ThaiPublica > เกาะกระแส > “ปักกิ่ง ต้าซิง” สนามบินใหม่จีน เตรียมเปิดใช้ก.ย.นี้รับนักเดินทาง 100 ล้านคน ให้เอกชนลงทุนเป็นครั้งแรก ใช้พลังงานหมุนเวียน

“ปักกิ่ง ต้าซิง” สนามบินใหม่จีน เตรียมเปิดใช้ก.ย.นี้รับนักเดินทาง 100 ล้านคน ให้เอกชนลงทุนเป็นครั้งแรก ใช้พลังงานหมุนเวียน

16 เมษายน 2019


สนามบินปักกิ่งต้าซิง ที่มาภาพ: https://www.moodiedavittreport.com/china-duty-free-group-set-for-triumph-in-beijing-daxing-international-airport-duty-free-tenders-after-being-named-top-bidder-for-both-contracts/

สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของจีน ปักกิ่ง ต้าซิง หรือ เป่ยจิงต้าซิง(Beijing Daxing International Airport)ที่มีมูลค่า 12 พันล้านดอลลาร์ เริ่มก่อสร้างในปี 2557 ก่อนที่เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัว ด้วยการก่อสร้างและการติดตั้งระบบต่างๆมีความคืบหน้าตามเป้าหมาย และงานบางส่วนเสร็จสิ้นก่อนกำหนด จึงมีกำหนดเปิดใช้งานภายในเดือนกันยายน 2562 นี้

สนามบินปักกิ่งต้าซิง นับเป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในระดับเดียวกับสนามบินนานาชาติฮาร์ตฟิลด์-แจ็คสัน ที่แอตแลนต้า สหรัฐอเมริกา ที่การจราจรทางอากาศหนาแน่นที่สุดในโลก เพราะสนามบินปักกิ่งต้าซิง สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 100 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบินขึ้น-ลงถึง 800,000 เที่ยวต่อปี เมื่อการพัฒนาสมบูรณ์ ในปี 2568 ด้วยรันเวย์ทั้งหมด 6 รันเวย์

ข้อมูลสมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศ( Airports Council International) พบว่า ในปี 2561 สนามบินฮาร์ตฟิลด์-แจ๊คสันมีผู้โดยสารใช้บริการ 107 ล้านคน สนามบินปักกิ่งเดิมมีผู้โดยสารใช้บริการ 101 ล้านคน และสนามบินนานาชาติดูไบ 89 ล้านคน

ในระยะแรก สนามบินปักกิ่งต้าซิง ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงปักกิ่งลงไป 46 กิโลเมตรรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนภายในปี 2564 และจะรับได้มากขึ้นเป็น 72 ล้านคนในปี 2568 จาก 4 รันเวย์

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อาคารผู้โดยสารรวม 3.37 ล้านตารางฟุต รองรับการขนสินค้าได้ 4 ล้านตันต่อปีในปี 2568

ที่มาภาพ:http:// global.chinadaily.com.cn/a/201901/07/WS5c333b14a31068606745f530.html

สนามบินปักกิ่งเดิม( Beijing Capital International Airport) ซึ่งก่อสร้างเพื่อรองรับการการแข่งขันกิฬาโอลิมปิกในปี 2551 และมีขนาดใหญ่เท่ากับสนามฟุตบอล 200 สนามรวมกัน รองรับผู้โดยสารได้ 50 ล้านคนต่อปี มีมูลค่าก่อสร้าง 4 พันล้านดอลลาร์นั้น ปัจจุบันการจราจรหนาแน่นอย่างมาก มีเที่ยวบินขึ้นลงราว 400 ต่อวันจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เที่ยวบินล่าช้า เพราะการขยายเครื่องบินและสายการบินของจีนสูงเกินกว่าที่จะสร้างสนามบินได้ทัน

การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาลทำให้คาดว่าจีนจะนำหน้าสหรัฐฯ กลายเป็นตลาดการบินที่ใหญ่ที่สุดในปี 2565 เร็วขึ้น 2 ปีจากที่ International Air Transport Association เคยคาดไว้

สนามบินปักกิ่งต้าซิงเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหลักของรัฐบาลจีนที่จะพัฒนาพื้นที่ครอบคลุมปักกิ่ง เทียนจิน และเหอเป่ย ซึ่งพึ่งพาการเกษตรและอุตสาหกรรมหนัก เช่น เหล็ก ในการขยายเศรษฐกิจ

สนามบินปักกิ่ง ต้าซิงตั้งอยู่ในใจกลางเขตเศรษฐกิจใหม่และสามารถเดินทางได้ด้วยขบวนรถไฟไปสงอัน ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมในเหอเป่ย และเป็นพื้นที่จีนจะย้ายสำนักงานรัฐบาลกลางในระดับรองมาไว้ที่นี่ เพื่อสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่

เจา หยุนจุน ศาตราจารย์ จากสถาบันเศรษฐกิจสนามบิน( Institute of Airport Economics )แห่งมหาวิทยาลัยการบินพลเรือน( Civil Aviation University of China)ในเทียนจิน กล่าวว่า สนามบินแห่งใหม่จะกระตุ้นการพัฒนาในพื้นที่ทางตอนใต้ของปักกิ่งและใกล้เหอเป่ยที่ยังยากจน และในอนาคตพื้นที่นี้จะเป็นศูนย์กลางของการไหลเวียนของคน การไหลเวียนของการเดินทาง การไหลเวียนของสินค้า การไหลเวียนของเงินทุน และการไหลเวียนของเทคโนโลยี

ที่มาภาพ:https:// www.caixinglobal.com/2019-01-22/beijings-new-airport-completes-first-test-flight-101372930.html

ให้เอกชนลงทุนเป็นครั้งแรก

โครงการสนามบินปักกิ่งต้าซิง เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลจีนเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนก่อสร้างและพัฒนา โดยบริษัทไชน่า รีซอร์สเซส แลนด์ (China Resources Land) ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ ไชน่า รีซอร์สเซส กรุ๊ป (China Resources Group) รับผิดชอบด้านการก่อสร้างอาคารในทางตอนเหนือของสนามบิน ที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนบริการของสนามบิน

บริษัทไชน่า รีซอร์สเซส แลนด์ให้ข้อมูลว่า การลงทุนโดยตรงในสนามบินแห่งใหม่นี้มีมูลค่า 11.64 พันล้านดอลลาร์ หรือ 80 พันล้านหยวน ขณะที่อีก 400 พันล้านหยวนที่เป็นเงินลงทุนเอกชนใช้สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยรอบ เพราะมีเป้าหมายที่จะยกระดับพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางการบินและการพาณิชย์ให้กับเมืองหลวงของประเทศ

หลี่ เจียนฮวา ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า โครงการสนามบินแห่งใหม่นี้จะสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศและเศรษฐกิจของจีน

“สัญญาโดยรวม จัดการด้วยตัวเราเอง เราไม่ได้มีความร่วมมือใดๆกับบริษัทต่างประเทศ อุปกรณ์เครื่องมือทั้งหมดผลิตในประเทศ และวัสดุทั้งหมดก็ผลิตในประเทศ”

สื่อมวลชนให้ชื่อสนามบินแห่งใหม่ว่า ปลาดาว เพราะมีอาคารเทียบเครื่องบิน(Concourse) 5 คอนคอร์ส ยื่นออกไปจากอาคารหลัก

สนามบินปักกิ่งต้าซิง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งนี้ยังเชื่อมกับระบบรถไฟใต้ดิน และรถไฟความเร็วสูง สามารถเดินทางมาได้ภายในเวลา 3 ชั่วโมง

การก่อสร้างสนามบินปักกิ่งต้าซิงมีกำหนดแล้วเสร็จวันที่ 30 มิถุนายนนี้ โดยเฟิ่ง เจิ้งหลิน ผู้บริหาร Civil Aviation Administration of China เปิดเผยว่า งานก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนการตกแต่งภายในในอาคารหลักใกล้จะแล้วเสร็จ ส่วนระบบงานไฟฟ้าและกลไกกำลังอยู่ระหว่างการทดสอบ

ที่มาภาพ:https://www. dailymail.co.uk/news/article-6619177/Beijings-new-9-billion-mega-airport-welcomes-test-plane.html
ที่มาภาพ:https://www. dailymail.co.uk/news/article-6619177/Beijings-new-9-billion-mega-airport-welcomes-test-plane.html

Civil Aviation Administration of China ยังให้ข้อมูลบนเว็บไซต์ว่า การยื่นขอเปิดเส้นทางการบินระหว่างประเทศ 10 เส้นทางที่ออกจากสนามบินใหม่ของสายการบินผ่านการพิจารณาเบื้องต้นแล้ว

ทั้งนี้คาดว่าสนามบินแห่งใหม่จะรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนในสิ้นปีนี้ และสร้างรายได้ 86 พันล้านหยวนให้กับเมือง นอกจากนี้ยังคาดว่าจะมีการพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมระดับบน ธุรกิจบริการ โลจิสติกส์ การจัดงานแสดงสินค้าและโรงแรมในพื้นที่โดยรอบ ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับปักกิ่งถึง 8.6 ล้านล้านหยวนในอีก 2 ทศวรรษ

ปัจจุบันจีนมีสนามบิน 8 แห่งรองรับพื้นที่ ปักกิ่ง เทียนจินและเหอเป่ย

ใช้พลังงานหมุนเวียนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

เฟิ่ง เจิ้งหลิน กล่าวอีกด้วยว่า สายการบินใหม่นี้นอกจากจะเป็นสนามบินที่ความปลอดภัยและมีการสร้างสรรคที่มุ่งตอบสนองผู้โดยสารแล้ว ยังเป็นสนามบินที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย เช่น บริการไวไฟในเครื่อง และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยใช้ตั๋วอิเลคทรอนิคส์

ในปี 2561 มีผู้โดยสารที่ใช้ตั๋วอิเลคทรอนิคส์ถึง 225 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 37% ของการออกตั๋วโดยรวม ซึ่ง เฟิ่ง เจิ้งหลิน คาดว่า สัดส่วนการใช้ตั๋วอิเลคทรอนิคส์จะเพิ่มเป็น 70% ในปีนี้

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งเมืองปักกิ่ง (Beijing Municipal Commission of Development and Reform) เปิดเผยว่า สนามบินแห่งใหม่จะใช้พลังงานหมุนเวียนกว่า 10% ของการพลังงานโดยรวม ทั้งนี้พลังงานที่ใช้ในสนามบินประกอบด้วยพลังแสงอาทิตย์ และพลังงานดั้งเดิม โดยจะมีการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาสนามบิน อาคารจอดรถ โรงเก็บเครื่องบินส่วนตัว อาคารคลังสินค้า ซึ่งคาดว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 6.1 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี

รวมทั้งจะมีการนำพลังงานความร้อนใต้ดินระดับตื้นที่เกิดในพื้นที่แก้มลิงใกล้แม่น้ำหย่งติ้ง มาประยุกต์ใช้กับระบบความร้อนและระบบทำความเย็นกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในสนามบิน ซึ่งจะมีสัดส่วนราว 8% ของการใช้พลังงานรวม

ที่มาภาพ:http://global. chinadaily.com.cn/a/201902/24/WS5c7251a9a3106c65c34eb0f8.html