ThaiPublica > เกาะกระแส > เมื่อขยะล้นเกาะ “ธรรมนูญเขยื้อนขยะ” กรณีศึกษาพื้นที่ ต.อ่าวนาง จ.กระบี่

เมื่อขยะล้นเกาะ “ธรรมนูญเขยื้อนขยะ” กรณีศึกษาพื้นที่ ต.อ่าวนาง จ.กระบี่

2 กันยายน 2019


รายงานโดย ธนธัช กิตติศักดิ์ดำรง นักศึกษาฝึกงานสาขาวิชาการพัฒนาระหว่างประเทศ สำนักวิชานวตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

กระบี่—หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยกว่า 1.2 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา

เฉกเช่นเดียวกับความเจริญในพื้นที่อื่นๆ แม้ความเฟื่องฟูจะสร้างการเจริญเติบโตให้กับคนในพื้นที่ แต่สิ่งที่แลกกลับมาคือต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่ต้องสูญเสียไป ทั้งปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น สภาพภูมิทัศน์สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง การลอบระบายน้ำเสียลงสู่ทะเล ร่วมถอดบทเรียนผ่านวงเสวนา “ธรรมนูญสุขภาพ” เมื่อการแก้ปัญหาขยะมูลฝอยที่ยั่งยืนคือการมีส่วนร่วมของทุกคน

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร “ธรรมนูญเขยื้อนขยะ สร้างสุขภาวะคนอ่าวนาง” ณ ต.กระบี่ อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ เพื่อติดตามผลจากการใช้ธรรมนูญสุขภาพเพื่อเป็นเครื่องมือในการหนุนเสริมการทำงานขององค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง (อบต.อ่าวนาง) ในการจัดการปัญหาขยะมูลฝอยในพื้นที่

นายปรีชา ปานคง ชาวบ้านตำบลอ่าวนาง และผู้ประกอบการกลุ่มน้ำหมักชีวภาพ

นายปรีชา ปานคง ชาวบ้านตำบลอ่าวนาง และผู้ประกอบการกลุ่มน้ำหมักชีวภาพ เล่าเรื่องราวภูมิทัศน์ของตำบลอ่าวนางผ่านมุมของคนในพื้นที่ว่า เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ภาพของตำบลอ่าวนางจะเต็มไปด้วยความสกปรกเลอะเทอะ ขยะเต็มสองข้างทาง บางครั้งก็มีการเผาขยะริมถนน ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากจะสรุปปัญหาของตำบลอ่าวนาง พบว่ามี 3 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ ทิ้งขยะไม่เป็นเวลา ทิ้งขยะเรี่ยราด และปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล

นายปรีชากล่าวว่า ที่ผ่านมา อบต.อ่าวนางพยายามรณรงค์ให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยการให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะ จัดทำโครงการแลกขยะกับเครื่องอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ตลอดจนสร้างสถานีขยะเป็นจุดทิ้งขยะขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาเบาบางลง

“ยอมรับว่า อบต.อ่าวนางทำงานอย่างจริงจังมาก แต่ชาวบ้านไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปัญหาขยะจึงคงอยู่มาเป็นสิบปี จนกระทั่งเกิดสมัชชาสุขภาพจังหวัดกระบี่และมีการนำเรื่องนี้เข้าไปพูดคุย ก่อนจะเกิดการผลักดันให้ตำบลจัดทำธรรมนูญสุขภาพขึ้นมา”

นายปรีชากล่าวต่อว่า ในช่วงแรกของการจัดทำธรรมนูญสุขภาพ ชาวบ้านยังไม่ค่อยเข้าใจ ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม แต่เมื่อผู้นำชุมชนได้เอ่ยปากชักชวนต่อๆ กันไปเรื่อยๆ ก็เริ่มมีคนมาเข้าร่วมมากขึ้น ทั้งกรรมการหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยราชการ โรงเรียน ผู้นำศาสนา ผู้ประกอบการ ห้างร้าน ชมรมสามล้อ กลุ่มเรือหางยาว ฯลฯ เมื่อคนเข้าร่วมมากขึ้นก็เริ่มมองเห็นปัญหาร่วมกัน สุดท้ายก็พร้อมใจกันปฏิบัติตามข้อกำหนดในธรรมนูญสุขภาพฯ

“ผู้ที่เข้าร่วมในกระบวนการจัดทำธรรมนูญสุขภาพฯ เริ่มตระหนักรู้และได้กลับไปดำเนินการตามบทบาทและความถนัดของตัวเอง โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการจัดการขยะ อย่างผมถนัดเรื่องทำน้ำหมักชีวภาพก็สนับสนุนในส่วนนี้ กลุ่มเรือหางยาวก็ไปกำหนดมาตรการของเขา เช่น เฝ้าระวังนักท่องเที่ยวให้นำขยะกลับมาทิ้งบนฝั่ง หรืออย่างผู้ประกอบการก็มีการจัดการเรื่องการคัดแยกขยะ การจัดการน้ำเสีย เป็นต้น รวมถึงต่อยอดการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เช่น กิจกรรม Big Cleaning Day ประจำเดือน”

นายสัมพันธ์ ช่างเรือ โต๊ะอิหม่าม-ผู้นำศาสนา

ด้านนายสัมพันธ์ ช่างเรือ โต๊ะอิหม่าม-ผู้นำศาสนา กล่าวถึงบทบาทของศาสนาในพื้นที่ว่า ในมุมมองของศาสนานั้น เรื่องของความสะอาดเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องดูแล ซึ่งการรักษาความสะอาดจะนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุข ไม่มีเชื้อโรค ฉะนั้นเป้าหมายหลักการของศาสนาคือการกำหนดให้ทุกคนมีหน้าที่ต้องรักษาความสะอาด เพราะคำสอนของศาสนาอิสลามนั้นกำหนดให้ทุกคนทำความจงรักภักดีกับพระเจ้า ดังที่ได้เห็นในการกล่าวคำละหมาดซึ่งเป็นการเข้าเฝ้าพระผู้เป็นเจ้า และเป็นการสรรเสริญขอพรให้ทุกคนอยู่รวมกันด้วยความรัก ความสามัคคี สันติสุข

โดยส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดความสันติสุขได้คือความสะอาดตั้งแต่เรื่องของจิตใจที่บริสุทธิ์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทุกคน ทั้งคนในพื้นที่และคนภายนอก ที่จะร่วมกันรักษาความสะอาด การที่บุคคลไม่ปฏิบัติตามฎระเบียบที่ออกมาจึงเป็นการขาดจิตสำนึกหน้าที่ในการเป็นพลเมืองของประเทศ

นายพันคำ กิตติธรกุล นายก อบต.อ่าวนาง

ส่วนนายพันคำ กิตติธรกุล นายก อบต.อ่าวนาง กล่าวว่า ปัจจุบันตำบลอ่าวนางมีปริมาณขยะมูลฝอยเฉลี่ยวันละ 65-70 ตัน คิดเป็นกว่า 50% ของขยะทั้งหมดในจังหวัดกระบี่ โดยระหว่างปี 2558-2560 อบต.อ่าวนางต้องสูญเสียงบประมาณในการจัดการไม่ต่ำกว่าปีละ 28 ล้านบาท

สำหรับต้นทางของขยะมาจากคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา อบต.อ่าวนางได้มุ่งเน้นแก้ไขกับคนในพื้นที่เป็นลำดับแรก เช่น รณรงค์ให้เก็บกวาด แจกถังขยะตามครัวเรือน สร้างจุดทิ้งขยะ แต่ที่สุดแล้วก็ไม่สามารถควบคุมขยะได้ เนื่องจากประชาชนยังขาดจิตสำนึกและไม่ยอมทำตามกฎหมาย ทาง อบต.อ่าวนางจึงปรับแนวคิดด้วยการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมมาจัดการขยะ

“เราได้ทำประชาคมพูดคุยกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ และได้นำเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 นั่นคือ ธรรมนูญสุขภาพตำบล เข้ามาสนับสนุนการทำงาน โดยทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าปัญหาขยะและน้ำเสียคือสิ่งที่ทุกคนอยากให้แก้ไข ในธรรมนูญสุขภาพจึงมีข้อบัญญัติถึงกติกาและแนวปฏิบัติเพื่อจัดการขยะร่วมกัน”

นายพันคำกล่าวต่อว่า อบต.อ่าวนางได้เก็บถังขยะกลับมาทั้งหมดและทดลองเปลี่ยนมาใช้ถุงดำแทน โดยธรรมนูญสุขภาพได้บัญญัติให้ครัวเรือนและสถานประกอบการทุกแห่งต้องนำขยะบรรจุใส่ถุงดำ ผูกปากถุงให้มิดชิด และนำมาวางในจุดที่กำหนดระหว่างเวลา 19.00-24.00 น. จากนั้นทาง อบต.อ่าวนางก็จะส่งรถขยะออกไปจัดเก็บ

“นอกจากนี้ อบต.อ่าวนางยังให้ความสำคัญกับการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง เราจึงรณรงค์ให้ครัวเรือนและผู้ประกอบการคัดแยกขยะ เนื่องจากขยะในตำบลอ่าวนางมีจำนวนมาก ทำให้เป็นที่หมายปองของซาเล้งเก็บของเก่าทั้งในและนอกพื้นที่ เราจึงได้จัดทำโครงการ “สายตรวจซาเล้ง” คือเปิดให้กลุ่มซาเล้งมาขึ้นทะเบียน กรอกประวัติ และรับเสื้อกั๊กอย่างถูกต้อง สุดท้ายคนกลุ่มนี้จะช่วยคัดแยกขยะ สามารถนำไปขายสร้างรายได้ และยังช่วยเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแสความไม่ชอบมาพากลให้กับเจ้าหน้าที่อีกแรงหนึ่ง โดยประเด็นการคัดแยกขยะก็ถูกบรรจุอยู่ในธรรมนูญสุขภาพด้วยเช่นกัน” นายพันคำกล่าว

นพ.วีรพงศ์ สกลกิติวัฒน์ ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดกระบี่ และประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต 11

ทางด้าน นพ.วีรพงศ์ สกลกิติวัฒน์ ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดกระบี่ และประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต 11 กล่าวว่า ปัญหาขยะมูลฝอยและการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเลเป็นวาระที่สมาชิกสมัชชาสุขภาพจังหวัดกระบี่ ซึ่งประกอบด้วยภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้ประกอบการ หน่วยราชการ และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน แสดงความกังวลและให้ความสำคัญในการแก้ไขเป็นอย่างมาก โดยที่ประชุมได้มีฉันทามติเมื่อปี 2560 และขับเคลื่อนมติฯ ตลอดปี 2561 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน โดยอยู่ในช่วงประเมินว่าควรจะปรับปรุงหรือต่อยอดอย่างไร

นพ.วีรพงศ์กล่าวอีกว่า ประเด็นเดียวกันนี้ยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์สานพลังของ กขป.เขต 11 เรื่องสุขภาวะทางทะเล เนื่องจากขยะมูลฝอยที่ไหลลงสู่ทะเลนั้นส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดมาจากบนบก ดังนั้น กขป.เขต 11 จึงให้น้ำหนักไปที่การรณรงค์ในระดับตำบล หมู่บ้าน พร้อมๆ กับการผลักดันกฎหมายและการสื่อสารเพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชน

“พื้นที่ตำบลอ่าวนางเมื่อ 5 ปีก่อนไม่ได้สะอาดเหมือนทุกวันนี้ ตามถนนริมชายหาด ตรอกซอกซอย ล้วนแต่เต็มไปด้วยขยะมูลฝอยส่งกลิ่นเหม็น ถึงแม้ว่า อบต.อ่าวนาง จะมีความคิดและมีมาตรการแก้ไขปัญหาหลากหลาย แต่ก็ประสบผลสำเร็จได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น แต่การตื่นตัวของชาวบ้าน การร่วมกันจัดทำธรรมนูญสุขภาพเป็นข้อกำหนดของพื้นที่ นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว” นพ.วีรพงศ์กล่าว

นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เล่าถึงปัญหาขยะในตำบลอ่าวนางว่า ปัญหาขยะในพื้นที่อ่าวนาง ซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวชื่อดัง นอกจากจะผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแล้วยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอีกด้วย ทำให้ชุมชนท้องถิ่นลุกขึ้นมาหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน และนำเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมอย่าง “ธรรมนูญสุขภาพ” เข้ามาใช้ในการแก้ปัญหา

แม้ที่ผ่านมาทาง อบต.อ่าวนางจะใช้ทุกวิถีทางในการแก้ไขปัญหา ทั้งการออกเทศบัญญัติหรือกฎกติกาต่างๆ แต่ด้วยสิ่งเหล่านั้นถูกกำหนดมาจากภาครัฐหรือท้องถิ่น จึงแตกต่างกับธรรมนูญสุขภาพฯ ที่มีลักษณะเป็นกฎกติกาเหมือนกันแต่เกิดจากทุกคนในชุมชนมาตกลงร่วมกัน ดังนั้นธรรมนูญสุขภาพจึงนับเป็นอำนาจอ่อนของชุมชนที่ทุกคนมองเห็นปัญหาร่วมกัน

“เมื่อเกิดข้อตกลงร่วมจนเป็นกติกาสังคมขึ้นมาแล้ว ท้องถิ่นก็ได้นำกติกาสังคมนั้นไปยกระดับเป็นเทศบัญญัติที่ทุกคนยอมรับ ซึ่งเท่ากับเป็นพื้นที่กลางที่อำนาจอ่อนและอำนาจแข็งได้มาบรรจบกัน ตรงนี้ก็จึงนำมาสู่ผลิตผล นั่นคือรูปธรรมในการแก้ไขปัญหา”

นางอรพรรณกล่าวต่อว่า ธรรมนูญสุขภาพฯ เป็นเครื่องมือที่ให้บทบาทแก่คนทุกคน สอดคล้องกับวิถีชีวิตและธรรมชาติของแต่ละคน ดังนั้นทุกคนในสังคมไม่ว่าจะเป็นคนเล็กคนน้อยก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน เช่น ชาวบ้านก็ต้องเอาขยะมาวางทิ้งตามเวลาที่กำหนด ต้องมัดปากถุงและแยกขยะ ขณะที่ซาเล้งก็ได้มาเป็นจิตสาธารณะที่ดูแลเรื่องขยะ รวมถึงดูแลเรื่องความปลอดภัยของสังคมบนเนื้องานที่ตนเองทำอยู่ หรืออย่างเช่นชาวเรือหางยาว ก็ใช้บทบาทของตนเองในการสร้างจิตสำนึกให้นักท่องเที่ยวด้วย ทั้งนี้ ปัญหาขยะไม่ใช่เพียงเรื่องเศษผงที่ทิ้งอยู่ข้างทาง แต่เป็นเรื่องการจัดการเชิงระบบที่ใหญ่มาก เห็นได้จากการให้ความสำคัญทั้งในส่วนของสมัชชาสุขภาพจังหวัดกระบี่ และยังถูกกำหนดเป็นยุทธศาสตร์และนโยบายของจังหวัดด้วย ส่วนภาควิชาการก็ได้เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้ พัฒนานวัตกรรม เช่น การทำถนนจากอิฐบล็อกจากพลาสติก ซึ่งทั้งหมดมีส่วนหนุนเสริมและสร้างความมั่นใจให้กับพื้นที่เป็นอย่างดี

ก้อนอิฐที่ทำจากขยะในพื้นที่ตำบลอ่าวนาง โดยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

นายสุพจน์ ชดช้อย รักษาการผู้อำนวยการกองสาธารณสุข อบต.อ่าวนาง เล่าถึงปัญหาขยะในพื้นที่ว่า ต.อ่าวนางมีประชากรในพื้นที่ทั้งหมด 1.3-1.4 หมื่นคน แต่จากการเติบโตของเมืองทำให้มีประชากรแฝงราวๆ 3 หมื่นคนเข้ามาทำงานในพื้นที่ ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่จึงมาจากผู้อยู่อาศัยเดิมเพียง 30-35 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยสัดส่วนที่มาจากภายนอกนั้นมีมากถึง 60-65 เปอร์เซ็นต์ ทางเทศบาลจึงเริ่มต้นการแก้ปัญหาขยะด้วยการซื้อถังขยะแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในพื้นที่ แต่ต่อมาพบว่าปัญหาจำนวนถังขยะมหาศาลที่อยู่ในพื้นที่ส่งผลต่อภูมิทัศน์การท่องเที่ยว และมีการทิ้งวัสดุหลากหลายชนิด เช่น ก้อนหิน เศษแก้วแตก เศษเหล็ก ซึ่งได้สร้างปัญหาให้กับพนักงานเก็บขยะเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาการลักลอบทิ้งขยะจากบุคคลภายนอก ทางเทศบาลจึงปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานโดยการหาพูดคุยหามติร่วมและยกเลิกการใช้ถังขยะในพื้นที่โดยใช้ถุงดำเข้ามาทดแทน

ต่อมาพบว่าการใช้ถุงดำกลับก่อให้เกิดความกังวลในด้านความปลอดภัย เนื่องจาก ต.อ่าวนางเป็นพื้นที่ที่มีคนพลุกพล่านและเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ รวมถึงปัญหาของซาเล้งที่เข้าออกในพื้นที่และทำให้เกิดความสกปรกจากการกรีดถุงขยะ จึงเกิดแนวคิดในการจัดระเบียบซาเล้งให้ร่วมกันรักษาความสะอาดพร้อมทั้งดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ โดยจัดให้มีการลงทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายและพูดคุยทำความเข้าใจกติการ่วมกัน ในขณะปฏิบัติงานซาเล้งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้วจะต้องสวมเสื้อกั๊กของ อบต.ตลอดเวลาเพื่อเป็นการยืนยันตัวตนและทำให้ชาวบ้านรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น

ซาเล้งในพื้นที่ทั้งหมด 52 รายจะถูกจัดแบ่งโซนในการทำงานและรับผิดชอบกับความสะอาดในพื้นที่นั้นๆ และสอดส่องดูแลความปลอดภัยให้กับเทศบาล

ความสำคัญของซาเล้งนอกจากจะมีส่วนช่วยในการดูแลความปลอดภัยให้กับพื้นที่แล้ว ยังมีส่วนช่วยในการดูแลความสะอาดให้กับท้องถิ่น เช่น การทิ้งไขมันจากผู้ประกอบการในท้องถิ่นที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยเมื่อมีการรายงานไปยังทาง อบต. เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะร่วมพูดคุยกับผู้ประกอบการในเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป

นายสุพจน์ยังเล่าถึงการดำเนินการของ อบต.เพิ่มเติมว่า ในอนาคตจะมีการผลักดันให้มีการใช้รูปแบบถุงกึ่งใสที่มีตราสัญลักษณ์ของท้องที่ในการเก็บขยะ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้มากขึ้นและป้องกันปัญหาการลักลอบทิ้งขยะจากภายนอก ทั้งนี้ยังทำให้ครัวเรือนมีส่วนร่วมในการแยกขยะมากขึ้นจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการใช้ถุงกึ่งใสเข้ามาทดแทน