ThaiPublica > คอลัมน์ > Minimalist กับชีวิตเป็นสุข

Minimalist กับชีวิตเป็นสุข

22 เมษายน 2019


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : https://minnesotascatterbrain.files.wordpress.com/2015/04/konmari-day-2-tank-tops.jpg

ถ้าท่านผู้อ่านรู้สึกรำคาญที่บ้านเต็มไปด้วยข้าวของรุงรังระเกะระกะ ตู้ก็เต็มไปด้วยเสื้อผ้าทั้งๆ ที่ใช้เพียงบางตัว ห้องเก็บของก็อัดแน่นด้วยสิ่งของที่ “ขาดไม่ได้” แถมมองไปที่ชั้นก็เต็มไปด้วยหนังสือที่บางเล่มไม่ได้แตะต้องมาเป็นสิบปีแล้ว ทั้งหมดนี้ท่านไม่รู้จะทำอะไรกับมัน ท่านไม่โดดเดี่ยวหรอก คนในโลกจำนวนมากเป็นเช่นเดียวกันจนปัจจุบันเกิดแนวคิดที่เรียกว่า minimalist ขึ้น และกำลังระบาดไปทั่ว

“minimalist” มาจาก “minimum” ซึ่งหมายถึงน้อยสุด ในตอนแรก minimalism หรือ ลัทธิจุลนิยมเกี่ยวกับศิลปะและการออกแบบซึ่งเน้นแต่แก่นไม่ฟรุ้งฟริ้ง ฟุ่มเฟือย แต่ปัจจุบันกลายเป็นแนวคิดของการดำรงชีวิต

minimalists มักเป็นคนที่แปรเปลี่ยนจากการเคยเป็นผู้นิยมแฟชั่น มีของแบรนด์เนมมากมาย ไม่ว่ารองเท้า กระเป๋า เมื่อเริ่มมีเงินหรือเริ่มสร้างหนี้ได้ก็มีสมบัติมากขึ้นเป็นเงาตามตัว กว่าจะรู้ตัวก็มีเสื้อเป็น 100 ชุด มีกางเกง รองเท้า กระเป๋า จนจำไม่ได้ minimalist ที่แปรร่างไปจะมีเสื้อผ้านับชิ้นได้ มีของใช้เท่าที่จำเป็นจนบ้านว่าง เป็นระเบียบ และจิตใจก็ว่างเบาขึ้นด้วย

minimalism เป็นปรัชญาของการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ยิ่งมีน้อยเท่าใดก็ยิ่งมีความสุขเพียงนั้น จิตใจสบายไม่กังวล ความสะอาดและความเป็นระเบียบทำให้จิตใจเป็นสุขด้วย แต่มันไปโป่งที่บัญชีเงินออม โดยหาความสุขจากชีวิตอีกแนวหนึ่งที่คล่องตัวและไร้กังวลกับสิ่งของมีค่า

minimalists แต่ละคนก็มีสไตล์การดำเนินชีวิตที่ไม่เหมือนกัน บางคนก็ทิ้งเสื้อผ้า ทิ้ง “สมบัติบ้า” (ของเล่นสมัยเด็ก สิ่งของแห่งความทรงจำกับผู้คนอื่นๆ ของที่เคยใช้และคิดว่า “ขาดไม่ได้”) เหลือไว้แต่หนังสือ บ้างก็ทิ้งหมดจนบ้านและครัวว่างโล่ง บ้างก็ไปอยู่บ้านหรือคอนโดขนาดเล็กลง บ้างก็ไม่มีรถยนต์โดยหันมาใช้รถสาธารณะแทนตามแต่รสนิยมของแต่ละคนหรือของแต่ละครอบครัว

สิ่งที่ทุก minimalists มีเหมือนกันก็คือสิ่งของนอกกายน้อยลง บ้านมีความเป็นระเบียบและสะอาดมากขึ้น โดยการมีวัตถุประสงค์ในการดำรงชีวิตที่เรียบง่าย ไม่สร้างภาระให้ตนเองและผู้อื่น

ที่มาภาพ : https://www.audible.com/

ในโลกตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่างอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ คนรุ่นใหม่ในจีนและเกาหลีใต้ แนวคิด minimalists กำลังแพร่กระจาย หนังสือสองเล่มที่ได้รับความนิยมมากคือ “The Life Changing Magic of Tidying Up” (2011) โดยนักเขียนญี่ปุ่น Marie Kondo ขายได้เป็นล้านๆ เล่มทั่วโลก (แปลเป็นภาษาไทยแล้ว) กับ “Minimalism in Real Life : 4½ Practical Steps Towards a Meaningful Life” (2019) เขียนโดย Jeffery Gow นักเขียนชาวอเมริกัน กำลังได้ความนิยมเช่นกัน

เล่มแรกนั้น Marie Kondo ผู้ปัจจุบันมีอายุเพียง 35 ปี หรือรู้จักกันในชื่อ Konmari เน้นแนวคิดของชินโต (Shinto) กล่าวคือการจัดการให้ทุกสิ่งเป็นระเบียบและสะอาด คือแนวปฏิบัติอันนำไปสู่การพัฒนาจิตใจและการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง

เธอแนะนำการให้คุณค่าแก่สิ่งที่มีคุณค่า ให้ดูแลมันเป็นอย่างดีโดยไม่ขึ้นอยู่กับมูลค่า เมื่อพิจารณาแต่ละชิ้นแล้วจึงจะเห็นเองว่าสิ่งใดควรแก่การเก็บรักษาไว้ เธอออกรายการโทรทัศน์ในสหรัฐฯ และเดินทางให้คำแนะนำที่ปฏิบัติได้จริงไปทั่วโลก จนปัจจุบันมีหนังสือขายดีออกมารวม 4 เล่ม

Kondo มีประวัติชีวิตที่แปลกมาก เธอบอกว่าตอนเป็นเด็กเธอชอบใช้เวลาอยู่กับการทิ้งของที่เห็นว่าไม่เหมาะ โดยเฉพาะจริงจังกับการจัดหนังสือมาก ครั้งหนึ่งเป็นลมไปสองชั่วโมงและได้ยินเสียงลึกลับบอกว่าให้พิจารณาดูสิ่งของต่างๆ ให้ดีกว่านี้ เธอจึงเข้าใจความผิดพลาดของตัวเธอทันที กล่าวคือเธอมองหาแต่สิ่งที่จะทิ้ง แต่สิ่งที่ควรทำก็คือมองหาสิ่งที่เธอต้องการเก็บไว้ การแยกสิ่งของที่ทำให้มีความสุขจากสิ่งของอื่นๆ คือหัวใจของการจัดบ้านให้เป็นระเบียบ

สำหรับเล่มที่สองนั้น Gow ให้คำแนะนำดังต่อไปนี้

1) การจะมีชีวิตที่มีคุณค่านั้นมีได้เพียงครั้งเดียวเพราะมีชีวิตเดียว ต้องตั้งไว้เป็นอุดมการณ์ อย่าเป็นทาสของบริโภคนิยมและทาสของการตลาด มิฉะนั้นจะซื้อของเกินจำเป็น

2) แยกของที่มีอยู่รุงรังเป็น (ก) ของมีประโยชน์ต้องใช้อยู่ทุกวัน (ข) ของที่มีความหมายทางจิตใจ (ค) ของเล็กๆ น้อยๆ น่ารัก (ง) สิ่งที่เหลือจากข้างต้นคือขยะ ทำไปทีละห้องโดยเป้าหมายคือเหลือเฉพาะข้อ (ก)

3) จินตนาการว่าหากเกิดไฟไหม้ หรือน้ำท่วมทำลายของที่มีความหมายทางจิตใจจนหมดแล้วจะสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้หรือไม่ คำตอบคือได้ ดังนั้นควรถ่ายรูปสิ่งของเหล่านี้ไว้ให้ดีเพื่อให้เตือนนึกถึงความหลัง และโยนสิ่งของเหล่านี้ทิ้งไปเพราะภาพเตือนให้นึกถึงความหลังได้เช่นกัน

4) คิดคำนวณว่ามนุษย์คนหนึ่งต้องใช้ของแต่ละชิ้นมากมายเพียงใดในชีวิต เมื่อถึงจุดนี้ก็จะเหลือข้อ (ก) ให้พิจารณาเลือกว่าจะเป็น minimalist สไตล์สุดโต่งเพียงใด

“เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นที่รู้จักกันก่อนหนังสือ 2 เล่มนี้ออกมา สามารถนำมาประยุกต์กับปัญหาที่สองนักเขียนเสนอได้เป็นอย่างดี minimalist สไตล์ “พอควร” “ไม่ประมาท” “พึ่งตนเอง” ให้ความกว้างและความคล่องตัวในทางความคิดมากกว่า

แนวคิด minimalist สอดคล้องกับข้อเขียนของผู้เขียนในคอลัมน์นี้ที่มีชื่อว่า “จัดบ้านก่อนตาย” เมื่อ 2 ตุลาคม 2561 (ดูได้ที่ varakorn.com ไปที่ “ข้อเขียนจากกรุงเทพธุรกิจ”) ซึ่งนำแนวคิดจากหนังสือชื่อ The Gentle Art of Swedish Death Cleaning (2018) โดย Margaret Magnusson มาขยายความ

minimalism ให้ข้อเตือนใจในเรื่องการไม่สะสมสิ่งของจนล้นบ้าน เป็นภาระแก่คนอยู่ข้างหลังและทำให้กังวลเพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าคนอื่นๆ เขาจะ “ไยดี” กับสิ่งของที่ตนรักสะสมไว้เมื่อตนเองได้จากไปแล้วอย่างไร

ประการสำคัญที่สุดก็คือการมีสมบัติมากและบริโภคมากคือการทำร้ายโลกทางอ้อมด้วยการใช้ทรัพยากรและสร้างขยะอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เมื่อสามารถอยู่ได้และมีความสุขได้ด้วยความจำกัด แล้วจักเดินไปในทิศทางตรงกันข้ามทำไมให้เป็นภาระแก่คนอื่นและโลกเล่า

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 9 เม.ย. 2562