ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > “นพปฎล เดชอุดม” เป้าหมายความยั่งยืนเครือซีพี (จบ) : ต้องกล้าบอกเรื่องที่น่าขายหน้าคืออะไร – ระบุปี 2030 เครือซีพีจะไม่ใช่ตัวถ่วงโลก

“นพปฎล เดชอุดม” เป้าหมายความยั่งยืนเครือซีพี (จบ) : ต้องกล้าบอกเรื่องที่น่าขายหน้าคืออะไร – ระบุปี 2030 เครือซีพีจะไม่ใช่ตัวถ่วงโลก

3 เมษายน 2019


นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนในองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)

ในตอนที่ 1 “นพปฎล เดชอุดม” เป้าหมายความยั่งยืนเครือซีพีกรุ๊ป ( 1) : “รับมือ – สะสาง – เลิกแก้ตัว” ลงมือแก้ปัญหาวิกฤติความเชื่อมั่น

นายนพปฎลกล่าวว่า “คุณศุภชัย (เจียรวนนท์) ประกาศในวันที่เข้ารับตำแหน่งซีอีโอของเครือเจริญโภคภัณฑ์ กับผู้บริหารระดับสูงทุกคน ทั้งในประเทศและจากต่างประเทศว่า มีวาระที่จะมาเป็นซีอีโอ 10 ปี และมีแค่ 2 เป้าหมายที่จะมาทำงานกับทุกคน คือ 1. เป้าหมายที่จะสร้างมูลค่าทางธุรกิจ มีตัวเลข มี growth rate ที่จะต้องทำให้สำเร็จ 2. เป้าหมายของความยั่งยืน โดยระบุชัดเจนว่าแต่ละปีจะประกาศให้โลกรู้ว่าเครือซีพีจะส่งมอบความยั่งยืนแบบไหน เพราะเมื่อถึงวันที่วัด global goal ขององค์การสหประชาชาติซึ่งคือ ปี 2030 เครือซีพีจะไม่ใช่ตัวถ่วงโลก ฉะนั้นเครือซีพีตั้งเป้าสิ่งที่ต้องทำคือ ปี 2020 จะเป็นคนที่ดึงค่าเฉลี่ยขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ยูเอ็นให้ประเทศสมาชิกทำภายในปี 2030 เครือซีพีจะส่งมอบเป้าหมายดังกล่าวในปี 2020 แล้วหลังจากนั้นจะทำให้ดีขึ้นมาเรื่อยๆ และจะไม่ใช่ตัวถ่วง”

“ผมเรียนเลยว่าถ้าบริษัทจะทำเรื่องความยั่งยืน ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำได้จริง ข้อแรก tone at the top ถ้าคนที่อยู่ข้างบนคิดว่ามันเป็นงานพีอาร์ คุณอย่าไปอยู่เลยฝ่ายนี้ เพราะมันไม่จริง แต่หากซีอีโอคุณบอกว่ามี 2 เป้าหมายให้ทุกคนไปทำ วัดแบบนี้ และวัดแค่นั้นไม่พอ จะประกาศให้ชาวโลกรู้ว่าที่เราน่าขายหน้าคืออะไร ก็เลยออกมาเป็นรายงานความยั่งยืนว่าอันไหนเราทำได้ดี อันไหนที่ยังห่างเป้า เรายินดีประจานตัวเองให้ฟังเลย”

กางสมุดพกตรวจการบ้านความยั่งยืน

ดังนั้นเรื่องความยั่งยืนที่สำคัญที่สุดอย่างแรกเลยคือ tone at the top ผู้นำจริงใจ ทำสำเร็จแน่นอน ข้อสอง ต้องกล้า define เป้าหมายที่วัดได้ในเวลาที่กำหนด ถ้าไม่กล้า ก็ไม่น่าเชื่อ ทำไปเรื่อยๆ และข้อที่สาม ต้องไปเปรียบเทียบกับชาวโลก best practice ของโลกว่าเราอยู่ในระดับไหน

ทั้งนี้เครือซีพีได้จัดทำรายงานความยั่งยืนครั้งแรกปี 2016 ในประเทศไทยประเทศเดียว โดยที่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีผลอะไรตามมา และล่าสุดได้จัดทำสรุปความยั่งยืนที่บรรลุเป้าหมายรวมทั้งสิ่งที่ยังไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย เพื่อให้รู้ว่าต้องทำตรงจุดไหนเพิ่มขึ้น

“ผู้นำก็มีหลายคาแรกเตอร์ ผมคิดว่าองค์กรเราก็โชคดี คือผู้นำแบบไหนในเวลาไหน ไม่ได้เหมาะทุกเวลาหรอกครับ แต่พอดีของเรามีเรื่องมีราวในช่วงที่ผ่านมา แล้วคุณศุภชัยก็บอกว่า ถ้าไม่เห็นความผิดของตัวเอง เราแก้อะไรไม่ได้หรอก นายนพปฎลกล่าว

นายนพปฎลกล่าวต่อว่า ความยั่งยืนมีผลพลอยได้ คือได้คนทำงานที่มีความคิดกว้างกว่าตัวเอง ได้คนที่คิดถึงผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และยิ่งทำตรงนี้ก็ยิ่งดึงดูดคนประเภทนี้มาร่วมงานมากขึ้น ประกอบเด็กสมัยใหม่รู้เรื่องว่ามีผลกระทบต่อเขาอย่างไร อย่างมลพิษเรื่องฝุ่นที่เราเจอกันแล้ว

“ถามว่า pay off ไหม ยิ่งกว่า pay off อีก มากกว่าที่เราคิด” นายนพปฎลกล่าว

นายนพปฎลกล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่เครือซีพีทำทั่วโลกในประเทศที่ทำธุรกิจอยู่ ซึ่งเป็นความท้าทายมาก เพราะในหลายประเทศไม่เคยได้ยินเรื่องความยั่งยืนเลย ก็เหมือนกับไทยเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ดังนั้นจึงต้องไปสร้างตั้งแต่การรับรู้ ใช้ทั้งมาตรการแข็งและอ่อน เริ่มประยุกต์ เริ่มวัดผล

ทุกอย่างไปได้เพราะคุณศุภชัยเรียกเอาสมุดพกมาดู แล้วเปิดให้ทุกคนดู คนที่ไม่รู้เรื่องก็ทำตัวรู้เรื่องทันทีว่าตกอยู่ข้างล่างเป็นตัวถ่วง ตอนนี้คุณศุภชัยซีเรียสมากๆ เรื่องพวกนี้ เพราะฉะนั้นทุกคนเลยหนีที่จะไม่อยู่เป็นตัวถ่วง แล้วเราก็ประกาศบอกทุกคน ว่าคุณคือตัวถ่วงของเครือ คุณทำให้เราสอบตก ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก ตอนนี้ทุกคนก็เลยเข้าใจแล้วว่าอันนี้เราเอาจริง และเรามีการวัดผลกันตลอด แล้วมีการให้บุคคลภายนอกมาตรวจสอบอีก เหมือนกับผู้ตรวจสอบบัญชี เขาก็ไปตรวจสอบแล้วคุณตก คุณทำให้เครือตก ดังนั้นรายงานสรุปนอกจากจะชื่นชมคนที่ทำแล้วยังกดดันคนที่ไม่มีผลงานให้ทำ ” นายนพปฎลกล่าว

นายนพปฎลกล่าวเสริมว่า โมเดลความยั่งยืนของเครือซีพีทุกประเทศทั่วโลกเหมือนกัน เรียกว่าเป็นบ้านของความยั่งยืน มี 3 ด้าน คือ Heart-Health-Home ในรายละเอียดก็แบ่งเป็น 4 ส่วนที่เกี่ยวกับเครือโดยตรง แต่ในเป้าหมายความยั่งยืนทั้ง 17 ข้อของ SDG เครือซีพีเกี่ยวข้องเกือบทุกข้อ เพราะทำหลายธุรกิจ

Heart เรื่องแรกที่สำคัญที่สุดคือเรื่อง governance ที่ผ่านใน 3-4 ปี เครือซีพีพัฒนาไปมาก และมีเป้าหมายจะเป็นผู้นำการพัฒนาเรื่องธรรมาภิบาล การดูแลบริษัท ปัจจุบันผู้บริหารทุกคนจะต้องทำแบบทดสอบเรื่อง code of conduct ซึ่งมีข้อกำหนดว่า ต้องทำแบบทดสอบให้คะแนนเต็ม 100% ถ้าไม่อย่างนั้นถือว่าสอบตก โดยให้โอกาสสอบ 3 ครั้ง แล้วโจทย์ในแบบทดสอบจะจับ random ด้วย

“the strongest signal” ทุกคนรู้ว่าโลกเปลี่ยน

การผลักดันความยั่งยืนของเครือซีพีในแต่ละด้าน ได้คำนึงถึงการรักษาความสมดุลที่บอกว่าระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือ stakeholders ดังกรณีปลาป่น ที่หยุดซื้อปลาป่นที่มาจาก by catch และซื้อเฉพาะจาก by product หรือกรณีข้าวโพดที่น่าน ที่ใช้มาตรการที่ค่อนข้างเฉียบขาดซึ่งมีผลต่อซัพพลายเออร์ที่เป็นคู่ค้ามา 20-30 ปี แต่เครือไม่ทำ ก็ไม่ได้ เพราะต้องทำสิ่งที่ถูกต้อง

กรณีปลาป่น เมื่อเครือหยุดซื้อby catch ผู้ประกอบธุรกิจปลาป่นบางรายโจมตีมาก เพราะส่งออกก็ไม่ได้ เนื่องจากไม่มีการรับรอง แต่ตอนนี้ผู้ประกอบรู้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ ก็หาวิธีปรับตัว นอกจากนี้คู่ค้าบางรายพร้อมที่จะร่วมมือใน Seafood Task Force เพื่อปรับเปลี่ยนตรงนี้

“มองในแง่ดี ถือเป็น the strongest signal ให้ทุกคนรู้เลยว่าโลกเปลี่ยน ถ้ามาด้วยกัน เราก็อยู่กันไปได้อีกนาน แต่ถ้าไม่เต็มใจ ก็มาด้วยกันไม่ได้ เครือซีพีมีคู่ค้าที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนและพร้อมเข้าร่วมโครงการความยั่งยืนประมาณ 250 ราย ซึ่งซีพีเอฟจัดการอบรมให้เตรียมรับการเปลี่ยนผ่าน ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้ม รวมทั้งเงื่อนไขการซื้อของซีพีเอฟ ซึ่งไม่ใช่สร้างแรงจูงใจแค่เงินอย่างเดียว แต่รวมถึงในแง่ของการเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำธุรกิจด้วย”

สำหรับการใช้มาตรการเฉียบขาดที่จังหวัดน่าน นายนพปฎลกล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่เครือใช้มาตรการเฉียบขาด แต่ก่อนจะทำ ได้คำนวณว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้าง ซึ่งยอมรับความจริงว่าผลออกมาหนักมากเลยในบางเรื่อง แล้วต้องเข้าไปแก้อีก เพราะสิ่งที่คิดไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้

“เรารู้ว่าระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่าน ชาวนา ชาวไร่ เดือดร้อนมาก แล้วเราจะเอาอะไรไปเสริมให้อยู่ได้ ต้องหาผลิตภัณฑ์อะไรที่สามารถสร้างรายได้ให้เร็วที่สุด ซึ่งก็มีถั่วมะแฮะ ก็ขึ้นมาเร็ว มีออกมาขายได้เลย พวกนี้เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ หรือปลูกไผ่ พวกนี้จะโตเร็ว ปลูกกาแฟ ก็เอามาทดแทนข้าวโพด ทางเรามีตลาดสามารถรับซื้อได้หมด” นายนพปฎลกล่าว

นอกจากนี้ ห้างแม็คโครที่เปิดในจังหวัดน่าน ก็เป็นศูนย์กลางในการรับซื้อผลผลิตจากชาวน่าน เช่น มะนาวในโครงการส่งเสริมของมูลนิธิปิดทองฯ รวมทั้งผักและพวกมะม่วงของกลุ่มเกษตรกรในอบต.เมืองจัง เป็นต้น

นายนพปฎลกล่าวว่า ที่สำคัญ เครือยึดในหลักการ หากไม่มีหลักการจะไม่มีทางทำได้ เพราะที่ผ่านมาใช้แนวทางประนีประนอมมาตลอด เครือซีพียอมรับกำไรที่น้อยลงได้หรือขาดทุนในบางครั้งแต่ต้องทำ เมื่อเวลาผ่านไป 2-3 ปี ความใจแข็งและยึดในหลักการพิสูจน์ว่าไปได้

“สำหรับรายได้ของชาวบ้าน ซึ่งนับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในการประเมินผลตอบแทนจากการลงทุนด้านสังคม ตอนนี้กำลังใช้โมเดลต่างๆ ประเมินอยู่ แต่สิ่งที่ตอบได้ชัดอันหนึ่งเลย คือ ที่สบขุ่น จังหวัดน่าน เห็นเลยว่าครั้งสุดท้ายที่คุณศุภชัยถามว่าใครจะทำแบบนี้บ้าง ยกมือกันหมด อันนั้นตอบได้ดีที่สุด ไม่ต้องไปวิจัยอะไรเลย เขาคุยกันแล้วอยู่ได้ แล้วชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น จำนวนชาวบ้านที่เข้าร่วมเพิ่มขึ้นมาก ปีแรกสิบกว่าราย ปีที่สองหกสิบกว่าราย” นายนพปฎลกล่าว

นายนพปฎลกล่าวว่า เครือซีพียินดีที่จะตั้งต้นว่าจะต้องลงทุนกับชาวบ้าน แต่ต้องทำให้แน่ใจว่ามีแผนที่จะให้ชาวบ้านเดินหน้า สร้างคุณค่าในชุมชน หรือให้เดินหน้าแก้ปัญหาชุมชนของเขาต่อไปเองได้ ต้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเขาไปต่อได้ อาจจะมีเครือซีพีหรือไม่มีเครือซีพีก็ได้ แต่ให้ชุมชนไปต่อให้ได้ เพราะเป็นแนวคิดของเครือ

โครงการ CONNEXT ED. แก้ไขการศึกษา

นอกเหนือจากความยั่งยืนใน 3 ด้านที่เครือซีพีได้เข้าไปมีส่วนร่วมแล้ว นายนพปฎลกล่าวว่า เครือซีพียังได้มีส่วนร่วมในด้านการศึกษาอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำมาภายใต้ความรับผิดชอบของทรู ที่เริ่มจากโครงการทรูปลูกปัญญา จนกระทั่งเข้าไปมีส่วนในโครงการประชารัฐ

“ด้านที่เรา passion ที่สุดก็คือด้านการศึกษา คุณศุภชัยทำมาตั้งแต่สมัยทรูปลูกปัญญา อันนี้ก็มาทำเรื่องประชารัฐ แล้วก็เรื่องพาร์ตเนอร์ชิปโรงเรียน โรงเรียนที่เราเข้าไปช่วย เราไม่ได้ไปบริจาค แนวคิดของความยั่งยืนของท่านประธานอาวุโสคือไม่ใช่การบริจาค แต่เป็นการทำให้เขายืนได้ด้วยตัวเอง แล้วก็ไปด้วยตัวเองให้ได้” นายนพปฎลกล่าว

การมีส่วนร่วมในการแก้ไขการศึกษาที่เครือซีพีเข้ามามีส่วนร่วม และเห็นเหมือนกันว่าประเทศไทยจะมีปัญหาในเวทีโลกหากปล่อยไว้แบบนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดก่อนที่จะมาร่วมกับรัฐบาลในโครงการประชารัฐ ทั้งนี้เมื่อคิดในเชิงธุรกิจ การแก้ไขปัญหาการศึกษายังช่วยให้ธุรกิจเติบโต เพราะหากประชากรในประเทศไม่มีความรู้ไม่มีความสามารถ ธุรกิจก็เดินหน้าต่อไปไม่ได้ แต่หากประเทศไทยไปดี ทุกคนมีเงิน มีฐานะ ธุรกิจในประเทศขยายตัวได้อีกมาก

“ธุรกิจของเครือซีพี ปัจจุบันมูลค่าของธุรกิจในประเทศไทยทั้งหมดมีประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าของเครือ ที่เหลือมาจากต่างประเทศ แต่ในต่างประเทศจะโตเร็วกว่า ธุรกิจที่ไทยก็โต แต่โตน้อยกว่าที่อื่น ไทยก็จะลงต่ำกว่า 50% ” นายนพปฎลกล่าว

นายนพปฎลกล่าวถึง การดำเนินการของ CONNEXT ED. ว่า เนื่องจากผู้เข้าร่วมโครงการไม่มีใครจบด้านการศึกษา จึงว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก คือ McKinsey บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ซึ่งได้ให้คำปรึกษาประเทศที่ปฏิรูปการศึกษาสำเร็จ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย มาศึกษาระบบการศึกษาของไทย

เมื่อที่ปรึกษาทำการศึกษาเสร็จ ได้นำแนวคิดนี้ไปเสนอ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นคือ พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ โดยบอกว่า CONNEXT ED. จะช่วยปฏิรูปเรื่องการศึกษาด้วยการทำใน 5 เรื่อง

หนึ่ง ความโปร่งใส เนื่องจากโรงเรียนจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนทุกที่ในโลก ต้องได้รับการสนับสนุนจากชุมชนในพื้นที่ที่โรงเรียนตั้งอยู่ จากการศึกษาพบว่า ชุมชนไม่กล้าสนับสนุนทางการเงินให้โรงเรียน เพราะไม่รู้ว่าโรงเรียนใช้เงินอย่างไร ประกอบกับไม่สามารถประเมินหรือวัดผลการดำเนินงานของโรงเรียนได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง ซึ่งผลการดำเนินงานของโรงเรียนคือ การที่เด็กได้รับความรู้อย่างถูกต้อง มีการพัฒนาทางการเรียนการสอน

“ความโปร่งใสคือข้อสำคัญที่สุด คือต้องบอก performance ของโรงเรียนนั้นอย่างแท้จริง วัดให้ถูกด้วยวิธีการที่เหมาะสมและถูกต้อง ชุมชนจะได้รู้ว่าการเรียนการสอนของโรงเรียนเป็นอย่างไร จะส่งลูกหลานไปเรียนไหม หรือต้องส่งลูกหลานไปเรียนอีกอำเภอหนึ่ง นอกจากนี้ต้องมีความโปร่งใสเรื่องการเงิน ทำบัญชีให้ถูกต้อง เปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้ ถ้าเปิดเผยข้อมูลแบบนี้ เชื่อว่าคนในชุมชนยินดีที่จะช่วยสนับสนุนทางการเงิน เพราะการบริจาคเงินยังหักภาษีได้ตั้ง 2 เท่า” นายนพปฎลกล่าว

สอง leadership ซึ่งได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นจุดที่สำคัญที่สุดเลยที่จะเปลี่ยนจุดแรก ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือที่นิวยอร์กซิตี สมัยก่อนยุค 90 น่ากลัวมาก นักเรียนพกปืน คะแนนนักเรียนแย่ แต่วันนี้ โรงเรียน public school ของนิวยอร์กซิตีดีหมด เนื่องจากมีการปรับที่ผู้อำนวยการโรงเรียน ไม่มีใครอายุเกิน 35 ปี

เมื่อได้ข้อมูลแล้ว โครงการ CONNEXT ED. จึงได้จัดคอร์สเชิญผู้อำนวยการโรงเรียนมาเข้าร่วม แล้วคัดเทรนเนอร์ฝีมือดีไปฝึกอบรมผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนที่มาส่วนใหญ่อายุมากแล้ว

สาม หลักสูตรหรือวิธีการสอน วิธีการจัดตารางสอน โครงการจึงคัดโรงเรียนของประเทศไทยมา 25 แห่ง แล้วให้จัดทำเป็นวิดีโอ โดยให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเหล่านี้เล่าให้ฟังถึงวิธีการจัดตารางปฏิทินของปี ชีวิตประจำวัน แต่ละวันมุ่งเน้นตรงไหน ซึ่งโรงเรียนที่มาร่วม ได้แก่ โรงเรียนนานาชาติไอเอสบี, บางกอกพัฒนา, เตรียมอุดม, สาธิต, มหิดลวิทยานุสรณ์, โรงเรียนลำปลายมาศของอาจารย์มีชัย (วีระไวทยะ) และเก็บวิดีโอไว้ในไลบรารีออนไลน์

นอกจากนี้ ยังได้นำผู้อำนวยการโรงเรียนที่เข้าร่วมนี้เดินทางไปบรรยายทั้งสี่ภูมิภาคทั่วไทย และเชิญผู้อำนวยการโรงรียนในพื้นที่เข้าฟัง โดยให้เลือกฟังได้ตามความสนใจ พร้อมมีการประชุมเพื่อที่จะได้ปรับ เปลี่ยน จากการได้ข้อมูลโดยตรง แล้วใช้เด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนการสอน

ส่วนใหญ่โรงเรียนชั้นนำจะยึดนักเรียนเป็นหลัก จากสมัยก่อนที่การเรียนการสอนครูผู้สอนเป็นฝ่ายสอนให้ข้อมูลด้านเดียว แต่ยุคนี้ที่ข้อมูลหาง่ายเพราะการพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ต ครูที่สอนบางครั้งตามเด็กไม่ทัน เพราะฉะนั้นครูจะเปลี่ยนบทบาท จากการประสิทธิ์ประสาทวิชาเป็นรู้จักเด็ก แต่ละคน นักเรียนก็จะเป็นตัวชี้วัดของครูเองด้วย และเป็นตัวประสานไปกับตัวผู้ปกครองของเด็ก เพราะต้องมีส่วนร่วมทั้งผู้ปกครอง ทั้งครู ทั้งชุมชน และตัวเด็ก

สี่ การแชร์เทคโนโลยี ใช้โครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัลคอนเทนต์มาเสริมเรื่องนี้

ห้า การใช้กลไกตลาด เพื่อประสานผู้ปกครอง ชุมชน และบุคลากรของโรงเรียน ในการกำหนดทิศทาง สร้าง engagement จากเดิมที่มี 12 บริษัท ตอนนี้มี 33 บริษัทที่เข้ามาช่วย และมีประมาณ 4,700 โรงเรียนที่เข้าร่วม

“ขณะนี้ มี 30 กว่าบริษัทที่เข้ามาช่วย และเรา CONNEXT ED. จะ survive แม้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคตก็ตาม เพราะเยาวชนและการศึกษาคืออนาคตของประเทศไทย เรากำลังหา best practice เพราะเอาคนเก่งที่สุดมาทำ” นายนพปฎลกล่าว

นอกจากนี้เครือซีพียังลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน fiber to school ในพื้นที่ชนบทห่างไกล เชื่อมโยงไป 1,294 โรงเรียน ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าไปช่วยด้วยงบประมาณจำนวนมาก เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่ยากจนและอยู่ไกล รวมทั้งยังได้เริ่มโครงการ School Partner เนื่องจากแม้เชื่อมอินเทอร์เน็ตให้โรงเรียนได้ โรงเรียนมีคอมพิวเตอร์ แต่ครูใช้งานไม่เป็น

โครงการ School Partner ได้นำผู้จัดการรุ่นกลางที่จะขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงไปดูแลโรงเรียนเหล่านี้ โดยผู้จัดการหนึ่งคนต้องดูแล รับผิดชอบ 3 โรงเรียน มีสมุดบันทึกสำหรับรายโรงเรียน และทำหน้าที่เป็นโค้ชของผู้อำนวยการทั้ง 3 โรงเรียน แต่กระนั้นก็ยังมีปัญหา

เนื่องจากผู้จัดการรุ่นกลางของเครือมีอายุเฉลี่ย 30 กว่า แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนส่วนใหญ่อายุเฉลี่ย 56 ปีขึ้นไป เครือก็ได้จัดการอบรมผู้จัดการเหล่านี้ถึงวิธีการทำงาน ขณะเดียวกันเครือก็เรียนรู้ไปพร้อมกับผู้จัดการรุ่นกลางของเครือ จากการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน

เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เครือซีพีได้จ้างคนมาทำงานด้านนี้โดยตรง โดยเป็นเด็กที่จบการศึกษาด้านไอทีจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ มาทำงานที่ทรูในตำแหน่งครูไอซีที ใน 2 ปีแรกส่งไปทำงานที่โรงเรียน ครูไอซีที 1 คน จะดูแล 5 โรงเรียนที่อยู่ใกล้กัน

“สิ่งที่เราไม่ได้คาดคิดและออกมาดีมากๆ คือ น้องเหล่านี้ที่เป็น ICT Talent ตอนนี้เรามี 200 คน ดูแล 1,000 โรงเรียน น้องๆเหล่านี้เป็นผู้นำที่ดีมากๆ เขาก็ไม่ได้ตั้งใจจะไปเป็นครู แต่เขามาทำ แล้วเราจ่ายเงินเหมือนเขามาทำงานที่ทรูเลย จ่ายเงินเต็มที่ แต่ประจำที่โรงเรียน 2 ปี ครบแล้วเลือกจะกลับมาทำงานที่สำนักงานใหญ่ก็ได้ ตอนนี้ก็ปีที่ 2 แล้ว น้องๆ พวกนี้ทัศนคติดีมาก เทคโนโลยีต้องทำทุกอย่างที่โรงเรียน ไม่ใช่ทำโปรแกรมอย่างเดียว แต่ทำหมด แก้ปัญหาทุกอย่าง พวกนี้น่าประทับใจมาก เราถึงรู้ว่าเด็กๆ รุ่นใหม่ ทัศนคติของเจเนอเรชันเปลี่ยนไป คนที่เขาแคร์เรื่องพวกนี้มีอยู่เยอะแยะ แต่เขาไม่มีโอกาส ” นายนพปฎลกล่าว

“โครงการนี้ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง โดยคุณศุภชัยบอกว่าอย่างน้อย 10 ปี ซึ่งซีอีโอบริษัทที่เข้าร่วมก็เห็นด้วยทุกท่าน ทำแล้วเห็นผล เปลี่ยนแปลงได้ ตอนนี้มีโรงเรียนในโครงการ 4,500 โรงเรียน 15% ของโรงเรียนทั้งหมดของภาครัฐที่มี 33,000 โรงเรียน นับว่าเป็นจุดหักเหที่จะแก้ในส่วนที่เหลือ เนื่องจากกระทรวงเห็นด้วยและยอมรับ เพราะเห็นผล เห็นคะแนนสอบ เห็นสมุดพกของโรงเรียน”

อย่างไรก็ตาม แม้มีความคืบหน้า แต่ถือว่ายังเร็วไม่พอ ที่เป็นปัญหาสังคมก็ยังเห็นกันอยู่ เนื่องจากโครงการเน้นที่เด็กกลุ่มประถมส่วนใหญ่ มีบ้างที่เลื่อนชั้นขึ้นมัธยมบางโรงเรียน เด็กรุ่นนี้ยังไม่ได้ผลัดรุ่นทั้งหมด อีกทั้งทำโครงการได้เพียง 4,500 โรงเรียนซึ่งไม่พอ เพราะทั้งหมดมี 30,000 กว่าโรงเรียน ปีนี้กำลังจะปีที่4

“ที่ผมประทับใจโรงเรียนอยู่บนเกาะ มีนกอินทรีเป็นร้อยๆ ตัว ไปถึงมีเด็กสองคนมารับที่ท่าเรือ แล้วเป็นหมู่บ้านยากจน ผมทึ่งมาก เด็กพูดภาษาอังกฤษได้ คือเขาใช้เครื่องมือทั้งหมดที่เราให้ไปที่เป็นมัลติมีเดีย เด็กเขาปรับตัวเร็ว แล้วพูดภาษาอังกฤษ สำเนียงได้ เหมือนฝรั่ง เด็กกล้ามากๆ กล้ากว่าผม 100 เท่า เป็นเด็กอยู่ ม.2 เด็กผู้หญิงตัวเล็กนิดเดียว ทั้งเกาะเป็นมุสลิมหมด แล้วเด็กผู้ชายอีกคนหนึ่ง เก่งมาก มันคนละสมัยจริงๆ เด็กเขาพร้อมจะซึมซับ เราส่งของดีๆ ไป เขารับได้หมดเลย” นายนพปฎลกล่าว

ประสานองค์กรระดับโลกใช้มาตรฐานสากล

นอกจากนี้ เครือซีพียังให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชน พยายามจะนำมาตรฐานของโลกมาใช้ เนื่องจากเครือมีแรงงานต่างชาติจำนวนมาก ตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงแรงงานในโรงงาน ต้องดูแลให้ทั่วถึง ต้องใช้แสตนดาร์ดที่ต่างชาติใช้กัน ซึ่งที่ผ่านมาเครือซีพีได้รับการสนับสนุนจาก UN Global Compact ที่เชื่อในความจริงใจและความมุ่งมั่น จึงให้เครือซีพีมาตั้งเป็น chapter หนึ่ง ที่เมืองไทย ทำ 4 เรื่องหลัก คือ สิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต ซึ่งก็อยู่ภายใต้ความยั่งยืน

เครือซีพียังได้ร่วมเป็นสมาชิก WBCSD (World Business Council for Sustainable Development) และ World Economic Forum ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญ ที่ทำให้เครือซีพีมีความริเริ่มบางเรื่อง และสนับสนุนในสิ่งที่เครือซีพีทำบางเรื่อง เพราะกลุ่มเหล่านี้เป็นประเทศพัฒนาแล้วผ่านการปรับเปลี่ยนมาก่อน การที่ได้ร่วมกับองค์กรเหล่านี้ทำเครือซีพีเห็นภูมิทัศน์ (landscape) ที่กว้างขึ้น อีกทั้งสามารถนำแนวทางที่ใช้แล้วประสบความสำเร็จมาใช้กับเครือได้

นายนพปฎลกล่าวต่อว่า คนในอาชีพความยั่งยืนเป็นอาชีพใหม่ แต่เป็นอาชีพที่มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับโลก เพราะในปี 2050 อุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้น 4 องศา หมายความว่าถ้าเทียบกับวันนี้ พื้นที่ที่จะขาดน้ำจะเพิ่มขึ้น 50% ของทั้งโลก เนื่องจากความร้อนสูงขึ้น แต่ละ 1 องศาทำให้ความสามารถในการผลิตเกษตรกรรมของทั้งโลกจะลดลง 10% หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 4 องศา พื้นที่เกษตรกรรมจะลดลงไป 40% ในปีนั้นจะมีคนอยู่ในโลกหมื่นล้านคน ไม่มีผลผลิตมากพอที่จะเลี้ยงคน

“ความยากอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่สมดุล จะทำยังไง ด้านหนึ่งก็สิ่งแวดล้อม ต้องทำให้ดี ให้กลับไปเหมือนสมัยตอนปู่ทวดเรา เราอยู่กันอย่างนั้นโดยมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วย แต่อีกด้านหนึ่งคนก็ไม่หยุดโต ประชากรต้องการโปรตีน แล้วจะเอามาจากที่ไหน ในขณะที่ทุกวันนี้ปศุสัตว์เขาจะให้เลิกหมด อาหารไม่มี โลกก็ร้อนขึ้น นี่คือความท้าทายจริงๆของความยั่งยืนว่าจุดสมดุลอยู่ตรงไหน แล้วจุดไหนที่จะต้องเปลี่ยน” นายนพปฎลกล่าว