ThaiPublica > คอลัมน์ > เปลี่ยน “น้ำเค็ม” เป็น “น้ำจืด”

เปลี่ยน “น้ำเค็ม” เป็น “น้ำจืด”

8 เมษายน 2019


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ :https://knowledge.wharton.upenn.edu/article/what-other-nations-can-learn-from-israels-solutions-to-the-scarce-water-challenge/

เรามีปริมาณน้ำเค็ม 97.5% ของปริมาณน้ำทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกนี้ อีก 1.75% เป็นก้อนน้ำแข็งใหญ่ที่ขั้วโลก ดังนั้นโลกจึงต้องพึ่งน้ำจืดเพียง 0.75% ของน้ำที่โลกมี และเกือบทั้งหมดเป็นน้ำใต้ดิน มีเพียง 0.3% เท่านั้นที่เป็นน้ำจืดผิวดิน

เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้มนุษย์จึงควรเปลี่ยนน้ำเค็มมาเป็นน้ำจืด เทคโนโลยีนี้ก็ก้าวไปไกลที่สามารถทำได้ไม่ยาก แต่เหตุไฉนมันไม่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย

ทุกอย่างในโลกอธิบายได้ด้วยเหตุผลทั้งสิ้น แม้แต่ความไม่มีเหตุผลก็มีเหตุผลในตัวของมัน desalination (กระบวนการเปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำจืดด้วยการเอาเกลือและสารอื่น ๆ ออกไป) เป็นเรื่องสำคัญเพราะทำให้มนุษย์อยู่รอดได้อย่างดีในบริเวณที่แล้งจัดไม่มีน้ำจืดและอยู่ใกล้ทะเลที่มีปริมาณเกลือเหลือคณานับ

เกลือเป็นสารเคมีที่ร่างกายมนุษย์ต้องการอย่างยิ่ง มนุษย์รู้จักความสำคัญของเกลือมาแต่ดึกดำบรรพ์ มันเป็นสิ่งที่มีค่ามาก จนคำว่า salary มาจาก salt เช่นเดียวกับคำว่า salad (โรยเกลือบนผักก่อนบริโภคจนเป็นที่มาของคำ) คุณสมบัติของเกลือในการรักษาอาหารมีส่วนอย่างสำคัญในพัฒนาการของอารยธรรมโบราณ

เมื่อเกลือช่วยถนอมอาหารจึงทำให้สามารถขนอาหารไปได้ไกล ๆ ไม่ต้องพึ่งพิงฤดูกาลของอาหารมากเกินไป อีกทั้งทำให้อาหารมีรสชาติดีอีกด้วย ดังนั้นเกลือจึงเปรียบเสมือนทองคำในบางพื้นที่ที่ขาดแคลน จนมีการใช้เกลือเสมือนเงินตราในบางยุคสมัยในบางแผ่นดิน

เกลือเป็นสิ่งมีคุณค่าก็จริงอยู่แต่เมื่อไปอยู่ในที่ ๆ ไม่ควรอยู่เช่นน้ำก็เป็นปัญหา จึงต้องหาทางเอามันออกไป ในปัจจุบันเทคโนโลยีในเรื่องนี้ไปไกลจนมีโรงงาน desalination นับเป็นหมื่นแห่งทั่วโลก โรงงานที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่อิสราเอล ไกลออกไป 15 กิโลเมตรจากกรุง Tel Aviv ผลิตน้ำจืด 230 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือประมาณ 1 ใน 5 ของความต้องการใช้น้ำของคนอิสราเอล โรงงานต่อท่อยาวออกไปในทะเลกว่าหนึ่งกิโลเมตรเพื่อสูบน้ำทะเลที่บริสุทธิ์ จากน้ำก็เอามากรองผ่านทรายและปั้มผ่านเยื่อ “reverse osmosis” (ให้ไหลในทิศทางตรงข้ามกับกระบวนการ osmosis ตามธรรมชาติที่ไหลจากของเหลวที่มีความเข้มข้นน้อยกว่าสู่ของเหลวที่มีความเข้มข้นกว่า จนสามารถดักเกลือไว้ได้จนเหลือแต่น้ำจืด)

เทคโนโลยีนี้ริเริ่มโดย Sidney Loeb นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันในทศวรรษ 1960 ผู้ต่อมาอพยพไปอยู่อิสราเอลและพัฒนากระบวนการจนใช้กันทั่วโลกในปัจจุบัน น้ำที่ได้นั้นจืดสนิท ไม่มีรสชาติ แต่ขาดธาตุแคลเซียม และแม็กนีเซียม

ในปัจจุบันทั่วโลกมีโรงงาน desalination 15,906 แห่ง รวมกันผลิตน้ำจืด 95 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน สถิติของความสามารถในการผลิตมีดังนี้ ตะวันออกกลางและอาฟริกาเหนือ 45 ล้านลูกบาศก์เมตร จำนวน 4,826 โรงงาน รองมาคือเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (18 และ 3,505 แห่ง) อเมริกาเหนือ (11 และ 2,341 แห่ง) เอเชียใต้ (2 และ 655 แห่ง) ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง (1 และ 566) และ Sub-Saharan Africa (0.8 และ 303 แห่ง)

ตัวเลขชี้ว่าเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำจืดที่ผลิตได้จากน้ำทะเลทั่วโลกต่อวันมาจากตะวันออกกลางและอาฟริกาเหนือ ปริมาณน้ำจืดผลิตจาก desalination ยังเทียบไม่ได้เลยกับการใช้น้ำจืดทั้งโลกที่ตกประมาณ 4,600 ลูกบาศก์กิโลเมตรต่อปี (ผลิตน้ำจาก desalination ได้เพียง .00347 ลูกบาศก์กิโลเมตรต่อปี) เหตุใดจึงไม่ผลิตกันผ่าน desalination อย่างกว้างขวางและมาก ๆ

เหตุผลแรก เฉพาะประเทศที่อยู่ใกล้ทะเลและมีเงินเท่านั้น desalination จึงเป็นไปได้ (การสูบน้ำทะเลผ่านท่อยาวเป็นกิโลเมตรทำให้ต้นทุนสูงมาก) ต้นทุนของการตั้งโรงงานผลิตแต่ละแห่งนั้นสูงมาก ตัวเลขอยู่ในระดับ 100 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป
เหตุผลที่สอง กระบวนการ desalination ใช้พลังงานสูงมาก ครึ่งหนึ่งหรือสองในสามของต้นทุนต่อหนึ่งลูกบาศก์เมตรหมดไปกับค่าใช้จ่ายพลังงาน ต้นทุนจากวิธีการ Sorek ของอิสราเอลตกประมาณ 50-55 เซนต์ต่อลูกบาศก์เมตร (16-17บาท) ซึ่งลดจาก 78 เซนต์เมื่อ 10 กว่าปีก่อน

เหตุผลที่สาม เกลือเข้มข้นที่ได้จากกระบวนการเป็นปัญหาในการกำจัด การทิ้งกลับลงไปสู่ทะเลถึงแม้จะไกลออกไปถึง 2 กิโลเมตร ก็มีผลต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลเพราะทำให้ความสมดุลทางเคมีของน้ำเสียไปในบริเวณกว้างเพราะทำลายออกซิเจนในน้ำ ปัจจุบันทั่วโลกมีการปล่อยน้ำเกลือเข้มข้นลงทะเลถึง 141.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

เหตุผลที่สี่ สิ่งที่เรียกว่า Unintended Consequences (ผลที่เกิดตามมาอย่างไม่ตั้งใจ) นั้นไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ ความตั้งใจดีบ่อยครั้งที่นำมาซึ่งความเสียหายและผลดี desalination อย่างกว้างขวางทั่วโลกอาจสร้างสิ่งที่เป็นลบอย่างมากก็เป็นได้

นักสังคมวิทยาชาวอเมริกันชื่อดัง Robert K. Merton (ค.ศ. 1910-2003) ทำให้ Unintended Consequencesเป็นที่รู้จัก เขาบอกว่าสังคมมนุษย์เป็นระบบที่ซับซ้อนจนมีแนวโน้มที่การแทรกแซงในบางเรื่องอาจนำไปสู่การเกิดขึ้นของผลอันพึงประสงค์หรือไม่พึงประสงค์อย่างไม่ตั้งใจได้ไม่ยากนัก

ตัวอย่างได้แก่เรื่องที่เรือจมในทะเลจากการรบกลายเป็นแหล่งสร้างปะการัง ยา aspirin มีผลข้างเคียงในด้านดีอย่างมิได้ตั้งใจกล่าวคือนอกจากระงับความปวดแล้ว ยังทำให้เลือดไม่แข็งตัวง่ายจนช่วยป้องกันการเสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลวการห้ามดื่มและผลิตแอลกอฮอร์อย่างเด็ดขาดในสหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 1920 ทำให้เกิดการค้าเหล้าเถื่อนอย่างกว้างขวางเป็นแหล่งรายได้ของกลุ่มอาชญกรจนมีส่วนทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมหนักหน่วงขึ้น

การนำผักตบชวาเข้ามาจากอินโดนีเซียในสมัยโบราณเพราะดอกมีกลิ่นหอมทำให้เป็นปัญหาแก่คูคลองในปัจจุบัน ในอดีตสมัยอาณานิคมงูเห่าในเมือง Delhi ชุกชุม รัฐบาลอังกฤษจึงให้รางวัลแก่ผู้ฆ่าหรือจับงูอย่างงาม ผลปรากฏว่ามีการเพาะเลี้ยงงูเห่ากันทั่วไปเพื่อเงินรางวัล ในที่สุดรัฐบาลก็ประกาศยกเลิก ชาวบ้านไม่เห็นประโยชน์ในการเลี้ยง จึงปล่อยออกมาเพ่นพ่าน สุดท้ายงูเห่าชุกชุมมากกว่าตอนก่อนให้รางวัล

desalination จากน้ำทะเลมีประโยชน์อย่างมากแต่ก็มีผลเสียข้างเคียงที่ต้องระวัง

อย่างไรก็ดี desalination บุคคลที่ “ทะเลเรียกพี่” นั้น มีประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดเพียงแต่จะใช้วิธีการหรือกระบวนการใดที่มีประสิทธิภาพแต่ไม่ถึงแก่ชีวิตนั้นน่าจะต้องค้นหากันอีกนาน

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 19 มี.ค. 2562