ThaiPublica > เกาะกระแส > 8 กระทรวง อัปเดตมาตรการเยียวยาโควิดฯ – “บิ๊กป้อม” ชี้ สถานการณ์ไฟป่าภาคเหนือดีขึ้น

8 กระทรวง อัปเดตมาตรการเยียวยาโควิดฯ – “บิ๊กป้อม” ชี้ สถานการณ์ไฟป่าภาคเหนือดีขึ้น

16 เมษายน 2020


นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน, นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม, นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง, นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน (ซ้ายไปขวา)

8 กระทรวง อัปเดตมาตรการเยียวยาโควิดฯ คลังเตรียมทบทวน 12 ล้านคน ถูกตัดสิทธิ์รับเยียวยา -พลังงาน ตรึงค่าไฟยาวถึง มิ.ย.นี้-มหาดไทยแจกประกันโควิดฯ อสม. 1.4 ล้านคน

เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 หน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ทำการการชี้แจงเรื่องมาตรการเยียวยา ช่วยเหลือประชาชน ณ ศูนย์แถลงข่าว ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

คลังเตรียมทบทวนคุณสมบัติ ผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์รับเยียวยา 12 ล้านคน

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคลังอาจจะแบ่งเป็นระยะๆ ในระยะแรกได้ดำเนินการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายจาก 3% เหลือ 1.5% ขณะเดียวกัน ธุรกิจเอสเอ็มอีให้หักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยหรือค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นได้ 2-3 เท่า มีเรื่องการขอคืนภาษีได้เร่งกระบวนการของกรมสรรพากรให้เร็วขึ้น

ในระยะต่อมา กระทรวงเห็นว่าผู้ประกอบการและประชาชนเริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง ก็ได้ขยายเวลาชำระภาษีของกรมสรรพากรออกไป นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เริ่มขาดแคลน กระทรวงได้ยกเว้นอากรขาเข้าของสินค้าที่เกี่ยวข้อง และอำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้าเข้ามา

ต่อมาเป็นเรื่องมาตรการทางการเงิน เนื่องจากผู้ประกอบการและประชาชนยังต้องใช้เงิน กระทรวงมองว่าเอสเอ็มอีได้จ้างงานหรือรายได้ติดขัดไป กระทรวงได้จัดวงเงินสินเชื่อ 150,000 ล้านบาทให้กับธนาคารของรัฐต่างๆ เพื่อให้มีสภาพคล่องเพิ่มเติม หลังจากนั้นก็มีเรื่องการพักชำระหนี้และดอกเบี้ยต่างๆ สำหรับประชาชนและผู้ประกอบการต่างๆ ด้วย นอกจากนี้ กระทรวงยังมองถึงปัญหาของผู้มีอาชีพอิสระหรือแรงงานที่เริ่มถูกลดเวลาทำงาน จึงได้เตรียมเงินสินเชื่ออีก 70,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็ช่วยลดค่าเช่าต่างๆ ที่ต้องจ่ายให้รัฐลดไปด้วย จากนั้นในระยะต่อมา กระทรวงมองว่าโรงรับจำนำยังเป็นที่พึ่งของประชาชนหลายกลุ่ม จึงจัดวงเงินสินเชื่ออีก 2,000 ล้านบาท เพื่อให้สภาพคล่องลงไปถึงคนกลุ่มนี้ด้วย

ในระยะที่สาม มีมาตรการเยียวยาอีกสามด้าน อันแรกผู้ที่ประสบภาระเดือดร้อนจากการระบาดจะให้เงินช่วยเหลือ 5,000 บาท อีกสองด้าน กระทรวงได้ประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อาจจะมีปัญหาสภาพคล่องอีก ได้ออก พ.ร.ก. อีก 500,000 ล้านบาท และด้านสุดท้ายคือเรื่องตลาดตราสารหนี้ที่เริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง ธปท. ได้เข้ามาเสริมตรงนี้ให้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาลุกลามไป

ส่วนที่กำลังมีปัญหาในปัจจุบันคือมาตรการเยียวยารายละ 5,000 บาท กระทรวงได้เริ่มเปิดลงทะเบียน 28 มีนาคม 2563 มาจนถึงวันนี้ประมาณ 18 วัน มีคนลงทะเบียนมา 27 ล้านคนเศษ โดยใช้แหล่งเงินจากงบกลางของปี 2563 รวมไปถึงงบที่โอนมาจากส่วนราชการอื่นๆ ก่อน หากไม่พอจะหันไปใช้จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน โดยจะแยกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก สำหรับสาธารณสุขโดยเฉพาะ 45,000 ล้านบาท ส่วนที่สอง เป็นส่วนที่เยียวยาทั้ง 5,000 บาทและอื่นๆ ที่จะตามมา วงเงิน 550,000 ล้านบาท และส่วนที่สาม 400,000 ล้านบาทเป็นงบฟื้นฟูหลังจากการระบาดแล้ว

“ส่วนมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ขณะนี้ได้เริ่มจากเงินไปแล้ว 3 ล้านรายเศษ ส่วนประเด็นที่พบว่ามีกลุ่มคนที่สอบถามหรือมาหาที่กระทรวงเรื่องการลงทะเบียน ขอเรียนว่าการลงทะเบียนถ้าลงโดยที่ใช้เอกสารที่แจ้งให้ผมจะไม่สามารถตรวจและดูแลได้รวดเร็ว จึงต้องใช้ระบบออนไลน์และสามารถนำข้อมูลมาเปรียบเทียบได้เร็วที่สุด”

ส่วนที่เหลือยังต้องขอข้อมูลเพิ่มอีก 5-6 ล้านราย และมีอีกส่วนที่ปฏิเสธไป 12 ล้านราย ในส่วนนี้ได้ให้สิทธิที่จะทบทวนอีกครั้ง เนื่องจากครั้งแรกที่ปฏิเสธไปอาจจะมีข้อมูลไม่ชัดเจนพอ โดยวันที่ 20 เมษายน 2563 จะมีช่องขอทบทวนสิทธิได้ และสามารถกรอกข้อมูลเพิ่มเติมได้และทำให้ท่านได้สิทธิหากมีหลักฐานชัดเจน เช่น มีใบขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือมีใบอนุญาตนวดแผนไทย แบบนี้จะได้สิทธิ

แต่ถ้าหากประกอบอาชีพอย่างค้าขาย กระทรวงยังไม่แน่ใจว่าได้รับผลกระทบหรือไม่ ถ้าอยู่ต่างจังหวัดจะมีกำนันผู้ใหญ่บ้านช่วยลงไปดูให้และใช้ระบบออนไลน์ส่งข้อมูล ส่วนใน กทม. จะมีพนักงานของธนาคารออมสินหรือส่วนราชการอื่นที่ลงไปดูให้ หลังจากนั้นจะรีบจ่ายเงินให้ต่อไป

ส่วนประเด็นข้อติดขัดตอนนี้ ยกตัวอย่างเช่น มีคนขับแท็กซี่อยู่แล้วทำไมระบุว่าเป็นเกษตรกร หรือทำอาชีพอื่นแล้วเป็นเกษตรกร เพราะว่าในถังข้อมูลจากเลขประจำตัวประชาชนเอาไปเปรียบเทียบกับข้อมูลที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หากพบตรงกันก็จะระบุว่าเป็นเกษตรกร แต่หากท่านมายืนยันตัวอีกครั้งพร้อมหลักฐานว่าประกอบอาชีพอื่นก็จะได้รับการเยียวยาส่วนนี้ แต่ในอนาคตสิทธิที่จะเยียวยาเกษตรกรที่กำลังจะออกมาก็จะไม่ได้รับ

สำหรับนโยบายที่ให้ไปกับธนาคารของรัฐ เช่น การให้สินเชื่อของธนาคารออมสิน ถ้าเข้าไปธนาคารจะไม่ดูเลยว่ามีหนี้เดิมหรือไม่ จะอนุมัติให้ 10,000 บาทต่อรายก่อนโดยไม่ดูว่ามีหนี้เดิมหรือผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ และไม่ต้องไปที่ธนาคารแต่เป็นการกรอกเอกสารออนไลน์แทนทั้งหมด

“สุดท้ายกระทรวงคาดว่าวันอาทิตย์จะสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด และหลังจากนั้นจะสามารถแจ้งไปยังผู้ลงทะเบียนได้ทั้งหมด แต่อาจจะมีอยู่กลุ่มหนึ่ง 6 ล้านคนที่ต้องขอข้อมูลเพิ่มเติม แต่ส่งมา 1.9 ล้านคนเท่านั้น ยังขาดอีก 4 ล้านคน และยังมีอีก 6 ล้านคนที่หลุดออกจากระบบเลย เช่น อายุไม่เกิน 15 ปี แบบนี้จะตัดออกไป และสุดท้ายจะมีอีกกลุ่ม เช่น กรอกคำนำหน้าที่ทำให้การตรวจสอบเลขบัตรประชาชนกับชื่อในฐานข้อมูลไม่ตรงกัน ตรงนี้มีอีก 5-6 ล้านราย ตรงนี้สามารถเข้าไปแก้ไขได้เลย เพราะสิทธิท่านยังมีอยู่”

นอกจากนี้ วันนี้ที่ประชุม ครม. ยังได้เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ทั้ง 3 ฉบับตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบร่างกฎหมาย ได้แก่ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาและเยียวยาโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 5แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท. (ธนาคารแห่งประเทศไทย) สามารถเข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชนคุณภาพดีที่ครบกำหนดชำระ วงเงิน 4 แสนล้านบาทแล้ว ซึ่งขั้นตอนจากนี้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อนประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มกระบวนการกู้เงินได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยจะทยอยกู้เงินตามความจำเป็น ซึ่งเบื้องต้นได้แบ่งวเงินเป็น 2 ส่วน คือ วงเงินที่จะกู้สำหรับการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดและเพื่อใช้ในการสาธารณสุข 6 แสนล้านบาท โดยกำหนดเป็นวงเงินสำหรับเยียวยาประชาชน 5.55 แสนล้านบาท ที่เหลืออีก 4.5 หมื่นล้านบาทจะใช้เป็นงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับการสาธารณสุข รวมถึงการจัดสรรไว้เป็นงบประมาณสำหรับวัคซีนโควิด-19 หากมีการคิดค้นได้ประชาชนชาวไทยก็จะได้รับวัคซีนโดยทั่วถึงด้วย โดยได้ตั้งงบประมาณสำหรับวัคซีนหัวละ 500 บาท

“คมนาคม” อุ้มครบลูป ล้อ-ราง-อากาศ

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับกระทรวงคมนาคมที่ดูแลเรื่องการเดินทางของประชาชนทุกรูปแบบในช่วงที่เกิดสถานการณ์แบบนี้ รัฐบาลมีนโยบายที่ไม่ต้องการให้คนเดินทางหรือให้เดินทางน้อยที่สุด ดังนั้นการวางแผนของกระทรวงจึงมีมาตรการ 3 รูปแบบ รูปแบบแรก คือ ปรับเที่ยวการเดินทางให้เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา รูปแบบที่สอง คือ ลดเที่ยวเดินทางให้ลดลง และรูปแบบที่สาม คือ หยุดหรือระงับ มีหลายพื้นที่ที่หยุดการให้บริการ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายที่จะต้องการควบคุมการระบาด

ขณะนี้มาตรการเหล่านี้ใช้ไปมากแล้ว แต่อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทุกรูปแบบ กระทรวงก็มีมาตรการเยียวยา ส่วนหนึ่งที่ทำไปแล้วคือเยียวยาผู้ประกอบการสนามบิน 28 แห่ง ตอนนี้ปิดไปแล้ว 17 แห่ง รวมไปถึงสายการบิน กระทรวงชดเชย เช่น ค่าธรรมเนียมการขึ้นลงสนามบิน ค่าธรรมเนียมการจอดเครื่องบิน ค่าเช่าสำนักงาน 50% นอกจากนี้ ยังลดค่าจราจรทางอากาศที่ให้บริการอยู่ ปรับลดค่าหัวจาก 15 บาทเหลือ 10 บาทต่อหัว นอกจากนี้ ยังมีมาตรการทางการเงินที่ขยายเวลาชำระหนี้ที่สายการบินต้องถูกเรียกเก็บจากเจ้าหนี้ มีการจัดหาแหล่งเงินทุนให้กับสายการบินต่างๆ

สำหรับระบบรางแบ่งเป็นกลุ่มๆ กลุ่มแรกที่เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์และถูกคำสั่งปิดไป อันนี้ยกเว้นการชำระค่าตอบแทนการชำระพื้นที่ค่าส่วนกลางๆ 2 เดือน ยกเว้นค่าปรับกรณีที่ผู้เช่าผิดนัดชำระหนี้ด้วย อีกกลุ่มคือกลุ่มที่ให้บริการได้จะลดค่าเช่าลง 50% เป็นเวลา 4 เดือน และยกเว้นค่าปรับด้วยเช่นกัน

สำหรับผู้ประกอบการรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางกว่า 45,000 ราย มีมาตรการพักชำระหนี้หรือขยายเวลาชำระหนี้ให้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากธนาคารหรือผู้ให้บริการ มีการคืนเบี้ยประกันภัยหรือนำไปขยายการคุ้มครองได้ เนื่องจากการเดินทางลดลงหรือต้องหยุดให้บริการ

นอกจากนี้ ยังมีการปลดล็อกการเดินทางในช่วงเวลาเคอร์ฟิวสำหรับผู้ที่มีความจำเป็น เช่น การขนส่งอาหารหรือสินค้าจำเป็น อย่างไรก็ตาม ต้องเตรียมเอกสารรับรองที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเอกสารเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ศูนย์รวมข้อมูลการขนส่งด้วยรถบรรทุก TDSC หรือ https://bit.ly/3ei9lyw

พลังงาน ตรึงค่าไฟยาวถึง มิ.ย.นี้

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงงานได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการในช่วงเวลานี้ ได้แก่

  • ได้ตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 3.6 บาทต่อหน่วย ถึงเดือนมิถุนายน 2563
  • ผ่อนผันกิจการเอสเอ็มอีหรือโรงแรม จากเดิมที่จ่ายค่าไฟในอัตราคงที่ให้เป็นจ่ายตามที่ใช้จริง และมีการลดค่าไฟ 30% กับโรงแรมหรือหอพักที่ปรับให้มาเป็นโรงพยาบาลสนาม
  • คืนค่าประกันมิเตอร์ที่มีผู้ขอเข้ามาแล้ว 10 ล้านราย ให้ใช้ไฟฟ้าฟรีสำหรับผู้ใช้ที่ไม่ถึง 50 หน่วย
  • ปรับลดราคาน้ำมันลง 0.5 บาทในทุกประเภท สำหรับรถขนส่งหรือรถโดยสารจะตรึงราคาพลังงานไว้
  • ลดราคาก๊าซหุงต้ม
  • ผ่อนผันให้โรงงานที่ผลิตแอลกอฮอล์สามารถขายไปสำหรับผลิตแอลกอฮอล์ฆ่าเซื้อโรคได้ โดยภายในอาทิตย์หน้าเป็นต้นไปกระทรวงจะแจกให้กับโรงพยาบาล 9,800 แห่งได้

จัดเงิน “กองทุนว่างงาน” 1.64 แสนล้าน อุ้มผู้ประกันตน ม.33

นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานเสนอร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย อันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. .… ในกรณีมีเหตุสุดวิสัยถึงขนาดที่นายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมดเป็นการชั่วคราวและลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานไม่สามารถทำงานได้และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ไม่ว่านายจ้างจะหยุดประกอบกิจการเองหรือหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของทางราชการ ให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการแต่ไม่เกิน 90 วัน โดยจะรีบออกกฎกระทรวงให้มีผลบังคับใช้ภายในสัปดาห์นี้

ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมมีเงินในส่วนกองทุนว่างงานอยู่ 164,000 ล้านบาท ที่จะนำมาดูแลผู้ประกันตนตามมาตรา 33 คาดว่ามีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และได้รับเงินชดเชยประมาณ 1 ล้านคน โดยเงินชดเชยที่จะจ่ายให้เดือนละ 5,045-9,300 บาท คาดว่าในช่วง 3 เดือนนี้จะใช้เงินจากกองทุน ประกันสังคมจ่ายชดเชยให้ผู้ว่างงาน ประมาณ 20,000  ล้านบาท

ส่วนผู้ว่างงานที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจ สํานักงานประกันสังคมได้กันเงินจ่ายชดเชยไว้ให้ 90,000 ล้านบาท สำหรับ 1.1 ล้านคน ในช่วงเวลา 2 ปีจากนี้ แบ่งออกเป็น ผู้ลาออก เพิ่มสิทธิ์รับเงินชดเชยจาก 30% เป็น 45% ระยะเวลา 90 วัน ถูกเลิกจ้าง เพิ่มสิทธิ์จาก 50% เป็น 70% ระยะเวลา 200 วัน

พม. โยกเงิน “กองทุนคุ้มครองเด็ก” เยียวยาชุมชน

นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ในการช่วยเหลือของกระทรวงอาจจะแบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้

  • การเงินจากสถานธนานุเคราะห์หรือโรงรับจำนำ สำหรับคนที่ได้มาจำนำจะขยายอายุของตั๋วจำนำจาก 4 เดือนกับ 30 วัน เป็น 4 เดือนกับ 120 วัน ส่วนลูกหนี้ใหม่ กระทรวงได้รับเงินกู้จากกระทรวงคลังมา 2,000 ล้านบาทจะลดดอกเบี้ยเป็น 0.125% และสุดท้ายเป็นเรื่องของการเคหะแห่งชาติในส่วนของที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยจะพักชำระหนี้ 3 เดือน ส่วนผู้เช่าสถานที่ เช่น ร้านค้าจะยกเว้นค่าเช่าให้ ส่วนที่เช่าตามแผงหรือพลาซ่าก็เจรจาลดค่าเช่า 50%

ส่วนของกลุ่มเปราะบางจะมีกลุ่มคนพิการมีมาตรการที่เริ่มไว้ก่อนหน้านี้คือการเงินรายเดือนที่เพิ่มขึ้นจาก 800 บาทเป็น 1,000 บาท ส่วนกองทุนคนพิการก็อนุมัติให้จ่ายเงินพิเศษ 1,000 บาทเพื่อบรรเทาทุกข์ไปก่อน คาดว่าจะโอนเงินได้ในเดือนพฤษภาคม ส่วนกองทุนผู้สูงอายุที่กู้ยืมไปประกอบอาชีพก็พักหนี้ให้ นอกจากนี้ กระทรวงยังมีเงินที่ช่วยเหลือสงเคราะห์เฉพาะหน้าหรือเหตุฉุกเฉินและไม่สามารถหาที่พึ่งอื่นได้ ยังมีเงินอยู่ 200 ล้านบาท

  • ด้านสถานที่ที่อยู่อาศัย จะมีกลุ่มของผู้เดือดร้อนของกลุ่มคนเร่ร่อนไร้บ้าน หรือคนตกงานที่อาจจะเดือดร้อนจนไม่มีที่อยู่อาศัย ทางกระทรวงมีสถานที่ให้เข้ามาอยู่ชั่วคราวได้
  • การบริการอื่นๆ เนื่องจากในระยะนี้มีปัญหาสังคมที่หลากหลาย กระทรวงพยายามเข้ามาช่วยเหลือ เช่น การลงทะเบียนของคนพิการต่างๆ หรือเด็กที่เคยอยู่ในศูนย์เลี้ยงเด็ก พอถูกปิดไป ก็ไม่มีนมรับประทาน ตอนนี้จะนำเงินจากกองทุนคุ้มครองเด็กไปช่วยเหลือแทน หรือชุมชนจะมีการเข้าไปสำรวจแต่ละชุมชน

ปลัดเกษตรแจงเปิดแอปฯ แจกเงินเกษตรกร 15,000 ขอหารือคลังก่อน

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือของกระทรวงเกษตรฯ มีการลดหนี้ ธ.ก.ส. และกองทุนต่างๆ มีการพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย สร้างรายได้ให้กับประชาน ซึ่งกรมชลประทานได้ให้ประชาชนที่ตกงานเข้ามาช่วยงานดูแลเรื่องชลประทาน รวมถึงการหาตลาดสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกร

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ เปิดลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 15,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชันนั้น ทางกระทรวงเกษตรฯ จะต้องประสานกับกระทรวงการคลัง เพื่อจะขับเคลื่อน ซึ่งจะช่วยเหลือเกษตรกรเท่าไรนั้น ยังเป็นเรื่องที่หารือกับกระทรวงการคลังอยู่ แต่เรื่องการขึ้นทะเบียน สามารถทำได้ตลอดเวลา

“เรายังเปิดรับขึ้นทะเบียนอยู่ ตรงนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่กระทรวงการคลังจะนำไปเป็นเครื่องมือในการเยียวยา แต่ยังไม่ถึงขั้นว่าขึ้นทะเบียนวันนี้แล้วจะได้รับเงิน 15,000 บาท และขอเชิญชวนให้ประชาชนที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูกควรไปอัปเดตข้อมูลผ่านออนไลน์ หรือติดต่อเกษตรอำเภอได้ นอกจากนี้ ในระยะที่ 3 จะมีมาตรการออกมาดูแลชัดเจนขึ้น”

นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ซ้ายไปขวา)

มท. ทุ่ม 4.5 หมื่นล้าน ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ ช่วงโควิดฯ

นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีภารกิจหลากหลาย ทำงานลงไปตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

ภารกิจโดยรวมประกอบด้วยส่วนของภาคราชการ และภาครัฐ ในการดูแลเรื่องความเป็นอยู่ และการรักษาความสงบเรียบร้อย และการร่วมกันทำงานกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ลงพื้นที่เข้าไปดูแลผู้ที่กักกันตัวเอง ทั้งในพื้นที่หมู่บ้าน และส่วนรวม

นายสมคิดกล่าวต่อว่า สำหรับภารกิจสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชน คือ เรื่องไฟฟ้า และเรื่องน้ำประปา ทางกระทรวงมหาดไทยมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัด เช่น การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การประปานครหลวง (กปน.) และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) โดย กฟน. และ กฟภ. มีมาตรการในการช่วยเหลือ ส่วนแรก คือ การลดค่าไฟฟ้า ร้อยละ 3 เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เมษายน-มิถุนายน

ส่วนที่สอง คือ การขยายระยะเวลาในการชำระใบแจ้งหนี้การใช้ไฟฟ้าในส่วนของประเภทธุรกิจโรงแรม กิจการให้เช่าที่พักอาศัย ของเดือนเมษายน-พฤษภาคม ส่วนที่สาม คือ การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ทั้งในส่วนของที่พักอาศัยและกิจการขนาดเล็ก โดยงบประมาณที่จะคืนให้กับประชาชนอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้กรณีขอคืนเงินประกัน ประชาชนสามารถติดต่อได้ที่ระบบออนไลน์ และสามารถรับเงินคืนได้

สำหรับมาตรการของ กปน. และ กปภ. ช่วยเหลือในส่วนแรกคือ การลดค่าน้ำร้อยละ 3 เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เมษายน-มิถุนายน ส่วนที่สอง คือ การขยายระยะเวลาในการชำระใบแจ้งหนี้การใช้น้ำในส่วนของประเภทธุรกิจโรงแรม กิจการให้เช่าที่พักอาศัย โดยงบประมาณที่จะคืนให้กับประชาชนอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาท หากรวมกันทั้งสองส่วน จะใช้งบประมาณที่ 4.5 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นส่วนช่วยลดภาระการชำระค่าน้ำค่าไฟฟ้า และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ให้พี่น้องประชาชนดีขึ้น

เล็งเพิ่ม 200 เตียงในกทม. – แจกประกันโควิดฯ อสม. 1.4 ล้านคน

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงมาตรการด้านสาธารณสุขต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และความพร้อมในการดูแลผู้ติดเชื้อว่า ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ของไทยเริ่มน้อยลงเมื่อเทียบกับจำนวนที่กระทรวงสาธารณสุขประมาณการตัวเลขผู้ติดเชื้อไว้กว่า 300,000 คน แต่จนถึงวันนี้มีผู้ติดเชื้อสะสมประมาณ 2,643 คน และมีจำนวนผู้ป่วยที่กลับบ้านได้มากกว่าผู้ป่วยรายใหม่ ทำให้จำนวนคนไข้เริ่มชะลอตัวลง แต่ต้องเฝ้าระวังกรุงเทพฯ และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ซึ่งสาเหตุของการติดเชื้อพบว่าไปสัมผัสกับผู้ป่วยมาก่อนและผู้ที่กลับจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การรับมือของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น นับว่าดีกว่าหลายประเทศทั้งสิงคโปร์และญี่ปุ่น แต่เรายังคงมาตรการการลดจำนวนคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เพื่อให้ระบบสาธารณสุขสามารถที่จะรองรับและดูแลได้ครบถ้วน

สำหรับปัญหากรณีที่ผู้ที่จะต้องการตัว 14 วัน แต่ไม่มีค่าใช้จ่ายที่จะไปเช่าสถานที่ หรือไม่มีสถานที่สำหรับกักตัวทางภาครัฐ ได้แบ่งเป็น 1. กลุ่มที่มีภาวะเสี่ยง แนะนำให้ดูแลตัวเองก่อน แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงมากต้องเข้าพื้นที่กักกันของรัฐ และ 2. กลุ่มที่มีอาการ เช่น มีไข้สูง ต้องเข้ารับการตรวจและรักษาของภาครัฐและเอกชนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

ส่วนเรื่องการบริหารจัดการเตียงพบว่า จำนวนเตียงภายในกรุงเทพมหานครใช้เพียง 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ป่วยหนักพบว่าจากจำนวนสูงสุดเกือบร้อยเตียงตอนนี้เหลือเพียง 50 เตียง และที่สำคัญคือมีเตียงพร้อมที่จะดูแล 132 เตียง ซึ่งรัฐบาลยังมีการให้สร้างเตียงเพิ่มเติมอีก 200 เตียงในกรุงเทพ ส่วนเครื่องช่วยหายใจขณะนี้มีอยู่ประมาณ 2,000 เครื่อง ซึ่งมีผู้ป่วยอยู่เพียง 20 คน สามารถรองรับเพิ่มได้อีก ด้านการตรวจโดยแล็บทั้งหมดมีการตรวจกว่า 80,000 แล็บ โดยเฉพาะโรงเรียนแพทย์และกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ในส่วนของ อสม. จะมีค่าตอบแทนให้กับ อสม. ที่เข้ามาดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะและมีการทำประกันชีวิตให้กับ อสม. ครอบคลุมทั้งหมด 1,400,000 คน

”บิ๊กป้อม”เผยสถานการณ์ไฟป่า-หมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนือดีขึ้น

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานการตรวจติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน เมื่อวันที่ 9 เมษายนในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบว่า สถานการณ์ในภาพรวมดีขึ้น จุดความร้อนลดลง ฝุ่นละอองลดลง และสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้มากขึ้น

ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัด ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง กรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย เครือข่ายภาคประชาชน และจิตอาสา ซึ่งตนได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานระดมสรรพกําลัง เครื่องมือ และอากาศยาน เข้าดับไฟ พร้อมเฝ้าระวัง ไม่ให้เกิดการปะทุของไฟขึ้นซ้ำในพื้นที่เดิม ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และให้แถลงข่าวการจับกุมและดําเนินคดี เพื่อเป็นตัวอย่างให้ประชาชนรับรู้

สําหรับปัญหาหมอกควันข้ามแดน มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรฯ กองทัพภาคที่ 3 และจังหวัดชายแดน เจรจาสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้การแก้ไขปัญหา มีความยั่งยืน โดยได้สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรฯ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และฝ่ายทหารจัดให้มีชุดพิทักษ์ป่า และชุดดับไฟป่า ประจำหมู่บ้าน ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และต้องมีการอบรมให้ความรู้ที่จำเป็นกับการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ เมื่อสิ้นสุดสถานการณ์แล้ว ขอให้กระทรวงทรัพยากรฯ ร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 จัดการประชุมถอดบทเรียน เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเด็ดขาด และยั่งยืนต่อไป