ThaiPublica > เกาะกระแส > ตำนาน 2,000 ปีของต้นซากุระ ครั้งหนึ่ง สายพันธุ์ที่หลากหลาย เกือบจะสูญหายไปจากญี่ปุ่น

ตำนาน 2,000 ปีของต้นซากุระ ครั้งหนึ่ง สายพันธุ์ที่หลากหลาย เกือบจะสูญหายไปจากญี่ปุ่น

16 เมษายน 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

สมเด็จพระจักรพรรดิ อะกิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินี มิชิโกะ แห่งญี่ปุ่น ได้เสด็จออกจากพระราชวังอิมพีเรียล กรุงโตเกียว เพื่อทอดพระเนตรดอกซากุระในพื้นที่ด้านนอกของพระราชวัง

เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน ที่ผ่านมา สมเด็จพระจักรพรรดิ อะกิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินี มิชิโกะ แห่งญี่ปุ่น ได้เสด็จออกจากพระราชวังอิมพีเรียล กรุงโตเกียว เพื่อทอดพระเนตรดอกซากุระในพื้นที่ด้านนอกของพระราชวัง ครั้งนี้จะเป็นการเสด็จชมดอกซากุระเป็นครั้งสุดท้ายของพระองค์ในฐานะองค์พระจักรพรรดิ โดยพระองค์จะสละราชสมบัติในวันที่ 30 เมษายนนี้ ญี่ปุ่นจะเข้าสู่ศักราชใหม่ชื่อว่า “เรวะ” เมื่อเจ้าชาย นารูฮิโต มกุฎราชกุมาร จะขึ้นครองราชย์ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 นี้

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 นักชีวภูมิอากาศวิทยา (phenologist) ของญี่ปุ่น ที่เฝ้าสังเกตการบานของดอกซากุระที่ศาลเจ้ายาซูกูนิ กลางกรุงโตเกียว ได้ประกาศอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการมาถึงของเทศกาลชมดอกซากุระ ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างตั้งแต่สมัยเมจิ เพื่อระลึกถึงทหารที่เสียชีวิตจากสงครามภายใน และจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้นซากุระในศาลเจ้าแห่งนี้ เป็นสายพันธุ์ชื่อโซเมอิ-โยชิโน (somei-yoshino)

เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิของญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นจะคิดถึงดอกซากุระบานในเดือนเมษายน นอกจากจะเป็นประเทศชั้นนำด้านหุ่นยนต์ หรือเทคโนโลยีอาคารสูงแล้ว ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศผู้นำในเรื่อง ศิลปะการชื่นชมต้นซากุระอีกด้วย นับตั้งแต่อดีต คนชั้นนำในราชสำนักของญี่ปุ่น ใช้เวลาชื่นชมต้นซากุระ ด้วยการพักผ่อนแบบสบายๆ และการอ่านบทกวีอยู่ใต้ต้นซากุระ ทุกวันนี้ เมื่อช่วงเวลาดอกซากุระบานมาถึง คนญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือน นักศึกษา หรือแม่บ้าน ต่างก็จะหาเวลาทำกิจกรรมที่เรียกว่าฮานามิ (hanami) หรือการชมดอกซากุระ

ดอกซากุระที่ศาลเจ้ายาซูกูนิ กลางกรุงโตเกียว
ดอกซากุระที่ศาลเจ้ายาซูกูนิ กลางกรุงโตเกียว

ทำไมมีแต่สายพันธุ์โซเมอิ-โยชิโน

ในอดีต กลีบดอกซากุระเป็นสัญลักษณ์ของวิญญาณทหาร ที่เสียชีวิตจากสงคราม ส่วนต้นซากุระสายพันธุ์โซเมอิ-โยชิโน ก็มีประวัติศาสตร์ความเป็นมา ที่เติบโตจนกลายเป็นสายพันธุ์ที่นิยมปลูกทั่วไปในญี่ปุ่น ดังเช่นที่ นาโอโกะ อาเบะ (Naoko Abe) อดีตนักข่าวของหนังสือพิมพ์ Mainichi เขียนไว้ในหนังสือที่เพิ่มออกวางตลาดชื่อ The Sakura Obsession (2019) ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของต้นซากุระในญี่ปุ่น และนักสะสมต้นไม้ชาวอังกฤษชื่อ คอลลิงวูด อินแกรม (Collingwood Ingram) ที่มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ต้นซากุระสายพันธุ์ต่างๆ ที่เกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว ให้กลับคืนมาปลูกใหม่ในญี่ปุ่น

นาโอโกะ อาเบะ เขียนไว้ว่า ญี่ปุ่นมีธรรมเนียมที่แตกต่างจากชาติตะวันตก การเริ่มต้นที่สำคัญๆ เกิดขึ้นในเดือนเมษายน โรงเรียนเปิดภาคเรียน รัฐบาลเริ่มต้นปีงบประมาณ และบริษัทต่างๆ ต้อนรับพนักงานใหม่เข้าทำงาน เมษายนยังเป็นเดือนที่คนญี่ปุ่นมีเทศกาลเรียกว่า ฮานามิ หรือการชมดอกซากุระ พันธุ์ไม้ที่คนญี่ปุ่นหลงใหลชื่นชม

นาโอโกะ อาเบะ กล่าวว่า ตลอดชีวิตที่ผ่านมา เธอเองมองต้นซากุระเป็นเรื่องปกติธรรมดา และไม่เคยตั้งข้อสงสัยเลยว่า ทำไมในญี่ปุ่น ต้นซากุระ 7 ใน 10 ต้น เป็นสายพันธุ์โซเมอิ-โยชิโน ในปี 2001 เมื่อย้ายไปทำงานที่อังกฤษ เธอได้เห็นดอกซากุระในอังกฤษมีสีสรรหลากหลาย เช่น ขาว ชมพู แดง และเขียว รวมทั้งช่วงเวลาที่ดอกซากุระบาน ก็แตกต่างกันไป คือ จากกลางมีนาคมไปจนถึงกลางพฤษภาคม

แต่ในญี่ปุ่น การบานของดอกซากุระมีช่วงเวลาที่แน่นอน ดอกซากุระสายพันธุ์โซเมอิ-โยชิโน จะบานเป็นเวลาแค่ 8 วันเท่านั้น และจะไม่นานไปกว่านี้ เหตุผลที่ซากุระสายพันธุ์นี้ออกดอกพร้อมกันและร่วงโรยพร้อมกัน เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมา (clone) วัฒนธรรมของดอกซากุระในศตวรรษที่ 20 และ 21 จึงรายล้อมชีวิตที่แสนสั้น เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และตายไปอย่างคาดเดาได้ ดอกซากุระจึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ได้ไม่นานเหมือนกับชีวิตของคนเรา

ในหนังสือ The Sakura Obsession ผู้เขียนตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับต้นซากุระป่า อย่างเช่นสายพันธุ์ยามา-ซากุระ (Yama-zakura) ที่ขึ้นตามป่าเขา ในศตวรรษที่ 17 และ 18 เคยถูกนำมาปลูกตามเมืองต่างๆ ของญี่ปุ่นในยุคสมัยของพวกซามูไร เกิดอะไรขึ้นกับความหลากหลายด้านสายพันธุ์ต่างๆ ของต้นซากุระที่เคยปลูกตามเมืองต่างๆ รวมทั้งในเมืองเกียวโต ในยุคสมัยที่เมืองต่างๆ ปกครองโดยขุนนางท้องถิ่น และผู้คนก็ชื่นชมต่อความหลากหลายของต้นซากุระ

จากการทำวิจัยค้นคว้าในเรื่องราวที่ว่าต้นซากุระแพร่หลายเข้ามาในเกาะอังกฤษได้อย่างไร ทำให้นาโอโกะ อาเบะไปพบเรื่องราวของ คอลลิงวูด อินแกรม นักสะสมต้นไม้และนักธรรมชาติศึกษาของอังกฤษ ที่มีความมุ่งมั่นและดำเนินการมาอย่างยาวนาน ที่จะอนุรักษ์ต้นซากุระสายพันธุ์ไตฮากุ (Taihaku) และสายพันธุ์อื่นๆ ของญี่ปุ่น คอลลิงวูด อินแกรม ที่มีอายุยืนถึง 100 ปี (ค.ศ. 1880-1981) เป็นคนที่หลงใหลชื่นชมในต้นซากุระ มีบทบาทช่วยรักษาต้นซากุระบางสายพันธุ์ไม่ให้สูญพันธุ์ไป และยังช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมการปลูกต้นซากุระ ให้กระจายไปทั่วโลก

หนังสือ The Sakura Obsession ทีมาภาพ : amazon.com

ความสามัคคีกับความทันสมัย

นาโอโกะ อาเบะ เขียนไว้ว่า ภาพโฆษณา “ท่องเที่ยวญี่ปุ่น” จะเป็นรูปภูเขาไฟฟูจิกับต้นซากุระ ทั้งสองอย่างนี้ จึงเป็นสัญลักษณ์ของญี่ปุ่น ในอดีต ดอกซากุระสื่อความหมายถึงการมีชีวิตใหม่และการเริ่มต้นใหม่ แต่นับจากกลางศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา โดยเฉพาะนับจากทศวรรษ 1930 รัฐบาลญี่ปุ่นที่ต่อเนื่องกันมา อาศัยความนิยมที่ประชาชนมีต่อดอกซากุระมาเป็นเครื่องมือการโฆษณาชวนเชื่อ โดยเน้นความหมายของดอกซากุระไปในเชิงของความตาย โดยเฉพาะการอุทิศชีวิตเพื่อองค์จักรพรรดิ เหมือนกับกลีบดอกซากุระที่ตายไป หลังจากบานออกมามีชีวิตที่รุ่งโรจน์ในช่วงสั้นๆ

ภายใต้บริบทการเมืองดังกล่าว ต้นซากุระพันธุ์โซเมอิ-โยชิโน จึงเป็นสายพันธุ์ที่ให้ความสะดวก พื้นที่ในเมืองที่เคยปลูกต้นซากุระป่า และสายพันธุ์อื่นๆ ก็เปลี่ยนมาปลูกซากุระสายพันธุ์นี้แทน ทำให้ภูมิทัศน์ของต้นซากุระเปลี่ยนไป ซากุระสายพันธุ์โซเมอิ-โยชิโน เติบโตอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาปลูกเพียง 5 ปีก็สมบูรณ์เต็มที่ การแพร่พันธุ์ก็ง่าย และที่สำคัญ เป็นต้นซากุระที่มีความสวยงาม

หนังสือ The Sakura Obsession กล่าวว่า เมื่อต้นซากุระโซเมอิ-โยชิโน บานเต็มที่ ญี่ปุ่นทั้งประเทศก็ปกคลุมด้วยดอกซากุระสีชมพู เมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ต้นซากุระโซเมอิ-โยชิโนจะออกดอกก่อนที่ผลิใบไม้ออกมา แตกต่างจากซากุระสายพันธุ์อื่นที่ดอกและใบจะผลิบานออกมาพร้อมกัน ในช่วงปลายศตวรรษ 19 และต้นศตวรรษ 20 เมื่อมีการเฉลิมฉลองเทศกาลต่างๆ ในญี่ปุ่น ก็จะมีการปลูกซากุระสายพันธุ์นี้

ภาพวาดดอกซากุระ ไตฮากุ วาดโดย คอลลิงวูด อินแกรม ที่มาภาพ : หนังสือ The Sakura Obsession

นักล่าและอนุรักษ์ต้นซากุระ

คอลลิงวูด อินแกรม สนใจต้นซากุระตั้งแต่เมื่อครั้งที่เขาเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นในปี 1902 และ 1907 ในปี 1919 เขาไปพบต้นซากุระที่ถูกทอดทิ้งไว้ในสวนของบ้านหลังใหม่ของครอบครัวที่เมืองเคนต์ อังกฤษ ต้นซากุระนี้ทำให้เขาคิดถึงเมื่อครั้งที่เดินทางไปญี่ปุ่น และเกิดหลงรักต้นซากุระ ในปี 1926 เขาเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อไปหาต้นซากุระสายพันธุ์ใหม่ๆ และไปพบกับผู้เชี่ยวชาญต้นซากุระของญี่ปุ่น แต่เขาต้องตกตะลึง เมื่อไปพบกับสภาพที่ความหลากหลายทางสายพันธุ์ของต้นซากุระ ที่เคยมีให้เห็นตามท้องถิ่นต่างๆ สูญหายไปหมดแล้ว

เมื่อเดินทางไปที่โรงเพาะต้นซากุระที่โยโกฮามา ผู้จัดการของโรงเพาะต้นซากุระแห่งนี้บอกกับคอลลิงวูด อินแกรม ว่า แม้คนญี่ปุ่นจะยังชื่นชมต้นซากุระ แต่ไม่สนใจความหลากหลายของสายพันธุ์ เวลาสั่งซื้อต้นกล้าก็พูดแค่ว่าจะเอาซากุระแบบดอกเดี่ยวหรือดอกคู่ คอลลิงวูด อินแกรม เขียนบันทึกว่า “การพัฒนาด้านการค้าขายของญี่ปุ่นทำให้ความชื่นชมต่อต้นซากุระที่มีความหลากหลายเสื่อมลงไป” ในสมัยศักดินา พวกเจ้าปกครองเมืองต่างๆ สร้างสวนต้นซากุระที่มีหลายสายพันธุ์ แต่นับจากการฟื้นฟูสมัยเมจิเป็นต้นมา พวกเจ้าครองนครหมดอำนาจลง สวนซากุระก็ถูกทอดทิ้ง และต้นซากุระถูกโค่นทิ้ง ต้นซากุระหลายสายพนธุ์จึงสูญหายไป

แม้ว่าต้นซากุระป่าจะยังเจริญเติบโตในเขตป่าเขา แต่การเร่งรีบพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ญี่ปุ่นลืมเลือนในเรื่องความหลากหลายทางสายพันธุ์ของต้นซากุระ ที่เกิดขึ้นมาในสมัยก่อนการปฏิรูปเมจิ จะมีข้อยกเว้นคือ ต้นซากุระสายพันธุ์โซเมอิ-โยชิโน ที่มีดอกสีชมพู และเจริญเติบโตไปทั่วญี่ปุ่น เพราะผู้นำญี่ปุ่นต้องการหาสัญลักษณ์ของความสามัคคีและความทันสมัยที่ประชาชนสามารถรับรู้ได้ ต้นซากุระสายพันธุ์นี้ ที่พัฒนาขึ้นมาในช่วงปี 1860 จึงไปตรงกับความต้องการดังกล่าว

การสูญหายของต้นซากุระหลายสายพันธุ์ เป็นผลมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรม และการสร้างเมืองใหม่ ภายหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นเมื่อปี 1923 ที่บ้านเรือนทำด้วยไม้สไตล์ตะวันออก กว่า 5 แสนหลังคาถูกทำลายลงไป และมีการสร้างอาคารคอนกรีตสมัยใหม่ขึ้นมาแทน การยอมรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมของตะวันตก แบบไม่มีการจำแนกหรือย่อยสลาย ทำให้ในแต่ละปี ความหลากหลายของต้นซากุระในญี่ปุ่น ลดน้อยลงเป็นลำดับ

ในเดือนเมษายน 1926 ช่วงที่ไปเยือนญี่ปุ่น คอลลิงวูด อินแกรม ได้รับเชิญให้ไปพูดต่อที่ประชุมสมาคมต้นซากุระ เขาได้กล่าวแบบตั้งคำถามว่า “ทำไมต้นซากุระของพวกคุณจึงไปเจริญเติบโตในอังกฤษได้ดีกว่าในประเทศตัวเอง” เขาบอกคนฟังว่า สวนต้นซากุระของเขาที่อังกฤษมีสายพันธุ์ซากุระของญี่ปุ่นที่สวยงาม 2 สายพันธุ์ ที่เขาไม่พบในญี่ปุ่น “หากผมสามารถนำสายพันธุ์นี้กลับคืนมายังญี่ปุ่นได้ ก็จะเป็นความภาคภูมิใจอย่างมากของผม”

ต้นซากุระ สายพันธุ์ โซเมอิ-โยชิโน ที่มาภาพ : หนังสือ The Sakura Obsession

หนังสือ The Sakura Obsession กล่าวว่า วันเดียวกันที่คอลลิงวูด อินแกรม กล่าวต่อสมาคมซากุระญี่ปุ่น ต้นซากุระสายพันธุ์ไตฮากุ (Taihaku) ที่มีดอกใหญ่สีขาว และสายพันธุ์ไดโกกุ (Daikoku) ที่มีดอกสีชมพู กำลังบานสะพรั้งที่สวนต้นไม้ของเขาที่อังกฤษ สายพันธุ์ทั้งสองนี้ถูกส่งไปยังยุโรป แต่ในปี 1926 แทบจะสูญหายไปแล้วจากญี่ปุ่น ในปี 1927-1928 คอลลิงวูด อินแกรม จึงส่งกิ่งต้นซากุระไตฮากุและไดโกกุ มาให้ทางสมาคมซากุระของญี่ปุ่น และเพื่อนคนญี่ปุ่น

นาโอโกะ อาเบะ เขียนสรุปว่า ในญี่ปุ่น ทัศนะของคอลลิงวูด อินแกรม เรื่อง ความหลากหลายในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไปขัดแย้งกับความคิดของญี่ปุ่นที่เห็นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง คือ การที่มีสมาชิกหรือส่วนประกอบที่เหมือนกัน แต่ คอลลิงวูด อินแกรม เห็นว่า ความหลากหลายในเรื่องความคิด สายพันธุ์ หรือชาติพันธุ์ เป็นสิ่งที่ควรส่งเสริม สังคมที่ยอมรับความแตกต่าง มักจะมีความชัดแย้งเกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว แต่ก็เป็นสังคมที่เข้มแข็ง มีพลัง และมองไปข้างหน้า

สำหรับคอลลิงวูด อินแกรม การที่ญี่ปุ่นก้าวไปสู่วัฒนธรรมที่มีความคิดแบบเดียว แต่ใช้กับทุกส่วนของสังคม เป็นเรื่องที่อันตราย การสูญหายของต้นซากุระสายพันธุ์ไตฮากุสะท้อนถึงลัทธิทางทหารของญี่ปุ่นในทศวรรษ 1920 และ 1930 ส่วนความแพร่หลายของต้นซากุระสายพันธุ์โซเมอิ-โยชิโน สะท้อนเส้นทางที่มืดมนของการมีแนวความคิดแบบเดียวกัน ที่ญี่ปุ่นเดินตาม ในที่สุด ก็ไปจบลงที่ความพ่ายแพ้ในปี 1945

เอกสารประกอบ
The Sakura Obsession, Naoko Abe, Alfred A. Knopf, 2019.