ThaiPublica > คอลัมน์ > การปิดตัวของมหาวิทยาลัยอเมริกัน

การปิดตัวของมหาวิทยาลัยอเมริกัน

21 เมษายน 2019


วรากรณ์ สามโกเศศ

Concordia College ในรัฐ Alabama ที่มาภาพ : https://blogs.lcms.org/2018/concordia-college-alabama-closes-nevertheless-dr-rosa-j-youngs-legacy-continues/

เรื่องมหาวิทยาลัยไทยอาจต้องปิดกิจการในอนาคตมีคนพูดกันมานาน มีการอ้างตัวเลขที่เกิด ขึ้นในต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกากันพอควร วันนี้ขอเอาเรื่องราวและตัวเลขของสหรัฐอเมริกามาพูดให้ชัดเจนสักที

Concordia College ในรัฐ Alabama ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่คนผิวสีแอฟริกันเรียนกันมาเกือบครบ 100 ปีต้องปิดตัวลงเมื่อไม่นานมานี้ จำนวนนักศึกษาหดตัวลง 43% ระหว่างปี 2005 และปี 2018 จนกระทั่งเหลืออยู่เพียง 400 คน และมีหนี้สินสะสมอยู่ 8 ล้านเหรียญ ชะตากรรมของ Concordia เป็นตัวอย่างของอีกหลายมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็กในสหรัฐอเมริกาในอนาคตอันใกล้

college กับ university ในสหรัฐอเมริกานั้นมีความหมายเหมือนกัน วลี “go to college” หมายถึงเรียนต่อมหาวิทยาลัย ประเด็นอยู่ที่ว่าเป็น 2 ปี หรือ 4 ปี บางสถาบันก็เรียน 4 ปี แต่ชื่อเป็น college เช่น Dartmouth บางสถาบันเรียน 2 ปี และเรียกว่า college ก็มีมาก เช่น พวก community colleges ทั้งหลาย ในที่นี้จะเรียกรวมหมดว่ามหาวิทยาลัย

เมื่อมีคนถามว่าสหรัฐอเมริกามีมหาวิทยาลัยกี่แห่งจึงมีหลายคำตอบจนน่าปวดหัวเพราะได้คำตอบที่ไม่ตรงกัน ถ้านับเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาที่ให้ปริญญาจะมีจำนวน 4,298 แห่ง ในปี 2018 โดยแยกเป็นของรัฐ 1,626 แห่ง ของเอกชน 2,672 (ไม่มุ่งกำไร 1,687 แห่ง มุ่งกำไร 985 แห่ง)

ในจำนวนเอกชน 2,672 แห่ง มี 1,800 แห่งที่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนเรียน 4 ปี เช่น Harvard, Stanford, MIT, Duke, Cornell ฯลฯ รวมไปถึงมหาวิทยาลัยเล็กๆ ของ Concordia (ส่วนใหญ่เป็นขนาดเล็ก) หลายแห่งมีอายุยาวนานแต่ปัจจุบันกำลังจะต้องปิดตัวลงเพราะมีนักศึกษาน้อยลงทุกที

ในทศวรรษที่ผ่านมามีการพูดกันมากว่า “ฟองสบู่มหาวิทยาลัย” ใกล้แตก แต่หลายคนก็ไม่เชื่อ บ้างก็บอกว่ามองโลกร้ายเกินไป บ้างบอกเป็นเรื่องการเมืองเพราะอาจารย์ในมหาวิทยาลัยขยับกันไปทางซ้าย (เชื่อในการมีบทบาทของภาครัฐในเศรษฐกิจและสังคม) มากขึ้น จึงเอามาอ้างเพื่อให้เห็นว่าการเมืองฝ่ายซ้ายกำลังอ่อนลง อย่างไรก็ดี ในที่สุดก็เป็นความจริง หลายมหาวิทยาลัยกำลังปิดตัวลงไม่ใช่เพราะค่าเล่าเรียน ไม่ใช่เพราะเหตุผลทางการเมือง แต่เป็นเพราะอัตราการเกิด

คงจำกันได้ถึงวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาอันเนื่องมาจากวิกฤติการเงินและการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2008 ไม่น่าเชื่อว่าความเครียดที่เกิดขึ้นทำให้อัตราการเกิดลดลงเกือบ 13% ระหว่างปี 2007-2012 ซึ่งจะมีผลทำให้นักศึกษาวัยเข้ามหาวิทยาลัยในอนาคตอันใกล้คือทศวรรษ 2020 ลดลงไปประมาณ 450,000 คน

กลุ่มสถาบันที่จะถูกกระทบมากที่สุดคือบริเวณที่มหาวิทยาลัยเอกชนอยู่หนาแน่นคือ New York/Pennsylvania, แถบ New England เช่น Massachusetts/Maine/New Hampshire และแถบ Great Lakes เช่น Michigan/Wisconsin/Indiana และ Ohio

อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยเอกชนในบริเวณเหล่านี้มีฐานะแตกต่างกันมาก เช่น Harvard มีนักศึกษา 23,000 คน มีเงินกองทุน 39,000 ล้านเหรียญ ในขณะที่ Franklin & Marshall College ใน Pennsylvania มีนักศึกษาเพียง 2,200 คน มีเงินทุนเพียง 391 ล้านเหรียญ หรือ Rosemont College ในชานเมือง Philadelphia มีนักศึกษา 635 คน และมีเงินกองทุน 17.2 ล้านเหรียญ พวกเอกชนเล็กๆ เหล่านี้แหละที่กำลังแย่

Green Mountain ที่มาภาพ : https://www.insidehighered.com/news/2019/01/24/green-mountain-latest-small-college-close

ในรอบ 3 เดือนแรกของปี 2019 Green Mountain, Newbury และ Mount Ida College ใน New England ประกาศแล้วว่าจะปิดกิจการ ในขณะที่ Southern Vermont กำลังใกล้จะปิดเฉพาะในรัฐ Massachusetts เอง 17 มหาวิทยาลัยเอกชนปิดกิจการไปแล้วในรอบ 6 เดือน ที่ผ่านมา

มหาวิทยาลัยเอกชนเล็กๆ เหล่านี้เป็นของมูลนิธิ กลุ่มศาสนา กลุ่มสมาคม ฯลฯ มาเก่าแก่ส่วนหนึ่งและเพิ่มขึ้นเป็นดอกเห็ดตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา เมื่อมีคนในวัยเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น พ่อแม่บางกลุ่มปรารถนาให้ลูกเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็กๆ ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแนวการศึกษาแบบศาสนาหรือ Liberal Arts ที่สร้างให้คนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และในราคาที่ถูกกว่ามหาวิทยาลัยใหญ่ไกลบ้าน

สิ่งที่ทำให้กิจการสะดุดก็คืออัตราการเกิดของประชากรเปลี่ยนแปลงไป โดยเริ่มสังเกตเห็นในปี 2017 เด็กเกิดมีประมาณ 3.85 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1987 เป็นต้นมา ในปี 2017 Total Fertility Rate หรือ TFR (จำนวนเด็กเฉลี่ยที่หญิงให้กำเนิดในชีวิตของเธอ) อยู่ในระดับ 1,765 ของการเกิดต่อหญิง 1,000 คน ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถรักษาจำนวนประชากรไว้ให้คงที่ได้ (จำนวนที่จะช่วยให้รักษาไว้ได้คือ 2,100 การเกิด กล่าวคือ ทดแทนพ่อและแม่และเผื่อการตายของเด็กที่เกิดบางส่วนด้วย)

มองไปทั่วสหรัฐอเมริกา TFR ต่ำกว่า 2,100 เกือบทั้งประเทศ ที่ต่ำสุดคือบริเวณ New England, New York, Pennsylvania และบริเวณ Great Lakes และเมื่อมหาวิทยาลัยเอกชนมีอยู่หนาแน่นในบริเวณนั้น กิจการจึงถูกกระทบอย่างแรง

เมื่อจำนวนเกิดมีน้อยและถูกดูดไปโดยมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนมีชื่อในบริเวณนั้น จึงทำให้จำนวนนักเรียนที่มีเหลือสำหรับมหาวิทยาลัยเอกชนเหล่านี้ลดลงไปมาก ครั้นจะหาเพิ่มจากต่างประเทศก็ได้ทำมานานแล้วและไม่สามารถสู้กับมหาวิทยาลัยใหญ่ทั้งของรัฐและเอกชนที่มีวิชาให้เลือกเรียนมากมาย ความหลากหลายของวิชาที่มีให้เรียนกลายเป็นจุดแข็งที่สำคัญในปัจจุบัน

นักวิเคราะห์บางคนไปไกลกว่านั้นด้วยซ้ำ เช่น Clayton Christensen แห่ง Harvard Business School ระบุว่า ครึ่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา (ไม่จำกัดเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนเท่านั้น) จะต้องปิดกิจการลงภายในทศวรรษหน้าเพราะปัญหาทางการเงินอันเนื่องมาจากขาดผู้เรียน คำพยากรณ์นี้อาจดูเลวร้ายไปสักหน่อย Moody’s ทำนายว่ามหาวิทยาลัยเอกชนจะปิดตัวลงเฉลี่ยปีละ 15 แห่ง จนก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจแก่ท้องถิ่น

เรื่องราวของมหาวิทยาลัยเอกชนในสหรัฐอเมริกาฟังดูแล้วน่าหวาดหวั่น ถ้าหันมาดูสถานการณ์ของบ้านเราแล้วก็จะเห็นภาพที่ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่การปิดของต่างประเทศนั้นคือ “ปิด” ไปเลย แต่บ้านเรานั้นการ “ปิด” มีความอ้อยอิ่งต่างกันอย่างน่าปวดหัว

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 2 เม.ย. 2562