ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไมคนอาเซียนถึงไม่สนใจอาเซียน?

ทำไมคนอาเซียนถึงไม่สนใจอาเซียน?

15 เมษายน 2019


อิสรา สุนทรวัฒน์ เลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน ASEAN Inter-Parliamentary Assembly (AIPA)

ที่มาภาพ : http://www.aipasecretariat.org/photos/detail/62/0

ทุกๆ 10 ปี มักจะมีคำถามยอดฮิตวนมาถามว่า “ประเทศไทยจะได้อะไรจากการเป็นประธานอาเซียน” หรือ “คนไทยจะได้อะไรจากการที่ประเทศไทยเป็นประธานของเซียน” และ “เราควรจะทำอย่างไรให้เป็นเจ้าภาพที่ดีเมื่อไทยเป็นประธานอาเซียน”

การถามว่าทุก 10 ปีประเทศเราได้อะไรจากการเป็นประธานอาเซียน นั่นหมายความว่า 9 ปีที่เหลือที่ประเทศอื่นหมุนเวียนเป็นประธานเราไม่ต้องสนใจ เราไม่ต้องรับรู้ และเราไม่ต้องใส่ใจใช่ไหมครับ อาจไม่ใช่แค่เราประเทศเดียวที่ยิงคำถามแบบนี้ในปีที่เราเป็นประธาน ผมเชื่อว่าทุกประเทศจะมีคำถามแบบนี้เช่นเดียวกัน

ถ้าจะให้เปรียบเทียบง่ายๆ คือ อาเซียนเป็นห้องมืดสนิทที่ไม่มีไฟส่องเข้ามา พอเรามีไฟฉายเมื่อส่องเข้าไปตรงไหนก็จะทำให้เราเห็นเฉพาะที่ที่เราฉายไฟ ส่วนอื่นที่เหลือก็ยังอยู่ในความมืดต่อไปจนกว่าจะส่องไฟฉายไปที่ส่วนนั้น เปรียบเหมือนช่วงใดที่ประเทศใดเป็นประธานอาเซียน ประเทศนั้นหรือคนในประเทศนั้นจะตื่นตัว และเริ่มสนใจความเป็นอาเซียนขึ้นมาบ้าง แต่เมื่อผ่านพ้นวาระการทำหน้าที่เจ้าภาพ ประเทศนั้นจะกลับมาสู่โหมดไม่สนใจเรื่องของอาเซียนอีกต่อไปจนกว่าจะหมุนเวียนกลับมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง

ในเรื่องนี้ต่อให้ถกกันเป็นสหัสวรรษก็คงจะหาคำตอบไม่ได้หรอกครับ แต่ความจริงก็คือความจริงครับ ความเป็นอาเซียนจะดีจะร้ายอย่างไร ในที่สุดพวกเราที่เป็นราษฎรของ 10 ประเทศสมาชิกย่อมหนีความจริงไม่พ้นว่าเราเป็นเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งการเป็นประชาคมที่ไม่ว่าจะเหนียวแน่นหรือไม่ก็ตาม ยังถือว่ามีอำนาจต่อรองและมีพลังมากกว่า 10 ประเทศที่พยายามเดินหน้าแบบลุยเดี่ยว

อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่าตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ความเป็นอาเซียนสอดคล้องกับชีวิตประจำวันของคนทั่วไปน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นระดับรากหญ้า คนธรรมดาทั่วไป หรือแม้แต่ผู้มีฐานะ ผมเข้าใจดีว่าเราเพิ่งเริ่มการเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ 10 ปีมานี้เอง ทุกอย่างจึงเหมือนอยู่ในขั้นเริ่มต้น และต้องใช้เวลาพอสมควรที่จะทำให้คนในอาเซียนเห็นคุณค่าในความเป็นอาเซียน

ผมจึงเน้นว่าควรมีวิธีเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนให้เข้าถึงคนทุกระดับในสังคมอาเซียนให้ได้ ที่ผมเห็นชัดเลยก็คือ ส่วนใหญ่คนที่เข้าประชุมอาเซียนจะมาจากหน่วยงานของรัฐที่อินกับเรื่องอาเซียนอย่างจริงจัง และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนอย่างลึกซึ้ง แต่ปัญหาอยู่ที่การเผยแพร่ข้อมูลซึ่งมักจะออกมาในรูปรายงานหรือการเผยแพร่ที่ดูเป็นทางการ ซึ่งไม่ค่อยสอดคล้องกับ ความต้องการหรือความเข้าใจของคนทั่วไป

ถ้าเปรียบเทียบกับธนาคาร อาเซียนคือสำนักงานใหญ่ที่อยู่ตามเมืองหลวงของทุกประเทศ แต่สิ่งที่ขาดก็คือ สาขาย่อยที่จะเข้าถึงคนท้องถิ่นที่สามารถสร้างความสนิทสนมกับคนท้องถิ่น ทำให้ข้อมูลที่มาจากสำนักงานใหญ่สามารถเผยแพร่และกระจายถึงคนในท้องถิ่นด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายขึ้น ผ่านคนที่ใกล้ชิดคลุกคลีกับเขาโดยตรงมากขึ้น การใช้กระทรวงการต่างประเทศหรือกรมประชาสัมพันธ์ของทุกประเทศเผยแพร่ข้อมูลให้ไปถึงคนท้องถิ่น ผมบอกได้เลยว่ามันไม่เพียงพอ หรือถ้าจะบอกว่าเป็นระบบที่ดีแล้วและเป็นระบบที่ดีมาโดยตลอด ผมจะโต้กลับไปว่า ถ้าดีจริง สมบูรณ์แบบจริง ทำไมคนในอาเซียนยังไม่สนใจเรื่องอาเซียน และทำไมคนในอาเซียนจึงไม่อยากสนใจเรื่องอาเซียน

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ผมเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน หรือ ASEAN Inter-Parliamentary Assembly (AIPA) ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่หมุนเวียนตามตัวอักษรของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีวาระ 3 ปีเต็มซึ่งจะหมดปลายเดือนกันยายน ศกนี้ และประเทศเวียดนามจะรับตำแหน่งต่อ

หลายคนอาจจะสงสัยว่า AIPA คืออะไร ทำไมไม่เคยได้ยินมาก่อน AIPA ก่อตั้ง 10 ปีหลังการก่อตั้งอาเซียน ถ้าอาเซียนเป็นเวทีของฝ่ายบริหารหรือผู้นำของประเทศ AIPA จะเป็นเวทีของฝ่ายนิติบัญญัติหรือผู้แทนของคนในอาเซียน เพื่อถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิด หรือพูดคุยในประเด็นต่างๆ ที่สำคัญต่อคนในอาเซียน

คำว่าผู้แทนข้างต้นหมายถึง สมาชิกในรัฐสภาของแต่ละประเทศ ระดับผู้แทนราษฎร ระดับวุฒิสมาชิก หรือใครที่ทำหน้าที่เทียบเท่าเป็นผู้แทนของราษฎรในอาเซียนจะถือว่าเป็นสมาชิก AIPA โดยอัตโนมัติ ดังนั้น AIPA เป็นตัวแทนของสมาชิกในรัฐสภาอาเซียนกว่า 3,000 คน ทั้งระดับ ส.ส. และ ส.ว. โดยมีหน้าที่หลัก คือ เชื่อมโยงกฎหมายของแต่ละประเทศให้เกิดความสอดคล้องกัน เพื่อประโยชน์ของคนในสังคม

ที่ผมหยิบยกองค์กรที่ผมเป็นเลขาธิการฯ ขึ้นมานั้น เพราะผมเชื่อว่าช่องทางหนึ่งที่จะเผยแพร่ข้อมูลของอาเซียนจากฝ่ายบริหารถึงประชาชนได้ดีเลยก็คือผ่านผู้แทนของเขาโดยตรง เพราะผู้แทนของเขาคลุกคลีกับชาวบ้านมากกว่าเจ้าหน้าที่ในกระทรวงหรือหน่วยงานของรัฐ และในบางครั้ง การเผยแพร่ข้อมูลที่มาจากหน่วยงานใหญ่หรือที่ดูห่างไกลจะต้องใช้กระบอกเสียงที่มีความเข้าใจชีวิตและใช้ภาษาที่สอดคล้องกับชีวิตคนท้องถิ่นจึงจะประสบผลสำเร็จ

นี่เป็นสิ่งที่ผู้แทนชาวบ้านทำอยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อต้องการเผยแพร่นโยบายของพรรคที่เขาสังกัด หรือเผยแพร่ข้อมูลที่มาจากซีกฝ่ายค้านหรือมาจากซีกรัฐบาล มันเป็นธรรมชาติในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับผู้แทนของเขา ผมจึงเสนอในทุกเวทีว่า อาเซียนควรให้ความสนใจและให้ความร่วมกับองค์กรอย่าง AIPA เพื่อแก้ปัญหาที่มีอยู่

ข้อเสนอของผมอาจเป็นเพียงข้อเสนอเล็กๆ ที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแต่น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาได้บ้าง ดีกว่าทิ้งไว้ให้เป็นเหมือนที่ผ่านมาตลอด 50 ปี ถ้าเราไม่คิดจะแก้ปัญหาหรือแม้แต่เผชิญหน้ากับปัญหานี้ ใน 10 ปีข้างหน้า ที่เราจะวนกลับมาเป็นประธานอาเซียนอีกครั้ง เราจะเจอคำถามเดิม คือ “ประเทศไทยจะได้อะไรจากการเป็นประธานอาเซียน” หรือ “คนไทยจะได้อะไรจากการที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน” และ “เราควรจะทำอย่างไรให้เป็นเจ้าภาพที่ดีเมื่อไทยเป็นประธานอาเซียน”

เราต้องช่วยกันครับ ในที่สุดไม่ว่าพวกเราจะเห็นคุณค่าหรือไม่เห็นคุณค่า จะสนใจหรือไม่สนใจ และจะใส่ใจหรือไม่ใส่ใจในความเป็นประชาคมอาเซียน มันก็หนีไม่พ้นว่าเราเป็นประชาคม จริงๆ ถึงแม้จะเป็นประชาคมที่หลวมก็ตาม ประชาคมจะมีอนาคตและสามารถเป็นประโยชน์กับคนอาเซียนอย่างแท้จริงได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าพวกเราในฐานะประชาชนอาเซียนจะเห็นคุณค่าและสนใจมากน้อยเพียงใด เมื่อใดที่พวกเราแสดงพลังและแสดงตน เมื่อนั้นฝ่ายบริหารต้องฟังเสียงพวกเราครับ แต่ถ้าเราอยู่เงียบๆ ไม่สนใจอะไรเลย อาเซียนก็จะเป็นอยู่แบบนี้ตลอดไป