ThaiPublica > คอลัมน์ > “โรงงาน” และชีวิต

“โรงงาน” และชีวิต

21 เมษายน 2019


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/f/f9/Parents_with_child_Statue_Hrobakova_street_Bratislava.JPG/1200px-Parents_with_child_Statue_Hrobakova_street_Bratislava.JPG

ในช่วงสบายๆ ของปีใหม่ไทย ผู้เขียนขอเสนอข้อคิดเล่นๆ สักอย่างที่สังเกตเห็นมานาน และน่าจะมีมุมมองที่พอเป็นประโยชน์บ้าง นั่นก็คือเรื่องของ “โรงงาน”

โรงงานหรือ factory ในความหมายอย่างแคบก็คือสถานที่แปรวัตถุดิบ ผ่านกระบวนการผลิตออกมาเป็นผลผลิต เช่น โรงงานผลิตยาสีฟัน (เอาวัตถุดิบมาผสมกันตามสูตรโดยมีเครื่องจักรและแรงงานร่วมกันผลิตออกมา) โรงงานผลิตไข่ไก่ (เอาไก่มาเลี้ยงให้อาหารและออกไข่) โรงแรม (แรงงานคนให้บริการประกอบกับอาคารที่อยู่อาศัยและอื่นๆ ออกมาเป็นบริการให้ผู้มาพัก) ฯลฯ อย่างไรก็ดี ถ้าตีความหมายอย่างกว้างก็จะครอบคลุมหลายสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา

factory เป็นแนวคิดสมัยใหม่หลังเกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษเป็นครั้งแรกในโลกในปลายศตวรรษที่ 18 และเห็นชัดเจนขึ้นเมื่อมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมายในหลายประเทศในเวลาต่อมา อย่างไรก็ดี แท้จริงแล้ว factory ในความหมายนี้มิได้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 200 กว่าปีก่อนดังกล่าว เพราะมีการพบถ้ำที่มีชื่อว่า Blombos Cave ที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งมีเครื่องมือเป็นหินและวัสดุอายุประมาณ 100,000 ปี ถ้ำนั้นคล้ายเป็นโรงงานผลิตสีซึ่งใช้ดินที่มีสีเป็นวัตถุดิบ

factory ที่รู้จักกันดีในประวัติศาสตร์ก็คือ The Venice Arsenal ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเรือของอาณาจักรเวนิชในประมาณ ค.ศ. 1104 ยามสูงสุดใช้คนงานถึง 16,000 คน ด้วยวิธีผลิตแบบแบ่งงานกันทำ (assembly lines ซึ่ง Adam Smith บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์กล่าวแนะนำในเวลาอีก 600 ปีต่อมา) โรงงานนี้ผลิตเรือใหญ่วันละ 1 ลำ

อย่างไรก็ดี ถ้าเรามอง factory อย่างกว้าง ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นสถานที่ประกอบการ มีเครื่องจักรเครื่องมือและมีการใช้แรงงาน เราก็จะเห็นว่าต้นผลไม้ ปลา วัว ควาย ต้นผัก หญ้า หรือแม้แต่ครอบครัว สังคม ชาติ ฯลฯ ก็เป็นโรงงานเช่นกัน

วัวเป็นโรงงานผลิตที่น่าอัศจรรย์ มันกินหญ้าเขียว หญ้าแห้งและแปรเปลี่ยนเป็นนม อุดมด้วยสารอาหารออกมาให้เราบริโภค มีเนื้อเป็นอาหาร มีหนัง มีเขา และแทบทุกส่วนให้มนุษย์ใช้งาน โรงงานหรือร่างกายวัวนี้ทำสิ่งที่เหลือเชื่อ มันทำงาน 7 วัน ตลอด 24 ชั่วโมง สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่มนุษยชาติ (ยิ่งเขียนยิ่งเข้าใจว่าทำไมฮินดูถึงบูชาวัว) ควายก็เป็นโรงงานที่น่าอัศจรรย์ไม่แพ้กัน มันกินหญ้าเพื่อให้มีพลังช่วยมนุษย์ทำงานและแปรเปลี่ยนเป็นเนื้อให้มนุษย์บริโภค

เนยแข็งชั้นดี เนื้อวัวราคาแพงเป็นทอง หนังชั้นดีที่นำมาผลิตกระเป๋าราคาแพงระยับล้วนมาจากโรงงานวัวทั้งสิ้น โดยมนุษย์อาจลืมไปว่าวัวควายคือโรงงานเคลื่อนที่อันแสนมีค่า ไม่ต้องตอกเสาเข็ม สร้างอาคาร ซื้อเครื่องจักรราคาแพงพร้อมกับหาแรงงานที่มีคุณภาพมาร่วมกันในกระบวนการผลิต ร่างกายของวัวควายทำงานของมันอย่างอัตโนมัติและไม่มีการสไตรก์ประท้วงด้วย

เมื่อหันไปมองต้นผลไม้ ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มังคุด เงาะ ขนุน ลำไย ลิ้นจี่ และพืชเศรษฐกิจ เช่น ยาง อ้อย มันสำปะหลัง ฯลฯ ตลอดจนสารพัดผักที่สร้างสารที่เป็นประโยชน์อย่างมหาศาสแก่ร่างกายมนุษย์ มันก็คือโรงงานด้วยกันทั้งนั้น หากมี 200 ต้นก็มี 200 โรงงาน ทำงานตลอดเวลาอย่างไม่เหน็ดไม่เหนื่อย สร้างรายได้ให้แก่เจ้าของตลอดเวลา

กระบวนการผลิตซึ่งพึ่งพาเทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญว่าจะให้มันเป็นโรงงานที่มีความสามารถในการผลิตสูงเพียงใด ผลิตสิ่งที่เป็นพิษออกมามากน้อยเพียงใด ให้มีอายุยืนนานเท่าใด

สัตว์และพืชที่รับใช้มนุษย์ล้วนเป็นโรงงานที่สำคัญต่อมนุษยชาติ ในขณะที่มนุษย์หลับและตื่น ปลาในมหาสมุทร คูคลอง และสัตว์เศรษฐกิจทั้งหลาย ก็เติบโตอย่างไม่หยุดยั้งเช่นเดียวกับพืชผักหญ้า ทั้งหมดนี้สมควรแก่การเคารพจากเราทั้งสิ้น

สังคมก็เป็นโรงงานผลิตเช่นเดียวกัน สุภาษิตแอฟริกัน (ผู้ทำให้เป็นที่รู้จักกันกว้างขวางก็คือ Hillary Clinton) บอกว่า “It takes a whole village to raise a child” (ต้องใช้ทั้งหมู่บ้านในการอุ้มชูเลี้ยงดูให้เด็กคนหนึ่งเติบโต) ถ้า “โรงงาน สังคม” มีกระบวนการและสิ่งแวดล้อมในการผลิตที่ดี เราก็จะได้คนที่ดีมีคุณภาพ (นโปเลียน โบนาปาร์ต บอกว่า “ถ้าอยากได้พลเมืองที่มีคุณภาพ ต้องมีพ่อแม่ที่มีคุณภาพเสียก่อน”)

“โรงงานสังคม” นี้เป็นโรงงานที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยมี “โรงงานครอบครัว” เป็นพื้นฐาน ครอบครัวเป็นโรงงานลักษณะหนึ่งโดยมิต้องสงสัย เด็กที่เกิดมาเป็นวัตถุดิบ การเลี้ยงดูเด็กด้วย TLC (Tender Loving Care อ่อนโยนรักใคร่และห่วงอาทร) ของครอบครัวคือการสร้างสิ่งแวดล้อมของกระบวนการผลิต ส่วนการอบรมสั่งสอนศีลธรรมจริยธรรม และทักษะความรู้ของพ่อแม่คือการแปรรูปวัตถุดิบสู่ผลผลิตของการเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ

“โรงงานครอบครัว” มีความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่และอย่างเต็มเปี่ยมเพราะพ่อแม่เป็นคนร่วมกันนำเด็กมาสู่โลก พ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก โรงเรียนเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของกระบวนการผลิต คนที่รับผิดชอบที่สำคัญที่สุดคือพ่อแม่ ไม่ใช่ครู

ถ้าเรามองว่ารอบตัวเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์และพืชที่รับใช้เราเป็นโรงงานที่ทรงคุณค่าและมีบุญคุณต่อเราแล้ว เราก็จะนึกถึงบุญคุณและตอบแทนอย่างสมควรแก่ค่าของมัน ง่ายที่สุดที่เราทำได้ก็คืออย่าใช้มันอย่างสุรุ่ยสุร่าย ทิ้งๆ ขว้างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสร้างขยะจากมันให้เป็นภาระแก่โลกซึ่งก็เป็นโรงงานใหญ่อีกโรงงานหนึ่ง

ตัวเราเองโดยแท้จริงแล้วก็เป็นโรงงานชนิดหนึ่งเช่นกัน เราบริโภคอาหารแล้วร่างกายก็ย่อยสลาย สร้างเนื้อหนังและระบบการทำงานของร่างกายให้มีชีวิตดำรงอยู่ได้ ผลผลิตที่ออกมาก็คือการกระทำของเรา ถ้ามันเป็นสิ่งที่ดี มีความหมาย และเป็นประโยชน์ต่อสังคมและผู้อื่น ก็เรียกได้ว่าเป็นโรงงานที่คุ้มค่า มิเสียโอกาสที่เกิดมาเป็นโรงงานที่เขาว่าประเสริฐทั้งที

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 16 เม.ย. 2562