ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ย้ำเจรจา CPTPP หากไทยไม่ได้ประโยชน์สูงสุด ไม่เซ็น – มติ ครม.ทุ่ม 2 หมื่นล้าน จัด 3 แพกเกจฟื้นท่องเที่ยว

นายกฯ ย้ำเจรจา CPTPP หากไทยไม่ได้ประโยชน์สูงสุด ไม่เซ็น – มติ ครม.ทุ่ม 2 หมื่นล้าน จัด 3 แพกเกจฟื้นท่องเที่ยว

16 มิถุนายน 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

นายกฯ ย้ำเจรจา CPTPP หากประเทศไทย ไม่ได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ลงนาม มอบ “วิษณุ” หาช่อง กม. คลายล็อกปล่อยกู้ SMEs – มติ ครม. ทุ่ม 22,400 ล้าน จัด 3 แพกเกจ ฟื้นฟูท่องเที่ยว-อนุมัติ 4 โครงการ เก็บตกเยียวยาโควิดฯเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน โดยวันนี้นายกรัฐมนตรีงดให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน โดยมอบหมายให้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ชี้แจงแทน

กำชับฟื้นฟูท่องเที่ยว ต้องสอดรับมาตรการสาธารณสุข

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายช่วยกันประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้สำหรับการใช้ชีวิตในวิถีใหม่ และได้กล่าวไปถึงแผนการฟื้นฟู โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งนอกเหนือไปจากการฟื้นฟูเรื่องเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยวแล้วยังต้องมีการวางแผนปรับพื้นที่การท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับมาตรฐานสาธารณสุข ให้นำไปสู่การท่องเที่ยววิถีใหม่ มีการเว้นระยะห่างทางสังคม และป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย

โดยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้นำคณะทำงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) หรือ ศบค. เข้าเฝ้ารับพระราชดำรัสจากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ณ พระตำหนักจักรีบงกช โดยได้ทรงชื่นชมและให้กำลังใจ พร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลอย่างเต็มที่

นอกจากได้นายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้ ครม.ทราบถึงผลการพิจารณาจัดอันดับของจีซีไอ ที่ประเทศไทยติดอันดับที่ 2 ของโลกในการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิดฯ รองจากประเทศออสเตรเลีย และเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย จาก 184 ประเทศทั้วโลก

สำหรับการติดตามสถานการณ์คนไทยที่อยู่ในประเทศอียิปต์ นายกรัฐมนตรียืนยันรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ปัจจุบันมีคนไทยอยู่ในประเทศอียิปต์จำนวน 4,137 คน โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดเที่ยวบินเพื่อรับคนไทยในประเทศอียิปต์กลับประเทศไทยแล้ว จำนวน 2 เที่ยวบิน (วันที่ 8 พฤษภาคม และ 9 มิถุนายน 63) รวมจำนวน 410 คน ขณะนี้มีคนไทยในประเทศอียิปต์ลงทะเบียนแสดงความประสงค์จะเดินกลับประเทศไทยอีกจำนวน 690 คน ซึ่งสถานเอกอัคราชทูตไทยที่อียิปต์กำลังสำรวจคนไทยที่แสดงความประสงค์กลับประเทศไทยเพิ่มเติม

โดยรัฐบาลได้เตรียมจัดเที่ยวบิน จำนวน 4 เที่ยวบิน เพื่อรับคนไทยในประเทศอียิปต์กลับประเทศไทย เที่ยวบินละประมาณ 250 คน (รวมประมาณ 1,000 คน) ในวันที่ 3, 8, 17 และ 24 กรกฎาคม 2563 นี้ สำหรับการจัดกิจกรรมเพื่อให้นักศึกษาและคนไทยในประเทศอียิปต์ได้ปรึกษากับแพทย์นั้น ได้มีการจัดระบบ video conference เพื่อพูดคุยและปรึกษารวมทั้งรับทราบข้อมูลของโควิด-19 และแนวทางการดูแลตนเองและการรักษาในเบื้องต้นแล้ว นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งกลุ่มไลน์ระหว่างนักศึกษาและคนไทยในอียิปต์กับแพทย์/เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อให้คำปรึกษาได้อย่างรวดเร็ว สร้างความอุ่นใจให้กับคนไทยในประเทศอียิปต์ ขอให้คนไทยในประเทศอียิปต์อย่าเป็นกังวล ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง รัฐบาลจะดูแลและให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่

มอบ “วิษณุ” หาช่อง กม. คลายล็อกปล่อยกู้ SMEs

ศ. ดร.นฤมล กล่าวต่อไปว่า นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการเพิ่มเติมในเรื่องของแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการที่พบว่า ตามมาตรการหรือข้อกำหนดทางกฎหมายต่างๆ นั้นทำให้การอนุมัติสินเชื่อเป็นไปอย่างไม่คล่องตัว เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน เช่น ซอฟต์โลนที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการอยู่ โดยได้ฝากให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ช่วยดูในข้อกฎหมายว่าจะสามารถทำให้ยืดหยุ่นอย่างไรได้บ้าง

อีกทั้งได้แจ้งที่ประชุม ครม.ให้ทราบถึงการลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงคมนาคม ในเรื่องยางพารา เพื่อแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางอย่างยั่งยืน ในการต่อยอดองค์ความรู้และเพิ่มมูลค่าผลผลิตยางพาราให้แก่เกษตรกรไทย

ย้ำเจรจา CPTPP หากไทยไม่ได้ประโยชน์สูงสุด ไม่เซ็น

ศ. ดร.นฤมล กล่าวต่อไปว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ว่า CPTPP นั้นมีความครอบคลุมเกี่ยวกับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจทั้งเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุน เพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก รวมไปถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามาตรฐานทางแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม กลไกการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ

”อย่างไรก็ตาม นายกฯ ยังคงเน้นย้ำว่ารัฐบาลจะเจรจาเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศไทย หากเจรจาแล้วไม่ได้ผลตามที่ต้องการรัฐบาลจะไม่ลงนามในข้อตกลงนี้อย่างแน่นอน ขออย่าได้กังวล รัฐบาลจะยึดผลประโยชน์ของประเทศและของประชาชนเป็นที่ตั้งอย่างแน่นอน”

มติ ครม.มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา) ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ปรับเกณฑ์ปล่อยกู้ “โครงการบ้านล้านหลัง”

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม.มีมติปรับหลักเกณฑ์โครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐสำหรับลูกค้ารายย่อย (post finance) หรือ “โครงการบ้านล้านหลัง” ของ ธอส. เพื่อกระตุ้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่สนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยมีบ้านที่มีมาตรฐานเหมาะสมเป็นของตัวเองได้ โดยให้ปรับเพิ่มราคาซื้อขายจาก 1 ล้านบาทต่อหน่วยเป็น 1.2 ล้านบาทต่อหน่วย พร้อมขยายวงเงินกู้สูงสุดต่อรายให้สอดคล้องกัน

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้ปรับหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุน โดยให้สิทธิประโยชน์แก่กิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยเฉพาะการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าที่อยู่อาศัยใน กทม.และปริมณฑลจะต้องจำหน่ายราคาต่อหน่วยไม่เกิน 1.2 ล้านบาท และถ้าเป็นที่อื่นจะต้องไม่เกิน 1 ล้านบาท และต้องขายบ้านให้เฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น

ผ่านร่างพ.ร.บ.งบฯ 64 วงเงิน 3.3 ล้านล้าน

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม.เห็นชอบ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 วงเงินรวม 3.3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นงบกลาง 614,616.2 ล้านบาท, รายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 1.135 ล้านล้านบาท และรายจ่ายบูรณาการอีก 257,877.9 ล้านบาท, รายจ่ายบุคลากร 776,887.7 ล้านบาท, รายจ่ายทุนหมุนเวียน 221,981.9 ล้านบาท และรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ 293,454.3 ล้านบาท

“นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบคณะกรรมาธิการจำนวน 64 คน โดยรัฐมนตรีว่าการและช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รวมไปถึงปลัดกระทรวงจะเป็นกรรมาธิการในสัดส่วนของ ครม.ที่ไม่เกิน 16 คน สำหรับกรรมาธิการที่เหลืออีก 48 คนจะแบ่งเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 27 คน และฝ่ายค้าน 21 คน ส่วนรายละเอียดจะเป็นไปตามกระบวนการของสภาต่อไป”

วาง 4 กลไก กำกับดูแลการใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้าน

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบกลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ท.ในฐานะฝ่ายเลขานุการของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เสนอให้ประสานความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้ง รัฐ สังคม เอกชนและประชาชน  เพื่อเป็นกลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 ด้าน ได้แก่

  • การเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบแผนงาน/โครงการต้องเปิดเผยข้อมูลแผนการดำเนินงาน แผนการใช้จ่ายงบประมาณ ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและความคืบหน้าในการดำเนินงาน เพื่อให้ประชาชน เอกชน ร่วมเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริตทางเว็บไซต์และจุดบริการข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานทางแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง และทางเว็บไซต์ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ (ภาษีไปไหน) ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. ให้ทุกภาคส่วนร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริตหรือความเดือดร้อนในพื้นที่ที่มีการใช้งบประมาณ  เปิดช่องทางรับแจ้งเบาะแส แจ้งการทุจริตของประชาชน เชื่อมโยงระบบรับเรื่องร้องเรียนของทุกหน่วยงานทางแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง หรือทางเว็บไซต์ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ
  • การป้องกันและลดโอกาสการทุจริต หน่วยงานผู้รับผิดชอบทำการประเมินและจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริต ก่อนการดำเนินงานตามแผนงานหรือโครงการ
  • การตรวจสอบ ให้ ศอตช.ตรวจสอบการดำเนินโครงการ หากมีเหตุสงสัยหรือเรื่องร้องเรียน
  • การดำเนินมาตรการทางปกครองวินัยและอาญา โดยหน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการทางปกครอง วินัย และอาญากับผู้ที่กระทำความผิดตามมาตราป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม

ทั้งนี้ รัฐบาลจะดำเนินการตรวจสอบหน่วยงานที่เบิกจ่ายงบประมาณอย่างเข้มงวดและจริง จังสอดคล้องกับแถลงการณ์องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ที่ให้ประเทศสมาชิกระมัดระวังการจ่ายงบประมาณ มีมาตรการป้องกันความเสี่ยงการทุจริตในการใช้จ่ายงบประมาณแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วย

เห็นชอบแถลงการณ์ร่วม-ประชุม belt & road ต้านโควิด-19

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม.เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมประชุมและรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมระดับสูง ผ่านระบบการประชุมทางไกลว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ ภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง: การต่อสู้กับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับสูงผ่านระบบการประชุมทางไกลว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ ภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง: การต่อสู้กับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

“ทั้งนี้ การประชุมจะมีขึ้นในวันที่ 18 มิถุนายน 2563 โดยนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนเป็นประธานการประชุม เพื่อหารือร่วมกันในการรับมือกับโรคติดเชื้อโควิด-19 ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม กระชับความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจาก 20ประเทศ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากองค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติ เข้าร่วมหารือด้วย”

อนึ่ง ร่างถ้อยแถลงฯ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศตามแนวเส้นทางเศรษฐกิจสายไหม ที่จะร่วมมือกันในการรับมือกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ การให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบ การส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีน  การกระชับความร่วมมือในการพัฒนาความเชื่อมโยง เปิดเส้นทางคมนาคมเพื่อส่งเสริมการค้าข้ามพรมแดนและการขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น รวมถึงการสนับสนุนการจัดตั้งช่องทางพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการเดินทางของนักธุรกิจ การส่งเสริมการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และการบริการทางอินเทอร์เน็ตอื่นๆ  การส่งเสริมความร่วมมือที่ปฏิบัติได้จริง สานต่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ เขตเศรษฐกิจ และการดำเนินโครงการต่างๆ ให้มีความยั่งยืน ด้วย

อนุมัติ 4 โครงการ เก็บตก เยียวยาโควิดฯเพิ่มเติม

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.อนุมัติ 4 โครงการในการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการการระบาดของโควิด-19 โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  • โครงการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนกลุ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยจะจ่ายเงินให้กับผู้ที่ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการอื่นๆ 16 ล้านคน เป็นเงิน 1,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือนตั้งแต่พฤษภาคมถึงกรกฎาคม โดยจ่ายผ่านบัตรสวัสดิการ วงเงิน 3,492.66 ล้านบาท
  • โครงการสำหรับกลุ่มที่ลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกันไม่สำเร็จ ประมาณ 302,000 คน โดยจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการอื่นๆ วงเงิน 906 ล้านบาท ขณะที่รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เช่น การพิจารณากลุ่มเป้าหมายและกลไกอื่นๆ ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังสรุปให้ชัดเจนก่อนจะส่งกลับมาให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาอีกครั้งภายใน 1 เดือน
  • โครงการเยียวยากลุ่มเปราะบางที่ ครม.เคยเห็นชอบก่อนหน้านี้ โดยเมื่อตรวจสอบความซ้ำซ้อนแล้ว ครม.เห็นชอบให้เยียวกลุ่มเปราะบางที่ไม่เคยได้รับการเยียวยาจากมาตรการอื่นๆ ของรัฐประมาณ 7 ล้านคน วงเงิน 20,000 ล้านบาท จากเดิมที่เคยคาดว่าไว้ที่ 13 ล้านคน ประกอบด้วยกลุ่มเด็กยากจน อายุ 0-6 ปี 1.3 ล้านคน, กลุ่มผู้สูงอายุจำนวน 4 ล้านคน และกลุ่มผู้พิการ 1.3 ล้านคน โดยจะจ่ายเงิน 1,000 บาทต่อคน ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่พฤษภาคมถึงกรกฎาคม เพิ่มเติมจากเงินอุดหนุนเดิมที่คนกลุ่มนี้ได้รับ เช่น เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เบี้ยคนพิการและชราภาพ
  • โครงการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร ซึ่งเป็นเรื่องเพิ่มเติมหลังจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทยอยจ่ายเงินงวดแรกไปแล้ว 7 ล้านราย โดยวันนี้ ครม.เห็นชอบเพิ่มเติมกลุ่มเป้าหมายเกษตรกรด้อยโอกาสและเข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรได้ จำนวน 137,093 ราย และต้องได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และไม่เคยได้รับการเยียวยาจากโครงการอื่นๆ

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการจ่ายเงินให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ แต่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรได้อย่างสมบูรณ์ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 จำนวน 120,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรในรอบการผลิตที่ผ่านมาแล้ว แต่ในครั้งนี้ลงทะเบียนไม่ทันและให้ลงทะเบียนให้แล้วเสร็จภายใน 15 กรกฎาคม 2563

ทุ่ม 22,400 ล้าน จัด 3 แพกเกจ ฟื้นท่องเที่ยวหลังโควิดฯ

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติในหลักการโครงการเพื่อช่วยเหลือเยียวยา และชดเชยแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในส่วนของโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยว ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อฟื้นฟูภาคธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศ ประกอบด้วย 1) ผู้ประกอบการโรงแรมที่พัก 2) ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว และ 3) ผู้ประกอบการขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว ให้สามารถมีรายได้และฟื้นฟูกิจการ และส่งผลต่อการจ้างงานและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม โดยใช้งบประมาณวงเงินรวม 22,400 ล้านบาท ใน 3 โครงการ ได้แก่

  • โครงการกำลังใจ รัฐบาลนนับสนุนค่าเดินทางของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) รวม 2 ล้านคน โดยต้องเดินทางโดยการใช้บริการกับบริษัทนำเที่ยว ซึ่งรัฐจะสนับสนุนงบประมาณเดินทางไม่เกินคนละ 2,000 บาท สำหรบการเดินทางไม่น้อยกว่า 2 วัน วงเงินรวม 2,400 ล้านบาท

  • โครงการเราไปเที่ยวกัน รัฐบาลสนับสนุนค่าโรงแรมที่พักในลักษณะร่วมจ่าย (co-pay) จำนวน 5 ล้านคืน ในอัตราร้อยละ 40 ของค่าห้องพักแต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน และสนับสนุนค่าอาหารและค่าใช้จ่ายสถานที่ท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการ และ ททท.จะแจ้งรายชื่อแก่ธนาคารกรุงไทย จำนวน 600 บาทต่อห้องต่อคืน โดยจะต้องมีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่จังหวัดในทะเบียนบ้านของประชาชนผู้จองห้องพัก วงเงินรวม 18,000 ล้านบาท

  • โครงการเที่ยวปันสุข รัฐบาลสนับสนุนการเดินทางของประชาชน จำนวนไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน โดยการจำหน่ายบัตรโดยสารของผู้ประกอบการขนส่งด้านการท่องเที่ยว 3 กลุ่ม ได้แก่ สายการบินในประเทศไทย รถขนส่งไม่ประจำทางข้ามจังหวัด และรถเช่าในอัตราร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 1,000 บาท วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท

นอกจากนี้รัฐบาลยังกำหนดการใช้สิทธิ์ร่วมระหว่างโครงการเราเที่ยวไปด้วยกันและโครงการเที่ยวปันสุข โดยผู้ใช้สิทธิ์บัตรโดยสารเครื่องบินได้รับส่วนลดไม่เกินร้อยละ 40 หรือไม่เกิน 1,000 บาทต่อสิทธิ์ เมื่อขอใช้สิทธิ์ในโครงการเที่ยวไปด้วยกัน

“การดำเนินการในลักษณะ co-pay จะมีการกำหนดสิทธิให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิ์ได้ 1 ครั้ง (ตรวจสอบผ่านบัตรประชาชน) คือ ค่าห้องพักสูงสุดไม่เกิน 5 ห้องต่อคน พร้อมได้สิทธิ์ e-voucher ฝ่านแอปเป๋าตังค์ 600 บาทต่อคืน สูงสุดไม่เกิน 5 คืน และสิทธิ์ในการซื้อบัตรโดยสารไป-กลับ ในราคา 2,500 บาท เส้นทางบินในประเทศ 1 สิทธิ์”

โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาการดำเนินโครงการ 4 เดือน ตั้งแต่ เดือนกรกฎาคม – ตุลาคม 2563 โดยธนาคารกรุงไทย ได้จัดทำแพลตฟอร์มสำหรับใช้เป็นช่องทางในการรวบรวมข้อมูลและรายละเอียดโรงแรมที่พัก รายการนำเที่ยวจากบริษัทนำเที่ยว รายละเอียดบัตรโดยสารของผู้ประกอบธุรกิจขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว ร้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อการตรวจสอบการจดทะเบียนตามกฎหมายร่วมกับ ททท. ผู้ประกอบการจึงสามารถนำเสนอรายละเอียดสินค้าและบริการในแพลตฟอร์มดังกล่าวได้

ทั้งนี้ ททท.จะเป็นผู้ประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อให้นักท่องเที่ยวแจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิ์หรือดำเนินการซื้อสินค้าและบริการในแพลตฟอร์ม ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้ารวมโครงการทั้ง 3 โครงการจะต้องสรุปบรายการงานให้บริการแก่นักท่องเที่ยวผู้เข้าร่วมโครงการ ให้ธนาคารกรุงไทยและ ททท.ตรวจสอบ จึงจะได้รับอนุมัติเงินช่วยเหลือตามรายละเอียดของแต่ละโครงการ

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ประชาชนที่เข้าร่วมในโครงการเราไปเที่ยวกัน 1 คนจะได้ 1 สิทธิ์ พักโรงแรมได้ไม่เกิน 5 คืน ซึ่งเงื่อนไขที่วางไว้ว่ารัฐบาลจ่ายให้ 40% ไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน เท่ากับราคาห้องสูงสุดจะอยู่ที่คืนละ 7,500 บาท ถ้าใช้สิทธิเต็ม 5 คืน เท่ากับรัฐบาลจะจ่ายค่าที่พัก 15,000 บาทแทนผู้ใช้สิทธิ์ โดยผู้ใช้สิทธิ์ต้องจ่าย 60% ก่อน เป็นเงิน 22,500 บาท และเงิน 40% จำนวน 15,000 บาท รัฐบาลจะจ่ายให้ผู้ประกอบการ ไม่ใช่คืนมาที่ผู้เข้าพัก ส่วนเรื่องส่วนลดค่าตั๋วเครื่องบินในโครงการเที่ยวปันสุข มี 2 รูปแบบ คือ สายการบินได้มีข้อตกลงกันว่าจะทำตั๋วโดยสารไป-กลับ ราคาพิเศษ 2,500 บาท ซึ่งสามารถนำไปร่วมกับโครงการเราไปเที่ยวกันได้ แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ใช้ตั๋วราคาพิเศษดังกล่าวก็สามารถซื้อตั๋วทั่วไปแต่ได้ส่วนลด 40% แต่ไม่เกิน 1,000 บาทได้ นอกจากนี้ ผู้ใช้สิทธิ์จะได้รับ E-Voucher หรือบัตรกำนัลอิเลคทรอนิคส์ ผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง 600 บาทต่อคืนไม่เกิน 5 คืน เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนลดค่าอาหารหรือค่าเข้าแหล่งท่องเที่ยว มีข้อแม้ว่าต้องเป็นจังหวัดเดียวกับที่โรงแรมที่เข้าพักตั้งอยู่ด้วย

เห็นชอบ “สดุดีจอมราชา-สดุดีพระแม่ไทย” เป็นเพลงสำคัญของแผ่นดิน

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้เพลงสดุดีจอมราชา และเพลงสดุดีพระแม่ไทย เป็นเพลงสำคัญของแผ่นดิน โดยเพลงสดุดีจอมราชาเป็นเพลงเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้ในการขับร้องถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสสำคัญต่างๆ โดยได้มีการเปลี่ยนเนื้อช่วงหนึ่งจาก “ถวายพระพรจอมราชัน ธ อนันต์ปรีชาชาญ” เป็น “ถวายพระพรองค์ราชินี คู่บารมีองค์ราชัน”

สำหรับเพลงสดุดีพระแม่ไทย  จะใช้ในการขับร้องถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

อนึ่ง ครม.เคยมีมติให้เพลงสำคัญของแผ่นดินมี  6 เพลง ประกอบด้วย เพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงมหาชัย เพลงมหาฤกษ์ เพลงสดุดีมหาราชา และเพลงภูมิแผ่นดิน นวมินทร์มหาราชา

แก้ระเบียบตั้งผู้ช่วย รมต. ไม่ต้องเป็น ส.ส.

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยสาระสำคัญคือการแก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยบุคคลใดก็ตามที่จะเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี จะต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และไม่เป็นผู้ต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ

แต่งตั้ง คกก.ปกครองรอบ 2 เหตุ “วรเจตน์” ลาออก

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม.เห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอการทบทวนรายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 (เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง) โดยให้มีประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง รวม 9 คน ดังนี้

  1. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการ
  2. นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
  3. นายนพดล เฮงเจริญ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
  4. นายบุญอนันต์ วรรณพาณิชย์  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
  5. นายประสงค์ วินัยแพทย์  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
  6. นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
  7. นายฤทัย หงส์สิริ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
  8. นายอธิคม อินทุภูติ   กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
  9. นายเอกบุญ วงศ์สวัสดิ์กุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว ครม.ได้มีมติแต่งตั้งไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนาย 2563 ที่ผ่านมา แต่ภายหลังนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แจ้งลาออก จึงต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการแต่งตั้งใครมาทดแทน ทำให้คณะกรรมการเหลือเพียง 9 คน นอกจากนี้ยังพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงชื่อคณะกรรมการจากนายนิพนธ์ ฮะกีมี มาเป็นชื่อนายนพดล เฮงตระกูล แทน

นอกจากนี้ ครม.ยังได้อนุมัติตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายเทวัญ ลิปตพัลลภ​ ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) เสนอแต่งตั้ง​ พล.ต.ท. ประหยัชว์ บุญศรี เป็นกรรมการภาคเอกชนในคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร แทนตำแหน่งที่ว่างลง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

เห็นชอบร่างแถลงการณ์ประชุม อาเซียน-รัสเซีย รับมือโควิดฯ

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างถ้อยแถลงการประชุมรัฐมนตรีประเทศอาเซียน-รัสเซีย สมัยพิเศษว่าด้วยโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยทางอินโดนีเซียในฐานะเป็นประเทศผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับรัสเซียได้แจ้งว่า ทางรัสเซียได้เสนอให้มีการจัดประชุมวาระพิเศษเรื่องโควิด-19 ซึ่งจะมีการจัดประชุมในวันที่ 17 มิถุนายน 2563

โดยร่างถ้อยแถลงสาระสำคัญจะเป็นการแสดงเจตจำนงของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-รัสเซีย ในการส่งเสริมความร่วมมือและสนับสนุนซึ่งกันและกันในการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในเรื่องการป้องกัน เฝ้าระวัง รักษา รวมถึงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนยาต้านไวรัส เพื่อส่งเสริมความเป็นดีอยู่ดีของประชาชน และมีการดูแลอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับของชาติประเทศสมาชิกอาเซียน และรัสเซียมีการให้ความร่วมมือทางด้านการค้า และการลงทุน การท่องเที่ยว เพื่อช่วยกันบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ ตลอดจนมีการจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 และการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนการเงินความเป็นหุ้นส่วนคู่เจรจาจากรัสเซีย

ไฟเขียวกรอบความร่วมมือ “อาเซียน-ยูนิเซฟ” ฉบับใหม่

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.เห็นชอบร่างกรอบความตกลงความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ฉบับใหม่ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้เสนอ โดยเลขาธิการอาเซียนหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในกรอบความตกลงฯ ในนามอาเซียน ซึ่งร่างกรอบความตกลงฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแผนงานความร่วมมือระยะ 5 ปี ในการดำเนินการส่งเสริมให้เด็กได้รับสิทธิตามข้อบัญญัติของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในประเด็นที่เกี่ยวกับเด็กทั้งระดับประเทศและระดับสากล โดยมีขอบเขตความร่วมมือ ได้แก่

  • สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เช่น การเข้าถึงการศึกษาระดับประถมศึกษาแบบถ้วนหน้า การลดอัตราเสียชีวิตของเด็ก การพัฒนาสุขภาพของแม่
  • ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือทางด้านวิชาการในด้านสุขภาพ เช่น การวิเคราะห์สถานการณ์เด็กที่มุ่งเน้นความเท่าเทียม การดูแลพัฒนาการเด็กปฐมวัย การเฝ้าระวังด้านโภชนาการและสุขอนามัย
  • จัดทำมาตรฐานและแนวทางการปฏิบัติเพื่อปรับปรุงคุณภาพการให้บริการกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และการออกนโยบายที่เกี่ยวกับเด็กด้านสังคม เช่น การให้ความช่วยเหลือในการจดทะเบียน การออกใบอนุญาต สำหรับองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านเด็กในประเทศ การป้องกันและขจัดความรุนแรงต่อเด็กในโรงเรียน เป็นต้น

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า กระบวนการต่อไป หลังจาก ครม.เห็นชอบกรอบความตกลงฯ ฉบับใหม่แล้ว กระทรวงการต่างประเทศจะมีหนังสือแจ้งความเห็นชอบต่อกรอบความตกลงฯ ในนามประเทศไทย ไปยังสำนักเลขาธิการอาเซียน ผ่านคณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา

อ่านมติ ครม.ประจำวันที่ 16 มิถุนายน 2563เพิ่มเติม