ThaiPublica > เกาะกระแส > กกต. สั่งตั้ง กก. ไต่สวน อดีตผู้สมัคร ทษช. ประกาศเทคะแนนพรรคการเมืองอื่นเอง ชี้ความผิดปรากฏชัดรณรงค์โหวตโน ไม่ได้ – เล็งเคาะสถานะ “พล.อ. ประยุทธ์” ใน 1-2 วันนี้

กกต. สั่งตั้ง กก. ไต่สวน อดีตผู้สมัคร ทษช. ประกาศเทคะแนนพรรคการเมืองอื่นเอง ชี้ความผิดปรากฏชัดรณรงค์โหวตโน ไม่ได้ – เล็งเคาะสถานะ “พล.อ. ประยุทธ์” ใน 1-2 วันนี้

13 มีนาคม 2019


นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยถึงการเคลื่อนไหวของแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ หลังถูกยุบพรรค ที่มีการเดินสายจัดเวทีปราศัยทั่วประเทศว่า ความจริงความเป็นพรรคการเมืองได้สิ้นสุดลงไปแล้ว การดำเนินการใดๆ ก็ต้องดูกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเลือกตั้งคงไปบังคับใช้ไม่ได้มาก เพราะไม่ได้อยู่ฐานะที่เป็นผู้สมัครหรือพรรคการเมืองแล้ว แต่ก็ยังมีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องและต้องปฎิบัติตามในประเด็นอื่นๆ ส่วนประเด็นความมั่นคงมีหน่วยงานอื่นๆ ดูแลอยู่แล้ว

ทั้งนี้ การประกาศเทคะแนนให้คนอื่นจะเป็นความผิดทางกฎหมายหรือไม่ ที่ประชุม กกต. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเข้าลักษณะความปรากฏต่อ กกต. ที่ประชุมจะได้ขอให้เลขาธิการ กกต. หรือ สำนักงาน กกต. แต่งตั้งคณะสืบสวนไต่สวนฯ แล้ว รวมถึงเรื่องการรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งโหวตโน ซึ่งอาจจะเข้าข่ายความผิด เพราะการรณรงค์โหวตโน ขอคะแนน เทคะแนนทำไม่ได้ เพราะกฎหมายห้ามไว้ชัดว่าจะต้องให้ผู้ใช้สิทธิตัดสินใจเลือกเอง ห้ามชักจูงชี้นำ จะบอกให้ใครทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ ส่วนจะเป็นความผิดของใครระหว่างผู้ขอและผู้สมัครที่ได้คะแนน ก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน

“การทำใดครอบงำ ชี้นำ ชัดจูง จูงใจ สิ่งที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย มีอยู่แน่ๆ ถือเป็นความผิด การทำที่ใดที่อาจเป็นความผิด เราต้องตรวจสอบและหากเข้าข่ายก็ต้องดำเนินการ” นายอิทธิพรกล่าว

เมื่อถามว่าเมื่อเป็นการครอบงำ ชี้นำ ก็เข้าข่ายความผิดนำไปสู่การยุบพรรคหรือไม่ นายอิทธิพรกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและการกระทำ แต่เราไม่ได้ตั้งเป้าที่จะไปทำถึงขนาดนั้น โดยจะดูเนื้อหาเป็นหลัก ซึ่งในกรณีนี้ไม่ต้องมีการร้อง เพราะเป็นความปรากฏต่อ กกต. แล้ว และได้ให้สำนักงาน กกต. ตั้งคณะกรรมการสอบ หากในต่างจังหวัดพบว่ามีความผิดในลักษณะเป็นความปรากฏ กกต. ก็สามารถสั่งตั้งกรรรมการสอบได้เป็นรายจังหวัด

ประธาน กกต. กล่าวถึงกรณีนายทะเบียนพรรคการเมืองยุติการสอบสวนการระดมทุนโต๊ะจีนของพรรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากไม่เข้าข่ายเป็นความผิด ว่าได้รับทราบจากนายทะเบียนว่าตรวจสอบแล้ว ไม่พบว่ามีหน่วยงานของรัฐ บุคคลต่างชาติให้เงินสนับสนุน จึงจะเสนอ กกต. ยุติเรื่อง ซึ่งตามกฎหมายแล้ว กกต. คงทำได้เพียงการรับทราบ ไม่สามารถที่จะให้นายทะเบียนตั้งกรรมการสอบใหม่ แต่ในคำร้องเรื่องดังกล่าวมีหลายประเด็น อาจจะมีบางประเด็นอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของสำนักงาน

ส่วนที่ผู้ร้องมองว่าเรื่องดังกล่าว กกต. พิจารณาไม่เป็นไปตามคำร้องนั้น เรื่องนี้เข้าใจว่ายังอยู่ในการดำเนินงานของสำนักงานซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ การตั้งข้อสังเกตว่าผู้บริจาคไปเป็นคู่สัญญาของหน่วยงานของรัฐอาจเป็นข้อเท็จจริงที่ยังไม่ปรากฏ ต้องไปถามเลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง

ขณะที่เรื่องการพิจารณาคำร้องว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช. เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นแคดดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค พปชร. (พลังประชารัฐ) หรือไม่ ประธาน กกต. คาดว่า จะมีการเสนอให้ กกต. พิจารณาภายในวันนี้หรือพรุ่งนี้ ยืนยันทุกเรื่องต้องทำให้เร็ว เพราะไม่มีเหตุผลที่จะทำให้ล่าช้า แต่ที่เสมือนว่าช้าต้องขึ้นอยู่กับการสอบสวนและหาข้อมูล

ประธาน กกต. กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณี กกต. เดินทางไปดูงานเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ว่าเป็นการไปทำงานมากกว่า ซึ่งการเลือกตั้งจะมีทั้งการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรช่วงวันที่ 4-16 มีนาคม 2562 การเลือกตั้งนอกเขตในประเทศในวันที่ 17 มีนาคม 2562 และการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งการเดินทางไปดูการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรนั้น ก็เพื่อไปดูว่าการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเป็นไปด้วยความเรียบร้อยหรือไม่ และเป็นการไปประชาสัมพันธ์ รับทราบข้อปัญหาต่างๆ เนื่องจากมีคนไทยในต่างประเทศจำนวนมาก แต่มีข้อน่าสงสัยว่าทำไมลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งน้อย ซึ่ง กกต. พยายามที่จะแก้ไข ดังนั้นเมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว ถ้า กกต. ไม่ไปก็เหมือนไม่ปฎิบัติหน้าที่ และถ้าไปก็ต้องไปในประเทศที่มีผู้ขอลงทะเบียนใช้สิทธิมาก รวมทั้งไปแล้วก็จะบูรณาการการทำงานกับสถานทูตและสถานกงสุลด้วย

เมื่อถามว่านายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ จะยื่นให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบงบประมาณนั้น นายอิทธิพรกล่าวว่า เป็นสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อให้เกิดความกระจ่าง ซึ่งการที่ตนไปสิงคโปร์แล้วพบว่าที่มาเลเซียมีปัญหา แต่ไม่ได้เดินทางไป เพราะจากการประสานงานทราบว่าเกิดปัญหาในช่วง 11.00 น. โดยทางสถานทูตได้จัดคูหาให้ผู้ลงทะเบียนมาใช้สิทธิ รวมทั้งการจัดคูหาเคลื่อนที่ออกไปตามเมืองต่างๆ 3-4 แห่ง ทำให้เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ไม่เพียงพอที่จะรองรับกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ แต่ต่อมาในช่วง 15.00 น. ของวันดังกล่าว ทราบว่าได้มีการเพิ่มจุดแสดงตนและจัดคูหาเพิ่ม การแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงไม่ได้เดินทางไป ทั้งนี้เข้าใจดีว่ากฎหมายกำหนดให้ กกต. ต้องปฎิบัติหน้าที่เต็มเวลา แต่ด้วยระบบของการสื่อสารในปัจจุบันเราอยู่ที่ไหนก็สามารถที่จะทำงานได้ ตนอยู่สิงคโปร์ไปติดตามการใช้สิทธิก็พบว่ามีการจัดได้เป็นอย่างดี มีผู้ขอลงทะเบียน 4,900 คน ใช้สิทธิ 4,200 ถือว่าประชาชนตื่นตัวกับการเลือกตั้งมาก และ กกต. ก็ได้มีการติดตาม ซึ่งการลงทะเบียนใช้สิทธิของคนไทยทั่วโลก กกต. ได้ติดตามโดยตลอดอยู่แล้ว

นายอิทธิพรยังกล่าวถึงภาพรวมการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรว่า พบปัญหา 3-4 ประเด็น เช่น บัตรหาย พิมพ์ชื่อพรรคผิด แต่ได้รับการแก้ไขแล้ว ทันเวลา ไม่กระทบต่อการใช้สิทธิ และเชื่อว่าไม่มีประเด็นที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่จะทำให้เกิดการร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ขอยื่นยันว่าข้อมูลจากส่วนกลางและหน้าหน่วยเลือกตั้งมีความสมบูรณ์ ถูกต้องครบถ้วน ส่วนที่นิวยอร์กในเรื่องการส่งบัตรอาจล่าช้า ก็เป็นเรื่องของสถานทูตและกงสุลใหญ่จะแก้ปัญหา โดยยึดหลักการอำนวยความสะดวกให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นหลัก

ประธาน กกต. ยังกล่าวว่า ขณะนี้ กกต. ได้มีมติที่จะให้อันเฟรล (ANFREL, Asian Network for Free Election – เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี) เข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งตามที่ร้องขอ เนื่องจากเห็นว่าเป็นองค์กรที่เคยร่วมตรวจสอบ และทำตามกติกาที่ กกต. กำหนด รวมทั้งมีผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งจากองค์กรอื่นติดต่อมา ซึ่งหากพร้อมปฎิบัติตามหลักเกณท์ของ กกต. ก็พร้อมให้เข้าร่วม แต่ในส่วนของอียูยังไม่ขอเข้าร่วมอย่างเป็นทางการ แค่แสดงความสนใจ ทั้งนี้ กกต. ไม่ได้มีการจำกัดจำนวน แต่ถ้ามามาก จะเกิดคำถามว่ามาทำไม และจะเกิดความวุ่นวาย