ThaiPublica > คอลัมน์ > ไปให้ไกลกว่ากางเกงในล็อกจิ๋ม : ชวนสำรวจงานออกแบบเพื่อแก้ปัญหาละเมิดทางเพศในผู้หญิง (ตอนที่ 1)

ไปให้ไกลกว่ากางเกงในล็อกจิ๋ม : ชวนสำรวจงานออกแบบเพื่อแก้ปัญหาละเมิดทางเพศในผู้หญิง (ตอนที่ 1)

22 กุมภาพันธ์ 2020


นานา วิภาพรรณ วงษ์สว่าง

เคยสงสัยไหมว่าถ้าทุกวันนี้เรามีงานออกแบบรักโลกรักเพื่อนมนุษย์ แล้วงานออกแบบที่แก้ปัญหาละเมิดทางเพศจะมีหน้าตาเป็นแบบไหน? ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในนักออกแบบที่สนใจประเด็นดังกล่าว เราเลยจะชวนผู้อ่านมาดูกันว่าที่ผ่านมาและในอนาคต แวดวงออกแบบมีบทบาทในการแก้ปัญหาคุกคามละเมิดทางเพศ (sexual assault) และความเป็นธรรมทางเพศ (gender justice) อย่างไร

และเนื่องจากนิยามของคำว่า “ออกแบบ” (design) กว้างเป็นมหาสมุทร ในที่นี้ผู้เขียนเลยกรอบขอบเขตเอาไว้ว่า “ต้องเป็นงานออกแบบที่ก่อให้เกิดการใช้งานเท่านั้น” ส่วนงานออกแบบเชิงสื่อสาร รณรงค์ ขออนุญาตไม่นับเข้ามาอยู่ในการสำรวจ

และนี่คือภาพรวมคร่าวๆ ว่าโลกเราพยายามทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาละเมิดทางเพศในเหยื่อที่เป็นผู้หญิง

ความพยายามส่วนมาก เป็นไปเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อความปลอดภัยส่วนบุคคล

งานออกแบบในหมวดนี้มีหลักคิดว่า “เราต้องทำให้ฝ่ายผู้ร้ายลงมือได้ยากขึ้น” เราจึงจะได้เห็นสารพัดชุดชั้นในที่มาพร้อมอุปสรรคในการฉีก ถอด กระชาก ไม่ว่าจะด้วยเทคโนโลยีของเนื้อผ้าหรือเทคโนโลยีของตัวล็อกทั้งแบบแอนะล็อกและแบบดิจิทัล

ซึ่งงานออกแบบประเภทนี้ มีฐานคิดทางเทคนิคคล้ายๆ กับกลไกป้องกันตู้เซฟ หรือป้องกันการโจรกรรมรถยนต์

นอกจากกางเกงล็อกจิ๋มแล้ว เรายังพบอุปกรณ์ป้องกันตัวมากมายไปหมดใน Amazon และ eBay อย่างเช่น เครื่องช็อตไฟฟ้าและสเปรย์พริกไทยหลากดีไซน์ (ที่ในบางพื้นที่ก็ไม่ได้ถูกกฎหมาย) หรืออะไรแหลมๆ ไม่ว่าจะเป็นสเปรย์พริกไทยหลากดีไซน์ แหวนแหลมๆ หรือพวงกุญแจแหลมๆ โดยมีฐานคิดว่า “หากผู้ร้ายเข้ามา ฉันสามารถใช้สิ่งนี้เป็นอาวุธ”

แต่ถ้าสมมุติการต่อสู้แบบตัวต่อตัวเป็นไปไม่ได้ ในท้องตลาดยังมีอุปกรณ์อย่าง “นกหวีดไฟฟ้า” ที่กดแล้วจะส่งเสียงดังเพื่อเรียกร้องความสนใจให้คนมาช่วย ไปจนถึง พวงกุญแจ กำไล สร้อยคอ เข็มกลัด ที่หนีบ ที่เชื่อมสถานที่ปัจจุบันกับแอปในโทรศัพท์ หากกดปุ่มฉุกเฉินแล้วจะเริ่มอัดเสียง ส่งข้อความ หรือโทรไปหาคนที่กำหนดเอาไว้

นอกจากการข่มขืนโดยคนแปลกหน้าแล้ว ความกังวลเรื่อง “ยาเสียสาว” ก็เป็นความกังวลหลักที่ผู้หญิงในสหรัฐฯ มักจะเผชิญ ผลิตภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งอย่างแผ่นตรวจยาเสียสาวจึงออกวางขาย ใช้งานง่ายๆ แค่หยดเครื่องดื่มต้องสงสัยลงในแผ่นกระดาษแล้วรอดูผล

ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมา ผู้เขียนจัดเอาไว้ในหมวดความปลอดภัยส่วนบุคคล (personal safety) กล่าวคือ ใครรู้สึกไม่สบายใจก็เสียเงินซื้อมาใช้ โดยกางเกงล็อกจิ๋มนั้นสนนราคาอยู่ที่ตัวละประมาณ 3,300 บาท แผ่นตรวจเครื่องดื่มแบบใช้แล้วทิ้งสนนราคาแผ่นละ 80 กว่าบาท กำไลแจ้งเตือนเริ่มต้นประมาณ 990 บาท ซึ่งผู้ขายอาจจะบอกเราว่า “ไม่แพงเลยถ้าเทียบกับความปลอดภัยของคุณ หรือจะรอโปรโมชันลดราคาแล้วค่อยตัดสินใจก็ได้”

แม้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะประชาสัมพันธ์ตัวเองในฐานะ “นวัตกรรมเพื่อผู้หญิง” หรือประสบความสำเร็จในการระดมทุน (กางเกงขาสั้นตัดไม่ขาด ระดมทุนได้มากกว่า 1 ล้านบาทในช่วงเปิดตัว) แต่ก็ถูกตั้งคำถามจากสาธารณะว่า ท้ายที่สุดแล้ว นักออกแบบ นวัตกร โรงงาน และทุกคนที่เกี่ยวข้อง กำลังลงทุนลงแรงสร้างนวัตกรรมแห่งการโทษเหยื่อและโทษตัวเองอยู่หรือเปล่า

  • Layra Bates เขียนข้อคิดเห็นลงใน The Guardian ตั้งคำถามถึง “ราคาของความปลอดภัย” ว่าสุดท้ายแล้วเป็นภาระหน้าที่ของผู้หญิงเหรอที่ต้องจ่ายเงินซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาพกพา1
  • Leonie Roderick เขียนข้อคิดเห็นลงใน Refinery29 ตั้งคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากการพกพาผลิตภัณฑ์ป้องกันตัวกลายเป็นค่านิยมใหม่ เราจะยิ่งถามเหยื่อข่มขืนว่า “ทำไมเธอถึงไม่ระวังตัว” มากกว่าเดิมหรือเปล่า2
  • Bridget Harris เขียนข้อคิดเห็นลงใน Theconversation ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจจะมีส่วนทำให้อาชญากรลงมือยากขึ้น แต่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาที่เหยื่อข่มขืนมักเจออย่างการโทษเหยื่อ และการโฟกัสแต่อันตรายจากคนแปลกหน้าก็ทำให้สังคมหลงลืมไปว่าอัตราการคุกคามทางเพศส่วนมากมาจากคนใกล้ตัว3(สถิติการคุกคามและละเมิดทางเพศ 9 ใน 10 มาจาก “คนรู้จัก”)4
  • Shoutoutjmu.com แสดงความคิดเห็นในลักษณะเดียวกัน ว่า “ทำนี่สิ ใส่นี่ซะ อย่าไปตรงนั้นล่ะ ป้องกันตัวเองนะ” เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ผลักภาระให้เหยื่อ และเธอเบื่อที่จะฟังคำแนะนำแบบนี้แล้ว คงจะดีกว่าหากมีนวัตกรรมสอนคนไม่ให้ข่มขืนขึ้นมาซะที5
  • Megan Roantree เขียนข้อคิดเห็นลงใน HER ว่า การละเมิดทางเพศในชีวิตจริงไม่ใช่เรื่องเรียบง่ายแบบที่นักออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจินตนาการถึงผู้หญิงเดินที่เปลี่ยว แล้วคนแปลกหน้าเข้ามาจู่โจม6
  • นอกจากนี้ ผู้เขียนยังพบว่า ลูกค้ากางเกงล็อกจิ๋มส่วนหนึ่งคือพ่อแม่ที่จะซื้อไปให้ลูกสาวใส่ ซึ่งก็เท่ากับว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ส่งเสริมอำนาจในการตัดสินใจให้กับตัวผู้หญิงเอง

ผู้เขียนค่อนข้างเห็นด้วยกับแนวคิดเรื่อง

    1) ความปลอดภัยส่วนบุคคลไม่สามารถแก้ปัญหาทางโครงสร้างได้
    2) การโฟกัสแต่ความปลอดภัยส่วนบุคคลอาจผลิตซ้ำวัฒนธรรมโทษเหยื่อ
    3) นักออกแบบและนวัตกรโฟกัสภาพจำเรื่องคนแปลกหน้าที่อันตรายมากกว่าจะโฟกัสกับเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ แต่ในฐานะนักออกแบบ ผู้เขียนก็อยากจะเข้าใจว่าทำไมก็ยังมีงานออกแบบในทิศทางนี้ออกมาเรื่อยๆ โดยที่บางครั้งก็ออกมาจากองค์กรที่ทำเรื่องช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงด้วย

ดังนั้นช่วงต้นปี 2020 ที่ผ่านมา ผู้เขียนจึงไปสัมภาษณ์ Resonantes ซึ่งนอกจากจะเป็นองค์กรรับฟังช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงก็ยังเป็นสตาร์ทอัปทำแอปเตือนภัยที่เชื่อมกับสายรัดข้อมืออีกด้วย เราคุยกันสั้นๆ ว่าหลังจากเปิดตัวโครงการ App-Elles® (เป็นคำพ้องเสียงที่แปลว่า แอป-ผู้หญิง และ appelles ที่แปลว่าแจ้งเตือน) ผลลัพธ์เป็นยังไง ช่วยเหลือคนได้จริงๆ มั้ย

ที่มาภาพ : https://www. App-Elles®.fr/

เราพบว่าผู้ใช้งานจริงของ App-Elles® ใช้เพื่อส่งโลเคชันให้ เพื่อน/ที่บ้าน/คนรู้จัก รับทราบว่า “ถึงไหนแล้ว” “ยังปลอดภัยดี” ในตอนจ๊อกกิ้งหรือวันที่กลับบ้านดึก (เทียบเท่ากับการแชร์ live location แต่แอปมีนโยบายความเป็นส่วนตัวมากกว่าและไม่เก็บประวัติผู้ใช้งาน) ส่วนฟังก์ชันอย่างเช่น การเรียกตำรวจ อัดเสียงสนทนาเพื่อเป็นหลักฐาน มีจำนวนคนใช้จริงไม่มากนัก

แต่เรื่องที่น่าสนใจคือ ระหว่างพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีผู้ใช้ร้องขอมายังหน่วยงานว่า “อยากจะเพิ่มฟังก์ชันซ่อนแอป หรือมีวิธีใช้งานที่เนียนๆ หน่อย” เพราะผู้ใช้จำนวนหนึ่งไม่ได้ประสบปัญหาจากคนแปลกหน้า แต่ประสบปัญหาจากความรุนแรงของคนในบ้านตัวเอง ฟังก์ชัน “เปิดโหมดไม่ปลอดภัย และอัดเสียงเป็นหลักฐาน” จากการถอดหูฟังหรือกดปุ่มปิดเครื่องค้างแล้วปล่อย จึงเกิดขึ้นมาภายหลัง

เมื่อถามถึงแผนในอนาคต App-Elles® กำลังจะทำงานกับการรถไฟ RATP เพื่อให้คนที่รู้สึกไม่ปลอดภัยประสานกับยามสถานีได้ทันทีเวลามีเหตุร้ายเกิดขึ้น

ส่วนข้อสังเกตที่ผู้ให้สัมภาษณ์ไม่ได้เล่าตรงๆ แต่ผู้เขียนคิดว่าเกิดขึ้นได้ คือ ส่วนที่เป็นข้อจำกัดของการทำโครงการ กล่าวคือ โครงการนี้ก่อตั้งโดยคนที่ทำงานเพื่อสังคมที่ไม่ได้มีพื้นฐานด้านการออกแบบ ส่วนองค์กรที่เข้ามาทำแอปแบบกึ่งอาสา ก็เป็นองค์กรด้านเทคโนโลยีที่อาจจะไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องการละเมิดทางเพศเท่าไหร่ ท่ามกลางการทำงานบนงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด งานออกแบบที่ “ลงลึก” ไปไกลกว่าความกังวลเรื่องคนแปลกหน้าบนท้องถนนจึงเกิดขึ้นได้ยาก

เมื่อพูดถึงข้อจำกัดทางด้านทักษะในการออกแบบ ผู้เขียนกลับย้อนคิดถึงกางเกงนิรภัยสัญชาติเยอรมันที่ยกไปตอนต้นบทความ เพราะเอาจริงๆ แล้ว แรงบันดาลใจในการออกแบบผลิตภัณฑ์มาจากประสบการณ์ตรงของตัวเธอเอง7 ครั้งหนึ่งเธอเกือบถูกถูกชายแปลกหน้า 3 คนพยายามข่มขืนระหว่างกำลังวิ่งจ๊อกกิ้ง พวกเขาพยายามจะถอดกางเกงของเธอออก แต่โชคดีที่มีคนอื่นวิ่งมาในเส้นทางเธอจึงได้รับความช่วยเหลือ มันก็เป็นเหตุเป็นผลที่เธอจะเกิดความคิดว่า “หากมีกางเกงที่ต่อเวลาของเหยื่อให้นานขึ้นอีกนิด มันก็อาจจะช่วยคนได้นี่นา”

หรือมองไปที่กางเกงนิรภัยสัญชาติอินเดีย งานออกแบบชิ้นนี้ออกแบบโดยเด็กหญิงชั้นมัธยมที่อยู่ในครอบครัวยากจน8 จุดประสงค์ของเธอก็ตรงไปตรงมา คือ ทำกางเกงในนิรภัยด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด และถ้าพูดถึงบริบทของสังคมอินเดีย การข่มขืนโดยคนแปลกหน้าในที่สาธารณะก็เกิดขึ้นบ่อยจริงๆ

เนื่องจากทั้งสองคนก็ไม่ใช่นักออกแบบอาชีพ การจินตนาการถึงทางออกที่ดีกว่าสิ่งที่มีคนทำมาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อันที่จริงเป็นเรื่องยากมาก เพราะงานออกแบบที่มีอยู่ในโลกใบนี้ ส่วนมากก็คือสารพัดกางเกงล็อกจิ๋มและงานออกแบบที่สนับสนุนให้เหยื่อ “ทำนี่สิ ใส่นี่ซะ อย่าไปตรงนั้นล่ะ ป้องกันตัวเองนะ”

ผู้เขียนจึงมองว่า หากเราในฐานะนักออกแบบ สื่อ สังคม ผู้ให้ทุน จะไปให้ไกลกว่ากางเกงในล็อกจิ๋ม เราต้องพยายามไปให้มากกว่าการคิดแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบคอมมอนเซนส์

จริงอยู่ที่พื้นฐานการแก้ปัญหาใดๆ มันต้องตั้งบนฐานของการใช้งานได้ (functionality) แบบที่เราป้องกันรถไหลด้วยการเอาหินมากั้นตรงล้อรถ แต่ประเด็นคือ การคุกคามทางเพศมันมีเรื่องความเป็นธรรมทางสังคม (social justice) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ดังนั้น “แค่ใช้ได้ก็พอ” ย่อม “ไม่เคยพอ” หากหวังจะแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง

ในตอนต่อไป ผู้เขียนจึงจะนำเสนอให้เห็นภาพว่า ในงานออกแบบที่ “ไปไกลกว่ากางเกงในล็อกจิ๋ม” นั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร ทำงานอย่างไร และช่วยแก้ปัญหาในวัฏจักรความรุนแรงทางเพศอย่างเป็นโครงสร้างได้อย่างไร

โปรดติดตามตอนต่อไป

เกี่ยวกับผู้เขียน: วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ผู้ก่อตั้ง Thaiconsent.org เพื่อสื่อสารเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ ปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาโท สาขา Social Design ที่ L’École de Design Nantes ประเทศฝรั่งเศส กำลังทำโปรเจกต์จบเกี่ยวกับ งานออกแบบเพื่อแก้ปัญหาละเมิดทางเพศ” ติดต่อสอบถามได้ทาง nanaaa.net

ที่มาข้อมูล

1.Why should women have to pay the price for ‘safety’ on a daily basis?, Laura Bates (2016) https://www.theguardian.com/lifeandstyle/womens-blog/2016/nov/25/why-should-women-have-to-pay-the-price-for-safety-on-a-daily-basi

2.Anti-Rape Jewellery” Isn’t The Answer To Violence Against Women, Leonie Roderick (2016) https://www.refinery29.com/en-gb/rape-tech-jewellery-violence-against-women

3. Anti-rape devices may have their uses, but they don’t address the ultimate problem, Bridget Harris (2019)
https://theconversation.com/anti-rape-devices-may-have-their-uses-but-they-dont-address-the-ultimate-problem-123011

4. Sex attack victims usually know attacker, says new study, BBC (2018) https://www.bbc.com/news/uk-scotland-43128350

5.ANTI-RAPE NAIL POLISH: A PRODUCT OF RAPE CULTURE? (2014) https://shoutoutjmu.com/2014/09/16/anti-rape-nail-polish-a-product-of-rape-culture/

6.The many reasons why these ‘anti-rape shorts’ should not be allowed on sale, Megan Roantree https://www.her.ie/life/many-reasons-anti-rape-shorts-not-allowed-sale-329246

7.al assault survivor has created these anti-rape shorts, Lisa Bowman (2018) https://metro.co.uk/2018/02/02/sexual-assault-survivor-created-anti-rape-shorts-7281220/

8. UP girl builds ‘rape-proof underwear’ with inbuilt lock, camera, and GPS, By Think Change India (2018) https://yourstory.com/2018/01/seenu-kumari-rape-proof-underwear Sexu