ThaiPublica > เกาะกระแส > อาเซียนเดินหน้าผลักดันความร่วมมือภาคการเงิน – เชื่อมโยงบริการผ่าน Qualified ASEAN Bank – จับมือป้องกันภัยไซเบอร์

อาเซียนเดินหน้าผลักดันความร่วมมือภาคการเงิน – เชื่อมโยงบริการผ่าน Qualified ASEAN Bank – จับมือป้องกันภัยไซเบอร์

6 เมษายน 2019


นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนครั้งที่ 23 (ASEAN Finance Ministers’ Meeting – AFMM) และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 5 (ASEAN Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting – AFMGM) หลังเสร็จสิ้นลงในเย็นวานนี้(วันที่ 5 เมษายน 2562) ที่จังหวัดเชียงราย

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนครั้งที่ 23 และเป็นประธานร่วมกับ ดร.วิรไท สันติประภพ ในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 5

การแถลงข่าวนี้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับผู้ว่าการธนาคารกลาง 2 ประเทศเข้าร่วมด้วยคือ สิงคโปร์และเวียดนาม และยังมี ลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน เข้าร่วมด้วย

  • อาเซียนเชื่อมโยงระบบการชำระเงินบนมาตรฐานกลาง หนุนใช้เงินสกุลท้องถิ่น แบงก์เปิดตัวโชว์เคสโอนเงินข้ามประเทศ

    ส่งเสริมการเงินยั่งยืน

    นายอภิศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบประเด็นหลักที่จะเป็นการดำเนินการของไทย (chair’s priorities) ใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) ความเชื่อมโยง (connectivity) โดยจะพัฒนาความเชื่อมโยงระบบการชำระเงินและบริการเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนในอาเซียน 2) ความยั่งยืน (sustainability) เพื่อส่งเสริมให้ภาคการเงินสามารถตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงิน และ 3) การสร้างภูมิคุ้มกัน (resilience) สนับสนุนการพัฒนาความรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

    นายอภิศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม AFMM ครั้งที่ 23 และ AFMGM ครั้งที่ 5 ได้ติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือทางการเงินอาเซียน โดยการประชุมได้เห็นชอบที่จะร่วมกันผลักดันให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าอาเซียนแบบอิเล็กทรอนิกส์ (AITGA e-Form D) ผ่านระบบ ASEAN Single Window ได้ครบทั้ง 10 ประเทศได้ภายในสิ้นปีนี้

    รวมทั้งรับรองความคิดริเริ่มมาตรฐานของหนังสือรับรองการมีถิ่นที่อยู่เพื่อการรัษฎากรที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันของประเทศอาเซียน (Standardised Certificate of Residence in ASEAN) และรับรองแนวทางการพัฒนาตลาดทุนอย่างยั่งยืน (Roadmap for Sustainable Capital Markets) ของที่ประชุมหน่วยงานกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ASEAN Capital Market Forum – ACMF)

    สำหรับการประชุม AFMGM ครั้งที่ 5 ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าในเรื่องต่างๆ เช่น การเจรจาเปิดเสรีการค้าการบริการทางการเงิน การส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น การเชื่อมโยงธุรกรรมการชำระเงินในภูมิภาคอาเซียน การส่งเสริมการเงินเพื่อความยั่งยืน ทั้งในฝั่งตลาดทุนและในภาคการธนาคาร และการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินในอาเซียน

    นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับรองคู่มือกฎระเบียบการประกันภัยการขนส่งทางทะเล ทางอากาศ และการขนส่ง (Marine, Aviation, and Transit Insurance – MAT Insurance) และสินค้าผ่านแดน (Handbook on ASEAN Insurer Offering Cross-Border Marine, Aviation, and Goods in Transit Insurance) และรับรองการลงทุนข้ามประเทศด้วยการใช้ ACMF Pass ตลอดจนลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเผยแพร่บทวิเคราะห์ตราสารทางการเงินข้ามประเทศ

    ด้านการเชื่อมโยงของภาคการเงินนั้น มีการส่งเสริมระบบการชำระเงินบนมาตรฐานที่เชื่อมโยงกันได้ (interoperability) ผ่าน QR code รวมทั้งมีการลงนามใน 2 วงเงินเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียน คือกองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียน (ASEAN Catalytic Green Finance Facility) และวงเงินเพื่อความทั่วถึง (Inclusive Finance Facility) เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแบบผ่อนปรนในโครง สร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญและจำเป็นในกัมพูชา ลาว และเมียนมา

    นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ซ้าย) ร่วมแถลงข่าว ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

    ด้านความยั่งยืนทางการเงินหรือ sustainable finance นายอภิศักดิ์กล่าวว่า ACMF ได้มีการนำแนวปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนทางการเงินมาใช้แล้ว ผ่าน Roadmap for Sustainable Capital Markets ที่ประชุมได้ส่งเสริมให้ภาคธนาคารนำหลักการการเงินที่ยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินการธุรกิจเพื่อความยั่งยืนอย่างค่อยเป็นค่อยไป

    ด้านการสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงิน นายอภิศักดิ์กล่าวว่า ส่งเสริมการดำเนินการด้วยคู่มือ 2 ฉบับ หนึ่ง แนวทางการให้บริการการเงินดิจิทัลเพื่อการเข้าถึงบริการทางการเงิน สองการให้ความรู้ทางการเงินและการคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้งหน่วยงานกำกับดูแลด้านการประกันภัยจะพัฒนากรอบการดำเนินงานของไมโครอินชัวรันส์ เพื่อลดความเสี่ยงของกลุ่มคนที่มีความเปราะบาง และช่วยทำให้เข้าถึงบริการประกันภัยง่ายขึ้นในอาเซียน

    ด้านการสร้างภูมิคุ้มกัน นายอภิศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุมรับรองแผนงานโครงการ ASEAN Disaster Risk Financing and Insurance Program (ADRFI) ช่วงที่ 2 (แผนปฏิบัติการระยะที่ 2 ของการจัดหาเงินทุนและการประกันภัยความเสี่ยงจากภัยพิบัติของอาเซียน ซึ่งจะสนับสนุนการบริหารจัดการเงินทุนและการประกันภัยเพื่อบรรเทาความเสี่ยงจากภัยพิบัติในภูมิภาค)

    ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่ประชุมได้สนับสนุนให้รัฐสมาชิกอาเซียนแลกเปลี่ยนข้อมูลความปลอดภัยทางไซเบอร์และด้านการเสริมสร้างศักยภาพ โดยให้รัฐสมาชิกอาเซียนมีส่วนร่วมในเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลและมีข้อริเริ่มด้านการจัดทำโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงทางไซเบอร์และยุทธศาสตร์สำหรับหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินในยุคการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี

    “เราพอใจกับผลการประชุมในปีนี้ ทีมงานได้ทำงานกันอย่างเต็มที่ จึงทำให้ที่ประชุมสามารถได้ข้อสรุปอย่างรวดเร็ว จากการกำหนดวาระการประชุมอย่างสร้างสรรค์และมีข้อมูลเพียงพอตรงเป้าหมาย ทำให้ประชุมประสบความสำเร็จ” นายอภิศักดิ์กล่าว

    แชร์ข้อมูลสร้างความมั่นคงไซเบอร์

    ทางด้าน ดร.วิรไทกล่าวว่า การประชุมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของแบงก์ชาติมีด้วยกัน 4 ด้าน หนึ่ง การส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น โดยในเช้าวันที่ 5 เมษายน แบงก์ชาติได้ลงนามความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการชำระเงินสกุลท้องถิ่นในการค้าการลงทุนในภูมิภาคร่วมกับอีก 3 ธนาคารกลางของอาเซียน ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากการพัฒนากลไกการชำระเงินสกุลท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนที่เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 2 ปีก่อนระหว่างไทยกับมาเลเซีย

    ในปีที่แล้วธนาคารกลางอินโดนีเซียได้เข้าร่วม และปีนี้มีธนาคารกลางฟิลิปปินส์เข้าร่วมกรอบความร่วมมือนี้ และหวังว่าธนาคารกลางของประเทศที่เหลือในอาเซียนจะเข้าร่วม โดยแบงก์ชาติได้พัฒนากรอบการชำระเงินด้วยเงินสกุลท้องถิ่นไว้แล้ว เพื่อให้การเจรจาแบบทวิภาคีในการส่งเสริมการชำระเงินสกุลท้องถิ่นคืบหน้าได้เร็ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้าและการลงทุนของอาเซียน

    สอง ความเชื่อมโยงของระบบการชำระเงินในอาเซียน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของส่งเสริมการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินของอาเซียน โดยการชำระเงินที่เชื่อมโยงกันในอาเซียน ต้องมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย และแข่งขันได้ จึงได้มีความริเริ่มพัฒนาการชำระเงินข้ามประเทศที่ใช้เงินสกุลท้องถิ่น ด้วยเทคโนโลยีหลากหลายทั้ง QR code, blockchain, API ที่ สามารถชำระเงิน โอนเงินได้แบบเรียลไทม์ ทั้งจากธนาคารและ non-bank ซึ่งก็เป็นมาตรฐานของความเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในอาเซียนในระยะยาว

    สาม ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ อาเซียนกำลังก้าวสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จึงมีความสำคัญ ที่ประชุมจึงเห็นชอบที่จะมีแนวทางในการบรรเทาผลกระทบของภัยไซเบอร์ในหลายด้าน และยกเป็นประเด็นวาระของอาเซียน พร้อมกับดำเนินการต่อจากแนวทางที่สิงคโปร์ได้ริเริ่มในขณะที่ทำหน้าที่ประธานอาเซียนในปีที่แล้ว ดังนั้นจึงได้เห็นชอบแนวปฏิบัติที่กำหนดให้มีการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันและข้อมูลภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนส่งเสริมความรู้ให้กับประชาชนให้รู้เท่าทันภัยไซเบอร์

    สี่ การเงินยั่งยืน ในตลาดทุนได้มีการนำหลักการการเงินยั่งยืนมาใช้แล้ว ที่ประชุมเห็นว่าภาคธนาคารเองก็ต้องมีการปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน จึงเห็นชอบให้มีการศึกษาแนวทางระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล ธนาคารกลาง และทำงานร่วมกับสมาคมธนาคารในแต่ละประเทศ เพื่อส่งเสริมการเงินที่ยั่งยืน

    “ความเชื่อมโยงทางการเงินของประเทศสมาชิกในอาเซียนมีความคืบหน้าในหลายระดับ เนื่องจากการพัฒนาภาคการเงินของแต่ละประเทศแตกต่างกัน แต่ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าระบบการเงินควรมีการเชื่อมโยงกัน และทุกประเทศกำลังทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกัน” ดร.วิรไทกล่าว

    นอกจากนี้ การใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อการค้าการลงทุนระหว่างกันก็จะมีส่วนให้ระบบการเงินมีความเชื่อมโยงกันด้วย ผ่านการโอนเงินข้ามแดนระหว่างประเทศ และยังป้องกันผู้ประกอบการไม่ให้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน

    รัฐมนตรีคลัง (ขวา) และ managing director แห่ง MAS จากสิงคโปร์

    เปิดเสรีธุรกิจจัดการลงทุน
    นายอภิศักด์กล่าวว่า ในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนครั้งที่ 23 ได้มีการลงนามในพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินฉบับที่ 8 ทางการเงินภายใต้ ASEAN Framework Agreement on Services (AFAS) และรวมทั้งมีการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระเงินเพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุนในภูมิภาค

    การเจรจาพิธีสารฯ ฉบับที่ 8 เป็นการเจรจารอบล่าสุดการเปิดเสรีทางการเงินภายใต้ AFAS ที่เริ่มต้นเจรจาในปี 2559 และได้ข้อสรุปในปี 2561

    ในพิธีสารฯ ฉบับที่ 8 ได้มีการปรับปรุงข้อผูกพันในสาขาหลักทรัพย์ สาขาย่อยบริการจัดการลงทุน (asset management) ส่งผลให้มีการผ่อนคลายอุปสรรคการเปิดเสรีในสาขาหลักทรัพย์ โดยอนุญาตให้สัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในบริษัทจัดการลงทุนได้ถึง 100% ของทุนที่ชำระแล้ว และให้ยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดว่าต้องมีสถาบันการเงินที่จัดตั้งภายใต้กฎหมายถือหุ้นอยู่ไม่น้อยกว่า 50% ของทุนที่ชำระแล้วในระยะ 5 ปีแรก หลังจากที่ได้รับใบอนุญาต

    การเปิดให้ต่างชาติถือหุ้นในบริษัทจัดการลงทุนได้ถึง 100% เป็นการยกระดับของไทยเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายปัจจุบัน เนื่องจากข้อผูกพันการเข้าสู่ตลาดในสาขาย่อยบริการจัดการลงทุน ภายใต้กรอบการค้าบริการด้านการเงินของอาเซียนมีระดับต่ำกว่ากฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบัน ที่ได้ปรับเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในบริษัทจัดการการลงทุนได้ถึง 100% ของทุนที่ชำระแล้ว

    นอกจากนี้ ยังมีความคืบหน้าในการเปิดเสรีประกันวินาศภัย โดยเฉพาะการประกันภัยทางน้ำ ทางอากาศ และการขนส่ง (marine, aviation, and transit insurance – MAT insurance)

    QAB คืบหน้าเจรจา 3 คู่

    นายอภิศักด์กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมรับทราบการเจรจาแบบทวิภาคีเกี่ยวกับการเปิด Qualified ASEAN Banks (QABs) ของประเทศสมาชิกอาเซียน 3 คู่ แล้ว รวมทั้งในพิธีสารฯ ฉบับที่ 8 นี้ประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศได้มีการตกลงในรูปแบบทวิภาคีเกี่ยวกับการเปิด QABs ทำให้การจัดตั้งธนาคารของประเทศสมาชิกอาเซียนในประเทศสมาชิกอาเซียนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

    โดยประเทศอาเซียนที่เจรจาแบบทวิภาคีที่ได้ข้อสรุปและอยู่ในขั้นตอนการให้ความเห็นชอบของสภาก่อนที่จะดำเนินการต่อไปคือ ไทยกับมาเลเซีย ขณะการเจรจาแบบทวิภาคีอีก 3 คู่ ได้แก่ ไทยกับฟิลิปปินส์ ไทยกับเมียนมา และไทยกับอินโดนีเซีย

    ดร.วิรไทกล่าวว่า QAB ได้มีการสรุปข้อตกลงในบางประเด็น ซึ่งจากการที่การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนครั้งที่ 23 ได้ลงนามในพิธีสารฯ ฉบับที่ 8 แล้ว ขั้นตอนต่อไปต้องนำเข้าสู่สภาเพื่อให้ความเห็นชอบ ดังนั้นก็จะมีผลต่อประเทศคู่เจรจาที่มีการตกลงเรียบร้อยแล้ว

    การเปิดเสรีรอบ 8 จะช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในเชิงลึกและกว้างขวางมากขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะเกิดจากการลดข้อจำกัดต่อผู้ให้บริการของอาเซียนในการให้บริการ และเข้ามาจัดตั้งกิจการในประเทศสมาชิก ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนไทยสามาถขยายการค้าการลงทุนในสาขาบริการด้านการเงินออกยังประเทศอาเซียนอื่นได้สะดวกยิ่งขึ้น

    กรอบการรวมตัวภาคธนาคารอาเซียน
    ที่ประชุมคณะทำงานอาวุโสอาเซียน (Senior Level Committtee – SLC) ภายใต้กรอบการประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลกระบวนการเร่งการเปิดเสรีในสาขาการธนาคารของอาเซียน ได้จัดตั้ง Task Force of ASEAN Banking Integration Framworkd – TF-ABIF) ขึ้นเพื่อจัดทำกรอบการรวมตัวภาคการธนาคารของอาเซียน โดยมีเป้าหมายคือ การจัดตั้ง QAB ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกอาเซียนตั้งแต่ 2 ประเทศขึ้นไปสามารถดำเนินการเจรจาและตกลงเปิดเสรีธนาคารพาณิชย์ของประเทศคนได้ตามความสมัครใจ โดยแต่ละประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการเจรจาสามารถสรุปผลการเจรจาและจัดทำข้อผูกพันในสาขาการธนาคารของตนได้เป็นรายปี (รอบของการเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินของอาเซียนโดยทั่วไปคือ 2 ปี) โดยให้มีหนังสือแจ้งข้อผูกพันเป็นลายลักษณ์อักษรต่อที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนเพื่อให้ข้อผูกพันนั้นมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ การให้สิทธิพิเศษในสาขาการธนาคารตามหลักการให้การปฏิติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์อย่างยิ่งแก่ประเทศสมาชิกอื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมการเจรจาจะต้องเป็นไปตามความสมัครใจของประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการเจรจา โดยจะมีการกำหนดกรอบมาตรฐานและคุณสมบัติของ QAB รวมถึงการกำกับดูแล รูปแบบและขอบเขตการประกอบธุรกิจไว้ในเบื้องต้น ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสามารถขยายขอบเขตการให้บริการไปสู่ประเทศอื่นๆ ได้ ในทางกลับกันก็เป็นประโยขน์แก่ผู้บริโภคที่จะได้มีทางเลือกในการใช้บริการมากขึ้น

    ทางด้านนาย Dinh Tien Dung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเวียดนามซึ่งจะเป็นประธานอาเซียนในปีต่อไปกล่าวว่า ยินดีที่จะดำเนินการต่อเนื่องในประเด็นผลักดันของไทย 2 เรื่อง คือ การเชื่อมโยงระบบการเงิน (payment connectivity) และการเงินที่ยั่งยืน (sustainable finance)

    รัฐมนตรีว่าการกระทรางการคลัง (ซ้าย) และผู้ว่าการ ธนาคารกลางเวียดนาม
  • ป้ายคำ :