ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > กรีนพีซ ห่วงวิกฤติหลังวิกฤติ ชี้การฟื้นตัวของสิ่งแวดล้อมไทยในช่วงโควิด-19 เป็นแค่ปรากฏการณ์ระยะสั้น

กรีนพีซ ห่วงวิกฤติหลังวิกฤติ ชี้การฟื้นตัวของสิ่งแวดล้อมไทยในช่วงโควิด-19 เป็นแค่ปรากฏการณ์ระยะสั้น

15 มิถุนายน 2020


ข่าวการฟื้นตัวของระบบนิเวศน์ในสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ การกลับมาวางไข่ของเต่าทะเล และการปรากฏตัวของสัตว์หายากบริเวณใกล้ชายฝั่ง การเข้ามาหากินของสัตว์เล็กสัตว์น้อยบริเวณอุทยานแห่งชาติในหลายพื้นที่ รวมไปถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงมากที่สุดในครั้งประวัติศาสตร์ จากการล็อกดาวน์และสถานที่ท่องเที่ยวถูกปิดชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งหมดดูเหมือนจะเป็นข่าวดีของการฟื้นตัวของธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย แต่ในมุมของกลุ่มขับเคลื่อนงานสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลล่าสุดว่า การฟื้นตัวของสิ่งแวดล้อมในวิกฤติโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาเป็นเพียงปรากฏการณ์ระยะสั้น

เพราะในความเป็นจริง ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศยังเพิ่มสูง อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่เพิ่มขึ้นยังเร่งเร้าวิกฤติสภาพภูมิอากาศให้รุนแรงขึ้น การระบาดของโควิด-19 ยังเป็นช่องว่างที่นำไปสู่การลักลอบรูปแบบต่างๆ ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและผิดกฎหมาย เช่น การทำลายระบบนิเวศป่าฝนแอมะซอน และการล่าสัตว์ป่าในแอฟริกา ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้มีการชะลอเวทีเจรจาต่อรองด้านสิ่งแวดล้อม และเกิดแนวโน้มลดการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด อันเป็นชุดข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่ย้อนแย้งกับข่าวดีระหว่างการระบาดของไวรัสโควิด-19

นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย

นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ระบุว่า วิกฤติโควิด-19 กลายเป็นวาระเร่งด่วนถ้าเทียบกับวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมอื่น ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ไฟป่าในประเทศออสเตรเลีย และภัยสิ่งแวดล้อมอื่น รวมถึงประเด็นเรื่องภาวะโลกร้อนที่ผ่านมา โดยประเด็น 3 เรื่องที่มีการพูดถึงกันมากสำหรับเรื่องสิ่งแวดล้อม ในวิกฤติโควิด-19 ได้แก่

1. โลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้งแต่มีการปิดเมือง มีการสังเกต บันทึก และพบว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกลดลงอย่างมากในรอบ 100 ปีแบบที่ไม่เคยเห็นเหตุการณ์ที่ไหนเปรียบเทียบได้ ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลก ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือโรคระบาดในอดีต ซึ่งเกิดจากการที่คนลดการเดินทางทุกรูปแบบ และการล็อกดาวน์ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม แม้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลง แต่ถึงอย่างนั้นก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศยังมีมากจากการขับเคลื่อนและสะสมมาในอดีตนับจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้ในภาพรวมปัจจุบันอุณหภูมิผิวโลกยังเพิ่มขึ้น

“ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1 องศาทุกปี ถ้าเราต้องการรักษาอุณหภูมิโลกที่นโยบายให้ไม่เกิด 1.5 องศา เราต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 5% ทุกๆ ปี จนถึงอีก 30 ปีข้างหน้า จึงจะทำให้การปล่อยกับการลดอยู่ที่ศูนย์ ซึ่งต้องทำแบบนี้ทุกปี แต่พอเราพ้นช่วงล็อกดาวน์ เราบังคับให้คนอยู่บ้านไปตลอดไม่ได้ เพราะต้องมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญอยู่ที่นโยบายโลกร้อนของประเทศต่างๆ ที่ต้องช่วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

มีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตตว่าทำไมมาตรการที่เกิดจากโควิด-19 สามารถทำได้อย่างทันทีแทบจะหยุดโลก แต่ทำไมเรื่องโลกร้อนทำไม่ได้  ทั้งที่โลกร้อนมันเป็นภัยคุกคาม เป็นภัยหลายเจเนอเรชัน เหตุผลเพราะไวรัสมีคุณลักษณะพิเศษที่ทำให้คนตอบสนองต่อปัญหาทันทีจากทั้งความใหม่ ความสด และอันตรายของมัน คนจึงลงมือแก้ปัญหาแบบฉับพลันทันที ถ้าเทียบกับการละลายของน้ำแข็งในชั้นขั้วโลก และความหลากหลายทางชีวภาพ แม้คนอาจจะเห็นว่าสำคัญ แต่ก็คิดว่ายังรอได้ เพราะผลที่จะเกิดต้องอาศัยปรากฏการณ์ข้ามทศวรรษ ข้ามเจเนอเรชัน

2. แนวโน้มพลังงานที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมถ่านหินในภาพรวมของโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงาน ในวิกฤติโควิด-19 มีความชัดเจนมากขึ้นที่จะขยายตัวลดลง เช่น ที่ผ่านมาในออสเตรเลียมีการยกเลิกการส่งออกถ่านหิน ในอินเดียมีการชะลอของโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ แต่โครงการพลังงานหมุนเวียนก็ชะลอลงด้วยเพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง ในภาพรวมของโลก ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลก ความไม่คุ้มทุนที่เพิ่มากขึ้นมีแนวโน้มว่าพลังงานหมุนเวียนราคาถูกลงมาก และสามารถแข่งขันได้ดีกว่าการผลิตไฟฟ้าแบบเดิม

3. มลพิษทางอากาศที่ลดลง มาตรการที่ทั่วโลกนำมาใช้ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นเข้มข้นมาก ส่งผลให้มลพิษทางอากาศทั่วโลกลดลง ในประเทศไทยก็เช่นกัน สำหรับกรุงเทพมหานคร หากดูข้อมูลมลพิษในอากาศ ข้อมูลแสดงให้เห็นถึงมลพิษทางอากาศที่มีแนวโน้มลดลงในภาพรวม จากเดือนมกราคมถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว บางส่วนมีความแตกต่างไม่มากนัก เช่น เดือนเมษายน คุณภาพอากาศของปีนี้กับปีที่แล้วเท่ากัน ส่วนที่แตกต่างคือเดือนพฤษภาคมปีนี้ลดลงมาปีที่แล้วเล็กน้อย แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

สำหรับคุณภาพอากาศเชียงใหม่ จะเห็นว่าตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาจนปัจจุบันในเดือนพฤษภาคม  จะเป็นช่วงเวลาเล็กๆ ที่ดีมากเมื่อเทียบกับที่ผ่านมาจากมาตรการล็อกดาวน์ แต่ข้อสังเกตสำหรับมลพิษทางอากาศก็คือ ในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ มีเมืองหลายเมืองเป็นอย่างกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ ที่ค่ามลพิษทางอากาศไม่ได้แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

การเปลี่ยนแปลงที่ไม่มากนักของค่ามลพิษทางอากาศระหว่างเกิดโควิด-19 และไม่ได้เกิดโควิด-19 สะท้อนถึงปัจจัยหลายอย่างที่มากกว่าการหยุดการเดินทางของคน กราฟลักษณะนี้เกิดขึ้นในหลายเมืองทั่วโลก รวมถึงกรุงเทพฯ และเชียงใหม่

การชะลอตัวในโลกพลังงาน “ช่วงโควิด-19 แค่พักยก”

สถานการณ์พลังงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ก่อนโควิด-19 ประเทศที่มีบทบาทที่จะเปลี่ยนผ่านพลังงานมาก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา จีน รวมถึงผู้เล่นสำคัญอย่างอินเดีย ที่ไม่สามารถไปต่อได้เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน จากผลกระทบสิ่งแวดล้อมรวมถึงความต้องการน้ำในการผลิต อันนี้เป็นเชื้อเพลิง ทำให้อินเดียมีการเปลี่ยนผ่านพลังงานระดับนโยบาย จากการที่ตัวเองมีทิศทางการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลมาสู่โซลาร์เซลล์ นั่นเป็นแนวโน้มที่เห็นเกิดขึ้นก่อนหน้า

“ในแต่ละประเทศทุกอย่างชะลอลง เป็นการพักยก แต่ต้องติดตามแต่ละประเทศที่มีนโยบายในการฟื้นฟูตัวเองให้มีความยั่งยืนจะเป็นไปได้อย่างไร เป็นวิถีใหม่ที่จะไม่ซ้ำรอยเดิมอย่างไร” นางสาวจริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ ประเทศไทย  กล่าวและว่า

สำหรับประเทศไทย ปี 2561-2562 ไทยมีความต้องการการใช้ฟ้าที่ลดลง ไฟฟ้าในระบบเรามี 45,000 เมกะวัตต์ แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดคือ 28,000 เมกะวัตต์ เพราะฉะนั้นไทยจะมีไฟฟ้าส่วนเกิน 17,000 เมกะวัตต์ ในการใช้พลังงานแบ่งเป็น 2 กลุ่ม 1.ภาคธุรกิจ ที่ผ่านมามีการชะลอตัวในการใช้พลังงาน 2. ภาคครัวเรือน การใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ ในช่วงโควิด -19 ที่อยู่ในช่วงเวลาที่เป็นพีกของการใช้พลังงานประจำปี คือระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม

แม้ความต้องการธุรกิจชะลอลดลง แต่ค่าใช้จ่ายไม่ได้ลดลงเพราะประเทศไทยตลอดระยะ 10 ปีที่ผ่าน ไฟฟ้าที่ใช้มีกำลังสำรองเหลือ ปกติประมาณ 15% แต่ไทยอยู่ที่ 30% เพิ่มขึ้นมาเป็น 50% และมากกว่า 50% แต่คนที่ต้องจ่ายคือเราทุกคนเป็นคนจ่ายเพราะโรงไฟฟ้า แต่ละโรงไม่จำเป็นต้องเดินเครื่องประชาชนก็ต้องจ่ายล่วงหน้า ดังนั้นเรื่องไฟฟ้าการทบทวนแผนพลังงาน ทำอย่างไรจึงจะลดไฟฟ้าที่ล้นของระบบให้ได้ เพราะนั่นคือค่าใช้จ่ายล่วงหน้าที่ประชาชนจ่ายมาตลอด และก็เป็นภาระต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพราะเชื่อมโยงการพัฒนาของรัฐ ต่อให้มีการเพิ่มโรงไฟฟ้าใหม่แลกมากับสิ่งแวดล้อม กับภาวะเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ยังพบว่า ในช่วงวิกฤติ รัฐและเอกชนบางหน่วยงานยังคงเดินหน้าในพื้นที่ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินอาจจะชะลอในภาพใหญ่ แต่มีการเปลี่ยนผ่านการลงทุนจากภาครัฐวิสาหกิจสู่การเปลี่ยนผ่านการลงทุนจากภาคเอกชน เช่น จากปูนซีเมนต์มาลงทุนในถ่านหิน การเดินหน้าเหมืองถ่านหินภาคเหนือที่อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โครงการเหมืองถ่านหินที่แม่ทะ จ.ลำปาง

“นี่คือสิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปเลยในวิกฤติโควิด-19 แต่เป็นวิถีเดิมซ้ำรอยเดิม และมีหลายโครงการที่มีการดำเนินต่อจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรม อย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่ภาคใต้ ที่เชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจเฉพาะ โครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC  รวมไปถึงโครงการของเหมืองถ่านหินในภาคเหนือที่รอเพียงสัมปทานบัตร”

“เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าในช่วงโควิดและหลังโควิด ยังไม่มีโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมใดๆ ที่ยกเลิก ยังเดินหน้าต่อไปอย่างเต็มที่”

กลุ่ม Operation Mer Propre ดำน้ำสำรวจใต้ทะเลลึกทางตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส พบขยะจากโควิด-19 ทั้งหน้ากากอนามัย ถุงมือยาง ฯลฯ และนี่กำลังจะเป็นปัญหาที่ท้าทายใหม่จากผลกระทบของโควิด-19 ที่มาภาพ: Operation Mer Propre

วิกฤติขยะพลาสติกถึงขยะจากโควิด-19

ด้านพิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์พลาสติกในเดือนที่ผ่านมาในสหราชอาณาจักร นักวิจัยพบว่า มีนกชนิดนึงได้กินไมโครพลาสติกในแต่ละวัน 100 ชิ้น ในแต่ละวันที่กินไปคือกินพอลิเอทิลีน พอลิโพรไพลีน  แมลงตอนใต้ของแม่น้ำของเวลส์ก็เช่นกัน ขณะที่มีการค้นพบสัตว์ทะเลชนิดใหม่ในแปซิฟิก สิ่งที่น่าเศร้า มีการค้นพบว่า ในสัตว์ชนิดใหม่ พบไมโครไฟเบอร์ถึง 80% ของระบบย่อยอาหาร

“เราจะเห็นว่าข่าวปีนี้เป็นข่าวไมโครพลาสติกมากขึ้น และจะสังเกตเห็นว่าเมื่อมันเป็นไมโครคือการแตกตัว ไปไหนก็ได้ที่อยากไป และเราไม่สามารถเก็บกวาดหรือควบคุมการไหล สิ่งนี้ทำให้เราจำเป็นต้องเพิ่มความกังวลจากภัยของไมโครพลาสติกเพิ่มขึ้น”

สำหรับประเทศไทย ในปีที่แล้วเป็นความตื่นเต้นที่เราเห็นว่าปีนี้จะเป็นปีของการลดใช้ จากมาตรการพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ที่ทำให้พอเห็นทิศทางที่จะเห็นความพยายามในการลดใช้พลาสติก ที่ผ่านมาทิศทางกำลังไปได้ดี แต่พอมีโควิด-19 เข้ามาสถานการณ์จึงสวนทาง การอยู่กับบ้านทำให้มีการใช้บริการสั่งอาหารเดลิเวอรีมากขึ้น ทำให้มีการใช้พลาสติกเพิ่มขึ้น จากข้อมูลมีการเพิ่มขึ้นของขยะสูงขึ้น 3 เท่าจากภาวะปกติ ปกติมีออเดอร์หลักล้านใน 4 เดือน  ใน 1 การสั่งหรือออเดอร์ มีการใช้พลาสติกประมาณ 6 ชิ้น ได้แก่ ภาชนะ ช้อนส้อม ถุงพลาสติกใส่ช้อน ถุงแกง ซองน้ำจิ้ม เครื่องดื่มแก้วน้ำผ้าครอบ หลอด ถุงใส่หลอด ฯลฯ ซึ่งรวมแล้วเป็นปริมาณมหาศาล แม้ว่าจะพบว่าภาชนะบางส่วนจะเป็นพลาสติกที่รีไซเคิลได้ แต่เนื่องจากเป็นขยะที่ปนเปื้อนและไม่ได้มีการทำความสะอาดและมีการรวบรวมที่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ทั้งนี้ข้อมูลจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยพบว่ามีขยะปนเปื้อนเพิ่มขึ้น 80% นอกจากนี้ผลกระทบจากขยะทีเกิดขึ้นจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ก็น่ากังวล ล่าสุด จากการสำรวจทะเลลึกบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสมีการพบขยะหน้ากากกับถุงมือยาง สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าการขาดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพจะสร้างผลกระทบ  ดังนั้นสิ่งสำคัญคืออยากจะเห็นการจัดการขยะพลาสติกจากภาครัฐ และการลดใช้ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเอื้อให้คนใช้ชีวิตลดใช้พลาสติกและแยกขยะได้จริง

โลกสิ่งแวดล้อมหลังวิกฤติโควิด-19และ “วิถีใหม่”

วงคุย “โลกสิ่งแวดล้อมหลังโควิด” ของ กรีซพีซ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา

โจทย์สำคัญคือ “เราต้องการเห็นอะไรในโลกสิ่งแวดล้อมหลังโควิด-19” นางสาวรัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ หนึ่งในผู้ประสานงานรณรงค์ฯ ของกรีนพีซ กล่าวว่า สำหรับภาครัฐมีความจำเป็นในการแก้ไขเชิงระบบ และกระจายอำนาจ มีหลายเรื่องที่กรีนพีซรณรงค์อย่าง “ขออากาศดีคืนมา” หรือ Right to Clean Air ในเชิงรูปธรรมสิ่งที่ภาครัฐสามารถเอื้อให้กับประชาชนได้คือการมองการแก้ปัญหาโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เช่น เรื่องอากาศเป็นสิทธิอย่างหนึ่ง ถ้าภาครัฐเน้นการพัฒนาเน้นสุขภาพ หรือการพัฒนาเมืองที่เน้นพื้นที่สีเขียวหรือระบบขนส่งสาธารณะที่เอื้อให้กับทุกคนมากขึ้น ในเวลาที่เมืองมีมลพิษ คนมีรถส่วนตัวหรือคนมีเครื่องฟอกอากาศอาจไม่กระทบ

“สิ่งที่ภาครัฐสามารถมอบให้คนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงคือสิทธิในการเข้าถึงอากาศดี การมอบระบบขนส่งที่ดี หรือเรื่องอาหาร ซึ่งอาจมีที่มาในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า นโยบายที่รัฐอาจส่งเสริมได้คือเกษตรกรรมเชิงนิเวศน์ ออร์แกนิกราคาถูกลง เหล่านี้เป็นสิทธิทางสิ่งแวดล้อม ที่เราอาจจะมองไกลตัว แต่ทั้งหมดคือเรื่องอาหารที่เรากิน อากาศที่เราหายใจ และสามารถมองได้ด้วยว่ามันคือทางออก  better normal คือ ยั่งยืนและเป็นธรรม ไม่ใช่การพัฒนาแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง”

ขณะที่ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “ส่วนใหญ่เราจะคุยกันเรื่องวิถีใหม่หลังโควิด แต่สิ่งที่ไม่ค่อยได้พูดกันว่าเราได้กลับไปหาวิถีเดิมหรือเปล่า บางครั้งคำว่า normal หรือ new normal ไม่ได้เป็นตัวแทนของวิถีใหม่จริงๆ อย่างกรณีถ้าเราจะกลับไปทำงาน ตอนนี้ในจีน สหภาพยุโรป มลพิษก็กลับมาแล้วในกรุงมะนิลา ช่วงหยุดกิจกรรมทุกอย่างเราเห็นเทือกเขาเทียราชัดเจนมาก แต่เดี๋ยวก็กลับมามองไม่เห็น เพราะฉะนั้นในแง่สิ่งแวดล้อม new normal ของเรามันเป็นปัญหาและเราจะกลับไปสู่ปัญหาเดิมหรือเปล่า คีย์เวิร์ดที่เราจะใช้คือ better normal”

เวลาจะพูดถึง better normal เรามักมองไปถึงภาคการท่องเที่ยว 10% ของจีดีพี รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมส่งออกปลาแปรรูป แต่เราไม่ค่อยพูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานชีวภาพ โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีความหลากหลายชีวภาพเป็นอันดับ 10 ของโลก ในขณะที่เรามีพื้นที่เล็กๆ 150,000 ตารางกิโลเมตร แต่เป็น 10% ของความหลากหลายทางชีวภาพของทั่วโลก

ภาคเหนือมีใช้ความหลากหลายด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน มาเป็นพืชอาหาร พืชสุขภาพ เขาบอกว่าถ้าฝรั่งมาทำวิจัย ถ้าทำงานกับปราชญ์ชาวบ้านจะพบแหล่งพันธุกรรม 95% นี่เป็นจุดแข็งที่ไทยไม่ค่อยได้มอง การพัฒนาที่ผ่านมามองแต่การขยายการท่องเที่ยว แต่ไม่เคยมอง 10% ความหลากหลายทางชีวภาพของโลกที่อยู่ในประเทศไทย และเป็นการตอบโจทย์การพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทยให้กับคนในสังคมไทยได้อย่างดี

เขากล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า สิ่งที่สำคัญ สำหรับกรณีไวรัสโควิด-19 หากมีการพบวัคซีน ปัญหาก็จะหมดไปแม้จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่วิกฤติสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ หลังจากนี้ไม่มีไวรัสจัดการ แต่เราทุกคนต้องเป็นกุญแจสำคัญที่ต้องจัดการในการก้าวสู่สิ่งที่ดีกว่าในอนาคต

ป้ายคำ :