ThaiPublica > เกาะกระแส > ชาวญี่ปุ่นท่องเที่ยวฉลองวันหยุดยาวรับรัชศกใหม่ คาดกระตุ้นเศรษฐกิจเงินสะพัดกว่า 300 พันล้านเยน

ชาวญี่ปุ่นท่องเที่ยวฉลองวันหยุดยาวรับรัชศกใหม่ คาดกระตุ้นเศรษฐกิจเงินสะพัดกว่า 300 พันล้านเยน

28 เมษายน 2019


ที่มาภาพ: https://english. kyodonews.net/news/2019/04/a031be704094-travelers-to-reach-record-high-as-10-day-golden-week-holiday-begins.html

เมื่อวานนี้ 27 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันแรกของวันหยุดยาว ชาวญี่ปุ่นได้เริ่มเดินทางท่องเที่ยวฉลองเทศกาลโกลเดนวีก (golden week) ที่ปีนี้หยุดยาวมากกว่าปกติรวมเวลาถึง 10 วัน นับจากวันที่ 27 เมษายนถึงวันที่ 6 พฤษภาคม เนื่องจากวันหยุดส่วนหนึ่งมาจากการเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดิองค์ใหม่

โดยปกติของทุกปีวันหยุดยาวหรือโกลเดนวีกของญี่ปุ่นจะอยู่ในช่วงสิ้นเดือนเมษายนและต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งระหว่างนั้นก็มีวันทำการปกติอยู่บ้าง

ในปีนี้วันหยุดโกลเดนวีกส่วนใหญ่ตรงกับวันสุดสัปดาห์และวันหยุดประจำชาติ ได้แก่ วันโชวะ ซึ่งตรงกับวันที่ 29 เมษายนของทุกปี เพราะเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งยุคโชวะ คือ สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ วันรัฐธรรมนูญ 3 พฤษภาคม วันสีเขียว 4 พฤษภาคม วันเด็ก 5 พฤษภาคม และวันที่ 6 พฤษภาคมวันหยุดชดเชย มีเพียงวันที่ 30 เมษายน วันที่ 1 และ 2 พฤษภาคมเท่านั้นที่เป็นวันทำการปกติ

สภาไดเอทของญี่ปุ่นจึงให้ความเห็นชอบตรากฎหมายให้วันที่ 1 พฤษภาคมซึ่งเป็นวันขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิองค์ที่ 126 แห่งญี่ปุ่นของเจ้าชายนะรุฮิโตะ มกุฎราชกุมาร เป็นวันหยุดพิเศษของปีนี้ รวมทั้งวันที่ 30 เมษายนยังเป็นวันที่สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะทรงสละราชสมบัติอย่างเป็นทางการ

แลนด์มาร์กสำคัญนักท่องเที่ยวเต็ม

สถานีรถไฟชินคังเซน สนามบินฮาเนดะและคันไซ รวมทั้งทางด่วน เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับบ้านเกิดบางส่วน และบางส่วนเดินทางไปยังเมืองใหญ่กับต่างประเทศ ยอดการเดินทางด้วยรถไฟชินคังเซนแบบที่ไม่ได้จองล่วงหน้าเพิ่มขึ้น 100%

สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในโตเกียว บริเวณรอบพระราชวังอิมพีเรียลเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว เช่นเดียวกับที่โตเกียวสกายทรีทาวเวอร์ ที่ขยายเวลาเปิดเข้าชมถึง 00.30 น. หลังเที่ยงคืน จากเวลาปกติ 22.00 น. และยังลดราคาเข้าชมครึ่งหนึ่งหลังเวลา 22.00 น.

ที่มาภาพ: https://asia. nikkei.com/Spotlight/Japan-s-Reiwa-era/Businesses-cash-in-on-Japan-s-Reiwa-era-changeover

ในห้าแยกชิบูย่า ที่มีคนพลุกพล่านตลอดเวลา คาดว่าจะมีคนออกมาร่วมนับเวลาถอยหลังรับรัชศกใหม่ ขณะที่โรงแรมชิบูย่าเอ็กซ์เซลที่อยู่ใกล้กัน จัดแพกเกจอาหารพิเศษในห้องอาหารชั้น 25 ที่มองลงมายังห้าแยกได้โดยรอบ

บริษัทท่องเที่ยวคาดว่าจำนวนชาวญี่ปุ่นที่เดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยบริษัท JTB Corp คาดว่าจะมีคนเดินทางราว 24.67 ล้านคนช่วงวันที่ 27 เมษายนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม เพิ่มขึ้น 1.2% จากระยะเดียวกันของปีก่อน โดย 24.01 ล้านคนท่องเที่ยวในประเทศ ส่วนที่เหลือ 662,000 คนเดินทางไปต่างประเทศ และจะมีการใช้จ่ายรวม 1.06 ล้านล้านเยน

สถานที่ท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ เช่น ศาลเจ้าชินโต นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเยี่ยมชมจำนวนมาก เพื่อร่วมอำลารัชสมัยเฮเซและฉลองการเข้าสู่รัชสมัยเรวะ โดยบริษัท Nippon Travel Agency Co. ให้ข้อมูลว่ารายการทัวร์ 3 วันจากโอซาก้าไปศาลเจ้าอิซุโมะ ไทชะ (Izumo Taisha) ศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น ของบริษัทได้รับการจองเต็มหมด

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสอบถามรายการทัวร์ที่จะพาเยี่ยมชมพระราชวังอิมพีเรียลในวันที่ 4 พฤษภาคม ที่สำนักพระราชวังอนุญาตให้ประชาชนเข้ามาร่วมแสดงความยินดีต่อจักรพรรดิพระองค์ใหม่

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวต่างประเทศที่ชาวญี่ปุ่นให้ความสนใจ ได้แก่ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮาวาย ยุโรป และเมียนมา หลังจากที่ให้วีซ่านักท่องเที่ยวญี่ปุ่นฟรี 1 ปีนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อน

ผู้ให้บริการรถไฟชินคังเซนเส้นฮอกไกโดเปิดเผยว่า ยอดจองตั๋วในช่วงโกลเดนวีกเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 2559

คาดเงินสะพัดหนุนท่องเที่ยว 332 พันล้านเยน

สถาบันวิจัยของได-อิชิประกันชีวิตคาดว่า วันหยุดที่ยาวเป็นพิเศษในช่วงโกลเดนวีกปีนี้ จะมีเงินสะพัดในภาคการท่องเที่ยวในประเทศถึง 332.3 พันล้านเยน หรือ 28.9% จาก 1.15 ล้านล้านเยน ในปีก่อน เป็น 1.48 ล้านล้านเยน

บริษัทหลักทรัพย์ SMBC Nikko Securities คาดว่าการเปลี่ยนผ่านรัชสมัยในช่วง 10 วันหยุดยาวจะกระตุ้นการบริโภคในประเทศราว 377 พันล้านเยนหรือราว 3.4 พันล้านดอลลาร์

บริษัทจำนวนไม่น้อยคาดว่าการขึ้นครองราชย์ของเจ้าชายนะรุฮิโตะ มกุฎราชกุมาร จะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตต่ำมาหลายปี โดยเฉพาะวันที่ 30 เมษายนที่สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะทรงสละราชสมบัติอย่างเป็นทางการ และวันที่ 1 พฤษภาคมวันขึ้นครองราชย์เจ้าชายนะรุฮิโตะ ที่เปิดโอกาสให้กับภาคธุรกิจ

สิ่งที่แตกต่างของการเปลี่ยนผ่านรัชสมัยในครั้งนี้ คือ การเปลี่ยนผ่านรัชสมัยก่อนๆ เกิดจากการเสด็จสรรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดิ การเริ่มรัชสมัยถัดมาจึงเริ่มต้นด้วยความโศรกเศร้า แต่การเปลี่ยนผ่านรัชสมัยครั้งนี้เป็นการสละราชสมบัติ ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะเป็นพระองค์แรกในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นที่สละราชสมบัติ การสิ้นสุดรัชสมัยเฮเซของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะเป็นการเริ่มต้นรัชสมัยเรวะด้วยการเฉลิมฉลอง

วันแรกของรัชสมัยเรวะ จึงเป็นวันที่ธุรกิจจำนวนมากคาดหวัง โดยห้างสรรพสินค้ามัตสึยะกินซ่า ได้เตรียมวงทรัมเป็ตไว้ต้อนรับลูกค้าที่เข้าห้างในเช้าวันที่ 1 พฤษภาคม รวมทั้งสลักคำว่า “เรวะ” ไว้บนนาฬิกาและแหวน

ผู้ผลิตเหล้าสาเก ทาการะ ชูโสะ จะเริ่มกลับมาผลิตตั้งแต่วันเสาร์เพื่อให้มีสินค้ารองรับความต้องการต่อเนื่อง เพราะญี่ปุ่นมักจะใช้สาเกเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลอง

นอกจากนี้ Q Café ร้านเครื่องดื่มในโตเกียวมิดทาวน์ฮิบิยะ ที่ฮิบิยะ (Hibiya) ย่านสุดหรูในโตเกียวยังจัดรายการเซ็ตอาหารว่างมื้อบ่าย (high-tea) สุดพิเศษไว้ต้อนรับลูกค้าไปจนถึงวันที่ 6 พฤษภาคมในราคา 2,500 เยน โดยมีขนมชิ้นพิเศษคือ Monaka ขนมแป้งเวเฟอร์สอดไส้ด้วยถั่วแดงกวนรูปดอกเบญจมาศ (kiku) สัญลักษณ์แห่ง ความยืนยาวและคืนสู่วัยเยาว์

โรงแรมริทซ์-คาร์ลตัน ในโอซาก้า ผสมเครื่องดื่มคอกเทลใหม่ ชื่อ คาโอรุ-เรวะ ซึ่งเป็นชื่อ คาโอรุในกวีนิพนธ์เก่าแก่ มังโยชู ซึ่งเป็นบทกวีเดียวกับที่ใช้ในการคัดเลือกชื่อเรวะ คอกเทลแก้วนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้า

ที่มาภาพ: https://asia. nikkei.com/Spotlight/Japan-s-Reiwa-era/Businesses-cash-in-on-Japan-s-Reiwa-era-changeover

นายอะกิโยชิ ทากุโมริ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ แห่งซูมิโตโม มิตซุย ดีเอส แอสเซตแมเนจเมนต์ ให้ความเห็นว่า การบริโภคในช่วงการเฉลิมฉลองจะมีผลอย่างมากและสนับสนุนธุรกิจที่จัดกิจกรรมสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าเพื่อร่วมเฉลิมฉลองโอกาสนี้

“รัชศกใหม่จะฟื้นฟูและเพิ่มความสดชื่นให้กับผู้คน รัชศกเรวะจึงเป็นการเปลี่ยนผ่านด้านบวกสำหรับธุรกิจ แต่เมื่อมองย้อนกลับไปปี 2532 ที่ยุคเฮเซเริ่มต้น และปี 2543 ที่เริ่มเป็นยุคชาวมิลเลนเนียล ทั้งสองปีการใช้จ่ายผู้บริโภครวมทั้งการลงทุนแข็งแกร่งตลอดทั้ง 3 เดือนตั้งแต่มกราคมถึงมีนาคม” นายทากุโมริกล่าว

ธุรกิจหันใช้ชื่อเรวะเพื่อความรุ่งเรือง

ความรุ่งเรืองของเรวะยังได้กระจายไปยังภาคธุรกิจดิจิทัล โดยมีหลายบริษัทที่นำคำว่าเรวะไปใช้ในชื่อโดเมน ซึ่งจากยอดยื่นขอจดทะเบียนโดเมนใน 3 สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 เมษายนจำนวน 2,752 ชื่อมีคำว่าเรวะทั้งสิ้น

แม้แต่บริษัทเดิมที่มีคำว่าว่าเรในชื่อก็ได้รับความสนใจ เช่น บริษัทเรย์ คอร์ป ผู้ผลิตโฆษณาทางโทรทัศน์เชิงพาณิชย์ ที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นถึง 19% ในวันที่ประกาศชื่อรัชสมัยเรวะอย่างเป็นทางการ

นอกจากนี้ยังมี 30 บริษัทเปลี่ยนชื่อหรือตั้งชื่อ โดยใช้คำว่าเรวะจากเดิมที่ไม่เคยมีใครใช้เลย นับตั้งวันที่ 1 เมษายน 2562 ที่ประกาศชื่อรัชสมัย ครั้งนี้มีบริษัทก่อตั้งใหม่ 12 ราย บริษัทเดิมอีก 18 ราย เปลี่ยนชื่อรวมทั้งหมด 30 รายซึ่ง 21 รายในกลุ่มนี้ชื่อใหม่มีคำว่าเรวะอยู่ด้วย เช่น บริษัทเรวะ เคนเซ็ตสึ ธุรกิจรายใหญ่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2506 จากเดิมใช้ชื่อ มัตสึมารุ อินดัสตรีส์ นอกจากนี้บริษัทสิ่งพิมพ์ในโตเกียวที่เพิ่งก่อตั้งปีที่แล้วว่า เฮเซ โชเซกิ เปลี่ยนชื่อเป็น เรวะ โชเซกิ ส่วนที่ฟุกุโอกะ เมืองประวัติศาสตร์แห่งกวีนิพนธ์และมีบทกวีเก่าแก่จำนวนมากที่นำมาใช้ในการตั้งชื่อรัชสมัยนั้น มีการเปลี่ยนชื่อบริษัทด้วยการใช้คำว่าเรวะถึง 5 บริษัท

ที่มาภาพ: https://www. japantimes.co.jp/news/2019/04/11/business/30-firms-japan-made-reiwa-part-corporate-names-since-april-1-announcement/#.XMKcSOgzY2w

นายฮิเดโอะ คุมาโนะ จากสถาบันวิจัยของได-อิชิประกันชีวิต ให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนรัชสมัยจะมีผลระยะยาว และคาดว่าการฉลองรัชศกใหม่และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์จะได้รับจากนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างชาติ ดังนั้นผลจากการเปลี่ยนรัชสมัยจะมีผลทางบวกกับเศรษฐกิจตลอดจนฤดูใบไม้ร่วง

อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับวันหยุดยาว เพราะโรงานต้องปิดเครื่องงดผลิตอย่างน้อย 7 วัน ขณะที่บางธุรกิจได้รับผลกระทบจาก การจราจรบนถนนที่จะคับคั่งมากขึ้น 25% การจัดส่งพัสดุภัณฑ์อาจะล่าช้า และบางธุรกิจไม่มีแรงงานช่วยงาน

เรียบเรียงจาก japantimes, asia.nikkei.com, kyodo