ThaiPublica > เกาะกระแส > อาเซียนเชื่อมโยงระบบการชำระเงินบนมาตรฐานกลาง หนุนใช้เงินสกุลท้องถิ่น แบงก์เปิดตัวโชว์เคสโอนเงินข้ามประเทศ

อาเซียนเชื่อมโยงระบบการชำระเงินบนมาตรฐานกลาง หนุนใช้เงินสกุลท้องถิ่น แบงก์เปิดตัวโชว์เคสโอนเงินข้ามประเทศ

5 เมษายน 2019


ในการประชุมผู้ว่าการ ธนาคารกลางอาเซียนวันที่ 4 เมษายน 2562 ที่จังหวัดเชียงราย ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับธนาคารกลางและสถาบันการเงินในภูมิภาคอาเซียน จัดงานแถลงข่าวและจัดแสดงนวัตกรรมทางการชำระเงินที่มีการเชื่อมโยงในอาเซียน (ASEAN Payment Connectivity)

การประชุมครั้งนี้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางของอาเซียน พร้อมทั้งการแสดงนวัตกรรมทางด้านการชำระเงินที่จะช่วยเชื่อมโยงความร่วมมือในภูมิภาคในมิติต่างๆ

โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงินระหว่างสองธนาคารกลาง คือ ธนาคารกลางอินโดนีเซีย และธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ลงนามกับ Mr. Perry Warjiyo ผู้ว่าการ ธนาคารกลางอินโดนีเซียใน MOU ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ตลอดจนการกำกับดูแลระบบการชำระเงิน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางการเงินและความเชื่อมโยงทางการเงินของทั้งสองประเทศ อันจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจการเงินอย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับ MOU ฉบับที่สอง ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ลงนามร่วมกับนายสอนไชย สิดพะไชย ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายขอบเขตความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินและบริการชำระเงิน สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินและการชำระเงินแบบเรียลไทม์ เพื่อส่งเสริมการชำระเงินภายในประเทศและเชื่อมโยงบริการทางการเงินระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย รวมทั้งสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น ทั้งนี้ ธนาคารกลางทั้งสองอยู่ระหว่างหารือร่วมกันในการพัฒนามาตรฐาน QR code เพื่อรองรับบริการการชำระเงินในลาวและการเชื่อมโยง การชำระเงินระหว่างลาวและไทย

ดร.วิรไทกล่าวว่า “ธนาคารกลางในภูมิภาคได้ทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน ซึ่งธนาคารกลางสามารถมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ขับเคลื่อนให้เกิดการเชื่อมโยงบริการชำระเงิน โดยหนึ่งในเรื่องสำคัญ คือ การผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินและมาตรฐานกลางที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ (interoperability) สิ่งเหล่านี้จะช่วยเชื่อมโยงบริการชำระเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินในอนาคต”

ดร.วิรไทกล่าวว่า ความเชื่อมโยงของระบบการเงินที่มีผลให้ระบบธนาคารของแต่ละประเทศง่ายขึ้นต้องเริ่มจากการมีมาตรฐานที่เชื่อมโยงกันได้ ไม่มีการแยกออกเป็นวงย่อย ดังจะเห็นได้จากในจีนที่มีการแยกออกกันอย่างชัดเจน ทั้งอาลีเพย์ วีแชท ซึ่งไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้ นอกจากจะไม่สะดวกสำหรับร้านค้าแล้วข้อมูลก็ยังแยกเป็นส่วน เป็นระบบการชำระเงินที่แยกเป็นส่วน ซึ่งแบงก์ชาติไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

วันนี้เป็นที่น่ายินดีว่า กัมพูชา ลาว กำลังจะใช้ QR Code ที่มีมาตรฐาน EMV ที่หลายประเทศกำลังมีทิศทางไปในทางนั้น ซึ่งเปรียบเสมือนการสร้างบ้านที่อยู่บนรากฐานเดียวกันที่สำคัญ เชื่อมโยงกันได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารกลางกำลังทำร่วมกันให้การพัฒนาสิ่งใหม่ ฟินเทคสร้างบนรากฐานเดียวกัน

การพัฒนา QR Code ของไทยให้เป็นมาตรฐาน EMV (Europay, MasterCard, Visa) ได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการชำระเงินระดับโลก 5 รายคือ Europay, MasterCard, Visa, JC Penny, UnionPay

ดร.วิรไทกล่าวว่า คาดหวังว่าในการประชุมธนาคารกลางอาเซียนครั้งต่อไปจะมีการใช้ QR code มาตรฐาน EMV มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีไทย สิงคโปร์ กัมพูชา ลาว ส่วนอินโดนีเซียกำลังจะเริ่มใช้ ขณะที่เมียนมากำลังศึกษา

ดร.วิรไท สันติประภพ กล่าวว่า “การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของอาเซียนจะเข้มแข็งขึ้นจากการนำเทคโนโลยีทางการเงินสมัยใหม่มาใช้ในบริการชำระเงิน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการค้า การลงทุน และบริการต่างๆ ในภูมิภาค”

หนุนใช้เงินสกุลท้องถิ่นลดต้นทุน-ความเสี่ยง

ดร.วิรไทกล่าวว่า เทคโนโลยีที่ช่วยการพัฒนาระบบชำระเงิน จะช่วยส่งเสริมการใช้เงินท้องถิ่นให้มากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และทำให้ผู้ประกอบการได้รับเงินชัดเจน ไม่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน วิธีการใช้เทคโนโลยีใหม่จะทำให้ได้รับเงินทันทีและรู้ถึงจำนวนเงินที่ชัดเจน ด้วยต้นทุนที่ถูกลงมาทั้งต้นทุนการโอนเงินและต้นทุนอัตราแลกเปลี่ยน

นอกจากนี้ ยังช่วยให้การโอนเงินกลับประเทศของแรงงานต่างชาติในไทยสะดวกขึ้น โดยไทยมีแรงงานเมียนมา 3 ล้านคนที่เมื่อจะโอนเงินกลับบ้านต้องผ่านระบบใต้ดินที่ค่าธรรมเนียมแพง ไม่มีความปลอดภัย แต่ระบบโอนเงินที่ต้นทุนต่ำลงจะช่วยลดปัญหาการทำธุรกรรมที่อาจจะขัดต่อกฎหมายฟอกเงินเพราะยืนยันตัวตนได้ เนื่องจากเป็นการทำธุรกรรมในระบบธนาคารที่มีการวางพื้นฐานอยู่แล้วในสองประเทศ

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีค่าโอนเงินสูงติดอันดับต้นของโลก ต้องมีการขจัดตัวกลางออกไป จึงเป็นที่มาของการประกาศเปิดขยายเพดานการถือหุ้นของต่างชาติในผู้ให้บริการโอนเงิน จาก 25% เป็น 75% เพื่อส่งเสริมการแข่งขัน

ไทย-สิงคโปร์โอนเงินผ่านเบอร์มือถือปีหน้า

นายราวี เมนอน Managing Director Singapore Monetary Authority กล่าวว่า การก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้ต้องมีการทำลายอุปสรรคและแก้ไขปัญหาความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล และยินดีที่ได้เห็นหลายกิจกรรมที่มีพัฒนาบริการการเงิน นวัตกรรมต่างๆ ทั้งจากธนาคารและภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ การเชื่อมโยงแบบ point to point ข้ามประเทศในอาเซียนมีความสำคัญ แต่การที่จะทำให้มีการเชื่อมโยงอย่างแพร่หลายต้องมีการทำงานร่วมกัน ซึ่งในปีที่แล้วไทยและสิงคโปร์ประกาศถึงความตั้งใจในการประชุมอาเซียนครั้งก่อนว่าจะมีการเชื่อมโยงระบบ PromptPay ของไทยกับ PayNow ของสิงคโปร์ เพื่อการโอนเงินแบบเรียลไทม์ ด้วยการใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือ ทำให้การโอนเงินรายย่อยสะดวกมากขึ้น ไม่ว่าแรงงานไทยในสิงคโปร์ หรือนักท่องเที่ยวสิงคโปร์ในไทย ซึ่งขณะนี้ระบบกำลังพัฒนาล่าช้ากว่าที่ตั้งใจไปบ้าง เนื่องจากปัญหาด้านเทคนิคจากธนาคารระดับระบบ แต่คาดหวังว่าจะสำเร็จในปีหน้า

นายราวี เมนอน Managing Director of Singapore MAS

สำหรับการเชื่อมโยงผ่าน QR ทั้ง ธปท.และ MAS ยังคงทำงานต่อเนื่องเพื่อปรับมาตรฐานให้เหลือมาตรฐาน QR เดียว เป็นมาตรฐาน EVM ที่ผู้ให้บริการชำระเงินรายอื่นเข้ามาใช้ได้ด้วย และขณะนี้มาตรฐานนี้ใช้ได้แล้วในสิงคโปร์และไทย หวังว่าประเทศอาเซียนอื่นจะนำไปเพื่อให้เป็นอาเซียน QR

ดร.วิรไทกล่าวว่า การทำงานเพื่อการเชื่อมโยงการเงินกับสิงคโปร์นั้นมีทั้งการเชื่อมโยงระบบกับระบบ ธนาคารกับธนาคาร แต่สำหรับการเชื่อมโยง PayNow ความล่าช้ามาจากไทย แต่หวังว่าในปีหน้าเมื่อไทยได้รับมาตรฐาน ISO 20022 ก็จะช่วยให้การเชื่อมโยงทำได้เร็วขึ้น โดยบริการทางการเงินที่จะเปิดตัวภายใต้มาตรฐาน ISO 20022 ในไทย ราวไตรมาส 3 ปีนี้ และการเชื่อมโยงของ PromptPay กับ PayNow คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นไตรมาส 2 ปี 2563

ฟิลิปปินส์หนุนระบบชำระเงินปลอดภัย

นายดิว่า กุยนิกุนโด รองผู้ว่าการธนาคารกลางฟิลิปปินส์ กล่าวว่า การโอนเงินกลับของแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเป็นแหล่งรายได้เงินตราต่างประเทศของฟิลิปปินส์ ในเดือนมกราคม 2562 เงินโอนกลับประเทศจากแรงงานฟิลิปปินส์ที่ไปทำงานต่างประเทศมีมูลค่าถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์ และทั้งปี 2561 มีเงินโอนกลับประเทศ 29 พันล้านดอลลาร์

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่แรงงานโอนเงินกลับประเทศสูงสุดอันดับต้นของโลก ดังนั้น ระบบการโอนเงิน ชำระเงิน ที่มีความปลอดภัยจึงมีความสำคัญ เพราะเงินโอนนั้นช่วยให้ความเป็นอยู่ของครอบครัวและญาติพี่น้องดีขึ้น

แต่สิ่งที่ท้าทายสำหรับฟิลิปปินส์คือ การมีธนาคารที่มีความน่าเชื่อถือภายใต้การกำกับดูแล มาทำหน้าที่สถาบันการเงินที่ให้บริการเชื่อมต่อระบบ (sponsor bank) เนื่องจากฟิลิปปินส์มุ่งการพัฒนาการให้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึง

แบงก์นำเสนอนวัตกรรมชำระเงิน

ในวันนี้สถาบันการเงินของหลายประเทศได้มีความร่วมมือในการเสนอผลิตภัณฑ์ด้านชำระเงินมาตรฐานกลางที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ โดยเป็นการชำระเงินข้ามประเทศผ่าน QR code และการโอนเงินของภาคธุรกิจระหว่างสองประเทศด้วยเทคโนโลยี Blockchain และ API

ดร.วิรไทกล่าวว่า ในวันนี้ได้เห็นความร่วมมือของสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการ non-banks และผู้ให้บริการบัตรเครดิต/เดบิต ในการพัฒนาบริการชำระเงินระหว่างประเทศด้วยเทคโนโลยีใหม่ เช่น QR code, distributed ledger technology (blockchain), application programming interface (API) และ card network การพัฒนานวัตกรรมทางการเงินเหล่านี้ จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลาย และจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงิน ทำให้การธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศสะดวกขึ้น ลดต้นทุนของผู้ใช้บริการ รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชากรในอาเซียนให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น

“การแสดงนวัตกรรมทางการเงินในวันนี้ เป็นตัวอย่างอันดียิ่งของความร่วมมือของธนาคารกลางและสถาบันการเงินในภูมิภาคในการเชื่อมโยงบริการชำระเงินและบริการทางการเงินระหว่างกัน มองไปข้างหน้า การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินนี้จะเป็นสิ่งที่เราเห็นพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยทำให้ความร่วมมือทางการเงินและเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนเข้มแข็งและมั่นคงยิ่งขึ้น” ดร.วิรไทกล่าว

นวัตกรรมทางการเงินและบริการชำระเงินระหว่างประเทศที่นำเสนอมีดังนี้

กัมพูชาและไทย การชำระเงินระหว่างประเทศด้วย Interoperable QR Payment

ธนาคารไทยพาณิชย์ได้พัฒนาและทดสอบการให้บริการชำระเงินด้วย Interoperable QR Payment ข้ามประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐาน EMV โดยร่วมกับสาขาของธนาคารในประเทศกัมพูชา บริการนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับการชำระเงินรายย่อยระหว่างลูกค้าและร้านค้าของทั้งสองประเทศ ด้วยบริการดังกล่าว นักท่องเที่ยวไทยจะสามารถใช้ mobile banking application ของธนาคารไทยในการสแกน QR code เพื่อชำระเงินค่าสินค้าและบริการให้กับร้านค้าในกัมพูชาที่ร่วมให้บริการ ซึ่งจะมีการเปิดให้บริการจริงในระยะต่อไป

นายเจีย จันโต ผู้ว่าการธนาคารกลางกัมพูชากล่าวว่า การชำระเงินด้วย QR code จะช่วยสนับสนุนการค้าข้ามแดนของไทยและกัมพูชาให้ขยายตัวมากขึ้น เพราะช่วยลดความเสี่ยง มีความปลอดภัยและมีความสะดวก นอกจากนี้ยังมี sponsoring bank ซึ่งทำให้มีการเชื่อมโยงระบบธนาคารทั้งหมด

อินโดนีเซียและไทย/Intra-ASEAN การพัฒนาธุรกรรม L/C ระหว่างอินโดนีเซียและไทย และภายในอาเซียน
ด้วย Enterprise Blockchain

ธนาคารกรุงเทพฯ ร่วมกับ GC Marketing Solutions Company Limited (GCM) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจ ปิโตรเคมีและเป็นบริษัทในกลุ่มของ PTT Global Chemical Company Limited (GC) ได้ทดสอบการทำธุรกรรมสินเชื่อเพื่อการค้า (trade finance) ระหว่างไทยกับอินโดนีเซียโดยใช้ Voltron Application บน R3 CORDA Platform ทั้งนี้ ในการทดสอบ PT. Bukitmega Masabadi ซึ่งเป็นคู่ค้าของ GCM ประเทศอินโดนีเชียจะส่งรายการ electronic L/C ผ่านธนาคารกรุงเทพ สาขาอินโดนีเซียมายังธนาคารกรุงเทพฯ สำนักงานใหญ่ โดยทำรายการ L/C บน Enterprise Blockchain ซึ่งสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว ช่วยลดระยะเวลาในการดำเนินการ จาก 10 วัน เป็น 24 ชั่วโมงและลดงานเอกสารได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง นอกจากนั้นกระบวนการการทำงานยังมีความปลอดภัย โปร่งใส

นายชาติศิริ โสภณพนิช กล่าวว่า เทคโนโลยีมีผลให้ธุรกิจธนาคารเปลี่ยนโฉมไป แต่เทคโนโลยีก็ช่วยให้ธนาคารมีความสามารถมากขึ้นในการที่จะให้บริการบนพื้นฐานที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า มีความเชี่ยวชาญ และการให้บริการด้วยเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับธนาคารในภูมิภาคนี้

สปป.ลาวและไทย การชำระเงินระหว่างประเทศด้วย Interoperable QR Payment

ธนาคารธนชาตและ Banque Pour Le Commerce Exterieur Lao Public (BCEL) ได้ร่วมพัฒนาการบริการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR payment ระหว่างไทยและ สปป.ลาว ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าของ BCEL สามารถชำระเงินในประเทศไทยและมีผลทันทีด้วยการสแกน QR Code ที่ร้านค้าด้วยโมบายแอปพลิเคชัน ของ BCEL และยังช่วยให้คนไทยซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารธนชาตหรือธนาคารอื่นๆ ที่เดินทางไป สปป.ลาว สามารถชำระเงินที่ร้านค้าของ BCEL ผ่านโมบายแอปพลิเคชันของแต่ละธนาคารซึ่งเชื่อมโยงไปยังบัญชีของลูกค้าได้โดยตรง บริการนี้จะเริ่มเปิดให้บริการแก่ลูกค้าในเร็วๆ นี้ โดยธนาคารธนชาตตั้งเป้าหมายที่จะขยายความร่วมมือกับธนาคารอื่นในกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อขยายเครือข่ายด้านการชำระเงินเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

การโอนเงินระหว่างประเทศแบบ Real-time สำหรับภาคธุรกิจด้วยเทคโนโลยี Blockchain

ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้เริ่มบุกเบิกการใช้นวัตกรรม blockchain สาหรับธุรกิจยุคใหม่ โดย Krungsri Blockchain Interledger เป็นบริการโอนเงินระหว่างประเทศแบบเรียลไทม์สำหรับภาคธุรกิจในการโอนเงินจาก สปป.ลาวมายังประเทศไทย และส่งต่อจากประเทศไทยไปยังสิงคโปร์ในเวลาที่รวดเร็ว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันในด้านการบริหารจัดการ ลดต้นทุน และช่วยลดความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน

เมียนมาและไทย การโอนเงินระหว่างประเทศด้วยเทคโนโลยี Blockchain
ธนาคารกรุงไทยและ Shwe Bank เมียนมาได้ร่วมกับ Everex ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ พัฒนาบริการส่งเงินระหว่างประเทศที่มีความสะดวก ปลอดภัยและมีผลทันที โดยใช้ blockchain platform – “Krungthai Bank and Shwe Bank Remittance powered by Everex” ซึ่งจะให้ลูกค้าสามารถโอนเงินโดยไม่จำกัดสถานที่และเวลา ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่แข่งขันได้ผ่านบริการโมบายแอปพลิเคชันของธนาคารกรุงไทย โดยผู้รับเงินในประเทศเมียนมาสามารถเลือกรับเงินได้หลายช่องทาง เช่น การส่งเงินถึงบ้าน หรือรับเงินจากสาขาของธนาคาร Shwe Bank หรือการโอนเข้าบัญชี Shwe Bank โดยตรง โดยจะเริ่มให้บริการในเดือนมิถุนายนนี้

สิงคโปร์และไทย การโอนเงินระหว่างประเทศด้วย API

DBS และธนาคารกสิกรไทย ได้ร่วมพัฒนาบริการโอนเงินระหว่างประเทศโดยใช้เทคโนโลยี API (API-based funds transfer service) เพื่อรองรับการโอนเงินจากสิงคโปร์มาไทย บริการนี้มีความพิเศษที่อนุญาตให้ผู้โอนสามารถตรวจสอบสถานะบัญชีของผู้รับโอนก่อนการโอนเงิน และสามารถโอนเงินได้สูงสุด 1.5 ล้านบาทต่อรายการ

การชำระเงินระหว่างประเทศด้วย Interoperable QR Payment

AIS mPay เริ่มให้บริการ GLOBAL Pay ซึ่งเป็นโมบายวอลเล็ตแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ลูกค้าคนไทยที่ใช้ e-wallet (ในอนาคตจะขยายไปยังบัญชีเงินฝากธนาคาร) ให้สามารถใช้บริการชำระเงินผ่าน QR Code เมื่อเดินทางไปต่างประเทศผ่าน VIA (เครือข่ายชาระเงินผ่านมือถือข้ามประเทศ ด้วย QR Code ผ่าน e-wallet บนมือถือ ภายใต้กลุ่ม Singtel Group) ซึ่งในการทำธุรกรรมผ่าน VIA ลูกค้าจะได้รับความสะดวก ปลอดภัย และมีอัตราแลกเปลี่ยนที่แข่งขันได้ผ่าน mobile wallets ของประเทศนั้นๆ

การชำระเงินระหว่างประเทศด้วย BeWallet Interoperable QR Payment

ธนาคารกรุงเทพได้ร่วมกับผู้ให้บริการ Thai Payment Network และ UnionPay ในการทดลองให้บริการชำระเงินด้วย QR โดยใช้มาตรฐาน EMV ช่วยให้ลูกค้าสามารถชำระเงินระหว่างประเทศผ่านเครือข่ายของ UnionPay โดยใช้ BBL BeWallet application ที่ผูกกับบัตรเดบิต Be1st โดยในช่วงเริ่มต้นจะสามารถใช้บริการในประเทศสิงคโปร์ได้โดยผ่านร้านค้าของ United Overseas Bank

มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย การโอนเงินระหว่างประเทศผ่าน API

CIMB Group ได้ให้บริการ SpeedSend ซึ่งใช้เทคโนโลยี API ในการให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ โดย SpeedSend เป็นบริการโอนเงินระหว่างประเทศมีค่าธรรมเนียมถูกและอัตราแลกเปลี่ยนที่แข่งขันได้ โดยเชื่อมโยงกับ 10 ประเทศอาเชียนผ่านเทคโนโลยี API และเครือข่ายของธนาคารซึ่งมีความร่วมมือกับสถาบันการเงินและผู้ให้บริการโอนเงินในหลากหลายประเทศ โดยปัจจุบันรายการส่วนใหญ่เป็นการโอนเงินจากธนาคาร CIMB ไทยไปยังฟิลิปปินส์