เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์
บทความนี้เรียบเรียงโดยผู้เขียนกลุ่ม Overdog ซึ่งนิวกราวประสานให้ได้พบกับผู้ให้สัมภาษณ์ เนื้อหาทั้งหมดเรียบเรียงจากบันทึกบทสนทนาซึ่งได้รับอนุญาตจากผู้ให้สัมภาษณ์แล้ว
ถ้าคุณมีโอกาสไปเยี่ยมโรงเรียนที่ว่ากันว่าคือ Summer Hill เมืองไทย สถานศึกษาที่ตั้งอยู่บนหลักการอันเปี่ยมไปด้วยชีวิตและเสรีภาพ คุณจะเห็นเด็กน้อยวิ่งเล่นในป่าห้อมล้อมด้วยทิวเขา มีแม่น้ำตัดผ่าน เหมือนหมู่บ้านเล็กๆ ที่เด็กๆ เป็นเจ้าของ…
ครั้งหนึ่งฉันเคยไปพบผู้ดูแลโรงเรียนแห่งนั้น วันนั้นเป็นวันที่ฉันเก็บกระเป๋าออกจากบ้าน เพื่อนที่ช่วยเหลือบอกว่า เขาอาจช่วยฉันถอนอำนาจการปกครองจากพ่อแม่ได้ ฉันและเพื่อนมุ่งหน้าไปหาคนดูแลโรงเรียน ภาพแรกที่เราเห็นคือเด็กวัยเตาะแตะในตู้กระจก
เมื่อไปถึง ฉันถูกเชิญเข้าห้องที่เหมือนห้องธุรการ ฉันเข้าออกห้องนั้นเป็นเวลา 3 วัน เข้าเสร็จก็ออกมานั่งรอเจ้าหน้าที่ประชุม เขาว่าอย่างนั้น แต่มองยังไงก็เห็นแค่เจ้าหน้าที่นั่งเลี้ยงเด็กอยู่ในห้อง สลับกับเรียกฉันเข้าไปคุย จนวันที่ 3 เจ้าหน้าที่เรียกแม่ฉันมาเอาตัวกลับ แล้วบังคับให้กลับไปกับแม่ จนฉันต้องหนีเป็นครั้งที่ 2 หนีจากที่ที่ควรจะให้ความช่วยเหลือ
หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นผ่านไป 2 ปี ฉันได้เจอเด็กที่โตในโรงเรียนดังกล่าว เลยถือโอกาสพูดคุย…
เขาถูกโรงเรียนรับไปเลี้ยงตั้งแต่ 3-4 ขวบ ด้วยพ่อแม่ติดยา ตอนนี้เขาทำงานในร้านอาหารเพื่อหาเงินด้วยตัวเอง เขาเล่าว่าโรงเรียนมีเนื้อที่กว้างใหญ่ ล้อมด้วยภูเขา มีแม่น้ำให้ลงไปเล่น มีเด็กๆ เพื่อน ครู มีกิจวัตรให้ทำทุกวัน ทำให้ตอนเด็กเขาเข้าใจว่า ที่นี่คือโลกทั้งใบ
“ตอนแรกเข้าใจว่ามันคือสถานที่เรียน เรียนจนโตแล้วก็ออกไป คิดว่าในนั้นคือโลกหนึ่งโลก ไม่มีข้างนอก คิดว่าทั้งโลกมีแค่นี้ แล้วใครไม่รู้มาจากไหนก็เข้ามาในโรงเรียน”

Summer Hill จากเสรีภาพสู่การบังคับ
โรงเรียนแห่งนี้มีต้นแบบมาจากโรงเรียน Summer Hill ในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ให้เสรีภาพอย่างเต็มที่แก่นักเรียน ไม่มีระเบียบวินัย ไม่มีการสั่งให้ทำ ไม่มีความเกลียดชัง มีแต่ความรัก โดยใช้หลักว่าต้องสร้างโรงเรียนให้เหมาะกับกับเด็ก ไม่ใช่สร้างเด็กให้เหมาะกับโรงเรียน
หากแต่สิ่งที่ฉันได้ยินจากคนที่โตมาจากโรงเรียนในไทยดังกล่าวคือ ทุกวันเด็กๆ ต้องตื่นมาปลูกผัก ฝึกอาชีพ พักเล่นน้ำ กินข้าวเย็น ปล่อยอิสระจนถึงสามทุ่มครึ่ง แล้วก็ถูกครูไล่เข้าบ้านนอน เป็นกิจวัตรอย่างนี้ทุกๆ วัน โอกาสเดียวที่จะได้ออกไปนอกโรงเรียนในตอนเด็กคือ เมื่อแขกหรือคนที่มาเยี่ยมชมโรงเรียนพาออกไป เขาเองเพิ่งรู้จักข้างนอกจริงๆ ก็ตอนได้เริ่มเรียน ปวช.
“ตอนแรกคิดว่ามันคือกิจวัตร แต่พอเราไม่ทำหนึ่งอย่างเค้าก็จะบังคับให้เราทำ” เขาเล่า ถ้าไม่ทำตามกิจวัตรที่โรงเรียนกำหนด ก็จะถูกเอาไปฟ้อง จึงทำให้เป็นการบังคับอย่างเสียไม่ได้ เขาต้องปลูกผักทั้งที่ไม่ได้อยากปลูก ต้องขุดดินทั้งที่ไม่อยากทำ เขาไม่เห็นว่าทักษะเหล่านี้จะเอาไปใช้อะไรได้ในอนาคตการทำงาน
การศึกษาต่อ และราคาที่ต้องจ่าย
เขาอธิบายต่อว่าโรงเรียนแทบไม่ใส่ใจเรื่องเรียนต่อเลย กว่าเขาจะรู้ว่ามีสอบ GAT PAT ก็สายไปแล้ว โรงเรียนไม่เคยสอนเรื่องนี้ และรู้จากเพื่อนมาอีกทีตอนที่ปิดรับสมัครแล้ว รวมถึงมีข้อแม้ว่า หากใครมีเงินไม่ถึงหมื่นจะไม่ได้เรียนต่อ ทำให้หลังเรียนจบมัธยมฯ หลายคนกลับมาทำงานในโรงเรียน บางคนออกไปทำงานข้างนอก บางคนมีลูก บางคนกลายเป็นนักเลง น้อยคนที่จะเรียนต่อและมีอาชีพการงานอย่างเขา
หากเรียนต่อ ค่าเทอมในเทอมแรก เด็กจะต้องเป็นคนจ่ายทั้งหมด รวมถึงค่าเสื้อผ้า หนังสือ “เค้าให้จ่ายค่าอื่นที่ไม่ใช่ค่าเทอมด้วย ทั้งที่บอกว่าจะให้เราจ่ายแค่ค่าเทอม เค้าก็บอกให้ทำงานเสาร์อาทิตย์สิ”
รายได้ของเด็กที่โรงเรียน คือรายได้จากการทำอาชีพ เช่น ต่อตู้แล้วเอาไปขาย ทำเฟอร์นิเจอร์ ที่รายได้ชั่วโมงละ 2 บาท และการได้เงินหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับครูอีกที “พอเข้าไปทำ เค้าก็บอกว่าไม่เห็นเราทำ ไม่เห็นก็ไม่ได้เงิน” อีกส่วนคือเงินจากแขกที่มาเยี่ยมโรงเรียน และรายได้ส่วนนี้ถูกครูหักเป็นค่าไฟของบ้านที่พักอาศัย “เหมือนอย่างเรื่องเรียนต่อ เข้าใจว่าการเรียนต่อเราก็ต้องทำงาน แต่เค้าบอกว่าเด็กๆ พักอยู่ฟรี แต่เงินในบัญชีจะถูกหัก”
โทรศัพท์ในโรงเรียน
เมื่อถามถึงเรื่องโทรศัพท์ที่เป็นเรื่องใหญ่ของเด็กสมัยนี้ เขาเล่าว่าที่นั่นมีกฎห้ามมีโทรศัพท์ ถ้ายังไม่ได้เป็นพี่เด็กโต หรือเด็กที่โตแล้ว ถ้าใครมีก็จะถูกยึด แล้วให้ศิษย์เก่ามาทุบโชว์ ซึ่งโทรศัพท์ของเด็กในโรงเรียนเป็นเงินค่าขนมที่เด็กยอมอดข้าวเพื่อเก็บตังค์มาซื้อ หรือคนรู้จักให้ ล้วนแล้วแต่เป็นทรัพย์สินของเด็กเองทั้งสิ้น เขายังเสริมอีกว่า เด็กหลายคนหลุดออกมาจากโรงเรียน เพราะไม่มีโทรศัพท์แล้วตกรถ เลยต้องหนีออกมา
เรื่องที่น่าอายที่สุด
“เวลามีเทศกาล เค้า(แขก)จะมายืนจ้องเรา เค้า(ครู)ให้เด็กอยู่ตรงกลางแล้วมายืนอยู่รอบๆ มันดูเป็นเหมือนนักโทษ เค้าจะบอกว่า ห้ามเด็กไปไหนนะ ให้นั่งอยู่ตรงกลาง” นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีเทศกาลในโรงเรียน เด็กนั่งอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบไปด้วยครูและแขกที่มาเยี่ยมชม
แต่การนั่งให้คนจ้อง หรือการเต้นแร้งเต้นกาโชว์แขก ไม่ใช่เรื่องน่าอายที่สุดสำหรับเขา แต่เป็นการที่ต้องบอกคนอื่นว่ามาจากโรงเรียนแห่งนี้ เขาบอกว่า เมื่อบอกว่ามาจากที่นี่ก็จะถูกแสดงความสงสาร ถ้าไม่ด้วยสีหน้าก็ด้วยคำพูด เหมือนเขาไม่ใช่คนปกติ
“ไม่อยากจะพูดออกมาว่าอยู่ในโรงเรียน นี่คือเรื่องที่อายที่สุด ไม่อยากพูด พอพูดแล้วหน้าเปลี่ยน ถูกสงสาร เราก็คนปกติ แค่ไปอยู่ในนั้น เหมือนเริ่มต้นชีวิตที่บ้านไม่ได้ เลยไปเริ่มที่นั่น คนไม่เข้าใจ เวลามีคนถามก็จะเปรียบที่นั่นเป็นบ้าน บอกว่ามาจากบ้าน”
โรงเรียนจะพูดเสมอให้วางรากฐานชีวิตของตัวเอง เด็กที่โตมากับโรงเรียนชินกับโรงเรียนเลยไม่อยากออกมา แต่เขาเองไม่อยากแม้แต่จะอยู่ในจังหวัดนั้นด้วยซ้ำ เขารู้สึกว่าที่นั่นทุกๆ อย่างมันเหมือนเดิมทุกวัน และอยากให้ที่นั่นเป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยว
ชีวิตในกรุงเทพฯ สำหรับเขานั้นดีกว่าและอิสระกว่าชีวิตในโรงเรียน “เราโตแล้วไม่ใช่เด็ก ที่ต้องคอยมาปิดไฟเปิดไฟให้นอน กรุงเทพฯ ตื่นกี่โมงหลับกี่โมงก็ได้ แค่ไปทำงานให้ได้แค่นั้นเอง”
ระหว่างพูดคุยเรากินอาหารญี่ปุ่นกัน ฉันถามเขาว่าทำไมถึงชอบกินอาหารญี่ปุ่น เขาตอบว่าเพราะคนในจังหวัดที่เขาเติบโตมาไม่กินกัน ฉันเห็นความทะเยอทะยานที่จะออกจากโรงเรียนและจังหวัดนั้นของเขาจากคำตอบสั้นๆ
การเมืองนอกโรงเรียน
หากคุณได้ติดตามการเมืองในช่วงที่ผ่านมา คุณอาจเห็นเด็กๆ จากโรงเรียนแห่งนี้บนจอทีวียืนเปิดหมวกที่เวที เขาเองในตอนเด็กจำได้ว่า ถูกเปิดทีวีให้ดูแล้วให้เรียกคนในทีวีว่าพันธมิตร บอกว่าคนนั้นคนนี้จากโรงเรียนเราขึ้นเวทีด้วยนะ “เมื่อก่อนใครไปเปิดหมวก ไปร้องเพลงบนทีวีก็คือคนดัง เหมือนเป็นดาวโรงเรียน” เขาเล่า “เคยไปฝึกงานแล้วไปพูดว่าพันธมิตร เค้าบอกไม่ให้พูด เลยไม่รู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี แต่รู้แค่ว่าอย่าไปพูดอีก”
แขกคือพระเจ้า
“เค้าบอกว่าอยู่หน้าแขกต้องอย่างงั้นอย่างงี้ จากที่เคยเป็นปกติ ต้องกลายเป็นพนักงานต้อนรับ ห้ามจับแขก ห้ามเข้าไปในบริเวณนี้ ห้ามให้แขกอุ้ม มีการใช้ให้ไปรับแขก ทำนู่นทำนี่ให้หน่อย”
“เขาเคยพูดว่าจะทำโรงเรียนให้เหมาะกับเด็ก ไม่ใช่ทำเด็กให้เหมาะกับโรงเรียน” แต่กลายเป็นว่าทำเด็กให้เหมาะกับแขกที่มาเยี่ยมชม ต้องกินอาหารที่แขกเอามาให้ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม มีกฎการปฏิบัติตัวกับแขก ห้ามให้อุ้ม ห้ามแตะตัว บอกเด็กว่าห้ามขอเงินแต่ให้ขอเป็นสิ่งของ ถูกบังคับให้แสดงละคร เพราะเป็นละครที่แขกนำเข้ามา ฯลฯ “เหมือนทำโรงเรียนให้แขกดูมากกว่า” เขาพูดปิด
“มันคือคุกเด็กอะ” เขาพูดสั้นๆ เพื่ออธิบายทั้งหมดของโรงเรียน
หลังจากการพูดคุยฉันนึกย้อนถึงภาพแรกที่เห็นเมื่อไปติดต่อผู้ดูแลโรงเรียน เด็กวัยเตาะแตะในตู้กระจก เรื่องที่เขาเล่าทำให้ฉันเข้าใจกับตัวเองว่า ทำไมถึงต้องเป็นห้องกระจก ทำไมต้องตั้งห้องไว้ด้านหน้า ทำไมต้องเป็นเด็กๆ ถ้าได้ไปที่โรงเรียนแห่งนั้นอีกครั้ง คงรู้สึกไม่ต่างอะไรจากไปสวนสัตว์ มีสิ่งมีชีวิตน่ารักโชว์อยู่ด้านหน้า ให้เล่นด้วยได้ ให้อาหารได้ มีโชว์ให้ดู ที่ซึ่งเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า เกิดอะไรขึ้นอยู่กับสัตว์เหล่านั้น ในเมื่อเราทำได้เพียงแค่มองและบริจาค
จากวันที่ฉันหนีออกจากบ้านเป็นเวลาเกือบ 2 ปี ฉันสงสัยมาตลอดว่าทำไมถึงไม่ได้รับความช่วยเหลือจากโรงเรียนแห่งนั้น และบทความนี้คือคำตอบ