ThaiPublica > เกาะกระแส > ธุรกิจ Ride-Hailing/Food-Delivery สร้างเศรษฐกิจอาเซียน ผู้ให้บริการรุกตลาดขยายข้ามพรมแดน

ธุรกิจ Ride-Hailing/Food-Delivery สร้างเศรษฐกิจอาเซียน ผู้ให้บริการรุกตลาดขยายข้ามพรมแดน

14 เมษายน 2019


ที่มาภาพ: https:// asia.nikkei.com/Editor-s-Picks/Interview/Grab-plans-6-tech-investments-with-fresh-2bn-funding

เศรฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ขยายตัวต่อเนื่องในทุกประเทศ ส่งผลให้ความเป็นเมือง (urbanization) กระจายตัวออกไปทุกภูมิภาค แม้ระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันแต่ก็มีทิศทางเดียวกัน คาดว่าความเป็นเมืองอาเซียนจะเพิ่มขึ้นเป็น 50% ในปี 2025 และจะสูงกว่า 65% ในปี 2050 และจะมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ ที่มีประชากรร่วม 7 ล้านคน จาการ์ตา เมืองหลวงอินโดนีเซีย มีประชากร 10 ล้านคน โฮจิมินห์ซิตี้ในเวียดนาม มีจำนวนประชากร 8 ล้านคน

เศรษฐกิจที่พัฒนาทำให้รายได้ของประชากรสูงขึ้น ความต้องการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมากขึ้น จึงส่งผลให้การจราจรในหลายเมืองติดขัด แม้ขณะเดียวกันระบบขนส่งสาธารณะได้พัฒนาไปมาก แต่ไม่สามารถรองรับประชากรจำนวนมากนี้ได้ การใช้บริการรถสาธารณะทั้งรถแท็กซี่ รถเมล์ หรือวินมอเตอร์ไซค์ เรียกรถได้ยากขึ้นและใช้เวลารอนานกว่าเดิม

ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการพัฒนาบริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชัน หรือ ride-hailing ในหลายประเทศอาเซียนขึ้น SCB EIC อธิบายว่า ธุรกิจ ride-hailing คือ ธุรกิจที่ให้บริการบนแอปพลิเคชันเพื่อใช้เรียกยานพาหนะในเครือข่ายผู้ให้บริการ เช่น รถยนต์ส่วนบุคคล รถแท็กซี่ รถมอเตอร์ไซค์ และเป็นตัวกลางในการจ่ายเงินค่าโดยสาร ซึ่งจะช่วยสร้างความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความไม่พร้อมของระบบคมนาคม นอกจากนี้ ธุรกิจ ride-hailing ยังให้บริการในด้านอื่นๆ เช่น การขนส่งพัสดุและอาหาร และอีเพย์เมนต์ เป็นต้น

รายงาน e-Conomy Southeast Asia 2018 ที่จัดทำโดยกูเกิล (Google) และเทมาเสก โฮลดิ้งส์ (Temasek Holdings) คาดว่า ธุรกิจ ride-hailing ซึ่งรวมการให้บริการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งอาหาร (food delivery) ในปี 2561 มียอดขาย (gross merchandise volume – GMV) 7.7 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวในอัตราเฉลี่ย 39% จากปี 2558 จากการให้บริการใน 500 เมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานยังคาดว่า มูลค่าธุรกิจ ride-hailing ทั้งการให้บริการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งอาหาร จะสูงถึง 30 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจาก Grab และ GO-JEK ต่างตั้งเป้าที่จะก้าวไปสู่แอปพลิเคชันที่ครอบคลุมทุกบริการที่ผู้บริโภคใช้งานประจำทุกวัน

ที่มาภาพ: https:// www.thinkwithgoogle.com/intl/en-apac/tools-resources/research-studies/e-conomy-sea-2018-southeast-asias-internet-economy-hits-inflection-point/
ที่มาภาพ: https:// www.thinkwithgoogle.com/intl/en-apac/tools-resources/research-studies/e-conomy-sea-2018-southeast-asias-internet-economy-hits-inflection-point/

ผู้บริโภคในอาเซียนเองหันมาใช้บริการ ride-hailing มากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก รายงานคาดว่าปัจจุบันมีผู้บริโภคที่ใช้บริการ ride-hailing เป็นปกติทุกวันมีจำนวนถึง 35 ล้านคน โดยมียอดจองยานพาหนะเพื่อการเดินทางเฉลี่ยสูงถึง 8 ล้านเที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าจากปี 2558

ธุรกิจบริการ ride-hailing ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีก จากจำนวนประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ตที่มากกว่า 80% ของประชากรทั้งหมดนั้น ยังไม่ได้ปกติทุกวัน

ในอินโดนีเซีย ธุรกิจ ride-hailing ปี 2561 มีมูลค่า 3.7 พันล้านดอลลาร์ ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 58% จากปี 2558 เฉพาะบริการส่งอาหารมีมูลค่าถึง 1 พันล้านดอลลาร์ จากการให้บริการ GO-FOOD ของ GO-JEK

GO-JEK เป็นสตาร์ทอัปด้านเทคโนโลยีจากอินโดนีเซีย ให้บริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์และรถแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชัน ปัจจุบันขยายธุรกิจมายังไทยและเวียดนาม

ส่วนในสิงคโปร์แม้จะมีประชากรจำนวนน้อย แต่ตลาด ride-hailing ในสิงคโปร์ใหญ่เป็นอันดับสองของอาเซียนด้วยมูลค่า 1.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2561 เนื่องจากอัตราค่าใช้บริการสูง 5-10 เท่า เมื่อเปรียบเทียบตลาดในอินโดนีเซียหรือเวียดนามแล้ว

รายงานระบุว่าปี 2561 เป็นปีที่ธุรกิจ ride-hailing ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พลิกโฉมจากเหตุผลสองประการ ประการแรก การประกาศซื้อกิจการ Uber ของ Grab ในเดือนมีนาคม เนื่องจาก Uber ถอนตัวออกจากภูมิภาค ส่งผลให้ Grab ขึ้นสู่ผู้นำในภูมิภาค ประการที่สอง โกเจก (GO-JEK) สตาร์ทอัประดับ unicorn (ธุรกิจสตาร์ทอัปที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลลาร์ขึ้นไป) ประกาศขยายการให้บริการเข้าสู่เวียดนาม ไทย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

รายงานระบุว่า นับตั้งแต่การเปิดตัวบริการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วงแรกผู้ให้บริการมุ่งไปที่การเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการและขยายการให้บริการไปในหลายพื้นที่ของประเทศในการเรียกใช้รถ รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์จูงใจคนขับ กิจกรรมการตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ แต่หลังจากที่ Uber ถอนตัวไป การแข่งขันจะเปลี่ยนไปตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น อีกทั้งจะยกระดับไปสู่แอปพลิเคชันที่ผู้บริโภคใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะจาก GO-JEK และ Grab ที่จะแข่งขันในการส่งอาหารมากกับ Deliveroo และ Foodpanda ด้วยการต่อยอดจากการที่มีชื่อติดตลาดและฐานผู้ใช้บริการที่ใหญ่กว่า

นอกจากนี้ ยังเล็งขยายการให้บริการไปยังบริการทางการเงิน ทั้ง Go-JEK และ Grab ได้พัฒนาโซลูชันไว้แล้ว โดย GO-JEK พัฒนา GoPay ส่วน Grab พัฒนา GrabPay ที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้มากขึ้นเพราะความสะดวก มีรางวัลคะแนนสะสม และยังมีแผนขยายขอบเขตการให้บริการทางการเงินให้กว้างกว่าเดิม เช่น การโอนเงิน สินเชื่อส่วนบุคคล การลงทุน และประกันภัย

Grab สร้างเศรษฐกิจอินโดนีเซีย 3.46 พันล้านดอลลาร์ปี 61
รายงานวิจัยจากศูนย์ศึกษาระหว่างประเทศและยุทธศาสตร์ (Center for International and Strategies Studies – CSIS) ที่ร่วมกับ Tenggara Strategies บริษัทที่ปรึกษาในประเทศ เปิดเผยว่า ในปี 2561 ที่ผ่านมา Grab ได้มีส่วนสร้างเศรษฐกิจในอินโดนีเซีย ถึง 48.9 ล้านล้านรูเปียะห์ หรือราว 3.46 พันล้านดอลลาร์

โดย Grab Foods สร้างเศรษฐกิจมูลค่า 20.8 ล้านล้านรูเปียะห์หรือ 1.47 พันล้านดอลลาร์

Grab Bike สร้างเศรษฐกิจมูลค่า 15.7 ล้านล้านรูเปียะห์หรือ 1.11 พันล้านดอลลาร์

GrabCar สร้างเศรษฐกิจมูลค่า 9.7 ล้านล้านรูเปียะห์หรือ 686 ล้านดอลลาร์

Kudo เครือข่ายตัวแทนช่องทางออนไลน์กับออฟไลน์ที่ Grab ได้ซื้อกิจการมาในปี 2560 สร้างเศรษฐกิจมูลค่า 2.7 ล้านล้านรูเปียะห์หรือ 191 ล้านดอลลาร์

รายวิจัยเปิดเผยอีกว่า จากการสำรวจใน 5 เมือง ยังพบว่า รายได้คนขับ GrabBike ต่อเดือนเพิ่มขึ้น 113% หลังจากที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกในแพลตฟอร์ม Grab

รายได้คนขับ GrabCar ต่อเดือนเพิ่มขึ้น 114% หลังจากที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกในแพลตฟอร์ม Grab

รายได้ร้านค้าที่ในเครือข่าย Grab Food เพิ่มขึ้น 25% หลังจากที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกในแพลตฟอร์ม Grab และมีรายได้ยอดขายเพิ่มขึ้นต่อเดือน 11 ล้านรูเปียะห์หรือ 778 ดอลลาร์โดยที่ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม

สัดส่วนตัวแทนที่เป็นบุคลลทั่วไป Kudo ราว 31% ซึ่งไม่มีรายได้เสริมก่อนเข้าร่วมแพลตฟอร์ม Grab กลับมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 ล้านรูเปียะห์หรือราว 141 ดอลลาร์ต่อเดือน ขณะที่ตัวแทนที่เป็นร้านค้ามียอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านรูเปียะห์ต่อสัปดาห์ หลังเข้าร่วมเป็นสมาชิก

รายวิจัยนี้ได้สำรวจแบบสัมภาษณ์โดยตรงธุรกิจขนาดเล็ก (micro-entrepreneurs) จำนวน 3,418 รายระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2561 โดยเป็นรายที่ยังมีการใช้ปกติต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนก่อนทำการสำรวจ

สำรวจผู้เล่นในตลาดอาเซียน

แม้ Grab กับ GO-JEK ครองตลาด ride-hailing ในอาเซียน โดย Grab เป็นผู้นำตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 90% ขณะที่ GO-JEK เดินหน้ารุกตลาดภูมิภาค ควบคู่กับการขยายตลาดในประเทศ แต่ก็ประสบกับการแข่งขันจากคู่แข่งหลายราย ทั้งผู้เล่นรายเดิมและรายใหม่

แอนโทนี ตัน กับ ฮุย หลิง ตัน ผู้ร่วมก่อตั้ง Grab ในมาเลเซียก่อนย้ายสำนักงานใหญ่มาที่สิงคโปร์กับ นาเดียม มาการีม ผู้ก่อตั้ง GO-JEK ในอินโดนีเซีย ต่างสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปีเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างเดินทางกลับประเทศด้วยแผนที่จะเปลี่ยนโฉมการขนส่งในประเทศ จึงเริ่มพัฒนาแอปพลิเคชันเรียกรถขึ้น

หลังการซื้อกิจการภูมิภาคของผู้เล่นระดับโลก Uber ในเดือนมีนาคมปี 2561 Grab ก็ขยายตัวเร็วขึ้นในตลาดภูมิภาค ประกอบกับได้เงินสนับสนุนจากนักลงทุนต่อเนื่อง ทั้งในธุรกิจเทคโนโลยี กองทุนร่วมทุน และบริษัทข้ามชาติ เช่น SoftBank Group Corp., Toyota Motor Corporation และ Yamaha Motor Co. จากญี่ปุ่น หรือแม้แต่จาก ride-hailing ด้วยกันเองคือ Didi จากจีน ทั้งนี้ คาดว่า Grab ได้เงินไปแล้ว 6.8 พันล้านดอลลาร์จากการระดมเงิน 20 รอบตั้งแต่ก่อตั้งในเดือนมิถุนายน 2555

ส่วน GO-JEK ระดมทุนไปแล้ว 3.3 พันล้านดอลลาร์นับจากก่อตั้งปี 2557 มีธนาคารดีบีเอส แห่งสิงคโปร์สนับสนุน รวมทั้ง Google, Tencent จากจีน, กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เทมาเซก และธุรกิจอาหารชั้นนำของจีน เหมยถวน-เตี่ยนผิง

โอกาสของผู้เล่นรายใหม่ในตลาดอาเซียนยังมีอีกมาก หากประเมินจากผู้บริโภคที่ใช้บริการ ride-hailing เป็นปกติทุกวันมีจำนวนถึง 35 ล้านคน และมียอดจองยานพาหนะเพื่อการเดินทางเฉลี่ยสูงถึง 8 ล้านเที่ยวต่อวัน รวมทั้งจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

  • ฟิลิปปินส์
  • เมื่อ Grab ประกาศซื้อกิจการ Uber บริษัทเครือข่ายขนส่งในฟิลิปปินส์พากันขานรับ เพราะผู้เล่นรายใหญ่ลดไปหนึ่งราย แต่หลังจากไม่นาน Grab กลับถูกกล่าวหาว่าผูกขาดธุรกิจ อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันการผูกขาดตลาดของ Grab คณะกรรมการกำกับการขนส่ง (Transportation Franchising and Regulatory Board – LTFRB) ได้ให้ใบอนุญาตผู้เล่นอีก 6 ราย ได้แก่ MiCab, Hirna, Hype, Owto, GoLag, และ ePickMeup

    MiCab เป็นบริการจองรถแท็กซี่ใน 5 เมืองคือ เซบู บาโคโลด บาเกียว อิโลอิโล และในตัวเมืองเซบู มีรกแท็กซี่ในเครือข่าย 4,000 คัน บริษัทฯ มีแผนที่จะขยายไปมาเลเซีย

    Hirna เป็นบริการเรียกรถแท็กซี่เช่นกัน บริษัทฯ ยอมรับว่าไม่สามารถแข่งกับ Grab ด้านคนขับได้ ดังนั้นจะให้บริการเฉพาะตัวเมืองมะนิลา หากความต้องการของผู้บริโภคมากพอ

    Owto โดดเด่นจากฐานตลาดในประเทศ นำเสนอบริการด้วยราคาเป็นธรรม ปลอดภัย และโดยชาวฟิลิปปินส์ รวมทั้งย้ำว่าระบบพัฒนาจากโปรแกรมเมอร์ฟิลิปปินส์

    Hype เปิดตัวในเดือนเมษายนปีก่อน แต่ยังไม่เปิดเผยจำนวนรถในเครือข่าย

    Go Lag ผู้เล่นรายที่ 3 ที่เข้าสู่ตลาด ได้รับอนุญาตให้บริการในฟิลิปปินส์ 2 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว และช่วงแรกให้บริการในพื้นที่ใกล้ทะเลสาบ แต่ก็เน้นให้บริการในย่านตัวเมืองมะนิลาตามที่ได้รับอนุญาต

    ePickMeUp เริ่มให้บริการในเดือนมิถุนายนปีก่อน

    คริส มองเตบอง ผู้บริหาร MiCab ให้ความเห็นว่า การแข่งขันสูงมากในตลาดฟิลิปปินส์ เพราะ Grab เองก็มี GrabTaxi อีกทั้งมีผู้เล่นระดับโลก คือ Grab ส่วนผู้เล่นที่มีเงินหนา คือ Hype

    ที่มาภาพ: https://kr-asia.com/grab-and-go-jeks-dominance-is-not-deterring-upstarts-these-are-their-ride-hailing-competitors-in-southeast-asia

  • เวียดนาม
  • เวียดนามประสบปัญหาเดียวกันฟิลิปปินส์คือ มีผู้เล่นต่างชาติเงินหนาในตลาด แต่หลังจากที่ Uber ถอนตัวก็ผู้เล่นรายใหม่เข้าตลาด คือ FastGo, Vato, Taxigo, T.net และ Xelo หวังว่าจะจับตลาดที่ Uber ทิ้งไป

    FastGo เป็นผู้เล่นรายใหญ่อันดับสองรองจาก Grab เมื่อวัดจากส่วนแบ่งตลาดด้านจำนวนผู้ใช้ และยอดจองรถ ในเดือนธันวาคมปีก่อนได้ขยายเข้าตลาดเมียนมา นับเป็นผู้เล่นเวียดนามรายเดียวที่ขยายธุรกิจไปต่างประเทศ อีกทั้งมีแผนจะขยายเข้าไปไทย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา มีคนขับรวม 60,000 คน

    Vato เปิดตัวในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว หลังจากรีแบรนด์บริษัทจากชื่อ Vivu Technology Development JSC ได้รับเงินลงทุน 100 ล้านดอลลาร์จาก Phuong Trang Tourism Service ซึ่งเป็นบริษัทรถทัวร์ และ Transport JSC

    TaxiGo เปิดตัวปี 2560 เป็นแอปพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่ ตั้งเป้าจับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางไกล

    Xelo ใช้นโยบายค่าโดยสารไม่ตายตัว โดยให้คนขับกำหนดราคาได้เอง

    T.net ให้บริการเรียกรถยนต์ส่วนบุคคล

  • สิงคโปร์
  • ผู้บริโภคในสิงคโปร์ประสบกับปัญหารถไฟใต้ดินหยุดวิ่งหรือปิดบริการ จึงหันมาใช้บริการ ride-hailing ประกอบกับ Uber ถอนตัวออกไป ส่งผลให้ผู้เล่นต้องการเข้าตลาดมากขึ้น ได้แก่ Filo Technologies, Ryde, Jugnoo, Tada, Kardi, Urge, และ Go-Jek ซึ่งผู้เล่นบางรายให้คำมั่นว่าจะไม่ใช้นโยบายค่าโดยสารที่ไม่ตายตัว หรือผลประโยชน์แต่คนขับ อย่างไรก็ตาม มีบางรายที่ไม่ประสบความสำเร็จ ต้องถอนตัวออกไป คือ Jugnoo จากอินเดียที่ปิดตัวลงเดือนสิงหาคม 2561 ในเวลาไม่ถึง 4 เดือนตั้งแต่เปิดบริการ

    ส่วน Ryde ตกเป็นข่าวว่ามีการทำยอดจองรถปลอมถึง 2,000 รายการในเดือนมิถุนายนปีก่อน หลังเปิดตัวบริการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล

    Filo เปิดบริการเดือนเมษายนปีที่แล้ว ถือหุ้นเต็ม 100% โดยชาวสิงคโปร์ มีค่าคอมมิชชัน 12%

    TADA จากเกาหลีใต้ เปิดตัวในสิงคโปร์วันที่ 26 กรกฎาคม ปีที่แล้ว ไม่เรียกเก็บค่าคอมมิสชันจากคนขับรถที่มาใช้แพลตฟอร์ม

    Urge สร้างความแตกต่างด้วยการให้บริการรถยนต์ส่วนบุคคลและมีบริการส่งอาหาร โลจิสติกส์ และบริการพัสดุขนส่งระหว่างประเทศ

  • มาเลเซีย
  • เมื่อ Grab ซื้อกิจการ Uber ในภูมิภาคเข้ามา ทางการมาเลเซียได้ศึกษาถึงการผูกขาดทางธุรกิจของ Grab ขณะที่รัฐเปิดเสรีการแข่งขัน ผู้เล่นรายเดิมจึงรุกธุรกิจมากขึ้น และผู้เล่นรายใหม่ก็เข้าตลาด โดยผู้เล่นทั้งหมด ได้แก่ Mycar, JomRides, MULA, Dacsee, Riding Pink, และ DIFF

    มีรายงานว่า หลังการรวมกิจการ Uber กับ Grab คนขับแท็กซี่ 2,000 คนไปลงทะเบียนกับเครือข่าย MyCar ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้เล่นรายใหญ่อันดับสามของประเทศ และผู้บริหารประกาศในปีก่อนว่าจะขยายบริการไปในพื้นที่ซาบาห์

    JomRides หวังว่าจะได้คนขับแท็กซี่เดิมของ Uber เข้ามาเป็นสมาชิก

    MULA ให้บริการด้วยรถของบริษัทเอง แต่คิดอัตราค่าโดยสารสูงกว่ารายอื่น

    DACSEE เข้าตลาดด้วยแพลตฟอร์มให้ลูกค้าจองรถเพื่อการเดินทางและแบ่งปันความสนใจกับโซเชียลมีเดีย และอนุญาตให้คนขับแท็กซี่ดึงคนขับเข้ามาเป็นลูกข่ายได้

    Riding Pink เปิดตัวก่อน Uber เสียอีก จุดเด่นคือคนขับและลูกค้าเป็นผู้หญิงล้วน ช่วงแรกให้บริการแค่ 10 เที่ยวต่อวันแต่เติบโตขึ้นเป็นมากกว่า 2,000 เที่ยวต่อเดือนในปี 2559

    DIFFRIDE เปิดบริการในเดือนสิงหาคมปีก่อน คิดค่าธรรมเนียมจากคนขับแบบ flat rate

  • ไทย
  • GoBike แอปพลิเคชันที่ไทยพัฒนาเอง เพื่อเรียกใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์และส่งพัสดุ เปิดบริการเดือนกรกฎาคม 2559 ภายใต้ข้อตกลงกับสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย ไม่มีการเรียกเก็บเงินจากคนขับ แต่ทำเงินจากการส่งพัสดุหรือส่งของ ซึ่งคู่แข่งก็มี Get บริการเรียกรถจาก GO-JEK

    เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเป็นตลาดที่ใหญ่มากสำหรับธุรกิจ ride-hailing ด้วยประชากรรวมกันถึง 650 ล้านคน รายงานของ ABI ที่แผยแพร่ปี 2561 เปิดเผยว่า บริษัท ride-hailing ทั่วโลกให้บริการเดินทางถึง 24 พันล้านเที่ยว ส่วนใหญ่มาจากเอเชีย

    การแข่งขันเดือดทั้งจากผู้เล่นท้องถิ่น-ต่างชาติ

    การซื้อกิจการ Uber ของ Grab ในเอเชีย ผู้เล่นรายใหม่ในประเทศเปิดตัว ผู้เล่นรายเดิมต้องการรุกตลาด และผู้เล่นจากต่างชาติต้องการที่จะเข้าตลาดมากขึ้น ผู้เล่นในอาเซียนเองก็ต้องการที่จะขยายเข้าในประเทศเพื่อนบ้านด้วย

  • เวียดนามผู้เล่นรายใหม่มากขึ้น
  • โดยในเวียดนาม การแข่งขันระหว่าง Grab กับ Go-Viet ซึ่งเป็นบริการของ GO-JEK จากอินโดนีเซีย ดุเดือดมาก และยังไม่แน่ชัดว่าใครจะเป็นผู้ชนะ เพราะมีผู้เล่นรายใหม่เปิดตัว ได้แก่ Be จาก Be Group ให้บริการเรียกรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ และตั้งเป้าที่จะขยายบริการไปสู่ 15 เมืองในปี 2562 และครบ 63 เมืองในปี 2563 ขณะนี้ Be มีคนขับเป็นสมาชิก 30,000 รายและมีการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแล้วมากกว่า 3 ล้านครั้ง

    ผู้เล่นอีกราย คือ Aber พัฒนาโดยคนรุ่นใหม่ของเวียดนาม โดยใช้เทคโนโลยีเยอรมนี ส่วนบริการมีถึง 6 ประเภท คือ Aber Bike, Aber Car, Aber Truck, Aber Travel, Aber Business และ Aber Express

    ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า การที่ผู้ให้บริการจะดึงลูกค้าได้ แอปพลิเคชันต้องมีฟีเจอร์ที่เหมาะสมและตอบสนองความสนใจของผู้บริโภคได้ เช่น ราคาของแต่ละสถานที่ บริษัทต้องมีการเครือข่ายการขนส่ง ขณะที่คนขับเองก็ต้องผ่านการอบรม ผ่านการทดสอบด้านความปลอดภัยของผู้โดยสาร

    การที่มีผู้เล่นรายใหม่มากขึ้น ผู้บริโภคเองก็ชอบเพราะมีทางเลือกมากขึ้น แทนที่จะใช้ Grab เพียงรายเดียว สามารถเลือกรายที่ให้ราคาดีและตอบสนองได้ทันต่อความต้องการ เช่นเดียวกับคนขับรถ เพราะสามารถเป็นสมาชิกของหลายแพลตฟอร์มได้ และหากยอดจองใช้รถน้อย คนขับสามารถเลือกแอปพลิเคชันไหนก็ได้

  • GO-JEK รุกอาเซียน
  • GO-JEK ได้ยกการให้บริการเข้าสู่สิงคโปร์เมื่อเร็วๆ นี้ ล่าสุดได้ประกาศว่าจะขยายบริการให้ทั่วเกาะจากที่ขอบเขตการให้บริการปีก่อนยังจำกัดวง ซึ่งก็จะเป็นการแข่งขันกับ Grab ที่ครองตลาดอยู่โดยตรง ปัจจุบันขยายธุรกิจมายังไทยและเวียดนาม

    GO-JEK หนุนเศรษฐกิจ 3.12 พันล้านดอลลาร์

    ในสัปดาห์ก่อน ผลการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย (Lembaga Demografi Universitas Indonesia – LD FEB UI) พบว่า GO-JEK แอปพลิเคชันคู่แข่ง Grab ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศถึง 44.2 ล้านล้านรูเปียะห์ หรือ 3.12 พันล้านดอลลาร์ในปี 2561 เพิ่มขึ้นจาก 15.1 ล้านล้านรูเปียะห์หรือราว 1.06 พันล้านดอลลาร์ จากบริการ GO-RIDE และ GO-FOOD

    ผลการศึกษายังพบว่า รายได้โดยเฉลี่ยของคนขับ GO-JEK และสมาชิก GO-LIFE ในพื้นที่ที่ทำการสำรวจสูงเกินค่าแรงงานขั้นต่ำเฉลี่ย โดยรายได้ต่อเดือนเฉลี่ยของคนขับ GO-RIDE ในเขตเมืองรอบนอกจาการ์ต้า หรือที่เรียกกันว่า จาโบเดตาเบิก (Jabodetabek) มีจำนวน 4.9 ล้านรูเปียะห์ ส่วนในอีก 8 พื้นที่ที่ทำการสำรวจมีรายได้เฉลี่ย 3.8 ล้านรูเปียะห์

    รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของสมาชิก GO-Life ในพื้นที่จาโบเดตาเบิกมีจำนวน 4.8 ล้านรูเปียะห์ ส่วนที่พื้นที่สำรวจอื่นมีรายได้เฉลี่ย 4.3 ล้านรูเปียะห์

    รายได้เฉลี่ยต่อเดือนคนขับ GO-Car ในพื้นที่จาโบเดตาเบิกมีจำนวน 6 ล้านรูเปียะห์ ขณะที่พื้นที่สำรวจอื่นมีรายได้เฉลี่ย 5.5 ล้านรูเปียะห์

    ผลการศึกษารายงานอีกว่า 90% ของสมาชิก GO-JEK มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวให้ดีขึ้นจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิก GO-JEK รวมทั้งความเชื่อมั่นสูงว่าจะสามารถส่งลูกไปโรงเรียนได้ และมีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสมาชิกรายอื่น ตลอดจนมีความเห็นว่าเงื่อนไของการเป็นสมาชิก GOJEK นั้นเป็นธรรม

    ส่วนผลการศึกษา GO-FOOD นั้น สัดส่วน 90% ของร้านค้า SME มียอดธุรกรรมเพิ่มขึ้น และเหตุผลสำคัญที่เข้าร่วม GO-FOOD เพราะเทคโนโลยีที่ทันสมัย จัดว่าเป็น super app หรือแอปพลิเคชันที่ครอบคลุมทุกบริการ ที่ผู้บริโภคใช้งานประจำทุกวัน นอกจากนี้สัดส่วน 75% ของร้านค้า SME กลายเป็นร้านค้าที่ไม่รับเงินสดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การเข้าร่วม GO-FOOD

    ทางด้าน GO-LIFE ผลการศึกษาพบว่า 70% ของสมาชิกเป็นผู้หญิง และเกือบ 50% เป็นคนที่ทำรายได้เข้าครอบครัว ที่สำคัญ 95% ของสมาชิกหญิงมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระได้จากการเข้าเป็นสมาชิก GO-LIFE ดังนั้น GO-LIFE จึงมีส่วนในการเปิดให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลของอินโดนีเซีย

    รายงาน LD FEB UI จัดทำขึ้นจากการสัมภาษณ์ตรงคนขับ GO-RIDE ซึ่งเป็นรถมอเตอร์ไซค์ จำนวน 3,886 ราย สัมภาษณ์คนขับรถยนต์ GO-CAR จำนวน 1,010 ราย สัมภาษณ์ร้านค้า SME ใน GO-FOOD จำนวน 1,000 ราย สัมภาษณ์สมาชิก GO-LIFE จำนวน 836 ราย ใน 9 เมืองใหญ่ทั่วอินโดนีเซีย คือ ปาลิกปาปัน บันดุง เดนปาซาร์ พื้นที่จาโบเดตาเบิก มากัสซาร์ เมดาน ปาเลมบัง สุราบายา และยอร์กจาการ์ตา

  • FastGo เวียดนามเข้าสิงคโปร์
  • FastGo ซึ่งเริ่มต้นจากเทคสตาร์ตอัพ NextTech Group จากเวียดนามรุกเข้าสู่ตลาดสิงคโปร์ในเดือนเมษายน ยิ่งส่งผลให้การแข่งขันที่เข้มข้นอยู่แล้วระหว่าง Grab กับ GO-JEK เข้มข้นขึ้นไปอีก โดยได้รับคนขับรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีใบอนุญาตขับขี่สาธารณะไปแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา มีคนขับจำนวน 500 รายแรกที่ลงทะเบียนจะได้รับการยกเว้นไม่คิดค่าธรรมเนียม 1 ปี ส่วนคนขับที่ลงทะเบียนจำนวน 1,000 รายถัดไปจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม 6 เดือน และอีก 1,500 คนต่อไปจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม 3 เดือน

    ในช่วงแรกจะให้บริการด้วยรถจำนวน 3,000 คัน และสร้างความแตกต่างจาก Grab และ GO-JEK โดยเก็บค่าธรรมเนียม 20% ของค่าโดยสารจากคนขับ ด้วยการเรียกเก็บค่าสมัครรายวันต่ำกว่า 5 ดอลลาร์สิงคโปร์หากรายได้ต่อวันเกิน 30 ดอลลาร์สิงคโปร์ขึ้นไป

    FastGo ให้บริการในเวียดนามและเมียนมา มีแผนที่จะขยายไปใน 5 ประเทศอาเซียนรวมทั้ง อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ภายในสิ้นปี 2562 นี้

    รายงานสำรวจของ Kantar TNS ระบุว่า ณ เดือนมกราคมปี 2562 FastGo เป็นผู้เล่นที่ได้รับความนิยมอันดับ 4 จากผู้ใช้บริการ โดย 2% ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามระบุว่า เป็นแอปพลิชันที่ใช้บ่อยมาก GO-JEK ที่ให้บริการภายใต้ชื่อ Go-Viet ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 จากผู้ตอบแบบสอบถาม 6% ขณะที่อันดับ 3 คือ Mailinh ผู้ให้บริการในประเทศ และรายงานยังระบุว่า Grab ยังครองอันดับ 1 ของตลาด

    FastGo ยังประกาศบริการใหม่ คือ เฮลิคอปเตอร์ โดยมีเป้าหมายกลุ่มนักท่องเที่ยวในฮานอยและทางตอนเหนือของประเทศ เริ่มขึ้นวันที่ 25 เมษายน 2562 นี้

    เฮลิคอปเตอร์หนึ่งลำ รับผู้โดยสารได้ 12 คน โดย FastSky จะให้บริการท่องเที่ยวในฮานอยและสถานที่ท่องเที่ยวอื่นในภาคเหนือ เช่น แม่น้ำแดงและฮาลองเบย์ สำหรับราคาจะแตกต่างกันไปเริ่มต้นขั้นต่ำที่ 125 ดอลลาร์ต่อคน แต่ผ่อนชำระได้ใน 12 เดือน

    ที่มาภาพ: https:// e.vnexpress.net/news/business/companies/fastgo-announces-vietnam-s-first-helicopter-ride-sharing-service-3907283.html

  • Via จากนิวยอร์กจับอินโดนีเซีย
  • Via ผู้ให้บริการ Ride-hailing จากนิวยอร์กเริ่มให้บริการแล้วในอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562 โดยมุ่งให้บริการรถแวนหรือมินิบัสในเบอกาซี ด้านตะวันออกของจาการ์ตา

    การเข้ามาของ Via แสดงให้เห็นชัดถึงโอกาสในตลาด ride-hailing ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะจาการ์ต้าที่การจราจรแย่ที่สุดในอาเซียน ทั้งนี้คาดว่า การจราจรที่ติดขัดสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจอินโดนีเซีย 4.5 พันล้านดอลลาร์ต่อปี

    ในอินโดนีเซียการขนส่งสาธารณะที่ยังเป็นจุดๆ มีส่วนทำให้ธุรกิจ ride-hailing เติบโตได้ดี ทำให้อินโดนเซียเป็นประเทศที่มีการใช้แอปพลิเคชัน ride-hailing สูงเป็นอันดับสองของโลก รองจากสิงคโปร์ จากรายงาน Global Digital Report 2019

    Via เน้นให้บริการด้วยรถแวน รถมินิบัส โดยมี Tron บริษัทท้องถิ่นซึ่งมีรถ 150 คันเป็นพันธมิตร ซึ่งรถแวนรับผู้โดยสารได้ 10 คนต่อคัน ผู้โดยสารเพียงแจ้งจุดที่ให้ไปรับและจุดหมายปลายทาง รถแวนก็จะไปรับผู้โดยสารที่จะไปในจุดหมายปลายทางเดียวกัน เป็นการแชร์การเดินทาง

    คริส ชไนเดอร์ ผู้บริหาร Via กล่าวว่า บริษัทฯ เห็นถึงโอกาส และมีแผนที่จะขยายบริการไปทั่วเอเชีย

    Via ก่อตั้งที่นิวยอร์กในปี 2556 จากนั้นขยายไปลอนดอน และเบอร์ลิน ซึ่งมีผู้ผลิตรถยนต์เดมเลอร์เป็นนักลงทุน บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบ ride-hailing ในเขตเมือง ที่ผ่านมามีผู้ใช้ลงทะเบียน 2 ล้านคนทั่วโลกและบริการ ride-hailing ไปแล้ว 50 ล้านเที่ยว ในโตเกียว Via ร่วมมือกับผู้พัฒนาอาคารโมริ ในโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาระบบขนส่ง

    ที่มาภาพ: http:// atengbest.blogspot.com/2011/02/cuti-cuti-indonesia-bandung.html

    เรียบเรียงจาก japantimes, aseanpost, sggpnews