ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 14 ปีผลงานทอท.กับบริการผู้โดยสารจาก 47 ล้านคนเป็น 139 ล้านคน – “สัมปทานดิวตี้ฟรี” …ประเทศไทยได้อะไร?

14 ปีผลงานทอท.กับบริการผู้โดยสารจาก 47 ล้านคนเป็น 139 ล้านคน – “สัมปทานดิวตี้ฟรี” …ประเทศไทยได้อะไร?

11 เมษายน 2019


ที่มาภาพ : รายงาน “การศึกษาธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีอากรในไทย” สมาคมผู้ค้าปลีกไทย

ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่ดำเนินกิจการท่าอากาศยานต่าง ๆ อย่าง “การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย” หรือ ทอท. ตั้งแต่ปี 2522 และภายหลังแปลงสภาพเป็นบริษัทภายใต้นโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไทยในปี 2545 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)” เพื่อยกระดับการดำเนินการให้มีมาตรฐานและประสิทธิภาพในระดับสากลมากขึ้น แต่เมื่อกระทรวงการคลังยังคงถือหุ้นถึง 70% การรักษาผลประโยชน์ของชาติที่เกิดขึ้นจาก “กิจการท่าอากาศยาน” ย่อมเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ต้องพิจารณาถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ โครงสร้างรายได้หลักของกิจการสนามบินสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท

    1) รายได้ที่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Aeronautical Revenue) ประกอบด้วย ค่าบริการสนามบิน, ค่าบริการผู้โดยสารขาออก และค่าเครื่องอำนวยความสะดวก

    2) รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Non-Aeronautical Revenue) ประกอบด้วย ค่าเช่าสํานักงานและอสังหาริมทรัพย์, รายได้เกี่ยวกับบริการ และรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่ทอท.จะจัดเก็บรายได้เองผ่านช่องทางต่างๆตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม สำหรับการให้บริการร้านค้าปลอดอากร หรือ ดิวตี้ฟรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ ทอท.ได้ใช้ระบบสัมปทาน เพื่อให้เอกชนเข้ามาดำเนินการแทน เพื่อความมีประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ

สนามบินสุวรรณภูมิ

โดยสัมปทานดิวตี้ฟรีของทอท.เป็นของลุ่มบริษัท “คิงพาวเวอร์” มาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเดิมเป็นสัญญาสัมปทาน 10 ปี ก่อนจะต่ออายุออกไปอีก 4 ปี เป็นรวมทั้งหมด 14 ปี และจะสิ้นสุดสัญญาฯลงในปี 2563 โดยทอท.ได้เริ่มกระบวนการประกวดราคาสำหรับสัมปทานในระยะถัดไปมาตั้งแต่ต้นปี 2562 และกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของร่าง TOR ใหม่ว่าจะเป็นการผูกขาดธุรกิจดิวตี้ฟรีของไทยหรือไม่?

ในโอกาสนี้ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า สำรวจผลประกอบการทั้งด้านการบริการและด้านการเงินของทอท.ย้อนหลัง 14 ปีตั้งแต่ 2548-2561 ซึ่งครอบคลุมระยะเวลาส่วนใหญ่สัมปทานเดิมว่าจากผลของสัญญาดังกล่าว ส่งผลให้ทอท.และประเทศไทยได้หรือเสียอะไรไปบ้าง เริ่มต้นสำหรับผลดำเนินการด้านการให้บริการ ทอท.ดำเนินกิจการท่าอากาศยานในประเทศไทยทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานเชียงราย โดยในช่วงทีผ่านมาจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 47,338,682 คนในปี 2548 เป็น 139,518,488 คนในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยปีละ 9%, มีจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้นจาก 330,346 เที่ยวในปี 2548 เป็น 874,999 เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 2.5 เท่า คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.8%

ในแง่ผลการดำเนินงานทางการเงิน ทอท.มีรายได้รวมทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 14,894.4 ล้านบาทในปี 2548 เป็น 62,135.93 ล้านบาทในปี 2561 หรือคิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยปีละ 11.6% ขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้นจาก 7,251.71 ล้านบาท เป็น 31,008.56 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 11.8% และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 7,408.86 ล้านบาท เป็น 25,224.66 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยปีละ 9.9%

ทั้งนี้ หากดูที่รายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน ได้เพิ่มขึ้นจาก 9,260 ล้านบาทเป็น 33,986.26 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยปีละ 10.5% ส่วนรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน เพิ่มขึ้นจาก 5,634.4 ล้านบาท เป็น 26,551.15 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยปีละ 12.7% โดยสัดส่วนระหว่างรายได้จากกิจการบินต่อรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบินคิดเป็น 54.7% ต่อ 45.3% ในปี 2561 ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากปี 2550 ที่คิดเป็น 62.2% ต่อ 37.8%

หากแยกประเภทของรายได้ลงไปอีกจะพบว่าสัดส่วนรายได้หลักในปัจจุบันของทอท.จะมาจากค่าบริการผู้โดยสารขาออก คิดเป็น 41.6% ของรายได้รวมในปี 2561 ซึ่งเป็นรายได้ที่เกี่ยวกับกิจการการบินโดยตรง, รองลงมาคือรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ คิดเป็น 26.9% ของรายได้รวม ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่เกียวกับกิจการการบิน ทำให้รายได้รวมกัน 2 รายการหลักนี้คิดเป็นเกือบ 70% ของรายได้ของทอท.

และในระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาจะพบอีกว่าสัดส่วนของรายได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะ โดยค่าเฉลี่ยรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ระหว่างปี 2550-2555 เพิ่มขึ้นจาก 19.3% ของรายได้รวม เป็น 25.3% ในช่วงปี 2556-2561 หรือเพิ่มขึ้น 5.9% ขณะที่ค่าเฉลี่ยรายได้จากค่าบริการผู้โดยสารขาออกเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน แต่เพิ่มด้วยสัดส่วนที่น้อยกว่า โดยเพิ่มจาก 39.5% ของรายได้รวมในช่วงปี 2550-2555 เป็น 41.3% ในช่วงปี 2556-2561 หรือเพิ่มขึ้น 1.8%

ทั้งนี้ หากเฉลี่ยผลการดำเนินงานทางการเงินต่างๆต่อผู้โดยสาร 1 คน เพื่อให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของการดำเนินงานที่ไม่ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นตามภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่ากำไรสุทธิต่อหัวของทอท.เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2549-2555 ที่ 83.2 บาทต่อคน เป็น 168 บาทต่อคนในช่วงปี 2556-2561 โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวที่ลดลงต่อเนื่องทุกปี ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากจำนวนผู้โดยสารที่มากขึ้นต่อเนื่องทุกปี ขณะที่ค่าใช้จ่ายคงที่บางส่วนของกิจการสนามบินไม่ได้เพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้โดยสาร

ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อหัวผู้โดยสารของทอท.กลับทรงตัวหรือลดลงในบางรายการ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่เกี่ยวกับกิจการการบินอย่างค่าบริการสนามบิน, ค่าบริการผู้โดยสารขาออก และค่าเครื่องอำนวยความสะดวก หรือรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบินอย่างค่าเช่าสํานักงานและอสังหาริมทรัพย์และรายได้เกี่ยวกับบริการ ยกเว้นเพียงรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นค่อนข้างชัดเจน ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะสัญญาสัมปทานที่ปรับขึ้นส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  • สำรวจค้าปลีกท่องเที่ยวดิวตี้ฟรีทั่วโลกชี้มีแต่ขยายตัว เอเชีย-แปซิฟิกตลาดใหญ่สุด เกาหลีให้ SME บริหารร้านขาเข้า จีนแยกประมูลรับสนามบินใหม่