ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ข้อมูลใหม่ดาวเทียมชี้ชัดโลกร้อนเร็วขึ้น แถบอาร์ติกอุณหภูมิสูง 2.5 องศาทุกรอบ 10 ปี – มีนาคมปีนี้ร้อนสุดทั่วโลกอีกครั้ง

ข้อมูลใหม่ดาวเทียมชี้ชัดโลกร้อนเร็วขึ้น แถบอาร์ติกอุณหภูมิสูง 2.5 องศาทุกรอบ 10 ปี – มีนาคมปีนี้ร้อนสุดทั่วโลกอีกครั้ง

23 เมษายน 2019


ที่มาภาพ:https://www. kxan.com/weather/weather-blog/second-warmest-march-global-temperature-on-record/1936844641

ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration – NASA) องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration – NOAA) ได้ ออกรายงานว่า รอบ 5 ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ร้อนที่สุด ซึ่งร้อนติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง และเมื่อสิ้นสุดปีพ.ศ. 2561 อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นถึงมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียสนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1800 หรือปีพ.ศ.2343

  • คลื่นความร้อน ไฟป่า น้ำท่วม Climate Change ของจริง(ตอนที่1) อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น จนคลื่นความร้อนกลายเป็น New Normal ของโลก
  • คลื่นความร้อน ไฟป่า น้ำท่วม Climate Change ของจริง (2) : เมื่อโลกเข้าสู่ยุค “ทอร์นาโดไฟ”
  • สัปดาห์ที่ผ่านมา ข้อมูลจากดาวเทียมที่จัดเก็บระบบ AIRS (Atmospheric Infrared Sounder) ยืนยันตรงกันว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นมีผลให้โลกร้อนขึ้น เป็นการตอกย้ำรายงานที่เผยแพร่ไปก่อนหน้านั้น และสะท้อนให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศหรือ Climate Change จะรุนแรงมากขึ้นกว่าที่เคยประสบ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งตั้งอยู่เหนือเส้นละติจูดขึ้นไป

    ที่ผ่านมาอุณหภูมิโลกที่แสดงภาวะโลกร้อนใช้ข้อมูลสองชุดที่รู้จักกันดี ได้แก่ ข้อมูล GISTEMP (Goddard’s Global Surface Temperature Analysis) ของ Goddard Institute for Space Studies ในสังกัด NASA ซึ่งเป็นการจัดเก็บจากเครื่องมือวัดอุณหภูมิที่ติดตั้งตามสถานีฐาน และการวัดพื้นผิวน้ำในมหาสมุทรจากเครื่องมืออื่นๆ อีกมากมาย ส่วนอีกชุดหนึ่งจัดเก็บโดย NOAA

    ข้อมูลระบบ AIRS เป็นชุดข้อมูลใหม่ ที่ได้จากการตรวจจับคลื่นอินฟราเรด สามารถวัดอุณหภูมิพื้นผิวได้ทั้งพื้นผิวน้ำทะเลและมหาสมุทร พื้นผิวดินและพื้นที่ที่มีหิมะปกคลุม ด้วยดาวเทียม Aqua ของ NASA ที่ขึ้นสู่วงโคจรในปี 2544 โดยได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับคลื่นอินฟราเรดไว้ด้วย อุปกรณ์นี้มีการทำงานแยกออกจากดาวเทียม สามารถตรวจวัดอุณหภูมิพื้นผิวโลกได้อย่างชัดเจนมากกว่าข้อมูลชุดของ NASA

    ผลจากการตรวจวัดอุณหภูมิในช่วงปี 2546-2560 ของอุปกรณ์อินฟราเรดตัวนี้ที่ติดตั้งไว้บนดาวเทียม Aqua พบว่า มีการแสดงรูปแบบความร้อนที่สอดคล้องกับการวัดอุณหภูมิพื้นผิวดินของ GISTEMP

    ที่มาภาพ: https://www. greencarreports.com/news/1122706_earth-day-affirmation-new-satellite-data-confirms-earth-is-warming-and-possibly-at-a-faster-pace

    ดร.โจเอล ซัสส์ไคนด์ แห่ง Goddard Space Flight Centre ในสังกัด NASA และเป็นหนึ่งในผู้เขียนบทความจากข้อมูลที่ได้นี้ลงใน Environmental Research Letters ร่วมกับ ดร.เกวิน ชมิดช์ จาก Goddard Institute for Space Studies ได้กล่าวว่า ข้อมูลทั้งสองชุดแสดงให้เห็นว่าพื้นผิวโลกร้อนขึ้นทั่วโลกในช่วงเวลาที่ตรวจวัดอุณหภูมิ และปี 2559 เป็นปีที่ร้อนที่สุด ส่วนปี 2560 ร้อนที่สุดในระดับรองลงมา ตามมาด้วยปี 2558 จากการใช้เครื่องมือในการตรวจวัด

    ดร.เกวิน ชมิดช์ กล่าวว่า ที่น่าสนใจก็คือ ผลการศึกษาพบว่า ข้อมูลอุณหภูมิพื้นผิวโลกนี้ทำให้เราประเมินภาวะโลกร้อนในพื้นที่เขตขั้วโลกเหนือต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นในขั้วโลกเหนือกำลังมีผลเร็วกว่าที่คาดไว้ เมื่อมีการนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลสองชุดทั้ง GISTEMP ของ NASA ที่เก็บอุณหภูมิจากสถานีฐาน และข้อมูลของ NOAA แสดงถึงอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องรวมทั้งมีการตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่งมีเครื่องมือและวิธีการที่ต่างกันนั้น ได้ข้อสรุปเดียวกันคือ ทุกชุดข้อมูลสะท้อนแนวโน้มโลกที่ร้อนขึ้น

    ดร.ชมิดช์กล่าวว่า สิ่งที่สรุปได้ก็คือแนวโน้มโลกร้อนกับข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดอุณหภูมิพื้นผิวโลกของดาวเทียม และการแปลงข้อมูลของสถานีฐานตรวจวัดอากาศนั้นมีความสอดคล้องกัน

    ข้อมูล AIRS ยังแสดงให้เห็นว่าโลกร้อนมากกว่าข้อมูลชุดของ NASA โดยเฉพาะในบริเวณขั้วโลกเหนือที่การวัดอุณหภูมิทำได้น้อย เพราะยากที่จะทำให้เครื่องมือทำงาน อีกทั้งสถานีติดตั้งอุปกรณ์มีน้อย พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า อุณหภูมิพื้นผิวทะเลบาเรนท์และทะเลคารา ในบริเวณขั้วโลกเหนือเพิ่มสูงขึ้น 2.5 องศาเซลเซียส หรือ 4.5 องศาฟาเรนไฮต์ทุก 10 ปี ส่งสัญญานชัดเจนว่า โลกทั้งใบอาจจะร้อนขึ้นเร็วกว่าที่ NASA ได้รายงานไว้ว่าโลกร้อนขึ้นช้าๆ

    เซเก เฮาส์ฟาเทอร์ นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแอทเบิร์กลีย์ให้ความเห็นว่า บริเวณขั้วโลกเหนือที่ร้อนขึ้นเร็วกว่าบริเวณอื่นของโลก และการประเมินอุณหภูมิที่ถูกต้องของเขตขั้วโลกเหนือ จะช่วยให้เข้าใจได้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับโลกใบนี้

    เอ็ด ฮอว์กินส์ นักวิจัยสภาพภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยเรดดิงในอังกฤษให้ความเห็นว่า งานวิจัยล่าสุดเป็นการยืนยันอีกครั้งจากแหล่งข้อมูลอิสระว่า อุณหภูมิพื้นผิวโลกในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างมาก

    ทั้งนี้วิธีการคำนวณอุณหภูมิโลกได้มีการปรับปรุงแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับชุดข้อมูลที่มีอัปเดตสถานการณ์ตลอดเวลา รวมทั้งมีจำนวนมากและมีความน่าเชื่อถือ ผลการศึกษานี้ยังชี้ชัดว่าโลกยังร้อนขึ้นและอุณหภูมิสูงขึ้นทำสถิติใหม่

    มีนาคมปีนี้ร้อนสุดติดอันดับโลกอีกเป็นครั้งที่ 2

    มีนาคม 2562 เป็นเดือนมีนาคมที่ร้อนที่สุดในโลกเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลในปี ค.ศ. 1880 จากการเปิดเผยของ National Centers for Environmental Information (NCEI) ในสังกัด NOAA เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา

    ขณะที่ NASA จัดให้เดือนมีนาคม ปีนี้เป็นมีนาคมที่ร้อนที่สุดครั้งที่ 3 รองจากปี 2559 และ ปี 2560

    การจัดอันดับของ NCEI กับ NASA ต่างกัน เป็นผลจากการเก็บข้อมูลอุณหภูมิในเขตขั้วโลกเหนือหรือแถบอาร์กติกที่มีไม่มาก เพราะมีสถานีฐานพร้อมอุปกรณ์วัดอุณหภูมิจำนวนน้อย

    ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมปีนี้ เป็นไตรมาสที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ และชัดเจนว่าเดือนมีนาคม 2562 นี้เป็นเดือนที่มีอุณหภูมิสูงสุดเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็นเดือนที่ 5 ในการจัดอันดับของ NOAA และเป็นอันดับ 6 จากการเก็บข้อมูลของ NASA ตลอด 1,671 เดือน

    ที่มาภาพ: https://www. mlive.com/weather/2019/04/while-michigan-didnt-participate-march-2019-second-warmest-worldwide.html

    อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในเดือนมีนาคมสูงขึ้น 1.9 องศาฟาเรนไฮต์ จากอุณหภูมิเฉลี่ย 54.9 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 12.7 องศาเซลเซียส ของศตวรรษที่ 20 ส่งผลให้เดือนมีนาคมปี 2562 เป็นเดือนมีนาคมที่ร้อนเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 140 ปี อีกทั้งเป็นเดือนมีนาคมที่ร้อนติดต่อกันเป็นเดือนที่ 43 และยังเป็นเดือนที่อุณหภูมิโลกสูงกว่าค่าเฉลี่ยเดือนที่ 411

    NOAA ระบุว่า อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นตั้งแต่ต้นปีครอบคลุมตั้งแต่ออสเตรเลีย อลาสกาทางตอนเหนือ ตะวันตกเฉียงเหนือของแคนาดา ทางตอนใต้ของบราซิล ทะเลจีนตะวันออก และกระจายทั่วมหาสมุทรซีกโลกใต้

    โดยเดือนมีนาคมที่มีอุณหภูมิสูงสุดเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยมากกว่าเดือนอื่นตลอดทั้งเดือนสูงสุด 5 อันดับแรกนับตั้งแต่การบันทึกข้อมูลปี ค.ศ. 1880 ได้แก่

    • เดือนมีนาคม 2559 อุณหภูมิสูงสุดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.24 องศาเซลเซียส
    • เดือนกุมภาพันธ์ 2559 อุณหภูมิสูงสุดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.22 องศาเซลเซียส
    • เดือนธันวาคม 2558 อุณหภูมิสูงสุดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.13 องศาเซลเซียส
    • เดือนเมษายน 2559 อุณหภูมิสูงสุดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.09 องศาเซลเซียส
    • เดือนมีนาคม 2562 อุณหภูมิสูงสุดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.06 องศาเซลเซียส
    • เดือนมกราคม 2559 อุณหภูมิสูงสุดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.06 องศาเซลเซียส

    นอกจากนี้ อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลเดือนมีนาคม 2562 ก็สูงสุดเป็นอันดับ 2 จากรายงานของ NOAA เช่นเดียวกับอุณหภูมิพื้นผิวดินก็สูงเป็นอันดับ 2

    ที่มาภาพ: https://www. ncdc.noaa.gov/sotc/global/201901/supplemental/page-1

    จากการตรวจวัดอุณหภูมิด้วยดาวเทียมในระดับต่ำสุด 8 กิโลเมตรในชั้นบรรยากาศเดือนมีนาคมปีนี้ มหาวิทยาลัยอลาบามาฮันต์สวิลล์ (University of Alabama Huntsville) ได้จัดให้เดือนมีนาคมปีนี้ร้อนสุดเป็นอันดับ 5 ขณะที่ RSS จัดให้เป็นอันดับ 5 ในรอบ 41 ปี

    ภัยพิบัติเดือนมีนาคมสร้างความเสียหาย 3 พันล้านดอลลาร์

    เดือนมีนาคมปีนี้ยังเป็นที่มีภัยธรรมชาติจากสภาพอากาศที่สร้างความสูญเสียถึง 3,000 ล้านดอลลาร์ จากรายงานภัยพิบัติของนายหน้าประกันภัย Aon มีทั้งน้ำท่วมและภัยอื่นสร้างความเสียหายให้กับย่านมิดเวสต์ของสหรัฐฯ ไปจนถึงไซโคลนอิดาอิที่สร้างความเสียหายรวม 4.25 พันล้านดอลลาร์ เฉพาะโมซัมบิกประเทศเดียวเสียหายมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ส่วนน้ำท่วมในอิหร่านสร้างความเสียหาย 3.6 พันล้านดอลลาร์

    นอกจากนี้ การเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหายจากพายุฤดูหนาวช่วงวันที่ 22-26 กุมภาพันธ์และสภาพอากาศเลวร้ายในสหรัฐฯ สูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมีนาคม ส่งผลให้ค่าความเสียหายของปี 2562 นี้สูงถึง 6 พันล้านดอลลาร์

    โดยภัยพิบัติจากสภาพอากาศตั้งแต่ต้นปี 2562 ได้แก่

    • น้ำท่วมในมิดเวสต์ สหรัฐฯ วันที่12-28 มีนาคม ความเสียหาย 4.25 พันล้านดอลลาร์ เสียชีวิต 5 คน
    • น้ำท่วม อิหร่าน วันที่ 17 มีนาคม – 9 เมษายน ความเสียหาย 3.6 พันล้านดอลลาร์ เสียชีวิต 77 คน
    • น้ำท่วม อาร์เจนตินา อุรุกกวัย วันที่ 1-20 มกราคม ความเสียหาย 2.3 พันล้านดอลลาร์ เสียชีวิต 5 คน
    • น้ำท่วม ออสเตรเลีย วันที่ 28 มกราคม – 7 กุมภาพันธ์ ความเสียหาย 1.4 พันล้านดอลลาร์ เสียชีวิต 3 คน
    • สภาพอากาศเลวร้าย ตอนกลางและตะวันออก สหรัฐฯ วันที่ 22-26 กุมภาพันธ์ ความเสียหาย 1.35 พันล้านดอลลาร์ เสียชีวิต 4 คน
    • น้ำท่วม ออสเตรเลีย วันที่ 28 มกราคม – 7 กุมภาพันธ์ ความเสียหาย 1.2 พันล้านดอลลาร์ เสียชีวิต 3 คน
    • ไซโคลนอิดาอิ โมซัมบิกวันที่ 3-18 มีนาคม ความเสียหายกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ เสียชีวิต 1,007 คน

    ไซโคลนอิดาอิพัดขึ้นฝั่งเมืองไบราที่มีประชากร 530,000 คนด้วยความรุนแรงระดับ 2 ในช่วงเดียวกับกระแสน้ำสูงทำให้เกิดสตอร์มเซิร์จสร้างความเสียหายให้กับเมือง และยังทำให้ฝนตกหนักเกิน 2 ฟุตในตอนกลางของประเทศ ตลอดจนมีฝนตกหนักเกิน 1 ฟุตในทางตะวันออก ความเสียหายของโมซัมบิกจากไซโคลนอิดาอิสูงถึง 8% ของ GDP เป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายสูงสุดเป็นประวัติการณ์

    ธนาคารโลกประเมินความเสียหายจากไซโคลนอิดาอิในโมซัมบิก ซิมบับเว และมาลาวี รวมกันถึงมากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์

    ส่วนฝนที่ตกหนักจนทำให้น้ำท่วมในอิหร่านได้สร้างความเสียหายสูงสุดอันดับสองในประวัติศาสตร์ของอิหร่าน รองจากน้ำท่วมปี 2535 ที่มีมูลค่า 5.4 พันล้านดอลลาร์ เมื่อคำนวณด้วยค่าเงินดอลลาร์ในปัจจุบัน แต่หากวัดจากจำนวนผู้เสียชีวิตแล้วภัยธรรมชาติครั้งนี้สร้างความเสียหายสูงสุดเป็นอันดับที่ 18 ของภัยน้ำท่วมที่เกิดในอิหร่าน โดยมีบ้านเรือนเสียหาย 85,000 หลัง พื้นที่เกษตร เมือง และหมู่บ้านที่ยังไม่พัฒนากว่า 1,900 แห่ง

    ปรากฏการณ์เอลนีโญแบบอ่อนยังเกิดขึ้น

    วันที่ 11 เมษายน 2562 NOAA ให้ความเห็นว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญแบบอ่อนยังคงเกิดขึ้นในซีกโลกเหนือในช่วงหน้าร้อนด้วยความน่าจะเป็น 65% ทั้งนี้จากการใช้เครื่องมือ SSTs วิเคราะห์โอกาสเกิดเอลนีโญ ซึ่งต้องมีค่า 0.5 องศาเซลเซียสเหนือกว่าค่าเฉลี่ย 3 เดือนขึ้นไป พบว่ามีค่าถึง 0.9 องศาเซลเซียสเกินจากค่าเฉลี่ย

    ทะเลน้ำแข็ง (sea ice extent) มีขนาดเล็กลง

    จากข้อมูลเท่าที่การบันทึกศูนย์ข้อมูลน้ำแข็งและหิมะ (National Snow and Ice Data Center – NSIDC) ขนาดทะเลน้ำแข็งขั้วโลกในแถบอาร์กติกลดลงเล็กสุดในวันที่ 1 เมษายน และทรงตัวในระดับต่ำจนถึงวันที่ 8 เมษายน ขนาดทะเลน้ำแข็งอาร์กติกหดตัวจนมีขนาดเล็กที่สุดในช่วงหน้าร้อน วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา นับเป็นทะเลน้ำแข็งที่มีขนาดเล็กสุดอันดับ 7 ในรอบ 41 ปี โดยมีขนาดต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของช่วงปี 1981-2010 ถึง 5.7% ขณะที่ขนาดทะเลนำ้แข็งในแอนตาร์กติกเล็กว่าระดับเฉลี่ย 21.6% ซึ่งเป็นขนาดเล็กสุดเป็นสถิติใหม่เดือนมีนาคม

    ที่มาภาพ: https://www. mlive.com/weather/2019/04/while-michigan-didnt-participate-march-2019-second-warmest-worldwide.html

    เดือนมีนาคม 2562 มีทั้งอากาศร้อนและหนาวผิดปกติ

    • อุณหภูมิสูงสุดในซีกโลกเหนืออยู่ที่ระดับ 46.9 องศาเซลเซียส ที่เมืองแคปเด อินเดีย วันที่ 25 มีนาคม
    • อุณหภมิต่ำสุดในซีกโลกเหนืออยู่ที่ระดับ -60.1 องศาเซลเซียส ที่ กรีนแลนด์ วันที่ 24 มีนาคม
    • อุณหภูมิสูงสุดในซีกโลกใต้อยู่ที่ระดับ 48.1 องศาเซลเซียส ที่สนามบินโรเบิร์น ออสเตรเลีย วันที่ 10 มีนาคม
    • อุณหภมิต่ำสุดในซีกโลกใต้อยู่ที่ระดับ -72.8 องศาเซลเซียส ที่วอสต็อก แอนตาร์ติก วันที่ 26 มีนาคม

    เมืองทำสถิติใหม่ด้านอุณหภูมิสูงขึ้น

    • เมืองเมรู เคนยา อุณหภูมิสูงสุด 31.8 องศาเซลเซียส วันที่ 2 มีนาคม
    • เมืองเคป บรูนี ออสเตรเลีย อุณหภูมิสูงสุด 39.7 องศาเซลเซียส วันที่ 2 มีนาคม
    • เกาะแอสเซนชัน อังกฤษ อุณหภูมิสูงสุด 33.5 องศาเซลเซียส วันที่ 11 มีนาคม
    • เมืองเอสปินเฮอิรา อังโกลา อุณหภูมิสูงสุด 41.6 องศาเซลเซียส วันที่ 22 มีนาคม เป็นสถิติความร้อนใหม่ของประเทศอังโกลา
    • เมืองซานโฮเซ กัวเตมาลา อุณหภูมิสูงสุด 40.2 องศาเซลเซียส วันที่ 27 มีนาคม
    • เมืองแมงโก โตโก อุณหภูมิสูงสุด 43.5 องศาเซลเซียส วันที่ 28 มีนาคม เป็นสถิติความร้อนใหม่ของประเทศ

    สี่ประเทศทำสถิติอุณหภูมิสูงรอบใหม่ในปี 2562

    • เกาะคริสต์มาส ออสเตรเลีย อุณหภูมิสูงสุด 31.6 องศาเซลเซียส วันที่ 19 กุมภาพันธ์
    • เกาะเรอูนียง ฝรั่งเศส อุณหภูมิสูงสุด 37.0 องศาเซลเซียส วันที่ 25 มกราคม
    • อังโกลา อุณหภูมิสูงสุด 41.6 องศาเซลเซียส วันที่ 22 มีนาคม
    • โตโก อุณหภูมิสูงสุด 43.5 องศาเซลเซียส วันที่ 28 มีนาคม

    นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่อุณหภูมิสูงสุดทำสถิติใหม่ ในกาบอง คองโก ไอวอรีโคสต์ และอาจจะรวมถึงอิเควทอเรียลกินี

    31 ประเทศอุณหภูมิรายเดือนสูงแตะระดับใหม่

    • มกราคม ได้แก่ ไมโครนีเซีย ปารากวัย อังโกลา อิเควทอเรียลกินี
    • กุมภาพันธ์ ได้แก่ ชิลี หมู่เกาะมาร์แชล กายอานา อังกฤษ เดนมาร์ก สวีเดน เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก
    • แอนดอร์รา ออสเตรีย ฮังการี เจอร์ซีย์ เกิร์นซีย์ สโลวาเกีย ซานมาริโน สโลเวเนีย อังโกลา ปาปัวนิกินี
    • มีนาคม ออสเตรเลีย หมู่เกาะมาร์แชล อินเดีย
    • เมษายน อังโกลา โตโก เฟรนช์เซ้าท์เทิร์นเทอร์ริทอรีส์ มายอต ไต้หวัน

    แต่ในเดือนนี้ไม่มีอุณหภูมิต่ำสุดใหม่

    เดือนมีนาคมร้อนสุดสุดมากกว่าปกติที่ออสเตรเลียและอลาสกา

    เดือนมีนาคมปีนี้จัดว่าเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดและร้อนมากกว่าปกติในออสเตรเลียเป็นประวัติการณ์ แม้จะมีพายุไซโคลนในทางเหนือ โดยอุณหภูมิทั่วออสเตรลียเดือนมีนาคมตลอดทั้งเดือนและทั่วประเทศสูงจากค่าเฉลี่ยถึง 2.13 องศาเซลเซียส ไปแตะระดับ 118 องศาฟาเรนไฮต์หรือราว 47.7 องศาเซลเซียสส่วนหนึ่งจากหน้าร้อนที่แห้งแล้งมากกว่าปกติในทางตะวันตกและทางตอนเหนือ

    ในเดือนมกราคม และเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้อากาศในออสเตรเลียยังสูงมากกว่าปกติ ส่งผลให้อุณหภูมิรอบ 3 เดือนแรกปีนี้เพิ่มขึ้น 0.9 องศาเซลเซียส เป็นเรื่องที่ไม่ปกติ ส่วนในปีที่แล้วเป็นปีที่ออสเตรเลียต้องประสบกับอากาศร้อนสูงสุดเป็นปีที่ 3 รวมทั้งการเกิดไฟป่าที่กินเวลานานขึ้น คลื่นความร้อนจากมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change

    ที่มาภาพ:https://www. huffpost.com/entry/alaska-australia-record-march-temperatures_n_5ca3840be4b0f2df8669dc99

    เช่นเดียวกับที่นิวซีแลนด์ อากาศเดือนมีนาคมร้อนสุงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ย 1.89 องศาเซลเซียส ร้อนในระดับเดียวกับมีนาคม 2542 แต่รองจากมีนาคม 2511 ซึ่งเป็นเดือนมีนาคมที่ร้อนที่สุดของปี

    ส่วนที่อลาสกา ดินแดนเหนือสุดของสหรัฐซึ่งโดยปกติจะมีอากาศเย็น แต่เดือนมีนาคมอุณหภูมิสูงขึ้นผิดปกติตลอดทั้งเดือนและทำสถิติใหม่ตั้งแต่ต้นปี ในหลายเมือง ส่งผลให้กังวลว่าแคนาดาจะร้อนเร็วกว่าพื้นที่อื่นของโลก และความร้อนยังต่อเนื่องเข้าสู่เดือนเมษายน

    โดยวันที่ 30 มีนาคมอุณหภูมิที่สนามบินนานาชาติแองเคอเรจแตะระดับ 50 องศาฟาเรนไฮต์หรือ 10 องศาเซลเซียส ต่อเนื่องเป็นวันที่ 18 จากปกติอุณหภูมิจะอยู่ที่ระดับ 40 องศาฟาเรนไฮต์หรือราว 4.4 องศาเซลเซียส และเมื่อวัดจากอุณหภูมิรายเดือนตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้วจนถึงเดือนมีนาคมปีนี้ เห็นได้ชัดว่าอุณหภูมิที่สนามบินนานาชาติแองเคอเรจและสนามบินนานาชาติแฟร์แบงก์สูงขึ้นทำสถิติใหม่

    ทั้งอุณหภูมิรอบ 7 เดือนเฉลี่ยที่สนามบินนานาชาติแองเคอเรสูงกว่าทุกปีนับตั้งแต่ปี 2495 ส่วนสนามบินนานาชาติแฟร์แบงก์อุณหภูมิรอบ 7 เดือนเฉลี่ยที่สูงกว่าทุกปีนับตั้งแต่ปี 2472

    ที่มาภาพ:IARC Alaska Twitter

    นอกจากนี้ในวันที่ 17 เมษายน น้ำแข็งยังละลายเร็วขึ้นกว่าช่วงปกติอีกครั้งเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งปีล่าสุดที่น้ำแข็งละลายเร็วกว่าปกติคือ เดือนมีนาคม 2559

    เรียบเรียงจาก washingtonpost, standard, mlive, greencarreports, theguardian, newstalkzv,huffpost