ThaiPublica > เกาะกระแส > 73 ปี ประชาธิปัตย์ วังวน “ศึกนอก – ศึกใน” วัฏจักร โต- แตก -เพิ่ม- ลด

73 ปี ประชาธิปัตย์ วังวน “ศึกนอก – ศึกใน” วัฏจักร โต- แตก -เพิ่ม- ลด

8 เมษายน 2019


เมื่อวันที่ 24 มี.ค.62 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องสูญพันธุ์ในพื้นที่ กทม. ทั้งที่เคยเป็นฐานเสียงสำคัญที่ผูกขาดชัยชนะมายาวนานต่อเนื่อง ไม่ต่างจากพื้นที่ภาคใต้ที่ถูกคู่แข่งเจาะได้สำเร็จในหลายพื้นที่ ปิดตำนานเสาไฟฟ้าการเมืองที่เคยกล่าวขานกันมาในอดีต

ไม่ว่าสาเหตุจะมาจากความอ่อนแอภายใน หรือความเข้มแข็งจากภายนอก แต่คู่แข่งหน้าใหม่อย่าง “พลังประชารัฐ” หรือ “อนาคตใหม่” ก็ทำให้พรรคขนาดใหญ่อันดับสองอย่างประชาธิปัตย์ต้องถูกสอยร่วงจนกลายเป็นพรรคอันดับสี่ จากที่เคยได้ ส.ส.มากกว่าร้อยคนในอดีต เหลือเพียงแค่ประมาณครึ่งร้อยในปัจจุบัน

ส่วนจะเป็นเพราะการชิงจังหวะประกาศจุดยืนของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ไม่ร่วมรัฐบาลกับทั้งฝั่ง “คนโกง” และ “สืบทอดอำนาจ” จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเดินหมากผิดที่ทำให้แพ้ทั้งกระดานหรือไม่ แต่อภิสิทธิ์ก็ได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคตามที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะลาออกหากพรรคได้คะแนนต่ำกว่าร้อยในการเลือกตั้งครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม หากย้อนดูประวัติศาสตร์ของพรรคเก่าแก่ที่มีอายุครบ 73 ปี ในวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งที่ออกมาไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนขึ้นๆ ลงๆ จากปัจจัยภายนอกและภายในพรรคในแต่ละห้วงเวลา

เริ่มตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2500 ภายใต้การนำของ ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคคนแรก ประชาธิปัตย์ได้ชัยชนะ 31 ที่นั่ง จากทั้งหมด 283 ที่นั่ง เริ่มต้นบทบาทฝ่ายค้านครั้งแรก ก่อนมี ส.ส.เพิ่มขึ้นเป็น 39 ที่นั่ง จาก 160 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งถัดมาปลายปี 2500 จากนั้นในการเลือกตั้ง 2512 ภายใต้การนำของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พรรคประชาธิปัตย์ได้สามารถโกยเสียงถึง 57 จาก 219 ที่นั่ง

ยุคปชป.ฟีเวอร์ กวาดเก้าอี้หมด กทม.

ในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2518 ประชาธิปัตย์ได้เสียงมากถึง 72 จาก 269 ที่นั่ง และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแต่ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2518 รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ได้เสียงสนับสนุนเพียง 111 เสียง ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของ สภาคือ 135 เสียง ทำให้ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกและสละสิทธิการจัดตั้งรัฐบาล ก่อนที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมที่มีเสียงเพียง 18 เสียง จะสามารถรวบรวม ส.ส. 8 พรรค 135 เสียงตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

จนมาถึงวันที่พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนสูงสุดในการเลือกตั้ง คือการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2519 พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียง 114 จาก 279 ที่นั่ง สามารถกวาดที่นั่งใน กทม.ได้ยกจังหวัด 28 เขต ทั้งหมด ซึ่ง ส.ส.ในสมัยนั้นเป็นที่รู้จักหลายคน เช่น สมัคร สุนทรเวช, วีระ มุสิกพงศ์, พิชัย รัตตกุล, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, เจริญ คันธวงศ์ ส่วน ส.ส.ในภาคใต้ได้มา 30 ที่นั่ง จากทั้งหมด 36 ที่นั่ง ขณะที่พื้นที่ภาคอีสานได้ ส.ส. 24 ที่นั่ง มากเป็นอันดับสอง รองจากพรรคชาติไทย ที่ได้ 27 ที่นั่ง

ส่งผลทำให้ประชาธิปัตย์สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยเป็นรัฐบาลผสม 4 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคธรรมสังคม และพรรคสังคมชาตินิยมรวมแล้วมีจำนวนเสียง ส.ส.ทั้งหมด 206 เสียง แต่ต่อมาถูกคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ เข้ายึดอำนาจการปกครองในประเทศ ในวันที่ 6 ต.ค. 2519

สมัคร ลาออกตั้งประชากรไทย กทม.เหลือ 1 ที่นั่ง

ผ่านพ้นช่วง “ขาขึ้น” ได้ไม่นานประชาธิปัตย์เริ่มก้าวสู่ยุค “ขาลง” โดยการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2522 พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.เพียงแค่ 33 ที่นั่งจากทั้งหมด 301 ลดลงจากเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้ถึง 81 ที่นั่ง โดยเก้าอี้ กทม.เดิมที่เคยได้ยกจังหวัดเหลือเพียง 1 ที่นั่ง ซึ่งเป็นของ พ.อ. (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ เท่านั้น

สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะ “สมัคร” ซึ่งถือเป็นดาวรุ่งในขณะนั้น ได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ มาตั้งพรรคประชากรไทยและประสบความสำเร็จอย่างมากในการเลือกตั้ง จนได้รับเลือกตั้งในพื้นที่ กทม.ถึง 29 ที่นั่ง จากทั้งหมด 32 ที่นั่ง เหลือให้ประชาธิปัตย์ 1 ที่นั่งและอีก 2 ที่นั่งจากพรรคกิจสังคมคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ เกษม ศิริสัมพันธ์

ในภาพรวมประชาธิปัตย์ได้เป็นพรรคอันดับสาม ทำให้ ม.ร.ว.เสนีย์ แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก และ พรรคได้เลือก พ.อ. (พิเศษ) ถนัด ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค ต่อไป โดยการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคกิจสังคม ได้รับเลือกมาเป็นอันดับหนึ่ง คือ 88 ที่นั่ง ขณะที่ผู้สมัครอิสระที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด ได้ทั้งสิ้น 63 ที่นั่ง จากทั้งเสียงหมดในสภาผู้แทนราษฎร 301 เสียง จึงไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงเกินครึ่ง ก่อนที่ทุกพรรคจะมีมติสนับสนุนให้ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป

ปชป.ชนะเลือกตั้ง 2529 แต่ไม่ได้เป็นนายกฯ

ถัดมาการเลือกตั้งปี 2526 ประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของ พิชัย รัตตกุล ได้จำนวนเก้าอี้เพิ่มมากขึ้น คือ 56 จาก 324 ที่นั่ง โดย กทม.ได้ 10 จาก 36 ที่นั่ง ขณะที่ ภาคใต้ ได้ 25 จาก 41 ที่นั่ง โดยพรรคชาติไทย ที่มี พล.ต. ประมาณ อดิเรกสาร เป็นหัวหน้าพรรค ได้รับเลือกมาเป็นลำดับที่หนึ่ง โดยได้ที่นั่งไปทั้งสิ้น 110 ที่นั่ง รองลงมาคือ พรรคกิจสังคม 99 ที่นั่ง

อย่างไรก็ตาม ไม่มีพรรคใดได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ที่มีทั้งหมด 324 เสียง ซึ่งผลการจัดตั้งรัฐบาล ปรากฏว่า พรรคกิจสังคม, พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชากรไทยตกลงกันที่จะสนับสนุน พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ขณะที่พรรคชาติไทย รวมกันกับพรรคการเมืองอื่นๆ เป็นฝ่ายค้าน

ในการเลือกตั้ง ปี 2529 ประชาธิปัตย์ชนะในการเลือกตั้งเป็นอับดับหนึ่ง โดยได้เก้าอี้เพิ่มขึ้น 44 ที่นั่ง เป็น 99 ที่นั่งจาก 347 ที่นั่ง โดย กทม.ได้ 15 จาก 36 ที่นั่ง ภาคใต้ได้ 36 จาก 43 ที่นั่ง พรรคที่ได้ที่สองคือ พรรคชาติไทย 64 เสียง พรรคกิจสังคม 51 เสียง และพรรคราษฎร 20 เสียง แต่ทั้ง 4 พรรคได้หารือและเห็นชอบตรงกันให้ พล.อ. เปรม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป

กลุ่ม 10 มกราฯ ย้ายออก ปชป.เสียงหายเกือบครึ่ง

ต่อมาการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2531 พรรคชาติไทย โดย พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรค ได้รับเลือกมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยเสียง 87 ที่นั่ง รองลงไปคือ พรรคกิจสังคม 54 ที่นั่ง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์คะแนนลดลงเกือบครึ่งเหลือ 48 ที่นั่ง

ทั้งนี้ ไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับเสียงเกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และจากการหารือกัน พรรคการเมืองส่วนใหญ่เห็นควรให้ พล.อ. เปรม เป็นนายกฯ ต่อ แต่ พล.อ. เปรม ปฏิเสธที่จะดำรงตำแหน่งต่อ โดยให้เหตุผลว่า ดำรงตำแหน่งมาเป็นเวลารวมทั้งหมด 8 ปี 5 เดือน แล้ว

ดังนั้น พล.อ. ชาติชาย ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยที่มีคะแนนเสียงมากที่สุด จึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ ประชาธิปัตย์ได้จำนวนเก้าอี้ ส.ส.ลดลงเกือบครึ่ง ถูกมองว่ามาจาก ปัญหาภายในในการภายหลังเลือกตั้งหัวหน้าพรรค คือ กลุ่ม 10 มกรา ที่ก่อตั้งโดย เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ อดีตเลขาธิการพรรคช่วงปี พ.ศ. 2522 และ วีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคในขณะนั้น ต้องการเสนอชื่อ เฉลิมพันธ์ เป็นหัวหน้าพรรค และวีระเป็นเลขาธิการพรรค แต่สุดท้ายแพ้ให้กับ พิชัยและ พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ ในการประชุมพรรคเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2530 ที่โรงแรมเอเชีย

เมื่อรวมกับปัญหาในระยะหลัง กลุ่ม 10 มกรา ประมาณ 40 คน ได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์พร้อมกับกลุ่มวาดะห์ มาจัดตั้งพรรคประชาชน และในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2531 พรรคประชาชนได้ ส.ส.ในสภาทั้งสิ้น 19 คน ก่อนที่ต่อมาพรรคประชาชนได้ยุบรวมเข้ากับพรรคเอกภาพ

ปชป.ฟื้นสภาพเสียงกลับมาเกินร้อย

ภายหลัง ชวน หลีกภัย ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคนำประชาธิปัตย์ลงสนามเลือกตั้ง ครั้งแรก มี.ค. 2535 หรือ 35/1 ประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. 44 คนจากทั้งหมด 360 คน ในพื้นที่ กทม. มีเพียงแค่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่สามารถฝ่ากระแสนิยมของพรรคพลังธรรมเข้ามาเป็น ส.ส.ได้คนเดียว ขณะที่พรรคพลังธรรมได้ 32 ที่นั่ง หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 13 ก.ย. 2535 หรือ 35/2

การเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนเพิ่มขึ้นมากจนชนะเป็นที่หนึ่ง ได้ 79 เสียง จาก 360 เสียง โดยเอาชนะ พรรคชาติไทย ไปได้ 2 เสียง ทำให้ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และนายหัวชวน ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 20 โดยมี 4 พรรคร่วมรัฐบาล คือ พรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม พรรคเอกภาพ และพรรคกิจสังคม

โดยในการเลือกตั้งครั้งถัดมา ประชาธิปัตย์ได้คะแนนมากขึ้นเรื่อยๆ การเลือกตั้ง ปี 2538 ได้ 86 ที่นั่งจาก 391 ที่นั่ง แม้จะมากกว่าเดิมแต่ก็แพ้ให้กับ พรรคชาติไทย ภายใต้การนำของ บรรหาร ศิลปอาชา ที่ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีว่ากันว่า ส่วนหนึ่งมาจากผลพวงหลังการลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลกรณีการแจกเอกสารสิทธิที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ของพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนหน้านี้

การเลือกตั้งถัดมา ปี 2539 ประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส. 123 คนจากทั้งหมด 393 คน ในพื้นที่ กทม. ได้ 27 ที่นั่ง จากทั้งหมด 30 ที่นั่ง พื้นที่ภาคใต้ ได้ 46 จาก 47 ที่นั่ง

ทรท.-พปช.-พท. คู่ปรับ ประชาธิปัตย์

การเลือกตั้ง ปี 2544 ประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.ทั้งหมด 128 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่ง โดยแพ้ให้กับพรรคไทยรักไทย ที่เปิดตัวได้อย่างร้อนแรง ภายใต้การนำของ ทักษิณ ชินวัตร ที่ลงสนามครั้งแรกได้ 248 ที่นั่ง

หลังการลาออกของนายหัวชวน ที่ประชุมพรรคเลือก บัญญัติ บรรทัดฐาน จากกลุ่มทศวรรษใหม่ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนถัดมา โดยเอาชนะอภิสิทธิ์จากกลุ่มประชาธิปัตย์ผลัดใบ ภายใต้การสนับสนุนของสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งเริ่มปรากฏรอยร้าวระหว่างสองกลุ่มอยู่เป็นระยะ

โดยการเลือกตั้ง 6 ก.พ. 2548 ประชาธิปัตย์ ได้คะแนนเสียง 96 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่ง ขณะที่ คู่แข่งอย่างไทยรักไทย ยังคงขยายฐานความนิยมได้อย่างต่อเนื่องจน ได้ไปถึง 377 เสียง แม้ในส่วนของประชาธิปัตย์ พื้นที่ภาคใต้ได้ 52 จาก 54 ที่นั่ง แต่ในส่วนพื้นที่ กทม.ประชาธิปัตย์ได้ 4 ที่นั่งจาก 37 ที่นั่ง ขณะที่ไทยรักไทยได้ถึง 32 ที่นั่ง

ถัดมาที่การเลือกตั้ง ปี 2550 ประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับเสียงมากถึง 165 ที่นั่งจาก 480 ที่นั่ง แต่ยังน้อยกว่า พรรคพลังประชาชน ซึ่งมีสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งได้ถึง 233 เสียง

ไม่ต่างจากการเลือกตั้ง ปี 2554 ประชาธิปัตย์ ได้ 159 เสียงจากทั้งหมด 500 เสียง ขณะที่พรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งได้ 256 เสียง ก่อนนำมาสู่การลาออกของ ลุงกำนัน สุเทพ เทือกสุบรรณ มาเคลื่อนไหวค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ก่อนยกระดับเป็นการชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และปิดฉากด้วยการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต่อมาบานปลายกลายเป็นรอยร้าวระหว่าง กปปส. และประชาธิปัตย์ ที่หนักขึ้นเรื่อยๆ จนว่ากันว่ามีเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาธิปัตย์แพ้แบบยับเยินในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

นี่คือผลการเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ตลอด 73 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งขาขึ้นและขาลงสลับสับเปลี่ยนกันไป ท่ามกลางแรงเสียดทานจากภายในและภายนอก ที่มีผลต่อคะแนนนิยมและจำนวนเก้าอี้ ส.ส.ในแต่ละยุคสมัย ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายคณะผู้บริหารชุดใหม่ของประชาธิปัตย์จะต้องวางเกม พลิกกลยุทธ์ เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นที่มีต่อพรรคให้กลับมาโดยเร็ว สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า(ถ้ามี)