ThaiPublica > เกาะกระแส > สำรวจค้าปลีกท่องเที่ยวดิวตี้ฟรีทั่วโลกชี้มีแต่ขยายตัว เอเชีย-แปซิฟิกตลาดใหญ่สุด เกาหลีให้ SME บริหารร้านขาเข้า จีนแยกประมูลรับสนามบินใหม่

สำรวจค้าปลีกท่องเที่ยวดิวตี้ฟรีทั่วโลกชี้มีแต่ขยายตัว เอเชีย-แปซิฟิกตลาดใหญ่สุด เกาหลีให้ SME บริหารร้านขาเข้า จีนแยกประมูลรับสนามบินใหม่

10 เมษายน 2019


สนามบินปักกิ่งต้าซิง ที่มาภาพ: https://www.moodiedavittreport.com/china-duty-free-group-set-for-triumph-in-beijing-daxing-international-airport-duty-free-tenders-after-being-named-top-bidder-for-both-contracts/

ธุรกิจค้าปลีกท่องเที่ยว (travel retail) ทั่วโลกมีแนวโน้มจะขยายตัวอีกมาก รายงานของบริษัทวิจัยหลายแห่งบ่งชี้ในทิศทางเดียวกัน โดยรายงาน Travel Retail Market by Product and Channel: Global Opportunity Analysis and Industry Forecast, 2018 – 2025 ประเมินว่าขนาดของตลาดในปี 2568 จะมีมูลค่าถึง 153.7 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่รายงานของ Generation Research and European Travel Retail Confederation ประเมินยอดขายของร้านค้าปลอดภาษีและธุรกิจค้าปลีกท่องเที่ยวของโลกจะสูงถึง 120 พันล้านดอลลาร์ในปีเดียวกัน

ส่วนรายงาน Duty-Free and Travel Retail Market – Global Outlook and Forecast 2018-2023 คาดว่ามูลค่าตลาดค้าปลีกท่องเที่ยวปี 2566 จะสูงถึง 112 พันล้านดอลลาร์ และรายงาน Global Airport Retailing 2017-2022 คาดว่า ยอดขายของธุรกิจค้าปลีกท่องเที่ยวจะมีจำนวน 58.4 พันล้านในปี 2565

น้ำหอม-เครื่องสำอางกินส่วนแบ่งตลาด

รายงาน Travel Retail Market by Product and Channel: Global Opportunity Analysis and Industry Forecast, 2018-2025 ให้ข้อมูลว่า ตลาดธุรกิจค้าปลีกท่องเที่ยวปี 2560 มีมูลค่า 74.9 พันล้านดอลลาร์ มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในอัตราเฉลี่ย 9.6% ต่อปี ช่วงปี 2561-2568 โดยที่กลุ่มน้ำหอมและเครื่องสำอางมีสัดส่วนสูงสุดในตลาดค้าปลีกท่องเที่ยวทั่วโลก และมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง แบรนด์เครื่องสำอางชื่อดัง เช่น เอสเต ลอเดอร์, ลอรีอัล, เรฟลอน ได้ขยายเข้าธุรกิจเข้าสู่สนามบินนานาชาติมากขึ้นในรูปแบบร้านค้ารายเดียว (exclusive) ในสนามบิน แต่มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เนื่องจากผู้คนนับพันล้านคนเดินระหว่างประเทศทุกปีและใช้เงินและเวลากับสนามบินมากขึ้น ประกอบกับการจัดวางสินค้าที่เห็นได้ชัด ดึงความสนใจนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเลือกสินค้าได้มากขึ้น

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะใน กลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก
ลาตินอเมริกา และตะวันออกกลาง ซึ่งเพิ่มโอกาสให้กับตลาดค้าปลีกท่องเที่ยวทั่วโลก

กลุ่มสินค้าที่มีสัดส่วนรองลงมาคือไวน์และเครื่องดื่ม ราว 15.9% โดยการบริโภคไวน์และเครื่องดื่มที่มีราคาสูงขยายตัวอย่างน่าสนใจใน 2-3 ปีที่ผ่านมาจากนักเดินทางระหว่างประเทศ ประกอบกับความนิยมสะสมไวน์และเครื่องดื่มสูงขึ้น ก็มีส่วนทำให้ตลาดขยายตัว

รายงานระบุว่า เมื่อประเมินจากประเภทสินค้า น้ำหอมและเครื่องสำอางมีสัดส่วนมากกว่า 31% ของตลาดค้าปลีกท่องเที่ยวทั่วโลก และครองสัดส่วนใหญ่ของตลาดในปี 2568 ส่วนสินค้าลักชัวรีคาดว่าจะขยายตัวในอัตราเฉลี่ยปีละ 12%

ประเภทสินค้าในร้านค้าปลอดภาษี ได้แก่ 1) น้ำหอมและเครื่องสำอาง 2) สุรา 3) สินค้าแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย 4) บุหรี่ 5) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 6) นาฬิกา 7) ขนมขบเคี้ยว

เมื่อประเมินจากช่องทาง ยอดขายของธุรกิจค้าปลีกในช่องทางสนามบินมีสัดส่วนสูงสุดในยอดขายของธุรกิจค้าปลีกท่องเที่ยวทั่วโลกในปี 2560 และคาดว่าจะขยายในอัตราเฉลี่ยต่อปี 9.6% ในช่วงปี 2561-2568 ส่วนยอดขายผ่านช่องทางข้ามแดน ร้านค้าในเมือง โรงแรมจะขยายในอัตราเฉลี่ยต่อปี 10.1%

สำหรับรายงาน ของ Generation Research และ European Travel Retail Confederation (ETRC) มีมุมมองที่ไม่ต่างจากรายงาน Travel Retail Market โดยระบุว่า น้ำหอมและเครื่องสำอางเป็นกลุ่มสินค้าที่ดึงความสนใจของนักท่องเที่ยวมากสุด มีเนื้อที่วางสินค้ามากสุดในสนามบินทั่วโลก และยังคงเป็นกลุ่มที่ขยายตัวและทำกำไรให้ร้านค้าปลอดภาษี เห็นได้ชัดจาก Dufry ผู้เล่นชั้นนำของโลกที่มีส่วนแบ่ง 13% ในทุกตลาดและมีส่วนแบ่ง 20% ในตลาดค้าปลีกท่องเที่ยวที่สนามบินนั้น มีส่วนแบ่งในน้ำหอมและเครื่องสำอางเพิ่มขึ้นเป็น 30.7% ในปี 2560 จาก 27.1% ในปี 2555 และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

ที่มาภาพ: https:// bdutyfree.com/photo-gallery#.XKzRF5gzY2w

เอเชีย-แปซิฟิก ตลาดค้าปลีกท่องเที่ยวใหญ่สุดในโลก

รายงาน Travel Retail Market by Product and Channel: Global Opportunity Analysis and Industry Forecast, 2018-2025 ระบุว่าเอเชีย-แปซิฟิกเป็นตลาดค้าปลีกท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลก และขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การพัฒนาทางเศรษฐกิจทำให้รายได้ประชาชนสูงขึ้น ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไป และการท่องเที่ยวที่ขยายตัว

ยุโรปก็ยังคงเป็นตลาดค้าปลีกท่องเที่ยวใหญ่อีกแห่งของโลกรองจากเอเชีย-แปซิฟิก เนื่องจากเป็นฐานสินค้าแบรนด์เนมชั้นนำ ทั้งน้ำหอม เครื่องแต่งกาย เครื่องสำอาง เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวจากจีนและตะวันออกกลาง จึงคาดว่าตลาดค้าปลีกท่องเที่ยวยุโรปจะขยายตัวในอัตราเฉลี่ยต่อปี 7.2% จากที่ผ่านมายอดขายของตลาดค้าปลีกท่องเที่ยวยุโรปมีจำนวนราว 23 พันล้านดอลลาร์ในตลาดค้าปลีกท่องเที่ยวทั่วโลก

รายงานของ Generation Research และ ETRC ยังมีมุมมองที่ไม่ต่างกันว่า เอเชีย-แปซิฟิกจะเติบโตโดดเด่นกว่าภูมิภาคอื่นของโลก จากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปีในอัตราเลขสองหลัก

ทางด้านรายงาน Duty-Free and Travel Retail Market ประเมินว่ารายได้ของตลาดค้าปลีกท่องเที่ยวจะขยายตัวในอัตราเฉลี่ยต่อปี 8% ในช่วงปี 2561-2566 โดยได้รับผลดีจากปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลของธุรกิจค้าปลีกท่องเที่ยวเอง รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่เดินทางออกนอกประเทศ เศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดี การเปิดเส้นทางบินใหม่ และการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางที่ต้องการเดินทางด้วยเครื่องบินมากขึ้น

จำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นและความเป็นเมืองที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว หนุนการขยายตัวของตลาดค้าปลีกท่องเที่ยวและร้านค้าปลอดภาษี ขณะเดียวกัน รายได้ที่สูงขึ้น ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การเดินทางด้วยเครื่องบินที่มีราคาถูกลงและสะดวกสบาย ส่งผลให้ชนชั้นกลางเดินทางมากขึ้นและซื้อสินค้าในตลาดทั่วโลก อีกทั้งผู้ประกอบการเองได้ปรับรูปแบบธุรกิจที่หันมาให้ตอบสนองผู้บริโภคมากกว่าเดิม

ในตลาดเกิดใหม่อย่างจีนและอินเดีย ชนชั้นกลางมีส่วนอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และมีกำลังซื้อที่จะสนับสนุนการขยายตัวของตลาดค้าปลีกท่องเที่ยวและร้านค้าปลอดภาษีทั่วโลก เพราะรายได้ที่มากขึ้น แนวโน้มการใช้จ่าย การเดินทางและความสนใจสินค้าคุณภาพก็เพิ่มขึ้นตาม ขณะที่การพัฒนาความเป็นเมืองที่ขยายตัวก็มีผลต่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเปิดโอกาสให้เข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกระดับโลก และการขยายสนามบิน การสร้างสนามบินสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำ ก็จะสร้างรายได้ให้กับธุรกิจค้าปลีกท่องเที่ยวและร้านค้าปลอดภาษี

Global Airport Retailing 2017-2022 มีข้อมูลว่า ยอดขายปลีกในสนามบินมีจำนวน 40 พันล้านดอลลาร์ในปี 2560 และจะขยายตัวในอัตราเฉลี่ยปีละ 7.9% ในช่วงปี 2560-2565 มียอดขายรวม 58.4 พันล้าน

เอเชีย-แปซิฟิกยังคงเป็นตลาดหลักของธุรกิจค้าปลีกท่องเที่ยวและร้านค้าปลอดภาษีโดยยังคงเติบโตต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้า มียอดขายเพิ่มขึ้นจาก 10.8 พันล้านดอลลาร์ เป็น 27.6 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นส่วน 63.8% ของตลาดที่ขยายตัวขึ้น

การขยายสนามบินทั้งสนามบินเดิมและสร้างสนามบินใหม่ที่ทำให้พื้นที่ค้าปลีกเพิ่มขึ้น เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลดีต่อตลาดค้าปลีกท่องเที่ยวและร้านค้าปลอดภาษีทั่วโลก นอกจากนี้ผู้ให้บริการเองได้เพิ่มช่องทางจำหน่ายบนระบบออนไลน์ด้วย ดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มมิลเลนเนียลที่ชื่นชอบเทคโนโลยี และบางรายมีบริการจัดส่งถึงบ้านเมื่อสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ภายในสนามบิน

เปิดรายได้ดิวตี้ฟรีรายใหญ่

จีนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในธุรกิจค้าปลีกท่องเที่ยวในเอเชีย-แปซิฟิก โดยมีหุ้นราว 67.4% ในปี 2560 ส่วนผู้เล่นรายอื่นที่สำคัญในตลาดและมุ่งขยายธุรกิจในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น DFS Group, Dufry, LS travel retail, Lotte Duty Free, Shilla Duty Free, Gebr. Heinemann , China Duty Free Group (CDFG), Lagardre Travel Retail Group, Aer Rianta International (ARI), Naunace Group, Duty Free Americas, Inc, James Richardson Group, Dubai Duty Free, Qatar Duty Free, Flemingo International และกลุ่ม คิงพาวเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

ที่มาภาพ: https://www. dubaidutyfree.com/ddf_news

การเติบโตของการท่องเที่ยวและจำนวนนักท่องเที่ยวส่งผลดีต่อธุรกิจค้าปลีกท่องเที่ยวและร้านค้าปลอดภาษีทั่วโลก ผู้เล่นหลายรายจึงมีผลประกอบการที่เติบโตต่อเนื่อง โดย Dubai Duty Free ประกาศยอดขายปี 2561 ว่า มีจำนวน 7.356 พันล้านดีแรห์ม (dirham) หรือราว 2.015 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 4.31% จากปีก่อน และเป็นการฉลองครบรอบ 30 ปีแห่งดำเนินงานด้วยยอดขายที่แตะระดับ 2 พันล้าน

วันที่ 20 ธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นวันครบ 30 ปีของบริษัท จึงได้ส่งเสริมการขายด้วยการให้ส่วนลด 25% ส่งผลให้มีการทำรายการซื้อสินค้าสูงถึง 103,626 รายการและมียอดขาย 29.26 ล้านดอลลาร์ภายในวันเดียว

สำหรับสินค้าที่มียอดขายสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สุรา รน้ำหอม บุหรี่ เครื่องสำอาง และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามลำดับ โดยยอดขายของน้ำหอมมีจำนวน 301.6 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 14.97% ของยอดขายรวม ส่วนเครื่องสำอางมียอดขาย 208.88 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 21.77% จากระยะเดียวกันของปีก่อน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มียอดขาย 163.1 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 8.82% จากปีก่อน

ยอดขายนาฬิกาสูงสุดเป็นอันดับหกเพิ่มขึ้น 2.66% เป็น 145.63 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 7.23% ของยอดขายรวม ยอดขายทองคำมีจำนวน 134.21 ล้านดอลาร์ มีสัดส่วน 6.66% ของยอดขายรวม ส่วนขนมขบเคี้ยวมียอดขาย 130.37 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 6.47% ของยอดขายรวม

ยอดขายในส่วนของผู้โดยสารขาออกเพิ่มขึ้น 6.12% เป็น 1.78 พันล้านดอลลาร์จากปีก่อน และมีสัดส่วน 88.35% ของยอดขายรวม จากรายการซื้อขายทั้งหมด 25,507,998 รายการ และขายสินค้าทั้งหมด 68,755,388 ชิ้น

ทางด้าน DFS Group รายงานผลการดำเนินงาน งวดระหว่างฤดูกาลสิ้นสุด วันที่ 30 ธันวาคม 2561 ว่า มีกำไรก่อนภาษี 14.1 ล้านปอนด์เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าจาก 6.2 ล้านปอนด์ ส่วนกำไรจากการดำเนินงานมีจำนวน 31.5 ล้านปอนด์เพิ่มขึ้น 41.9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

ผลการดำเนินที่รับผลกำไรของ Sofology ที่บริษัทได้รวมกิจการเข้ามานั้น ส่งผลให้ DFS มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าจัดจำหน่าย (EBITDA) 32.8 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 23.8%

รายได้รวมของกลุ่มมีจำนวน 422.3 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 29.1% แม้คำสั่งซื้อในงวดครึ่งหลังลดลงจากครั้งแรก แต่ไม่ปรับคาดการณ์ผลกำไรทั้งปี

ที่มาภาพ: https:// www.dfs.com/en/siem-reap/stores/t-galleria-by-dfs-angkor

ส่วน Lotte Duty Free รายงานยอดขายปี 2561 ว่ามีจำนวน 6.7 พันล้านดอลลาร์ โดยยอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมาก 50% จากปีก่อนเป็น 2 ล้านล้านวอน หรือมีสัดส่วนราว 25% เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าจาก 8% ของธุรกิจโดยรวมในปี 2556 ยอดขายรวมปี 2560 มีจำนวน 6 ล้านล้านวอนเพิ่มขึ้น 25% จากปีก่อนหน้า

ยอดขายที่แฟลกชิปสโตร์ที่เมียงดงและเวิลด์ทาวเวอร์ในปี 2561 เพิ่มขึ้นถึง 4 ล้านล้านวอนและ 1 ล้านล้านวอนตามลำดับ เป็นผลจากนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาจำนวนมาก

Bahrain Duty Freeประกาศผลกำไรสุทธิปี 2561 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม ว่ามีจำนวน 19.8 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5.3% จาก 18.8 ล้านดอลลาร์ในปีก่อน มีกำไรจากการดำเนินงาน 16.2 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 14.3 ล้านดอลลาร์ ส่วนค่าจ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 35.7 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 13.6% และมีรายได้ 96.6 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 13.8% จาก 84.8 ล้านดอลลาร์ในปีก่อน

อับดุลลา บูฮินดี กรรมการผู้จัดการของ Bahrain Duty Free บอกว่าการเติบโตของยอดขายและกำไรจากการดำเนินงานเป็นผลจากการตัดสินใจเพิ่มการลงทุนในปี 2559 เพื่อปรับปรุงร้านค้า พร้อมนำสินค้าแบรนด์ใหม่ๆ ในกลุ่มน้ำหอมและเครื่องสำอาง รวมทั้งแผนกนาฬิกา

สำหรับการบริหารร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินบาห์เรนที่ได้ขยายพื้นที่ดิวตี้ฟรีให้ใหญ่ขึ้นนั้น บริษัทจะอยู่ภายใต้การดูแลของ Bahrain Duty Free Company บริษัทที่จัดตั้งใหม่ระหว่าง BDFSC และ Gulf Air Holding Company โดยคาดว่าการขยายพื้นที่จะเสร็จสิ้นในไตรมาสสี่ปีนี้

Lagardère Travel Retail รายงานยอดขายปี 2561 ว่ามีจำนวน 3,673 ล้านยูโร เพิ่มขึ้น 7.7% จากปีก่อน โดยยอดขายดิวตี้ฟรีและแฟชั่นแตะระดับ 2 พันล้านยูโรปเป็นครั้งแรก และเป็นผลจากการรวมสัญญาที่ได้รับในเจนีวา เซเนกัล ซาอุดีอาระเบีย และฮ่องกง ปี 2560 รวมทั้งจากการเปิดตัวแนวคิด Beauty New Age ที่สนามบินในปารีส ตลอดจนการคว้าสัญญาดิวตี้ฟรีในกาบอง และดิวตี้ฟรีประเภทสินค้าแฟชั่นในเวียนนาและสนามบินต้าซิงที่ปักกิ่ง

นอกจากนี้ยังเป็นผลจากการพัฒนากลุ่มอาหาร ในอเมริกาเหนือหลังจากที่ซื้อกิจการ HBF และเปิดร้านที่ออสติน ซาฟรานซิสโก ลอสแอนเจลิส รวมทั้งที่อิตาลี ฝรั่งเศส ขณะที่การได้รับเอ็กซ์คลูซีฟแฟรนไชส์จากดีน แอนด์ เดลูก้า ให้เปิดร้าน ดีน แอนด์ เดลูก้า ในสนามบิน สถานีรถไฟ และจุดท่องเที่ยวทำให้เปิดร้านที่ฮ่องกงได้แล้ว 2 ร้าน

รายได้ในเอเชีย-แปซิฟิกมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 13% ส่วนรายได้จากทวีปยุโรปตะวันออกกลางและแอฟริการวมกันมีสัดส่วน 42% จากสหรัฐอเมริกาและแคนาดารวม 21% และจากฝรั่งเศส 24%

ที่มาภาพ: https:// www.moodiedavittreport.com/lagardere-travel-retail-posts-solid-revenue-growth-in-2018-duty-free-fashion-sales-hit-e2-billion-for-first-time/

Shilla Travel Retail ประกาศรายได้รวมไตรมาส 4 ปี 2561 ว่ามีจำนวน 1.071 ล้านลานวอน หรือ 958 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 38% จากงวดเดียวกันของปีก่อน มีกำไรจากการดำเนินงาน 25.2 พันล้านวอนหรือ 22.4 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 154% อย่างไรก็ตาม ธุรกิจในประเทศมีกำไรจากการดำเนินงาน 26.6 พันล้านวอนหรือ 23.8 ล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ เป็นผลจากค่าสัมปทานกับสนามบินอินชอน เทอร์มินัล 1 ที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งต้นทุนการเริ่มกิจการที่สนามบินโซลกิมโปที่เปิดดำเนินการวันที่ 9 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา

เกาหลีใต้เปิด SME บริหารร้านขาเข้า

ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และความต้องการสินค้าที่มีระดับ ด้วยการเลือกซื้อที่สนามบินระหว่างเดินทาง ส่งผลให้หลายสนามบินได้ปรับปรุงพื้นที่ค้าปลีกและดิวตี้ฟรีให้ใหญ่ขึ้น รวมทั้งได้มีการปรับปรุงการทำสัญญาใช้พื้นที่ให้หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการ

เมื่อเร็วๆ นี้ สนามบินอินชอน เกาหลีใต้ ได้เปิดประมูลร้านค้าดิวตี้ฟรีขาเข้าเป็นครั้งแรกเพื่อรองรับผู้โดยสารขาเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งปรากฏว่าผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและได้ทำสัญญา คือ Entas Duty Free และ SM Duty Free โดย SM Duty Free จะบริหารร้านค้า 2 ร้านที่เทอร์มินัล 1 และ Entas Duty Free บริหาร 1 ร้านที่เทอร์มินัล 2 และทั้ง 3 ร้านจะเปิดบริการให้วันที่ 2 พฤษภาคมนี้

ซุล-ฮี ชิน ผู้จัดการอาวุโสของ Incheon International Airport Corporation (IIAC) กล่าวว่า สัญญามีอายุ 5 ปี และสามารถต่อสัญญาได้อีก 5 ปี ขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่าง IIAC และคู่สัญญา 2 ราย

ในการเปิดประมูลร้านค้าขาเข้านี้ มีค้าปลีกจำนวน 9 รายเข้าร่วมสำหรับ 2 ร้านค้าในเทอร์มินัล 1 และ 1 ร้านในเทอร์มินัล 2 และมีการเสนอประมูลถึง 14 ครั้ง ซึ่งการตัดสินการประมูลใช้ระบบคู่ขนาน โดยศุลกากรเกาหลี(Korea Customs Service: KCS) จะประเมินผลการประมูลหลังจากที่ IIAC ให้คะแนนจัดอันดับของ 2 บริษัทในแต่ละสัญญาแล้ว

ทั้งนี้ IIAC จะประเมินการประมูลด้วยการให้คะแนนด้านเทคนิคซึ่งคือแผนธุรกิจ 60% อีก 40% จะประเมินจากข้อเสนอทางการเงิน และโดยที่เกาหลีกำหนดให้ใช้ระบบตัดสินแบบคู่ขนาน ดังนั้นผลที่ได้จะต้องนำเสนอหน่วยงานศุลกากรเพื่อประเมินขั้นสุดท้ายและเลือกผู้ชนะ โดยผู้ที่เข้ารอบสุดท้ายจะเจรจากับ IIAC ก่อนทำสัญญา

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา KCS ได้ปรับให้คะแนน โดยให้ IIAC ให้คะแนนได้มากสุดที่ 250 คะแนน จากคะแนนเต็ม 1,000 แต่ก็มากพอที่จะชี้ตัวผู้ชนะ ซึ่งการปรับเปลี่ยนการให้คะแนนนี้เพื่อลดการให้น้ำหนักด้านการเงินของผู้ร่วมประมูลและลดการแข่งขันประมูลที่ร้อนแรงเกินไป

ผู้เข้าประมูลเสนออัตราผลตอบแทนขั้นต่ำต่อประเภทสินค้า คือ 21.7% สำหรับกลุ่มน้ำหอมและเครื่องสำอาง 22.3% สำหรับสินค้าทั่วไป และ 26.3% สำหรับสุรา แต่ร้านค้าปลอดภาษีขาเข้าไม่รวมบุหรี่ นอกจากนี้การประมูลร้านค้าขาเข้าเปิดให้เฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และ Dufry Thomas Julie Korea ที่บริหารร้านดิวตี้ฟรี 1 ร้านที่สนามบินนานาชาติปูซาน กิมเฮ ซึ่งแม้ Dufry จะเป็นธุรกิจดิวตี้ฟรีที่ใหญ่รายหนึ่งของโลกแต่นับเป็น SME เพราะเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยในกิจการร่วมทุน

ชาง คยู คิม ผู้บริหาร IIAC คาดว่า ร้านค้าดิวตี้ฟรีขาเข้าจะทำยอดขายราว 100 ล้านดอลลาร์ใน 1 ปี จากยอดจำหน่ายสุราเป็นหลัก

ที่มาภาพ: https://www. moodiedavittreport.com/entas-duty-free-and-sm-duty-free-awarded-incheon-airport-arrivals-contracts/
ที่มาภาพ: https://www. moodiedavittreport.com/entas-duty-free-and-sm-duty-free-awarded-incheon-airport-arrivals-contracts/
ที่มาภาพ: https://www. moodiedavittreport.com/entas-duty-free-and-sm-duty-free-awarded-incheon-airport-arrivals-contracts/

นอกจากนี้ สนามบินอินชอนยังเปิดให้ต่างชาติเข้าร่วมประมูลร้านค้าปลอดภาษี ที่เทอร์มินัล 1 ของสนามบินในปลายปีนี้

เทอร์มินัล 1 ทำรายได้ดิวตี้ฟรีให้กับสนามบินอินชอนในสัดส่วนสูงสุด และนับเป็นสนามบินที่ทำรายได้จากดิวตี้ฟรีสูงสุดในโลกในปีก่อนด้วยยอดขาย 2.4 พันล้านดอลลาร์

ปัจจุบันสัญญาดิวตี้ฟรี 5 ปีสำหรับสินค้ากลุ่มสุรา บุหรี่ น้ำหอมและเครื่องสำอาง และสินค้าทั่วไป อยู่ในมือของ Shilla Duty Free, Lotte Duty Free และ Shinsegae Duty Free และจะหมดอายุในเดือนกันยายน 2563

ชาง คยู คิม ผู้บริหาร IIAC กล่าวว่า IIAC กำลังเตรียมการและแผนเปิดประมูลในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ และเปิดรับต่างชาติ ไม่มีการแยกว่าต่างชาติหรือบริษัทท้องถิ่น ในฐานะที่เป็นบริษัทดำเนินธุรกิจสนามบินก็เปิดให้ต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วม

สำหรับกรณีที่กังวลต่อระบบการตัดสินแบบคู่ขนานที่ให้ KCS ร่วมประเมินด้วย โดยที่ KCS ให้น้ำหนักกับประสบการณ์ในการทำธุรกิจในเกาหลีและการมีส่วนร่วมต่อสังคม ชาง คยู คิม กล่าวว่า IIAC ได้หารือกับ KCS ถึงแนวทางการพิจารณาต่างชาติที่ไม่เคยทำธุรกิจในเกาหลีมาก่อน โดยให้ความสำคัญกับข้อเสนอที่ยื่นมามากกว่าประสบการณ์ ซึ่งถือว่าเป็นการแข่งขันที่เท่าเทียมระหว่างต่างชาติกับบริษัทท้องถิ่น

จีนแยกประมูลรับร้านค้าเตรียมเปิดสนามบินใหม่

HMSHost International ลงนามในสัญญาร้านอาหารและเครื่องดื่มกับ 2 สนามบินในจีน มูลค่าราว 65 ล้านยูโร โดยสัญญาแรกอายุ 5 ปี จะเปิดร้านอาหารและเครื่องดื่มที่สนามบินเซี่ยงไฮ้ผู่ตง 8 ร้าน และสัญญาที่สองอายุ 4 ปี เพื่อเปิดร้านอาหารและเครื่องดื่ม 6 ร้านที่สนามบินปักกิ่งต้าซิง สนามบินใหม่ และภายใต้สัญญา 85% ของร้านค้าใหม่นี้จะต้องเปิดดำเนินการให้ได้ก่อนวันชาติจีน คือ วันที่ 1 ตุลาคม 2562

การที่ HMSHost คว้าสัญญามาได้เพราะประสบการณ์ในจีน หลังจากที่เข้ามาดำเนินธุรกิจมาแล้ว 3 ปี และปัจจุบันบริหารร้านอาหารและเครื่องดื่มที่สนามบินปักกิ่งเดิม HMSHost คาดว่าจะทำรายได้ต่อปีเกิน 50 ล้านยูโร

ที่มาภาพ: https://www. moodiedavittreport.com/lagardere-travel-retail-posts-solid-revenue-growth-in-2018-duty-free-fashion-sales-hit-e2-billion-for-first-time/

สำหรับดิวตี้ฟรีที่สนามบินปักกิ่งต้าซิงนั้น China Duty Free Group คว้าสัญญาสัมปทาน 2 ฉบับที่มีอายุ 5 ปีหลังจากที่มีชื่อติดอันดับหนึ่งทั้งสองสัญญา

CDFG มีชื่อติดอันดับหนึ่งในการประมูลหลังผ่านการประเมินทั้งด้านเทคนิคและด้านการเงิน สำหรับสัมปทานร้านค้าดิวตี้ฟรีกลุ่มสุรา บุหรี่ และอาหารกับขนมขบเคี้ยว กับสัมปทานเครื่องสำอางและแฟชั่น โดยมีคะแนนนำเสิ่นเจิ้นดิวตี้ฟรี และจูไห่ดิวตี้ฟรี

ภาพจำลองภายในสนามบินปักกิ่งต้าซิง ที่มาภาพ: https://www.moodiedavittreport.com/china-duty-free-group-set-for-triumph-in-beijing-daxing-international-airport-duty-free-tenders-after-being-named-top-bidder-for-both-contracts/

สนามบินปักกิ่งต้าซิงเป็นสนามบินแห่งใหม่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงปักกิ่งลงไป 50 กิโลเมตรและจะรองรับทั้งการเดินทางระหว่างประเทศและการเดินทางในประเทศ เป็นสนามบินใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง รองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนภายในปี 2564 และจะรับได้มากขึ้นเป็น 72 ล้านคนในปี 2568 มี 4 รันเวย์ และจะรับผู้โดยสารได้ถึง 100 ล้านคนเมื่อรันเวย์อีก 2 รันเวย์สร้างเสร็จ

สำหรับสนามบินปักกิ่งเดิม มี Sunrise Duty Free ซึ่งถือหุ้น 51% โดย CDFG บริหารร้านดิวตี้ฟรี และมีผู้โดยสารเกิน 100 ล้านคนไปในปีที่แล้ว

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมซีรี่ย์ เจาะธุรกิจดิวตี้ฟรีไทย