ThaiPublica > เกาะกระแส > ส่องฐานเสียง 7.9 ล้าน พรรคพลังประชารัฐ เกือบ 1 ใน 3 มาจากพื้นที่ “พลังดูด” ส่งส.ส.เข้าสภาเฉียด 10%

ส่องฐานเสียง 7.9 ล้าน พรรคพลังประชารัฐ เกือบ 1 ใน 3 มาจากพื้นที่ “พลังดูด” ส่งส.ส.เข้าสภาเฉียด 10%

28 มีนาคม 2019


ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กพรรคพลังประชารัฐ

แม้ว่าผลการเลือกตั้ง 100 % ยังไม่ได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการจากสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ค่อนข้างมั่นใจได้แล้วว่า “พรรคพลังประชารัฐ” ที่หนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เพื่อสานต่อนโยบายของรัฐบาลในฐานะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

  • เลือกตั้ง 2562 : สำรวจข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. 81 พรรค “เหล้าใหม่” หรือ “เหล้าเก่า” ในขวดใหม่ !
  • ทั้งนี้ จากการประกาศผลคะแนนเลือกตั้งล่าสุดของกกต. จากการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2562 ในช่วงเย็นระบุว่ากกต.จะเปิดเผยเพียงรายชื่อผู้ชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเพียง 95% และจะเปิดเผยผู้ชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตทั้งหมดในวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2562 ขณะที่ผลคะแนนอื่นๆ เช่น จำนวนสส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งผูกโยงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง และผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการอาจจะล่าช้าออกไปจนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นไปตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

    อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นคำถามสำหรับการประสบความสำเร็จของพรรคพลังประชารัฐ คือยุทธศาสตร์ของพรรคพลังประชารัฐในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่ใช้ “พลังดูด” ดึงผู้สมัครส.ส.เก่าในเขตพื้นที่ต่างๆเข้ามาเป็นผู้สมัครสส.ของตน ซึ่งที่ผ่านมาสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าเคยรวบรวมข้อมูลรายชื่อผู้สมัครส.ส.ในปี 2562 เทียบกับผู้สมัครส.ส.ในปี 2554 และพบว่าพรรคพลังประชารัฐนับเป็นหนึ่งในพรรคที่มีผู้สมัครส.ส.เก่าจากพรรคต่างๆในปี 2554 มาเข้าร่วมมากกว่า 1 ใน 4 ของผู้สมัครส.ส.ทั้งหมด หรือนับเป็นจำนวนผู้สมัครส.ส.หน้าเก่าจากพรรคอื่น ๆ ถึง 119 คน อาทิ พรรคเพื่อไทย 39 คน พรรคภูมิใจไทย 21 คน ประชาธิปัตย์ 23 คน และชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 15 คน เป็นต้น

    ส.ส.พลังดูดของพรรคพลังประชารัฐจากพรรคต่างๆ

    ภายหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้รวบรวมผลงานของ “ส.ส.พลังดูด” เปรียบเทียบกับผลงานโดยรวมของพรรคพลังประชารัฐ เพื่อสะท้อนถึงผลลัพธ์ของยุทธศาสตร์ลักษณะนี้ของพรรคพลังประชารัฐ และถึงแม้ว่าด้วยระบบเลือกตั้งที่เชื่อมโยงส.ส.แบบแบ่งเขตที่สะท้อนการเป็นตัวแทนของพื้นที่ต่างๆในประเทศ เข้ากับส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่สะท้อนการผลักดันนโยบายในระดับประเทศ จนไม่อาจแยกแยะเจตจำนงค์ของประชาชนได้ชัดเจน แต่คะแนนเสียงที่ปรากฎออกมาก็น่าจะสะท้อนเสียงของประชาชนได้ไม่มากก็น้อย

    โดยการรวบรวมข้อมูลส.ส.แบบแบ่งเขต ยึดตามการรายงานล่าสุดของกกต. ขณะที่ข้อมูลจำนวนเสียงของพรรคต่างๆ นำมาจาก Vote62.com ซึ่งเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลการเลือกตั้งของกกต. เพื่อคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อตามมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 โดยข้อมูลจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งที่เป็นบัตรดีล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2562 เวลา 17:00 น. มียอดทั้งหมด 33,353,799 ใบ คิดเป็น 64.9% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 51,427,890 คน

    ส.ส.พลังดูดกวาด 41 ที่นั่ง – อดีต “เพื่อไทย” นำลิ่ว 20 คน

    สำหรับผลงานของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เบื้องต้นได้จำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตทั้งหมด 97 คน และได้ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 21 คน รวมเป็นสส.ทั้งหมด 118 คน ทั้งนี้หากแยกตามประเภท จำนวนของส.ส.พลังดูดจะมีถึง 41 คน หรือคิดเป็น 34.7% ของส.ส.ทั้งหมดของพปชร. และส.ส.ที่เหลืออีก 77 คน หรือคิดเป็น 65.3% เป็นส.ส.หน้าใหม่ของพปชร.ที่ไม่เคยลงเลือกตั้งในปี 2554 และหากเจาะลึกไปเฉพาะที่ส.ส.แบบแบ่งเขต พบว่าส.ส.พลังดูดมีจำนวน 34 คน และคิดเป็นสัดส่วนจากส.ส.แบบแบ่งเขตทั้งหมดของพปชร.เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 35.4% โดยส.ส.แบบแบ่งเขตในพื้นที่อื่นของพปชร.มีทั้งหมด 63 คน หรือคิดเป็น 64.6% ของส.ส.แบบแบ่งเขตทั้งหมด  โดยสรุปทำให้จำนวนส.ส.ที่ได้เข้าสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 118 คน หรือคิดเป็น 23.6% ของที่นั่งสภาผู้แทนราษฎร จะมีส.ส.พลังดูดเหล่านี้ที่คิดเป็น 8.2% ของที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด

    นอกจากนี้ จากจำนวนพรรคที่ถูกส.ส.ย้ายออกมาซบพปชร. 11 พรรค มีเพียง 8 พรรคที่สอบผ่าน ตัวอย่างเช่น พรรคเพื่อไทยถือว่าทำคะแนนได้ดีที่สุด โดยจากจำนวนที่ย้ายพพรรคไปพปชร. 39 คน สามารถสอบผ่านได้ถึง 20 คน รองลงมาคือพรรคชาติไทยพัฒนาที่ย้ายไป 8 คนและสามารถสอบผ่านได้ 5 คน ขณะที่ส.ส.พลังดูดที่ไม่ประสบความสำเร็จมากนักจากการย้ายพรรค ได้แก่พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ที่ย้ายไป 15 คน แต่สอบผ่านเพียง 2 คน รองลงมาคือพรรคภูมิใจไทยที่ย้ายไป 21 คน แต่สอบผ่านเพียง 3 คน และพรรคประชาธิปัตย์ที่ย้ายไป 23 คน แต่สอบผ่านเพียง 7 คนเท่านั้น

    ในแง่จำนวนคะแนนเสียงที่ได้จากการเลือกตั้งของพปชร.ทั้งหมดที่ 7,939,937 คะแนน แบ่งเป็นเสียงคะแนนจากพื้นที่ส.ส.พลังดูด 2,609,009 คะแนน หรือคิดเป็น 32.9% ของคะแนนทั้งหมดของพปชร. ที่เหลืออีก 5,330,928 คะแนน เป็นของส.ส.พื้นที่อื่น หรือคิดเป็น 67.1% และหากนับเฉพาะจำนวนเสียงในพื้นที่หรือเขตเลือกตั้งของส.ส.พลังดูดเหล่านี้จำนวน 9,363,579 คะแนน จะแปลว่าส.ส.พลังดูดได้คะแนนเสียงถึง 27.9% ของการออกเสียงเลือกตั้งในพื้นที่ดังกล่าว

    ทั้งนี้ หากนำคะแนนเสียงเหล่านี้มาคำนวณส.ส.พึงมีได้ของพปชร.จะพบว่าจำนวนเสียง 2.61 ล้านคะแนนจะสามารถเปลี่ยนเป็นจำนวนส.ส.พึงมีได้ให้พรรคได้ 39 คน หรือคิดเป็น 32.8% ของส.ส.พึ่งมีได้ของพปชร.ทั้งหมด และหากหักจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตที่เป็นส.ส.พลังดูด 34 คน อาจจะตีความได้ว่าส.ส.เหล่านี้ได้เพิ่มส.ส.พึงมีได้ของพรรคถึง 5 ที่นั่ง

    แน่นอนว่าในความเป็นจริงคงไม่อาจบอกได้ว่าจำนวนเสียงที่เลือกทั้งหมดนั้นเกิดจากการเลือก  “ผู้สมัคร” หรือเลือก “พรรคพลังประชารัฐ” เนื่องจากกติกาเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวทำให้คะแนนของส.ส.ทั้ง 2 รูปแบบเชื่อมโยงกันอย่างแยกออกจากกันมิได้ ดังนั้นในทางกลับกันอาจจะหมายความว่าส.ส.พลังดูดเหล่านี้ได้อาศัยบารมีของพรรคที่ทำให้ตนเองได้เข้าไปเป็นส.ส.ก็เป็นไปได้

    ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับเขตพื้นที่กทม.ที่อาจจะเทียบเคียงเป็นฐานเสียงสำคัญของพปชร. จากเขตเลือกตั้ง 30 เขตของกทม. พปชร.ชนะเลือกตั้งใน 12 เขต หรือคิดเป็น 40% ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด แต่เมื่อดูคะแนนเสียงของพปชร.พบว่ามีสัดส่วนที่น้อยกว่าคะแนนเสียงในพื้นที่ของส.ส.พลังดูด โดยจากจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 2,927,857 คะแนนในพื้นที่กทม. มีเพียง 747,908 เสียงที่เลือกพปชร. หรือคิดเป็นเพียง 25.5% ของคะแนนเสียงทั้งหมดในพื้นที่กทม.เท่านั้น น้อยกว่าสัดส่วนคะแนนเสียงของส.ส.พลังดูดที่คิดเป็น 27.9% ของคะแนนเสียงทั้งหมดในพื้นที่เขตส.ส.พลังดูด

    10 รายชื่อสส.พลังดูดชนะขาด

    1. ฐานิสร์ เทียนทอง สส.สระแก้ว เขต 1 ย้ายจากพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนเสียง 62.8%
    2. ตรีนุช เทียนทอง สส.สระแก้ว เขต 1 ย้ายจากพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนเสียง 54.2%
    3. รณเทพ อนุวัฒน์ สส.ชลบุรี เขต 3 ย้ายจากพรรคพลังชล ได้คะแนนเสียง 52%
    4. ปารีณา ไกรคุปต์ สส.ราชบุรี เขต 3 ย้ายจากพรรคชาติไทยพัฒนา ได้คะแนนเสียง 45.9%
    5. จักรัตน์ พั้วช่วย สส.เพชรบูรณ์ เขต 2 ย้ายจากพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนเสียง 45.9%
    6. วันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ สส.เพชรบูรณ์ เขต 3 ย้ายจากพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนเสียง 44.8%
    7. นิโรธ สุนทรเลขา สส.นครสวรรค์ เขต 6 ย้ายจากพรรคชาติไทยพัฒนา ได้คะแนนเสียง 44.5%
    8. อธิรัฐ รัตนเศรษฐ สส.นครราชสีมา เขต 6 ย้ายจากพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนเสียง 44.5%
    9. สมชาย วิษณุวงศ์ สส.กาญจนบุรี เขต 1 ย้ายจากพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนเสียง 40.3%
    10. บุญยิ่ง นิติกาญจนา สส.ราชบุรี เขต 2 ย้ายจากพรรคภูมิใจไทย ได้คะแนนเสียง 40.1%