ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ (archive) > ซัมซุงส่งมอบ 4 ต้นแบบ “ห้องเรียนแห่งอนาคต” ให้ สพฐ. ขยายผลห้องเรียนสร้างพลัง สู่โรงเรียนทั่วประเทศ

ซัมซุงส่งมอบ 4 ต้นแบบ “ห้องเรียนแห่งอนาคต” ให้ สพฐ. ขยายผลห้องเรียนสร้างพลัง สู่โรงเรียนทั่วประเทศ

25 มิถุนายน 2019


ข่าวประชาสัมพันธ์

บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด จัดงาน 6 ปี สร้างพลังเรียนรู้สู่อนาคต เพื่อส่งมอบนวัตกรรมและความสำเร็จจากโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต แก่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งโครงการได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน โดยได้พัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และใช้เทคโนโลยีของซัมซุงมาขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ของเด็กไทยให้มีทักษะของศตวรรษใหม่ พัฒนาต้นแบบ “ห้องเรียนแห่งอนาคต” ในโรงเรียน 50 แห่งทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2562

นางวรรณา สวัสดิกูล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มุ่งเน้นการพัฒนาโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม โดยยึดแนวคิดด้าน ศักยภาพคน และการพัฒนาสู่ชีวิตที่ดีร่วมกัน (people and co-prosperity) ดังนั้น จึงได้พัฒนาโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต มีเป้าหมายส่งเสริมการพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กและเยาวชน ผ่านแนวคิด ห้องเรียนแห่งอนาคต โดยเริ่มพัฒนาต้นแบบร่วมกับโรงเรียนภาคีนำร่อง 10 แห่ง เมื่อปี 2556 จนถึงวันนี้มีจำนวนโรงเรียนภาคีร่วมโครงการรวม 50 แห่ง กระจายอยู่ทุกภาคทั่วประเทศ มีครูที่ผ่านการอบรมจากโครงการกว่า 4,000 คน และเด็กที่ผ่านประสบการณ์ห้องเรียนแห่งอนาคตกว่าแสนคน

ในห้องเรียนแห่งอนาคต ซัมซุงได้นำเทคโนโลยี มาสนับสนุนการจัดการเรียนรู้แบบ active learning เพิ่มความสามารถและเสริมศักยภาพผู้เรียนให้พัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21

ภายในเวลา 6 ปี แนวคิดห้องเรียนแห่งอนาคตได้รับการนำไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียนที่มีบริบทแตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ โรงเรียนประจำอำเภอ โรงเรียนประถมขยายโอกาส โรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแม้แต่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม อย่างได้ผล

“ซัมซุงร่วมกับคณะผู้บริหารและคณะครูจากโรงเรียนภาคีร่วมโครงการทั้งหมด มีความยินดีที่จะส่งมอบกระบวนการจัดการและข้อเรียนรู้ที่ได้จากการพัฒนาต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคต ที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 6 ปี เพื่อแบ่งปันสู่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้มีส่วนกำหนดนโยบายด้านการศึกษา รวมไปถึงผู้ที่สนใจขับเคลื่อนการพัฒนาด้านการศึกษา ที่จะนำไปปรับใช้หรือพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไป”

นายวาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต กล่าวว่า ความสำเร็จในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับเด็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ได้เห็นการพัฒนาทักษะใหม่ๆ จากการที่เขาได้ทำโครงงานร่วมกัน การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสืบค้นข้อมูล ฝึกตั้งคำถาม หาคำตอบ คิดวิเคราะห์และเรียนรู้ด้วยตัวเอง ก่อนจะสร้างสรรค์ผลงาน การเล่าเรื่องผ่านสื่อดิจิทัล (digital storytelling) เพื่อสื่อสารและแบ่งปันการค้นพบ

นอกจากเด็กแล้ว ที่สำคัญก็คือครูในโครงการ ซึ่งยอมเปลี่ยนจากผู้สอนมาเป็นโค้ชผู้อำนวยกระบวนการเรียนรู้ ก็ถือเป็นต้นแบบของความเสียสละและกล้าที่จะเริ่มทดลองทำในสิ่งใหม่ๆ เพราะว่าคุณครูเข้าใจว่าโลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ความรักความห่วงใยลูกศิษย์ จึงยินดีจะเป็นผู้เริ่มเปลี่ยนแปลงแนวทางการเรียนการสอนสู่วิธีที่ไม่คุ้นเคย

หลังจากที่ครูเปลี่ยนวิธีสอน ก็ได้เห็นผลว่าเด็กเปลี่ยน มีพัฒนาการขึ้นทุกด้าน ทำให้ครูเกิดกำลังใจและมุ่งมั่นพัฒนาการจัดการเรียนรู้แบบใหม่นี้ไปในวิธีของตนเอง จนเกิดเป็นต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคตที่มีความหลากหลายไม่ซ้ำกัน พร้อมให้โรงเรียนอื่นๆ ที่มีเงื่อนไขแวดล้อมคล้ายๆ กัน นำไปปรับใช้ได้

นายวาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต

“เราเชื่อมั่นว่าห้องเรียนแห่งอนาคตนี้เป็นสิ่งที่ยั่งยืน เพราะความรู้และประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้แบบใหม่บัดนี้อยู่ในตัวครูทุกคนแล้ว ครูในโครงการไม่เพียงแค่สอนเด็ก แต่ยังถ่ายทอดต่อให้เพื่อนครูคนอื่นๆ จนเกิดเครือข่ายครูแห่งอนาคตที่น่าชื่นชม”

นายอัมพร พินะสา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า การจัดระบบการศึกษาแบบเดิมในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา มุ่งเน้นความทั่วถึงแต่เกิดความไม่เท่าเทียมกันจากบริบทและข้อจำกัดต่างๆ

“โครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต จึงเป็นแนวทางที่เปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ ใช้เทคโนโลยี และใช้ปัญญาแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหา จากห้องเรียนสู่ชุมชนและโลกกว้าง”

“สพฐ.จะนำข้อคิดและนำข้อเรียนรู้ที่ได้จากโครงการฯนี้ไปขยายผลให้เติบโตในโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล และขอให้ทางผู้บริหารและคุณครูช่วยกันถ่ายทอดความรู้นี้ต่อไป เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนให้เกิดประโยชน์กับนักเรียนมากที่สุด”

สำหรับห้องเรียนต้นแบบที่ซัมซุงส่งมอบให้กับ สพฐ. ประกอบด้วยห้องเรียนสร้างพลัง, ห้องเรียนขยาย เชื่อมชุมชนเป็นทุนหนุนการเรียนรู้, ห้องเรียนมีหัวใจ เมื่องานวิจัยมีชีวิต และห้องเรียนเชื่อมโลก บูรณาการสู่ศตวรรษที่ 21

ห้องเรียนสร้างพลัง มีแนวคิดว่าการเรียนรู้อย่างแท้จริงจะเกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนได้เข้ามามีส่วนร่วม ห้องเรียนสร้างพลังเป็นพื้นที่ที่ทำให้เด็กเชื่อมั่นว่าเขามีพลัง สามารถกำหนดวิธีการเรียนรู้ หาคำตอบ สร้างความรู้ได้เองแทนที่จะรอรับความรู้ทำตามคำสั่ง พื้นที่แบบนี้เกิดขึ้นได้ เมื่อครูเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็ก และพร้อมเปลี่ยนบทบาทจากผู้ให้ความรู้สู่โค้ชผู้อำนวยการกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ หาข้อมูล คิดวิเคราะห์ สรุปสู่คำตอบ โดยมีครูคอยกระตุ้นหนุนเสริมให้เด็กพัฒนาทักษะการเรียนรู้ไปได้จนถึงที่สุด

ห้องเรียนสร้างพลัง

ห้องเรียนขยาย เชื่อมชุมชนเป็นทุนหนุนการเรียนรู้ เมื่อห้องเรียนไม่ถูกจำกัดด้วยผนังห้อง การเรียนรู้ไม่มีขีดจำกัด ชุม ชนเป็นพื้นที่ใกล้ตัวที่พร้อมให้เด็กกลับไปรู้จักรากเหง้าของตัวเองและเพื่อนร่วมชุมชน เพื่อความเข้าใจความแตกต่างและค้นพบอัตลักษณ์ และยังเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องจริงอันหลากหลายไม่รู้จบ ไม่ว่าจะเป็นวิถีการทำมาหากินในท้องถิ่น ปัญหาและความเปลี่ยนแปลงที่ชุมชนต้องปรับตัวเพื่อรับมือ เด็กในฐานะสมาชิกของชุมชนจึงไม่ใช่ผู้ที่รอรับผลกระทบ แต่อาศัยหลักสูตรเฉพาะถิ่น กระบวนการเรียนรู้แบบ active learning ช่วยให้เด็กคิดแก้ปัญหา เตรียมการรับมือ และแบ่งปันข้อค้นพบของตนกับชุมชน

ห้องเรียนขยาย เชื่อมชุมชนเป็นทุนหนุนการเรียนรู้

ห้องเรียนมีหัวใจ เมื่องานวิจัยมีชีวิต งานวิจัยไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อย้ำความรู้ในตำรา แต่เป็นเครื่องมือเพื่อค้นพบสิ่งใหม่ๆ และสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ในการทำงานวิจัย ครูไม่จำเป็นต้องมีคำตอบให้นักเรียน ไม่ว่าผลการวิจัยจะสำเร็จหรือล้มเหลว ทุกคนย่อมได้เรียนรู้ คำตอบอาจจะเป็นการค้นพบสิ่งใหม่ หรืออาจจะนำไปสู่กระบวนการคิดหาคำตอบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ห้องเรียนมีหัวใจ เมื่องานวิจัยมีชีวิต

ห้องเรียนเชื่อมโลก บูรณาการสู่ศตวรรษที่ 21 ครูต้องบูรณาการทุกวิชาให้การเรียนรู้ของนักเรียนเป็นหน่วยการเรียนรู้แบบสหวิชา และเชื่อมโยงกับแนวคิดหลักแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อให้เห็นว่าเนื้อหาในวิชาแกนนั้น เป็นความรู้ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้เรียนและความเป็นไปของโลกในแบบใด การเรียนแบบนี้จะทำให้เข้าใจเนื้อหาทุกๆ วิชาที่เรียนอย่างรอบด้าน เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิชาต่างๆ และความเกี่ยวข้องกับชีวิตทั้งในวันนี้และอนาคต ผู้เรียนหลักสูตรบูรณาการจึงสามารถเชื่อมโยงความรู้หลากสาขามาแก้ปัญหา มีมุมมองและวิธีคิดที่ดีครอบคลุม ซึ่งเป็นคุณสมบัติจำเป็นต่อการอยู่รอดในศตวรรษที่ 21 ที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง

ห้องเรียนเชื่อมโลก บูรณาการสู่ศตวรรษที่ 21

ห้องเรียนแห่งอนาคตของซัมซุง

ห้องเรียนแห่งอนาคตของซัมซุง คือ แนวคิดการจัดการเรียนรู้แบบใหม่ เอื้อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ผ่านการทำโครงงาน ฝึกทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศสืบค้นข้อมูล โดยมีครูเป็นผู้อำนวยกระบวนการเรียนรู้และจัดการเรียนรู้แบบ active learning ซึ่งสนับสนุนให้ผู้เรียนฝึกตั้งคำถาม หาคำตอบ เรียนวิธีการสืบค้นข้อมูล ฝึกคิดวิเคราะห์และเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง

นวัตกรรมของซัมซุง เอื้อให้ผู้เรียนได้สร้างสรรค์ผลงานด้วยการเล่าเรื่องผ่านสื่อดิจิทัล (digital storytelling) เพื่อสื่อสารและแบ่งปันการค้นพบ

แนวทางการดำเนินงานของห้องเรียนแห่งอนาคต ได้แก่ 1. สร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ใหม่ เป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เปิดโอกาสให้เข้าถึงเทคโนโลยี สามารถสืบค้นข้อมูล เรียนรู้ได้ด้วยตัวเองทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นห้องเรียน ชุมชน หรือโลกกว้างผ่านอินเทอร์เน็ต 2. พัฒนาบุคลากรในวิชาชีพ เช่น ครู ผู้บริหารการศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจในแนวคิดแบบ active learning มีวิธีการนำแนวคิดไปปฏิบัติในการเรียนการสอนได้จริง โดยโครงการได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับครูทั้งในและนอกโครงการอย่างต่อเนื่องประจำทุกปี

3. พัฒนาหลักสูตรและวิธีการจัดการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ 21 จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ครูสามารถพัฒนาหลักสูตรและแผนการเรียนการสอนให้เป็นการเรียนรู้แบบที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมได้ในทุกสาระวิชา 4. มีการติดตามและประเมินผลการพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ของผู้เรียนเป็นระยะตลอดปีการศึกษา เพื่อให้เห็นการพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ

ทักษะที่จำเป็นในอนาคตสำหรับศตวรรษที่ 21 ที่เด็กจะต้องมีประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม (learning and innovation skills – 4Cs) ทักษะชีวิตและการทำงาน (life and career skills) ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี (information, media and technology skills) ที่จะทำให้เด็กมีความสามารถในการสื่อสาร การแก้ปัญหา การคิดในเชิงวิพากษ์ ซึ่งการมีทักษะเหล่านั้นก็เพื่อพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งอนาคต