ThaiPublica > เกาะกระแส > บอร์ด PPP มีมติธุรกิจ “ดิวตี้ฟรี” ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ชี้ไม่ใช่กิจการจำเป็นที่ขาดไม่ได้ – ด้าน “นิตินัย” เปิดรายชื่อผู้ซื้อซองประมูล 9 ราย

บอร์ด PPP มีมติธุรกิจ “ดิวตี้ฟรี” ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ชี้ไม่ใช่กิจการจำเป็นที่ขาดไม่ได้ – ด้าน “นิตินัย” เปิดรายชื่อผู้ซื้อซองประมูล 9 ราย

18 เมษายน 2019


เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2562 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ครั้งที่ 2/2562 ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2562 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ครั้งที่ 2/2562 ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ PPP เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP มีมติรับทราบการพิจารณาของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย รวมทั้งมีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการ PPP เรื่อง กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ในกลุ่มของกิจการท่าอากาศยานและการขนส่งทางอากาศ ตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในวันอังคารที่ 23 เมษายน 2562

สำหรับ “กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น” ตามมาตรา 7 (3) ที่จะต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2562 มีทั้งหมด 13 ประเภทกิจการ ประกอบด้วย กิจการท่าอากาศยานจำนวน 12 ประเภทกิจการ และกิจการขนส่งทางอากาศอีก 1 กิจการ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

    1. ครัวการบิน (catering services)

    2. คลังสินค้า

    3. ระบบให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยานอุปกรณ์บริการภาคพื้นดิน และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการซ่อมบำรุง

    4. อุปกรณ์บริการภาคพื้นและสิ่งอำนวยความสะดวก

    5. บริการขนส่งสัมภาระที่เกิดการตกค้างระหว่างเดินทาง

    6. การให้บริการด้านผู้โดยสาร (passenger handling services)

    7. การให้บริการรักษาความปลอดภัย

    8. การติดตั้งป้ายแบบอิเล็กทรอนิกส์แสดงข้อมูลแก่ผู้โดยสารและผู้มาใช้บริการท่าอากาศยาน

    9. การให้บริการล้างเครื่องบินด้วยระบบเคลื่อนที่

    10. การปรับปรุงความปลอดภัย หรือการรักษาความปลอดภัยของสนามบิน

    11. การก่อสร้างหรือการติดตั้งอุปกรณ์ เพื่อลดผลกระทบทางเสียงที่เกิดขึ้นจากการใช้สนามบิน

    12. การรักษาสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่เกิดจากการใช้สนามบิน

    13. การบริการซ่อมบำรุงอากาศยาน

  • ทอท.เปิดคัดเลือกเอกชนรายเดียว ผูกขาดสัมปทานดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์ 10 ปี เปิดขายซอง 19 มี.ค.นี้
  • AOT ข้ามขั้นตอน! เปิดประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน ก่อนคลังคลอด กม.ลูก – กำหนดกิจการที่เข้าข่ายปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ใหม่
  • นายกฯ สั่ง “บอร์ด ทอท.” ทบทวนประมูลดิวตี้ฟรี – รายเดียว ผูกขาด 4 สนามบิน
  • “อาคม” สั่ง AOT ชะลอประมูลดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน เคลียร์ปม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ – ทบทวนรูปแบบสัมปทานรายเดียว
  • ทอท.เดินหน้าประมูลดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิ เลือกรายเดียว เปิดขายซอง 1-18 เม.ย.นี้
  • มติบอร์ด PPP นัดแรก ตั้งอัยการสูงสุด ประธานวินิจฉัย ประมูล “สัมปทานดิวตี้ฟรี” ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่?
  • “ประภาศ คงเอียด” แจงกรอบการวินิจฉัย “ดิวตี้ฟรี” เป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนใหม่หรือไม่?
  • หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย เพื่อพิจารณากลั่นกรองและเสนอความเห็นต่อร่างกฎหมายลำดับรอง รวมทั้งจัดทำร่างประกาศคณะกรรมการ PPP เรื่อง กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นฯ ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2562 ทางคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายได้มีการประชุมกัน 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 และครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562 ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ได้แก่ กระทรวงคมนาคม, สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย, กรมศุลกากร, กรมท่าอากาศยาน, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), กองทัพเรือ, บริษัท การบินไทน จำกัด และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

    โดยคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ได้มีมติเห็นชอบให้จัดทำร่างประกาศคณะกรรมการ PPP เรื่อง กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นฯ ตามมาตรา 7 (3) เนื่องจากมีความเร่งด่วน รวมทั้งกำหนดกรอบแนวทางในการพิจารณาประเภทกิจการใดที่ถือเป็น “กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น” ตามมาตรา 7 วรรคที่ 2 ซึ่งมีหลักการพิจารณาดังนี้

      1. หากไม่มีกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นนั้น จะไม่สามารถดำเนินกิจการตามมาตรา 7 วรรคที่ 1 ได้

      2. กรณีที่มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่ง กำหนดให้ต้องมี “กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น” ไว้ในการดำเนินกิจการตามมาตรา 7 วรรคที่ 1

    ส่วนกิจการร้านค้าปลอดอากร (duty free) และกิจการร้านค้าบริการ (retails and services) ภายในท่าอากาศยานนั้น คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายมีความเห็นว่า “เป็นกิจการเชิงพาณิชย์ แต่ไม่ใช่กิจการจำเป็นที่ขาดไม่ได้” ดังนั้น การประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีและสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจึงไม่ได้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2562 เพราะไม่ใช่กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นตามมาตรา 7 วรรคที่ 2

    นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.

    วันเดียวกันนั้น นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก สรุปรายชื่อผู้ซื้อซองประมูล หลัง ทอท.ปิดขายซองเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2562 เวลา 16.00 น.

    โครงการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีผู้มาซื้อซองประมูลทั้งสิ้น 5 ราย ได้แก่

      1. บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด

      2. บริษัท คิงพาวเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด

      3. บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)

      4. บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

      5. บริษัท โรงแรมรอยัลออคิด เชอร์ราตัล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

    โครงการให้สิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีผู้มาซื้อซองประมูล 4 ราย ได้แก่

      1. บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด

      2. บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด

      3. บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)

      4. บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด

    ทั้งนี้ผู้ที่จะยื่นซองจะต้องแจ้งรายชื่อ Joint Venture ที่จะร่วมประมูลกับ ทอท. ก่อนกำหนดยื่นซองประมูลในวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ โดย ทอท. ได้เชิญตัวแทนจากสำนักงานงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าร่วมสังเกตการณ์ ทั้งในวันที่มีการชี้แจงคุณสมบัติและวันเปิดซอง เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามหลักธรรมาภิบาลที่ ทอท. ดำเนินการมาโดยตลอด

    (หมายเหตุ: การสะกดเป็นไปตามโพสต์ต้นทาง)