ThaiPublica > คนในข่าว > “ประภาศ คงเอียด” แจงกรอบการวินิจฉัย “ดิวตี้ฟรี” เป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นตามพ.ร.บ.ร่วมทุนใหม่หรือไม่?

“ประภาศ คงเอียด” แจงกรอบการวินิจฉัย “ดิวตี้ฟรี” เป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นตามพ.ร.บ.ร่วมทุนใหม่หรือไม่?

7 เมษายน 2019


นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนายการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

ศึกชิงสัมปทานดิวตี้ฟรี กลายเป็นประเด็นฮอต หลังจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” เดินหน้าประกาศขายซองประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี และพื้นที่เชิงพาณิชย์ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 และวันเดียวกับที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ครั้งที่ 1/2562 (คณะกรรมการ PPP) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ลงมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ยกร่างประกาศคณะกรรมการ PPP เป็นการเร่งด่วน เพื่อวินิจฉัยและกำหนดกิจการในท่าอากาศยานใดบ้าง เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

เป็นการทำงานคู่ขนานไปกับการคัดเลือกผู้รับสัมปทานดิวตี้ฟรี ทั้งที่การตีความในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายยังไม่มีข้อยุติ แต่ ทอท.เปิดขายซองผู้ประมูลงาน ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงต่อการถูกยกเลิกกลางคันก็ตาม ถ้าหากคณะกรรมการ PPP วินิจฉัย การให้สัมปทานดิวตี้ฟรี ถือเป็น “กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น” เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การดำเนินกิจการท่าอากาศยาน (มาตรา 7 ) กระบวนการคัดเลือกครั้งนี้ ต้องกลับไปเริ่มต้นปฏิบัติตามกระบวนการและขั้นตอนของพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯกันใหม่

  • ทอท.เปิดคัดเลือกเอกชนรายเดียว ผูกขาดสัมปทานดิวตี้ฟรี – พื้นที่เชิงพาณิชย์ 10 ปี เปิดขายซอง 19 มี.ค.นี้
  • ทอท. เดินหน้าประมูลดิวตี้ฟรี – พื้นที่เชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิ เลือกรายเดียว เปิดขายซอง 1 -18 เม.ย.นี้
  • มติบอร์ด PPP นัดแรก ตั้งอัยการสูงสุด ประธานวินิจฉัย ประมูล “สัมปทานดิวตี้ฟรี” ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่?
  • ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้สัมภาษณ์ “ประภาศ คงเอียด” ผู้อำนายการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะผู้รักษากฎหมายร่วมลงทุนฯฉบับนี้ โดยนายประภาศกล่าวย้ำว่า “การให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ เป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการเท่านั้น ในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย, อดีตหัวหน้าคณะผู้พิพากษา ศาลภาษีอากรกลางและศาลอาญา ไม่ใช่ความเห็น หรือ คำวินิจฉัย ของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย หรือ คณะกรรมการ PPP แต่ประการใด”

    ทำไมกระทรวงการคลังต้องยกร่างพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯฉบับใหม่

    ที่ผ่านมากระทรวงการคลังออกกฎหมายร่วมลงทุนฯมาแล้ว 3 ฉบับ คือพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ 2535 , พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2556 และ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 แต่ขอเน้นเฉพาะพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556 กับพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2562 เนื่องจากพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2535 ยังไม่เอื้อต่อการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน ตามหลักสากล ปี 2556 กระทรวงการคลังจึงต้องยกร่างกฎหมายร่วมทุนฯให้สอดคล้องกับหลักสากลได้ระดับหนึ่ง แต่ทว่าในทางปฏิบัติยังมีขั้นตอน และกระบวนการที่ยุ่งยากมากเกินไป

    ยกตัวอย่าง กระทรวงคมนาคมมีแนวคิดที่จะทำโครงการร่วมลงทุนขึ้นมาโครงการหนึ่ง ตามกระบวนการของพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯปี 2556 ต้องจัดทำรายงานผลศึกษา วิเคราะห์ แทนที่จะเชิญหน่วยงานอื่น เช่น สภาพัฒน์ฯ , สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เข้ามาร่วมศึกษาตั้งแต่เริ่มแรก ปรากฏว่ากฎหมายร่วมลงทุนฯไม่ได้กำหนดไว้เช่นนั้น เมื่อกระทรวงคมนาคมศึกษาเสร็จเรียบร้อย ก็ต้องส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทีละหน่วย เช่น ส่งให้สภาพัฒฯ สภาพัฒน์ศึกษาเสร็จส่งต่อให้ สคร. สคร.ศึกษาเสร็จก็ส่งให้คณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) แทนที่จะศึกษาควบคู่กันไป ในทางปฏิบัติทำไม่ได้ เพราะกฎหมายจะกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาเอาไว้ทั้งหมด ผ่านหน่วยงานนี้ใช้เวลาไม่เกินกี่วัน กำหนดกำหนดเอาไว้ทั้งหมด หากหน่วยงานใดยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ก็ไปเรียกหน่วยงานนั้นมาประชุมไม่ได้

    ดังนั้น ในระหว่างที่กระทรวงการคลังกำลังยกร่างพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2562 รัฐบาลจึงต้องออก “มาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ” หรือที่เรียกว่า “PPP Fast Track” เพื่อมาแก้ปัญหาดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจในการบริหารขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาร่วมทำการศึกษา และจัดทำแผนงานร่วมกัน เพื่อลดขั้นตอน และระยะเวลาในการพิจารณาดำเนินโครงการให้กระชับขึ้น แต่ละขั้นตอนกำหนดเวลาเอาไว้ชัดเจน

    ขณะที่พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2562 นั้น จะไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานของแต่ละขั้นตอนไว้ในกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการบริหารงาน แต่จะไปกำหนดไว้ในกฎหมายลูกแทน เนื่องจากโครงการร่วมลงทุนในแต่ละโครงการใช้เวลาดำเนินการแตกต่างกัน อีกส่วนหนึ่งที่มีการแก้ไข คือ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯปี 2556 ให้สคร. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการ PPP นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯปี 2562 กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการร่วมลงทุน นำเสนอที่ประชุมครม.

    คราวนี้มาถึงหัวใจสำคัญของการยกร่างกฎหมายมาแก้ไขพ.ร.บ.ร่วมลงทุนปี 2556 กล่าวคือ กฎหมายฉบับเดิม โครงการร่วมลงทุนของรัฐ ประเภทเช่าที่ดินราชพัสดุ หรือ เป็นโครงการร่วมลงทุนที่มีการใช้ทรัพย์สินของรัฐ ทุกโครงการต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขของพ.ร.บ.ร่วมลงทุนปี 2556 แต่ข้อเท็จจริงโครงการประเภทนี้ ไม่น่าจะเข้าข่ายกิจการร่วมลงทุน เพราะไม่มีส่วนไหนที่รัฐเข้าไปแชร์ อย่างเช่น โครงการลงทุนในที่ราชพัสดุนั้นชัดเจน เอกชนเข้ามาเช่าที่ดินของรัฐแล้ว เขาจะไปทำอะไรเรื่องของเขา รัฐไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวในกิจการของเขา ไม่มีการแชร์ผลประโยชน์อะไรกับเขาเลย ถือเป็นสัญญาการให้เช่าทรัพย์สิน ไม่ใช่กิจการร่วมลงทุน ดังนั้น ในมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯปี 2562 จึงตัดโครงการร่วมลงทุนที่มีลักษณะของการใช้ประโยชน์ของทรัพย์สิน หรือ เช่าที่ดินออกไป นี่คือเจตนารมย์ของการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ นายประภาศ กล่าว

    แต่ประเด็นที่สำคัญในตอนนี้ หลังพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯปี 2562 มีผลบังคับใช้ กระทรวงการคลังต้องเร่งพิจารณาโครงการใด เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯปี 2562 ซึ่งตรงนี้ต้องทำให้เกิดความชัดเจน โดยการออกเป็นประกาศคณะกรรมการ PPP เพื่อใช้เป็นแนวทางการพิจารณาโครงการร่วมลงทุนประเภทใดบ้างที่อยู่ภายใต้พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯฉบับใหม่

    โครงการไหนอยู่ภายใต้พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ตามหลัก กฏหมายพิจารณาอย่างไร

    สิ่งที่มีความเหมือนกันระหว่างพ.ร.บ.ร่วมทุนฯฉบับเก่า กับ ฉบับใหม่ คือ ต้องเป็นโครงการร่วมลงทุนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานเจ้าของโครงการ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งหน่วยงานนั้นๆ กรณีรัฐวิสาหกิจ ต้องไปดูกฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ ถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทมหาชน ก็ต้องไปดูที่วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งบริษัท หรือ หนังสือบริคณห์สนธิ ประกอบการพิจารณา

    “พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 กำหนดสโคปไว้กว้างมาก แม้ว่าจะไม่เกี่ยวกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ถ้าเป็นการลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจัดตั้ง หรือ อยู่ในวัตถุประสงค์ ก็เข้าข่ายต้องปฏิบัติเงื่อนไขตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯทุกโครงการ แต่เกณฑ์ปฏิบัติจะเข้มข้นมากน้อยขนาดไหน ขึ้นอยู่กับขนาดหรือมูลค่าโครงการ เช่น โครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่ามากกว่า 5,000 ล้านบาท ก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขของพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯเต็มรูปแบบเลย แต่ถ้าเป็นโครงการที่มีมูลค่าการลงทุน 1,000 – 5,000 ล้านบาท หรือ มีมูลค่าไม่ถึง 1,000 ล้านบาท ความเข้มข้นก็ลดหลั่นกันลงมาตามลำดับ ขณะที่พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯปี 2562 ก็กำหนดขนาดของมูลค่าโครงการไว้ที่ 5,000 ล้านบาทเช่นเดียวกัน ถ้าเกิน 5,000 ล้านบาท ก็มีแนวปฏิบัติอย่างหนึ่ง ถ้าต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ก็มีแนวปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง แต่จุดที่แตกต่างจากพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯปี 2556 ที่สำคัญ คือ ถ้ามันไม่ใช่โครงการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ตามมาตรา 7 แล้ว มันก็จะหลุดออกไปเลย ไม่ต้องมานับวงเงินเกิน หรือ ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท การดำเนินงานเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานเจ้าของโครงการที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามที่คณะกรรมาธิการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เคยให้ความเห็นในประเด็นนี้ นายประภาศ กล่าว

    ประเด็นตอนนี้ เนื่องจากในพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯปี 2562 มาตรา 7 กำหนด “ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการร่วมลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ต้องตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯฉบับนี้ มีทั้งหมด 12 วงเล็บ ซึ่งในวงเล็บที่ 3 มีกิจการท่าอากาศยาน และการขนส่งทางอากาศยานอยู่ด้วย และในวรรคที่ 2 กำหนดว่า “กิจการตามวรรคที่ 1 ให้รวมถึงกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการดังกล่าว ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี” จึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่คณะกรรมการ PPP ต้องพิจารณาเสนอครม.ออกประกาศกำหนดว่า กิจการร่วมลงทุนประเภทใดอยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯปี 2562

    คำว่า “กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น” ตามมาตรา 7 พิจารณาอย่างไร

    ต้องเริ่มจาก คำว่า “กิจการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ” ก็ต้องไปดูที่กฎหมายจัดตั้งของหน่วยงานนั้นๆ หรือ หนังสือบริคณห์สนธิ ตามที่ได้กล่าวข้างต้นว่าอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานเจ้าของโครงการหรือไม่ เช่น ในเรื่องของถนน ทางหลวง ทางพิเศษ กฎหมายขนส่งว่าอย่างไร กิจการท่าอากาศยาน การขนส่งทางอากาศ กฎหมายท่าอากาศยานว่าอย่างไร กิจการขนส่งทางราง กฎหมายว่าอย่างไร เป็นต้น

    สำหรับกรณีของ ทอท.นั้น ตามหลักการวินิจฉัย ก็ต้องไปดูที่กฎหมายจัดตั้ง คือ พ.ร.บ.การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 และพระราชกฤษฎีกา กำหนด อำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นกฎหมายลูกของพ.ร.บ.การท่าอากาศยานฯ 2522 ถึงแม้ว่าพ.ร.บ. การท่าอากาศยานฯ 2522 ถูกยุบเลิกไปแล้ว หลังจาก ทอท. แปรสภาพมาเป็นบริษัทมหาชน แต่ก็ในพ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542มาตรา 26 ระบุว่า ให้คงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของทอท.ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่อไป ดังนั้น ในการพิจารณาวินิจฉัย ก็ต้องอ้างอิงจากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งเป็นกฎหมายดั่งเดิม ทั้งนี้ เพื่อดูเจตนารมณ์ของการจัดตั้งทอท. สิทธิ ขอบบเขต อำนาจหน้าที่ กฎหมายกำหนดเอาไว้อย่างไร

    “หลักในการพิจารณาวินิจฉัยจะมี 2 บริบท ประการแรก โครงการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ตามวัตถุประสงค์ของกิจการท่าอากาศยานมีอะไรบ้าง และไม่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะมีอะไรบ้าง หากเป็นโครงการร่วมลงทุนที่ไม่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ แต่อยู่ในวัตถุประสงค์ตามกฎหมายจัดตั้งของทอท. กรณีนี้เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2562 หรือไม่ เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา แต่ถ้าเป็นพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯปี 2556 ทุกโครงการเข้าข่ายต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ทั้งหมด ส่วนพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯปี 2562 เลือกเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานและกิจการบริการของรัฐเท่านั้น นี่คือวัตถุประสงค์ของการแก้ไขกฎหมายตามที่ได้กล่าวข้างต้น นอกเหนือจากนี้ไม่น่าเข้าข่ายพ.ร.บ.ร่วมทุนฯใช่หรือไม่ นี่ก็คือปัญหาที่คณะอนุกรรมการ ต้องพิจารณาวินิจฉัย โดยการยกร่างประกาศคณะกรรมการ PPP กำหนดให้ชัดเจน โครงการไหนเข้า โครงการไหนไม่เข้า”

    กรณีศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัย ลานจอดรถเป็นกิจการท่าอากาศยาน

    ผมเห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด กรณีนี้ชัดเจนมาก ทอท.เปิดให้เอกชนเข้ามาสร้างลานจอดรถ ซึ่งเป็นการสร้างลานจอดรถ ถือเป็นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้ผู้โดยสาร ประชาชนมาจอดรถ ตรงนี้ก้ถือถือเป็นบริการสาธารณะอีก กรณีนี้ตรงตามที่มาตรา 7 บัญญัติไว้ คือ เป็นทั้งโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ

    หากเปลี่ยนลานจอดรถมาเป็นการให้เช่าพื้นที่ สำหรับขายสินค้า ถามว่าเป็นกิจการของท่าอากาศยานหรือไม่ ต้องตอบว่า ใช่ แค่ส่วนหนึ่ง Step ที่ 2 ก็ต้องมาดูว่าเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน และบริการสาธารณะหรือไม่ ผมขอให้สังเกต ผมจะเน้นคำว่า “โครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ” บ่อยครั้งมาก กล่าวคือ กฎหมายใช้คำว่า “และ” ไม่ได้ใช้ คำว่า “หรือ” หากกฎหมายใช้คำว่า “หรือ” มันก็จะไม่แตกต่างไปจากพ.ร.บ.ร่วมลงทุนปี 2556 เพราะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง มีหน้าที่ในการให้บริการสาธารณะอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าใช้คำว่า “หรือ” ทุกโครงการ เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯทั้งหมด นายประภาศ กล่าว

    และการที่คณะกรรมาธิการ สนช. เสนอให้เพิ่มเติม คำว่า “ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี” เข้าไปในมาตรา 7 วรรคสุดท้าย ผมคิดว่าเป็นข้อดีของกฎหมายฉบับนี้ คือเป็นการสร้างความชัดเจนให้กับเอกชนว่ามีกิจการอะไรบ้างที่อยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ทำเป็น List ออกมา ถ้าไม่ใช่ หรือไม่ได้อยู่ใน List ที่คณะกรรมการ PPP ประกาศ ก็คือจบ

    “หลักในการตีความ มาตรา 7 แห่งพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯปี 2562 จึงมีหัวใจสำคัญอยู่ที่โครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ผมขอย้ำ อย่าแยกกันนะ เพราะถ้าแยกโครงการร่วมลงทุนทุกโครงการ เข้าข่ายพ.ร.บ.ร่วมทุนฯทั้งหมด จากนั้นก็มาไล่ดูตั้งแต่วงเล็บ 1-12 หากส่วนแรกหลุดก็มาดูที่วรรคสุดท้าย เป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ นี่คือหลักเกณฑ์ใหม่ที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯปี 2562 จัดทำเป็น List รายการ โครงการไหนเข้า ไม่เข้า ประกาศออกมาให้ชัดเจน” นายประภาศ กล่าว

    ก่อนหน้านี้ กระทรวงพลังงานก็โทรมาสอบถามผม กรณีการให้สัมปทานปิโตรเลียม เดิมได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 แต่หลังจากที่พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯปี 2562 มีผลบังคับใช้แล้ว ไม่ได้เขียนยกเว้นเอาไว้ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯฉบับใหม่หรือไม่ ผมก็ถามกลับไปว่าการประมูลงานสำรวจขุดเจาะสัมปทานปิโตรเลียม มีการลงทุนทำโครงสร้างพื้นฐานและมีบริการสาธารณะหรือไม่ ถึงแม้จะต้องสร้างแท่นขุดเจาะ แต่ก็ไม่ใช่บริการสาธารณะ ก็ไม่เข้าข่าย แต่ถ้าเป็นกรณีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดให้เอกชนมาลงทุนสร้างเขื่อน ผลิตไฟฟ้าขาย กรณีนี้เข้าองค์ประกอบทั้ง 2 อย่าง คือ มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและมีบริการสาธารณะด้วย

    ส่วนกรณีโรงไฟฟ้าของบริษัท GPSC ผลิตไฟฟ้าขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรม ถามว่าเข้าข่ายหรือไม่ ไม่เข้าเพราะ GPSC เป็นเอกชน ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจ วิธีพิจารณาคือต้องเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน แต่ถ้าเป็นโครงการร่วมลงทุนที่ทำมาก่อนพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯฉบับใหม่บังคับใช้ ก็ไม่เกี่ยว เพราะกฎหมายไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง ถามว่ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ภายใต้พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯฉบับใหม่หรือไม่ ตอบว่าไม่ เพราะโครงการนี้อยู่ภายใต้กฎหมาย EEC ซึ่งใช้หลักการเดียวกับพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯฉบับใหม่ การพิจารณาดำเนินการต่าง ๆ อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ EEC

    บอร์ดทอท.จ้างที่ปรึกษาและมีมติเห็นชอบ TOR ต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2556 หรือไม่

    การจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานผลการศึกษา รวมทั้งบอร์ดทอท.มีมติเห็นชอบแนวทางการคัดเลือกผู้รับสัมปทาน ตรงนี้ถือว่ายังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการ PPP เพราะทอท.ยังไม่ได้ทำเรื่องเสนอคณะกรรมการ PPP ตามขั้นตอนของพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯปี 2556 หลังจากที่ทอท. ศึกษาและวิเคราะห์โครงการเสร็จแล้ว ต้องส่งมาที่สคร. เพื่อเสนอคณะกรรมการ PPP แต่ทอท.ยังไม่ได้ส่งมา ดังนั้น กรณีบอร์ดทอท.มีมติ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 เห็นชอบแนวทางการคัดเลือก จึงไม่ถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายแต่ประการใด เพราะขณะนั้นยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการ PPP แต่หลังจาก พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 62 มีผลบังคับ วันรุ่งขึ้น ทอท. ก็ออกประกาศเชิญชวน ทั้งนี้เนื่องจาก ฝ่ายกฎหมายของทอท. มีความเห็นว่า โครงการนี้ไม่น่าเข้าข่ายบังคับของพ.ร.บ.ร่วมลงทุนปี 2562 จากนั้นก็มีนักข่าวมาสัมภาษณ์ ผมก็บอกว่าทำไปได้ แต่ถ้าคณะกรรมการ PPP วินิจฉัยว่าเข้าข่ายพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯปี 2562 ทางทอท.ก็จะต้องมาเริ่มต้นทำตามกระบวนการ PPP กันใหม่ ไม่ได้บอกว่าให้ทำต่อเนื่องได้น่ะ

    แต่อย่างไรก็ตาม กรณีที่ทอท. เปิดขายซองประมูล และออกประกาศ TOR แล้ว ตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯปี 2562 ถือว่าอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการคัดเลือกแล้ว หากคณะกรรมการ PPP วินิจฉัยว่าเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ก็ต้องไปเริ่มกระบวนการใหม่ โดยนำเสนอรายงานผลการศึกษาต่อคคณะกรรมการ PPP เห็นชอบก่อนที่จะส่งต่อไปให้คณะกรรมการคัดเลือกผู้ประกอบการ

    ยกตัวอย่าง โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ PPP ไปแล้ว แต่หลังจากพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯปี 2562 มีผลบังคับใช้ ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามขั้นตอนของพ.ร.บ.ร่วมลงทุนปี 2562 ต่อได้เลย คือ ขั้นตอนต่อจากนี้ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กระทรวงคมนาคมต้องทำเรื่องเสนอที่ประชุมครม. แต่กรณีของทอท.นั้น ผมยืนยันว่า ทอท.ไม่ได้ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯปี 2556 เพราะยังไม่ได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการและขั้นตอนของกฎหมาย PPP การดำเนินการดังกล่าวจึงถือเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารและบอร์ดทอท. แต่ถ้าคณะกรรมการ PPP วินิจฉัยว่ามันเข้าข่ายพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯปี 2562 ก็ยุ่ง แต่ผมเข้าใจว่าทีมกฎหมายของ ทอท. คงมีการกำหนดข้อสงวนสิทธิไว้ใน TOR แล้ว ในทำนองที่ว่าทั้งนี้ ให้รอประกาศคณะกรรมการ PPP แจงให้ผู้ประมูลทราบถึงความเสี่ยงในประเด็นนี้

    ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 1/2562 มีมติอย่างไรบ้าง

    ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP นัดแรก มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด คือ ชุดแรก คณะอนุกรรมการจัดทำแผนโครงการร่วมลงทุนมีนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานฯ กรรมการประกอบด้วยผม (ประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสคร.), ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ,ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ และผู้แทนจากสภาพัฒน์ฯ ทำหน้าที่พิจารณาจัดทำแผนโครงการร่วมลงทุน ตามมาตรา 12 แห่งพ.ร.บ.ร่วมลงทุนปี 2562

    ชุดที่ 2 เป็น คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายมีเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด เป็นประธานฯ กรรมการประกอบด้วย นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสคร.,นางปานทิพย์ ศรีพิมล ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สคร., ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก คือ นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ อดีตรองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ, นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อดีตอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ทำหน้าที่กลั่นกรองงานด้านกฎหมาย และวินิจฉัยข้อหารือให้กับคณะกรรมการ PPP และเรื่องเร่งด่วนที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ PPP ตอนนี้ คือ พิจารณาวินิจฉัย ยกร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยเรื่องกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ โดยฉบับแรกจะเริ่มจากกิจการท่าอากาศยาน การขนส่งทางอากาศก่อน ฉบับที่ 2 เป็นกิจการขนส่งทางบก จากนั้นก็จะทยอยออกประกาศฯไปจนครบ ตั้งแต่วงเล็บ 1-12

    ประกาศคณะกรรมการฯ ฉบับแรกใช้เวลาพิจารณานานแค่ไหน

    ผมคิดว่าไม่นานมาก สัปดาห์ที่แล้ว ก็มีการประชุมคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย เพื่อวางกรอบการทำงาน รวมทั้งได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเรียบร้อยแล้ว สัปดาห์ถัดไป คณะอนุกรรมการจะมีการประชุมอีกครั้ง เพื่อหาข้อยุติ หลังวันหยุดเทศกาลสงกรานต์น่าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP พิจารณาได้ จากนั้นก็จะเสนอให้ที่ประชุมครม.เห็นชอบในสัปดาห์ถัดไป

    หนักใจไหมกับภารกิจที่ได้รับมอบหมายครั้งนี้

    ไม่หนักใจ เพราะท้ายที่สุดคณะกรรมการ PPP ก็จะต้องวินิจฉัยออกมาว่ากิจการประเภทไหนเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น หรือ ไม่เกี่ยว ต้องกำหนดให้ความชัดเจน ผมเองเป็นนักกฎหมาย ทำอะไรต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อกฎหมาย แต่อย่าลืม สคร. ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเฉพาะด้าน ดังนั้น ในการพิจารณาวินิจฉัย ก็ต้องเชิญกระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลทอท.มาสอบถาม ทำไมกระทรวงคมนาคมมีความเห็นว่าการดำเนินการของทอท.เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ขณะที่ฝ่ายกฎหมายของทอท.มีความเห็นว่าไม่เข้าข่าย ต้องเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงทั้งหมด ความเห็นของหน่วยงานที่ออกมาให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ รวมทั้งผมที่กำลังให้สัมภาษณ์อยู่ในขณะนี้ ก็เป็นเพียงแค่ความคิดเห็นเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันใด ๆ แต่ถ้าจะให้มีผลบังคับอย่างเป็นทางการ ต้องรอประกาศคณะกรรมการ PPP กำหนด

    “หลักการทำงานของผม ในฐานะที่ทำหน้าที่วินิจฉัย ผมจะบอกให้ชัดเจนไปเลยว่าจะไปทางซ้าย หรือ ทางขวา สมมุติว่า เรื่องที่พิจารณามีความเห็นได้ 2 นัยยะ ผมก็บอกว่ามี 2 นัยยะ แต่นัยยะไหนที่ผมเห็นด้วย ผมจะเลือกให้ชัดเจนไปเลย ไม่ใช่โยนให้ผู้ใหญ่ หรือ คณะกรรมการ PPP เป็นผู้ตัดสินใจ หน้าที่ของเราต้องให้ความคิดเห็นในเบื้องต้นว่าเรามีความคิดเห็นอย่างไร”

    นายประภาศ กล่าวต่อว่า การวินิจฉัยธุรกิจดิวตี้ฟรี ถือเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นต่อกิจการท่าอากาศยานหรือไม่นั้น ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรต้องชี้แจงเหตุผลต่อสังคมได้ ส่วนคนที่มีความเห็นแตกต่าง ก็เป็นเรื่องธรรมดา เหมือนช่วงที่เป็นผู้พิพากษาศาลอาญา บางคดีศาลพิพากษาแล้ว ก็ยังมีคนที่เห็นต่าง ทำไมศาลตัดสินแบบนี้ ก็ต้องขอชี้แจงว่าการทำงานของศาลอาญาตัดสินคดีบนความเชื่อ ซึ่งความเชื่อของศาลนั้นก็มาจากพยานหลักฐาน ศาลไม่มีทางรู้หรอกว่าจำเลยทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องจริงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่นำเสนอ ทำให้ศาลเชื่อได้หรือไม่ หากศาลวิเคราะห์แล้ว ยังก้ำกึ่ง หรือ ไม่เชื่อ ก็เป็นหน้าที่โจทก์ที่ต้องนำสืบ เพราะยังไม่สะเด็ดน้ำ แต่กรณีของ ทอท. มันไม่ใช่ความเชื่อน่ะ แต่เป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมายล้วน ๆ ซึ่งต้องดูข้อเท็จจริงและวิธีปฏิบัติของทอท.ที่ผ่านมาทำกันอย่างไร และต้องฟังความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นี่คือ ข้อเท็จจริง แต่ท้ายที่สุด ก็ต้องทำหน้าที่ตัดสิน หรือ วินิจฉัย ดังนั้น ประกาศของคณะกรรมการ PPP จึงเปรียบเสมือนคำพิพากษาของศาล หากมีผู้ไม่เห็นด้วยกับประกาศคณะกรรมการ PPP ก็สามารถไปยื่นคำร้อง หรือ ขออุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองกลางได้

    สรุป ภารกิจเร่งด่วนของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายครั้งนี้ คือ การกลั่นกรองงานและให้ความเห็นด้านกฎหมาย ความคิดเห็นของคณะกรรมการ PPP ถือเป็นคำวินิจฉัยเบื้องต้น แต่ผู้ที่ทำหน้าที่ชี้ขาดสุดท้าย แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งนายกรัฐมนตรี และนายเข็มชัย ได้มอบนโยบายต่อคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย โดยขอให้พิจารณาอย่างละเอียดรอบครอบ และต้องสร้างความชัดเจนให้ได้ อย่าให้เป็นประเด็นสาธารณะ ต้องชี้ให้ได้ว่าจะไปซ้าย หรือ ขวา ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายน่ะ

    ชีวิต “ประภาศ คงเอียด” จากเด็กปวช.
    สู่ “ฮาร์วาร์ด – ผู้พิพากษา – ซี 10 คลัง”

    38 ปีในการทำงานของ “ประภาศ คงเอียด” ผู้อำนวยการ สคร.

    หลังสำเร็จการศึกษาระดับปวช. ประภาศ คงเอียด เริ่มเข้ารับราชการครั้งแรกที่กรมสรรพสามิตด้วยวัยเพียง 19 ปี

    ขณะทำงานอยู่ที่กรมสรรพสามิต ได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ใช้เวลา 3 ปี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์บัณฑิต จากนั้นก็ไปเรียนต่อที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ใช้เวลา 1 ปี จบเนติบัณฑิตไทย

    เมื่อกลับมาดำรงตำแหน่งข้าราชการซี 5 ที่กรมสรรพสามิต สอบชิงทุนของกระทรวงการคลัง ได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา จนสำเร็จการศึกษาปริญญาโท สาขา International Tax Program Certificate and Master of Laws (ITP/LL.M.)

    ประภาศ เล่าว่า “ตอนรับราชการครั้งแรก ผมตั้งเป้าหมายเป็นแค่สรรพสามิตจังหวัดก่อนพอแล้ว แต่วิถีชีวิตของคนเรา ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของโชคชะตาฟ้าลิขิต หลังสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ กลับมาทำงานใช้ทุนได้สักพัก ก็ไปสอบผู้พิพากษา ปรากฏว่าสอบติด ได้เป็นผู้พิพากษาที่ศาลภาษีอากรกลาง สำหรับนักกฎหมายแล้วการได้เป็นผู้พิพากษา ก็ถือว่ามาถึงจุดสุดยอดของชีวิตแล้ว”

    ช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ผมได้ตัดสินคดีภาษีไปหลายคดีจนนับไม่ถ้วนทั้งคดีพิพาทที่เกี่ยวกับภาษีสรรพากร ภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต ภาษีโรงเรือน และอากรรักนกอีแอ่น

    แต่คดีภาษีใหญ่ที่สุด ที่ผมได้มีเข้าร่วมในองค์คณะของผู้พิพากษา คือ คดีภาษีหุ้นชินคอร์ปฯ ที่มาของคดีนี้เกิดจากการที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตรวจสอบพบ จึงส่งให้กรมสรรพากร ประเมินภาษีโอ๊ค – เอมประมาณ 12,000 ล้านบาท เมื่อคดีนี้ส่งมาถึงศาลภาษีอากรกลาง ก็มีประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ โอ๊ค – เอม เป็นผู้มีเงินได้ต้องเสียภาษี หรือ ไม่

  • ปิดตำนานซุกหุ้นชินคอร์ป สรรพากรยุติบี้ภาษีครอบครัว “ทักษิณ ชินวัตร ” – “แก้วสรร” คาใจต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
  • คดีภาษีหุ้น “ชินคอร์ป” 10 ปี สรรพากรไม่เคยออกหนังสือเรียก”ทักษิณ” ไต่สวน – 16,000 ล้านขาดอายุความ ใครรับผิด
  • ระหว่างกำลังพิจารณาคดีนี้ ปรากฎว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาว่า หุ้นชินคอร์ปฯ เป็นของอดีตนายกรัฐมนตรี ทนายฝ่ายจำเลย จึงนำคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ซึ่งเป็นที่สิ้นสุดแล้วมาต่อสู้คดี ตามหลักของประมวลรัษฎากร ผู้มีเงินได้ คือ ผู้ที่ได้รับประโยชน์ในทรัพย์สิน และเจ้าของหุ้นตัวจริง คืออดีตนากยรัฐมนตรี ศาลภาษีอากรจึงตัดสินเป็นอื่นไม่ได้ ในที่สุดกรมสรรพากรก็ต้องถอนอายัดทรัพย์สินของโอ๊ค – เอม

    ขณะที่อัยการก็แนะนำกรมสรรพากรว่าอย่าไปอุทธรณ์ต่อเลย ควรกลับไปประเมินภาษีอดีตนายกรัฐมนตรีดีกว่า หากต่อสู้คดีต่อไป เกรงว่าการประเมินภาษีจะอาจขาดอายุความ ช่วงที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์เข้ามาบริหารประเทศใหม่ๆ ก็มีข้อเสนอจะให้ใช้ มาตรา 44 ประเมินภาษี ซึ่งผมก็เป็นคนคัดค้านเอง เพราะการดำเนินการที่เฉพาะเจาะจงตัวบุคคลมากเกินไป มันขัดกับหลักการจัดเก็บภาษี และหลักการของ OECD กรมสรรพากรจึงประเมินภาษีไปตามกระบวนการปกติ

    จากนั้นอีกไม่นาน ผมก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง และถูกย้ายมาเป็นหัวหน้าคณะผู้พิพากษาศาลอาญา เป็นตำแหน่งสุดท้ายของการทำหน้าที่ผู้พิพากษา

    ผมเริ่มรู้สึกว่าเบื่อ เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เรามีความชำนาญ ผมเชี่ยวชาญเรื่องภาษี จึงทำเรื่องขอย้ายกลับมาที่กระทรวงการคลัง บรรจุในตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมาย ช่วงนั้นก็เริ่มเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายภาษีในระดับปริญญาโท ตามมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน ส่วนปริญญาตรีผมจะสอนในหลักสูตร International Tax Law ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    ปี 2558 ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นได้ปีเดียว ก็ย้ายขึ้นไปเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง รับผิดชอบงานด้านกฎหมาย

    ในสมัยของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องยอมรับว่ามีการผลักดันกฎหมายภาษีที่สำคัญๆออกมาหลายฉบับ ซึ่งผมเองก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะที่รับผิดชอบงานด้านนี้ อาทิ พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 , พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 , พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 แต่ที่น่าเสียดาย ยังไม่ได้สังคยนาประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ก็มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาแล้ว

    ทุกวันนี้ ผมก็ยังอัพเดทข้อมูลกฎหมายภาษีทุกฉบับอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นประมวลรัษฎากร , กฎหมายภาษีสรรพสามิต , ศุลกากร และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งกฎกระทรวง และประกาศต่าง อย่างต่อเนื่อง เพื่อดูว่ากฎหมายภาษีแต่ละฉบับมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ซึ่งเป็นความชอบส่วนตัว ปัจจุบันผมเหลืออายุราชการอีก 3 ปี หลังเกษียณเข้าใจว่าคงจะมีเวลาเขียนหนังสือความสัมพันธ์ หรือ ความเชื่อมโยงของกฎหมายภาษีทุกฉบับให้เด็กรุ่นหลังได้ศึกษาสักเล่ม

    ป้ายคำ :