และผู้ประกอบการ