ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ (archive) > มช. เปิดงานวิจัย 11 ศูนย์ ภายใต้แนวคิด “จากงานวิจัยชั้นเลิศสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่”

มช. เปิดงานวิจัย 11 ศูนย์ ภายใต้แนวคิด “จากงานวิจัยชั้นเลิศสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่”

30 สิงหาคม 2019


ข่าวประชาสัมพันธ์

ศูนย์ความเป็นเลิศกับการพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สบว.) และ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดสัมมนาวิชาการและแสดงนิทรรศการ ผลงานศูนย์ความเป็นเลิศกับการพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือ 11 ศูนย์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จากการวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่

ศาสตราจารย์สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการสัมมนา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักวิจัย จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ภาคประชาสังคม และนักศึกษา ร่วมงานสัมมนาวิชาการและแสดงนิทรรศการ เรื่อง ศูนย์ความเป็นเลิศกับการพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อจัดแสดงผลงานวิจัยของ 11 ศูนย์ความเป็นเลิศ ภายใต้แนวคิด “จากงานวิจัยชั้นเลิศสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่” และถ่ายทอดองค์ความรู้ ฝึกอบรม และให้บริการวิชาการให้กับภาคการผลิตและบริการในพื้นที่ ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนารูปแบบการทำงานวิจัยให้สามารถตอบโจทย์ปัญหาของพื้นที่ได้ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินการอภิปรายพิเศษในหัวข้อ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยวิจัยและนวัตกรรม” เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562

ศาสตราจารย์สัมพันธ์ ได้บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการวิจัยและนวัตกรรม” พร้อมผลักดันให้ศูนย์ความเป็นเลิศ หรือ Center of Excellence ทำหน้าที่เป็นกลไกหลักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้ CoE เป็นต้นแบบสำหรับการวิจัยเชิงบูรณาการข้ามสาขาวิชาและข้ามสถาบัน เป็นหน่วยวิจัยที่สามารถผลิตผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการ และแก้ปัญหาให้กับสังคมได้อย่างทันท่วงที กล่าวคือเป็นที่พึ่งพิงทางวิชาการให้กับสังคม และเป็นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือเป็นส่วนผลิตผลงานวิจัยคุณภาพ ที่สามารถนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ได้ในเชิงพาณิชย์

ในการนี้ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้กล่าวย้อนถึงแนวคิดและต้นกำเนิดของ CoE ว่าเกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2542 จากการที่ สกอ. ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยเฉพาะทางด้าน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในสาขาที่มีความต้องการเร่งด่วนของประเทศในขณะนั้นขึ้น ในลักษณะเป็นภาคีเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและวิจัย เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่จำนวนทั้งสิ้น 11 ศูนย์ ประกอบด้วย

    1) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางเคมี
    2) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา
    3) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย
    4) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
    5) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม
    6) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร
    7) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว
    8) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์
    9) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์
    10) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
    11) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์

ในระยะแรกของการดำเนินงาน ศูนย์ความเป็นเลิศมุ่งเน้นการปูรากฐานเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านวิชาการ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การวิจัยและพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบและเปลี่ยนผ่านสู่การวิจัยและพัฒนา ที่มุ่งสร้างนวัตกรรม และเทคโนโลยี ควบคู่กับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพอย่างในปัจจุบัน ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การวิจัย 4 ด้าน คือ

    1.ยุทธศาสตร์การวิจัยเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ
    2.ยุทธศาสตร์การวิจัยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต
    3.ยุทธศาสตร์การวิจัยเพื่อสร้างการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ
    4.ยุทธศาสตร์การวิจัยพื้นฐานที่นำไปสู่การสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ เป็นคลังความรู้ของประเทศ

ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่ศูนย์ความเป็นเลิศได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งพึ่งพิงด้านวิชาการให้กับสังคมด้วยดีมาโดยตลอด และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์อย่างมาก เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีต้นแบบ กว่า 200 ชิ้นงาน การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 256 ชิ้นงาน การตีพิมพ์ผลงานการวิจัยในวารสารทั้งในและต่างประเทศ จำนวนกว่า 14,000 ชิ้นงาน การผลิตกำลังคนระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่ระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และระดับหลังปริญญาเอก กว่า 9,850 คน ตลอดจนการให้บริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี กว่า 55,000 กิจกรรม

สำหรับการสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำผลงานของศูนย์ความเป็นเลิศ ทั้ง 11 ศูนย์ ออกแสดงในพื้นที่ ภาคเหนือเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จากการวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ แสวงหาโจทย์ปัญหาเพื่อใช้กำหนดทิศทางการวิจัยให้สอดคล้องและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริง และขยายขอบเขตความร่วมมือในการทำงานวิจัยกับผู้รู้ในท้องถิ่น เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัยและผู้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยโดยตรง โดยกิจกรรมในวันนี้ มีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานการวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศ ภายใต้แนวคิด “จากงานวิจัยชั้นเลิศสู่การใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่” โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มหลัก ๆ คือ

1) กลุ่มเกษตรยั่งยืน
2) กลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน
3) กลุ่มเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรม
4) กลุ่มรักสุขภาพ
5) กลุ่ม STEM Education รวมถึงการอภิปรายทั่วไป โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ในหัวข้อเรื่อง “ร่วมสร้างเมืองเหนือให้ รุ่งเรือง อย่างยั่งยืนด้วยการวิจัยและนวัตกรรม” และในภาคบ่ายเป็นการเสวนาและฝึกอบรมกลุ่มย่อยคู่ขนานโดยวิทยากรจากศูนย์ความเป็นเลิศต่างๆ 5 หัวข้อ ประกอบด้วย

1. การเสวนา เรื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ “Fact and Fear”
2. การเสวนา “การวิจัยและให้บริการเกษตรภาคเหนือ (โคนม กล้วย และเมล็ดพันธุ์)”
3. การเสวนา “นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางคณิตศาสตร์กับการแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควัน”
4. การเสวนา “การจัดการพลังงานกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและการท่องเที่ยวในภาคเหนือ”
5. การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาครูตามแนวทาง STEM Education สำหรับศตวรรษที่ 21”

  • ตามล่าหาสมบัติ
  • วิศวกรรมยานยนต์จากผักและผลไม้
  • การเรียนรู้ฟิสิกส์เชิงรุก