ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท.แจงการตัดสินใจนโยบายการเงิน อิงตาม “data dependent” จับตาดูตั้งรัฐบาลได้เร็วไม่กระทบเศรษฐกิจ

ธปท.แจงการตัดสินใจนโยบายการเงิน อิงตาม “data dependent” จับตาดูตั้งรัฐบาลได้เร็วไม่กระทบเศรษฐกิจ

19 เมษายน 2019


เมื่อวัน 19 เมษายน 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดการประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 2/2562 ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในรอบที่มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจปีละ 4 ครั้งทุกไตรมาส โดยครั้งล่าสุดเป็นรอบการประชุม กนง.เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2562 ที่ กนง.มีมติพลิกกลับมาเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% เพื่อรอประเมินผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งแตกต่างจากมติในการประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ยังมีมติ 2 เสียงให้ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่ 8/2561 ช่วงสิ้นปี 2561 เพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่มีความเปราะบางอยู่ และนำมาสู่คำถามว่าอาจจะถึงจุดสิ้นสุดของนโยบายการเงินขาขึ้นแล้ว เพื่อเตรียมรองรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่กำลังเริ่มขึ้น ในครั้งนั้น กนง.ยังปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจในปี 2562 ลงจากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะเติบโต 4% เหลือเพียง 3.8% จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและความตึงเครียดของสงครามการค้าที่รุนแรงมากขึ้น หรือเป็นเพียงการหยุดชะลอดูผลการเลือกตั้งให้มีความชัดเจนเสียก่อนตามมาตรฐานความเป็นกลางของธนาคารกลางโดยทั่วไป?

  • กนง. เสียงพลิกลงมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 1.75% – แนวโน้มเศรษฐกิจชะลอ ปรับลดประมาณการณ์
  • ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงประเด็นการเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินว่า ต้องเรียนย้ำอีกครั้งว่าการประชุมหรือลงมติแต่ละครั้งเป็นการลงมติของครั้งนั้นๆ และการประชุมครั้งที่แล้วเป็นการประชุมก่อนที่จะมีการเลือกตั้งไม่กี่วัน และมีความไม่แน่นอนเรื่องปัจจัยการเมืองในประเทศค่อนข้างมาก รวมทั้งช่วงนั้นสถานการณ์ Brexit ก็คาบลูกคาบดอกมากว่าจะยืดเวลาออกไปหรือไม่ การเจรจาการค้าระหว่างประเทศก็มีความไม่แน่นอนสูงมาก ดังนั้นการตัดสินใจนโยบายครั้งนั้น กรรมการเห็นตรงกันเป็นเอกฉันท์ว่ายังรอได้ ยังสามารถที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อนได้

    “ส่วนทิศทางดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตจะเป็นอย่างไร การตัดสินใจนโยบายในครั้งต่อไปต้องใช้คำว่า data dependent เป็นเรื่องสำคัญ การประชุมทุกครั้งเราประเมินสภาวะ ณ ขณะนั้น แล้วมีการมองไปข้างหน้าดูปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ฉะนั้นอาจจะมีการรายงานข่าวหรือการให้ความเห็นกันว่าปิดประตูแล้วดอกเบี้ยไม่ปรับขึ้นแล้วอาจจะเป็นการด่วนสรุปเกินไป เพราะการตัดสินนโยบายเป็นการตัดสินนโยบายสำหรับครั้งนั้น ส่วนครั้งต่อๆ ไป กนง.จะพิจารณาข้อมูลใหม่ที่เข้ามาในช่วงต่อๆ ไป รวมไปถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ด้วย” ดร.วิรไทกล่าว

    ดร.วิรไทกล่าวต่อไปว่า สำหรับเป้าหมายด้านเสถียรภาพของระบบการเงินไทยยังถือว่ามีความเสี่ยงอยู่จากดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นเวลานานและสร้างพฤติกรรมที่แสวงหาผลตอบแทนโดยประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ตัวอย่างเช่น คนนำเงินไปฝากสหกรณ์ออมทรัพย์โดยไม่ได้สนใจว่าสหกรณ์ฯ นำเงินไปลงทุนอะไรถึงได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดค่อนข้างมาก หรือการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารที่มาตรฐานลดลงมีลักษณะของเงินทอน หรือการคาดการณ์เก็งกำไรว่าราคาบ้านจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในความเป็นจริงเมื่อมีอุปทานขึ้นมันก็เป็นแรงกดดันไม่ให้ราคาบ้านปรับตัวขึ้นอย่างที่คาดการณ์ไว้ หรือเรื่องของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่บางธนาคารปล่อยกู้ด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำมาก อาจจะต่ำกว่าต้นทุนทางการเงินด้วย เนื่องจากมองว่าเป็นลักษณะของการปล่อยกู้ชั่วคราว หรือ bridge financing ระหว่างรอที่จะระดมทุนในตลาดทุน หรือหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น

    ประเด็นเหล่านี้จะเป็นจุดเปราะบางในระบบการเงินและ ธปท.จะต้องดูแลตามความเหมาะสม ต้องมีการผสานนโยบายต่างๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดอัตราส่วนหนี้ต่อมูลค่าสินทรัพย์ หรือ LTV ของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ทำไป, การกำกับแบบ micro-prudential ที่ดูมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์โดยตรงว่าเหมาะสมหรือไม่, การกำหนดมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ หรือดู debt service ratio มากขึ้น หรือการใช้ดอกเบี้ยนโยบายในฐานะภาพใหญ่ของระบบการเงิน ส่วนสหกรณ์ออมทรัพย์ที่อยู่นอกเหนืออำนาจของ ธปท. ธปท.ก็ทำงานอย่างใกล้ชิดกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง ในการปรับปรุงมาตรฐานการกำกับดูแล ซึ่งล่าสุดเพิ่งออกเป็นกฎหมายใหม่ที่เพิ่มอำนาจในการกำกับดูแลจากเดิมที่จะเน้นการส่งเสริมสหกรณ์

    ขณะที่เป้าหมายเงินเฟ้อได้รับผลกระทบจากพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างมาก ทำให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีจะปรับลดลงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ ราคาอาจจะไม่ได้ถูกแต่คุณภาพดีขึ้นมาก รวมไปถึงสินค้าเกษตรที่เทคโนโลยีทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีผลผลิตหรือตอบแทนสูงขึ้นมาก ทำให้ราคาสินค้าเกษตรไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือเทคโนโลยีการขุดเจาะน้ำมันจากหิน หรือ shale oil ที่มากขึ้นจนทำให้ราคาน้ำมันไม่ได้ปรับขึ้นสูงที่ระดับเดิมอีก หรือ e-commerce ที่เข้ามาทำให้ธุรกิจมีอำนาจหรือพฤติกรรมในการตั้งราคาลดลง ดังนั้นปัจจัยทางด้านอุปทานเหล่านี้ทำให้เงินเฟ้อไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นเร็วอย่างในอดีต และจะอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อเดิม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ไม่เฉพาะประเทศไทย

    “พอมีการเปลี่ยนแปลงด้านอุปทานแบบนี้ ทำให้ความกังวลของระดับเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นลดลง และเป็นสิ่งที่ธนาคารกลางทั่วโลกเผชิญอยู่ รวมถึงไทยด้วย ฉะนั้นเวลาที่เงินเฟ้อต่ำใกล้กับขอบล่างเราก็ไม่กังวลมากนักว่าจะหลุดออกจากขอบล่าง ที่ผ่านมาก็หลุดขอบล่าง แต่ต้องดูว่าหลุดจากปัจจัยอะไร ถ้าเป็นด้านอุปทาน ธปท.จะไม่กังวลเท่าไหร่ตราบใดที่มีกิจกรรมเศรษฐกิจ เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี คนไม่ได้หยุดจับจ่ายใช้สอย คนไม่ได้กังวลว่าราคาสินค้าจะลดลงต่อเนื่องเป็นภาวะเงินฝืด ซึ่งไม่ใช่ เรายังเห็นว่ามีการจับจ่ายใช้สอยได้ดี การจ้างงานดี เศรษฐกิจขยายตัว แต่เงินเฟ้อใกล้กับขอบล่างเพราะเป็นปัจจัยทางด้านอุปทาน ทำให้เราให้ความสนใจกับเป้าหมายอื่นๆมากขึ้น เป้าหมายด้านเสถียรภาพระบบการเงิน เรื่องของการเติบโตของเศรษฐกิจว่าใกล้เคียงกับศักยภาพหรือไม่ ไม่ได้ยึดติดกับเป้าเงินเฟ้อที่เป็นตัวเลขใดตัวเลขหนึ่ง และช่วงหลังจะเห็นว่าธนาคารกลางที่อื่นจะเริ่มตั้งกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เป็นช่วงมากขึ้น ระยะเวลาที่จะเปลี่ยนแปลงสู่กรอบเป้าหมายก็จะนานขึ้น เพราะทุกคนตระหนักว่าเงินเฟ้ออาจจะไม่ได้เป็นแรงกดดันที่ต้องให้น้ำหนักมากเหมือนเดิม” ดร.วิรไทกล่าว

    สุดท้าย ด้านเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งเผชิญกับความไม่แน่นอนจากต่างประเทศค่อนข้างมาก ดร.วิรไทกล่าวว่า ในการพิจารณาปรับลดประมาณการณ์รอบที่แล้วลง ส่วนใหญ่เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ เราคำนึงถึงความไม่แน่นอนในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่บ้าง แต่สถานการณ์พื้นฐานของ ธปท.คือไทยจะจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วคือภายในเดือนมิถุนายน ซึ่งในกรณีนี้คาดว่าจะไม่กระทบกับเศรษฐกิจไทยมากนัก และการเติบโตได้ระดับ 3.8% ถือว่าไม่แตกต่างจากศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ประมาณ 4% ดังนั้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของการจัดตั้งรัฐบาล ถ้าไม่ได้เร็วตามที่เราคาดการณ์ก็อาจจะกระทบกับการใช้จ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะโครงการใหม่ๆ นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เคยหาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้งที่อาจจะกระทบกับภาคเอกชนบ้าง เช่น ค่าแรงขั้นต่ำที่ถูกเลื่อนออกมาและมีการหาเสียงค่อนข้างมาก

    “เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังคิดว่าจะมีปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้ดีกว่าครึ่งปีแรก อันหนึ่งคือเรื่องบรรยากาศการค้าระหว่างประเทศที่ในช่วงครึ่งแรกมีแรงกดดันเกี่ยวกับการค้าไปทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศไทย ก่อนหน้านี้ก็มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่สั่งสินค้าไปก่อนตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ดังนั้นยอดการสั่งสินค้าการผลิตต่างๆ ช่วงต้นปีเริ่มทยอยลดลง สินค้าคงคลังลดลงมันก็จะเริ่มส่งผลดีในช่วงครึ่งปีหลังของไทยที่ส่งออกสินค้าไปค่อนข้างมาก เรายังเห็นการย้ายฐานการผลิตของบางอุตสาหกรรมในประเทศไทย รวมไปถึงมีแนวโน้มของการขยายการลงทุนที่จะเริ่มประมูลได้ในช่วงครึ่งหลัง อีกด้านหนึ่งก็ต้องติดตามความชัดเจนของการเมืองภายในประเทศ ครึ่งหลังของปีก็คาดว่าจะมีรัฐบาลใหม่ที่เข้ามา นโยบายต่างๆ จะชัดเจนมากขึ้น ลดความกังวลต่างๆ ลงได้ เหล่านี้เป็นสมมติฐานสำคัญที่ใช้ในการประมาณการณ์เศรษฐกิจในครั้งที่ผ่านมา” ดร.วิรไทกล่าว