ThaiPublica > เกาะกระแส > “เกาหลีใต้” แบบอย่างมาตรการที่เรียกว่า Best Practice ในการต่อสู้กับโควิด-19

“เกาหลีใต้” แบบอย่างมาตรการที่เรียกว่า Best Practice ในการต่อสู้กับโควิด-19

28 เมษายน 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เกาหลีใต้บุกเบิกการขับรถยนต์เข้ามาตรวจโควิด-19 ที่มาภาพ : metro.co.uk

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา คนอเมริกันติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 939,053 ราย หรือ 2,863 รายต่อประชากร 1 ล้านคน และเสียชีวิตไปแล้ว 53,789 คน หรือ 164 คนต่อประชากร 1 ล้านคน นับจากเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ทุกเช้าที่คนเมริกันตื่นขึ้นมา จะรู้สึกว่าตัวเองกำลังมีชีวิตอยู่ในประเทศที่มีรัฐล้มเหลว (failed state)

ในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศต่างๆ จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการรับมือแบบรวดเร็ว อิงหลักวิทยาศาสตร์ และมีแผนงานระดับชาติ

แต่บทความชื่อ We Are Living in a Failed State ในเว็บไซต์ The Atlantic กล่าวว่า สหรัฐอเมริการับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เหมือนกับประเทศอย่างปากีสถานหรือเบลารุส ที่โครงสร้างพื้นฐานมีสภาพกระท่อนกระแท่น และรัฐบาลทำงานแบบผิดปกติ ผู้นำประเทศไม่สามารถดำเนินการป้องกันไม่ให้ประชาชนประสบความยากลำบาก ประเทศไม่มีแผนงานเป็นเอกภาพ ว่าจะล็อกดาวน์อะไรบ้าง ทั้งหมดปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของครอบครัว โรงเรียน สถานที่ทำงาน หรือท้องถิ่น

ส่วนเกาหลีใต้ ในวันที่ 15 เมษายน ประชาชนเข้าแถวเพื่อไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ และคนเกาหลีใต้คงกำลังคิดว่าจะได้กลับมาทำงานในอีกไม่นานนี้แล้ว และมีโอกาสซื้อสินค้าที่มากกว่าอาหารหรือสินค้าอนามัยต่างๆ ก่อนหน้านี้เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเรื่องคาดคิดไม่ออกว่า เป็นเรื่องเป็นไปได้ที่คนเกาหลีใต้จะออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

เกาหลีใต้พบคนติดเชื้อโควิด-19 รายแรกเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2020 ในช่วงแรก จำนวนคนติดเชื้อมีจำนวนไม่มาก แต่ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ คนติดเชื้อพุ่งขึ้นสูงสุดถึง 909 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่น่าตกใจ แต่แล้วจำนวนคนติดเชื้อก็เริ่มลดน้อยลง ปลายเดือนมีนาคม คนติดเชื้อแต่ละวันมีสิบกว่าคน และลดมาเป็นตัวเลขตัวเดียว ดังนั้น ภายในไม่กี่สัปดาห์ เกาหลีใต้สามารถกดให้กราฟคนติดเชื้อต่ำลงเป็นเส้นแบบแนวนอน

แอปใช้ติดตามตัวบุคคล

บทความชื่อ South Korea Offers a Lesson in Best Practice ของ Victor Chaผู้เชี่ยวชาญเรื่องเกาหลีของสหรัฐฯ ใน foreignaffairs.comforeignaffairs.com กล่าวว่า ในเรื่องไวรัสโคโรนา เกาหลีใต้ทำให้การติดตามตัวคนติดเชื้อพัฒนาขึ้นมาใหม่ในอีกระดับหนึ่ง ผู้โดยสารที่เดินทางมาถึงสนามบินอินชอน หลังจากผ่านการตรวจอุณหภูมิแล้วจะต้องดาวน์โหลดแอปการตรวจอาการตัวเองที่เป็นของกระทรวงสาธารณสุข

เมื่อกลับไปที่พักปลายทางแล้ว ในทุกวัน คนที่ผ่านการคัดกรองมาแล้ว จะต้องใช้แอปนี้เพื่อรายงานอาการของโควิด-19 สำหรับคนที่ตรวจเชื้อไวรัสแล้วเป็นบวก จะถูกติดตามการเคลื่อนไหว ส่วนคนที่อยู่ใกล้เคียงกับคนติดเชื้อ จะได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ในเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม

สำหรับคนอเมริกันที่ยึดถือความสำคัญในเรื่อง สิทธิเสรีภาพและความเป็นส่วนตัว มาตรการติดตามตัวบุคคลของเกาหลีใต้ดังกล่าวจะมองว่าเป็นมาตรการแบบ “ลูกพี่ใหญ่” (Big Brother) แต่หากจะต่อสู้กับโควิด-19 และต้องการเปิดเศรษฐกิจให้เดินเครื่องใหม่ อาจจำเป็นที่จะต้องมองข้ามค่านิยมดังกล่าวเป็นการชั่วคราว

สหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ค้นพบคนติดเชื้อโควิด-19 คนแรก ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน แต่ตัวเลขคนติดเชื้อในสหรัฐฯ พุ่งขึ้นมาเป็นตัวเลข 6 หลัก และกำลังจะเกิน 7 หลัก ส่วนจำนวนคนติดเชื้อในเกาหลีใต้ 10,000 กว่าคน และตัวเลขลดลงมาตลอด การตรวจเชื้อต่อประชากรของเกาหลีใต้ มีมากกว่าสหรัฐฯ 3 เท่า ทั้งนี้เพราะส่วนหนึ่งบริษัทเกาหลีใต้ผลิตเครื่องตรวจเชื้อได้ 350,000 ชุดต่อวัน และกำลังจะเพิ่มเป็น 1 ล้านชุดต่อวัน

Best Practice ที่ต่อสู้กับโควิด-19

บทความของ foreignaffairs.com กล่าวว่า ระบบการติดตามตัวคนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เป็นเพียงมาตรการย่อยอย่างหนึ่งของเกาหลีใต้ ในอันที่จะกดให้กราฟจำนวนคนติดเชื้อเป็นเส้นนอนราบ การดำเนินการที่รวดเร็ว การมีนวัตกรรมด้านนโยบาย และบทบาทการประสานงานของรัฐบาลกลาง พิสูจน์ให้เห็นว่า เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพ ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังให้บทเรียนแก่ประเทศต่างๆ

ลำดับเหตุการณ์ หรือ timeline การรับมือโควิด-19 ของเกาหลีใต้ สะท้อนประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาด เกาหลีใต้ไม่ปล่อยให้เสียเวลาในเรื่องนี้ ประเทศนี้พบคนติดเชื้อรายแรกในวันที่ 20 มกราคม 2020 หนึ่งสัปดาห์ต่อมา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประชุมกับบริษัทด้านการแพทย์ 20 แห่ง เพื่อเร่งการผลิตเครื่องตรวจเชื้อและการอนุญาตเครื่องตรวจ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2020 รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน

ในปลายเดือนมกราคม ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ (KCDC) และสำนักงานบริการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ตั้งคอลเซนเตอร์ 1339 ขึ้นมา เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชน หน่วยงานดูแลความปลอดภัยการทำงานเริ่มแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้แก่สถานที่ทำงาน 7 แสนแห่ง สองสัปดาห์หลังจากค้นพบคนติดเชื้อรายแรก หน่วยงานรัฐได้อนุมัติและแจกจ่ายเครื่องตรวจเชื้อ ที่สามารถรู้ผลภายใน 6 ชั่วโมง ทำให้เกาหลีใต้สามารถตรวจเชื้อได้วันหนึ่งกว่า 2 หมื่นคน

การมีมาตรการรับมือโควิด-19 อย่างรวดเร็วของเกาหลีใต้ ส่วนหนึ่งมาจากบทเรียนการแพร่ระบาดของโรค MERS ที่เกิดขึ้นในปี 2015 ทำให้เกาหลีใต้มีคนติดเชื้อมากสุดรองจากซาอุดีอาระเบีย สาเหตุเพราะรัฐบาลมีมาตรการรับมือที่ล่าช้า และระบบสาธารณสุขขาดอุปกรณ์ทดสอบ ทำให้เวลาต่อมา เกาหลีใต้ได้ตั้งระบบรับมือฉุกเฉินขึ้นมา ฝึกฝนบุคลากรสำหรับการแพร่ระบาดในอนาคต และปรับปรุงขั้นตอนการอนุมัติระบบตรวจเชื้อ ในช่วงการแพร่ระบาด ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ประเทศนี้ สามารถผลิตเครื่องตรวจเชื้อโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากการมีอุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า

เทคโนโลยีติดตามตัว

เกาหลีใต้ได้รับความชื่นชมจากทั่วโลก ถึงความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยอาศัยกลยุทธ์ที่เรียกว่า “ตรวจหาเชื้อ ตรวจหาเชื้อ และตรวจหาเชื้อ” แต่ความสำเร็จที่ไม่มีการรายงานข่าวคือ เกาหลีใต้อาศัยเทคโนโลยีการติดตามตัวบุคคลอย่างมาก โดยเฉพาะกล้อง CCTV การติดตามการใช้บัตรเงินสดของธนาคาร และการใช้โทรศัพท์มือถือ

ในช่วงแรก เทคโนโลยีดังกล่างถูกนำมาใช้เพื่อติดตามว่า ใครคือกลุ่มเสี่ยงที่จะต้องมาตรวจเชื้อ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อจะมีอาการไม่รุนแรง ทำให้คนเหล่านี้มักไม่มาพบสาธารณสุข ไม่ตระหนักว่าตัวเองป่วย และจะแพร่เชื้อให้คนอื่น ดังนั้น หากไม่สามารถค้นหาคนกลุ่มนี้ ความสามารถในการตรวจเชื้อได้มากก็ไม่มีความหมายอะไรมาก

เกาหลีใต้จึงอาศัยวิธีการ 3 อย่างในการติดตามคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง วิธีการแรก คือ ตรวจสอบการใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเงินสด ทำให้สามารถเห็นการเคลื่อนไหวของคนเหล่านี้บนแผ่นที่ วิธีการที่สอง คือ อาศัยสมาร์ทโฟน เพื่อระบุจุดที่อยู่อาศัย หรือสถานที่การไปเยือนของคนกลุ่มเสี่ยง และวิธีการสุดท้าย กล้อง CCTV จะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถระบุคนที่เข้าไปติดต่อกับผู้ป่วยโควิด-19

ประเทศนวัตกรรม

แต่บทความของ Victor Cha กล่าวว่า นอกจากการอาศัยอุปกรณ์ไฮเทคแล้ว มาตรการของเกาหลีใต้ยังเต็มไปด้วยนวัตกรรม หลังจากค้นพบคนติดเชื้อรายแรก เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็เริ่มให้บริการการขับรถเข้ามาตรวจเชื้อโควิด-19 สถานที่แห่งแรกคือ ลานจอดรถของมหาวิทยาลัย ทุกวันนี้ เกาหลีใต้มีสถานที่ขับรถยนต์มาตรวจเชื้อทั้งหมด 70 แห่ง ส่วนสถานที่ตรวจเชื้อทั่วประเทศมี 600 แห่ง

แนวคิดนวัตกรรมแบบง่ายๆ อีกอย่างคือ ระบบ “กำหนดพื้นที่” ทางสาธารณสุขสำหรับดูแลกรณีโควิด-19 สถานพยาบาลที่ดูแลเฉพาะโควิด-19 จะระบุไว้ในแอปของรัฐบาล ทางเข้าโรงพยาบาลต่างๆ จะมีป้ายเขียนบอกคนไข้ชัดเจนว่า พื้นที่เฉพาะสำหรับโควิด-19 และพื้นที่การรักษาพยาบาลโรคอื่นๆ

การรับมือระดับประเทศ

บทความของ Victor Cha กล่าวว่า การรับมือการแพร่ระบาดของเกาหลีใต้ คงจะประสบความสำเร็จไม่มากหากขาดบทบาทการประสานงานของรัฐบาลระดับชาติ รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการประสานงานระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาด การรับมือกับการแพร่ระบาดเป็นมาตรการระดับชาติ มากกว่าการปล่อยให้ท้องถิ่นดำเนินการเองแบบค่อยเป็นค่อยไป

รัฐบาลเกาหลีใต้ยังได้เตรียมแผนฟื้นฟูจากผลกระทบทางเศรษฐกิจของการแพร่ระบาด โดยประกาศมาตรการช่วยเหลือเมืองและจังหวัดต่างๆ ระงับการจ่ายเงินประกันสังคม และจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่าระดับปานกลางลงมา

ผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนคือ การประสานงานระดับชาติในเรื่องหน้ากากอนามัย เกาหลีใต้ประสบปัญหาแบบเดียวกับสหรัฐฯ คือ การขาดแคลนหน้ากาก ทำให้เกิดการกักตุนและการขึ้นราคาของหน้ากากอนามัย นับจากวันที่ 5 มีนาคม รัฐบาลเป็นฝ่ายซื้อหน้ากากที่ผลิตในประเทศจำนวน 80% ความสำคัญอันดับแรกคือ การแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาล หลังจากนั้นก็ควบคุมราคาและวางระบบการจัดสรรแบ่งปัน ประชาชนแต่ละคนซื้อหน้ากากได้ ในวันที่เป็นตัวเลขสุดท้ายของบัตรประชาชน

การควบคุมระบบการจัดจำหน่ายโดยรัฐบาลเกาหลีใต้ ทำให้หน้ากากอนามัยมีราคาชิ้นละ 1.27 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสามารถหาซื้อได้จากร้านขายยา ไปรษณีย์ และร้านสหกรณ์เกษตร ปริมาณการผลิตที่มีมากทำให้เมืองและจังหวัดต่างๆ ไม่ต้องแย่งกันซื้อ เปรียบเทียบกับในสหรัฐฯ มลรัฐต่างๆแย่งกันในเรื่องสุขภัณฑ์สาธารณสุขและการนำเข้าจากต่างประเทศ หน้ากาก N95 ขายผ่าน eBay ในราคาสูงถึง 30 ดอลลาร์

บทความของ Victor Cha กล่าวว่า การดำเนินมาตรการขั้นต่อไป เป็นเรื่องสำคัญในการต่อสู้กับโควิด-19 หากสหรัฐฯ ต้องการฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ในเร็ววัน ก็สามารถอาศัยวิธีการปฏิบัติที่เป็น best practice ของเกาหลีใต้ ซึ่งได้แก่ การตรวจเชื้ออย่างกว้างขวาง การติดตามทุกการสัมผัสเชื้อ และการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างต่อเนื่อง หากบางภาคส่วนของเศรษฐกิจจะฟื้นตัว และเปิดกิจการได้อย่างปลอดภัย จะต้องอาศัยมาตรการที่มีประสิทธิผล 3 อย่างดังกล่าว

เอกสารประกอบ

South Korea Offers a Lesson in Best Practice, Victor Cha, foreignaffairs.com
Coronavirus: South Korea ‘s success in controlling disease is due to its acceptance of surveillance, March 20, 2020, theconversation.com