ThaiPublica > คอลัมน์ > หนึ่งงาน พันเหตุผล ยกระดับประเทศไทย

หนึ่งงาน พันเหตุผล ยกระดับประเทศไทย

27 มีนาคม 2020


สโรบล ศุภผลศิริ ผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรผู้บริหารนิติธรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รุ่นที่ 1 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย

เมื่อครั้งที่ผู้เขียนศึกษาอยู่ในต่างประเทศหรือในเวลาที่ผู้เขียนเดินทางไปประเทศอื่นๆ มักจะมีข้อสงสัยอยู่เสมอว่า เพราะเหตุใด บางประเทศจึงมีเมืองอยู่หลายเมืองที่ถือได้ว่าเป็นเมืองใหญ่และสำคัญ ซึ่งประชากรจากเมืองนั้นๆ ที่ได้ไปศึกษาเล่าเรียนหรือพำนักในเมืองอื่นเพื่อทำงานในช่วงเวลาสั้นๆ ก็มักสะดวกใจที่จะกลับไปยังเมืองถิ่นกำเนิดดังกล่าวเพื่อตั้งถิ่นฐานหลังจากที่เสร็จสิ้นการศึกษาหรือการทำงาน ไม่เหมือนกับประเทศไทยที่ประชากรจากต่างจังหวัดในยุคที่ผ่านมา มักจะมากระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวง โดยหวังที่จะกลับไปเมืองที่เกิดก็เพียงในบั้นปลายชีวิต “เมื่อพร้อม”

อาจจะด้วยเหตุว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่น่าอยู่ มีสีสันและสาธารณูปโภคที่ค่อนข้างครบคัน หรืออาจจะเป็นเหตุผลที่การทำงานในเมืองกรุงนำมาซึ่งเงินและความก้าวหน้าหาเงินเลี้ยงชีพได้หลายชีวิต และได้ทำงานตามสาขาวิชาที่เรียนมา หรือด้วยเหตุใดก็ตาม จากการที่ผู้เขียนได้พูดคุยถามไถ่ผู้คนที่เดิมทีอยู่ต่างจังหวัดและมาทำงานบริการ (service sector) ในกรุงเทพฯ คำตอบมักจะเป็นว่า อยู่กรุงเทพฯ เหนื่อย เป็นหนี้ ค่าครองชีพสูง งานแย่งกันทำ การเดินทางแออัด พื้นที่แย่งกันอยู่…แต่หากกลับต่างจังหวัดแล้ว จะมีเพียงไม่กี่งานที่จะทำงานและได้เงินเท่า และเมื่อถามต่อว่า ถ้าเลือกได้ ตามจริงอยากอยู่ที่ใด ก็มักจะได้คำตอบว่า ถ้าแม้ได้เงินเท่ากัน หรือน้อยกว่านิดๆ ก็อยากจะกลับบ้าน เพราะทุกวันนี้ไม่ได้อยู่กับครอบครัว เงินโอนกลับต่างจังหวัดส่งลูกเรียน หรือใช้หนี้แทนพ่อแม่ มีเงินเมื่อไหร่ก็จะกลับ แต่ก็ไม่ทราบว่าจะมีหนทางใด จะเลือกได้หรือ? เพราะแค่ค่าเช่าห้อง ค่าอาหาร และค่าหนี้อะไรต่อมิอะไร ก็แทบจะหมดไปแล้ว ไม่มีทางได้กลับไปอยู่พร้อมหน้าสักที รู้สึกเหมือนเป็นหนูติดกับอยู่ในเมืองหลวง หมดไปแม้กระทั่ง “กำลังใจ”

ที่กล่าวมานี้เป็นกลุ่มหนึ่งของสังคม แต่ก็สะท้อนอะไรบางอย่าง ประกอบกับในปัจจุบัน มีอีกหลายกลุ่มที่รอคอยหนึ่งงานที่ใช่สำหรับเขาด้วยหลากหลายเหตุผล เช่น กลุ่มคนชราวัยเกษียณที่เสี่ยงกลายเป็นโรคซึมเศร้ารอคอยงานที่จะให้ความรู้สึกที่มีคุณค่าและสุขภาพจิตที่ดีที่มากับงาน กลุ่มสตรีที่ต้องใช้เวลาดูแลครอบครัวรอคอยงานที่ได้เงินแต่ก็ให้เวลาเลี้ยงลูกกับเธอ หรือเด็กนักเรียนนักศึกษาที่ต้องดูแลพ่อแม่ในสังคมผู้สูงอายุ (aging society) ก็รอคอยงานที่สามารถให้เวลาเรียนไปด้วยและปลอดภัยที่จะทำ โดยผู้เขียนสังเกตว่า นอกจากงานประจำแล้ว กลุ่มเฉพาะเหล่านี้ยังต้องการช่องทางการหางานเสริมหรืองานพาร์ทไทม์ (part-time jobs) ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ชีวิตในแต่ละช่วงชีวิตอีกด้วย ติดก็แต่ยังไม่มีระบบรวมศูนย์กลางที่เป็นเสมือนตลาดแพลตฟอร์มการหางานที่ได้รับการรับรองข้อมูลและความปลอดภัยโดยภาครัฐ

ในมุมมองของผู้เขียนเอง ประเทศไทยมีอีก 76 จังหวัด โดยแต่ละจังหวัดมีพื้นที่ และมีศักยภาพมากมายที่จะให้ผู้คนอยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่แค่เรื่องรายได้หรือการเงิน หากแต่หมายถึงอากาศบริสุทธิ์ การได้สานต่อเอกลักษณ์ท้องถิ่นของบ้านเกิด หรือแม้กระทั่งการได้อยู่ดูแลพ่อแม่ด้วยตัวเองและไม่ใช่แค่โอนเงิน

หากเพียงแต่มี 1. ระบบการสร้างงานและจัดหางานที่ตอบสนองกับความต้องการเฉพาะตัวในแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน 2. การพัฒนาความเชื่อมั่นในระบบการจัดหางาน และความคิดความสามารถของทรัพยากรบุคคล และ 3. การพัฒนาอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้เป็นที่ชัดเจน เพื่อที่การเรียน การสอน และการฝึกงานจะสร้างคนที่สามารถเข้ากับลักษณะงานและความเป็นอยู่ของท้องถิ่น

ผู้เขียนเชื่อว่า การจัดให้มีระบบแพลตฟอร์มการสร้างและจัดหางานที่ตอบสนองกับความต้องการเฉพาะตัวในแต่ละกลุ่มดังที่กล่าวไปในข้างต้นนี้ สามารถเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐและเอกชน โดยภาครัฐมีข้อมูลของประชากรในประเทศที่เป็นทรัพยากรบุคคลและข้อมูลอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการแรงงานที่ค่อนข้างครบถ้วน ส่วนบริษัทเอกชนก็มีความเชี่ยวชาญในแง่เครื่องมือและเทคโนโลยีการจัดหางาน

ผู้เขียนเคยเห็นโมเดลลักษณะดังกล่าวนี้ในต่างประเทศ ซึ่งรัฐเข้ามาสนับสนุนบริษัทเอกชนที่ทำแพลตฟอร์มการจัดหางานเพื่อสังคม โดยในบางประเทศ รัฐให้เงินสนับสนุนพร้อมกับพื้นที่แสดงสินค้าและบริการที่ผลิตโดยแต่ละกลุ่มเฉพาะนี้ เพื่อเป็นการส่งต่อความเชื่อมั่นและกำลังใจไปในสังคม เพื่อให้คนเห็นว่า แต่ละคน ไม่ว่าใคร มีข้อจำกัดอย่างไร ก็มีงานที่ทำได้เสมอ

หากมีแพลตฟอร์มหรือระบบดังกล่าวแล้ว จะทำให้ด้านผู้จ้างงานได้รับข้อมูลที่ต่อเนื่องเกี่ยวกับทักษะประวัติการทำงานพาร์ทไทม์หลากหลายของผู้คน ทำให้เกิดความมั่นใจที่จะจ้างงานต่อไป และจะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อคนที่ยังไม่มีงานประจำเพราะยังขาดทักษะของลูกจ้างถาวรหรือมืออาชีพ ส่วนด้านประชาชนที่ใช้แพลตฟอร์มหางานนี้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก สตรี หรือคนชรา ก็จะเกิดความมั่นใจอีกด้วยว่าได้ทำงาน ไม่ว่าจะระยะสั้นหรือระยะยาว ที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับสถานการณ์ของตนอย่างที่ผู้จ้างงานมีความเข้าอกเข้าใจ

ประการที่สอง การพัฒนาความเชื่อมั่นในระบบการจัดหางานที่ภาครัฐอาจจะช่วยผลักดันได้ ประกอบกับการพัฒนาความคิดและความสามารถของทรัพยากรบุคคล จะมีส่วนช่วยทำให้การจัดหางานตรงตามความต้องการของกลุ่มคนมากขึ้น โดยทั้งนี้ การผลักดันและการสนับสนุนจากภาครัฐไม่พอ ต้องอาศัยทุนทางสังคม (social capital) ที่มาจากการช่วยเหลือและร่วมมือของกลุ่มคนในสังคมเองนั้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในบางประเทศ กลุ่มสตรีที่ไม่ได้ทำงานประจำรวมตัวกันสร้างวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprises) และไม่ได้หยุดที่การสร้างธุรกิจ แต่มุ่งเผยแพร่ความรู้สู่สังคมเพื่อดึงสตรีกลุ่มอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน ถือเป็นการสร้างคนและสร้างสังคมการดูแลกันในระดับชุมชน

ประการที่สาม การพัฒนาอัตลักษณ์ท้องถิ่นของเมืองต่างๆ ให้เป็นที่ชัดเจนก็เป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งหากไม่มีแล้ว ก็ยากที่จะรองรับการสร้างงานและความเป็นอยู่ที่จะดึงดูดให้ผู้คนสะดวกใจกลับมาอยู่หรือเข้ามาอยู่ โดยการฝึกงานและฝึกสอนตรงตามอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ก็จะสร้างมูลค่าเพิ่มโดยความต่างในทักษะอย่างเฉพาะตัวให้กับและสร้างจุดขายเพื่อความเป็นอยู่หรือแม้กระทั่งการท่องเที่ยวของท้องถิ่นนั้นด้วย ในหลายๆ ประเทศ เริ่มเห็นความตื่นตัวของหลายเมืองเล็กและใหญ่ในการสร้างอัตลักษณ์หรือคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างชัดเจน โดยหากมองในแง่การตลาดแล้ว เพื่อประโยชน์แห่งการพัฒนาคุณค่าในรูปแบบที่แตกต่าง (differentiate) เพิ่มมูลค่าให้กับชุมชน (added value) หรือถือเป็นการสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะตอบรับกับความต้องการหรือตลาดอย่างเฉพาะเจาะจงต่อไป (niche market) เพราะหากอุปทาน (supply) และอุปสงค์ (demand) ของงานไม่ต่างรูปแบบไปบ้าง ก็รังแต่จะเกิดปัญหาการว่างงาน และการกระจุกตัวในเมืองหลวงต่อไป ทั้งนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า สร้างให้น่าอยู่ สร้างให้มีอัตลักษณ์ สร้างให้ภาคภูมิใจ จะอย่างไร ก็จะมีคนเต็มใจเดินทางไปอยู่

ดังที่กล่าวมานี้โดยสังเขปจะเห็นได้ว่า การสร้างงานหนึ่งงานสามารถสร้างผลกระทบในแง่บวกและช่วยบรรเทาได้หลายปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปากท้องของประชาชน สุขภาพจิต การเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุ คนว่างงานเพราะงานในกรุงเทพฯ มีไม่พอหรือลักษณะไม่ตรงกับผู้ว่างงาน ซึ่งมีข้อจำกัดต่างๆ กันไป หรือแม้กระทั่งปัญหาความแออัดในกรุงเทพฯ และความสามารถในการย้ายถิ่นไปทำงานเมืองอื่นซึ่งจะช่วยกระจายรายได้และความเจริญไปสู่ท้องถิ่น กระบวนการนี้ น่าจะเป็นหนึ่งในวิธีการยกระดับประเทศไทย โดยใช้การพัฒนาระบบการสร้างและจัดหาสิ่งที่มีค่าซึ่งผู้คนเรียกว่า “งาน” โดยต้องทำควบคู่กับการพัฒนาทัศนคติของทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสาธารณูปโภคในชุมชนท้องถิ่นในรูปแบบที่ครบองค์ไปพร้อมๆ กัน

แต่ทั้งนี้ผู้เขียนเองซึ่งเป็นชาวกรุงเทพฯ โดยมีพื้นฐานทางด้านกฎหมายเศรษฐศาสตร์ ก็มองได้จากเพียงไม่กี่มุมจากความสนใจส่วนตัว โดยแท้จริงแล้วมุมมองของการพัฒนาที่จะทำให้ประเทศไทยสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ตรงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ยังมีอีกหลายมุม และก็มีหลายโครงการที่พบเห็นว่าทำอยู่แล้วบ้าง เพื่อรองรับศักยภาพของบางกลุ่ม เช่น นักศึกษาจบใหม่ แต่ผู้เขียนก็ขอมองโลกอย่างสวยงามเพิ่มขึ้นและฝันไว้ก่อนว่าประเทศไทยจะทำแพลตฟอร์มที่มีหลายมิติตามที่กล่าวมาได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งหากมี ผู้เขียนก็ขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้าง

ถ้าทำได้และเกิดขึ้นจริง เราจะไม่เพียงแต่แก้หลายปัญหาที่ค้างคา แต่จะสามารถสร้างการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ในอีกหลายมิติและหลากพื้นที่ เท่ากับว่า “ยิงงานนัดเดียว ได้นกหลายตัว” ซึ่งการยกระดับประเทศในแง่ใดๆ ก็ไม่เท่าการเริ่มยกระดับ “กำลังใจผู้คน”

ทั้งนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นภาครัฐจับมือกับเอกชน “ยกระดับประเทศไทยให้ไปไกลอย่างจริงจัง”