ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > ถอดบทเรียนความสำเร็จสิงคโปร์ จากประเทศขาดแคลนน้ำสู่ผู้นำระดับโลกด้านบริหารจัดการน้ำ

ถอดบทเรียนความสำเร็จสิงคโปร์ จากประเทศขาดแคลนน้ำสู่ผู้นำระดับโลกด้านบริหารจัดการน้ำ

11 มกราคม 2020


ที่มาภาพ: https://www.pub.gov.sg/about

“แหล่งน้ำจืด” เป็นหัวข้อที่มีการหารือกันอย่างเข้มข้นในเวทีระดับโลก และเป็นความกังวลของทั่วโลก รายงาน “Global Water Crisis: The Facts” ในปี 2560 จาก United Nations University Institute for Water, Environment and Health, Hamilton, Canada ได้จากการรวบรวมผลการศึกษาและสถิติด้านน้ำเกือบ 100 ชิ้น ระบุว่า แม้ว่าน้ำจะปกคลุมโลกกว่า 70% ของพื้นที่ แต่แนวคิดที่ว่าน้ำมีมากมายถือเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก แท้ที่จริงแล้วมีเพียง 2.5% ของปริมาณน้ำในโลกที่เป็นน้ำจืด และจากปริมาณน้ำจืดที่จำกัดนี้ ภายในปี 2593 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า ประชากรโลกกว่า 3,900 ล้านคนจากประชากรที่คาดว่าจะสูงถึง 9,700 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 40% จะต้องใช้ชีวิตลุ่มน้ำที่สุ่มเสี่ยงจะไม่มีน้ำจืดใช้อย่างเพียงพอ

หลายประเทศในหลายภูมิภาคทั่วโลกเริ่มประสบวิกฤติน้ำ หลายประเทศเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ แต่ไม่ใช่ที่สิงคโปร์ ประเทศที่เคยมีปัญหาขาดแคลนน้ำมากที่สุดในโลก จนต้องซื้อน้ำจากมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้าน สิงคโปร์มีการวางแผนพัฒนานวัตกรรมระบบบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพจนกลายเป็นผู้นำในอาเซียน ในเอเชีย และในระดับโลกด้านการวิจัยน้ำ

การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนมีความสำคัญต่อสิงคโปร์ อันเป็นประเทศขนาดเล็กมีลักษณะเป็นเกาะ โดยมีพื้นที่เพียงแค่ 700 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเล็กกว่ากรุงเทพมหานครถึงสองเท่า แม้จะอยู่ในพื้นที่เขตศูนย์สูตรที่มีฝนตกชุกสิงคโปร์เผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของน้ำอุปโภคและบริโภคเนื่องจากพื้นที่ที่น้อยทำให้มีแหล่งกักเก็บน้ำที่ไม่เพียงพอทำให้จนไม่สามารถจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการในหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์จึงต้องนำเข้าน้ำจากมาเลเซีย บริเวณรัฐยะโฮร์

ที่มาภาพ: https://www.pub.gov.sg/watersupply/fournationaltaps/importedwater

รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับปัญหานี้เป็นอย่างมากเพราะเป็นปัญหาอ่อนไหวต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะสัญญาซื้อน้ำจากมาเลเซียฉบับที่ 2 ตั้งแต่ปี 1962 จะสิ้นสุดลงปี 2061 ซึ่งในสัญญาฉบับนี้สิงคโปร์สามารถขนน้ำจากอ่างเก็บน้ำยะโฮร์ ลิงกี มาเลเซียได้วันละ 1,100,100 ลูกบาศก์เมตร ก่อนหน้านี้สิงคโปร์ทำสัญญาซื้อขายน้ำจากมาเลเซียในราคาถูกเป็นเวลายาวนานมาแล้ว 1 ฉบับปี 1961 ถึงปี 2011

สิงคโปร์จึงต้องหาวิธีจัดการน้ำอย่างครบวงจรและเป็นรูปธรรม จนกระทั่งปัจจุบันสิงค์โปร์ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการจัดการน้ำของโลก เห็นได้ชัดเจนจากปัจจุบันที่สิงคโปร์ขายน้ำประปาที่ผลิตจากน้ำดิบจากมาเลเซียกลับไปยังมาเลเซีย และขนน้ำจากมาเลเซียเพียงวันละ 60% ของความต้องการน้ำใช้ในน้ำแต่ละวันในสิงคโปร์

หนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้สิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการจัดการทรัพยากรน้ำคือมุ่งเน้นการจัดการอุปสงค์และอุปทานของน้ำไปพร้อมกัน

การบริหารจัดการอุปสงค์น้ำ

สิงคโปร์เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการลดการใช้น้ำอุปโภคบริโภคในครัวเรือน จากปี 1995 ถึง 2005 ปริมาณการใช้น้ำอุปโภคบริโภคในครัวเรือนลงจาก 172 ลิตรต่อวันต่อครัวเรือนเหลือ 160 ลิตรต่อวันต่อครัวเรือน หากมองในการใช้น้ำในครัวเรือนต่อเดือนของสิงคโปร์นั้นลดลงถึง 10% จาก 21.7 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือนในปี 1995 เหลือ 19.3 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือนในปี 2004

เหตุที่สิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการลดการใช้น้ำอุปโภคบริโภคในครัวเรือนลดลงนั้นเนื่องจากสิงคโปร์ใช้กลไกภาษีในการลดความต้องการใช้น้ำลงด้วยด้วยภาษีที่ค่อนข้างสูงและแยกประเภทตามกลุ่มต่างๆ เป็นอย่างดี โดยคิดภาษีเป็นอัตราโดยอัตราแรกคือไม่เกิน 40 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน สำหรับครัวเรือนและไม่ใช่ครัวเรือนในราคา 1.17 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อลูกบาศก์เมตร และอัตราที่สองคือเกิน 40 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือนในราคา 1.40 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้อัตราที่สองนี้มีไว้ใช้สำหรับในครัวเรือนเท่านั้น เพื่อเป็นการลดการใช้น้ำประปาในครัวเรือนลง

รัฐบาลได้ประกาศขึ้นราคาน้ำอีก 30% ในปี 2017 หลังจากที่ไม่ได้ปรับขึ้นเลยตั้งแต่ปี 2000 เพื่อลดการใช้น้ำ ส่งผลให้การใช้น้ำไม่เกิน 40 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน มีราคา 2.39 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อลูกบาศก์เมตร แต่หากเกิน 40 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือนจะมีราคา 3.21 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อลูกบาศก์เมตร

สิงคโปร์ยังมีภาษีอนุรักษ์น้ำ (Water Conservation Tax) ที่เก็บจากปริมาณการใช้น้ำ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ว่า น้ำมีความสำคัญตั้งแต่หยดแรก ซึ่งเก็บถึง 30% ใน 40 ลูกบาศก์เมตรแรก และ 45% หากใช้น้ำเกิน 40 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน ภาษีนี้ยิ่งทำให้ลดปริมาณการใช้น้ำของครัวเรือนสิงคโปร์ลงอีก และยังมีค่าลำเลียงน้ำ (water-borne fee) เพื่อชดเชยต้นทุนการบำบัดน้ำใช้แล้วและการบำรุงรักษาเส้นทางลำเลียงน้ำ ซึ่งเก็บในอัตราคงที่ 0.30 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อลูกบาศก์เมตร สำหรับการใช้ในครัวเรือน แม้ว่าจะเก็บภาษีในอัตราที่สูงแต่รัฐบาลสิงคโปร์ได้มีการชดเชยราคาให้สำหรับประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีนัก

ปัจจุบันความต้องการน้ำในสิงคโปร์ตกวันละ 430 ล้านแกลลอนหรือเทียบเท่าสระว่ายน้ำโอลิมปิก 782 สระ การใช้น้ำต่อครัวเรือนในประเทศลดลงในหลายปีที่ผ่านมาจาก 172 ลิตรในปี 1995 มาที่ 143 ลิตรในปี 2017 รัฐบาลมีเป้าหมายลดการใช้น้ำต่อครัวเรือนลงเป็น 130 ลิตรในปี 2030

การกำหนดราคาใช้น้ำเป็นอำนาจของคณะกรรมการสาธารณูปโภคสาธารณะ (Public Utilities Board — PUB) และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

ยุทธ์ศาสตร์ 4 แหล่งน้ำเพื่อความยั่งยืน

การใช้น้ำในปัจจุบันมาจาก 2 ส่วน คือ ภาคในประเทศ 45% และภาคที่ไม่ใช่ในประเทศ 55% และคาดว่าภายในปี 2060 ความต้องการน้ำโดยรวมจะสูงขึ้น โดยที่ภาคที่ไม่ใช่ในประเทศจะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 70% ความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นและการเติบโตทางเศรษฐกิจแสดงให้เห็นว่า ต้องมีการจัดการด้านอุปทานน้ำอย่างเข้มข้นในอนาคต

สิงคโปร์ยังวางรากฐานอุปทานในประเทศที่ยั่งยืน เพื่อรองรับสำหรับความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นด้วยกลยุทธ์ 4 แหล่งหรือ “Four National Tap”

Four National Tap หรือแหล่งน้ำทั้ง 4 แหล่งประกอบด้วย

    1) นำเข้าจากมาเลเซีย
    2) แหล่งน้ำในประเทศ การกักเก็บน้ำฝน และอ่างเก็บน้ำ
    3) การแปลงน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด
    4) นำน้ำใช้แล้วทิ้งมาบำบัด ในโครงการ NEWater

น้ำดื่มในสิงคโปร์มากกว่าครึ่งหนึ่งมาจากแหล่งน้ำนำเข้าจากมาเลเซีย สิงคโปร์จึงต้องมีทางเลือกอื่น เพราะการมีแหล่งน้ำจำนวนน้อยและการพึ่งพามาเลเซีย จะสร้างปัญหาซับซ้อนให้กับประเทศ โดยเฉพาะในด้านการประมาณการณ์การเพิ่มขึ้นของประชากรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำยะโฮร์ ลิงกีลดลงจาก 84% ในปี 2015 ลงมาที่ 27% ในเดือนมกราคม ปี 2017 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นกลับมาที่ 63% ในเดือนมีนาคม 2018

จากการศึกษาที่เน้นไปยังแหล่งน้ำจากน้ำฝนและการพึ่งพาแหล่งน้ำนำเข้าแล้ว พบว่าแหล่งน้ำดื่มสำคัญของสิงคโปร์ในอนาคตจะมาจากการแปลงน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดและการนำน้ำใช้แล้วมาบำบัดเพื่อใช้ใหม่ (NEWater)

ที่มาภาพ: https://www.pub.gov.sg/watersupply/fournationaltaps/newater

น้ำทิ้ง น้ำใช้แล้ว และน้ำทะเล เพื่อผลิตน้ำประปาสะอาดระดับโลก

สิงคโปร์มีความพยายามอย่างมุ่งมั่นที่จะปกป้องแหล่งน้ำทั้งในด้านของปริมาณและคุณภาพในระยะยาว ด้วยการขยายแหล่งน้ำที่เป็นไปได้ พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มการเข้าถึงน้ำ พัฒนาการจัดการคุณภาพน้ำ และลดค่าใช้จ่ายในการผลิตและบริหารลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาสิงคโปร์มีความพยายามที่จะให้ความสำคัญกับการบริหารแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น ด้วยการกำหนดขอบเขตและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างชัดเจนทั้งแหล่งกักเก็บน้ำที่ได้รับการปกป้องและแหล่งกักเก็บน้ำที่ได้รับการปกป้องบางส่วน ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมที่ก่อมลภาวะได้ในพื้นที่เหล่านั้น ในปัจจุบันพื้นที่ครึ่งหนึ่งของสิงคโปร์ได้รับการพิจารณาเป็นเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่ได้รับการปกป้องและแหล่งกักเก็บน้ำที่ได้รับการปกป้องบางส่วน คาดการณ์ว่าจะเพิ่มอัตรานี้เป็นสองในสามภายในปี 2009

นอกจากเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำที่เป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาน้ำแล้ว สิงค์โปร์ยังมีนโยบายเพิ่มความหลากหลายของแหล่งผลิตน้ำด้วยการผลิตน้ำประปาจากการสลายความเค็มน้ำทะเล และการนำน้ำทิ้งหรือน้ำที่ใช้แล้วมาบำบัดเป็นน้ำประปา ในช่วงแรกนั้นการสลายความเค็มน้ำทะเลเป็นกระบวนการสำคัญที่ผลิตน้ำประปาให้แก่สิงคโปร์เนื่องจากเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเพื่อเป็นน้ำประปายังไม่มีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือ (ความพยายามที่จะเริ่มบำบัดน้ำกลับมาเป็นน้ำประปาเริ่มในทศวรรษที่ 1970)

จนกระทั่งปี 2002 หลังจากการทดลองและตรวจสอบคุณภาพน้ำจากโรงงานบำบัดน้ำต้นแบบ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญรับรองในคุณภาพน้ำที่ปลอดภัยและดื่มได้ ซึ่งคุณภาพของน้ำที่ผ่านการบำบัดนี้ผ่านคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (Environmental Protection Agency of the United States) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ยิ่งไปกว่านั้น น้ำที่บำบัดนี้ยังมีความบริสุทธิ์ที่สูงมากจนสามารถนำไปใช้ผลิตสารกึ่งตัวนำที่ต้องการน้ำที่มีความบริสุทธิ์มากได้

นอกจากคุณภาพของน้ำบำบัดที่ดีกว่าน้ำจากการสลายความเค็มแล้ว ต้นทุนการผลิตของน้ำบำบัดนี้ยังมีราคาต่ำกว่าน้ำจากการสลายความเค็มถึง 2 เท่า จากข้อมูลการบำบัดน้ำในปีแรกของโรงบำบัดน้ำอูลู ปันดัน มีต้นทุนการผลิต 30 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร ในขณะที่โรงงานสลายความเค็มทูแอสอันเป็นโรงงานสลายความเค็มน้ำทะเลระดับเมืองแห่งแรก มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 0.78 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อลูกบาศก์เมตร

ในอนาคตรัฐบาลสิงคโปร์มีแผนจะเพิ่มโรงงานบำบัดน้ำเนื่องจากมีต้นทุนต่ำกว่าอีกทั้งยังมีอุตสาหกรรมหลายที่ใช้น้ำบำบัดน้ำนี้ทำให้ปริมาณนั้นหมุนเวียนกลับไปบำบัดเพิ่มขึ้น น้ำประปาที่ได้จากการบำบัดนี้นอกจากจะนำไปใช้อุปโภคบริโภคแล้วก็ยังนำน้ำบางส่วนกลับเข้าสู่แหล่งกักเก็บน้ำอีกด้วย

ปัจจุบันแหล่งน้ำจากน้ำทะเลมีสัดส่วน 25% ของน้ำดื่มในสิงคโปร์ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ภายในปี 2060 โดยมีโรงงานแปลงน้ำทะเลเป็นน้ำจืด 3 แห่ง คือ สิงคโปร์สปริงที่ตั้งขึ้นในปี 2005 ทูแอสสปริงก่อตั้งปี 2013 และ ทูแอสในปี 2018 อีกทั้งยังมีแผนก่อสร้างอีก 2 โรงในปี 2020 ที่ มารินาอีสต์และ เกาะจูร่ง

PUB ยังส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่โรงงานทูแอส เพราะการสลายความเค็มของน้ำทะเลสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ระบบการกรองแบบ reserve osmosis (RO) หรือการระเหย (flash evaporation) แต่ไม่ว่าวิธีการใดต้องใช้พลังงานสูงมากกว่าการบำบัดน้ำทิ้งหรือน้ำใช้แล้ว อีกวิธีหนึ่งหนึ่งคือใช้กระแสไฟฟ้าแยกเกลือและน้ำออกจากกัน (electrochemistry)

สำหรับแหล่งน้ำจากน้ำทิ้งน้ำใช้แล้ว หรือนิววอเตอร์ (NEWater) ถือเป็นการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในสิงคโปร์ ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการน้ำทั้งประเทศได้ถึง 40% ด้วยเทคโนโลยี NEWater และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 55% ในปี 2060

สิงคโปร์โดย PUB ได้สร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้ดิน (deep tunnel sewerage system — DTSS) เพื่อความยั่งยืน ซึ่ง DTSS เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางน้ำทั้งหมด และเปรียบเสมือทางด่วนของน้ำใช้แล้วไปยังแหล่งกักเก็บกลาง เพื่อบำบัด น้ำที่บำบัดแล้วนี้จะส่งกลับไปที่ NEWater และส่วนหนึ่งปล่อยให้ไหลลงทะเล

ที่มาภาพ: https://www.pub.gov.sg/watersupply/fournationaltaps/desalinatedwater

NEWater เป็นรากฐานสำคัญของการจัดการน้ำของสิงคโปร์ และยังคงได้รับความสนใจมากขึ้นในอนาคต NEWater เป็นการรีไซเคิลน้ำใช้แล้วให้กลับเป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดคุณภาพสูง เรียกได้ว่า สะอาดปราศจากเชื้อโรค (ultraclean) และสามารถดื่มได้ ด้วยเทคโนโลยี 3 ขั้นตอนของ NEWater ที่ได้มาตรฐานองค์การอนามัยโลก

สิงคโปร์มีโรงงานบำบัดน้ำ NEWater 5 แห่ง ซึ่ง 2 แห่งแรกเปิดในปี 2003 ที่ ครันจิ และเบโดะก์ และน้ำที่ได้จากบำบัดนี้นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมและระบบทำความเย็นเป็นส่วนใหญ่ แต่ในช่วงหน้าแล้งน้ำจาก NEWater จะถูกส่งไปอ่างเก็บน้ำและผสมกับแหล่งน้ำดิบ ก่อนที่จะนำกลับมาผลิตเป็นน้ำประปาดื่มได้อีกครั้ง

องค์กรมีประสิทธิภาพครอบคลุมปัญหาและไม่ทับซ้อน

สิงคโปร์มีการจัดการน้ำทิ้งและน้ำฝนด้วยองค์กรที่มีประสิทธิภาพประกอบกับสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยด้วยเจตนารมณ์ทางการเมืองที่เข้มแข็ง กฎหมาย และกฎระเบียบที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งแรงงานที่มีประสบการณ์และมีแรงกระตุ้น

การบริหารน้ำทั้งหมดของสิงคโปร์ขึ้นอยู่กับ คณะกรรมการสาธารณูปโภคสาธารณะ (PUB) ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐที่เคยมีภาระหน้าที่บริหารจัดการน้ำดื่ม ไฟฟ้า และก๊าซ จนกระทั่งปี 2001 กระทรวงสิ่งแวดล้อมได้เพิ่มภาระหน้าที่ของ PUB ให้ครอบคลุมการบริหารจัดการระบบท่อระบายน้ำและน้ำ

ทั้งนี้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีน้ำสูญหายไปจากระบบน้อยมากเพียงแค่ 4.5% เท่านั้นซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยที่สุดในโลก ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนมีน้ำสูญหายจากระบบถึง 40-60% จากความครอบคลุมนี้ทำให้สามารถพัฒนาและใช้นโยบายแบบองค์รวม ประกอบด้วยการปกป้องและขยายแหล่งน้ำได้แก่ การกักเก็บน้ำ อุปสงค์ในน้ำ การบริหารจัดการน้ำฝนและน้ำทิ้ง การสลายความเค็มของน้ำ การให้การศึกษาเกี่ยวกับน้ำ และโครงการเพื่อความตระหนักเกี่ยวกับน้ำ

ในปัจจุบัน PUB มีศูนย์ของตนเองสำหรับเทคโนโลยีเกี่ยวกับน้ำที่ก้าวหน้าพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ 50 คน ที่พร้อมให้งานวิจัยที่จำเป็นและการสนับสนุนเกี่ยวกับการพัฒนา

ในด้านของบุคลากร PUB เป็นองค์กรที่ให้เงินเดือนสูงและมีสวัสดิการที่ตอบโจทย์กับสภาพตลาดแรงงานจึงสามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาทำงานได้ ประกอบกับการทำงานที่โปร่งใสปราศจากทุจริตอันเป็นแบบฉบับของสิงคโปร์ก็ยิ่งทำให้องค์กรนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

พระราชบัญญัติสาธารณูปโภคกำหนดให้ PUB รับผิดชอบงานบริการน้ำทุกด้าน ทั้งการติดตั้ง การก่อสร้างการติดตั้ง การบำรุงรักษาการจัดตั้งการซ่อมแซมหรือการทดแทนบริการติดตั้งน้ำ พระราชบัญญัติฉบับนี้เริ่มใช้ในปี 2001 และมีการแก้ไขในปี 2002 อีกทั้งเกี่ยวข้องกับภาษีน้ำและกำหนดให้คณะกรรมการมีสิทธิที่จะหยุดหรือระงับการจ่ายน้ำ

ที่มาภาพ: https://www.pub.gov.sg/watersupply/singaporewaterstory

คณะกรรมการฯ ยังกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณภาพน้ำ มาตรฐานน้ำดื่ม ภาษีน้ำ และการจัดหาน้ำ พร้อมจัดทำคู่มือการใช้น้ำแก่บริษัทก่อสร้าง สถาปนิก ช่างประปา หน่ยงานรัฐและวิศวกรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำ

นอกจากนี้ พระราชบัญญัติการระบายน้ำทิ้งที่บังคับใช้ปี 1999 และแก้ไขปี 2001 เป็นรากฐานของการก่อสร้างการวางระบบท่อน้ำทิ้งระบบการระบายน้ำ รวมทั้งให้อำนาจคณะกรรมการฯ ในการวางมาตรฐานควบคุม ตรวจสอบการระบายน้ำทิ้งทุกด้าน กฎหมายยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปกป้องแหล่งน้ำที่เชื่อมโยงกับการระบายน้ำทิ้ง ตลอดจนการขึ้นทะเบียน แนวปฏิบัติและการออกใบรับรอง

หมายเหตุ : โพสต์ใหม่ 11 มกราคม 2563