ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้รับเหมาร้องเรียนข้อพิรุธ TOR งานก่อสร้างทางด่วนยกระดับพระราม 3 – ดาวคะนอง บอร์ด กทพ. เร่งหาคำตอบแต่ไม่ยกเลิกประมูล

ผู้รับเหมาร้องเรียนข้อพิรุธ TOR งานก่อสร้างทางด่วนยกระดับพระราม 3 – ดาวคะนอง บอร์ด กทพ. เร่งหาคำตอบแต่ไม่ยกเลิกประมูล

1 เมษายน 2019


ที่มาภาพ : http://www.nationmultimedia.com/detail/national/30356756

แหล่งข่าวจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเปิดเผยว่า ตามที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ประกาศเปิดประมูลโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ซึ่งมีมูลค่าโครงการกว่า 30,000 ล้านบาท โดยเป็นการเปิดประมูลแบบนานาชาติหรือ international competitive bidding ในสัญญางานก่อสร้างที่ 1-4 เปิดขายซอง TOR เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 จนถึงวันที่ 23 เมษายน 2562 และให้ยื่นราคา 24 เมษายน 2562 ส่วนสัญญาที่ 5 เป็นงานระบบจัดเก็บค่าผ่านทางควบคุมจราจรและระบบสื่อสาร เปิดประมูลแบบประกวดราคาอิเล็กทรอนอกส์ (e-bidding) เปิดขายซองราคา 6 มีนาคม จนถึง 2 เมษายน 2562 และให้ยื่นซองราคาวันที่ 3 เมษายน 2562

“จากการเปิดให้ประมูลครั้งนี้มีหลายประเด็นที่ในกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างเห็นว่า TOR ทั้ง 5 สัญญามีความผิดปกติในหลายประการ ขณะนี้ทราบว่ามีการร้องเรียนและท้วงติงว่า TOR อาจจะเอื้อประโยชน์และทำให้เกิดความเสียหายต่อ กทพ. และรัฐโดยยื่นไปยังคณะกรรมการ กทพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ยังไม่ได้รับคำตอบว่าจะดำเนินการอย่างไร”

สำหรับ TOR สัญญาที่ 1-3 เป็นสัญญาทางยกระดับ (ทางด่วน 2 ชั้น) กำหนดให้ต่างชาติต้องร่วมกับบริษัทไทย ให้คนไทยถือหุ้นอย่างน้อย 50% และผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานการก่อสร้างในประเภทเดียวกัน โดยในส่วนผู้ร่วมค้าหลักหรือ leader ต้องมีมูลค่าโครงการไม่น้อยกว่า 1,400 ล้านบาท ส่วนผู้ร่วมค้าหรือ partner ต้องมีผลงานโครงการมูลค่าไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท ประเด็นสำคัญใน TOR 1-3 นี้ ไม่มีการะบุระยะเวลาผลงานของผู้เข้าร่วมประมูล เช่น โดยทั่วไปมักจะระบุว่าต้องมีผลงานย้อนหลังในช่วง 10 ปี เผื่อนำมาใช้เป็นผลงานของผู้เข้าร่วมประมูล

“ระยะเวลาการทำโครงการพวกนี้สำคัญ ในแง่ของการประมูลแบบ international bidding จะต้องกำหนดระยะเวลาผลงานที่ชัดเจน หากเอาผลงานในอดีตที่เคยทำนานมาแล้ว ก็อาจจะไม่เหมาะสม วิธีการก่อสร้างไม่ทันสมัย เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ และเปลี่ยนแปลงเร็ว อาจจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของผู้เข้าร่วมประมูลและคุณภาพงานได้” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวต่อในส่วนสัญญาที่ 4 ซึ่งเป็นสัญญาสร้างสะพานแขวน TOR ผู้ยื่นสามารถเป็นนิติบุคคลไทยรายเดียว หรือนิติบุคคลไทยหลายราย หรือเป็นกิจการร่วมค้าที่มีต่างชาติ ประเด็นที่ตั้งเป็นข้อสังเกตคือ กรณีกิจการร่วมค้า ไม่กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของคนไทยว่าจะต้องถือหุ้นในสัดส่วนเท่าใด หากเทียบกับสัญญาที่ 1-3 ซึ่งมีการกำหนดชัดเจน

นอกจากนี้ สัญญาที่ 4 ผู้ร่วมค้าหลักต้องมีผลงานโครงการมูลค่าไม่น้อยกว่า 1,600 ล้านบาท แต่ในกรณีผู้ร่วมค้าหรือ partner ไม่มีการกำหนดมูลค่าผลงานก่อสร้าง ต่างจากสัญญาที่ 1-3 มากไปกว่านั้นสัญญาที่ 4 ไม่มีการกำหนดระยะเวลาผลงานเช่นเดียวกับสัญญาที่ 1-3 ซึ่งผิดหลักการของการประมูลแบบ international bidding

ส่วนสัญญาที่ 5 เป็นสัญญาประมูลระบบเก็บเงิน แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวว่า “ เป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่าทำไมต้องรีบประมูลระบบการเก็บเงิน เพราะการก่อสร้างทางด่วนเส้นนี้ต้องใช้เวลาประมาณ 4 ปี กว่าจะแล้วเสร็จ และประมูลก่อนสัญญาที่ 1-4 ด้วย หากงานก่อสร้างล่าช้าก็อาจจะมีการฟ้องร้องค่าเสียหายกันอีก ส่วนคุณสมบัติกำหนดว่าผู้ยื่นเสนองานต้องมีผลงานโครงการมูลค่าไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท แต่ไม่ระบุระยะเวลาผลงานเช่นเดียวกับสัญญา 1-4”

“ที่น่าแปลกใจมากกว่านั้นคือ การประมูลแบบ international bidding การเปิดขายซองประมูลจะมีระยะเวลาปิดขายซอง เช่น ขาย 1 เดือนแล้วหยุด เพื่อให้ผู้ซื้อซองมีเวลาทำข้อมูลเพื่อยื่นประมูล แต่ทั้ง 5 สัญญาขายซองราคายาวถึงวันยื่นซองประมูล จึงเป็นเรื่องที่ต้องเรียกร้อง ร้องเรียนถึงความผิดปกติเหล่านี้ เพราะเกรงว่าเป็นการเอื้อให้ผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ครบสามารถยื่นประมูลในท้ายที่สุดได้” แหล่งข่าวกล่าว

ต่อประเด็นการประมูลงานก่อสร้างทางด่วนพระราม 3 นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ กทพ. ให้ความเห็นว่าหลังจาก กทพ. เปิดขายซองประกวดราคาโครงการก่อสร้างทางพิเศษ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ปรากฏว่ามีหนังสือร้อนเรียนส่งมาที่คณะกรรมการ กทพ. ตนจึงสั่งให้ฝ่ายบริหารของ กทพ. นำข้อร้องเรียนดังกล่าวไปพิจารณาทบทวนเพื่อหาข้อยุติ โดยให้ไปปรึกษากับกรมบัญชีกลาง เพื่อหาข้อมูลมาตอบคำถามผู้ที่ร้องเรียนให้ได้ เช่น ทำไมต้องรีบเร่งออกประกาศคัดเลือกผู้บริหารโครงการตามสัญญาที่ 5 ทั้งที่สัญญาที่ 1-4 ก็ยังก่อสร้างไม่เสร็จ แต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดก็ยังเดินหน้าต่อไป ยังไม่มีการยกเลิก เพียงแต่ขอให้ฝ่ายบริหาร กทพ. นำประเด็นข้อร้องเรียนทั้งหมดไปพิจารณามีเหตุผลถูกต้องหรือไม่ และต้องตอบคำถามของผู้ที่ร้องเรียนมาให้ได้ด้วย

อนึ่งข้อมูลของกทพ.ระบุว่าโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษให้สามารถรองรับการเดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นนอกและพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยแบ่งเบาปัญหาจราจรติดขัดบนถนนพระรามที่ 2 และทางพิเศษเฉลิมมหานครช่วงบางโคล่ – ดาวคะนอง รวมทั้งเป็นเส้นทางที่ใช้ในการเดินทางและการขนส่งสินค้าในกรณีเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติและเหตุฉุกเฉิน เช่น เหตุการณ์อุทกภัย เป็นต้น

โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อกับโครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 (ธนบุรี – ปากท่อ) และมีทางขึ้น – ลงที่จุดเริ่มต้นโครงการบริเวณ กม.13+000 ของถนนพระรามที่ 2 เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ทิศทางละ 3 ช่องจราจร) ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระรามที่ 2 มาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงด่านเก็บค่าผ่านทางดาวคะนอง จากนั้นซ้อนทับบนทางพิเศษเฉลิมมหานครจนถึงบริเวณถนนพระรามที่ 3 ใกล้กับทางแยกต่างระดับบางโคล่ ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการ โดยเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช ช่วงที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจะก่อสร้างสะพานใหม่ขนาด 8 ช่องจราจร (ทิศทางละ 4 ช่องจราจร) ขนานอยู่ทางด้านทิศใต้ของสะพานพระราม 9 โครงการมีทางขึ้น – ลง 7 แห่ง ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร