ThaiPublica > เกาะกระแส > บิ๊กตู่ดับฝัน “รัฐบาลแห่งชาติ” ไล่คนเสนอ อ่าน กม.ให้ดี – มติ ครม.เห็นชอบ ทร. จ้างที่ปรึกษาบริหารศูนย์ซ่อมเครื่องบินอู่ตะเภา

บิ๊กตู่ดับฝัน “รัฐบาลแห่งชาติ” ไล่คนเสนอ อ่าน กม.ให้ดี – มติ ครม.เห็นชอบ ทร. จ้างที่ปรึกษาบริหารศูนย์ซ่อมเครื่องบินอู่ตะเภา

9 เมษายน 2019


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

ดับฝัน “รัฐบาลแห่งชาติ” ไล่คนเสนอกลับไปอ่าน กม.ให้ดี

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีนักการเมืองโยนข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีต้องไม่ใช่ พล.อ. ประยุทธ์ ว่า วันนี้อยากให้ทุกคนมีความสุขกันบ้าง เพราะมีการพูดคุยกันมามากแล้วในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเมือง ฉะนั้นขอให้รอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะประกาศผลอย่างเป็นทางการ ซึ่งวันนี้ กกต.ได้ทำการแก้ปัญหาอยู่เป็นระยะๆ

“ที่มีบางคนออกมาพูดเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ จะเป็นไปได้อย่างไรผมยังไม่รู้เลย วันนี้กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งเขาว่าอย่างไร รัฐบาลจะมาจากไหน ขั้นตอนยังไม่จบเลย เพราะฉะนั้นต้องไปดูผู้นําเสนอว่ามีวัตถุประสงค์อะไร ต้องการอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน ไม่ใช่ใครนึกอยากจะกำหนดกติกาขึ้นมาใหม่ มันไม่ได้ทั้งหมดหรอก ต้องไปดูกฎหมาย ทำความเข้าใจกฎหมายให้ดี” นายกรัฐมนตรีกล่าว

สั่ง “บัวแก้ว” เคลียร์ทูต 12 ชาติ ร่วมสังเกตการณ์คดี “ธนาธร”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีการเชิญตัวแทนทูต 12 ประเทศร่วมสังเกตการณ์คดีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถือเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของไทยหรือไม่ ว่า เรื่องดังกล่าวตนก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าคนเหล่านั้นเป็นตัวแทนทูตจริงหรือไม่ ตอนนี้ได้ให้กระทรวงการต่างประเทศติดตามอยู่ พูดคุยกับเอกอัคราชทูตของประเทศต่างๆ ทั้งนี้ตนไม่ต้องการให้กลายเป็นความขัดแย้ง เพราะไทยจำเป็นต้องอยู่ในโลกใบนี้เช่นเดียวกัน

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายไทยทั้งหมด ทุกเรื่องเป็นเรื่องของกฎหมายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะคดีเก่าหรือใหม่ เรื่องของศาลทหารก็เป็นคดีที่เกิดมานานแล้วตั้งแต่ปี 2558 ระหว่างนั้นก็เป็นการออกคำสั่ง และทาง คสช.ได้มีการปลดล็อกคำสั่งดังกล่าวไปแล้ว เพราะช่วงนั้นอยู่ในช่วงที่บ้านเมืองมีความไม่สงบเรียบร้อย จึงจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษในช่วงนั้น เมื่อปลดล็อกไปแล้วได้มีการปรึกษาฝ่ายกฎหมายแล้ว พบว่าไม่สามารถจะดำเนินการย้อนหลังได้ เว้นแต่หลังจากนั้นการดำเนินการจะต้องไม่เข้ากระบวนการของศาลทหาร และศาลทหารของเรามีมาหลายสิบปีมาแล้ว ไม่ใช่มาตั้งใหม่ในสมัยรัฐบาลผม มันก็เป็นความจำเป็นเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเป็นเช่นนั้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องของต่างประเทศก็ต้องคุยกันต่อไปให้เขาเข้าใจในประเด็นเหล่านี้ด้วย ไม่อยากให้เอาอะไรมาพันกันไปมา ก็ต้องมองวัตถุประสงค์ คนที่เชิญ คนที่มา คนที่นำมา อะไรก็แล้วแต่ ตนไม่อยากให้คนไทยไปคล้อยตามมากนัก เพราะเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมของเราเอง ถ้าเราไม่เชื่อมั่นไม่ยึดถือกระบวนการยุติธรรมของเราเองก็เป็นโอกาสให้ผู้อื่นได้แทรกแซงเข้ามา ไม่ว่าจะด้วยความหวังดีหรือไม่หวังดี

“การเลือกตั้งคือการเลือกตั้ง การมีรัฐบาลก็ต้องเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็สุดแล้วแต่ ขอให้รอวันประกาศผลรองรับไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม 2652 ตามระยะเวลาที่กำหนดอยู่ หลังจากนั้นจะเป็นเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาล เปิดสภาตามกำหนดเวลาที่วางไว้ ใครจะพูดอะไรต่างๆ ก็ตามขอให้คิดดูว่าเขาพูดเพื่ออะไรหวังผลอะไรหรือไม่ แต่ผมไม่ไปทะเลาะกับเขา เพราะผมยึดมั่นในหลักการของประชาธิปไตย ยึดมั่นในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมเดินตามแนวทางนี้มาโดยตลอด ขอให้ช่วยกันลดความขัดแย้งลงให้มากหน่อย วันนี้อย่าไปขัดแย้งกับต่างประเทศอีกเลย ก็อยู่ที่คนของเราไปทำอะไรกันมา”

“เรื่องอะไรของเราก็เป็นของเรา แก้ปัญหาของเราภายในประเทศให้ได้ ไม่อย่างนั้นอีกหน่อยจะต้องให้ต่างประเทศมาแก้ไขให้ทุกเรื่องเลยหรือ เรื่องของเรา กฎหมายเรา กระบวนการยุติธรรมของเรา เราต้องภูมิใจในความเป็นชาติของเรา” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ประกาศพื้นที่ภัยแล้ง 4 จว.-วอนเกษตรกรงดทำนาปรังในพื้นที่น้ำน้อย

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามเรื่องสถานการณ์ภัยแล้ง ว่า วันนี้ ครม.รับทราบการประกาศพื้นที่ภัยแล้งใน 2 พื่นที่ คือภาคตะวันออกเฉียงเหรือและภาคตะวันออก รวม 4 จังหวัดได้แก่ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ตราด ชลบุรี ซึ่งสิ่งที่ตนเป็นกังวลในตอนนี้คือปัญหาเรื่องน้ำ โดยเฉพาะปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้ฤดูฝนสั้นลง ฝนตกน้อยลง โดยต้องรอกรมอุตุนิยมวิทยาประเมินสภาพอากาศในฤดูฝนหน้า

ทั้งนี้รัฐบาลได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวไว้แล้ว เช่น เรื่องของน้ำอุปโภค บริโภค มีปัญหาน้ำประปาไม่เพียงพอ ได้สั่งการให้ขุดบ่อบาดาลเพิ่มเติม หรือให้มีการขนย้ายให้บริการประชาชนหลายพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาทำมาเยอะแล้ว แต่ยอมรับว่ายังไม่พอ ต้องทำระบบเครื่อข่ายความเชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำให้ดีขึ้นกว่าเดิม

สำหรับเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร พบว่าพื้นที่ชลประทาน จำนวนเขื่อนกว่า 10 เขื่อนมีปริมาณน้ำน้อยลง ขณะเดียวกันภาคเกษตรยังไม่ปรับเปลี่ยนตัวเองมากนัก โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลก็มีมาตรการ กำหนดพื้นที่เพาะปลูกนาปรังจำนวนหนึ่ง แต่ยังคงมีการปลูกเกินจากขีดจำกัดที่ตั้งไว้ ซึ่งอาจเป็นผลจากราคาข้าวดีขึ้น เกษตรกรจึงเร่งปลูกโดยไม่ได้คิดว่าจะเอาน้ำมาจากไหน เรื่องดังกล่าวตึงต้องสร้างความเข้าใจกันเพิ่มเติม ส่วนรัฐบาลจำเป็นต้องหามาตรการเพิ่มเติมต่อไป

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอร้องให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลด้วย เพราะจะส่งผลต่ออีกเรื่องหนึ่ง คือ ปริมาณน้ำที่จะปล่อยน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็ม และจะส่งผลต่อภาคเกษตรกรรมได้ จึงอยากให้เกษตรกรเข้าใจ หากเกษตรกรไม่ปรับตัวปัญหาก็จะเกิดขึ้นได้

“ช่วงนี้ขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรัง พื้นที่น้ำน้อย ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลกระทบในวงกว้าง ถ้าฝนไม่ตก น้ำในเขื่อนไม่พอจะทำอย่างไร ถ้าปล่อยน้ำหมดวันข้างหน้าจะทำให้เดือดร้อน ต้องมีมาตรการปล่อยน้ำอย่างสมดุล” นายกรัฐมนตรีกล่าว

แนะ “ค้าปลีก” ปรับตัว เปิดร้านค้าออนไลน์ควบคู่

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลมีมาตรการต่างๆ มากมายทั้งในเรื่องการรับซื้อผลผลิตจากพื้นที่ที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งตนได้กำชับและขอความร่วมมือกับเอกชนไปแล้ว ไม่ใช่ว่ารัฐบาลไม่กล้าแตะต้อง แต่รัฐบาลต้องทำแบบนี้ และในวันหน้าต้องมีการเดินหน้าไปสู่การเป็นสินค้า GI คือ การกำหนดพื้นที่ว่าสินค้ามาจากพื้นที่ไหน ถูกกฎหมายหรือไม่ ทุกผลผลิตต้องหาที่มาให้ได้ทั้งหมด

นอกจากนี้อีกเรื่องที่ตนเป็นห่วงคือ ค้าปลีก เนื่องจากเห็นสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ออกมาชี้แจงผ่านโทรทัศน์ว่าหลายๆ อย่างลดลงเพราะอะไร การค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นตรงไหน แล้วพ่อค้าแม่ค้าขายปลีกต้องทำอย่างไร ที่หลายคนไม่ได้ดูเพราะอาจไปสนใจเรื่องอื่นมากกว่า ทั้งนี้สิ่งที่จะช่วยเหลือผู้ค้าปลีกได้คือมีการทำการค้าออนไลน์ควบคู่ไปด้วย ซึ่งหากไม่ปรับตัวก็จะไม่สามารถแข่งขันได้ อยากให้ประชาชนลองย้อนกลับไปดูรายการดังกล่าว

“สิ่งเหล่านี้สำคัญพอๆ กับเรื่องการเมืองที่ทุกคนให้ความสนใจในวันนี้ เพราะการเมืองก็คือการบริหารราชการแผ่นดิน ฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลนี้ทำในช่วงที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำด้วยวิธีการเดิมๆ ทั้งหมด หลายอย่างมีการปรับแก้ไปแล้ว วันหน้ารัฐบาลก็คาดหวังว่าจะมีการสานต่อให้ต่อเนื่อง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ฝุ่นละอองภาคเหนือดีขึ้น จับมือ “เมียนมา-ลาว” ร่วมแก้ปัญหา

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาปัญหาฝุ่นละออง หมอกควัน และไฟป่า ในพื้นที่ภาคเหนือ ว่า ตนได้รับรายงานทุกวันว่าสถานการณ์ดีขึ้น ปริมาณฝุ่นลดลงเรื่อยๆ และปรับตัวขึ้นลงตามสถานการณ์ของนอกประเทศด้วย ซึ่งตนได้ทำหนังสือไปถึงประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ทั้ง สปป.ลาวและเมียนมา ในการขอความร่วมมือช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ นอกจากนี้ในส่วนของทหารและมหาดไทยก็มีการติดต่อประสานงานระหว่างกันเช่นกัน

“วันนี้ได้มีการหารือร่วมกัน มีการประชุมร่วมระดับพื้นที่ทั้งไทยและเมียนมาไปแล้ว และได้มีการมอบอุปกรณ์ให้เขานำไปใช่ดับไฟป่าทางฝั่งประเทศของเขาบ้าง ซึ่งต้องแก้ปัญหากันแบบนี้ เพราะแก้ปัญหาเพียงไทยประเทศเดียวก็แก้ไม่ได้ ปัญหามาจากข้างนอกด้วย สิ่งสำคัญคืออยากจะฝากขอบคุณประชาชนทุกจังหวัดที่ช่วยกัน และรับมาตรการที่ผมสั่งการไป ดำเนินการไปอย่างดีที่สุด และขอให้ระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยให้มากที่สุด” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในหลายพื้นที่หากใครไม่เคยเข้าไปอยู่ในสถานการณ์จริงจะไม่รู้ว่ามีความยาก-ง่าย แค่ไหน เพราะพื้นที่ป่าเขาไม่มีถนนหนทาง ไม่เหมือนกับการดับไฟบนพื้นราบ ต้องอาศัยการเดินเท้าหรือเฮลิคอปเตอร์ วันนี้มีการใช้เฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และของกองทัพบกนำน้ำไปดับไฟ

ทั้งนี้ตนขอขอบคุณหลายหมู่บ้านที่ตั้งอาสาสมัครขึ้นมาช่วย ส่วนคนที่จุดไฟก็ต้องถูกดำเนินคดีอยู่แล้ว เพราะถือว่าไม่ถูกกฎหมาย แต่บางทีเจ้าหน้าที่จุดตามหลักวิชาการ คือ จุดดักหน้าเพื่อไม่ให้ลามเข้ามาในหมู่บ้าน ตรงนี้ต้องแยกแยะให้ออก เขาสอบสวนได้ไม่ต้องกังวล เท่าที่ทราบแนวโน้มดีขึ้น อย่างปฏิบัติฝนหลวงบินขึ้นทำทุกวันถ้าความชื้นเหมาะสม

“รัฐบาลทำงานแตกต่างจากรัฐบาลที่ผ่านๆ มา อย่าเปรียบเทียบว่าผมมาอย่างนี้แล้วได้แค่นี้ ปัญหาเหล่านี้สั่งสมมานานแล้วผมแค่เพียงทำให้มันดีขึ้นเท่านั้น วันหน้าก็สุดแล้วแต่ว่า ประชาชนจะว่าอย่างไร วันนี้ทั้งกระทรวงเกษตรฯ กรมชลประทาน และกระทรวงมหาดไทยได้มีการบูรณาการร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมต้องการ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

มติ ครม.มีดังนี้

พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ และ พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

มอบทุน นศ.อิสลามภาคใต้เรียนต่อ ป.ตรี 44 ทุน

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติในหลักการโครงการจัดส่งนักศึกษาชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย (ระยะที่ 10) พ.ศ. 2562-2566 ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะคัดเลือกนักศึกษาเพื่อให้ได้นักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยต่างๆ ของรัฐ รวม 9 แห่ง ได้แก่ 1. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) 2. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) 4. มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) 5. มหาวิทยาลัยมหิดล 6. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) 7. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) 8. มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และ 9. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ปีละ 44 คน โดยจัดสรรจำนวนนักศึกษาออกเป็นรายจังหวัด ได้แก่ จังหวัดปัตตานี 12 คน จังหวัดนราธิวาส 13 คน จังหวัดยะลา 8 คน จังหวัดสตูล 7 คน และจังหวัดสงขลา 4 คน

สำหรับงบประมาณ กรมการปกครองจะจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อมอบเงินเป็นทุนอุดหนุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาตามโครงการฯ ปีละ 44 ทุน จำแนกเป็น สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ 27 ทุน ทุนละ 40,000 บาท สาขาวิชาสังคมศาสตร์ 17 ทุน ทุนละ 30,000 บาท (อัตราส่วน 60 : 40) และในการรับนักศึกษาให้พิจารณารับนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดละ 2 คน เพื่อเป็นการเยียวยาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และจะต้องมีนักศึกษาที่เข้าศึกษาในวิชาชีพครูจำนวนร้อยละ 10 ของนักศึกษาที่เข้ารับการศึกษาในแต่ละปี โดยมีพื้นที่ดำเนินโครงการฯ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน (จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และอำเภอจะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อยของจังหวัดสงขลา)

สุดท้าย การสงวนอัตราเข้ารับราชการจะดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 ที่ให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สงวนอัตราเพื่อรองรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา กระทรวงละ 4 อัตรา สำหรับส่วนราชการอื่นให้สงวนอัตราไว้อย่างน้อยกระทรวงละ 1 อัตรา และให้สอบแข่งขันคัดเลือกกันเองในการเข้ารับราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

“เดิมคณะรัฐมนตรีเคยมีมติอนุมัติหลักการโครงการจัดส่งนักศึกษาชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่องทั้งหมด 9 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514-2561 โดยในการอนุมัติโครงการดังกล่าวได้มีการปรับเกณฑ์ในการคัดเลือกนักศึกษา เช่น หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกนักเรียนจำนวนเงินทุนการศึกษาที่มอบให้ในแต่ละสาขา การสงวนอัตราของแต่ละส่วนราชการเพื่อรองรับนักศึกษาเข้ารับราชการ เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงที่เปลี่ยนแปลงไป”

“ทั้งนี้ กระทรวงได้ประเมินผลของโครงการในระยะที่ผ่านมา โดยสรุปพบว่า ทั้งนักศึกษาผู้รับทุนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องส่วนใหญ่มีความคิดเห็นเชิงบวกต่อประสิทธิผลของโครงการฯ ที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ครบถ้วนและอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีความเห็นว่าจำเป็นต้องมีการดำเนินโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาอันจะส่งผลต่อการยกระดับมาตรฐานการดำเนินชีวิตและการศึกษาของประชาชนให้สูงขึ้น ตลอดจนเป็นการเพิ่มรายได้กระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น ทั้งนี้ ได้ประมาณการค่าใช้จ่ายสำหรับเงินทุนอุดหนุนการศึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562-2566 เป็นเงิน 41,700,000 บาท”

จ่ายเยียวยา “ฝายราศีไศล” 599.9 ล้าน

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติในหลักการการจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล จำนวน 67 แปลง เนื้อที่ 302-3-73.41 ไร่ ในอัตราไร่ละ 32,000 บาท โดยให้กรมชลประทานพิจารณาปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จากโครงการ/รายการที่ดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว และมีงบประมาณเหลือจ่ายและ/หรือรายการที่หมดความจำเป็น และ/หรือรายการที่คาดว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้ทันในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปดำเนินการ ภายในวงเงิน 9,693,872.80 บาท

นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติกรอบวงเงินการจ่ายค่าชดเชยเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศลที่เหลืออีก 18,469 ไร่ ในกรอบวงเงิน 599,974,400 บาทด้วยระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี หรือต้องดำเนินการชดเชยให้แล้วเสร็จภายในปี 2563

อนุมัติแผนพัฒนาคลองเปรมประชากรวงเงิน 4,448 ล้าน

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร มีกำหนดแผนการดำเนินการ 9 ปี (ปี พ.ศ. 2562-2570) ตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ โดยแบ่งเป็นแผนงานหลักระยะเร่งด่วน ปี 2562-2565 จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 4,448 ล้านบาท ได้แก่

  1. กทม.ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนจากถนนเทศบาลสงเคราะห์-สุดเขต กทม. ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) แล้ว ในวงเงิน 3,443 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินอุดหนุนรัฐบาลในสัดส่วนร้อยละ 50 เป็นเงิน 1,721.50 ล้านบาท และใช้เงินรายได้ของ กทม.สมทบร้อยละ 50 เป็นเงิน 1,721.50 ล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเขื่อนที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 62 ล้านบาท และที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 760 ล้านบาท เนื่องจาก กทม.ไม่ได้เสนอขอตั้งงบประมาณรองรับไว้ เห็นควรให้ กทม.ใช้จ่ายจากเงินรายได้ที่ต้องนำมาสมทบก่อน สำหรับค่าใช้จ่ายในปีต่อไป ให้ กทม.จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป
  2. กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากรจากคลองบ้านใหม่-คลองรังสิตประยูรศักดิ์ วงเงิน 980 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจและออกแบบการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2562 ดังนั้น หากมีค่าใช้จ่ายที่จะต้องดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณมาดำเนินการ สำหรับค่าใช้จ่ายในปีต่อๆ ไป ให้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป
  3. กรมชลประทานดำเนินการขุดลอกคลองเปรมประชากรในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์-คลองเชียงรากน้อย ระยะทาง 15.3 กิโลเมตร วงเงิน 16 ล้านบาท และขุดลอกคลองเปรมประชากรในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากคลองเชียงรากน้อย-สถานีสูบน้ำเปรมเหนือบางปะอิน ระยะทาง 8.1 กิโลเมตร วงเงิน 9 ล้านบาท ซึ่งมีความพร้อมที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยให้กรมชลประทานปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เพื่อมาดำเนินการตามแผนงานต่อไป

อนึ่ง โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ทั้งชุมชนและเมือง พัฒนาด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ โดยการออกแบบวางผังพื้นที่ริมคลองให้องค์ประกอบต่างๆ มีความสอดคล้องกัน ได้แก่ การพัฒนาที่อยู่อาศัย การพัฒนาด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การจัดระบบสาธารณูปโภคและผังเมือง การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชุมชน แผนพัฒนาจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ ล้อ-ราง-เรือ-ทางจักรยาน และแผนพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชุมชน เป็นต้น โดยมีพื้นที่ครอบคลุมคลองเปรมประชากร จากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ความยาว 50.8 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่ กทม. ความยาว 22.8 กิโลเมตร ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ความยาว 20 กิโลเมตร และในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ความยาว 8 กิโลเมตร

ไฟเขียว ทร.จ้างที่ปรึกษาศูนย์ซ่อมเครื่องบินอู่ตะเภา-สร้างเขื่อนกันคลื่น

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณเริ่มใหม่เพิ่มเติมระหว่างปีงบประมาณ 2562 จำนวน 2 รายการ ได้แก่ การจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2565 วงเงิน 91 ล้านบาท และการจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี ตั้งแต่ 2562-2567 วงเงิน 256 ล้านบาท คิดเป็นวงเงินรวมของทั้ง 2 โครงการ 347 ล้านบาท

นอกจากนี้ ครม.ยังได้เห็นชอบเปลี่ยนแปลงรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก จากเดิมที่ ครม.มีมติอนุมัติไว้เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 จาก โครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นบริวณเกาะจระเข้ ต.สัตหีบ จ.ชลบุรี วงเงิน 361.15 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2562-2563 เป็น โครงการปรับปรุงร่องน้ำและบริเวณพื้นที่จอดเรือ ท่าเรือจุกเสม็ด ระยะเที่ 1 วงเงิน 340.38 ล้านบาท (ลดลงจำนวน 20.77 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี ผูกพันข้ามปีงบปะรมาณ 2562-2563 โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 จำนวน 72.23 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จำนวร 268.15 ล้านบาท

จัดงบฯ 53 ล้านบาท รับมือ “อหิวาต์หมู”

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทยเป็นวาระแห่งชาติ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ สำหรับงบประมาณในการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคเร่งด่วน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 53,604,900 บาท โดยแบ่งการดำเนินการ 2 ส่วน ดังนี้

1. โครงสร้างการบริหารจัดการและขับเคลื่อนมาตรการ จัดให้มีคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ และอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยคณะกรรมการประกอบไปด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์ และภาคเอกชน
2. แผนการดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 ระยะ

  • ระยะก่อนเผชิญเหตุการณ์ระบาด เป็นการดำเนินการเฝ้าระวัง เตือนภัย ป้องกันโรค และเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เพื่อป้องกันและลดความเสียหายหากมีโรคระบาดเกิดขึ้น
  • ระยะเผชิญเหตุการณ์ระบาด การตอบสนองในภาวะฉุกเฉินเมื่อมีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยการจัดการควบคุมโรคที่เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน เพื่อเผชิญเหตุการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ลดความสูญเสียจากการแพร่กระจายของโรคที่จะมีต่อทรัพย์สินของเกษตรกรและลดผลกระทบจากการระบาดของโรคให้น้อยที่สุด
  • ระยะภายหลังเผชิญเหตุการณ์ระบาด เป็นการดำเนินการฟื้นฟูเพื่อปรับสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรและผู้ที่ได้รับผลกระทบให้กลับสู่ภาวะปกติ หรือพัฒนาให้ดีกว่าและปลอดภัยกว่าเดิม ลดปัญหาการเกิดโรคอุบัติซ้ำ โดยการนำปัจจัยในการลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมาใช้ในการฟื้นฟู โดยประกอบด้วย 8 มาตรการ คือ การบริหารจัดการและขับเคลื่อน การป้องกันโรคเข้าประเทศเชิงบูรณาการ การเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรคของฟาร์ม การเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังโรค การพัฒนาการตรวจวินิจฉัยและสร้างเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการ การพัฒนาการควบคุมโรค การเพิ่มศักยภาพในการสื่อสารความเสี่ยง และการจัดการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร

“ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดในโรคดังกล่าวขยายเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบันพบการระบาดทั้งสิ้นใน 17 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ยุโรป 10 ประเทศ แอฟริกา 4 ประเทศ และเอเชีย 3 ประเทศ โดยประเทศในเอเชียที่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร คือ จีน, มองโกเลีย และเวียดนาม โดยรายงานล่าสุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 พบว่ามีการทำลายสุกรในจีนไปแล้ว 950,000 ตัว ในมองโกเลีย 2,992 ตัว และในเวียดนาม 46,600 ตัว รวมทั้งสิ้น 999,592 ตัว”

“ซึ่งความเสียหายของทั้ง 3 ประเทศ คิดเป็นมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท โดยประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคดังกล่าวได้จากหลายปัจจัย เช่น การลักลอบนำผลิตภัณฑ์สุกรของนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีการระบาดเข้ามาในประเทศไทย, การลักลอบนำผลิตภัณฑ์สุกร และซากสุกรผ่านช่องทางชายแดน, ความเสี่ยงในการปนเปื้อนไวรัสจากตัวเกษตรกร หรือสัตวแพทย์ที่ไปศึกษาดูงานในประเทศที่เกิดการระบาดของโรค, ความเสี่ยงจากการปนเปื้อนเชื้อไวรัสที่ยานพาหนะ วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ส่งออกสุกร และอาหารสุกรไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และจากสถานการณ์การระบาดของทั้ง 3 ประเทศ ยังไม่สามารถควบคุมได้ ประเทศไทยจึงเสนอแผนเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือโรคดังกล่าว”

อ่านมติ ครม.ประจำวันที่ 9 เมษายน 2562เพิ่มเติม