ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ (archive) > แบงก์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ บรรเทาภาระการเงินลูกค้า ฝ่าวิกฤติโควิด-19

แบงก์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ บรรเทาภาระการเงินลูกค้า ฝ่าวิกฤติโควิด-19

23 มีนาคม 2020


ธนาคารพาณิชย์ทะยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระลูกค้า และลดต้นทุนทางการเงินรับมือโควิด 19 โดยให้มีผลในวันที่ 24 มีนาคม 2563

ธนาคารกรุงเทพลด MLR-MOR-MRR 0.125-0.25%

ธนาคารกรุงเทพ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั้ง 3 ประเภท เอ็มแอลอาร์ 0.125% เอ็มโออาร์ 0.25% และเอ็มอาร์อาร์ 0.125% เพื่อช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการลดต้นทุนทางการเงินรับมือโรคโควิด 19 และหวังช่วยกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาพรวม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563

นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเอ็มแอลอาร์ (MLR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate) ลง 0.125% อัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเอ็มโออาร์ (MOR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) ลง 0.25% และอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเอ็มอาร์อาร์ (MRR) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) ลง 0.125% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563

สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ เป็นการตอบสนองทิศทางดอกเบี้ยนโยบายและให้ความช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการในเรื่องการลดต้นทุนด้านอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของต้นทุนการดำเนินธุรกิจเพื่อเสริมศักยภาพในการรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

“ธนาคารมีความมุ่งมั่นที่จะประคับประคองให้ลูกค้าผู้ประกอบการสามารถผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปได้ อีกทั้งยังเป็นการช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาพรวมในช่วงที่มีความเปราะบางทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ” นายสุวรรณ กล่าว

กรุงไทยลด MOR- MRR มีผล 25 มี.ค.

ธนาคารกรุงไทย ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR ลง 0.25%ต่อปี และดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ลง 0.125% ต่อปี เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงินของลูกค้าและผู้ประกอบการทุกประเภท รวมทั้ง เอสเอ็มอีและรายย่อย เริ่ม 25 มีนาคม 2563

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ธนาคารตระหนักถึงการมีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจ และตอบสนองทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในช่วงที่เศรษฐกิจมีความเปราะบางจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย รวมทั้งแบ่งเบาภาระลูกค้าและผู้ประกอบการทุกประเภท ทั้งลูกค้าเอสเอ็มอีและลูกค้ารายย่อย ธนาคารจึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR ลง 0.25%เหลืออัตรา 6.62% ต่อปี และดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ลง 0.125% เหลืออัตรา 6.745% ต่อปี ซึ่งธนาคารหวังว่า การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม

สำหรับดอกเบี้ยเงินฝาก ธนาคารปรับลดเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ซึ่งเป็นไปตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยตลาด ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป

กสิกรไทยลด MOR 0.25% MRR 0.12%

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ธนาคารกสิกรไทยพร้อมตอบสนองนโยบาย เดินหน้าลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR ลง 0.25% เหลือ 6.62% และลด MRR ลง 0.12% เหลือ 6.50% เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ลูกค้าของธนาคารโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้า SME และ บุคคลธรรมดา

ทั้งนี้ ธนาคารไม่ได้มีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด หากแต่ลดเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นิติบุคคลลง 0.05% และ เงินฝากประจำลง 0.10%-0.25% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป

ไทยพาณิชย์ลด MOR-MRR 0.25%-0.125%

ไทยพาณิชย์ออกมาตรการต่อเนื่องเพื่อเสริมสภาพคล่องและบรรเทาปัญหา ช่วยภาคลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อยฝ่าสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ด้วยการประกาศปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ MOR ลง 0.25% และ MRR ลง 0.125% เพิ่มเติมจากมาตรการพักชำระหนี้เงินต้น และโครงการปล่อยกู้สินเชื่อจากภาครัฐดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟต์โลน มีผล 24 มีนาคม นี้

ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR ลง 0.25% จาก 6.745% เป็น 6.495% และอัตราดอกเบี้ย MRR ลง 0.125% จาก 6.87% เป็น 6.745% เพื่อประคองสภาพคล่องของลูกค้าผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และลูกค้ารายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นับเป็นมาตรการเพิ่มเติมจากมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจและลูกค้ารายย่อยทั่วประเทศที่ได้ประกาศไปก่อนหน้า และโครงการปล่อยกู้สินเชื่อจากภาครัฐดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟต์โลน ดอกเบี้ยต่ำ 2%

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์มีความห่วงใยลูกค้าทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ อันเนื่องจากสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ที่ยังยืดเยื้อ และแม้ว่ามาตรการเพื่อช่วยลูกค้าผู้ประกอบการธุรกิจและลูกค้ารายย่อยที่ได้ประกาศไปก่อนหน้านั้นจะได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าทั่วประเทศ ธนาคารยังเล็งเห็นความจำเป็นในการออกมาตรการต่อเนื่องในการบรรเทาปัญหาด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มเติม ด้วยเจตนารมณ์แน่วแน่ที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

สำหรับในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ธนาคารไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดา แต่มีการปรับลดเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นิติบุคคลลง 0.05% และเงินฝากประจำลง 0.10-0.25% ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากใหม่ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป

กรุงศรีลด MLR-MOR 0.12%-0.25%

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในสถาน การณ์ปัจจุบันที่การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้กระจายไปในวงกว้างและส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน เพื่อบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ธนาคารจึงพร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าและตอบสนองทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของภาครัฐ โดยลดดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทแบบมีระยะเวลา (MLR) ลง 0.12% เหลือ 6.23% ต่อปี และเงินกู้ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ลง 0.25% เหลือ 6.70% ต่อปี

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอัตราใหม่ดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป

ทีเอ็มบีลด MOR-MRR มีผล 1 เมษายน

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสติดเชื้อโควิด -19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเกิดการชะลอตัว ดังนั้น เพื่อแบ่งเบาภาระต้นทุนทางการเงินของลูกค้า ทั้งกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีและลูกค้ารายย่อย และตอบสนองนโยบายของภาครัฐในการกระตุ้นสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ ธนาคารทีเอ็มบี และธนาคารธนชาต จึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR (Minimum Overdraft Rate) ลง 0.25% เหลือ 6.675% และลด MRR (Minimum Retail Rate) ลง 0.12% เหลือ 7.03% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป ซึ่งธนาคารทีเอ็มบี และธนาคารธนชาต เชื่อมั่นว่าการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ จะเป็นส่วนช่วยให้คนไทย และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ และยังคงร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป

แก้ไขเพิ่มเติม วันที่ 24 มีนาคม 2563