ThaiPublica > เกาะกระแส > ศึกชิงสัมปทานดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิ “ทอท.” เดินหน้ารุกต่อคัดเลือก “รายเดียว” – ไม่รอกรรมการ PPP วินิจฉัย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ!!

ศึกชิงสัมปทานดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิ “ทอท.” เดินหน้ารุกต่อคัดเลือก “รายเดียว” – ไม่รอกรรมการ PPP วินิจฉัย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ!!

10 เมษายน 2019


จากการที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” เดินหน้าเปิดขายซองประมูลเพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการรายเดียว เข้ารับสิทธิบริหารสัมปทานดิวตี้ฟรี และสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 1-18 เมษายน 2562 โดยไม่รอผลการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ “คณะกรรมการ PPP” ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ใช้บังคับกับโครงการร่วมลงทุนฯ ที่อยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เป็นประเด็นที่ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนให้ความสนใจ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยเฉพาะในเรื่องการท่องเที่ยวและการเดินทางที่มีผู้มาใช้สนามบินปีละประมาณ 36 ล้านคน ซึ่งอาจจะเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง การดำเนินงานของ ทอท. ดังกล่าว จึงเป็นที่วิพากษ์ว่าถูกต้องตามกระบวนการและขั้นตอนที่ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ฉบับใหม่บัญญัติไว้หรือไม่

“ไทยพับลิก้า”ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังนี้ หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท. ครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 บอร์ด ทอท.มีมติแยกสัมปทานในท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท.ออกเป็น 3 สัญญา คือ สัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี (duty free), สัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ (retail, F&B, service และ bank) และสัมปทานจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร (duty free pick-up counter) นอกจากนี้ที่ประชุมบอร์ด ทอท.ยังมีมติเห็นชอบหลักการคัดเลือกผู้รับสัมปทานดิวตี้ฟรี และสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้วย

ส่วนสัมปทานจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร บอร์ด ทอท.ยังไม่มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การคัดเลือก เพียงแต่มอบนโยบายให้ฝ่ายบริหารของ ทอท.ไปพิจารณา โดยให้เน้นเปิดกว้าง และมีการแข่งเสรี ให้ผู้ประกอบการในเมืองใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร

เปิดขายซองประมูล 19 มี.ค. – ไม่รอคณะกรรมการPPP ออก กม.ลูก

ทั้งนี้หลังจาก พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2562 และมีผลบังคับใช้ในวันถัดไป วันรุ่งขึ้น 11 มีนาคม 2562 ทางทอท.ออกประกาศ 2 ฉบับ ฉบับแรก เชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี 4 สนามบินนานาชาติ ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ, ภูเก็ต, เชียงใหม่ และหาดใหญ่ ทั้งนี้จะคัดเลือกนิติบุคคลไทยเพียงรายเดียวทั้ง 4 สนามบิน และฉบับที่ 2 ประกาศเชิญชวนประมูลสิทธิสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดขายซองวันที่ 19 มีนาคม – 1 เมษายน 2562

ปรากฏว่ามีนักกฎหมายหลายคนตั้งข้อสังเกต กรณี ทอท.เปิดประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี 4 สนามบินและพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ อยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตามกระบวนการของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับใหม่หรือไม่ อย่างไร

ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ฉบับใหม่ วรรคที่ 1 ระบุว่า หน่วยงานเจ้าของโครงการร่วมลงทุนในกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะดังต่อไปนี้ ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ และใน (3) มีกิจการท่าอากาศยาน การขนส่งทางอากาศรวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ ในวรรคสุดท้ายของมาตรา 7 ยังระบุว่า “กิจการตามวรรคที่ 1 ให้รวมถึงกิจการที่เกี่ยวเนื่องจำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี”

ทันทีที่ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ มีผลบังคับใช้ ทอท.ก็ออกประกาศขายซองโดยที่คณะกรรมการ PPP ยังไม่ได้จัดประชุมพิจารณายกร่างประกาศกำหนดเรื่องกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น จึงเกิดประเด็นข้อสงสัยว่าการดำเนินโครงการร่วมลงทุนดังกล่าวอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ หรือไม่ นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะหน่วยงานที่รักษากฎหมายฉบับนี้ ก็ยังวินิจฉัยไม่ได้ว่ากรณีที่ ทอท.เปิดประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี และพื้นที่เชิงพาณิชย์ เข้าข่ายปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับใหม่หรือไม่ เพราะคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนยังไม่ได้วินิจฉัย

“บิ๊กตู่-อาคม” สั่งทบทวนรูปแบบสัมปทาน – ทำเรื่องหารือคลัง

การดำเนินการของ ทอท.ดังกล่าวนี้ จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งรูปแบบการให้สัมปทานดิวตี้ฟรี รวบ 4 สนามบินให้สัมปทานเพียงรายเดียว และประเด็นข้อกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจนว่าโครงการดังกล่าวอยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ หรือไม่

ช่วงเช้าของวันที่ 15 มีนาคม 2562 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกแถลงข่าว ขอให้ ทอท.ทบทวนรูปแบบการให้สัมปทานดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน เนื่องจากมีข้อท้วงติงจากสังคมในเรื่องการผูกขาด

ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงข่าว ขอให้ ทอท.ชะลอการประมูลโครงการดังกล่าวออกไปก่อน โดยให้ ทอท.ทำหนังสือถามกระทรวงการคลังว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับใหม่และมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ รวมทั้งทบทวนรูปแบบการให้สัมปทานอีกครั้ง ทั้งนี้ ให้ ทอท.คำนึงถึงความเหมาะสม โปร่งใส มีการแข่งขันที่เป็นธรรม เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด และสามารถชี้แจงเหตุผลต่อสาธารณชนได้

  • AOT ข้ามขั้นตอน! เปิดประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน ก่อนคลังคลอด กม.ลูก – กำหนดกิจการที่เข้าข่ายปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ใหม่
  • นายกฯ สั่ง “บอร์ด ทอท.” ทบทวนประมูลดิวตี้ฟรี – รายเดียว ผูกขาด 4 สนามบิน
  • “อาคม” สั่ง AOT ชะลอประมูลดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน เคลียร์ปม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ – ทบทวนรูปแบบสัมปทานรายเดียว
  • pick-up counter ในสนามบินสุวรรณภูมิ

    “นิตินัย” ยันไม่ใช่การผูกขาด

    วันที่ 18 มีนาคม 2562 นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ว่า รูปแบบการให้สัมปทานดิวตี้ฟรี 4 สนามบินแก่ผู้ประกอบการรายเดียว ยืนยันไม่ใช่การผูกขาด แต่เป็นการคัดเลือกผู้ที่แข็งแรงที่สุดไปแข่งในเวทีโลก พร้อมกับชี้แจงเหตุผลที่ ทอท.ไม่เลือกรูปแบบการให้สัมปทานแยกตามหมวดหมู่สินค้า (category) เนื่องจากท่าอากาศยานมี contact gate หรือ “งวงช้าง” ที่ผู้โดยสารใช้เดินผ่านเข้า-ออกจากสนามบิน (flow ของผู้โดยสาร) มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เกรงว่าจะกระทบกับยอดขายของผู้รับสัมปทานในกรณีมีการเปลี่ยนแปลง contact gate ที่อาจไม่มีผู้โดยสารเดินผ่านพื้นที่บริเวณนั้น

  • คำต่อคำ! “นิตินัย” (ตอน1): ติวสื่อ จั่วหัวข่าว เหตุเลือกโมเดลสัมปทานดิวตี้ฟรีรายเดียว – ระบุหลังเปิดเสรี pick-up counter เวลาผูกขาดดิวตี้ฟรีหมดลงแล้วจริงๆ
  • คำต่อคำ! คำถาม-คำตอบกับ “นิตินัย” (ตอนจบ) เหตุเลือกโมเดลสัมปทานดิวตี้ฟรีรายเดียว มั่นใจแจงชัดทุกประเด็นหากหักล้างฟังไม่ขึ้นพร้อมเดินหน้าประมูลทันที – ตั้งข้อสงสัยสื่อที่ตีข่าวนี้ถูกซื้อ
  • AOT เลื่อนขายซองประมูล

    ส่วนประเด็นข้อกฎหมาย นายนิตินัยเข้าใจว่าการเปิดประมูลโครงการดังกล่าวไม่น่าเข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับใหม่ โดยเฉพาะวรรคสุดท้ายของมาตรา 7 ที่ระบุ “ให้รวมถึงกิจกรรมเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการดังกล่าว” ประเด็นนี้ต้องพิจารณาว่าถ้าตัดกิจกรรมบางอย่างออกไปแล้วยังบรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินการท่าอากาศยานได้ กรณีนี้ก็ไม่ควรถือเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นตามที่กฎหมายได้บัญญัติ หลังจากที่นายนิตินัยชี้แจงเหตุผลของ ทอท.ในการตัดสินใจเลือกรูปแบบการให้สัมปทานและประเด็นข้อกฎหมายทั้งหมดแล้ว นายนิตินัยได้ประกาศเลื่อนการขายซองประมูลในวันที่ 19 มีนาคม 2562 ออกไปก่อน ระหว่างนี้จะรอฟังเหตุผลของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย หากไม่สามารถหาเหตุผลมาหักล้างได้ ทอท.จะเดินหน้าเปิดประมูลต่อไป

    นายวรวุฒิ อุ่นใจ
    ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

    “วรวุฒิ” กางผังสนามบินชั้นนำในเอเชียโต้ประตูเข้า-ออกเปลี่ยน ไม่กระทบยอดขาย

    วันที่ 20 มีนาคม 2562 นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยการนำแผนผังร้านค้าปลอดอากรในสนามบินชั้นนำของเอเชีย 3 แห่ง ได้แก่ สนามบินชางฮี ประเทศสิงค์โปร์, สนามบินอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ และสนามบินเช็กแล็บก็อกของฮ่องกง อธิบายการจัดวางร้านค้าปลอดอากรในสนามบินชั้นนำของเอเชีย ซึ่งมีผู้รับสัมปทานดิวตี้ฟรีหลายราย แยกตามหมวดหมู่สินค้า กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ควบคุมขาออก หลังจากที่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองจะมีร้านค้าปลอดอากร ทั้งตรงกลาง ปีกซ้าย และปีกขวา ไม่ว่าการจราจรทางอากาศ หรือ contact gate จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร นายวรวุฒิมั่นใจว่าไม่มีผลกระทบต่อผู้รับสัมปทาน

  • สมาคมผู้ค้าปลีกไทยหักล้าง ข้อมูล ทอท. กรณี “TOR ดิวตี้ฟรีรายเดียว รวบ 4 สนามบิน” ทุกประเด็น ติงอย่าใช้เกณฑ์ “เอาคนที่ทำคะแนนไม่ดีรวมกับคนที่ทำคะแนนไม่ดี”
  • แนะ ทอท.หารือ “กฤษฎีกา-สคร.-คณะกรรมการ PPP” ชี้ขาด

    ส่วนประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันว่า โครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบิน อยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับใหม่หรือไม่นั้น นายวรวุฒิกล่าวว่า ปัญหาอยู่ที่การตีความมาตรา 7 วรรคสุดท้าย ซึ่งกำหนดให้นับรวมกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการท่าอากาศยานด้วย ซึ่ง ทอท.ไม่ควรตีความเอง แต่ควรจะมอบให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เป็นผู้วินิจฉัย เท่าที่ตนได้สอบถามนักกฎหมายหลายคน บอกว่าให้ไปดูนิยามของคำว่า “กิจการท่าอากาศยาน” ในพระราชกฤษฎีกา กำหนด อำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2545 มาตรา 3 ได้ให้นิยามคำว่า “กิจการท่าอากาศยาน” หมายถึง “กิจการจัดตั้งสนามบิน หรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของท่าอากาศยาน การจัดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ การให้บริการลานจอดอากาศยาน การให้บริการช่างอากาศ และการใช้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวกับอากาศยาน ผู้ประจำหน้าที่ สินค้าพัสดุภัณฑ์ ผู้โดยสาร และลูกจ้างของผู้ประกอบธุรกิจในการเดินอากาศ รวมตลอดถึงการให้บริการ หรือสิ่งอำนวยความสะดวก อันเกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับกิจการดังกล่าว” และในคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 777/2548 ก็เคยวินิจฉัยว่า “ลานจอดรถในท่าอากาศยาน ถือเป็นส่วนหนึ่งของท่าอากาศยาน” ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทย จึงขอเสนอให้ ทอท.ควรทำหนังสือไปสอบถามหน่วยงานที่มีอำนาจในการวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมาย เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนักงานคณะกรรมนโยบายรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการ PPP เป็นต้น

    เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 เวลา 13.30 น. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ครั้งที่ 1/2562 ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

    นายกฯ เปิดประชุมบอร์ด PPP นัด ตั้งอัยการสูงสุดเคลียร์ปม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ

    สัปดาห์ถัดมาพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ครั้งที่ 1/2562 วันที่ 29 มีนาคม 2562 พิจารณาโครงการร่วมลงทุนของกระทรวงคมนาคม ทั้งระบบขนส่งทางบก ทางเรือ และอากาศ โดยคณะกรรมการ PPP มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายที่มีอัยการสูงสุดเป็นประธาน เร่งยกร่างประกาศ คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่องกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น พ.ศ. …. เพื่อเสนอคณะกรรมการ PPP ส่งให้ ครม.ผ่านความเห็นชอบ ตามที่ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ มาตรา 7 วรรคสุดท้ายได้บัญญัติไว้

  • มติบอร์ด PPP นัดแรก ตั้งอัยการสูงสุด ประธานวินิจฉัย ประมูล “สัมปทานดิวตี้ฟรี” ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่?
  • ทอท.ไม่รอประกาศคณะ ก.ก. PPP – เดินหน้าขายซอง 1 เม.ย.

    วันเดียวกันนั้น “ทอท.” ได้ออกประกาศ 2 ฉบับ เชิญชวนเอกชนเข้ามาประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีและสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามมติบอร์ด ทอท. ครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 เปิดขายซองในวันที่ 1-18 เมษายน 2562 โดยที่ไม่รอคณะกรรมการ PPP เสนอ ครม.ออกประกาศกำหนดเรื่องกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น

  • ทอท.เดินหน้าประมูลดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิ เลือกรายเดียว เปิดขายซอง 1-18 เม.ย. นี้
  • “สมคิด” คาดอนุกรรมการ PPP เคลียร์ประเด็นกฎหมายจบใน 14 วัน

    ด้านดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายที่มีอัยการสูงสุดเป็นประธาน กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาสัมปทานดิวตี้ฟรีเข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือไม่ คาดว่าจะพิจารณาเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งของการทำงานสามารถทำคู่ขนานไปกับการเปิดขายซองประมูลได้ หากคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายวินิจฉัยว่าเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น ก็ต้องกลับมาปฏิบัติตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ แต่ถ้าไม่เข้าข่ายกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น ทอท.ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ทันที

    ขณะที่ “ประภาศ คงเอียด” ผู้อำนายการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะผู้รักษากฎหมายร่วมลงทุนฯฉบับนี้ กล่าวกับไทยพับลิก้า โดยกล่าวย้ำว่า “การให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ เป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการเท่านั้น ในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย, อดีตหัวหน้าคณะผู้พิพากษา ศาลภาษีอากรกลางและศาลอาญา ไม่ใช่ความเห็น หรือ คำวินิจฉัย ของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย หรือ คณะกรรมการ PPP แต่ประการใด” (อ่านรายละเอียดข่าวประกอบ)

  • “ประภาศ คงเอียด” แจงกรอบการวินิจฉัย “ดิวตี้ฟรี” เป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นตามพ.ร.บ.ร่วมทุนใหม่หรือไม่?
  • กาง TOR ดิวตี้ฟรี ให้คะแนนด้านเทคนิค 80% เสนอผลตอบแทน 20%

    ส่วนนายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย โพสต์ข้อความบน “เฟซบุ๊ก” ส่วนตัว เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 ว่า “สิ่งที่ผมกังวล ก็เป็นจริง..TOR ดิวตี้ฟรี ใช้เกณฑ์ประเมินแบบนี้จนได้ โดยให้น้ำหนักคะแนนด้านเทคนิค 80% คะแนนด้านผลตอบแทนประเทศ 20% เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้เข้าประมูลที่ให้ผลตอบแทนประเทศชาติสูงๆ ก็จะแพ้ผู้เข้าประมูลที่ให้ผลตอบแทนต่ำๆ ตัวอย่างเช่น แม้จะมีผู้เข้าประมูลที่อยากจะให้ผลตอบแทนประเทศชาติ 40%ของยอดขาย ก็จะแพ้ผู้เข้าประมูลที่ให้ผลตอบแทนประเทศแค่ 20% ได้ง่ายๆ เพราะคะแนนด้านผลตอบแทนที่ให้กับประเทศชาติ มีน้ำหนักแค่ 20% ในการพิจารณาเท่านั้น ประเทศชาติจะต้องสูญเสียประโยชน์ปีหนึ่งหลายหมื่นล้าน ตลอดอายุสัมปทาน 10 ปี คิดเป็นเงินนับแสนล้าน..TOR ลักษณะนี้ ง่ายต่อการเอื้อประโยชน์ให้ผู้เข้าประมูลบางรายอย่างชัดเจน”

    นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ปฏิบัติการเร่งรัดเปิดประมูลสัมปทานดิวตี้ สนามบินสุวรรณภูมิ โดยไม่รอคณะกรรมการ PPP ประกาศกำหนด กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น พ.ศ. … เป็นประเด็นที่จะต้องติดตามกันต่อไปว่าโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้และดิวตี้ฟรีเป็นธุรกิจที่สร้างแรงจูงใจนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้เข้าประเทศ จะเข้าข่ายกิจการเกี่ยวเนื่องจำเป็นหรือไม่