ThaiPublica > เกาะกระแส > ส.ส.หญิงในสภาทั่วโลกเพิ่มขึ้น รวันดาอันดับหนึ่งคว้าที่นั่งสูงสุด-ไทยอันดับ 182 จากเลือกตั้งปี 2557

ส.ส.หญิงในสภาทั่วโลกเพิ่มขึ้น รวันดาอันดับหนึ่งคว้าที่นั่งสูงสุด-ไทยอันดับ 182 จากเลือกตั้งปี 2557

6 มีนาคม 2019


ที่มาภาพ: https:// www.weforum.org/agenda/2019/02/chart-of-the-day-these-countries-have-the-most-women-in-parliament/
จากการเปิดเผยข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) การเลือกตั้งทั่วไปของไทยในปี 2562 มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเบื้องต้น 13,991 ราย จาก 81 พรรคการเมือง ซึ่งมีทั้งผู้สมัครหญิงและชาย และปีนี้เห็นได้ว่ามีผู้สมัครหญิงเพิ่มมากขึ้น แต่จะเข้าสู่สภาฯ ได้มากน้อยแค่ไหนต้องรอหลังวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม

เมื่อสำรวจแวดวงการเมืองโลกพบว่า จำนวนนักการเมืองหญิงที่เข้าสภาฯ ทั่วโลกมีมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจนคือ สหรัฐฯ ยุคที่มีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำหน้าที่ประธานาธิบดี มีผู้สมัครหญิงที่ลงรับเลือกตั้งจากพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งกลางเทอมปี 2018 ผ่านเข้าสภาฯ มากเป็นประวัติการณ์ถึง 102 คนในสภาผู้แทนราษฏร (house of representatives) คิดเป็นสัดส่วน 23.5% ของจำนวน 435 ที่นั่ง

แม้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของสหรัฐฯ จะเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในอันดับที่ 75 ของโลก ที่จัดอันดับโดยสหภาพรัฐสภาหรือ Inter-Parliamentary Union และยังต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของโลก 24.1% ของจำนวนผู้หญิงที่คว้าที่นั่งในสภา

รวันดาเป็นประเทศที่มีจำนวนสมาชิกสภาที่เป็นผู้หญิงสูงเป็นเป็นอันดับ 1 โดยมีสมาชิกสภาหญิงในสัดส่วน 61.3% ของที่นั่งทั้งหมดในสภา หรือเกือบ 2 ใน 3

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจาก สหภาพรัฐสภา จัดให้อยู่อันดับ 182 จากการเลือกตั้งในปี 2014 มีผู้หญิงเข้าสภาผู้แทนราษฏรเพียง 13 คนคิดเป็น 5.4% ของ 240 ที่นั่ง

สำหรับประเทศอื่นที่มีจำนวน ส.ส.หญิงในสภาในระดับสูงและติดอยู่ใน 10 อันดับแรก ได้แก่ คิวบา ในสัดส่วน 53.2% โบลิเวีย 53.1% เม็กซิโก 48.2% เกรนาดา 46.7% นิการากัว 45.7% และคอสตาริกา 45.6% นามิเบีย 46.2% และแอฟริกาใต้ 42.7%

ส่วนสวีเดนซึ่งจัดว่าเป็นประเทศแรกของโลกที่มีรัฐบาลเป็นหญิงล้วน มีสัดส่วน ส.ส.หญิงในสภา 46.1%

ที่มาภาพ: https:// www.weforum.org/agenda/2019/02/chart-of-the-day-these-countries-have-the-most-women-in-parliament/

นอกจากนี้ กลุ่มประเทศนอร์ดิกยังมีสัดส่วน ส.ส.หญิงในสภาฯ ระดับสูงถึง 42.3% รองลงมาคือ กลุ่มประเทศอเมริกา 30.3% ตามมาด้วยยุโรป 26.5% ประเทศแอฟริกาใต้เขตตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa) 23.8% เอเชีย 19.7% และรัฐอาหรับ 18.7% ขณะที่กลุ่มแปซิฟิกต่ำสุดที่ 15.5%

เหตุผลที่ทำให้แต่ละภูมิภาคและประเทศมีความแตกต่างกันในจำนวน ส.ส.หญิงที่มีที่นั่งในสภา ได้แก่ โควตา ซึ่งเป็นปัจจัยที่พบทั่วไปในหลายระบบการเลือก อาร์เจนตินาเป็นประเทศแรกในโลกที่นำระบบโควตาหญิงชายมาใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในปี 1991 และนับตั้งแต่นั้น กฎหมายที่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องระบุสัดส่วนตัวแทนของพรรคที่เป็นผู้หญิงที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งได้กลายมาเป็นกฎที่ใช้กันแพร่หลายในลาตินอเมริกาและภูมิภาคอื่นๆ หลายประเทศมีแนวปฏิบัติที่แตกต่างออกไป แต่มีวัตถุประสงค์เหมือนกัน เช่น สงวนที่นั่งสำหรับผู้หญิง ซึ่งวิธีการนี้ จีน ปากีสถาน และหลายประเทศในรัฐอาหรับได้นำมาใช้ หรือพรรคการเมืองจะกำหนดโควตาขึ้นเองก็ได้ วิธีนี้ส่วนใหญ่ใช้กันในยุโรป

ระบบโควตามีผลอย่างมากต่อการเมืองในรวันดา โดยในช่วงทศวรรษ 1990 มี ส.ส.หญิงคว้าที่นั่งในสภาฯ เฉลี่ย 18% รัฐธรรมนูญปี 2003 กำหนดให้สมาชิกสภาฯ 30% ที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องเป็นผู้หญิง ปี 2008 สมาชิกสภาฯ รวันดากว่าครึ่งจึงเป็นผู้หญิง และสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 ใน 3 ในการเลือกตั้งปี 2013

การมีผู้หญิงเป็นตัวแทนในสภาฯ ก้าวกระโดดอย่างมากในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา โดยปี 1997 ที่สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์ มีผู้หญิงคว้าที่นั่งในสภาฯ มากกกว่า 30% แต่ปัจจุบันมี 49 ประเทศ ที่กำแพงกั้นผู้หญิงได้พังทลายลง อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2015 ไม่มีพัฒนาการมากขึ้นแต่กลับถดถอยลง

สำหรับสัดส่วนผู้หญิงในคณะมนตรีกลับต่ำมาก ราว 1 ใน 5 ในฝรั่งเศส แคนาดาและสเปนมีรัฐมนตรีหญิงชายอย่างน้อยในจำนวนที่เท่ากัน แต่เป็นเพราะมีข้อยกเว้น ไม่ใช่เป็นผลจากกติกา และแม้ว่าผู้หญิงได้รับการส่งเสริมให้รับตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ส่วนใหญ่ได้รับมอบหมายหน้าที่ที่ไม่สำคัญและกระทรวงระดับรอง ดูแลงานด้านสังคมและครอบครัว

มากกว่าครึ่งของประเทศในโลกนี้ไม่เคยมีผู้นำหญิงเลย แต่สำหรับประเทศที่มีผู้นำหญิงก็ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงจะเป็นตัวแทนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น อินเดีย ที่อินทิรา คานธี เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปัจจุบันมีสมาชิกสภาฯ ที่เป็นผู้หญิงเพียง 64 คนจากทั้งหมด 542 ที่นั่ง

ที่มาภาพ: https:// www.weforum.org/agenda/2019/02/chart-of-the-day-these-countries-have-the-most-women-in-parliament/

พัฒนาการของผู้หญิงที่มีส่วนร่วมในการเมืองในรอบทศวรรษที่ผ่านมากลับถดถอยลงบ้างในประเทศตะวันตก จากรายงาน Global Gender Gap Report จัดทำโดย World Economic Forum ที่เผยตัวชี้วัดพลังทางการเมือง (political empowerment) ที่ใช้วัดความแตกต่างระหว่างชายหญิงในระดับที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุด ได้แสดงให้เห็นว่า ความไม่เท่าเทียมทางเพศยังอยู่ในระดับสูง

ความไม่เท่าเทียมทางเพศในวงการเมืองและการทำงานยังคงมีอยู่ แม้ผู้หญิงทั่วโลกสามารถปิดช่องว่างได้ในหลายภาคส่วน เช่น สุขภาพและการศึกษา แต่สัดส่วนผู้หญิงในระดับผู้นำไม่ได้เพิ่มขึ้นนัก อย่างไรก็ตาม มีผู้หญิงส่วนหนึ่งที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำระดับสูงทางการเมือง เช่น แองเจลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนี ซึ่งได้เลือกผู้หญิงขึ้นมารับช่วงเป็นหัวหน้าพรรคคริสเตียนเดโมแครตต่อ คือ แอนเนเกร็ต แครมป์-คาร์เรนบาวเอร์ ส่วนแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฏรสหรัฐฯ ได้กลายเป็นผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลสูงสุดในการเมืองสหรัฐฯ และเป็นผู้นำในการค้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่ในนิวซีแลนด์ นายกรัฐมนตรีเจซินดา อาร์เดน ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ความเป็นแม่ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงานในตำแหน่งสูง และกลายเป็นผู้นำหญิงรายที่สองที่ให้กำเนิดบุตรระหว่างการดำรงตำแหน่ง

รายงาน Global Gender Gap วัดความไม่เท่าเทียมระหว่างชายหญิงจาก 144 ประเทศใน 4 ด้านหลัก คือ โอกาสและการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ (economic participation and opportunity) การได้รับการศึกษา (educational attainment) สุขภาพและการรอดชีวิต (health and survival) และพลังทางการเมือง (political empowerment)