ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > เปิดอีกด้านของเงินดิจิทัล CBECI ดัชนีวัดการใช้พลังงานบิตคอยน์ ชี้ใช้ไฟฟ้ามากกว่าสวิตเซอร์แลนด์ทั้งประเทศ

เปิดอีกด้านของเงินดิจิทัล CBECI ดัชนีวัดการใช้พลังงานบิตคอยน์ ชี้ใช้ไฟฟ้ามากกว่าสวิตเซอร์แลนด์ทั้งประเทศ

1 สิงหาคม 2019


ที่มาภาพ: https://www.coindesk.com/bitcoin-hits-17-month-high-above-12-9k

CBECI (Cambridge Bitcoin Electricity Consumption Index) ซึ่งเป็นดัชนีวัดการใช้พลังงานสกุลเงินดิจิทัลที่พัฒนาโดย Cambridge Centre for Alternative Finance ศูนย์วิจัยด้านวิชาการของ Cambridge Judge Business School แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พบการใช้พลังงานของสกุลเงินดิจิทัลอยู่ในระดับที่น่ากังวล เพราะการขุดบิตคอยน์ใช้ไฟฟ้ามากกว่าสวิตเซอร์แลนด์ทั้งประเทศ ขณะที่ในอาเซียนซึ่งเป็นศูนย์ขุดบิตคอยน์แห่งใหม่ ก็มีการใช้พลังงานมากกว่าสิงคโปร์ทั้งประเทศ อีกทั้งยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง

ในยุคเทคโนโลยีก้าวหน้า เงินดิจิทัลหรือสกุลเงินคริปโต (คริปโตเคอเรนซี – cryptocurrency) มีการพัฒนาออกมาอย่างต่อเนื่องในหลายชื่อ ตั้งแต่ บิตคอยน์ (Bitcoin) เอเทอร์เรียม (Ethereum) ไลต์คอยน์ (Litecoin) และล่าสุดเฟซบุ๊กกำลังพัฒนาเงินลิบรา (Libra)

สกุลเงินดิจิทัลส่วนหนึ่งมีประสิทธิภาพในการช่วยป้องกันปัญหาการรวมศูนย์การทำธุรกรรมที่ไม่สามารถตรวจสอบความโปร่งใสได้เต็มที่ เพราะการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินดิจิทัลบนเทคโนโลยีบล็อกเชนมีการบันทึกการทำธุรกรรมแบบกระจาย ไม่มีสถาบันการเงินใดหรือคนกลางใดสามารถควบคุมการทำธุรกรรมได้เพียงผู้เดียว แต่ต้องได้รับการยินยอมจากทุกคนที่อยู่ในเครือข่าย เพราะสามารถเข้าถึงการทำธุรกรรม ช่วยกันตรวจสอบยืนยันและทำสำเนาข้อมูลเก็บไว้

มูลค่าตลาดของสกุลเงินคริปโตใน 100 อันดับแรกสูงถึง 200,000 ล้านดอลลาร์ เฉพาะบิตคอยน์ก็มีสัดส่วนมูลค่าตลาดมากกว่าครึ่งของมูลค่าตลาดของสกุลเงินคริปโต 100 อันดับแรกรวมกัน

การขุดบิตคอยน์หมายถึงการผลิตบิตคอยน์ผ่านการถอดสมการคณิตศาสตร์โดยคอมพิวเตอร์ บนเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยทุกคนต้องแก้โจทย์คณิตศาสตร์ ร่วมกับกระบวนการบันทึก ยืนยันข้อมูล ระบบบิตคอยน์ออกแบบให้รางวัลกับคนที่ทำหน้าที่ช่วยระบบประมวลผล ในรูปแบบของ coin

ในเดือนธันวาคม 2017 มูลค่าบิตคอยน์ปรับตัวสูงถึง 17,000 ดอลลาร์ต่อ 1 คอยน์ และธุรกิจการขุดบิตคอยน์ก็มีการแข่งขันมากขึ้น ในปีนี้มูลค่าบิตคอยน์เพิ่มขึ้นเป็น 11,000 ดอลลาร์ต่อ 1 คอยน์หลังเฟซบุ๊กประกาศแผนพัฒนาเงินลิบรา

อาเซียนแหล่งใหม่ขุดบิตคอยน์

ปัจจุบัน จีนเป็นแหล่งใหญ่สุดของโลกในการขุดบิตคอยน์ แต่หลังจากรัฐบาลจีนสั่งห้ามการขุดบิตคอยน์ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา การขุดบิตคอยน์จึงได้ย้ายฐานมาที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา และมีการขยายตัวสูง โดยเฉพาะในกัมพูชาที่กลายเป็นศูนย์กลางการซื้อขายและขุดบิตคอยน์ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากค่าเช่าสถานที่และค่าไฟฟ้าถูกกว่า บวกกับการไม่มีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด ในปีที่ผ่านมากัมพูชาได้เปิดตัวตลาดซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลแห่งแรกชื่อ LockCoin

เว็บไซต์ aseanpost มีรายงานเตือนว่าการใช้พลังงานของสกุลเงินดิจิทัลอยู่ในระดับที่น่ากังวล โดยเฉพาะหลังจากที่มีการย้ายฐานการขุดบิตคอยน์เข้ามาในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งมีการใช้พลังงานมากกว่าสิงคโปร์ทั้งประเทศ อีกทั้งยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง

การขุดคอยน์เป็นธุรกิจพิเศษ ต้องใช้กลุ่มของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องแม่ข่ายและเก็บอยู่ในสถานที่เดียวกัน หรือ server farm และโดยที่ต้องให้ทุกคนหรือคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องมายืนยันรายการในการถอดโจทย์คณิตศาสตร์ ต้องอาศัยคอมพิวเตอร์ที่มีกำลังในการคำนวณสูงมาก หรือการใช้ฮาร์ดแวร์ที่มีประสิทธิภาพ จึงมีการใช้ทรัพยากรในการประมวลผลมหาศาล เพื่อผลิต 1 คอยน์ใหม่

การขุดคอยน์จึงมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ทั้งด้านการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ที่มาภาพ: http://www.epe.admin.cam.ac.uk/cambridge-bitcoin-electricity-consumption-index-cbeci

ใช้ไฟฟ้ามากกว่าสวิตเซอร์แลนด์ทั้งประเทศ

การใช้พลังงานโดยรวมในเครือข่ายบิตคอยน์เพิ่มขึ้นและมากกว่าการใช้พลังงานของบางประเทศ โดยจากข้อมูลที่จัดเก็บโดยเครื่องมือออนไลน์ CBECI ที่เปิดตัวในเดือนกรกฎาคมนี้ของ Cambridge Centre for Alternative Finance ศูนย์วิจัยด้านวิชาการของ Cambridge Judge Business School แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่พัฒนาขึ้นเพื่อวัดการใช้พลังงานในการรักษาเครือข่ายบิตคอยน์แบบเรียลไทม์ จากความกังวลที่เพิ่มขึ้นผลกระทบของบิตคอยน์ต่อความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม เพราะการขุดบิตคอยน์ต้องมีการถอดรหัสคอมพิวเตอร์ซึ่งต้องไฟฟ้ามหาศาล

CBECI ให้ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของบิตคอยน์ที่เป็นกลางบนแพลตฟอร์ม ซึ่งผู้ดูแลด้านนโยบาย ผู้กำกับดูแล นักวิจัย สื่อมวลชนและภาคส่วนอื่นๆนำไปใช้ได้ เพราะมีฟีเจอร์เปรียบเทียบให้ผู้เข้าเว็บไซต์CBECIเห็นภาพการใช้ไฟฟ้าของบิตคอยน์ เช่น การใช้ไฟฟ้าต่อปีของบิตคอยน์ที่ 50 เทราวัตต์ต่อชั่วโมง (TWh) เทียบเท่าการใช้กาต้มน้ำไฟฟ้าทุกตัวในยุโรปได้ทั้งปี หรือเทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้ 365 ปี และหากเปิดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทิ้งไว้โดยไม่ใช้งานตลอดทั้งปีในสหรัฐอเมริกาก็จะเพิ่มพลังให้กับเครือข่ายบิตคอยน์ถึง 4 เท่า

CBECI พบว่า เครือข่ายบิตคอยน์ทั้งโลกใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่า 7 กิกะวัตต์ (GW) หรือตลอดทั้งปีเท่ากับ 64 เทราวัตต์ต่อชั่วโมง และคิดเป็นสัดส่วนราว 0.25% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งโลก มากกว่าที่สวิตเซอร์แลนด์ใช้ทั้งประเทศในช่วงเวลาเดียวกัน และการขุดบิตคอยน์มีการใช้พลังงานมากกว่าสิงคโปร์ทั้งประเทศ มากกว่าการใช้กาไฟฟ้าต้มน้ำทั้งประเทศอังกฤษในเวลา 11 ปี

ที่มาภาพ: https://www.theverge.com/2019/7/4/20682109/bitcoin-energy-consumption-annual-calculation-cambridge-index-cbeci-country-comparison

มิเชล เราชส์ หนึ่งในผู้ร่วมพัฒนา CBECI กล่าวว่า การเปรียบเทียบจะทำให้เห็นภาพ ผู้ที่เข้าเว็บไซต์ก็จะคิดได้เองว่ามากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม แม้จะแสดงให้เห็นว่าบิตคอยน์ใช้พลังงานมากในการรักษาเครือข่ายและยังช่วยให้มีการชำระเงินต่อได้ แต่ก็เป็นการประมาณการณ์เท่านั้น

ไม่ว่าการใช้พลังงานของบิตคอยน์จะมีตัวเลขเท่าไร แต่ก็กระตุ้นการตื่นตัว เพราะการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว บางครั้งเพิ่มขึ้น 2 เท่าในเวลาไม่ถึง 6 เดือน และการใช้พลังงานมหาศาลนี้เป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย แม้ว่าจะประเมินผลกระทบได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากไม่สามารถระบุลงได้ชัดว่าการใช้คอมพิวเตอร์ขุดบิตคอยน์ใช้ไฟฟ้าเท่าไร แต่อเล็กซ์ เด วรีส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านคริปโตเคอรเรนซีจาก PwC ให้ข้อมูลว่า แม้ธุรกรรมจากเครือข่ายบิตคอยน์ต่อปีน้อยกว่า 100 ล้านรายการ ซึ่งเมื่อเทียบกับธุรกรรมทางการเงินที่มี 500,000 ล้านรายการต่อปีถือว่าน้อยมาก แต่การใช้พลังงานต่อการทำธุรกรรมหนึ่งรายการของบิตคอยน์สูงกว่าการทำธุรกรรมการเงินของธนาคารทั้งโลกรวมกัน

ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง

แมกซ์ เคราส์ นักวิจัยจาก Oak Ridge Institute for Science and Education และเป็นผู้เขียนนำในรายงานวิจัยเรื่อง Quantification of energy and carbon costs for mining cryptocurrencies ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Sustainability ปีที่แล้วกล่าวว่า “ขณะนี้มีธุรกิจใหม่เกิดขึ้นที่ใช้พลังงานมหาศาลต่อปีมากกว่าการใช้พลังงานของหลายประเทศ”

แมกซ์ เคราส์ กล่าวว่า “เราต้องการสร้างการตระหนักและรับรู้ถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมจากการขุดสกุลเงินคริปโต อีกทั้งการผลิตสินค้าดิจิทัลไม่ได้หมายความว่าไม่มีการใช้พลังงานอย่างมหาศาล”

ปัจจุบันไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า server farm ในโลกมีจำนวนมากเท่าไร แต่การใช้พลังงานมหาศาลในการขุดบิตคอยน์ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในปริมาณมาก โดยวารสาร Joule ฉบับเดือนมิถุนายน 2019 มีรายงานว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีจากการขุดเงินสกุลดิจิทัลมากถึง 22-22.9 เมกะตัน

คริสเตียน สตอลล์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิวนิกและเอ็มไอทีกล่าวว่า” เราไม่มีคำถามต่อประสิทธิภาพที่ได้จากเทคโนโลยีบล็อกเชน อย่างไรก็ตาม ข้อที่กำลังถกเถียงกันคือผลตอบแทนที่คาด และการให้ความสำคัญต่อต้นทุนที่เกิดขึ้น”

สตอลล์กล่าวอีกว่า ปัญหาใหญ่สุดคือ การขุดคอยน์ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในจีน ซึ่งพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการขุดคอยน์โดยตรงหรือกระจายออกไปยัง server หลายเครื่อง

การใช้พลังงานทดแทนในการขุดคอยน์แทนการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง รวมไปถึงการพัฒนาอัลกอริทึมที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น เช่น ชุดคำสั่ง การพิสูจน์จากปริมาณงาน (proof-of-work) หรือ การพิสูจน์จากจำนวนคอยน์ที่ถือ (proof-of-stake)

แนวโน้มสกุลเงินดิจิทัลยังเติบโตต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้พัฒนา นักขุดคอยน์ และผู้ใช้ ต้องตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และบิตคอยน์จะยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพหรือมีทางเลือกที่ประหยัดพลังงาน

ที่มาภาพ: https://theaseanpost.com/article/alarming-energy-use-digital-coin-mining