ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ยันเก็บ DNA ทหารเกณฑ์ภาคใต้ ไม่ละเมิดสิทธิ – มติ ครม. อนุมัติสร้าง “รันเวย์” สุวรรณภูมิเพิ่ม 21,796 ล้าน

นายกฯ ยันเก็บ DNA ทหารเกณฑ์ภาคใต้ ไม่ละเมิดสิทธิ – มติ ครม. อนุมัติสร้าง “รันเวย์” สุวรรณภูมิเพิ่ม 21,796 ล้าน

17 เมษายน 2019


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

ยันเก็บ DNA ทหารเกณฑ์ภาคใต้ – ไม่ละเมิดสิทธิ์

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีแถลงการณ์ของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมคัดค้านการเก็บดีเอ็นเอทหารเกณฑ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกร้องให้รัฐเคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ว่า การเก็บดีเอ็นเอทหารเกณฑ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นรัฐได้เคารพสิทธิต่างๆ ของทุกคน ซึ่งเป็นครั้งแรกในการตรวจดีเอ็นเอเพื่อคัดเลือกเกณฑ์ทหาร ถือว่าเป็นปีแห่งการนำร่อง โดยจะเริ่มในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อน เพราะมีปัญหาทางด้านความมั่นคงอยู่ ส่วนจะขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ หรือไม่นั้นไม่มีการบังคับ

“ได้มีการแจ้งให้กับผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารทุกคนทราบก่อนทั้งหมด ขึ้นอยู่กับความสมัครใจและยินยอมของแต่ละคน ส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือดีเข้าใจในเหตุผล ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิ์ ส่วนเหตุผลของการเก็บดีเอ็นเอไว้ก็เพื่อเป็นฐานข้อมูลทางด้านความมั่นคง เพราะว่า เขารับราชการทหารเพียงแต่ 2 ปีเท่านั้นเอง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อคำถามถึงความเห็นเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุเพียงว่า ไม่มีความคิดเห็น

ยังไม่พอใจสถิติอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ลด

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงภาพรวมอุบัติเหตุและการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ว่า ตนยังไม่พึงพอใจ เพราะตราบใดที่ยังมีการบาดเจ็บ มีการสูญเสีย มีการเสียชีวิตก็ยังไม่พอใจ เพราะทุกคนคือกำลังสำคัญของชาติ

“เป็นที่น่าเสียใจที่มีการสูญเสียชีวิต แม้จะมีอัตราลดน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมาไม่มากนักก็ตาม แต่เราก็พยายามทำทุกมาตรการแล้ว”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับท่านที่เรียกร้องให้มีการเพิ่มมาตรการทางกฎหมายต่างๆ รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบครอบว่าจะมีผลกระทบอื่นๆ อย่างไรบ้าง โดยขณะนี้รัฐบาลก็เรียกร้องให้ทุกคนสนใจกฎหมายปกติให้มากขึ้น เช่น การสวมหมวกนิรภัย การรัดเข็มขัดนิรภัย รวมถึงการขับรถโดยไม่ดื่มสุรา ซึ่งเห็นอยู่แล้วว่าสถานการณ์ส่วนใหญ่เกิดจากการดื่มสุรา ซึ่งมีกฎหมายบังคับไว้แต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลด้วย ฉะนั้นจิตสำนึกสำคัญที่สุดในการทำให้ตนเองและครอบครัวปลอดภัย ซึ่งรัฐบาลได้ทำอย่างเต็มที่แล้วในทุกเรือง

ชี้เมาสุรา – ทะเลาะวิวาทขึ้นอยู่ที่จิตสำนึก

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีในช่วงเทศกาลที่มีกลุ่มวัยรุ่นเมาสุรา ก่อเหตุทะเลาะวิวาทในโรงพยาบาลหลายจังหวัด ว่า กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาสังคมมายาวนาน เหมือนกับเรื่องของเด็กแว้นแข่งมอร์เตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมาตลอด และกฎหมายก็มีบังคับ มีการจับกุมทุกครั้งก็ยังไม่เข็ดหลาบ ซึ่งคงต้องใช้มาตรการทางกฎหมายปกติให้มากยิ่งขึ้น

“ก็ขอให้คนไทยมีสติให้มากกว่าเดิม รู้จักสำนึกผิดชอบชั่วดี รักชีวิตตนเอง รักชีวิตคนอื่นด้วย อย่าเพียงว่าขาดสติเพราะน้ำเมา เพราะน้ำเมาเป็นสิ่งที่ไม่มีใครบังคับ ทุกคนดื่มกินกันเองทั้งสิ้น ฉะนั้นเราก็รู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถไปห้ามไม่ให้ดื่มเหล้าได้ทุกคน มีการรณรงค์กันทุกปี ฉะนั้นจิตสำนึกของแต่ละคนสำคัญที่สุดในทุกๆ เรื่อง ความขัดแย้งต่างๆ อยู่ที่จิตสำนึกว่าต้องการให้บ้านเมืองเป็นอย่างไร สงบ สันติ ปลอดภัยหรือไม่”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องการรักษาความปลอดภัยทางถนนก็เช่นกัน ทุกคนต่างทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งตนขอขอบคุนเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนรวมถึงจิตอาสาด้วยที่ทำงานในช่วงสงกรานต์อย่างเต็มที่ ซึ่งทุกคนได้เสียสละกันมาทุกปี ทหารที่ประจำการตามชายแดนและที่อยู่ทางภาคใต้ก็ไม่ได้กลับบ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องดูแลความสงบก็ไม่ได้พักผ่อน สรุปแล้วเรื่องต่างๆ เกิดจากตัวบุคคลทุกคน หากไม่ช่วยกันจะโทษอะไรได้ โทษกฎหมาย โทษเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ทั้งหมด ดังนั้นต้องดำเนินการอย่างเต็มที่ในเรื่องของกฎหมายก็ต้องเข้มงวด จัดการผู้ละเมิดกฎหมายให้เด็ดขาด

“ผมเองได้ไปเตือน ไปพูดกับเจ้าหน้าที่ ผู้ขับรถ ผู้ให้บริการทั้งหมดแล้ว พูดจนไม่รู้จะพูดอย่างไรแล้ว ก็ยังเกิดขึ้นอีกเหมือนเดิม จึงอยากฝากสื่อและประชาชนทุกคนช่วยกันเตือนสติกันและกันด้วย และที่สำคัญอย่างยิ่งคือสุขภาพของคนขับรถ เจ้าหน้าที่ หรือผู้ประกอบการต้องมีความรับผิดชอบให้มากยิ่งขึ้นที่จะดูแลให้เกิดความปลอดภัย ต้องไม่ลืมว่าชีวิตเอากลับมาไม่ได้ บาดเจ็บ สูญเสีย พิการ ก็แก้ไม่ได้ เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ ทุกครั้งที่มีวันหยุด แทนที่ทุกคนจะมีความสุขต้องเสียใจ ต้องทำพิธีศพ ซึ่งเป็นเรื่องไม่น่าเกิดขึ้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

มติ ครม.มีดังนี้

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ท. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/

อนุมัติสร้าง “รันเวย์” สุวรรณภูมิเพิ่ม 21,796 ล้าน

พล.ท. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. วงเงินลงทุนรวม 21,795.941 ล้านบาท ทั้งนี้ ทอท.จะสามารถลงนามผูกพันในสัญญาก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ เมื่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ หรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ (environmental health impact assessment – EHIA) ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว ซึ่งแตกต่างจากโครงการปกติที่จะต้องทำแค่รายงานสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

“เรื่องนี้สืบเนื่องจากปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีทางวิ่ง 2 เส้น คือ ทางวิ่งฝั่งตะวันตก ความยาว 3,700 เมตร (ด้านพื้นที่คลังสินค้า) และทางวิ่งฝั่งตะวันออก ความยาว 4,000 เมตร โดยทางวิ่งทั้งสองเส้นตั้งอยู่ในแนวขนานกันมีระยะห่างประมาณ 2,200 เมตร มีขีดความสามารถรองรับเที่ยวบินได้รวม 64 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ซึ่งแม้จะยังมีศักยภาพเพียงพอรองรับปริมาณการจราจรในชั่วโมงคับคั่งในปัจจุบันที่มีประมาณ 63 เที่ยวบินต่อชั่วโมงได้ แต่ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน หรือจำเป็นต้องมีการปิดซ่อมบำรุงทางวิ่งเส้นใดเส้นหนึ่งจะทำให้ความสามารถในการรองรับเที่ยวบินขึ้น-ลง ลดลงเหลือ 34 เที่ยวบินต่อชั่วโมง (ลดลงประมาณร้อยละ 50)”

“นอกจากนี้ เที่ยวบินขนส่งสินค้าบางเที่ยวบินจำเป็นต้องไปใช้ทางวิ่งฝั่งตะวันออกสำหรับวิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นทางวิ่งที่มีความยาวมากกว่าจึงรองรับเที่ยวบินที่มีน้ำหนักบรรทุกมากได้ ในขณะที่อาคารคลังสินค้าตั้งอยู่ทางฝั่งทิศตะวันตกทำให้เครื่องบินขนส่งสินค้าต้องขับเคลื่อนเป็นระยะทางไกลเพื่อขึ้นบินทำให้สิ้นเปลืองเวลาและเชื้อเพลิง และยังเป็นการเพิ่มความหนาแน่นบนทางเชื่อมทางวิ่งทั้งสองเส้นด้วย” พล.ท. วีรชน กล่าว

โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นการก่อสร้างทางวิ่งทางฝั่งตะวันตก (ฝั่งเดียวกับอาคารคลังสินค้าและทางวิ่งฝั่งตะวันตกความยาว 3,700 เมตร) มีความกว้าง 60 เมตร และความยาว 4,000 เมตร ขนานไปกับทางวิ่งฝั่งตะวันตก โดยโครงการฯ จะรวมถึงการจัดหาระบบเครื่องช่วยเดินอากาศยาน การก่อสร้างระบบระบายน้ำ และสถานีกู้ภัยและดับเพลิง รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นที่เกี่ยวข้อง แม้โครงการนี้จะยังไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ICAO แต่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และรองรับการปิดทางวิ่งเพื่อซ่อมบำรุงหรือในกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งยังอำนวยความสะดวกให้แก่เที่ยวบินขนสินค้าด้วย

อนึ่ง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ พิจารณาแล้วเห็นควรปรับลดวงเงินค่างานก่อสร้างส่วนต่อขยาย Taxiway B2 วงเงินรวม 622.311 ล้านบาท (รวมการประหยัดค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ร้อยละ 3 สำรองราคาเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 10 และภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7) เนื่องจากเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของทางขับเพื่อรองรับการใช้งานลานจอดอากาศยานประชิดอาคารของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ทอท. ทำให้วงเงินลงทุนของโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปรับลดลงจาก 22,418.253 ล้านบาท เป็น 21,795.941 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย

เตรียมเซ็น MOU ร่วมเดินรถไฟ “ไทย – กัมพูชา”

พล.ท. วีรชน กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติการจัดทำและลงนามร่างความตกลงการเดินรถไฟร่วมกันระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ทั้งนี้ หากก่อนการลงนามมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างความตกลงดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงคมนาคมหารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศโดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้งและอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย และอนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็มให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้แทน สำหรับการลงนามดังกล่าว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

สืบเนื่องจากการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายทางรถไฟ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 ฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชาได้จัดตั้งคณะทำงานจัดทำร่างความตกลงการเดินรถร่วมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างไทยและกัมพูชา

โดยสาระสำคัญของร่างความตกลงฯ เกี่ยวข้องกับการเดินรถไฟระหว่างประเทศครอบคลุมทั้งด้านการโดยสารและการขนส่งสินค้าทางรถไฟ การกำหนดนิยามคำศัพท์และการตีความ เช่น สถานีระหว่างประเทศ สถานีชายแดน ทรัพย์สินร่วม เป็นต้น รวมถึงการระบุถึงกรรมสิทธิ์ที่ดิน พนักงานสถานีระหว่างประเทศ การจัดการเดินรถผ่านแดน การจัดหาล้อเลื่อนและการคิดค่าลากจูง ความรับผิดชอบต่อความเสียหาย และค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมล้อเลื่อน ความรับผิดชอบต่อการสูญเสีย การบาดเจ็บ สินค้าสูญหาย และอื่นๆ ตลอดจนการอำนวยความสะดวกในการเดินรถผ่านแดน และการชำระบัญชี

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเข้าร่วมพิธีฉลองความสำเร็จในการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา (บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท) พิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างอาคารด่านศุลกากรและถนนเชื่อมต่อฝั่งกัมพูชา พิธีเปิดสถานีรถไฟด่านพรมแดนบ้านคลองลึก พิธีลงนามความตกลงการเดินรถไฟร่วมกันระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และพิธีส่งมอบรถไฟดีเซลรางในวันจันทร์ที่ 22 เมษายน 2562 ณ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยพิธีลงนามความตกลงดังกล่าวจะมีนายกรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามด้วย

การลงนามในร่างความตกลงดังกล่าวจะเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมในแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor – SEC) และส่งเสริมการเคลื่อนย้ายคนและสินค้าระหว่างไทยและกัมพูชา อันจะเป็นประโยชน์ต่อการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการเดินทางไปมาหาสู่ของประชาชนทั้งสองประเทศ

เห็นชอบโรดแมปจัดการขยะพลาสติก ตั้งเป้าเลิกใช้กล่องโฟม ปี 65

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 เพื่อเป็นกรอบนโยบายการบริหารจัดการขยะพลาสติกในภาพรวมของประเทศ โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ที่ต้องนำพลาสติกกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อห้เกิดความคุ้มค่าของทรัพยากรให้ครบวงจร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ทั้งนี้ ร่างแผนดังกล่าวประกอบด้วย 2 เป้าหมาย ได้แก่

  • เป้าหมายที่ 1 การลดและเลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย ด้วยการใช้วัสดุแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายที่จะเลิกใช้พลาสติก 3 ชนิด ภายในปี 2562 ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ (OXO) และไมโครบีด (Microbead) ที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เป็นพลาสติกทีมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ทำให้สามารผ่านตัวกรองทุกชนิดและหลุดลอดผ่านการบำบัดน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้ และเป้าหมายที่จะเลิกใช้พลาสติก 4 ชนิดภายในปี 2565 ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) และหลอดพลาสติก ยกเว้นกรณีจำเป็นสำหรับเด็ก คนชรา ผู้ป่วย
  • เป้าหมายที่ 2 การนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570 โดยจะมีการศึกษาและกำหนดเป้าหมายของพลาสติกที่นำกลับมาใช้ประโยชน์และส่วนที่เป็นของเสียจะถูกนำไปกำจัดให้ถูกวิธี ได้แก่ การจัดการขยะพลาสติกด้วยการเผาเป็นพลังงาน

“แผนดังกล่าวประกอบด้วยกลไกการขับเคลื่อน ได้แก่ การสร้างความรู้ ความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความร่วมมือการดำเนินงาน รณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย เช่น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยการสร้างแรงจูงใจและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการจัดการขยะพลาสติกแบบครบวงจร นำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์โดยการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรม เร่งออกกฎหมายเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ รวมถึงมีการลดหย่อนภาษี จัดเก็บค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น และจัดทำฐานข้อมูลพลาสติกของประเทศ”

โดยผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ สามารถลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี ประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ประมาณ 3,900 ล้านบาทต่อปี ประหยัดพื้นที่ฝังกลบได้ประมาณ 2,500 ไร่ รวมถึงสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เท่ากับ 1.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่า และหากนำมาเป็นพลังงานจะก่อให้เกิดพลังงาน 1,830 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง หรือสามารถประหยัดพลังงานได้ 43.6 ล้านบีทียู หรือคิดเป็นน้ำมันดิบประมาณ 7.54 ล้านบาร์เรล คิดเป็นมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท

สั่งหน่วยงานเชื่อมฐานข้อมูลทะเบียนทรัพย์สิน หวังเพิ่มอันดับ Doing Business

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ครม.พิจารณาการมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจตามตัวชี้วัดการพัฒนาการได้รับสินเชื่อ (getting credit) ของการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก (Ease of Doing Business) โดยให้กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงการคลัง (กค.) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงฐานข้อมูลการจดทะเบียนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันเข้าด้วยกันโดยใช้ระบบที่เหมาะสม เพื่อให้ฐานข้อมูลทะเบียนทรัพย์สินมีความครบถ้วน ทันสมัย และสามารถสืบค้นได้ ณ ที่เดียว

และให้กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) (กรมบังคับคดี) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ดำเนินการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับหลักประกันทางธุรกิจทั้งระบบ เพื่อพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับหลักประกันของประเทศไทย ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้สืบเนื่องจากสิทธิในหลักประกันตามระบบกฎหมายไทยในปัจจุบันเป็นไปตามกฎหมายหลายฉบับ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ. 2514 พระราชบัญญัติการจำนองเรือและบุริมสิทธิทางทะเล พ.ศ. 2527 พระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เป็นต้น ธนาคารโลกจึงเสนอให้ประเทศไทยปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันให้อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน

ซึ่งที่ประชุม (สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมบังคับคดี สคก. สมาคมธนาคารไทย สมาคมลีสซิ่งไทย สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย และธนาคารโลกประจำประเทศไทย) เห็นควรดำเนินการ 2 ประเด็นควบคู่กันไปเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

  • ประเด็นที่ 1 เป็นการดำเนินการระยะสั้น (ภายใต้กรอบกฎหมายปัจจุบัน) ให้หน่วยงานที่มีระบบจดทะเบียนทรัพย์สิน ได้แก่ พณ. กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และ กระทรวงคมนาคม (คค.) ซึ่งก่อให้เกิดสิทธิในหลักประกันของสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท (การจำนอง ลีสซิ่ง/เช่าซื้อ การนำบัญชีลูกหนี้ไปเป็นหลักประกันการชำระหนี้ และการขายแบบหน่วงกรรมสิทธิ์) ร่วมกันเชื่อมโยงฐานข้อมูลการจดทะเบียนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันเข้าด้วยกัน โดยอาจใช้ระบบ blockchain หรือระบบอื่นใดที่เหมาะสม เพื่อให้ฐานข้อมูลทะเบียนทรัพย์สินมีความครบถ้วน ทันสมัย และสามารถสืบค้นได้ ณ ที่เดียว
  • ประเด็นที่ 2 เป็นการดำเนินการระยะกลาง (ภายใน 3 ปี) โดยให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พณ. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมบังคับคดี สคก. และภาคเอกชน ดำเนินการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับหลักประกันทางธุรกิจทั้งระบบ เพื่อพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับหลักประกันของประเทศไทยให้สอดคล้องกับบริบท ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเกี่ยวข้องให้ดำเนินการปรับปรุงเกี่ยวกับระบบหลักประกันทางธุรกิจของประเทศไทยข้างต้นจะมีผลต่อการประเมินเพื่อจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลกในรอบต่อไป (Ease of Doing Business 2021) การดำเนินการดังกล่าวจึงต้องมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 – 30 เมษายน 2563

ยกเว้นภาษีนำเข้า “ยากำพร้า”

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการยกเว้นภาษีนำเข้ายาในกลุ่มยากำพร้า ซึ่งเป็นยาที่จำเป็นต่อการให้บริการกับผู้ป่วย ใช้เพื่อวินิจฉัย บรรเทา บำบัด ป้องกัน หรือยารักษาโรคที่พบได้น้อย หรือโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรง หรือโรคที่ก่อให้เกิดความทุพพลภาพอย่างต่อเนื่อง หรือยาที่มีอัตราการใช้ต่ำ โดยยากำพร้าส่วนใหญ่ไม่มีผลิตในประเทศ เนื่องจากไม่คุ้มกับการลงทุน ทำให้ประสบกับปัญหาการขาดแคลน และไม่มียาอื่นมาใช้ทดแทน หรือยากำพร้าบางรายการมีราคาที่สูงมาก ทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงยาได้ยาก

ทั้งนี้ ในปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้ายากำพร้าที่มีทะเบียนตำรับยาประมาณ 186 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 20 ล้านบาท แต่จะเป็นการช่วยส่งเสริมให้มีการจดทะเบียนตำรับยา และมีการนำเข้ายากำพร้าที่มีความจำเป็นและไม่มีผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่ป่วยในโรคต่างๆ เข้าถึงยากลุ่มนี้ได้มากขึ้น และการดำเนินการครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและพัฒนายาในประเทศด้วย

อนึ่งปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศเรื่องบัญชีรายการยากำพร้า พ.ศ.2561 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2561 โดยกำหนดรายการยากำพร้าที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วย รวม 75 รายการ ที่ขณะนี้มีจำหน่ายในประเทศรวม 47 รายการ เช่น ยาที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง และภาวะหัวใจวาย ซึ่งเป็นยาที่มีทะเบียนตำหรับยา รวม 36 รายการ เช่น ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยารักษาภาวะหัวใจวาย หรือเต้นผิดปรกติ ส่วนยาที่ไม่มีทะเบียนตำหรับยา รวม 11 รายการ เช่น บาบรรเทาอาหารแพ้ ยาบรรเทาอาการเจ็บคอ เจ็บช่องปาก และแผลร้อนใน ขณะที่ยาไม่มีจำหน่ายในประเทศมี 28 รายการ เช่น ยาป้องกันโรคมาเลเรีย และยาที่ใช้วินิจฉัยการทำงานของต่อมหมวกไต

ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข มีข้อสังเกตประกอบการพิจารณาว่า ยากำพร้าที่ผลิตในประเทศและยากำพร้าไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการลดภาษีและเว้นภาษีศุลกากร อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมได้ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงเป็นระยะ ด้านสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีความเห็นว่า ควรมีระบบฐานข้อมูลยากำพร้าของประเทศในด้านการผลิต การนำเข้า การกระจาย และการใช้ยากำพร้าด้วย และสำนักงบประมาณ เห็นว่า ควรสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการภาษี รวมทั้งจัดทำประมาณการรายได้ เพื่อกำหนดไว้ในแผนการคลังระยะปานกลาง และใช้เป็นกรอบในการวางแผนการดำเนินการทางการเงินการคลัง และงบประมาณของประเทศต่อไป

อ่านมติ ครม.ประจำวันที่ 17 เมษายน 2562เพิ่มเติม